ทําไมเราต้องมีศาสนา

ทําไมเราต้องมีศาสนา

สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

โลกนี้วุ่นวาย เบียดเบียนกัน เพราะอะไร - เพราะเราไม่ได้รักษา ศีล ๕ ที่ป้องกันการเบียดเบียนกัน


ศาสนาคืออะไร?

มูลเหตุที่ทำให้เกิดศาสนา

มนุษย์ในสมัยดึกดำบรรพ์ได้ประสบกับปรากฏการณ์ธรรมชาติต่าง ๆ ซึ่งเป็นทั้งความน่ากลัว แปลกประหลาด และมหัศจรรย์สำหรับตัวมนุษย์ เช่น ความมืด ความสว่าง ฟ้าแลบ ฟ้าผ่า แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ไฟป่า อุทกภัย และวาตภัย ฯลฯ แม้กระทั่งความสงสัยเกี่ยวกับตัวเราเอง "เราเป็นใคร เกิดมาทำไม และเมื่อตายแล้วจะไปที่ไหน? " มนุษย์นั้นไม่สามารถหาคำอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้ และด้วยความที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์เหล่านั้น มนุษย์จึงเกรงกลัวปรากฏธรรมชาติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงคิดว่าน่าจะมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านั้น นั่นก็คือถือผีสางเทพเจ้า และเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้น มนุษย์จะต้องจงรักภักดี ด้วยการทำพิธีบูชาต่างๆ

ดังนั้น มนุษย์จึงแสวงหาสิ่งที่จะมาคุ้มครองป้องกันตนจากภัยอันตรายที่คิดว่าจะได้รับจากปรากฏการณ์ธรรมชาติ รวมทั้งแสวงหาสิ่งซึ่งเชื่อว่าสามารถคุ้มครองให้อยู่อย่างเป็นสุข ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดวัฒนธรรม ตลอดจนประเพณียอมรับนับถือพลังลึกลับทางธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือมนุษย์ และได้สร้างขนบธรรมเนียมที่คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น และควรประพฤติต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เทพเจ้าที่ยอมรับนับถือ

จากความเชื่อของกลุ่มคน และขนบธรรมเนียมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถือผีสางเทพเจ้าเหล่านี้ จึงค่อย ๆ วิวัฒนาการเรื่อยมา จนกระทั่งกลายเป็นลัทธิ และศาสนาต่าง ๆ นั่น เอง

ศรัทธา หรือ ความเชื่อ นับเป็นจุดเริ่มต้นทางศาสนาทั้งปวง ซึ่งศรัทธาในทางศาสนานั้นมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่ ความเชื่อที่ประกอบด้วย ปัญญา รู้เหตุ รู้ผล และ ความเชื่ออันเกิดจากความไม่รู้เหตุรู้ผล

 

การใช้ชีวิตโดยไม่มีศาสนาเป็นเช่นไร?

หากเราดำเนินชีวิตโดยไม่มีศาสนา หรือ ไม่มีหลักความเชื่อใดๆ ประกอบด้วยเลย เราจะจัดการกับความไม่รู้ได้อย่างไร

ความไม่รู้คือความไม่เข้าใจในเหตุและผล ความไม่รู้ความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ โดยถูกต้องแจ่มแจ้ง เช่น กฎแห่งกรรม

กฎแห่งกรรม คือ กฎที่แสดงให้เห็นถึงเหตุและผลของการกระทำใดๆ ของมนุษย์ กล่าวคือ ใครกระทำกรรมอันใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม บุคคลผู้กระทำนั้นจักต้องเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ เสมอ มิได้เกิดจากการดลบันดาลจากอำนาจของพระเจ้าองค์ใด และไม่มีใครมารับผลของกรรมแทนบุคคลอื่นได้

หากเราไม่รู้ไม่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรม หากเราไม่เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม กฎแห่งกรรมจะไม่สามารถให้ผลกับเราได้อย่างนั้นจริงเหรอ?

กฎแห่งกรรม กฎแห่งการกระทำ เป็นกฎแห่งเหตุและผล เป็นกฎของธรรมชาติ ซึ่งมันเป็นอยู่ มีอยู่ ดำเนินไปอยู่ อย่างนั้นๆ ตลอดเวลาที่เรากระทำสิ่งใดๆ ทั้งทางด้านกาย วาจา ใจ

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผลของกรรมบางอย่างปรากฏในปัจจุบันทันตาเห็น บางอย่างเห็นผลตอนตายไปแล้ว ไม่มีข้อยกเว้นให้กับใครๆ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาใดก็ตามในโลก

เราอาจจะเคยฟังเรื่องเล่าต่างๆ มามากมายเกี่ยวกับเรื่องกรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนอื่นหรือเราอาจจะเห็นมันกับตัวเราเองก็เป็นได้ หากเรารู้จักสังเกต เราไม่อาจจะปฏิเสธสิ่งเหล่านั้นว่าไม่มีอยู่จริง

บางครั้งเราอาจจะสงสัยและเคยได้ยินได้ฟังคำนี้มา "ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป" นั่นเป็นเพราะผลแห่งกรรมยังไม่ได้ให้ผลทันทีหรือในภพชาตินั้นๆ

 

เหตุที่คนคิดว่าทำดีไม่ได้ดี

มีคนบางคนที่ทำกรรมชั่ว แต่กลับปรากฏว่าเป็นคนร่ำรวย มีอำนาจวาสนา มีคนเคารพยกย่อง ส่วนคนบางคนทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ขยันขันแข็ง กลับยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก หรือคนบางคนไม่ค่อยทำงานอะไร คอยประจบสอพลอและรับใช้เจ้านาย กลับได้ดี ได้เลื่อนเงินเดือนและตำแหน่ง ส่วนคนบางคนตั้งใจทำงานแต่ไม่ประจบเจ้านาย ไม่ค่อยรับใช้คุณหญิงคุณนายของเจ้านาย กลับไม่ได้ดี จึงทำให้คนคิดไปว่ากฎแห่งกรรมจะไม่จริง คำสั่งสอนที่ว่า

กลฺยาณการี กลฺยาณํ ปาปการี จ ปาปกํ
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว


คงจะไม่เป็นความจริงเสียแล้ว การที่บางคนเห็นว่าทำดีไม่ได้ดี หรือทำชั่วไม่ได้ชั่ว เนื่องจากไม่เข้าใจ ๒ ประการ

ประการแรก ไม่เข้าใจในเรื่องการให้ผลของกรรม
ประการสอง ไม่เข้าใจในความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว


การให้ผลของกรรม

การให้ผลของกรรมมีสองชั้น คือ การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดาอย่างหนึ่ง และการให้ผลของกรรมในชั้นศีลธรรมอีกอย่างหนึ่ง การให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นการให้ผลโดยไม่คำนึงถึงว่าถูกหลังความชอบธรรมหรือไม่ เช่นนาย ก. โกงเงินหลวง หรือขโมยทรัพย์มา นาย ก. ก็จะได้เงินนั้นมา และถ้านาย ก. ใช้เงินซื้อบ้าน นาย ก. ก็จะได้อยู่บ้านนั้น นี่เป็นการให้ผลของกรรมชั้นธรรมดา แต่การให้ผลของกรรมหาได้หยุดอยู่เพียงเท่านั้นไม่ กรรมที่ทำลงไปยังจะให้ผลในชั้นศีลธรรมอีก คือ ถ้าทำดีจะต้องได้รับผลดีอย่างแน่นอน และถ้าทำชั่วก็จะต้องได้รับผลชั่วอย่างหลีกไม่พ้น

กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาตินี้ เรียกว่า ทิฎฐธรรมเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติหน้า ที่เรียกว่า อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมบางอย่างอาจจะให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป ที่เรียกว่า อปราปรเวทนียกรรม

การปลูกพืชหรือต้นไม้ ไม่ใช่พอวางเมล็ดลงไปในดิน พืชหรือต้นไม้จะขึ้นและให้ผลทันที พืชบางอย่างก็ให้ผลเร็ว พืชบางอย่างก็ให้ผลช้าเป็นปี ๆ เช่นข้าว เพียง ๔-๕ เดือนก็ให้ผล แต่ต้นมะพร้าวหรือทุเรียน กว่าจะให้ผลก็ใช้เวลาถึง ๕ ปี

การที่คนทำความชั่วยังได้ดีมีสุขอยู่ จึงเป็นเพราะกรรมชั่วยังไม่ให้ผล กรรมดีที่เขาเคยทำยังเป็น อุปัตถัมภกกรรม คอยสนับสนุนอยู่ เมื่อใดที่กรรมดีอ่อนกำลังลง กรรมชั่วก็จะมาเป็น อุปฆาตกรรม ทำให้ผู้นั้นต้องเปลี่ยนสภาพไปอย่างพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เช่นเศรษฐีอาจจะต้องเป็นยาจก เคยเป็นผู้ยิ่งใหญ่มีอำนาจวาสนา อาจจะถูกฟ้องร้องต้องโทษจำคุก หรือต้องเที่ยวหลบหนีเร่ร่อนไม่มีแผ่นดินจะอยู่

คนที่ไม่เชื่อเรื่องของกรรม มักจะมองเห็นผลของกรรมชั้นธรรมดา เป็นผู้มีสายตามืดมัว มองไม่เห็นการให้ผลของกรรมชั้นศีลธรรม บุคคลเหล่านี้มักจะเป็นคนไม่เชื่อในเรื่องตายแล้วเกิด คิดว่าคนเราเกิดมาเพียงชาตินี้ชาติเดียว ก็สิ้นสุดลง คนพวกนี้เมื่อทำความชั่วและความชั่วยังไม่ให้ผลก็คิดว่าตนเป็นคนฉลาด ดูถูกพวกที่เชื่อเรื่องกรรมว่าเป็นคนโง่ งมงาย คนพวกนี้เหมือนคนที่กินขนมเจือยาพิษ ตราบใดที่ยาพิษยังไม่ให้ผลก็คิดว่าขนมนั้นเอร็ดอร่อย สมตามพุทธภาษิตที่ว่า

มธุวา มญฺญติ พาโล ยาว ปาปํ น มุจฺจติ
คนโง่ย่อมจะเห็นบาปเป็นน้ำผึ้ง ตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล

การให้ผลของกรรม อาจแบ่งเป็นการให้ผลทางจิตใจ และการให้ผลทางวัตถุ

การให้ผลทางจิตใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ทำโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวข้องกับคนอื่น เมื่อทำไปแล้วก็ได้รับผลทันที คือเมื่อทำกรรมดี ก็จะได้รับความสุขความปีติ แต่ถ้าทำกรรมชั่ว ก็จะทำให้จิตใจเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ส่วนการให้ผลทางวัตถุเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับผู้อื่น จะทำให้ได้ดียากมาก



ความหมายของคำว่าได้ดีและได้ชั่ว ในทางโลกและทางธรรม มีความหมายแตกต่างกัน

ในทางโลก มักจะมองเห็น การได้ดีและได้ชั่วเป็นเรื่องทางวัตถุ เมื่อกล่าวว่าคนนั้นได้ดีก็มักจะหมายความว่า ผู้นั้นได้ลาภและยศ เช่นได้ทรัพย์สมบัติ ได้อำนาจวาสนา หรือได้ตำแหน่งหน้าที่การงานดีขึ้น เมื่อไม่ได้สิ่งเหล่านี้ก็เข้าใจว่าไม่ได้ดี

ในทางธรรม การได้ดีหรือได้ชั่วเป็นเรื่องของจิตใจ การได้ดีหมายถึง การทำให้จิตใจดีขึ้น ทำให้ธาตุแห่งความดีในตัวเองเรามีมากขึ้น ทำให้จิตใจของเราสะอาด สว่าง สงบยิ่งขึ้น ส่วนการได้ชั่ว หมายถึงการทำให้จิตใจต่ำลง เลวลง ทำให้จิตใจมืดมัวยิ่งขึ้น คำว่าได้ดีจึงความถึงความดี และคำว่าได้ชั่ว จึงหมายถึงความชั่ว หากเราจะพูดว่า ทำดีได้ความดี ทำชั่วได้ความชั่ว ก็จะทำให้เข้าใจในเรื่องได้ดีและได้ชั่วดีขึ้น

บุคคลที่กระทำกรรมอะไรลงไป ย่อมจะได้รับผลในทางจิตใจทันที เมื่อทำกรรมดี เช่น ทำบุญตักบาตร ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น ก็จะทำให้จิตใจดีขึ้น มีความปีติ และความสุขในกรรมดีที่ตนทำ ในเมื่อกรรมที่ทำเป็นกุศลกรรมจริง ๆ คือทำด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่ใช่ด้วยความโลภหรือด้วยอกุศลเจตนา หรือหวังผลตอบแทน

อ่านต่อ กรรม

 


ทําไมเราต้องมีศาสนา?

ในทางสังคมการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน

หากเราไม่มีศาสนาที่มีข้อปฏิบัติ ข้อยึดเหนี่ยวจิตใจ เราจะกลายเป็นผู้ที่ทำอะไรลงไปโดยไม่รู้ผลที่จะตามมานั้น ว่าควรทำหรือไม่ควรทำลงไป อย่างเช่นใน ศาสนาพุทธ ที่มีคนนิยมนับถือมากที่สุดในโลก ซึ่งมีข้อปฏิบัติ เช่น

ศีล เริ่มต้นที่ ศีล ๕ สำหรับคนทั่วไป

ศีล ๕

  1. ห้ามฆ่าสัตว์ รวมถึงการทำร้ายสัตว์ ข้อนี้รวมทั้งมนุษย์อย่างเราและสัตว์ต่างๆ อีกด้วย สังเกตง่ายๆ ชีวิตใคร ใครก็รัก เราเองก็รักชีวิตเรา แม้กระทั่งสัตว์เอง มันก็รักชีวิตของมัน เราไม่เคยเห็นสัตว์ตัวใดที่ไม่กลัวตาย ที่พร้อมใจถูกฆ่าเลยไหม ไม่มีนะ มีแต่สัตว์ที่พยายามหนีการถูกทำร้ายและฆ่ามัน (ห้ามฆ่าสัตว์ทุกชนิด มีเฉพาะในศาสนาพุทธ)
  2. ห้ามลักทรัพย์ ทรัพย์สินต่างๆ ไม่ว่าเป็นของใครคนนั้นย่อมหวงแหน แน่นอนไม่มีใครอยากสูญเสียทรัพย์สินไปแน่นอน
  3. ห้ามประพฤติผิดในกาม คงไม่มีใครอยากที่จะให้คนรักนอกใจหรือมีชู้เป็นแน่นอน และการบังคับข่มขืนโดยไม่สมยอมจากผู้ที่มิใช่สามีภรรยาตน
  4. ห้ามพูดเท็จ หากการพูดของเราต้องทำให้คนอื่นเดือดร้อน เช่น ให้การเท็จในศาล ซึ่งจะทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เราเองก็คงไม่ต้องการเดือดร้อนหากมีใครมาใส่ร้ายเราเองเช่นกัน
  5. ห้ามดื่มสุราของมึนเมา เพราะหากเราครองสติสัมปชัญญะตัวเองไม่ได้แล้วนั้น เราอาจจะทำผิดพลาดในศีลข้อที่ ๑-๔ ก็เป็นได้ เพราะความมึนเมา ทำให้เราไม่สามารถแยกแยะผิดถูกชั่วดีได้

