วิปัสสนากัมมัฏฐาน

วิปัสสนากัมมัฏฐาน

ปริยัติธรรม

คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย

วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ตามแนวของพระพุทธศาสนาเถรวาท

ความหมาย

วิปัสสนากัมมัฏฐาน เป็นภาษาบาลี จําแนกออกเป็น ๔ คํา คือ วิ+ปสฺสนา+กมฺม+ฐาน  วิ อุปสัค แปลว่าวิเศษ แจ้ง ต่าง ทิส ธาตุ แปลว่า เห็น แปลง ทิส เป็น ปสุส ประกอบด้วย ปัจจัยและวิภัตติ เป็น ปสุสนา แปลว่า การเห็น เมื่อนําทั้ง ๒ คํามารวมกันจึงเป็น วิปัสสนา ซึ่งแปลว่าการเห็นโดยวิเศษ การเห็นแจ้ง การเห็นด้วยอาการต่างๆ หรือ อาการหลายอย่าง และยังเป็นปัญญาที่เข้าไปเห็นแจ้งรูปนาม พระไตรลักษณ์ อริยสัจ และมรรค ผล นิพพาน วิปัสสนา คือปัญญา กิริยาที่รู้ชัดความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกําหนด หมาย ความเข้าไปกําหนด ความเข้าไปกําหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญา เครื่องทําลายกิเลส ปัญญาเครื่องนําทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏิก ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาสตรา ปัญญาเหมือนปราสาท แสงสว่างคือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม และสัมมาทิฏฐิต

วิปัสสนา หมายถึง การกระทําอันเป็นที่ตั้งแห่งการเห็นแจ้งในขันธ์ ๕ หรือรูปและนาม ที่มาปรากฏทางทวารทั้ง ๖ โดยความเป็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ อนัตตา ความไม่เป็นไปตามอํานาจบังคับบัญชาของใคร องค์ธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก ปัญญาที่รู้เห็นอย่างนี้จึงจะเรียกว่า “วิปัสสนา”

วิปัสสนากัมมัฏฐาน แปลว่า อารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งการงานทางใจที่จะให้เห็นแจ้ง ซึ่งมีความหมายว่า ให้เห็นแจ้งรูปนาม ให้เห็นแจ้งไตรลักษณ์ ให้เห็นแจ้งอริยสัจ ให้เห็นแจ้ง มรรค ผล นิพพาน


วิปัสสนา มี ๓ ประการดังนี้

  1. สังขารปริคคัณหก คือ วิปัสสนาญาณที่มีการกําหนดรู้ในสังขารธรรม รูปและนาม
  2. ผลสมาปัตติวิปัสสนา คือ วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้าผลสมาบัติได้
  3. นิโรธสมาปัตติวิปัสสนา คือ วิปัสสนาญาณที่เป็นเหตุให้เข้านิโรธสมาบัติได้
วิปัสสนา ยังมีอีก ๓ แบบ คือ

๑. จุฬวิปัสสนา แปลว่าวิปัสสนาน้อยๆ ได้แก่ผู้ลงมือปฏิบัติโดยกําหนดรูปนาม จนเห็นรูปนาม เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม เห็นรูปนาม เป็นของ ไม่เที่ยง มีแต่สิ้นไปหมดไปฝ่ายเดียว เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ เป็นของน่ากลัว เป็นอนัตตา คือ บังคับบัญชาไม่ได้ และไม่มีสาระแก่นสารอะไรเลย

๒. มัชฌิมวิปัสสนา แปลว่า วิปัสสนาอย่างกลาง ได้แก่ผู้ปฏิบัติตั้งใจอย่างจริงจัง โดยเดินจงกรมบ้าง นั่งกําหนดบ้าง กําหนดเวทนาบ้าง กําหนดจิตบ้าง กําหนดธรรมบ้าง ตาม นัยแห่งพระไตรปิฎก อันมีปรากฏอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตร และเห็นความเกิดดับของรูปนาม คือ ญาณที่ ๔ เป็นต้นไป จนกระทั่งถึงสังขารุเปกขาญาณ คือ ญาณที่ ๑๑

๓. มหาวิปัสสนา แปลว่า วิปัสสนาใหญ่ คือวิปัสสนาที่มีกําลังแก่กล้า สามารถเห็น อริยสัจ ๔ ซึ่งเรียกว่า สัจจานุโลมิกญาณ และสามารถทําลายปุถุโคตรคือโคตรของปุถุชนอัน หนาแน่นไปด้วยกิเลสตัณหาให้เบาบางลงไป รูปนามดับหมด ซึ่งเรียกว่า โคตรภูญาณ ต่อ จากนั้น มรรคญาณก็เกิดขึ้นประหานกิเลสคือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสให้เด็ด ขาดออกไป แล้วปัจจเวกขณญาณก็เกิดขึ้นมาพิจารณากิเลสที่ละที่เหลือ มรรค ผล นิพพาน

อย่างไรก็ตาม แม้พระไตรปิฎกจะให้ความหมายของคําว่าวิปัสสนา ไว้หลายนัยก็ตาม แต่ผู้ปฏิบัติก็ต้องผ่านกระบวนการฝึกวิปัสสนากัมมัฏฐานตามหลักสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นพระสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระไตรปิฎก จึงจะสามารถพัฒนาวิปัสสนาปัญญาให้เกิดขึ้นได้ หลักการฝึกเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานนั้น แม้ผู้เข้าฝึกจะมีสมาธิในระดับใดก็ตาม ก็สามารถนํามาเป็นเครื่องมือในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ แม้แต่จิตที่สงบชั่วขณะ (ขณิกสมาธิ) ก็สามารถนํามาเป็นพื้นฐานในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ในวิสุทธิมรรค ว่า ปราศจากขณิกสมาธิเสียแล้ว วิปัสสนาย่อมมีไม่ได้ (วิสุทธิ, ฎีกา. ๑/๑๕/๒๑) อีกทั้งผู้ เจริญสมถกัมมัฏฐานจนได้ผลของสมถะในระดับสูง เช่น แสดงฤทธิ์ได้ ก็สามารถนําผลนั้น มาเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานได้ด้วย เพราะการได้ฌานสมาบัติจนถึงขนาด แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ได้นั้น ถ้ายังไม่ผ่านกระบวนการฝึกจิตด้วยหลักวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนถึงขั้นบรรลุเป็นพระอรหันต์ ก็ยังไม่ถือว่าได้บรรลุจุดหมายสูงสุดในทางพุทธศาสนา เพราะอิทธิฤทธิ์ต่างๆ เป็นสิ่งที่เสื่อมสลายไปได้เสมอ ในกรณีที่เกิดกับคนยังมีกิเลสอยู่ พระพุทธศาสนาถือว่า การฝึกฝนอบรมจิตให้เกิดปัญญาตามกระบวนการวิปัสสนากัมมัฏฐาน ถึงขนาดทําลายกิเลสได้เป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด เพราะการฝึกฝนอบรมจิตนี้ย่อมจะทําให้ความ ไม่รู้ (อวิชชา) หายไป เปรียบเหมือนแสงสว่างทําให้ความมืดหายไปด้วย จิตของปุถุชนโดย ปกติย่อมหนาแน่นไปด้วยกิเลส เมื่อได้รับการชําระโดยกระบวนการวิปัสสนากัมมัฏฐานแล้ว สภาพจิตก็จะบางเบาจากกิเลส เปลี่ยนไปในทางที่ดี จนบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอรหันต์ ซึ่งเป็นชีวิตในอุดมคติของพระพุทธศาสนา ดังนั้น เราจึงสามารถกล่าวได้ว่าพระอริยบุคคล จะต้องผ่านการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน (สติปัฏฐาน) มาแล้วทั้งนั้น

ประเภทของวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ผู้บรรลุมรรค ผล นิพพาน นั้นมีอยู่ ๒ ประเภท คือ สุกขวิปัสสกะ (วิปัสสนายานิกะ) และ ฌานลาภิบุคคล (สมถยานิกะ)

  1. สุกขวิปัสสกบุคคล (วิปัสสนายานิกะ) เป็นผู้มีวิปัสสนาญาณอันแห้งแล้งจาก โลกียฌาน คือ พระอริยบุคคลจําพวกนี้ไม่ได้เจริญสมถภาวนาจนเกิดฌานจิตมาแต่ก่อนเลย แต่เริ่มเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐานอย่างเดียวจนเป็นพระอริยบุคคล ที่เรียกว่า ปัญญาวิมุตติ
  2. ฌานลาภิบุคคล (สมถยานิกะ) คือผู้ที่ได้เจริญสมถกัมมัฏฐานจนเกิดฌานจิตมี ปฐมฌานเป็นต้นมาก่อนแล้ว เป็นฌานลาภีบุคคลมาแล้ว จึงได้ใช้ฌานเป็นบาทเพื่อมาเจริญตามแนวสติปัฏฐาน ๔ หรือ วิปัสสนากัมมัฏฐานต่อจนได้สําเร็จเป็นพระอริยบุคคลที่เรียกว่า เจโตวิมุตติ
ประโยชน์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน

ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนามี ๑๐ อย่าง คือ

  1. สามารถกําจัดกิเลสต่างๆ อันเป็นต้นเหตุของความทุกข์ ความเดือดร้อนต่างๆ ลงได้
  2. มีความทุกข์น้อยลง และมีความสุขมากขึ้น
  3. คลายความยึดมั่น ในสิ่งทั้งปวงลงได้ ไม่วุ่นวายเดือดร้อน ไปตามกระแสของโลก
  4. มีจิตใจมั่นคงรู้เท่าทันความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลาย ไม่ฟูขึ้นหรือยุบลง ด้วยอํานาจโลกธรรม
  5. มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง แต่บําเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่นมากขึ้น
  6. จิตใจมีคุณธรรมหรือมีคุณภาพสูงขึ้นตามขั้นของการปฏิบัติ
  7. สามารถเข้านิโรธสมาบัติ อันเป็นความสุขขั้นสูงในปัจจุบันภพได้
  8. สามารถบรรลุความเป็นอริยบุคคล อันเป็นบุญเขตของโลก
  9. ย่อมได้ดื่มรสแห่งอริยผล อันเกิดจากการพ้นจากอํานาจของกิเลสได้
  10. การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ หรือวิปัสสนากัมมัฏฐาน จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน แต่ถ้ายังมีเชื้อเหลือ ก็จะได้บรรลุความ เป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก) ภายใน ๗ ปี หรือลดลงมาโดยลําดับถึงภายใน ๗ วัน

วิปัสสนาภูมิ คือ ธรรมทั้งหลายอันแยกประเภทเป็น ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

วิธีปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๔ รูปแบบ คือ

๑. สมถปุพพังคมวิปัสสนา วิปัสสนามีสมถะนำหน้า (เรียกเต็มว่า สมถปุพพังคมวิปัสสนาภาวนา การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า)

๒. วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า (เรียกเต็มว่า วิปัสสนาปุพพังคมสมถภาวนา การเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้า)

๓. ยุคนัทธสมถวิปัสสนา สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน (เรียกเต็มว่า สมถวิปัสสนายุคนัทธภาวนา การเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่ไปด้วยกัน)

๔. ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส วิธีปฏิบัติเมื่อจิตถูกชักให้เขวด้วยธรรมุธัจจ์ คือความฟุ้งซ่านธรรม หรือตื่นธรรม (ความเข้าใจผิดยึดเอาผลที่ประสบในระหว่างว่าเป็นมรรคผลนิพพาน)

วิธีทั้งสี่นี้สรุปจากมรรค ๔ แบบ (ในที่นี่ยกมาแนะนำ ๓ แบบ) ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฎิบัติ ๓ อย่าง ดังที่พระอานนท์ได้แสดงไว้ดังนี้

“อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุหรือภิกษุณีรูปหนึ่งรูปใดก็ตาม จะพยากรณ์อรหัตตผลในสำนักของข้าพเจ้า ก็ย่อม (พยากรณ์) ด้วยมรรค ๔ ทั้งหมด หรือด้วยมรรคใดมรรคหนึ่งบรรดามรรค ๔ เหล่านี้ กล่าวคือ :-

“๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า, เมื่อเธอเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้าอยู่ มรรคเกิดขึ้น, เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น, เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลาย ย่อมสิ้นไป

“๒. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า, เมื่อเธอเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้าอยู่ มรรคเกิดขึ้น, เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น, เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป

“๓. อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กัน, เมื่อเธอเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันอยู่ มรรคเกิดขึ้น, เธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น, เมื่อเธอเสพคุ้น เจริญ ทำให้มาก ซึ่งมรรคนั้น สังโยชน์ทั้งหลายย่อมถูกละได้ อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไป

ข้อที่ ๑ วิปัสสนามีสมถะนำหน้า คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ อธิบายความหมายว่า (เบื้องแรก) จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่ซ่านส่าย มีสมาธิเกิดขึ้น ด้วยอำนาจเนกขัมมะ (ความคิดสลัดออก ไม่โลภ ไม่พัวพันในกาม) ก็ดี ด้วยอำนาจอพยาบาท (คิดเมตตา) อาโลกสัญญา (ทำใจนึกถึงแสงสว่าง ไม่ให้ง่วงเหงา) อวิกเขปะ (ความไม่ฟุ้งซ่านปราศจากอุทธัจจะ) ธรรมววัตถาน (การกำหนดข้อธรรม ซึ่งทำให้ไม่มีวิจิกิจฉา) ญาณ (ความรู้) ปราโมทย์ (ความแช่มชื่นใจ) ก็ดี ด้วยอำนาจปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตฌาน ด้วยอำนาจอากาสานัญจายตนสมาบัติ วิญญาณัญจายตนสมาบัติ อากิญจัญญายตนสมาบัติ เนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ก็ดี ด้วยอำนาจกสิณ ๑๐ ก็ดี อนุสติ ๑๐ อสุภะ ๑๐ หรือ วิธีปฏิบัติต่าง ๆ เกี่ยวกับอานาปานสติ ๓๒ รายการ ก็ดี ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใดก็ตาม (ครั้นแล้ว) เกิดปัญญามองเห็นแจ้งซึ่งธรรมทั้งหลายที่เกิดแล้วในสมาธินั้น ๆ ว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อย่างนี้เรียกว่า สมถะมาก่อน วิปัสสนามาหลัง คือเป็น สมถปุพพังคมวิปัสสนา

อรรถกถาอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกว่า ตามวิธีปฏิบัติอย่างที่ ๑ นี้ ผู้ปฏิบัติทำสมถะคือสมาธิให้เกิดขึ้นก่อน จะเป็นอุปจารสมาธิหรืออัปปนาสมาธิก็ได้ จากนั้นจึงพิจารณาสมถะหรือสมาธินั้น (ไม่ว่าจะเป็นอุปจารสมาธิหรือฌานสมาบัติชั้นใดก็ตาม) กับทั้งธรรมอื่น ๆ ทั้งหลายที่ประกอบร่วมกับสมาธินั้นให้เห็นสภาวะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น จนอริยมรรคเกิดขึ้น

ข้อที่ ๒ สมถะมีวิปัสสนานำหน้า คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ อธิบายความหมายว่า (เบื้องแรก) วิปัสสนาใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามสภาวะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา (ครั้นแล้ว) จิตเกิดความปล่อยวางธรรมทั้งหลายอันปรากฏในวิปัสสนานั้น และยึดเอาภาวะปล่อยวางนั้นเองเป็นอารมณ์ จิตจึงมีภาวะอารมณ์หนึ่งเดียว ปราศจากความซัดส่าย มีสมาธิอย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนามาก่อน สมถะมาหลัง คือเป็น วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ

ขยายความตามอรรถกถาว่า ผู้ปฏิบัติยังมิได้ทำสมถะให้เกิดขึ้นเลย แต่มาพิจารณาเห็นแจ้งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามสามัญลักษณะที่เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น อันนับว่าเป็นวิปัสสนา พอวิปัสสนาเต็มเปี่ยมดี จิตก็จะเกิดภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียว (= เป็นสมาธิ) ขึ้น โดยมีความปล่อยวางธรรมทั้งหลายที่เกิดในวิปัสสนานั้นเองเป็นอารมณ์ อันนับว่าเป็นสมถะ เมื่อปฏิบัติโดยวิธีนี้ อริยมรรคก็เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม อรรถกถาสรุปว่า ไม่ว่าจะเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้า หรือเจริญสมถะโดยมีวิปัสสนานำหน้าก็ตาม เมื่อถึงขณะที่อริยมรรคเกิดขึ้น ทั้งสมถะและวิปัสสนาจะต้องเกิดขึ้นด้วยกันอย่างควบคู่เป็นการแน่นอนเสมอไป ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าโดยหลักพื้นฐานแล้ว สมถะและวิปัสสนาก็คือองค์ของมรรคนั่นเอง วิปัสสนาได้แก่สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ สมถะได้แก่องค์มรรคที่เหลืออีก ๖ ข้อ ซึ่งเป็นธรรมดาอยู่แล้วที่องค์มรรคเหล่านี้จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะบรรลุอริยภูมิ

ข้อ ๓ สมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กัน คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ อธิบายความหมายว่า ผู้ปฏิบัติเจริญสมถะและวิปัสสนาควบคู่กันไปโดยอาการ ๑๖ เช่น โดยอรรถแห่งอารมณ์เป็นต้น ยกตัวอย่าง เมื่อละอุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ก็เกิดสมาธิกล่าวคือภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว ไม่พล่านส่าย ซึ่งมีนิโรธ เป็นอารมณ์ (พร้อมกันนั้น) เมื่อละอวิชชา ก็เกิดวิปัสสนาคือการตามดูรู้เห็นแจ้ง ซึ่งมีนิโรธเป็นอารมณ์อย่างนี้เรียกว่าทั้งสมถะและวิปัสสนามีกิจเดียวกัน เป็นควบคู่กัน ไม่เกินกัน โดยอรรถแห่งอารมณ์

สำหรับข้อที่สามนี้ อรรถกถาสร้างคำอธิบายเป็นรูปแบบมากขึ้น โดยบรรยายว่า การเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กัน มิใช่หมายความว่าทำทั้งสองอย่างพร้อมกันทีเดียว เพราะเราไม่สามารถพิจารณาสังขารด้วยจิตเดียวกันกับที่เข้าสมาบัติ คำว่าเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กัน หมายความว่า เข้าสมาบัติถึงไหน ก็พิจารณาสังขารถึงนั่น พิจารณาสังขารถึงไหน ก็เข้าสมาบัติถึงนั่น กล่าวคือ เข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว พิจารณาสังขาร ครั้นพิจารณาสังขารแล้ว ก็เข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว พิจารณาสังขารอีก ครั้นพิจารณาแล้ว เข้าตติยฌาน ฯลฯ อย่างนี้เรื่อยไปตามลำดับจนเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนะแล้ว ก็พิจารณาสังขารอีก อย่างนี้เรียกว่าเจริญสมถะวิปัสสนาควบคู่กันไป ตัวอย่างสำคัญที่ท่านกล่าวถึงคือ พระสารีบุตร ซึ่งได้เจริญสมถะและวิปัสสนาเข้าคู่กันมาตั้งแต่ปฐมฌานจนตลอดบรรลุมรรคผล

