พระสีวลีเถระ ผลแห่งบุญ : ภิกษุผู้เลิศทางลาภสักการะ

พระสีวลีเถระ ผลแห่งบุญ : ภิกษุผู้เลิศทางลาภสักการะ

ปริยัติธรรม

หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง

ตั้งความปรารถนาจะเป็นภิกษุผู้เลิศทางลาภ เมื่อ ๑ แสนกัปที่แล้ว

เมื่อ ๑ แสนกัปจากกัปนี้ เป็นพุทธสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปทุมุตตระ

สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงยกย่องภิกษุรูปหนึ่งว่าเป็นเอตทัคคะ (เป็นเลิศ) ด้านมีลากมาก ครั้งนั้นพระเจ้าแผ่นดินกรุงหังสวดี ประทับฟังธรรมอยู่ในมหาสมาคมนั้นด้วย ทรงพอพระทัยในเกียรติยศที่ภิกษุรูปนั้นได้รับเป็นอย่างยิ่ง

วันต่อมา พระราชาจึงทรงนิมนต์พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ให้ทรงรับมหาทานตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ พระราชาทรงหมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วทูลความปรารถนาว่า "ข้าพระองค์ต้องการจะเป็นภิกษุสาวกผู้เลิศทางลาภ ในพระศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล"

พระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ตรัสพยากรณ์ว่า "ความปรารถนาจะสำเร็จในอีกหนึ่งแสนกัปข้างหน้า ในพุทธสมัยของพระพุทธเจ้าโคตมะ"

เป็นกุลบุตรชาวชนบท ได้ถวายนมส้มและน้ำผึ้งแด่พระพุทธเจ้าวิปัสสีแล้วตั้งความปรารถนาให้มีลาภมาก

ครั้นถึงสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิปัสสี อดีตกษัตริย์กรุงหังสวดีพระองค์นั้นมาเกิดเป็นกุลบุตรคนหนึ่ง อาศัยอยู่ในชนบทไม่ไกลจากกรุงพันธุมวดี

ครั้งหนึ่ง พระราชากรุงพันธุมวดีทรงถวายทานแข่งกับชาวกรุง คือ จัดเตรียมทานให้เลิศที่สุด มีการถวายสิ่งที่คิดว่าอีกฝ่ายจะไม่มี โดยฝ่ายพระราชาเป็นผู้ถวายมหาทานก่อน ประชาชนชาวกรุงก็มาช่วยกันตรวจดูและจดบันทึกไว้ว่าพระราชาทรงถวายอะไรบ้าง ถึงวาระที่ชาวกรุงจะต้องจัดเตรียมมหาทาน พวกเขาจัดเตรียมทานไว้พร้อมพรั่งแล้วตรวจดูเทียบกับสิ่งของที่พระราชาได้เคยถวาย ปรากฏว่า ชาวกรุงหาน้ำผึ้งและนมส้มไม่ได้ขาดอยู่เพียง ๒ สิ่งนี้ก็จะเสมอกับทานของพระราชา

พรุ่งนี้เป็นวันที่พวกเขาจะต้องถวายมหาทานแล้ว พวกเขาพากันร้อนใจว่า ถ้าหาไม่ได้ พวกเราก็จะพ่ายแพ้พระราชา... ปรึกษากันแล้ว ชาวเมืองก็สั่งให้ชายหนุ่มจำนวนมากแยกย้ายกันไปอยู่ตามหนทางที่จะมุ่งเข้าสู่กรุง เพื่อสอบถามหาว่ามีผู้ใดนำน้ำผึ้งและนมส้มติดตัวมาบ้าง จะได้ขอซื้อ

เช้าตรู่วันรุ่งขึ้น กุลบุตรชาวชนบท (อดีตกษัตริย์กรุงหังสวดี) ถือหม้อใส่นมส้มเดินทางออกจากบ้านมุ่งหน้าเข้ากรุงเพื่อจะหาซื้อสิ่งของบางอย่าง ใกล้ถึงประตูทางเข้าพระนครแล้วเขาเหน็ดเหนื่อยจึงแวะพักที่บริเวณสระน้ำริมถนน วางหม้อนมส้มแล้วลงหน้าล้างตา และมือทำอยู่ที่ริมสระ ขึ้นมาแล้วเหลือบเห็นรังผึ้งขนาดใหญ่เกือบเท่างอนไถ เข้าไปดูใกล้ ๆ ก็ไม่เห็นตัวผึ้ง เห็นแต่รวงผึ้ง มีน้ำหวานชุ่มฉ่ำอยู่ในรวงนั้น คิดว่า คงเป็นบุญของเรากระมังผึ้งจึงทิ้งรวงไป เขาจัดการนำรวงผึ้งใส่ลงในผ้า ห่อไว้มิดชิดหลายชั้น

