ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
ท้าวสักกะทรงค้นหานางสุชาดาอดีตภรรยาพบว่าเกิดเป็นนกยาง ทรงแปลงไปสอนให้นกยางรักษาศีล ๕
ต่อมา ท้าวสักกเทวราช ทรงพิจารณาดูบรรดาอดีตคนที่เคยรักเคยใกล้ชิดเมื่อครั้งเป็นมนุษย์ ทรงไม่พบนางสุชาดาอดีตภรรยาผู้เลอโฉมมาเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ ทรงดำริว่า "นางสุชาดาเกิดที่ไหนหนอ?" ก็เห็นว่านางเกิดเป็นนกยางอยู่ที่ซอกเขา ทรงดำริว่า "นางนี้เขลาจริงๆ เอาแต่รักสวยรักงาม ไม่ยอมทำบุญอะไร ๆ เลย ตอนนี้เกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน เราจะช่วยให้นางได้ทำบุญ ให้นางได้มาอยู่ร่วมกัน ณ ที่นี้"
ท้าวสักกะทรงแปลงตัวไปหานกยาง เป็นอัตภาพที่ไม่ทำให้นกยางกลัว ตรัสถาม
นกยางว่า "เหตุใดเจ้ามาเที่ยวอยู่ที่นี่เล่า?"
นกยาง : นาย ท่านเป็นใครกัน?
ท้าวสักกะ : เราคือมฆมาณพ อดีตสามีของเจ้า
นกยาง : นาย ท่านเกิดที่ไหนเล่า?"
ท้าวสักกะ : เราเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ เจ้าจำภรรยาคนอื่น ๆ ของเราได้ไหม
เจ้ารู้ที่เกิดของพวกนางไหม?
นกยาง : ข้าพเจ้าไม่ทราบเลยค่ะ นายท่าน
ท้าวสักกะ : พวกนางเกิดอยู่กับเราในเทพวิมาน เจ้าอยากเห็นพวกนางไหม?
นกยาง : แล้วข้าพเจ้าจะไปยังที่แห่งนั้นได้อย่างไรเล่า?
ท้าวสักกะตรัสว่า เราจะนำเจ้าไปเอง, แล้วนำนกยางไปเทวโลกดาวดึงส์ ปล่อยนางไว้ริมสระโบกขรณีสุนันทา แล้วตรัสเรียกให้นางเทพธิดาผู้เป็นราชเทวีทั้ง ๓ องค์ให้มาดูนางสุชาดาเกิดเป็นนกยาง
เทพธิดาสุธัมมา สุนันทา และ สุจิตรา มาเห็นนกยางแล้วกล่าวเยาะเย้ยว่า "โอ้ หน้าตาของแม่เจ้าสุชาดาหรือนี่ คงเป็นผลจากการชอบแต่งตัว พวกเราดูสิ ดูจะงอยปากแข้งขา เท้าของแม่เจ้าสิ ช่างงดงามแท้เนอะ" แล้วกลับไป
ท้าวสักกะมาพบนกยาง ตรัสถามว่า "เจ้าเห็นราชเทวีทั้ง ๓ ของเราหรือยัง?" ทูลว่า "พบแล้ว พวกนางพากันเยาะเย้ยหม่อมฉัน ขอได้โปรดนำหม่อมฉันกลับไปที่ซอกเขาเถิด"
ท้าวสักกะนำนกยางมาสู่ที่ซอกเขาแล้ว ตรัสบอกว่า "ตัวเจ้าอยากได้ทิพยสมบัติอย่างนั้นบ้างไหม? ทูลว่า หม่อมฉันต้องทำอย่างไร?", ตรัสว่า "เจ้าควรทำตามโอวาทของเรา" นกยางตอบตกลง, ท้าวสักกะทรงให้นกยางสมาทานศีล ๕ และโอวาทว่า เจ้าจงอย่าประมาท จงรักษาศีลให้ดีที่สุด, แล้วเสด็จกลับไป
นับจากวันนั้น นกยางสุชาดาก็กินแต่ปลาตายเท่านั้น ไม่มีปลาตายก็ไม่กิน ท้าวสักกะทรงแปลงเป็นปลาตายนอนอยู่ริมน้ำเพื่อทดสอบศีลของนกยางหลายครั้ง
นกยางเห็นแล้วคิดว่าปลาตาย จึงใช้จะงอยปากคาบ ทันใดนั้นปลาก็ดิ้น นกยางรู้ว่าปลายังไม่ตายก็ปล่อยลงน้ำไป ทรงมั่นใจว่านกยางรักษาศีลเคร่งครัด ก็ให้โอวาทอีกว่า "เจ้ารักษาศีลได้ดีแล้ว อย่าท้อถอย ไม่นานหรอกเจ้าจะได้ไปเกิดในเทพวิมานของเราแน่ ๆ"
