คำสอนพระอริยเจ้า
ประวัติหลวงปู่มั่นหรือพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต
หลวงปู่มั่นหรือพระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต เป็นพระป่าที่ได้ปฏิบัติตนตามแนวทางคำสอนอย่างเคร่งครัด และยึดถือธุดงควัตรด้วยจริยวัตรปฏิป จนได้รับการยกย่องจากผู้ศรัทธาทั้งหลายว่าเป็นพระผู้เลิศทางธุดงควัตร ท่านวางแนวทางในการปฏิบัติสมถะและวิปัสสนาตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาพุทธเจ้าให้แก่คนทั่วไปอย่างกว้างขวาง จนมีพระสงฆ์และฆราวาสเป็นลูกศิษย์จำนวนมาก แนวคำสอนของท่านเป็นที่รู้จักกันดีในนามว่า คำสอนพระป่า (สายพระอาจารย์มั่น)
ต้องบอกว่าหลวงปู่มั่นนั้นได้บรรพชาตั้งแต่อายุได้ ๑๕ ปี เป็นสามเณรที่ วัดบ้านคำบง เมื่อบวชได้ ๒ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขาเพื่อช่วยการงานทางบ้าน จิตท่านยังหวนคิดถึงร่มผ้ากาสาวพัสตร์อยู่เนืองนิจ เพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายากนัก ต่อมาหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโลได้เดินธุดงค์มาปักกลดอยู่ที่ บ้านคำบง พระอาจารย์มั่นในขณะเป็นฆราวาสจึงเข้าถวายการรับใช้และมีจิตศรัทธาในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงปู่เสาร์ ต่อมาได้ถวายตัวเป็นศิษย์ติดตามเดินทางเข้าเมืองอุบลราชธานี
ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ศึกษาธรรมปฏิบัติ ณ วัดเลียบ จังหวัดอุบลราชธานี และได้ออกจาริกเดินธุดงค์ติดตามหลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ธุดงค์วิเวกไปพำนักจำพรรษา ณ พระธาตุพนม ในปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ซึ่งพระธาตุพนมในสมัยก่อน ประชาชนไม่รู้ถึงความสำคัญจึงไม่มีใครสนใจเท่าใดนัก เมื่อคณะของท่านมาพำนักจำพรรษาจึงได้บอกให้ชาวบ้านญาติโยมทราบว่า พระธาตุพนม องค์นี้เป็นพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นพระธาตุที่บรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้า เมื่อชาวบ้านได้รู้เช่นนั้นแล้ว ก็พากันบังเกิดปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงช่วยกันทำความสะอาดบริเวณพระธาตุพนม ครั้นถึงวันเพ็ญเดือน ๓ ก็พาญาติโยมทั้งหลายทำบุญ จนเป็นประเพณีสืบต่อกันมา
ปี พ.ศ. ๒๔๕๕ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ได้ออกธุดงค์วิเวกเพียงลำพังองค์เดียว ได้ไปพำนักปักหลักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสาริกา จังหวัดนครนายก ณ ถ้ำสาริกา แห่งนี้ ท่านได้รู้ได้เห็นธรรมอันอัศจรรย์ และได้ประสบเหตุการณ์ต่างๆหลายประการ อย่างตอนที่ท่านรู้สึกว่าโรคเจ็บท้องที่เคยเป็นประจำชักกำเริบและมีอาการรุนแรงขึ้นตามลำดับ แต่ด้วยอาศัยด้วยเหตุว่าท่านได้บำเพ็ญบารมี (กำลังใจในการปฏิบัติที่สั่งสม) ไว้มากในพระบวรพุทธศาสนา ท่านจึงตัดสินใจออกไปนั่งสมาธิ เจริญอสุภะกรรมฐาน จนกระทั่งจิตเกิดความอัศจรรย์ สามวันสามคืน พอจิตของท่านอิ่มตัวจากการประพฤติปฏิบัติ ได้เกิดนิมิตต่างๆ ขึ้นมา
หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพ่อแม่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานแห่งยุค ตำนานชีวิตของท่านถูกกล่าวขานกันไม่รู้จบ เป็นที่ประจักษ์แก่ศิษผู้ใกล้ชิดถึงญาณความรู้ของหลวงปู่มั่นกว้างขวางแม่นยำทุกด้านหาผู้เสมอเหมือนได้ยากยิ่ง ท่านสำเร็จปฏิสัมภิทานุศาสน์ ๔ อย่าง คือ
อัตถปฏิสัมภิทา - แตกฉานในอรรถ
ธรรมปฏิสัมภิทา - แตกฉานในธรรม
นิรุตติปฏิสัมภิทา - แตกฉานในภาษา
ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - แตกฉานในปฏิภาณ
โดยปฏิปทาที่ท่านยึดมั่นมาตลอดชีวิตนั้น คือธุดงค์ ซึ่งธุดงควัตรข้อสำคัญที่ท่านสามารถยึดมั่นมาตลอดจนวาระสุดท้ายของชีวิต มี ๗ ประการ คือ
ปังสุกุลิกังคธุดงค์ - ถือนุ่งห่มผ้าบังสุกุล
ปิณฑปาติกังคธุดงค์ - ถือภิกขาจารวัตร เที่ยวบิณฑบาตมาฉันเป็นนิตย์
เอกปัตติกังคธุดงค์ - ถือฉันในบาตร ใช้ภาชนะใบเดียวเป็นนิตย์
เอกาสนิกังคธุดงค์ - ถือฉันหนเดียวเป็นนิตย์
ขลุปัจฉาภัตติกังคธุดงค์ - ถือลงมือฉันแล้วไม่ยอมรับเพิ่ม
เตจีวริตังคธุดงค์ - ถือใช้ผ้าไตรจีวร ๓ ผืน
อารัญญิกังคะ - ถือละเว้นการอยู่ในเสนาสนะใกล้บ้าน
รวมคำสอนลึกซึ้ง ของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต รวบรวมจากบูรพาจารย์ศิษยานุศิษย์
อย่าเป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ
ท่านทั้งหลายจงอย่าทำตัวเป็นตัวบุ้งตัวหนอน
คอยกัดแทะกระดาษแห่งคัมภีร์ใบลานเปล่าๆ
โดยไม่สนใจพิจารณาสัจธรรมอันประเสริฐที่มีอยู่กับตัว
แต่มัวไปยึดธรรมที่ศึกษามาถ่ายเดียว
ซึ่งเป็นสมบัติของพระะพุทธเจ้า มาเป็นสมบัติของตน
ด้วยความเข้าใจผิดว่าตนเรียนรู้และฉลาดพอตัวแล้ว
ทั้งที่กิเลสยังกองเต็มหัวใจยิ่งกว่าภูเขาไฟ มิได้ลดน้อยลงบ้างเลย
จงพากันมีสติคอยระวังตัว อย่าให้เป็นคนประเภทใบลานเปล่าๆ
เรียนเปล่าและตายทิ้งเปล่า
ไม่มีธรรมอันเป็นสมบัติของตัวอย่างแท้จริงติดตัวบ้างเลย
สำคัญ “ตน”
ไม่ว่าธรรมส่วนใด
ถ้าสำคัญตนว่าเสวย เป็นอันผิดทั้งนั้น
(จากหนังสืออัตตโนประวัติหลวงปู่หล้า เขมปัตโต)
ธรรมะของหลวงปู่มั่นข้อนี้ หลวงปู่หล้าเล่าว่า เป็นธรรมชั้นสูงมาก
ชีวิตของหลวงปู่มั่นในยุควัดป่าบ้านหนองผือ จ.สกลนคร
เป็นยุคสุดท้ายของชีวิต และสุดท้ายธรรมชั้นสูงแห่งองค์ท่านอีกด้วย
จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
การบำรุงรักษาสิ่งใด ๆ ในโลก
การบำรุงรักษาตน คือ ใจเป็นเยื่ยม
จุดที่เยี่ยมยอดของโลก คือ ใจ
ควรบำรุงรักษาด้วยดี
ได้ใจแล้ว คือ ได้ธรรม
เห็นใจแล้ว คือ เห็นธรรม
รู้ใจตนแล้ว คือ รู้ธรรมทั้งมวล
ถึงใจตนแล้ว คือ ถึงพระนิพพาน