หากเราลองสังเกตให้ดีในสังคมเรา ล้วนมีปัญหามาจากการทำผิดศีลเหล่านี้ทั้งนั้น หากเราทุกคนมีศีล มีข้อปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกันแล้วนั้น สังคมของเราจะอยู่กันอย่างมีความสุข ปรองดองซึ่งกันและกันแน่นอน

ในทางหลักธรรมกฎแห่งกรรม

การผิดศีล ๕ เมื่อเราตายจากโลกนี้ไปแล้วนั้น จะนำพาให้เราไปสู่อบายภูมิ คือ ภพภูมิที่ มีแต่ความทุกข์ ความเดือดร้อน อบายภูมิ ๔ ๑.สัตว์เดรัจฉาน ๒.เปรต ๓.อสูรกาย ๔.สัตว์นรก ซึ่งต้องรับโทษเป็นเวลานานและถูกทรมานตลอดเวลา

ในทางกลับกัน ผู้ที่รักษา ศีล ๕ ได้นั้น จะนำพาไปสู่ภพภูมิที่มีแต่ความสุข เช่น สวรรค์ชั้นต่างๆ ๖ ชั้น ๑.จตุมหาราชิกา ๒.ดาวดึงส์ ๓.ยามา ๔.ดุสิต ๕.นิมมานรตี ๖.ปรนิมมิตวสวัตตี ได้เสวยสุขอยู่เป็นเวลานานตามกำลังที่เรารักษาศีลนั้นๆ เอาไว้ได้

 

ในทางที่เป็นเป้าหมายสูงสุด

ศาสนาพุทธของเรานั้นมีเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน การพ้นทุกข์ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เพราะเห็นความจริงของสัจธรรม (อริยสัจ ๔)

อริยสัจ ๔

  1. ทุกข์ คือ สภาพที่ทนได้ยาก ภาวะที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ สภาพที่บีบคั้น ทุกอย่างในโลกล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ การเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก การปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่สมหวังในสิ่งนั้น
  2. เหตุแห่งทุกข์ คือ กามตัณหา-ความทะยานอยากในกาม ความอยากได้ทางกามารมณ์ ความอยากในกามคุณ คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส กามารมณ์, ภวตัณหา-ความทะยานอยากในภพ ความอยากเป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ และ วิภวตัณหา-ความทะยานอยากในความปราศจากภพ ความอยากไม่เป็นโน่นเป็นนี่ ความอยากที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิหรืออุจเฉททิฏฐิ
  3. ความดับทุกข์ ดับสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ ดับตัณหาทั้ง 3 ได้อย่างสิ้นเชิง คือ นิพพาน พ้นจากการเกิด ไม่มีภพชาติอีกต่อไป
  4. แนวปฏิบัติที่นำไปสู่หรือนำไปถึงความดับทุกข์ คือ มรรค ๘ ข้อปฏิบัติ ๘ ประการ เพื่อถึงความพ้นทุกข์ ซึ่งรวมเรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลาง

 

ทำไมต้องนับถือศาสนาพุทธ?

เพราะเป็นศาสนาที่ทำให้เราพ้นทุกข์ได้จริง ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งความจริง สามารถพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง เมื่อเห็นแล้วจึงเรียกบอกผู้อื่นให้มาดูว่าเป็นจริงดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ทุกประการ เราจะเห็นความจริงเหล่านั้นได้อย่างไร เห็นตอนไหน

เราจะเห็นได้ตามนั้น เมื่อเราปฏิบัติตาม มรรค ๘ เมื่อปฏิบัติได้ครบถ้วนจนมี "ญาณแก่กล้า" ที่จะสามารถบรรลุ มรรคผลนิพพานได้ในแต่ละมรรค เช่น โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามีมรรค สกทาคามีผล อนาคามีมรรค อนาคามีผล อรหัตมรรค อรหัตผล หากเราสามารถบรรลุธรรม เหล่านี้ได้เราจะเห็นตามความจริง ตามธรรมชาติที่มันเป็นเช่นนั้นเอง เราจะเห็นจะรู้ว่าทุกสรรพสิ่งนั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เป็นธรรมดาของธรรมชาติ ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เหมือนเช่นครูบาอาจารย์ที่ท่านสามารถปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนสามารถรู้แจ้งเห็นจริง บรรลุธรรม บรรลุนิพพาน พระสาวกเหล่านั้นท่านได้เห็นพระธรรมคุณ


พระธรรมคุณ

  • พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
  • เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง
  • เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล
  • เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกะผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
  • เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
  • เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน

เมื่อเราปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว เราจะเห็นตามความเป็นจริงของลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลาย (ไตรลักษณ์)

1 อนิจจัง ความไม่เที่ยงเปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่ ตัวอย่างเช่น ทุกคนมีเกิด จากนั้นก็แก่ แล้วก็เจ็บป่วย สุดท้ายคือล้มตายไป ไม่สามารถคงสภาพได้เลย คล้ายกับ วันหมดอายุในข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งพอผลิตขึ้นมาแล้วนั้น จะตีตราวันที่หมดอายุไปเลยเพราะมันไม่สามารถอยู่คงที่ตลอดไปได้นั่นเอง แต่คนเราและสัตว์ต่างๆ มีอายุที่ไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นไปตามกำลังบุญของแต่ละคน
2 ทุกขัง ความทุกข์ มีสภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ มีลักษณะหรือ มีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป โดยมีความบีบคั้นอยู่เสมอ ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่าเป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขังในที่นี้ สรรพสิ่ง ทั้งหลาย
3 อนัตตา ความไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ ความไม่มีตัวตนที่แท้จริง เพราะทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยและดับไปตามเหตุปัจจัย ไม่มีแก่นสารตัวตนใดๆ อยู่เลย

อุปมาเปรียบเปรย

รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ต่างๆ ซึ่งมาจาก ธาตุดิน จำพวกเหล็กต่างๆ ธาตุน้ำ จำพวกน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันหล่อลื่น ธาตุลม จำพวกระบบแอร์เครื่องปรับอากาศ ธาตุไฟ จำพวกตัวจุดระเบิดเผาผลาญเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาไหม้ ในขณะที่เครื่องยนต์เผาผลาญเชื้อเพลิงจะมีพวกอากาศร้อนและก๊าซอื่น ๆ เมื่อเราแยกชิ้นส่วนประกอบต่างๆ ออกมาแล้ว วางกระจัดกระจาย เรายังจะสามารถเรียกว่านั่นคือรถยนต์ที่พร้อมจะขับขี่ได้ตามเดิมหรือไม่ ไม่ได้เลยเช่นกัน เพราะความเป็นตัวตนไม่มีอยู่ในนั้น