พระอภิธรรม เจตสิกปรมัตถ์ เรียบเรียงโดย พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร

ปัญญินทรีย์เจตสิก คือ ปัญญา เป็นเจตสิกที่ความรู้เป็นใหญ่ เป็นประธาน เพราะเหตุนั้นจึงชื่อว่าปัญญินทรีย์ ปัญญา คือ ความรู้โดยประการ คือ หยั่งรู้เกี่ยวกับประการไม่เที่ยง เป็นต้น ปัญญานั้น นั่นแหละเป็นอินทรีย์ เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง

ปัญญินทรีย์เจตสิก หรือ ปัญญาเจตสิก มีความหมายว่า รู้โดยประการคือหยั่งรู้ เกี่ยวกับประการไม่เที่ยง เป็นต้น ปัญญานั้นนั่นแหละเป็นอินทรีย์ เพราะประกอบด้วยความเป็นใหญ่ในการหยั่งรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริง


ปัญญานี้ มีอรรถาธิบายอย่างกว้างขวาง และแจกแจงได้หลายนัย หลายกระบวน เป็นจำนวนมากมาย ในที่นี้จะกล่าว ปัญญา ๓ นัย คือ

  1. กัมมสกตาปัญญา ปัญญาที่รู้ว่า กรรมเป็นสมบัติของตน
  2. วิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้ขันธ์ ๕ รูปนาม เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
  3. โลกุตตรปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจจ ๔

กัมมัสสกตาปัญญาและวิปัสสนาปัญญา จัดว่าเป็นโลกียปัญญา คือ ปัญญาที่ เกี่ยวข้องกับการรู้โลกียอารมณ์ มี รูปารมณ์ เป็นตันตามความเป็นจริง ซึ่งได้แก่ปัญญาเจตสิก ที่ประกอบกับกามาวจรโสภณญาณสัมปยุตตจิต ๓๒ ดวง และมหัคคตจิต ๒๗ ดวง

ส่วนโลกุตตรปัญญานั้น เป็นปัญญาที่ไม่เกี่ยวกับการรู้โลกียอารมณ์ แต่เป็นการรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ ซึ่งเป็นอารมณ์พิเศษ ที่พ้นจากการปรุงแต่งใด ๆ ในโลก ได้แก่ ปัญญาเจตสิกที่ประกอบกับโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวง

 

ภาวนามยปัญญา ปัญญาเกิดจากการอบรม หมายถึง ปัญญาที่เกิดจาก การเจริญภาวนา ได้แก่ "สมถภาวนา" คือ การเจริญสมาธิจนกระทั่งฌานจิตเกิด เรียกว่า "ฌานสัมมาทิฏฐิ" และ"วิปัสสนาภาวนา" คือการเจริญวิปัสสนานา จนกระทั่งได้เห็นความเป็นไปของรูปนามขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง โดยกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และสามารถทำลายกิลสที่เป็นเหตุให้ยึดมั่นในความคิดความเห็นว่า เป็นตัว เป็นตนเสียได้ เรียกว่า "วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ" กระทั่งบรรลุถึงมัคคญาณสามารถประหาณอนุสัยกิเลสได้เด็ดขาด ตามกำลังแห่งมรรคแต่ละชั้นเรียกว่า "มัคคสัมมาทิฏฐิ" ต่อไปด้วยผลญาณ เรียกว่า "ผลสัมมาทิฏฐิ" และจบลงด้วย "ปัจจเวกขณญาณ" เรียกว่า "ปัจจเวกขณสัมมาทิฏฐิ"

 

เหตุทำให้เกิดปัญญา ๓ ประการ

  1. เหตุที่ทำให้เกิด กัมมสกตาปัญญา มี ๑๐ ประการ เรียกว่าสัมมาทิฐิ ๑๐ มีการเห็นว่า การให้ทานย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ เป็นต้น
  2. เหตุที่ทำให้เกิด วิปัสสนาปัญญา ได้แก่ องค์คุณของวิปัสสนา ๓ ประการคือ อาตาปี สติมา สัมปชาโน ที่ทำการพิจารณาวิปัสสนาภูมิ ๖ ( ขันธ์ อายตนะ ธาตุ อินทรีย์ สัจจะ และปฏิจจสมุปบาท ) ให้เห็นโดยความเป็นแต่สภาพ รูปนาม ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา จนวิปัสสนาญาณเกิดโดยลำดับ
  3. เหตุที่ทำให้เกิดโลกุตตรปัญญา ได้แก่ วิปัสสนาญาณที่เกิดขึ้นโดยลำดับ จนถึงมรรคญาณ ผลญาณเกิดขึ้น

 

องค์คุณแห่งการเจริญวิปัสสนา ๓ ประการ

เหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดวิปัสสนา ได้แก่ การเจริญวิปัสสนา โดยอาศัยองค์คุณของวิปัสสนา ๓ ประการ คือ

  1. อาตาปี คือ ความเพียร เป็นเครื่องเผากิเลสทั้งหลายให้เร่าร้อน ทนอยู่ไม่ได้และความบากบั่นในการเพ่งพิจารณาอารมณ์รูปนามในวิปัสสนาภูมิโดยมิให้เกิดความท้อแท้เบื่อหน่าย
  2. สติมา คือ ความมีสติระลึกรู้สึกรู้เท่าทันสภาพของอารมณ์วิปัสสนาภูมินั้น มิให้หลุดไปจากปัจจุบันอารมณ์ และมิให้กิเลสเข้าครอบงำได้
  3. สัมปชาโน คือ ปัญญาความรู้ตัวทั่วพร้อมในสภาพของอารมณ์ที่เป็นวิปัสสนาภูมินั้น โดยความเป็นเหตุเป็นผล และเป็นแต่สภาพรูปธรรมนามธรรม มิใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา แต่อย่างใด

จิตปรมัตถ์ เรียบเรียงโดย พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร

การเกิดขึ้นของโลกุตตรจิต

โลกุตตรจิต เป็นจิตที่เกิดสืบเนื่องมาจากมหากุศลจิต ที่เกิดจากการเจริญวิปัสสนาภาวนา ซึ่งมีสภาวะของรูปนามเป็นอารมณ์ จนเกิดความเห็นแจ้งในสภาพแห่งรูปนามนั้นอันมีความเป็นไปตามกฎแห่งไตรลักษณ์ คือ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีการเกิดขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ทั้งไม่สามารถบังคับบัญชาให้อยู่ในอำนาจได้ หรือไม่อยู่ในความบงการของใครหรือสิ่งใด ๆ ทั้งสิ้น ย่อมเป็นไปตามเหตุตามปัจจัยของตนอยู่เนืองนิตย์ เมื่อเห็นแจ้งอย่างนี้แล้ว จึงเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายแล้ว ย่อมคลายความกำหนัดยินดีในรูปนามนั้น เมื่อคลายกำหนัดได้แล้ว ย่อมปรารถนาความหลุดพ้นจากสภาพของรูปนามนั้น ย่อมแสวงหาวีธีการหลุดพ้นจากรูปนาม ด้วยการฝึกฝนพัฒนาสติปัญญาของตนให้แก่กล้ายิ่งขึ้นโดยลำดับ จนสามารถเข้าถึงสภาพที่สามารถประหาณอนุสัยกิเลสและรับรู้พระนิพพานเป็นอารมณ์ได้โดยลำดับ ในเวลานั้น จึงเปลี่ยนสภาพจากมหากุศลจิตมาเป็นสภาพของโลกุตตรจิต

 

มรรคจิต ๔

มรรคจิต ๔ เป็นการนับตามอำนาจแห่งมรรคที่พระโยคีบุคคลนั้นเจริญวิปัสสนาอย่างเดียวจนได้บรรลุมรรคนั้นแบบธรรมดาไม่มีฌานเกิดร่วมด้วย เรียกว่า สุกขวิปัสสก แปลว่า ผู้เห็นแจ้งแบบแห้งแล้ง ฉะนั้น มรรคจิตแต่ละชั้นนั้น จึงมีเพียงดวงเดียวตามลำดับแห่งมรรค คือ โสดาปัตติมรรคจิต ๑ สกิทาคามิมรรคจิต อนาคามิมรรคจิต ๑ อรหัตตมรรคจิต ๑ รวมเป็นมรรคจิต ๔ ดวง ดังนี้

 