ใจนี่แล คือ สมบัติอันล้ำค่า จึงไม่ควรอย่างยิ่งที่จะมองข้ามไป
คนพลาดใจ คือ ไม่สนใจปฏิบัติต่อใจดวงวิเศษในร่างนี้
แม้จะเกิดสักร้อยชาติพันชาติ ก็คือผู้เกิดผิดพลาดนั่นเอง
เมื่อทราบแล้วว่าใจเป็นสิ่งประเสริฐในตัวเรา
จึงไม่ควรให้พลาดทั้งรู้ๆ จะเสียใจในภายหลัง
ธรรมที่แสดงนี้ คือธรรมของท่านผู้มีความเพียร
ของท่านผู้อดผู้ทน ของท่านผู้เป็นนักต่อสู้
เพื่อเอาตัวรอดเป็นยอดคนของผู้พ้นจากทุกข์โดยสิ้นเชิง
ปราศจากสิ่งกดขี่บังคับของท่านผู้เป็นอิสระอย่างเต็มภูมิ
คือพระพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาของโลกทั้งสาม
ถ้าท่านเห็นว่าธรรมทั้งนี้ เป็นธรรมสำคัญสำหรับท่าน
ท่านจะเป็นผู้ไม่มีกิเลสในไม่ช้านี้
จึงขอฝากธรรมไว้กับท่านนำไปพิจารณาด้วยดี
(จากหนังสือสมาธิภาวนากับหลวงตามหาบัว วิธีปฏิบัติและข้อพึงระวังที่หลวงตาฝากไว้)
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ จะแยกกันไม่ได้
หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ต้องอิงอาศัยกันอยู่ฉันใดก็ดี
ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ก็อาศัยกันอยู่อย่างนั้น
สัทธรรมสามอย่างนี้ จะแยกกันไม่ได้เลย
หลวงปู่มั่นเทศน์ในงานศพหลวงปู่เสาร์
รากเหง้าของพระศาสนา
ทาน - ศีล - ภาวนา
เป็นรากเหง้าของความเป็นมนุษย์
และเป็นรากเหง้าของพระศาสนา
ที่มนุษย์ต้องคอยสั่งสมให้มาอยู่ในนิสัย
ทาน...เป็นเครื่องแสดงน้ำใจ
เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนใดๆ
ศีล...เป็นเครื่องปัดเป่าความคิดของผู้มีกิเลส
ภาวนา...อบรมใจให้ฉลาดเที่ยงตรงต่อเหตุผลและความถูกต้อง
ผู้เป็นหัวหน้างาน หรือมีภารกิจมาก ควรหันมาฝึกใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะการภาวนาช่วยแก้ความยุ่งยากลำบากใจ
ทุกประเภทที่เป็นภาระหนัก
หากปล่อยใจโดยไม่มีธรรมเป็นเครื่องยับยั้ง
คงไม่ได้รับความสุข แม้จะมีสมบัติก่ายกอง
วาสนา
วาสนานั้นเป็นไปตามอัธยาศัย
คนที่มีวาสนาในทางที่ดีมาแล้ว แต่คบคนพาล
วาสนาก็อาจเป็นเหมือนคนพาลได้
บางคนวาสนายังอ่อน
เมื่อคบบัณฑิต (ผู้มีปัญญาและประพฤติดี)
วาสนาก็เลื่อนขั้นขึ้นเป็นบัณฑิต
ฉะนั้น บุคคลควรพยายามคบแต่บัณฑิต
เพื่อเลื่อนภูมิวาสนาของตนให้สูงขึ้น
อย่าผูกพันกับอดีตหรืออนาคต
สิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ควรทำความผูกพัน
เพราะเป็นสิ่งที่ล่วงไปแล้วอย่างแท้จริง
แม้กระทำความผูกพันและหมายมั่นให้สิ่งนั้น
กลับมาเป็นปัจจุบัน ก็เป็นไปไม่ได้
ผู้ทำความสำคัญมั่นหมายนั้นเป็นทุกข์แต่ผู้เดียว
โดยความไม่สมหวังตลอดไป
อนาคตที่ยังมาไม่ถึงนั้น
เป็นสิ่งไม่ควรไปยึดเหนี่ยวเกี่ยวข้องเช่นกัน
อดีตควรปล่อยไว้ตามอดีต
อนาคตควรปล่อยไว้ตามกาลของมัน
ปัจจุบันเท่านั้นจะสำเร็จประโยชน์ได้
เพราะอยู่ในฐานะที่ควรทำได้ไม่สุดวิสัย
(ภูริทตฺตธมฺโมวาท จากหนังสือภูริทตฺตมหาเถรานุสรณ์)
