ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ
ฉุฑฺโฑ อเปตวิญฺญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ
อีกไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จะนอนทับซึ่งแผ่นดิน
เป็นร่างไร้วิญญาณ ถูกทิ้งแล้ว เหมือนดังท่อนไม้ ไร้ประโยชน์
พระติสสะเป็นโรคกายเน่า กระดูกผุ... พระศาสดาทรงดูแล... บรรลุพระอรหัตแล้วปรินิพพาน
กุลบุตรชาวสาวัตถีคนหนึ่ง ฟังธรรมในสำนักของพระพุทธเจ้าแล้ว บวชถวายชีวิตไว้ใน พระศาสนา (สาสเน อุรํ ทตฺวา ปพฺพชิโต - บวชถวายซึ่งอกในพระศาสนา) ได้ชื่อว่า พระติสส เถระ,
ต่อมา ท่านเป็นโรคผิวหนัง มีตุ่มเกิดตามร่างกายขนาดเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดแล้วขยายใหญ่ ขนาดประมาณผลมะตูมแล้วแตกออก ร่างกายจึงมีสภาพปรุพรุนเป็นช่องเล็กช่องน้อย คนจึงเรียก ท่านว่า พระปูติคัตตติสสเถระ (พระติสสเถระผู้มีร่างกายเน่า) ต่อมากระดูกภายในร่างกายก็แตก แรกๆ ก็ยังพอมีคนคอยปรนนิบัติท่าน แต่เมื่ออาการเน่าลุกลาม คนดูแลก็ไม่อาจจะทนได้ แม้แต่ ภิกษุสัทธิวิหาริกของท่านก็ยังทอดทิ้งท่านไป,
พระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมทรงตรวจดูโลกวันละ ๒ ครั้ง คือ ในเวลาใกล้รุ่ง (ปจฺจูสกาเล) และในเวลาเย็น (สายํ) ทรงพบพระติสสเถระปรากฏในข่ายพระญาณ ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งพระอรหัตของท่าน ทรงดำริว่า "ภิกษุนี้ถูกพวกสัทธิวิหาริกและญาติทอดทิ้ง ถ้าเราไม่เป็นที่พึ่ง เธอก็จะไม่มีพึง" จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีในพระเชตวันนั้น ไปสู่โรงไฟ ทรงล้างหม้อ ทรงใส่น้ำ และต้มน้ำร้อน เมื่อน้ำเดือดแล้วเสด็จไปที่เตียงนอนของพระติสสะ พวกภิกษุรู้แล้วรีบมาช่วยกัน ยกเตียงพระติสสะไปที่โรงไฟ พระศาสดาให้นำผ้าต่างๆ ไปซักตากแดด ทรงใช้น้ำอุ่นชำระร่างกาย ของท่าน รอจนาผ้าแห้ง ทรงให้เธอนุ่งห่มแล้วเธอมีร่างกายสบายขึ้น จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
พระศาสดาประทับยืนที่หัวเตียงใกล้กับศีรษะของท่าน แล้วตรัสว่า "ภิกษุ กายของเธอนี้ อยู่ในสภาพไม่มีวิญญาณแล้ว (ร่างกายเกือบทั้งหมดขยับไม่ได้) ช่วยตนเองไม่ได้ จักนอนบน แผ่นดินราวกะท่อนไม้" แล้วตรัสภาษิตนี้ จบพระพุทธดำรัส พระปูติคัตตติสสเถระบรรลุพระ อรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ แล้วปรินิพพาน, พระพุทธเจ้าทรงให้ทำสรีรกิจ (เผา) ทรงเก็บธาตุ (ธาตุโย) แล้วโปรดให้ทำพระเจดีย์ (บรรจุ)ไว้, ภิกษุทั้งหลายทูลถามถึงว่า พระติสสเถระเกิดที่ไหนหนอ พระเจ้าข้า? ตรัสตอบว่า "ท่านปรินิพพานแล้ว" พวกภิกษุทูลถามบุพกรรมที่ทำให้กายเน่า และเหตุให้มีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต?
ตรัสเล่าว่า "ในสมัยพระพุทธเจ้ากัสสปะ พระติสสะเคยเป็นพรานล่านก ฆ่านกจำนวนมาก บำรุงชนผู้เป็นใหญ่ นกที่เหลือก็นำมาขาย เมื่อยังขายไม่หมดก็หักขาและปีกของนกขังไว้ไม่ให้ นกหนี แล้วนำไปขายในวันถัดมา, วันหนึ่ง มีพระขีณาสพรูปหนึ่งเที่ยวบิณฑบาตมาถึงหน้าเรือน ของเขา เขามีจิตเลื่อมใส นำข้าวและนกปิ้งหอมถึงพร้อมด้วยรสนั้นถวายให้จนเต็มบาตร ไหว้แล้ว"
กล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ กระผมพึงถึงที่สุดแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้วด้วยเถิด" พระเถระนั้นอนุโมทนาว่า "จงเป็นอย่างนั้น" ด้วยเหตุดังกล่าวนั้น ร่างกายของท่านจึงเน่าและกระดูกแตก, และบรรลุพระอรหัต เพราะผลของการถวายบิณฑบาตที่ประกอบด้วยรสแก่พระขีณาสพ
อธิบายพุทธภาษิต
อีกไม่นานร่างกายนี้จะนอนบนแผ่นดินที่สัตว์นอนกันเป็นปกติ, เมื่อ กายถูกทิ้งก็จะนอนในสภาพไร้วิญญาณ เหมือนท่อนไม้ที่มีลักษณะเป็นโพรง ผุ ไม่มีแก่น และ ท่อนที่ตะปุ่มตะป่ำ อันพวกมนุษย์ผู้ต้องการสร้างบ้านไม่ต้องการ ก็จะถูกทิ้งไว้ในป่าเป็นไม้ทับถม พื้นดินอย่างเดียว, กระนั้น ไม้เหล่านั้นก็ยังอาจนำมาทำเชิงรองบาตร เขียงเท้า หรือตั่งได้, ต่าง กับอาการ ๓๒ ในอัตภาพนี้ (คือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง เป็นต้น) เมื่อปราศจากวิญญาณแล้ว ไม่มีแม้สักอาการหนึ่งที่จะพึงถือเอามาทำวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ขาเตียง เป็นต้น ได้มีแต่ต้องทิ้งให้ทับถมแผ่นดินอย่างเดียว (ดู ธ.อ.๑/๓๑๙-๓๒๒)
คติธรรมความรู้ พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่ผู้พยาบาลภิกษุป่วยไข้ (คิลานุปัฏฐาก) ด้วยพระองค์เอง และตรัสพุทธพจน์สำคัญเพื่อให้พวกภิกษุดูแลภิกษุที่ป่วยไข้ว่า "โย ภิกฺขเว มํ อุปฏฺฐเหยฺย โส คิลานํ อุปฏฺฐเหยฺย ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดปรารถนาจะอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงอุปัฏฐากภิกษุผู้เจ็บป่วยเถิด" (วินย.มหา.ข้อ ๑๖๖)