"มรรคจิต ดวงที่ ๑ โสตาปัตติมัคคจิตตัง" แปลความว่า จิตที่เข้าถึงกระแสแห่งพระนิพพานเป็นครั้งแรก หมายความว่า โสดาปัตติมรรคจิตนี้เกิดขึ้นในขณะที่โสดาปัตติมรรคญาณของติเหตุกบุคคลที่ได้มรรคเป็นครั้งแรกในสังสารวัฏฏ์นี้ เป็นจิตที่เกิดขึ้นในมัคควิถี ซึ่งเกิดขึ้นเพียง ๑ ขณะเท่านั้นแล้วก็ดับลง ทำให้บุคคลนั้น เปลี่ยนจากสภาพความเป็นปุถุชนไปเป็นพระอริยบุคคล นอกจากนี้แล้ว โสดาปัตติมรรคจิตนี้ยังทำการประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่างได้แก่ ทิฏฐานุสัย ความเห็นผิด และ วิจิกิจฉานุสัย ความลังเลสงสัยให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เรียกว่า "สมุจเฉกปทาน" และทำอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๕ อย่าง [คือ กามราคานุสัย ภวราคานุสัย ปฏิฆานุสัย มานานุสัย และอวิชชานุสัย] ที่เป็นชนิดอปายคมนียะ คือ มีสภาพหยาบสามารถนำไปสู่อบายภูมิได้นั้นให้เบาบางลง เรียกว่า "ตนุกรปหาน" จนไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาอย่างหยาบออกมาอันจะเป็นเหตุนำไปสู่อบายภูมิได้อีกต่อไป ฉะนั้น โสดาปัตติมรรคจิตนี้ แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตามแต่ก็สามารถทำกิจอันยิ่งใหญ่ให้สำเร็จได้ เปรียบเหมือนสายฟ้าแลบในเวลากลางคืนอันมืดมิด แม้จะแลบเพียงครั้งเดียว ก็ทำให้บุคคลที่กำลังเดินไปในท่ามกลางความมืดนั้นสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบข้างได้และสามารถที่จะมองเห็นแนวทางที่จะคลำเดินต่อไปข้างหน้าได้ ข้อนี้ฉันใด โสดาปัตติมรรคจิตนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะเกิดขึ้นเพียงขณะเดียวก็ตามก็ทำให้บุคคลนั้นได้รู้เห็นสัจธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริงโดยไม่ต้องเชื่อตามบุคคลอื่นอีกต่อไป บุคคลผู้เป็นพระโสดาบันนั้นสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ในหนทางแห่งพระนิพพานจนถึงจุดหมายสูงสุด คือ ความเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพาน ด้วยเหตุนี้ โสดาปัตติมรรคจิต จึงชื่อว่า "วิชชูปมาธรรม" แปลว่า ธรรมที่เปรียบประดุจดังสายฟ้าแลบ อนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสว่า "โสดาปัตติมรรคนี้ ประเสริฐกว่าการได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดิน" เพราะผู้ที่ได้บรรลุโสดาปัตติมรรคแล้ว จะไม่ต้องเวียนว่ายไปเกิดในอบายภูมิอีกต่อไป เป็นผู้ปิดประตูอบายภูมิได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ซึ่งจะเกิดอีกอย่างมากเพียง ๗ ชาติเท่านั้น ก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์และเข้าสู่ปรินิพพานไป ส่วนผู้ที่เป็นพระเจ้าจักรพรรดิหรือกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแผ่นดินนั้น เป็นใหญ่ได้เฉพาะในชาตินั้นเท่านั้น แต่ชาติต่อไปอาจจะไปเกิดในอบายภูมิก็เป็นได้ ทั้งยังต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีกยาวนานยังกำหนดที่สิ้นสุดไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ ความเป็นพระโสดาบันนั้นจึงมีความยิ่งใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว

"มรรคจิต ดวงที่ ๒ สกิทาคามิมัคคจิตตัง" แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๒ ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่จะเวียนมาสู่กามสุคติภูมิอีกเพียงครั้งเดียว หมายความว่า สกิทาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระโสดาบันเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปของรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์เป็นเบื้องต้น จนวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นตามลำดับ คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ โคตรภูญาณหรือโวทานญาณ ต่อจากนั้น สกิทาคามิมรรคญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการทำลายอำนาจของอนุสัยกิเลสที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหาณไปแล้วนั้นให้เบาบางลงไปอีก แต่ไม่มีการประหาณโดยสมุจเฉท เพียงแต่ประหาณโดยการทำให้เบาบางลงไปอีก เรียกว่า "ตนุกรปกาน" เท่านั้น และอำนาจแห่งสกิทาคามิมรรคจิตนี้ ย่อมขัดเกลาสภาพของกามธรรมให้เบาบางเหลือน้อยลง จนทำให้บุคคลนั้นจะกลับมาเกิดในกามสุคติภูมิได้อีกเพียงชาติเดียวเท่านั้น ก็จะได้บรรลุพระอนาคามีไปสู่พรหมโลก หรือได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และพระอรหันต์แล้วเข้าสู่ปรินิพพานในกามโลกนั้นเลย จึงได้ชื่อว่า "สกิทาคามิมรรค"

"มรรคจิต ดวงที่ ๓ อนาคามิมัคคจิตตัง" แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพานเป็นครั้งที่ ๓ ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ต้องเวียนกลับมาสู่กามโลกอีกแล้ว หมายความว่า อนาคามิมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระสกิทาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลัษณ์ หยั่งลงสู่อุทยัพพญาณเป็นตันไปตามลำดับ [ดังกล่าวแล้วในสกิทาคามิมรรคจิต] จนถึงอนาคามรรคญาณเกิดขึ้น ๑ ขณะ พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสอีก ๒ อย่างคือ "กามราคานุสัย" ความกำหนัดในกาม และ "ปฏิฆานุสัย" ความประทุษร้าย ให้หมดไปจากขันธสันดานโดยสิ้นเชิง เรียกว่า "สมุจเฉกปหาน" เมื่อหมดกามราคานุสัยแล้ว จึงทำให้บุคคลนั้น หมดความเยื่อใยในเรื่องของกามหรือเรื่องครอบครัว เป็นผู้มีวิถีชีวิตอยู่ด้วยความเป็นอิสระจากกาม มีชีวิตที่เบาสบาย ไม่หมกมุ่นในเรื่องของกามและเมื่อหมดปฏิมานุสัยแล้ว ก็ทำให้บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่มีความกระทบกระทั่งขัดเคืองกับบุคคลอื่น ไม่มีความขัดเคืองในใจตนเองและไม่มีความขัดเคืองต่ออารมณ์ใด ๆ ทำให้เป็นผู้สงบเยือกเย็นไม่ต้องก่อเวรก่อภัยใด ๆ และเป็นผู้ไม่หมกมุ่นอยู่ในเรื่องของสังคม มีอิสระอยู่ผู้เดียว ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลนั้นตายแล้ว ถึงแม้จะไม่ได้รูปาวจรปัญจมฌานก็ตาม แต่ก็จะได้ไปเกิดในสุทธาวาสภูมิ ๕ ภูมิใดภูมิหนึ่งแน่นอน เนื่องจากคุณธรรมของความเป็นพระอนาคามีในเรื่องการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยนั้นเทียมเท่ากับรูปาวจรปัญจมฌาน เพราะผู้ที่ได้ฌานย่อมข่มกามราคะและปฏิฆะหรือโทสะได้โดยวิกขัมภนปหานต่างกันแต่ว่า อนาคามิมรรคนั้น เป็นการละโดยสมุจเฉกปหาน ไม่มีเกิดขึ้นในสันดานอีกแล้ว ส่วนปุถุชนที่ได้ฌานนั้น อนุสัยกิเลส ๒ ตัวนี้ ยังสามารถกำเริบเกิดขึ้นมาได้อีกและยังไม่พ้นจากกามโลกโดยเด็ดขาดเหมือนพระอนาคามี ด้วยเหตุนี้ มรรคจิตนี้ จึงชื่อว่า "อนาคามิมรรค"

"มรรคจิต ดวงที่ ๔ อรหัตตมัคคจิตตัง" แปลความว่า จิตที่เข้าถึงสภาพของพระนิพพาน เป็นครั้งที่ ๔ ทำให้บุคคลนั้นข้าถึงความเป็นผู้มีอาสวะหมดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว เรียกว่า "พระขีณาสพ" เป็นผู้ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในภพภูมิใด ๆ อีกต่อไปแล้วเรียกว่า "วิวัฏฏคามินีบุคคล" หรือเป็นผู้พ้นขาดแล้วจากจุติและปฏิสนธิ เรียกว่า "อปจยคามีบุคคล" เป็นผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว เรียกว่า "วุสิตพรัหมจริยบุคคล" เป็นบุคคลผู้ควรเพื่อการบูชาอย่างสูงสุด เรียกว่า "พระอรหันต์" หมายความว่า อรหัตตมรรคจิตนี้ เกิดขึ้นในขณะที่พระอนาคามีบุคคลเจริญวิปัสสนาโดยยกรูปนามขึ้นสู่ไตรลักษณ์ แล้วหยั่งลงสู่อุทยัพพยญาณเป็นเบื้องตันและเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ จนถึงอรหัตตมรรคญาณเกิดขึ้น พร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลืออีก ๓ อย่างคือ "ภวราคานุสัย" ความยินดีในภพ "มานานุสัย" ความถือตัวถือตน และ"อวิชชานุสัย" ความไม่รู้ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดาน เป็นอันหมดสิ้นจากอนุสัยกิเลสทั้งปวง กิเลสอื่น ๆ ก็พลอยหมดสิ้นไปด้วย เพราะอนุสัยกิเลสเป็นต้นตอหรือรากเหง้าของกิเลสทั้งปวง เมื่อต้นตอถูกถอนทิ้งเสียแล้ว ลำต้นและกิ่งก้านสาขาใบดอกผล ก็เป็นอันถูกทำลายไปพร้อมกันด้วย ทำให้บุคคลนั้นไม่ต้องเกิดในภพใหม่อีกต่อไป สังสารวัฏฏ์จึงเป็นอันสิ้นสุดลง เมื่อตายไปแล้ว ก็เข้าสู่อนุปาทิเสส นิพพาน คือ นิพพานที่ไม่มีวิบากและกัมมชรูปเหลืออยู่หรือติดตามไปอีก ได้แก่ การดับสิ้นของรูปนามขันธ์ ๕ อย่างแท้จริงนั่นเอง เพราะไม่มีการเกิดใหม่อีกแล้ว แต่ถ้าเป็นพระโสดาบัน พระสกิทาคามี และพระอนาคามีนั้นยังต้องเกิดในภพใหม่อีก ก็ต้องมีวิบากนามขันธ์และกัมมชรูปเกิดติดตามมาอีก เรียกว่า "สอุปาทิเสส นิพพาน" จนกว่าจะบรรลุเป็นพระอรหันต์และปรินิพพานไปแล้ว จึงเรียกว่า "อนุปาทิเสสนิพพาน" ฉะนั้น มรรคจิตนี้ จึงได้ชื่อว่า "อรหัตตมรรค"