มนุษย์ ตัวเราเองก็เช่นกัน ประกอบไปด้วย ธาตุต่างๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ เช่นกัน ธาตุดิน จำพวกกระดูก ธาตุน้ำ จำพวกน้ำลาย น้ำมูก น้ำเลือด น้ำหนอง ธาตุลม จำพวกอากาศที่เราหายใจเข้าไป ธาตุไฟ จำพวกความร้อนในกระเพาะอาหารใช้ย่อยอาหารและความร้อนในเวลาที่ร่างกายเราป่วยด้วย เราจะเห็นได้ว่า ร่างกายเรานั้นเกิดมาจากปัจจัยหลายๆ อย่าง ซึ่งหากร่างกายเป็นเราจริงๆ เราต้องไม่ให้ร่างกายนี้ป่วย ไม่ให้ร่างกายนี้แก่ได้ ไม่ให้ร่างกายนี้ตาย สุดท้ายแล้วร่างกายของเราก็เกิดมาจากเหตุปัจจัยหลายๆ อย่าง และดับสลายตายลงไปตามเหตุปัจจัยเช่นกัน ส่วนจิตใจความรู้สึกนึกคิดของเรานั้นก็เช่นกัน มีการเกิดขึ้นจากเหตุปัจจัยเช่นกัน อ่านต่อในเรื่องของ ขันธ์ ๕

 

หลักการทางพระพุทธศาสนา มีหลักความเชื่อเช่นเดียวกับหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ได้สอนให้มนุษย์เชื่อและศรัทธาอย่างงมงายในอิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ แต่สอนให้ศรัทธาในอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ที่จะก่อให้เกิดปัญญาในการแก้ทุกข์แก้ปัญหาชีวิต ไม่สอนให้เชื่อให้ศรัทธาในสิ่งที่อยู่นอกเหนือประสาทสัมผัสเช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ สอนให้มนุษย์นำเอาหลักศรัทธาโยงไปหาการพิสูจน์ด้วยประสบการณ์ ด้วยปัญญา และด้วยการปฏิบัติ ดังหลักของความเชื่อใน “กาลามสูตร” คืออย่าเชื่อ เพียงเพราะให้ฟังตามกันมา อย่าเชื่อ เพียงเพราะได้เรียนได้ฟังตามกันมา

กาลามสูตร ๑๐ หลักของความเชื่อ

  1. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการฟังๆตามกันมาหรือเพียงใครพูดให้ฟัง
  2. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบ ๆ กันมาอย่างยาวนาน
  3. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือหรือคนส่วนใหญ่เชื่อกัน
  4. อย่าปลงใจเชื่อด้วยการอ้างตำราหรือมีในคัมภีร์
  5. อย่าปลงใจเชื่อเพราะตรรกะ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล
  6. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการอนุมาน (คาดคะเน) และการเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาประติดประต่อกัน
  7. อย่าปลงใจเชื่อเพราะการเห็นด้วยตา หรือตามลักษณะอาการที่แสดงออกมาน่าจะเป็นไปได้
  8. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎีหรือทิฏฐิของตนหรือตามอคติในใจ
  9. อย่าปลงใจเชื่อผู้พูดน่าเชื่อถือ หรือเป็นองค์กรที่หน้าเชื่อถือ เพราะเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง
  10. อย่าปลงใจเชื่อเพราะเคารพนับถือว่าคนพูดเป็นสมณะผู้นำทางจิตวิญญาณของเรา เป็นครูของเรา เป็นศาสดาของเรา

ในหลักกาลามสูตรนี้ พระพุทธเจ้ายังตรัสต่อไปว่า จะต้องรู้เข้าใจด้วยว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล หรืออกุศล ถ้ารู้ว่าเป็นอกุศล มีโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เกิดทุกข์ พึงละเสีย ถ้ารู้ว่าเป็นกุศล มีคุณ เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อความสุข ก็ให้ถือปฏิบัติ นั่นคือศรัทธาหรือความเชื่อที่ก่อให้เกิดปัญญา

เรามาดูหลักกระบวนความคิดและการพิสูจน์

กระบวนการวิทยาศาสตร์

  1. การกำหนดปัญหา
  2. การตั้งสมมุติฐาน
  3. รวบรวมข้อมูล
  4. การพิสูจน์สมมุติฐาน
  5. การสรุปผล


กระบวนการพุทธศาสตร์

  1. กำหนดรู้ทุกข์
  2. หาเหตุแห่งทุกข์
  3. รวบรวมข้อมูลการปฏิบัติ มรรค ๘
  4. ลงมือปฏิบัติ มรรค ๘
  5. มรรคผล นิพพาน

 

คนดังดาราฮอลลีวูดที่นับถือศาสนาพุทธ

ริชาร์ด เกียร์ นักแสดงรุ่นใหญ่จากหนังดังเรื่อง Pretty Woman เขาเริ่มมาสนใจศาสนาพุทธตอนอายุ ๒๙ ปี และเคยเดินทางไปเนปาล เพื่อพบกับองค์ดาไลลามะ และในแต่ละวัน ก่อนจะเริ่มต้นทำงานเขาจะนั่งทำสมาธิทำให้เขามีแรงบันดาลใจในการทำงานแต่ละวัน

เดวิด และวิคตอเรีย เบคแฮม นักเตะแข้งทองเเห่งวงการลูกหนัง และภรรยาสาวสวย วิคตอเรีย เบคแฮม ครอบครัวซุปเปอร์สตาร์ระดับโลกที่สนใจในแนวทางคำสอนของศาสนาพุทธ พวกเขามักจะสวดมนต์ทำสมาธิในตอนเช้าของทุกวัน

คีอานู รีฟ พระเอกคนดังจากฮอลลีวูด แต่กลับชอบใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เขามีผลงานหนังฟอร์มยักษ์เรื่อง The Matrix และ John Wick และเคยแสดงเป็นพระพุทธเจ้า ในหนังเรื่อง Little Buddha ทำให้เขาได้เรียนรู้พุทธศาสนา และตัวเขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่นับถือศาสนาใดๆ แต่สนใจแนวทางของพุทธมหายานแบบทิเบต

ออร์แลนโด บลูม ซุปเปอร์สตาร์ชาวอังกฤษซึ่งโด่งดังจากบทบาท เลโกลัส ในภาพยนตร์เรื่อง The Lord of the Rings นับถือความเชื่อแบบนิกายพุทธมหายานที่มีต้นกำเนิดจากประเทศญี่ปุ่น เขาบอกว่าคำสอนบางอย่างช่วยให้เขาจัดการกับความวุ่นวายรอบตัวได้

อูมา เธอร์แมน นางเอกสุดเซ็กซี่จากภาพยนตร์ Kill Bill เธอเป็นลูกสาวของ โรเบิร์ต เอ.เอฟ. เธอร์แมน อาจารย์สอนวิชาเกี่ยวกับศาสนาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และในเวลาต่อมาพ่อของเธอก็ได้เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ได้บวชเป็นพระธิเบต เธอเลยได้ซึมซับคำสอนบางอย่างมาตั้งแต่เด็กๆ ด้วย