นกยางตายแล้วเกิดเป็นลูกสาวนายช่างปั้นหม้อท้าวสักกะนำฟักทองคำไปให้
นกยางได้อาหารบ้าง ไม่ได้บ้าง ซูบผอมลง ตายแล้วเกิดเป็นลูกสาวของนายช่างปั้นหม้อในกรุงพาราณสีด้วยผลของศีลที่รักษาดี
ครั้นนางอายุได้ ๑๕-๑๖ ปี ท้าวสักกะทรงคำนึงว่า "นางสุชาดาเกิดอยู่ที่ไหนหนอ?" ก็พบว่านางอยู่ในกรุงพาราณสี จึงทรงแปลงเป็นคนแก่และเนรมิตรัตนะ ๗ ประการเป็นลูกฟักทอง บรรทุกยานขับเข้าไปในกรุง ร้องประกาศว่า "ใครต้องการฟักทอง ก็จงมาเอา"เมื่อประชาชนมาขอ ก็ตรัสเงื่อนไขว่า "เราไม่ขาย เราไม่แลกเปลี่ยน เราจะให้แก่สตรีที่รักษาศีลดีเท่านั้น"
ชาวบ้านถามว่า "ศีลมีหน้าตาเช่นไร? สีดำหรือสีเขียว..." ท้าวสักกะตรัสว่า พวกท่านไม่รู้จักศีลเลย เราไม่ให้ ชาวบ้านกล่าวว่า "นายท่าน ลูกสาวช่างปั้นหม้อคงรู้จักศีลนางเที่ยวพูดว่า ข้าพเจ้ารักษาศีล" ลูกสาวช่างปั้นหม้อมาแล้วกล่าวว่า "ท่านจงมอบให้แก่ดิฉันเถิดดิฉันรู้จักศีลดิฉันรักษาศีล"ตรัสถามว่า "เธอทำอย่างไร?" ตอบว่า "ดิฉันคือสตรีรักษาศีล ๕ ดิฉันไม่เคยละจากศีล"
ท้าวสักกะ (ผู้มาในลักษณะพ่อค้า) ตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้นฟักทองเหล่านี้ก็เป็นของเธอแล้ว เรานำมาให้เธอโดยเฉพาะ" ทรงขับยานไปยังเรือนของนางแล้วนำฟักทองที่เกิดจากเทวฤทธิ์ อันผู้อื่นนอกจากธิดาช่างปั้นหม้อจะนำไปไม่ได้ ให้แก่นาง ทั้งทรงแสดงพระองค์ว่าเป็นเทวดา ให้โอวาทว่า "ทรัพย์เหล่านี้ให้เธอเลี้ยงชีวิต เธอจงรักษาศีล ๕ ต่อไปอย่าให้ขาด"แล้วเสด็จกลับไป
ลูกสาวช่างปั้นหม้อตายแล้วเกิดเป็นลูกสาวเวปจิตติจอมอสูร ท้าวสักกะปลอมแปลงเป็นอสูรชรา ให้นางสุชาดาเลือกคู่ แล้วนำไปดาวดึงส์ ต่อมา ลูกสาวช่างปั้นหม้อตายแล้วเกิดเป็นธิดาของเวปจิตติจอมอสูร (ชื่อเดิมว่า ท้าวสมพรจอมอสูร แต่เกิดไปทะเลาะกับพวกฤาษีที่มีศีลมีกัลยาณธรรม พวกฤาษีจึงแช่ง จอมอสูรกลัวคำสาปแช่ง เกิดจิตหวั่นไหวหวาดกลัว จึงได้ชื่อว่าเวปจิตติ, สํ.อ.๑/๒/๔๔๑-๒) อยู่ในภพอสูรขนาดประมาณ ๑ หมื่นโยชน์ ณ ภายใต้ภูเขาสิเนรุ (สํ.อ.๑/๒/๔๑๔, ๔๓๙) ซึ่งจอมอสูรนี้เป็นหัวหน้าแห่งภพอสูร
ผลจากการที่นางรักษาศีลถึง ๒ อัตภาพ นางจึงเป็นอสุรกัญญาที่มีรูปสวย ผิวพรรณประดุจทองคำ ถึงพร้อมด้วยความงดงามทุก ๆ ส่วน (บาลีเรียกนางว่า สุชาดาอสุรกัญญา สํ.ส.ข้อ ๙๐๔) เวปจิตติจอมอสูรหวงแหนมาก กีดกั้นอสูรชายทั้งหลายมิให้เข้าใกล้นางได้เลย
ในที่สุดจอมอสูรคิดว่า "ธิดาของเราควรจะมีคู่ที่เหมาะสม การที่จะได้คู่ที่เหมาะสมก็จำเป็นที่เราจะต้องจัดการคัดเลือกให้" แล้วประกาศให้พวกอสูรมาประชุมรวมกัน จากนั้นจอมอสูรได้มอบพวงดอกไม้ให้แก่นางสุชาดาอสุรกัญญา สั่งว่า "เจ้าจงเลือกดูชายที่สมควรเป็นสามีของเจ้าเถิด"