คำสอนพระอริยเจ้า

ส่องทางสมถวิปัสสนา - หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

นตฺถิ ปญฺญาสมา อาภา ปญฺญาย ปริสุชฺฌติ - แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี ผู้จะบริสุทธิ์เพราะปัญญา

วิปัสสนาปัญญา วิปัสสนาปัญญาเป็นผลออกมาจากอุปจารสมาธิโดยตรง ได้อธิบายมาแล้วข้างต้นว่า อุปจารสมาธิเป็นที่ตั้งขององค์ปัญญา อธิบายว่า วิปัสสนาปัญญาจะเกิดนั้น สมาธิต้องตั้งมั่นลงเสียก่อนจึงจะเกิดขึ้นได้ มิใช่เกิดเพราะฌานซึ่งมีแต่การเพ่งความสุขสงบอยู่หน้าเดียว และมิได้เกิดจากอัปปนาสมาธิอันหมดจากสมมติสัญญาภายนอกเสียแล้ว จริงอยู่ เมื่อจิตยังไม่ถึงอัปปนาสมาธิ วิปัสสนาปัญญาไม่สามารถจะทำหน้าที่ละสมมติของตนให้ถึงอาสวขัยได้ แต่ว่าอัปปนาเป็นของละเอียดกว่าสัญญาภายนอกเสียแล้ว จะเอามาใช้ให้เห็นแจ้งในสังขารนี้อย่างไรได้ อัปปนาวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้ตัดสินต่างหาก อุปจารวิปัสสนาปัญญาเป็นผู้สืบสวนคดี ถ้าไม่สืบสวนคดีให้มีหลักฐานถึงที่สุดแล้ว จะตัดสินลงโทษอุปาทานอย่างไรได้ ถึงแม้ว่าอัปปนาวิปัสสนาปัญญาจะเห็นโทษของอุปาทานว่าผิดอย่างนั้นแล้ว แต่ยังหาหลักฐานพยานยังไม่เพียงพอ ก็คงไม่สมเหตุสมผลอยู่นั่นเอง เหตุนั้น วิปัสสนาปัญญาจึงได้ยึดเอาตัวสังขารนี้เป็นพยาน เอาอุปจารสมาธิเป็นโรงวินิจฉัย ท่านแสดงวิปัสสนาปัญญาไว้มีถึง ๑๐ นัยดังนี้ คือ

  1. สมฺมสนญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารเฉพาะในภายในเห็นเป็นอนิจจาทิลักษณะแล้ว พิจารณาสังขารภายนอกก็เป็นสภาวะอย่างนั้นด้วยกันหมดทั้งสิ้น หรือประมวลสังขารทั้งสองนั้นเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วพิจารณาเห็นอย่างนั้น
  2. อุทยพฺพยญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารทั้งที่เกิดแลที่ดับโดยลักษณะอย่างนั้น
  3. ภงฺคญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารเฉพาะแต่ฝ่ายทำลายอย่างเดียว โดยลักษณะอย่างนั้น
  4. ภยตูปฏฺฐานญาณ เมื่อปัญญาพิจารณาเห็นอย่างภังคญาณนั้น แล้วมีความกลัวต่อสังขารเป็นกำลัง
  5. อาทีนวญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารเห็นเป็นโทษเป็นของน่ากลัว อุปมาเหมือนเรานอนอยู่บนเรือนที่ไฟกำลังไหม้อยู่ฉะนั้น โดยลักษณะอย่างนั้น
  6. นิพฺพิทาญาณ ปัญญาพิจารณาเห็นเป็นของน่าเกลียดน่าหน่าย ว่าเราหลงเข้ามายึดเอาของไม่ดีว่าเป็นของดี โดยลักษณะอย่างนั้น
  7. มุญฺจิตุกมฺยตาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารแล้ว ใคร่หนีให้พ้นเสียจากสังขารนั้น เหมือนกับปลาที่ติดอวนหรือนกที่ติดข่ายฉะนั้น โดยลักษณะนั้น
  8. ปฏิสงฺขาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยหาอุบายที่จะเอาตัวรอดด้วยอุบายต่างๆ ดังญาณทั้งหกในเบื้องต้นนั้น
  9. สงฺขารุเปกฺขาญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยอุบายต่างๆ อย่างนั้น เห็นชัดตามเป็นจริงไม่มีสิ่งใดปกปิด แล้วไม่ต้องเชื่อคนอื่นหมด หายความสงสัยแล้ววางเฉยในสังขารทั้งปวง โดยลักษณะนั้น
  10. สจฺจานุโลมิกญาณ ปัญญาพิจารณาสังขารโดยอนุโลมกลับถอยหลังว่า มันเป็นจริงอย่างไร มันก็มีอยู่อย่างนั้น ตัวสัญญาอุปาทานต่างหากเข้าไปยึดมั่นสำคัญมันว่าเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ แต่แล้วสังขารมันก็เป็นอยู่ตามเดิม หาได้ยักย้ายไปเป็นอื่นไม่ สมกับที่พระองค์ทรงแสดงแก่พระอานนท์ว่า อานนท์ ผู้ที่จะพิจารณาสังขารเห็นจริงตามพระไตรลักษณญาณแล้ว จึงจะมีขันติอนุโลม ถ้าหาไม่แล้วขันติอนุโลมย่อมมีไม่ได้ดังนี้
วิปัสสนานี้บางแห่งมีเพียง ๙ ท่านเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ๙ ยกสัมมสนญาณออกเสีย ยังคงเหลืออยู่ ๙ นั่นเอง ในที่นี้นำมาแสดงให้ครบทั้ง ๑๐ เพื่อให้ทราบความละเอียดของวิปัสสนานั้นๆ

 

ความจริงวิปัสสนาญาณทั้งสิบนี้จะเกิดได้พร้อมๆ กันในวิถีจิตเดียวก็หามิได้ เมื่อจะเกิดนั้นย่อมเกิดจากภูมิของสมาธิเป็นหลัก สมาธิเป็นเกณฑ์ ถ้าหากสมาธิหนักแน่นมาก หรือถอนออกจากอัปปนาใหม่ๆ แล้ว วิปัสสนาญาณทั้งหกเหล่านี้คือ อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ มักเกิด ถ้าหากอุปจารสมาธิแก่กล้า วิปัสสนาญาณทั้งสองเหล่านี้ คือ สัมมสนญาณ กับ ปฏิสังขาญาณ มักเกิด เรียกกันง่ายๆ ว่า ถ้าอุปจารสมาธิกล้าก็คือหนักไปทางปัญญา อัปปนาสมาธิกล้าก็คือหนักไปในทางสมถะ

ถ้าสมถะกับปัญญามีกำลังพอเสมอเท่าๆ กัน ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้ว สังขารุเปกขาญาณย่อมเกิดขึ้น หรือจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่า มัคคสมังคี ส่วนสัจจานุโลมิกญาณ เป็นผลพิจารณาอนุโลมตามสัจธรรม ไม่แย้งสมมติบัญญัติของโลกเขา ความจริงของเขาเป็นอยู่อย่างไร ก็ให้เป็นไปตามความเป็นจริงของเขาอย่างนั้น ส่วนความจริงของท่านผู้รู้จริงเห็นจริงแล้ว ย่อมไม่เสื่อมไปตามเขา ถ้าเป็นผลของโลกุตตระ พระอริยเจ้าทั้งหลายท่านย่อมพิจารณาอนุโลมตามพระอริยสัจของท่าน คือ เห็นตามความจริง ๔ ประการ ได้แก่ จริงสมมติ จริงบัญญัติ จริงสัจจะ จริงอริยสัจ วิชาของพระอริยเจ้าจึงได้ชื่อว่า วิชชาอันสมบูรณ์ทุกประการ

ส่วนสัมมสนญาณเป็นวิปัสสนาญาณตัวเดิม อธิบายว่า สัมมสนญาณนี้เป็นที่ตั้งของวิปัสสนาญาณทั้งเก้า เมื่อวิปัสสนาญาณตัวนี้ทำหน้าที่ของตนอยู่นั้น วิปัสสนาญาณนอกนี้ย่อมมาเกิดขึ้นในระหว่าง แล้วแต่จะได้โอกาสสมควรแก่หน้าที่ของตน เช่น สัมมสนญาณ พิจารณาสังขารทั้งปวงอยู่โดยพระไตรลักษณ์ พอเห็นชัดเป็นทุกข์ ภยตูปัฏฐานญาณก็เกิด เห็นเป็นอนิจจัง ภังคญาณก็เกิด เห็นเป็นอนัตตา มุญจิตุกัมยตาญาณก็เกิด เป็นอาทิ ฉะนั้น สัมมสนญาณจึงได้ชื่อว่าเป็นฐานที่ตั้งของวิปัสสนาทั้งเก้านั้น