ทีน่า เทอร์เนอร์ ราชินีร็อกแอนด์โรล ทีน่า เทอร์เนอร์ เจ้าของน้ำเสียงทรงพลัง เธอนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน เคยผ่านเรื่องราวเลวร้ายในชีวิตโดยมีศาสนาเป็นที่พึ่งพิง “จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง ฉันมองว่า พุทธศาสนาเป็นสิ่งที่เราพึ่งพิงได้ การสวดมนต์จะช่วยให้เราเข้าถึงแก่นแท้ ซึ่งอยู่ในจิตใต้ สำนึกของตัวเรา”

สตีเวน ซีกัล พระเอกแอคชั่นชื่อดังของฮอลลีวูด เป็นคนหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนา เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่านับถือศาสนาพุทธมานานกว่า ๔๐ ปี และชอบมาเที่ยวประเทศไทยบ่อยๆ เพราะชื่นชอบในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทย

โกลดี้ ฮอว์น แม้ว่าตอนเด็กเธอจะถูกเลี้ยงและสอนให้เชื่อแนวทางศาสนายิว แต่ตอนโตนักแสดงชื่อดังคนนี้ก็เริ่มศึกษาและซึมซับแนวคิดแบบปรัชญาตะวันออก และปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชน รวมถึงก่อตั้งมูลนิธิสอนเด็กๆ เกี่ยวกับการฝึกเจริญวิปัสสนาด้วย

เคต ฮัดสัน ดาราสาวเจ้าบทบาท ที่ได้ลูกโลกทองคำจากหนังเรื่อง Almost Famous และเป็นที่รู้จักในหนังสุดโรแมนติกเรื่อง How To Lose A Guy in 10 Days ที่เธอเล่นคู่กับ แม็คธิว แมคคอนาฮีย์ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสนใจพุทธศาสนาคือ โกลดี้ ฮอว์น คุณแม่ของเธอ ที่สอนเธอให้ใช้ชีวิตแบบมีสติ มองชีวิตตนเองเป็นบทเรียน ไม่หลงใหลไปกับชื่อเสียงคำนินทาหรือรัก โลภ โกรธ หลงมาตั้งแต่เด็กๆ

 

หน้าที่ชาวพุทธ

หน้าที่และบทบาทของ อุบาสก อุบาสิกา ที่มีต่อสังคมไทยในปัจจุบัน

อุบาสก (ชาย) และอุบาสิกา (หญิง) หมายถึง ชาวพุทธผู้ครองเรือนหรือคฤหัาถ์ผู้อยู่ใกล้พระศาสนา ซึ่งอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อพระศาสนาและประกอบกิจกรรมทางศาสนามากกว่าชาวพุทธทั่วไป เช่น สมาทานรักษาพระอุโบสถศีล (ถือศีล ๘) ในวันพระเป็นต้น อุบาสก อุบาสิกาที่ดีควรยึดหลัก “อุบาสกธรรม ๗” เป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติตน ดังนี้

  1. หมั่นไปวัดตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะการไปวัดจะได้พบปะกับพระภิกษุผู้ทรงศีลทรงคุณธรรมหรือได้พบกับมิตรที่สนใจในเรื่องธรรมเหมือนกับเรา ย่อมได้ชื่อว่าเป็นการคบหากัลยาณมิตร หรือเรียกว่ามิตรที่ดี ซึ่งจะส่งเสริมให้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า ยํ เว เสวติ ตาทิโส (ยังเว เสวะติ ตาทิโส) คบคนเช่นไรก็เป็นคนเช่นนั้นแล
  2. หมั่นฟังธรรม เมื่อมีโอกาสควรใส่ใจในการฟังธรรมอยู่เสมอ เพราะการฟังธรรมเป็นเหตุให้ได้รู้สิ่งไม่รู้ ส่วนสิ่งที่รู้แล้วก็จะช่วยให้เข้าใจยิ่งขึ้น เช่น การไปวัดเพื่อฟังเทศน์ ฟังธรรมตามโอกาสต่าง ๆ ฟังการแสดงธรรมเทศนาทางวิทยุหรือทางโทรทัศน์ เป็นต้น
  3. พยายามสนใจศึกษาและรักษาศีลให้บริสุทธิ์และเจริญสมาธิสมถวิปัสสนา โดยนำหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนามาใช้ปรับปรุงวิถีการดำเนินชีวิตให้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจว่าตนเองว่าเป็นพุทธศาสนิกชนที่แท้จริง
  4. มีความเลื่อมใสในพระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเท่าเทียมกัน ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์แต่ละรูปได้เสียสละความสุขทางโลก เพื่อมาประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยอันเป็นหนทางไปสู่ความหลุดพ้นจากทุกข์และพระสงฆ์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบต่ออายุของพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตลอดไป
  5. ตั้งจิตให้เป็นกุศลในขณะฟังธรรม มิใช่ฟังธรรมโดยคิดในแง่ อคติ คิดขัดแย้ง พยายามฟังธรรมเพื่อก่อให้เกิดกุศล จิตใจจะได้เป็นสุข
  6. ทำบุญกุศลตามหลักและวิธีการของพระพุทธศาสนา ไม่แสวงบุญนอกคำสอนของพระพุทธเจ้า ควรประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา
  7. ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนาในทุก ๆ ด้าน ถ้าสามารถช่วยเหลือพระพุทธศาสนาได้ ด้วยวิธีการใดก็ควรขวนขวายเร่งรีบกระทำ อาทิ การตั้งชมรมพุทธศาสน์ในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย จัดให้มีการอบรมเยาวชน บุคคลทั่วไป หรือ คนต่างชาติให้เข้าใจใน พระพุทธศาสนา


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอน พยัคฆปัชชะ ธรรม ๔ ประการ เหล่านี้
เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข ในปัจจุบัน ภพนี้ ชาตินี้

  1. อุฏฐานสัมปทา ความขยันในอาชีพ
  2. อารักขสัมปทา การรักษาทรัพย์
  3. กัลยาณมิตตตา ความมีมิตรดี
  4. สมชีวิตา การเลี้ยงชีวิตอย่างสมดุล พอเพียงแก่ฐานะ

 

ตัวอย่าง การใช้ชีวิตที่ไร้ศาสนา ไร้หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง

ลูกเศรษฐี ใช้ชีวิตขาดปัญญา ขาดหลักคำสอนที่ถูกต้อง สิ้นเนื้อประดาตัว กลายเป็นโจรถูกเพชฌฆาตนำไปประหาร

ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงประทับอยู่ที่พระเวฬุวัน กลันทกนิวาปวิหาร ใกล้กรุงราชคฤห์ จึงทรงปรารภเปรตบุตรเศรษฐีคนหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนั้นดังต่อไปนี้ :-

ได้ยินว่า ในกรุงราชคฤห์ ได้มีเศรษฐีคนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีสมบัติมาก มีเครื่องอุปกรณ์แห่งทรัพย์ที่น่าปลื้มใจอย่างมากมาย สั่งสมทรัพย์ไว้เป็นจำนวนหลายโกฏิ. ได้มีบุตรคนเดียว น่ารัก น่าชอบใจ.