ท้าวสักกะทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้ว ทรงดำริว่า "ได้เวลาที่เราจะไปเอาตัวนางมาอยู่ด้วย" ทรงปลอมพระองค์เป็นอสูรชรา ไปยืนอยู่ท้ายที่ประชุม (ถ้าถือตามเรื่องที่เล่ามาพวกอสูรก็เป็นส่วนหนึ่งของเทวโลก มิใช่รวมอยู่ในพวกอสุรกายหรือพวกเปรต แต่จากคำทูลของท้าวสักกะอีกแห่งที่ว่า "ในกาลใดที่พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกในกาลนั้นหมู่เทพย่อมเต็มบริบูรณ์ หมู่อสุรกายย่อมลดลง" (ที.ม.ข้อ ๒๕๒) จึงเป็นไปได้ว่าอสูรพิภพที่นางสุชาดาเกิดนั้น ก็คืออบายภูมิที่เรียกว่าอสุรกาย อย่างที่คัมภีร์รุ่นหลังในฝ่ายอภิธรรมกล่าว)
สุชาดาอสุรกัญญากวาดสายตามองไปในกลุ่มอสูร ก็พบอสูรชรา สบตากันแล้วนาง เกิดความรักท่วมท้นด้วยกำลังแห่งบุพเพสันนิวาส ปักใจทันทีว่า "นั่นสามีของเราอยู่ที่นั่น"แล้วโยนพวงดอกไม้ไปที่อสูรแก่
หมู่อสูรที่มาประชุมรีบหลีกไปด้วยความผิดหวังว่า "น่าอายจริง ๆ ธิดาของราชาของพวกเราเลือกอสูรแก่เป็นคู่" อสูรชราตรงเข้าจับมือนางสุชาดาอสุรกัญญา แล้วแสดงตนประกาศว่า "เราคือท้าวสักกะต่างหาก" แล้วเหาะไปในอากาศ ถึงยังรถเวชยันต์แล้ว ทรงอุ้มนางสุชาดาขึ้นรถพระที่นั่ง ซึ่งมีมาตลีเทพบุตรรออยู่ รีบบ่ายหน้าสู่เทพนคร
ฝ่ายพวกอสูรรู้ว่าถูกท้าวสักกะลวงเข้าแล้ว จึงรีบติดตามไป (ทั้งสองฝ่ายไม่ถูกกันอยู่แล้ว รบกันบ่อย ๆ เพราะเดิมที พวกอสูรเกิดก่อนแล้วพำนักอยู่ในดาวดึงส์ ต่อมาท้าวสักกะและพวกเทพดาวดึงส์อุบัติขึ้น ขับไล่พวกอสูรกลับมาอยู่ยังภพอสูร)
รถของท้าวสักกะมีขนาดยาว ๑๕๐ โยชน์ คือ ท้ายรถ ๕๐ โยชน์ ตัวรถ ๕๐ โยชน์ งอนรถ (หน้ารถ) ๕๐ โยชน์ มีแท่นที่ประทับยาว ๑ โยชน์ มีฉัตรขาวสูง ๓ โยชน์ เทียมด้วยม้า ๑,๐๐๐ตัว บนรถมีธงสูง ๒๕๐ โยชน์ (สํ.อ.๑/๒/๔๒๒)
รถฝ่าอากาศมาถึงสิมพลิวัน (ป่างิ้ว) ลูกนกครุฑได้ยินเสียงรถแล้วตกใจกลัว ส่งเสียงร้องไห้จ้า ท้าวสักกะทรงดำริว่า "เพราะเราผู้เดียวจะทำให้หมู่นกหายนะ" ตรัสสั่งให้มาตลีเทพบุตรรีบหยุดรถ แล้วกลับออกไปทางเดิม มาตลีรีบทำตามเทวบัญชา
หมู่อสูรเห็นรถท้าวสักกะกลับมาก็คิดว่า พวกเทวดาดาวดึงส์นำผลมาช่วยท้าวสักกะแล้ว จึงหนีกลับภพอสูรไป
ท้าวสักกะทรงสถาปนานางสุชาดาอสุรกัญญา (บาลีเรียกปชาบดี) ไว้ในตำแหน่งหัวหน้านางเทพอัปสร ๒ โกฏิครึ่ง นางได้ขอคำมั่นว่า "มหาราชเจ้า ในเทวโลกนี้หม่อมฉันไม่มีญาติพี่น้องเลย เมื่อพระองค์เสด็จไปที่ใด ขอให้นำหม่อมฉันไปด้วยนะ พระเจ้าข้า"ท้าวสักกะได้ตรัสรับคำแล้ว (ดู ธ.อ.๑/๑/๒๗๔-๘, ที.อ.๒/๒/๑๖๗-๘)
และต่อมาท้าวสักกะกับท้าวเวปจิตติจอมอสูรก็เป็นลูกเขยกับพ่อตากัน บางครั้งก็ทะเลาะกัน บางครั้งเที่ยวไปด้วยกันฉันท์มิตร (สํ.อ.๑/๒/๔๓๙)
คติธรรมสำคัญของเรื่อง บุพเพสันนิวาส คือ พลังให้ได้พบคนรักในอดีตแต่การจะได้อยู่ร่วมกันในปัจจุบัน ก็ขึ้นอยู่กับความประพฤติในปัจจุบัน