สัมมสนญาณนี้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรค พระสารีบุตรเถระท่านแสดงภูมิฐานไว้กว้างขวางมาก ถ้าต้องการ เชิญดูในคัมภีร์นั้นเถิด หากจะนำเอามาลงในหนังสือเล่มนี้ ก็จะเป็นหนังสือเล่มโตเกินต้องการไป แต่จะนำเอาใจความย่อๆ พอเป็นนิเขปมาแสดงไว้สักเล็กน้อยว่า ปัญญาการพิจารณาสังขารทั้งปวง ทั้งภายใน ภายนอก หยาบ ละเอียด ใกล้ ไกล อดีต อนาคต เข้ามารวมไว้ในที่เดียวกัน แล้วพิจารณาให้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ดี พิจารณากายโดยทวัตติงสาการก็ดี พิจารณาขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ ผัสสะ ๖ วิญญาณ ๖ หรือธาตุ ๔ ธาตุ ๑๘ โดยนัยดังพิจารณาสังขารทั้งปวง รวมเรียกว่า สัมมสนญาณแต่ละอย่างๆ ฉะนั้น สัมมสนญาณจึงเป็นของกว้างขวางมาก แลเป็นภูมิฐานของวิปัสสนาทั้งหลายด้วย วิปัสสนาทั้งหลายมีสัมมสนญาณเป็นต้น เมื่อพิจารณาสังขารทั้งหลายอยู่ ย่อมมาปรากฏชัดเฉพาะอยู่ในที่เดียวโดยไตรลักษณญาณ มีอาการดังนี้จึงจะเรียกว่าวิปัสสนาแท้

อนึ่ง วิปัสสนานี้ ถ้าภูมิคือสมาธิยังไม่มั่นคงพอ อาจกลายเป็นฌานไป อาจทำปัญญาให้เขวไปเป็นวิปลาส หรือเป็นอุปกิเลส เป็นอุจเฉททิฏฐิ แลสัสสตทิฏฐิ ไปก็ได้ เหตุนี้ วิปัสสนาปัญญาท่านจึงแสดงไว้เป็น ๒ คือ โลกีย์ ๑ โลกุตตระ ๑ อธิบายว่าที่เป็นโลกีย์นั้น วิปัสสนาเข้าไปตั้งอยู่ในโลกิยภูมิ มีสมถะและวิปัสสนาอันเจริญไม่ถึงขีด คือ ไม่สม่ำเสมอกัน ไม่มีปฏิสังขาญาณเป็นเครื่องตัดสิน มีสัจจานุโลมิกญาณเป็นเครื่องอยู่ ส่วนโลกุตตรวิปัสสนาปัญญาเข้าถึงมัคคสังคี ตัดเสียซึ่งอุปกิเลสแลทิฏฐิวิปลาส อุจเฉททิฏฐิได้

มรรค มรรคปฏิปทาหนทางปฏิบัตินั้น ดำเนินเข้าไปในกามาพจรภูมิก็ได้ เข้าในรูปาพจรภูมิก็ได้ อรูปาพจรภูมิก็ได้ เข้าไปในโลกุตตรภูมิก็ได้ มรรคใดซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นแก่นสาร มีมรรคทั้งเจ็ด คือ สัมมาสังกัปโปเป็นต้น สัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน เป็นบริขารบริวารที่สัมปยุตเข้ากับภูมินั้นๆ ได้ชื่อว่ามรรคในภูมินั้น

ในที่นี้จะอธิบายเฉพาะมรรคที่เกิดในวิปัสสนาญาณอย่างเดียวตามความประสงค์ในที่นี้ คือ นับตั้งต้นแต่เจริญสมถะมาจนกระทั่งถึงวิปัสสนาญาณนี้ จัดเป็นมรรควิถี หนทางปฏิบัติที่จะให้ข้ามพ้นจากทุกข์ทั้งนั้น แต่บางทีในวิถีทางที่เดินมานั้น อาจพลัดโผเข้าช่อมตกหลุมบ่อและวกเวียนบ้างเป็นธรรมดา อย่างที่อธิบายมาแล้วไม่ผิด คือ อาจเขวไปเป็นอุปกิเลส แลทิฏฐิวิปลาส แลอุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ เพราะมรรคยังไม่ชำนาญ คือ ทางยังไม่ราบรื่น

เมื่อไม่เป็นเช่นนั้น นายตรวจเอก คือ มัคคามัคคญาณทัสสนะก็จะไม่มีหน้าที่จะทำ แต่ถ้ามรรคนั้นเป็นโลกุตตระ คือ เป็นเอกสมังคีประชุมลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว ทางที่สองซึ่งจะนำพระอริยเจ้าให้หลงแวะเวียนอีก คือ เป็นมิจฉาทิฏฐิย่อมไม่มี มรรคแท้มีอันเดียวเท่านั้น แต่มรรคส่วนมากท่านแสดงไว้มีองค์ ๘ ประการ มีสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเป็นต้น มีสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นเป็นปริโยสาน แต่ในที่บางแห่ง เช่น ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ท่านแสดงว่า มรรคมีองค์อวัยวะ ๘ ของพระอริยเจ้ามีอันเดียว องค์อันเดียว นั้นไม่แก่ทางมัชฌิมาเป็นกลาง แท้จริงทางเอกเป็นมัชฌิมานี้เป็นทางของพระอริยเจ้าโดยตรง องค์อวัยวะทั้ง ๗ มารวมอยู่ในองค์อันหนึ่ง คือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ

สัมมาทิฏฐิต้องละเสียซึ่งอดีตอนาคตสัญญา เพ่งพิจารณาขันธ์รู้แจ้งแทงตลอด เห็นตามสภาวะเป็นจริงทุกสิ่งถ้วนถี่ ทั้งขันธ์ภายนอก ภายใน หยาบและละเอียดเสมอกับด้วยปัญจขันธ์ คือ สัมมสนญาณ ประหาร โสฬสวิจิกิจฉา ให้ขาดด้วยอำนาจปฏิสังขาญาณ ผ่านพ้นมหรรณพโอฆสงสารด้วยอุเบกขาญาณเข้าถึงซึ่งมรรคอันเอก จิตสงบวิเวกอยู่ด้วยญาณ ด้วยอำนาจมัคคปหาน อาการทั้งหลาย ๗ มีสัมมาสังกัปปะเป็นต้น มีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน หยุดการทำหน้าที่ นี่แลจึงเรียกว่า ทางมัชฌิมาเป็นทางเอก เป็นทางวิเวกบริสุทธิ์หมดจด

หากจะไปกำหนดตามอาการเป็นต้นว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบ คือ เห็นอริยสัจธรรมทั้ง ๔ ตามเป็นจริง เป็นต้น ย่อมไม่พ้นจากโสฬสวิจิกิจฉา กำหนดว่าสัมมาสมาธิความตั้งใจมั่นเป็นปริโยสานแล้ว เป็นอาการ ย่อมไม่ข้ามพ้นจากสัญญาอนาคตไปได้แน่ แต่เมื่อเข้าถึงมัชฌิมาทางอันเอกแล้ว ย่อมรู้แจ้งซึ่งอาการบริขารบริวารของสัมมาทิฏฐิได้เป็นอันดี เป็นต้นว่า การเพ่งพิจารณาพระกรรมฐาน มีกายคตา อสุภ เป็นต้น ก็เพื่อพ้นจากความดำริในกาม การพิจารณาว่าอันนั้นเป็นอสุภ เป็นธาตุ เป็นต้น เรียกว่าบ่นคนเดียว ไม่เสียดสีใคร ได้ชื่อว่าสัมมาวาจา การประกอบตามหน้าที่ของสมถะหรือวิปัสสนา ไม่ต้องไปเกะกะระรานกับคนอื่นๆ เรียกว่าสัมมากัมมันตะ การมีสติเพ่งพิจารณาองค์สมถะแลวิปัสสนาอยู่นั้น ได้ชื่อว่ามีชีวิตอันไม่เปล่าเสียจากประโยชน์ ได้ชื่อว่าสัมมาอาชีวะ การเพ่งพิจารณาสมถะทั้งปวงก็ดี หรือเจริญวิปัสสนาปัญญาทั้งสิ้นก็ดี ได้ชื่อว่าเป็นการพายการแจวอยู่แล้ว ด้วยเรือลำเล็กลอยในน้ำคือโอฆะ จึงเรียกว่าสัมมาวายามะ การเจริญสมถวิปัสสนามาโดยลำดับไม่ถอยหลัง มีสติตั้งมั่นจึงไม่เสื่อมจากภูมินั้นๆ เรียกว่าสัมมาสติ ใจแน่วแน่มั่นคงตรงต่อสัมมาทิฏฐิตั้งแต่ต้นจนกระทั่งสมังคี มัชฌิมาทางเอกนี้ ไม่มีวิปลาสและอุจเฉททิฏฐิ สัสสตทิฏฐิ โสฬสวิจิกิจฉาเป็นเครื่องกั้นนั่นแล จักได้ชื่อว่า สัมมาสมาธิ องค์อริยมรรคแท้