เมื่อบุตรนั้นรู้เดียงสา บิดามารดาจึงพากันคิดอย่างนี้ว่า เมื่อบุตรของเราจ่ายทรัพย์ให้สิ้นเปลืองไปวันละ ๑,๐๐๐ ทุกวันแม้ถึงร้อยปี ทรัพย์ที่สั่งสมไว้นี้ก็ไม่หมดสิ้นไป. จะประโยชน์อะไร ด้วยการที่จะให้บุตรนี้ลำบากในการศึกษาศิลปะ ขอให้บุตรนี้จงมีความไม่ลำบากกายและจิต บริโภคโภคสมบัติตามสบายเถิด ดังนี้แล้วจึงไม่ให้บุตรศึกษาศิลปะ.

ก็เมื่อบุตรเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาได้นำหญิงสาวแรกรุ่น ผู้สมบูรณ์ด้วยสกุล รูปร่างความเป็นสาวและความงาม ผู้เอิบอิ่มด้วยกามคุณ บ่ายหน้าออกจากธรรมสัญญา. เขาอภิรมย์อยู่กับหญิงสาวนั้น ไม่ให้เกิดแม้ความคิดถึงธรรม ไม่มีความเอื้อเฟื้อในสมณพราหมณ์และคนที่ควรเคารพ ห้อมล้อมด้วยพวกนักเลง กำหนัดยินดี ติดอยู่ในกามคุณ ๕ เป็นผู้มืดมนไปด้วยโมหะ ให้เวลาผ่านไป.

เมื่อมารดาบิดาถึงแก่กรรมลง ให้สิ่งที่ปรารถนาแก่นักรำนักร้องเป็นต้น ผลาญทรัพย์ให้วอดวายไป ไม่นานเท่าไรนักก็สิ้นเนื้อประดาตัว (เที่ยว) ขอยืม (เงิน) เลี้ยงชีวิต ยืมหนี้ไม่ได้อีก ถูกพวกเจ้าหนี้ทวงถามก็ต้องให้ที่นาที่สวนและเรือนเป็นต้นของตนแก่พวกเจ้าหนี้เหล่านั้น ถือกระเบื้องเที่ยวขอทานกิน พักอยู่ที่ศาลาคนอนาถาในพระนครนั้นนั่นแล.

ครั้นอยู่มาวันหนึ่ง พวกโจรมาประชุมกัน กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า นายผู้เจริญ ท่านจะมีประโยชน์อะไรด้วยการเป็นอยู่ลำบากอย่างนี้ ท่านยังเป็นหนุ่มมีเรี่ยวแรงกำลังก็สมบูรณ์ เหตุไฉนท่านจึงอยู่เหมือนมีมือเท้าพิกล มาเถิด มาร่วมกับพวกเรา (เที่ยว) ปล้นทรัพย์พวกชาวบ้านแล้ว เป็นอยู่สบายดี.

"ชายคนนั้นพูดว่า เราไม่รู้วิธีทำโจรกรรม"

พวกโจรตอบว่า พวกเราจะสอนให้เธอ ขอให้เธอจงเชื่อคำของพวกเราอย่างเดียว. ชายนั้นรับคำแล้วได้ไปกับพวกโจรเหล่านั้น.

ลำดับนั้น พวกโจรเหล่านั้นใช้ให้เขาถือฆ้อนใหญ่ ตัดช่องย่องขึ้นเรือน ให้เขายืนตรงที่ปากช่องแล้วสอนว่า ถ้าคนอื่นมาในที่นี้ เจ้าจงเอาไม้ฆ้อนนี้ทุบผู้นั้นทีเดียวให้ตายเลย. เขาเป็นคนบอดเขลา ไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ ได้ยืนอยู่แต่ในที่นั้น มองดูทางมาของคนเหล่าอื่นอย่างเดียว.

ฝ่ายพวกโจรเข้าไปยังเรือนแล้ว ถือเอาสิ่งของที่ควรถือเอาไปด้วย พอพวกคนในเรือนรู้ตัวเท่านั้นก็พากันหนีไปคนละทิศคนละทาง. พวกคนในเรือนลุกขึ้น ต่างก็พากันวิ่งขับโดยเร็ว พร้อมกับดูข้างโน้นข้างนี้ เห็นชายคนนั้นยืนอยู่ตรงช่องประตู เฮ้ย คนร้ายแล้วพากันจับไว้ เอาไม้ฆ้อนเป็นต้นทุบมือและเท้าแล้ว กราบทูลแสดงแด่พระราชาว่า ขอเดชะ คนนี้เป็นโจร ข้าพระองค์จับได้ที่ปากช่อง.

พระราชาทรงมีพระบัญชาให้ผู้รักษาพระนครลงโทษด้วยพระดำรัสว่า "จงตัดศีรษะของผู้นี้" ผู้รักษาพระนครรับสนองพระบรมราชโองการแล้ว จึงให้จับชายคนนั้นแล้ว ให้มัดไพล่หลังอย่างมั่นคง ให้ตระเวนเขาผู้ถูกคล้องคอด้วยพวงมาลัยสีแดงห่างๆ มีศีรษะเปื้อนด้วยผงอิฐ ตามทางที่เขาแสดงด้วยกลอง ตีประจานโทษจากทางรถบรรจบทางรถ จากทางสี่แพร่งบรรจบทางสี่แพร่งแล้ว ให้เฆี่ยนด้วยหวายพลางนำไปยังสถานที่ประหารชีวิต.

ประชาชนพากันแตกตื่นว่า ในพระนครนี้ เขาจับโจรปล้นสะดมคนนี้ได้

ก็สมัยนั้นในพระนครนั้น มีหญิงงามเมืองคนหนึ่งชื่อว่าสุลสา ยืนอยู่ที่ปราสาทมองไปตามช่องหน้าต่าง เห็นชายคนนั้นถูกนำไปอย่างนั้น เธอเคยถูกชายผู้นั้นบำเรอมาในกาลก่อน จึงเกิดความสงสารชายคนนั้นขึ้นว่า ชายคนนี้เคยเสวยสมบัติเป็นอันมากในพระนครนี้เอง บัดนี้ถึงความพินาศวอดวายถึงเพียงนี้ จึงส่งขนมต้ม ๔ ลูกและน้ำดื่มไปให้. และได้แจ้งให้ผู้รักษาพระนครทราบว่า ขอเจ้านายจงรอจนถึงชายผู้นี้กินขนมต้มเหล่านี้ แล้วดื่มน้ำก่อน.

ครั้นในระหว่างนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะตรวจดูด้วยทิพยจักษุ เห็นชายคนนั้นจะถึงความวอดวาย ด้วยแรงกรุณาเตือนใจ คิดว่า ชายคนนี้ไม่เคยทำบุญ ทำแต่บาป เพราะฉะนั้น ชายผู้นี้จักเกิดในนรก ครั้นพอเราไป เขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแล้วจักเกิดในภุมมเทพ ไฉนหนอ เราจะพึงเป็นที่พึ่งของชายผู้นี้ ดังนี้แล้วได้ไปปรากฏข้างหน้าของชายผู้นั้น ในขณะที่เขานำน้ำดื่มและขนมต้มเข้าไปให้.