พระอรหันต์ผุดขึ้นมาจากใจของปุถุชน
พระอรหันต์ไม่ได้ผุดขึ้นมาจากไหน
ก็มาจากหัวใจของปุถุชน มาจากราคะ โทสะ โมหะ
ถ้าหากใจปุถุชนนั้นพยายามบากบั่นฝึกปรือตน
ให้เดินตามมรรคาสัมมาปฏิบัติ
พระอรหันต์ก็มาจากที่นั่น กลั่นกรองมาจากที่นั่น
เหมือนดอกบัวมาจากขี้ตมขี้โคลนเน่า ๆ เหม็น ๆ
แต่พอพ้นน้ำ รับแสงอาทิตย์ แย้มบานเต็มที่
มีสง่าราศรี ใครก็อยากได้อยากชม
(โอวาทธรรมที่หลวงปู่ศรี มหาวีโร ได้สดับฟังมาจาก ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หนังสือหลวงปู่ศรี มหาวีโร พระผู้มากล้นด้วยบุญบารมี)
กิเลสแท้ธรรมแท้อยู่ที่ใจ
ส่วนเครื่องส่งเสริมและกดถ่วงกิเลสและธรรมนั้น
มีอยู่ทั่วไปทั้งภายในภายนอก
ฉะนั้น ท่านจึงสอนให้หลบหลีกปลีกตัวจากสิ่งยั่วยวน กวนใจ
อันจะทำให้กิเลสที่มีอยู่ภายในกำเริบลำพอง มี รูป เสียง เป็นต้น
และสอนให้เที่ยวอยู่ในที่วิเวกสงัด
เพื่อกำจัดกิเลสชนิดต่าง ๆ ด้วยความเพียรได้ง่ายขึ้น
อันเป็นการย่นวัฏฏะภายในใจให้สั้นเข้า
จงรีบเร่งปฏิบัติธรรม
พวกเราทั้งหลายจงรีบเร่งปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม
เหมือนไฟกำลังไหม้เรือน จงรีบดับเร็วพลัน
ให้จิตใจเบื่อหน่ายคลายเมาวัฏสงสาร
ทั้งโลกภายในคือหนังหุ้มอยู่โดยรอบ
ทั้งโลกนอกที่รวมลงเป็นสังขารโลก
ให้ยกดาบเล่มคมเข้าสู้ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
พิจารณาติดต่ออยู่ไม่มีกลางวันกลางคืนเถิด
ความเบื่อหน่ายคลายเมาไม่ต้องประสงค์
ก็จะต้องได้รับแบบเย็น ๆ และแยบคายด้วย
จะเป็นสัมมาวิมุตติ และสัมมาญาณะถ่องแท้ ไม่ต้องสงสัยดอก
พระธรรมเหล่านี้ ไม่ล่วงไปไหน
มีอยู่ทรงอยู่ในปัจจุบันจิต ในปัจจุบันธรรม
ที่เธอทั้งหลายตั้งไว้ที่หน้าสติหน้าปัญญาอยู่ด้วยกัน
กลมกลืนในขณะเดียวนั้นแหละ
การอบรมจิตที่ถูกต้อง
จิตที่ได้รับการอบรมที่ถูกต้องแล้วปัญญาย่อมเกิดขึ้น
จะมองดูอะไรก็เป็น “นิยายนิกธรรม” ทั้งสิ้น
ส่วนผู้ไม่ได้รับการอบรมจิตที่ถูกต้อง ปัญญาแท้จริงก็ไม่เกิด
แม้ผู้นั้นกำลังจับพระไตรปิฎกอ่านอยู่ก็ไม่เป็นผล
ยิ่งทำให้เกิดความลังเลสงสัยตลอดไป
ส่วนผู้มีปัญญาอบรมมาด้วยจิตที่ถูกต้อง
แม้จะไม่ต้องจับพระไตรปิฎก
แต่ก็น้อมเอาสิ่งต่าง ๆ มาเป็นธรรม เป็นยอดพระไตรปิฎกได้
หลวงปู่มั่นแสดงธรรมในวันมาฆบูชา
เครื่องประกอบความเพียร มีสติปัญญาเป็นสำคัญ
อยู่ที่ไหนอย่าให้เผลอสติ ให้มีปัญญาเสมอ
อย่าสะทกสะท้าน อย่าหวั่นไหว อย่ากลัวว่าจะไม่ได้ ไม่ถึง
นอกไปจากกลัวจะเผลอสติ กลัวจะไม่มีปัญญา
นี่แหละคือเครื่องมือขุดค้นธรรม เพื่อความรู้แจ้งแทงตลอด
ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องมือถอดถอนกิเลสทุกประเภทออกให้หมด
(เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ถ่ายทอดพระธรรมเทศนา ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ที่แสดงธรรมในวันมาฆบูชา)