บริวารบริขารทั้ง ๗ ของสัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นอริยมรรคแล้ว ย่อมรวมเป็นอันเดียว มีในที่เดียวไม่แตกต่างกันออกไปเลย จะสมมติบัญญัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมมีอยู่เป็นอยู่อย่างนั้นนั่นเอง จึงได้นามสมัญญาว่าทางอันเอก มรรค ๘ นี้รวมสมังคีเป็นองค์อันหนึ่งในภูมิของพระอริยเจ้าแต่ละภูมินั้นครั้งเดียว ในสมัยวิมุตติแล้วไม่กลับเป็นอีกต่อไปในสมัยอื่น นอกนี้เป็นมัคคปฏิปทาดำเนินตามมรรคเท่านั้น ดังจักมีคำถามว่า ถ้ามัคคสมังคีเกิดมีในภูมิของพระอริยเจ้าแต่ละชั้นนั้นครั้งเดียวแล้วไม่กลับเกิดอีก ถ้าอย่างนั้นพระอริยเจ้าก็เป็นอริยะแต่ขณะมัคคสมังคีสมัยวิมุตติ นอกจากนั้นแล้วก็เป็นปุถุชนธรรมดาซิ ตอบว่ามิใช่อย่างนั้น มัคคสมังคีสมัยวิมุตตินี้มีเฉพาะในภูมิของพระอริยะเท่านั้น แล้วเป็นของแต่งเอาไม่ได้ แต่งได้แต่มัคคปฏิปทา คือ สมถะแลวิปัสสนาเท่านั้น เมื่อธรรมทั้งสองนั้นมีกำลังสม่ำเสมอไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันแล้วเมื่อไร มัคคสมังคีสมัยวิมุตติก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น เมื่อเกิดขึ้นครู่หนึ่งขณะหนึ่งแล้วก็หายไป นอกจากนั้น ถ้าเป็นพระเสขบุคคลก็ดำเนินมัคคปฏิปทาขั้นสูงต่อๆ ไป อย่างนั้นอีกเรื่อยๆ ไป ถ้าเป็นพระอเสขบุคคลแล้ว มัคคปฏิปทานั้นก็เป็นวิหารธรรมในทิฏฐธรรมหรือสัลเลขปฏิปทาของท่านต่อไป ท่านแสดงไว้ในอภิธัมมัตถสังคหะว่า พระอริยมรรคของพระอรหันต์ทำหน้าที่ปหานกิเลสทั้งหลายมีอุปธิกิเลสเป็นต้นแล้ว ผลก็เกิดขึ้นในลำดับครู่หนึ่งแล้วก็หายไป แท้จริงของ ๒ อย่างนี้แต่งเอาไม่ได้ คือ ภวังคจิต ๑ มัคคสมังคี ๑ แต่ภวังคจิตถึงแต่งเอาไม่ได้ก็จริง แต่เข้าถึงที่เดิมได้บ่อยๆ เพราะภวังคจิตมีอุปธิยึดมั่นอยู่ในภูมินั้นๆ ส่วนมัคคสมังคีไม่มีอุปธิเข้ายึดมั่นเฉพาะในภูมินั้นๆ เสียแล้ว ฉะนั้น พระเสขบุคคลถึงหากว่าท่านยังไม่ถึงพระนิพพาน ก็เพราะละอุปธิอันละเอียดยังไม่หมด แต่ท่านได้รับรสของอมตะแล้ว หรือที่เรียกว่าตกถึงกระแสพระนิพพานแล้ว มีคติอันไม่ถอยหลังเป็นธรรมดา ถึงพระโสดาทั้งสามชั้นนั้นก็ดี หรือพระสกิทาคาก็ดี ท่านก็มีคติแน่นอนไม่ต้องตกอบายอีกเป็นแท้ ถึงท่านเดินทางยังไม่ตลอดมีอุปสรรคพักผ่อนนอนแรมตามระยะทาง (คือตาย) ก็ดี แต่ท่านยังมีจุดมุ่งหมายที่ปลายทางอยู่เสมอ แลตื่นนอนแล้ว นิสัยตักเตือนเป็นเพื่อนสหายพอสบอุบายที่เหมาะเจาะก็รีบเดินทันที เหตุนั้นพระเสขะทั้ง ๒ องค์นี้จะว่าเสื่อมได้ก็ใช่เพราะไม่ติดต่อตายในกลางคัน ภูมินั้นก็พักไว้ไปเสวยผลเสียก่อน หรืออินทรีย์ยังไม่แก่กล้าสามารถจะเดินให้ทันเขา แต่ตอนหลังนี้ไม่มีปัญหา จะว่าไม่เสื่อมก็ได้ เพราะว่านิสัยนั้นยังมีอยู่ อุปมาเหมือนกับพืชผลที่บุคคลเก็บมาไว้ข้างในไม่เหี่ยวแห้ง ถึงแม้จะนำไปปลูกในประเทศที่ใดๆ ก็ดี เมื่อมีผลขึ้นมาแล้วจะต้องมีรสชาติอย่างเดิมอยู่นั้นเอง ฉะนั้น เรื่องนิสัยนี้ ถ้าผู้ใช้ความสังเกตจะทราบได้ชัดทีเดียวว่าทุกๆ คนย่อมมีนิสัยไม่เหมือนกัน นิสัยของแต่ละคนนั้นจะแสดงให้ปรากฏตั้งแต่เด็กๆ จนกระทั่งแก่ ย่อมจะแสดงอาการอยู่ในขอบเขตอันเดียวกันเรื่อยๆ มาทีเดียว นิสัยเป็นของละได้ยาก เว้นไว้แต่พระสัมมาสัมพุทธะเท่านั้นจะละได้ ส่วนพระอรหันต์ขีณาสพละไม่ได้ เช่นพระสารีบุตรเถระเป็นตัวอย่าง นิสัยท่านเคยเกิดเป็นวานรมาแล้วแต่ก่อน ครั้นมาในชาตินี้ถึงเป็นพระขีณาสพแล้ว นิสัยนั้นก็ยังติดตามมาอยู่ เมื่อท่านจะเดินเหินไปในที่เป็นหลุมบ่อโขดหิน ท่านมักชอบกระโดดอย่างวานร นี้เป็นตัวอย่าง

สโมธานปริวัฏ สมถวิปัสสนาดังแสดงมาแล้วตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ เป็นวิถีทางเดินของผู้ปฏิบัติทั้งหลาย ทุกๆ คนจะเว้นเสียไม่ได้ ชื่อแลอาการของสมถวิปัสสนาดังแสดงมาแล้วหรือนอกออกไปกว่านั้นก็ดี ถึงจะมีมากสักเท่าใด ผู้ฝึกหัดพระกรรมฐานมากำหนดเพ่งเอาแต่เฉพาะกายอย่างเดียว โดยให้เห็นเป็นธาตุเป็นอสุภเป็นต้น เท่าที่อธิบายมาแล้วข้างต้นนั้น เท่านี้ก็เรียกว่าเดินอยู่ในวิถีขอบเขตของทางทั้ง ๒ นั้นอยู่แล้ว การปฏิบัติไม่เหมือนเรียนปริยัติ เรียนปฏิบัตินั้นเราเรียนแล้วได้น้อยหรือมากก็ตาม ตั้งหน้าตั้งตาลงมือทำตามให้รู้รสชาติของความรู้นั้นจริงๆ เรียนเพื่อหาความรู้ในการที่จะถอนตนออกจากเครื่องยุ่งเหยิง แม้แต่บทพระกรรมฐานที่เรียนได้แล้วเอามาเจริญบริกรรมเพ่งพิจารณาอยู่นั้นก็ดี ถ้าหากเข้าถึงสมถวิปัสสนาอันแท้จริงแล้วก็จะสละทิ้งหมดทั้งนั้น คงยังเหลืออยู่แต่ความรู้ความชัดอันเกิดจากสมถวิปัสสนานั้นเท่านั้น สัญญาปริยัติจะไม่ปรากฏ ณ ที่นั้นเลย แต่มโนบัญญัติจะปรากฏขึ้นมาแทนที่ ฉะนั้น ความรู้ความเห็นอันนั้นจึงเป็นปัจจัตตัง จึงถึงองค์พระธรรมนำผู้รู้ผู้เห็นนั้นให้บริสุทธิ์หมดจดได้ ส่วนการเรียนพระปริยัติ เรียนเพื่อจดจำตำราคัมภีร์ มีจำบาลี บทบาท อักขระ พยัญชนะ เป็นต้น อันเป็นพุทธวจนะรากเหง้าของพุทธศาสนา ต้องใช้กำลังสัญญาจดจำเป็นใหญ่ คนเรียนพระกรรมฐานอื่นๆ นอกจากรูปกายนี้แล้ว (ข้าพเจ้าเห็นว่า) ไม่เหมาะแก่ผู้ปฏิบัติซึ่งมีการจดจำพระปริยัติน้อย เพราะกายนี้เพ่งง่าย รู้ง่าย จำได้ง่าย เพราะมีอยู่ในตัวทุกเมื่อ แหละถึงเราจะไม่ทราบว่าธรรมทั้งหลายมีกรรมฐาน ๔๐ เป็นต้น มีอยู่ในตนก็ดี เมื่อเราเพ่งพิจารณาในรูปกายนี้ ก็ได้ชื่อว่าเจริญพระกรรมฐานทั้งหลายเหล่านั้นอยู่แล้ว แล้วเป็นที่ตั้งอุปาทานอันเป็นแหล่งแห่งกิเลสทั้งหลาย มีสักกายทิฏฐิความหลงถือว่าเป็นเราเป็นเขา เป็นต้น

เมื่อมาเพ่งรูปกายนี้โดยวิธีที่แสดงมาข้างต้นนั้น หากมาเห็นชัดตามเป็นจริงว่ารูปกายนี้เป็นแต่สักว่าธาตุดินเป็นต้น เมื่อจิตยังไม่หลุดพ้นจากอุปาทาน ก็ได้ชื่อว่าเห็นอาการของธรรมทั้งหลายอยู่แล้ว หรือเห็นด้วยจิตอันดิ่งแน่วแน่ด้วยองค์ภวังค์ ก็พอจะยังนิวรณธรรมให้สงบอยู่ได้ ถ้าสมาธิแน่วแน่ดี อันมีวิปัสสนาเป็นผลเกิดขึ้นในที่นั้น ก็จะย้อนกลับมาเพ่งวิพากษ์วิจารณ์รูปสังขารตัวนี้เอง เมื่อเห็นตามเป็นจริงแล้ว ก็จะทิ้งอุปธิตัวนี้แหละ