เขา ครั้นเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส คิดว่าเราผู้จะถูกคนเหล่านี้ฆ่าในบัดนี้เอง จะมีประโยชน์อะไรด้วยขนมต้มที่เราจะกินเข้าไป ก็ผลทานนี้จักเป็นเสบียงสำหรับคนไปสู่ปรโลก จึงให้เขาถวายขนมต้มและน้ำดื่มแด่พระเถระ.

เพื่อจะเจริญความเลื่อมใสของชายผู้นั้น เมื่อชายผู้นั้นกำลังดูอยู่นั่นแหละ พระเถระจึงนั่งในที่เช่นนั้น ฉันขนมต้มและดื่มน้ำแล้ว ลุกจากอาสนะหลีกไป.

ฝ่ายชายผู้นั้นถูกเพชฌฆาตนำไปสู่ที่ประหาร แล้วให้ถึงการตัดศีรษะ ด้วยบุญที่เขาทำไว้ในพระมหาโมคคัลลานเถระผู้เป็นบุญเขตอย่างยอดเยี่ยม แม้จะเป็นผู้ควรจะเกิดในเทวโลกชั้นเยี่ยม แต่เพราะเหตุที่เธอมีจิตเศร้าหมองในเวลาใกล้จะตาย เพราะความเสน่หาที่มุ่งถึงนางสุลสาว่า เราได้ไทยธรรมนี้เพราะอาศัยนางสุลสา ฉะนั้น เมื่อจะเกิดเป็นหมู่เทพชั้นต่ำ จึงเกิดเป็นรุกขเทวดาที่ต้นไทรใหญ่ มีร่มเงาอันสนิท อันเกิดแทบภูเขา.


อาจารย์บางพวกกล่าวว่า

"ได้ยินว่า ถ้าในปฐมวัย เขาจักได้ขวนขวายในการดำรงวงศ์สกุลไซร้ เขาจักเป็นผู้เลิศกว่าเศรษฐีทั้งหลายในพระนครนั้นนั่นเอง ถ้าขวนขวายในมัชฌิมวัย เขาจักเป็นเศรษฐีวัยกลางคน ถ้าขวนขวายในปัจฉิมวัย เขาก็จักเป็นเศรษฐีในวัยสุดท้าย.

แต่ถ้าในปฐมวัยเขาจักได้บวชไซร้ เขาก็จักได้เป็นพระอรหันต์. ถ้าบวชในมัชฌิมวัย เขาก็จักได้เป็นพระสกทาคามีหรือพระอนาคามี. ถ้าบวชในปัจฉิมวัย เขาก็จักได้เป็นพระโสดาบัน.

แต่เพราะเขาคลุกคลีด้วยบาปมิตร เขาจึงเป็นนักเลงหญิง นักเลงสุรา ยินดีแต่ในทุจริต เป็นคนไม่เอื้อเฟื้อ เสื่อมจากสมบัติทั้งปวง ถึงความย่อยยับอย่างใหญ่หลวงโดยลำดับ."

ครั้นสมัยต่อมา เทพบุตรนั้นเห็นนางสุลสาไปสวน เกิดกามราคะ เนรมิตให้มืดแล้วนำนางไปยังภพของตน สำเร็จการอยู่ร่วมกับนางสิ้น ๗ วันและได้แนะนำตนแก่นาง. มารดาของนางเมื่อไม่เห็นนาง ร้องไห้พลางวิ่งพล่านไปข้างโน้นข้างนี้.

มหาชนเห็นเข้าจึงกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้ามหาโมคคัลลานะเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก จะพึงรู้คติของนาง ท่านพึงเข้าไปหาท่านแล้วไต่ถามเถิด.

นางรับคำแล้วเข้าไปหาท่าน ถามความนั้น.

พระเถระกล่าวว่า ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมในพระเวฬุวันมหาวิหาร เธอจักเห็น ณ ที่สุดบริษัท.

ลำดับนั้น นางสุลสาได้กล่าวกะเทวบุตรนั้นว่า ข้อที่เราอยู่ในภพของท่านไม่สมควร วันนี้เป็นวันที่ ๗ มารดาของฉันเมื่อไม่เห็นฉันก็จักถึงความร่ำไรโศกเศร้า ดีละเทวดา ท่านจงพาฉันไปที่นั้นนั่นเถิด.

เทพบุตรพานางไปพักไว้ท้ายบริษัท ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ในพระเวฬุวัน ได้ยืนไม่ปรากฏตัว.

ลำดับนั้น มหาชนเห็นนางสุลสาแล้วกล่าวอย่างนี้ว่า แม่สุลสา เธอไปไหนมาตลอดวันเท่านี้ มารดาของเธอเมื่อไม่เห็นเธอ ก็ได้ถึงความร่ำไรโศกเศร้าเหมือนคนบ้า. นางจึงแจ้งเรื่องนั้นแก่มหาชนและเมื่อมหาชนถามว่า อย่างไรบุรุษนั้นกระทำความขวนขวายแต่บาปเช่นนั้น ไม่ได้ทำกุศลไว้เลย ยังเกิดเป็นเทพได้.

นางสุลสากล่าวว่า เขาได้ถวายขนมต้มและน้ำดื่มที่เราให้แก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ด้วยบุญนั้นจึงได้เกิดเป็นเทพบุตร.

มหาชนได้ฟังดังนั้น จึงได้เกิดอัศจรรย์จิตไม่เคยมี จึงได้คิดว่า เขาได้กระทำบุญกรรมแม้น้อยในพระอรหันต์ทั้งหลายผู้ชื่อว่าเป็นบุญเขตอันยอดเยี่ยมของชาวโลก จึงนำสัตว์มาเกิดเป็นเทพบุตร ดังนี้แล้วจึงได้เสวยปีติและโสมนัสอันโอฬาร.

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า. ลำดับนั้น เพราะอัตถุปปัติเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ทรงภาษิตคาถาเหล่านี้ว่า :-

พระอรหันต์ทั้งหลาย เปรียบด้วยนา
ทายกทายิกาทั้งหลาย เปรียบด้วยชาวนา
ไทยธรรมเปรียบด้วยพืช ผลทานย่อมเกิด
แต่การบริจาคไทยธรรมของทายกทายิกา
ผู้ให้แก่ปฏิคาหกผู้รับนั้น พืชนาและการ
หว่านพืชนี้ย่อมให้เกิดผลแก่พวกเปรตและ
ทายกทายิกาผู้ให้ เปรตทั้งหลายย่อมพากัน
บริโภคผลนั้น ทายกทายิกาย่อมเจริญด้วย
บุญ ทายกทายิกาทำกุศลในโลกนี้แล้วอุทิศ
ให้เปรตทั้งหลาย ครั้นทำกรรมดีแล้ว ย่อม
ไปสวรรค์.

 

ตัวอย่าง ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนรู้แจ้งเห็นจริงในสัจธรรม

วังคีสพราหมณ์ ผู้เป็นนักทำนายรับจ้างเคาะหัวกะโหลก จะรู้ว่าเจ้าของกะโหลกนั้น ตายแล้วไปเกิดเป็นอะไร?

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภพระวังคีสะเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "จุตึ โย เวทิ" เป็นต้น.



วังคีสพราหมณ์เป็นนักทำนาย

ได้ยินว่า พราหมณ์ในกรุงราชคฤห์คนหนึ่ง ชื่อวังคีสะ เคาะ (กะโหลก) ศีรษะของพวกมนุษย์ที่ตายแล้วก็รู้ได้ว่า "นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในนรก, นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน, นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเปรตวิสัย, นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในมนุษยโลก, นี้เป็นศีรษะของผู้เกิดในเทวโลก."