ฉะนั้น รูปกายนี้จึงได้ชื่อว่าเหมาะ สมควรที่จะเอามาเป็นอารมณ์เจริญกรรมฐานของผู้มีการจดจำน้อย เมื่อผู้มาเพ่งพิจารณารูปกรรมฐานอันนี้เป็นอารมณ์อยู่ จะได้ความรู้จากรูปอันนี้เป็นอันมาก เช่น จะรู้ว่ารูปอันนี้สักแต่ว่าธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ หรือเป็นอสุภเป็นต้น เมื่อจิตพลิกกลับจากสัญญาอุปาทานที่เข้ามายึดถือใหม่นี้ แล้วเข้าไปรู้เห็นด้วยความรู้ความเห็นอันเป็นภาวะเดิมของตัว สัญญาอุปาทานใหม่นี้จะเป็นที่ขบขันมิใช่น้อย สมถะหรือฌานและสมาธิจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมาปรารภเอารูปกรรมฐานอันนี้เป็นอารมณ์ วิปัสสนาเห็นแจ้งชัดได้ก็เพราะมาเพ่งเอารูปสังขารอันนี้เป็นที่ตั้ง ฉะนั้น ทางทั้ง ๒ เส้นนี้เป็นของเกี่ยวพันกันไปในตัว

อธิบายว่าเมื่อเจริญสมถะมีกำลังแล้ววิปัสสนาจึงจะเดินต่อ เมื่อเดินวิปัสสนาเต็มที่แล้ว จิตก็ต้องมาพักอยู่ในอารมณ์ของสมถะนั้นเอง ทั้งที่จิตเดินวิปัสสนาอยู่นั้น เช่น พิจารณาเห็นสังขารเป็นอนิจจลักษณะเป็นต้น จิตก็สงบเพ่งอยู่ในอารมณ์อันเดียวนั้นเอง วิปัสสนาจึงแจ้งชัด ซึ่งจัดว่ามีสมถะอยู่พร้อมแล้ว เมื่อเจริญสมถะอยู่ เช่น เพ่งพิจารณารูปกายอันนี้ให้เป็นธาตุ ๔ เป็นต้น ตามความเป็นจริงแล้ว จิตนั้นสงบแน่วแน่อยู่ในอารมณ์อันนั้น ความเห็นตามเป็นจริงก็ได้ชื่อว่าวิปัสสนาอยู่แล้ว สมถะแลวิปัสสนาทั้งสองนี้ มีวิถีทางเดินอันเดียวกัน คือ ปรารภรูปขันธ์นี้เป็นอารมณ์เหมือนกัน จะมีแยกกันอยู่บ้างก็ตอนปลาย คือว่าเมื่อเจริญสมถะอยู่นั้น จิตตั้งมั่นแล้วน้อมไปสู่เอกกัคคตารมณ์หน้าเดียว จนจิตเข้าถึงภวังค์นั้นแล จึงจะทิ้งวิปัสสนา เรียกว่าสมถะแยกทางตอนปลายออกจากวิปัสสนา ถ้าวิปัสสนาเดินออกนอกขอบเขตของสมถะ หรือสมถะอ่อนไปจนเป็นเหตุให้ฟุ้งซ่านตามอาการของสัญญา มีส่งตามตำราแลแบบแผนเป็นต้น เรียกว่าวิปัสสนาแยกออกจากสมถะ หรือจิตที่เพลินมองดูตามนิมิตต่างๆ ซึ่งเกิดจากสมถะนั้นก็ดี ถึงจิตนั้นจะแน่วแน่อยู่ในนิมิตนั้นก็ตาม เรียกว่าวิปัสสนาแปรไปเป็นวิปัสสนูปกิเลส เรียกว่าวิปัสสนาแยกทางออกจากสมถะเสียแล้ว

สมถวิปัสสนานี้ เมื่อมีกำลังเสมอภาคกันเข้าเมื่อไรแล้ว เมื่อนั้นแล มรรคทั้งแปดมีสัมมาทิฏฐิเป็นต้น จะมารวมกันเข้าเป็นองค์อันเดียว อย่าว่าแต่มรรคทั้งแปดเลย อริยสัจธรรมทั้งสี่ก็ดี โพธิปักขิยธรรมทั้งสามสิบเจ็ดก็ดี หรือธรรมหมวดอื่นๆ นอกจากนี้ก็ดี ย่อมมารวมอยู่ในมรรคอันเดียวในขณะเดียวกันนั้น ขณะนั้นท่านจึงเรียกว่า สมัยวิมุตติ หรือ เอกาภิสมัย รู้แจ้งแทงตลอดในสัพพเญยยธรรมทั้งปวงขณะเดียว ของไม่รวมกันอยู่ ณ ที่เดียวจะไปรู้ได้อย่างไร จึงสมกับคำว่า ผู้มีเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ จึงจะถึงวิมุตติธรรมได้ดังนี้

ดังจักมีคำถามว่า มรรคทั้งแปดทำไมจึงมารวมเป็นอันเดียวกัน แล้วธรรมทั้งหลายมีอริยสัจ ๔ เป็นต้น ก็มารวมอยู่ในที่นั้นด้วย ส่วนผู้ที่มาอบรมให้เป็นไปเช่นนั้นแต่ก่อนๆ ก็ไม่ทราบว่าอะไรเป็นธรรมหมวดไหน แต่ในเวลาธรรมมารวมเข้าเป็นอันเดียวกันแล้วทำไมจึงรู้ได้ (ข้าพเจ้าขอตอบโดยอนุมานว่า) เพราะจิตเดิมเป็นของอันเดียว ที่ว่าจิตมีมากดวง เพราะจิตแสดงอาการออกไปจึงได้มีมาก เมื่อจิตมีอันเดียว ธรรมอันบริสุทธิ์ที่จะให้หลุดพ้นจากอาการมาอย่างก็ต้องมีอันเดียวเหมือนกัน จิตอันเดียว ธรรมอันเดียว จึงเข้าถึงซึ่งวิมุตติได้ จึงเรียกว่า เอกาภิสมัยวิมุตติ

ส่วนท่านผู้ที่มาอบรมให้เป็นไปเช่นนั้นได้ แต่เมื่อก่อนๆ ถึงจะไม่รู้ว่า อันนั้นเป็นธรรมชาตินั้นๆ ก็ดี แต่เมื่อมารวมอยู่ในที่เดียวกันแล้ว ย่อมเห็นทั้งหมดว่าอันนั้นเป็นธรรมอย่างนั้น มีกิเลสและไม่มีกิเลส แสดงลักษณะอาการอย่างนั้นๆ ย่อมปรากฏชัดอยู่ในที่อันเดียว ส่วนสมมติบัญญัติจัดเป็นหมวดเป็นหมู่แต่งตั้งขึ้นมาตามลักษณะที่เป็นจริงอยู่นั้น จึงมีชื่อเรียกต่างๆ เป็นอย่างๆ ออกไป สำหรับผู้รู้อยู่ในที่เดียว เมื่อเห็นชัดเช่นนั้นแล้ว ใครจะสมมติบัญญัติหรือไม่ก็ตาม สิ่งเหล่านั้นย่อมเป็นอยู่อย่างนั้นๆ ทีเดียว ข้อนี้เปรียบเหมือนกับกล้องจุลทรรศน์รวมดึงดูดเอาเงาของภาพทั้งหลายที่มีอยู่ข้างหน้าเข้ามาไว้ที่เดียวทั้งหมด แล้วทำภาพในขณะเดียวกันทั้งหมด แต่กล้องนั้นมิได้สมมติบัญญัติภาพเหล่านั้นเลย

ฉะนั้น สมถวิปัสสนาที่แสดงมาแต่ต้นจนอวสานนี้ เป็นวิถีทางของพระโยคาวจรผู้เจริญสมถวิปัสสนา เพื่อให้ถึงซึ่งมรรคอันสูงขึ้นไปโดยลำดับ ถ้าเป็นมรรคสามในข้างต้น ความรู้ ความเห็น การละ ก็เป็นไปตามภูมิของตนโดยลำดับของมัคคสมังคีนั้น มีผลเกิดขึ้นในความอิ่มความเต็มแล้ว วางเฉยขณะหนึ่งแล้วก็หายไป ต่อนั้นไปก็ดำเนินมัคคปฏิปทาต่อไปอีก ในสมัยวิมุตติอื่นก็เช่นนั้นเหมือนกัน ถ้าเป็นมรรคที่สูงสุดยอดเยี่ยมของมรรคทั้งหลายแล้ว ต่อจากผลนั้นมามีลักษณะจิตอันหนึ่ง ให้น้อมไปในวิเวกเป็นอารมณ์ แล้วย้อนกลับมาตรวจดูมัคคปฏิปทา อันปหานกิเลสแล้วชำนะธรรมารมณ์อันเป็นเครื่องอยู่ต่อไป ข้อนี้อุปมาเหมือนบุรุษผู้ชาวสวนถางป่า เมื่อเขาถางป่าเตียนหมดแล้วก็ใช้ไฟเผา จนทำให้ที่เขาถางนั้นเป็นเถ้าเป็นฝุ่นไปหมด เมื่อป่าที่เขาเผานั้นเตียนโล่งไปหมดแล้ว เขาก็มาตรวจดูภูมิภาคเหล่านั้นด้วยความปลาบปลื้ม ที่ไหนสมควรจะเพาะปลูกพืชพรรณธัญญชาติสิ่งใด ในที่ไหน เขาก็ปลูกตามชอบใจ

ฉะนั้น ขอสาธุชนผู้หวังอมตรสให้ปรากฏในมัคควิถี จงพากันยินดีในทางอันเอกจะได้ถึงวิเวกอันเกษมศานต์ การกระทำพระกรรมฐานดังแสดงมาแล้วนี้มิใช่เป็นการยากลำบากนัก ถ้าหากรู้จักหนทางแล้ว เดินพริบหนึ่งขณะจิตเดียวก็จะถึงซึ่งเอกายนมรรค ไม่จำเป็นจะต้องพักผ่อนนอนแรมตามระยะทางให้ชักช้า ขอแต่เชิญพากันตั้งศรัทธาปสาทะในมัคคปฏิปทาเป็นนายหน้าก็แล้วกัน คุณมหันต์อันเราประสงค์คงได้แน่


พิมพ์