พวกพราหมณ์คิดว่า "พวกเราอาศัยวังคีสพราหมณ์นี้ ก็สามารถหากินกะชาวโลกได้" จึงให้เขานุ่งผ้าแดง ๒ ผืนแล้วพาเที่ยวไปชนบท กล่าวกะพวกมนุษย์ว่า "พราหมณ์ชื่อวังคีสะนั่น เคาะ (กะโหลก) ศีรษะของพวกมนุษย์ที่ตายแล้ว ก็รู้จักที่เกิด, พวกท่านจงถามถึงที่พวกญาติของตนๆ เกิดแล้วเถิด."

พวกมนุษย์ให้กหาปณะ ๑๐ บ้าง ๒๐ บ้าง ๑๐๐ บ้าง ตามกำลังแล้ว จึงถามถึงที่พวกญาติเกิดแล้ว. พราหมณ์เหล่านั้นถึงกรุงสาวัตถีโดยลำดับแล้ว ยึดเอาที่พักในที่ไม่ไกลแห่งพระเชตวัน.

พวกเขาเห็นมหาชนผู้บริโภคอาหารเช้าแล้ว มีมือถือของหอมและระเบียบดอกไม้เป็นต้น กำลังเดินไปเพื่อฟังธรรม จึงถามว่า "พวกท่านไปไหนกัน? " เมื่อมหาชนนั้นบอกว่า "ไปสู่วิหาร เพื่อฟังธรรม." จึงกล่าวว่า "พวกท่านจักไปในที่นั้นทำอะไร? บุคคลผู้ทัดเทียมกับวังคีสพราหมณ์ของพวกเรา ย่อมไม่มี, เขาเคาะ (กะโหลก) ศีรษะของพวกมนุษย์ที่ตายแล้ว ก็รู้ที่เกิดได้, พวกท่านจงถามถึงที่พวกญาติเกิดเถิด."

มนุษย์เหล่านั้นกล่าวว่า "วังคีสะจะรู้อะไร? บุคคลผู้ทัดเทียมกับพระศาสดาของพวกเรา ไม่มี." เมื่อพวกพราหมณ์แม้นอกนี้ กล่าวว่า "บุคคลผู้ทัดเทียมกับวังคีสะ ไม่มี, เถียงกันแล้ว๑- กล่าวว่า "มาเถิดบัดนี้ พวกเราจักรู้ว่าวังคีสะของพวกท่าน หรือพระศาสดาของพวกเรา มีความรู้" แล้วได้พราหมณ์เหล่านั้นไปสู่วิหาร.



เขายอมจำนนพระศาสดา

พระศาสดาทรงทราบว่าชนเหล่านั้นมา จึงรับสั่งให้นำ (กะโหลก) ศีรษะมา ๕ ศีรษะ คือ "ศีรษะของสัตว์ผู้เกิดในฐานะทั้ง ๔ คือ ‘ในนรก ในกำเนิดดิรัจฉาน ในมนุษยโลก ในเทวโลก’ ๔ ศีรษะ และ (กะโหลก) ศีรษะของพระขีณาสพ" รับสั่งให้วางไว้ตามลำดับ ในเวลาที่วังคีสะมาแล้ว จึงตรัสถามวังคีสะว่า "ทราบว่า ท่านเคาะ (กะโหลก) ศีรษะแล้ว รู้ที่เกิดของสัตว์ทั้งหลายผู้ตายแล้วหรือ? "

วังคีสะ : พระเจ้าข้า ข้าพระองค์รู้ได้.
พระศาสดา : นี้ (กะโหลก) ศีรษะของใคร?
เขาเคาะ (กะโหละ) ศีรษะนั้นแล้ว กราบทูลว่า "ของสัตว์ผู้เกิดในนรก."

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานสาธุการแก่เขาว่า "ดีละ" จึงตรัสถามถึงศีรษะทั้ง ๓ นอกนี้ ในขณะที่เขากราบทูลแล้วๆ ไม่ผิด ก็ประทานสาธุการเหมือนอย่างนั้น จึงทรงแสดง (กะโหลก) ศีรษะที่ ๕ ตรัสถามว่า "นี้ (กะโหลก) ศีรษะของใคร? " เขาเคาะ (กะโหลก) นั้นแล้ว ไม่รู้ที่เกิด. ทีนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า "วังคีสะ ท่านไม่รู้หรือ? " เมื่อเขากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่รู้" จึงตรัสว่า "ฉันรู้."

วังคีสะ : พระองค์ทรงทราบด้วยอะไร?
พระศาสดา : ทราบด้วยกำลังมนต์.

ลำดับนั้น วังคีสะทูลวิงวอนพระองค์ว่า "ขอพระองค์จงประทานมนต์นี้แก่ข้าพระองค์. พระศาสดาตรัสว่า "เราไม่สามารถจะให้มนต์แก่บุคคลผู้ไม่บวชได้."



วังคีสะบวชเพื่อเรียนพุทธมนต์

เขาคิดว่า "เมื่อเราเรียนมนต์นี้แล้ว เราก็จักเป็นผู้ประเสริฐในชมพูทวีปทั้งสิ้น" จึงส่งพราหมณ์เหล่านั้นไป ด้วยคำว่า "พวกท่านจงอยู่ในที่นั้นนั่นแหละสิ้น ๒-๓ วัน ฉันจักบวช" แล้วได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักพระศาสดา ได้เป็นผู้มีนามว่าวังคีสเถระ.

ลำดับนั้น พระศาสดาประทานกัมมัฏฐานมีอาการ ๓๒ เป็นอารมณ์แก่เธอแล้ว ตรัสว่า "เธอจงสาธยายบริกรรมมนต์."



พระเถระบรรลุพระอรหัต

พระวังคีสเถระนั้นสาธยายมนต์อยู่ ถูกพวกพราหมณ์ถามในระหว่างๆ ว่า "ท่านเรียนมนต์ได้แล้วหรือยัง? " จึงบอกว่า "พวกท่านจงรอก่อน, ฉันกำลังเรียน." ต่อกาล ๒-๓ วันเท่านั้นก็ได้บรรลุพระอรหัต ถูกพราหมณ์ทั้งหลายถามอีก จึงกล่าวว่า "ท่านผู้มีอายุ บัดนี้ ฉันไม่ควรเพื่อจะไป." พวกภิกษุได้ยินคำนั้นแล้ว จึงกราบทูลแด่พระศาสดาว่า "พระเจ้าข้า พระวังคีสเถระนี้ พยากรณ์พระอรหัตผล ด้วยคำไม่จริง." พระศาสดาตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออย่ากล่าวอย่างนั้น. ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ บุตรของเราฉลาดในการจุติและปฏิสนธิแล้ว"



ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

ผู้ใด รู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายโดย
ประการทั้งปวง, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งไม่ข้อง ไปดี
รู้แล้ว ว่าเป็นพราหมณ์.
เทพยดา คนธรรพ์และหมู่มนุษย์ ย่อมไม่
รู้คติของผู้ใด, เราเรียกผู้นั้น ซึ่งมีอาสวะสิ้นแล้ว
ผู้ไกลกิเลสว่า เป็นพราหมณ์.

พิมพ์