เมื่อเดินมาถึงประตูเมืองก็ถูกคนของชาวเมืองถามว่า "ท่านมีน้ำผึ้งและนมส้มไหม?" เขาตอบว่า มี, ถามว่า จะนำมาให้ใครหรือ?, ตอบว่า เปล่า นำมาเพื่อขาย, พวกเขาขอซื้อด้วยเงิน ๒ กหาปณะ (อย่างละ ๑ กหาปณะ) กุลบุตรนั้นคิดว่า "โชคดีจัง มีคนมาขอซื้อไม่ต้องเที่ยวเร่ขายไป แต่เราถือมาไกล เราน่าจะตั้งราคาให้สูงขึ้นหน่อย" จึงบอกว่า ๒ กหาปณะน้อยไป เราไม่ขาย, คนเหล่านั้นเพิ่มให้อีก ๑๐ กหาปณะ เขาก็ยังไม่ขาย จนต้องเพิ่มให้ถึง ๑,๐๐๐ กหาปณะ

กุลบุตรเกิดความสงสัยว่า เขาจะเอาน้ำผึ้งกับนมส้มไปทำอะไรกันแน่นะ ทำไมยอมซื้อด้วยเงินตั้งมากมาย จึงสอบถามเหตุที่ขอซื้อ? พอได้ฟังว่าจะนำไปถวายพระพุทธเจ้า, เขาก็เปลี่ยนใจไม่ขาย ต่อรองขอเป็นคนถวายของทั้งสองสิ่งนี้แด่พระพุทธเจ้าเอง พวกชาวเมืองจึงให้เขาไปเจรจากับประธานถวายทานของชาวเมือง

เมื่อประธานของชาวเมืองตอบตกลงให้เขาถวายน้ำผึ้งและนมส้มได้เอง เขาก็ไปซื้อเครื่องเทศมาปรุงแต่งรสกับน้ำผึ้ง และทำนมส้มให้เป็นน้ำส้ม (นมเปรี้ยว) จัดทำใบบัวเป็นภาชนะบรรจุของทั้งสองไว้

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสด็จมาประทับนั่งในมณฑลพิธีแล้ว เปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีสิ่งของพิเศษถวายแต่พระพุทธเจ้าตามลำดับ จนถึงวาระของกุลบุตรผู้นี้เขาประคองภาชนะใบบัวที่บรรจุน้ำผึ้งและนมส้ม วางลงต่อหน้าพระพักตร์ แล้วไหว้อัญชลีกราบทูลว่า "ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า สิ่งของนี้เป็นบรรณาการของคนยากไร้ขอพระองค์ทรงโปรดรับด้วยเถิด" พระพุทธเจ้าผู้เปี่ยมด้วยพระกรุณา รับของทั้งสองด้วยบาตรหิน แล้วทรงอธิษฐานให้น้ำผึ้งและนมส้มจงอย่าหมดสิ้นไป ครั้งนั้น สิ่งของทั้งสองแม้จะมีอยู่เพียงไม่มากแต่ก็เพียงพอแก่ภิกษุ ๖๘,๐๐๐ รูป (อรรถกถาอปทานว่า ๖,๘๐๐,๐๐๐, อรรถกถาเอตทัคคบาลีว่า ๖๘,๐๐๐ รูป)

ลำดับนั้น กุลบุตรผู้นี้ยังได้กราบทูลตั้งความปรารถนาขอให้เป็นเลิศทางลาภและยศในทุกภพที่เกิด พระศาสดาตรัสว่า "ความปรารถนาจงสำเร็จอย่างนั้นเถิด"...

(แต่ในพระบาลีอปทานเล่าว่า ชุมชนหนึ่งร่วมกันสร้างบริเวณที่เรียกว่ามหันต์ ถวายพระพุทธเจ้าวิปัสสี สร้างเสร็จแล้วจัดงานถวายมหาทาน พวกเขาขาดนมส้มใหม่และน้ำผึ้งช่วยกันแสวงหาจนมาพบกับกุลบุตรผู้นี้ และเขาไม่ขายขอเป็นผู้ถวายด้วยตนเอง, ดู ขุ.อป.ข้อ ๑๓๓)

<เกิดเป็นกษัตริย์ ร่วมกับพระมารดาทำอกุศลกรรมปิดล้อมกรุง ทำผู้คนเดือดร้อน

ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าโคตมะของพวกเราจะอุบัติ เป็นกาลที่โลกมีพระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งตำราจาก ๒ คัมภีร์เล่าไม่ตรงกัน ดังนี้

๑. กุลบุตรผู้นั้นมาเกิดเป็นกษัตริย์กรุงพาราณสี มีพระราชาจากชนบทยกทัพมาจะยึดกรุง พระราชาพาราณสีรับสั่งให้ปิดประตูเมือง ห้ามคนเข้าออกโดยสิ้นเชิง พระปัจเจกพุทธเจ้าหลายองค์ในมิคทายวิหารไม่อาจทำกิจต่าง ๆ ได้สะดวก พระราชาทรงทราบแล้วตรัสให้เปิดประตูเมืองในวันที่ ๗ ส่วนกองทัพที่ยกมาปิดล้อมก็กลับไป (ดู อป.อ.๒/๑/๓a๔)

๒. กุลบุตรผู้นั้นมาเกิดเป็นพระราชโอรสของกษัตริย์พาราณสี ต่อมา พระราชาแคว้นโกศลยกทัพบุกเข้ามาฆ่าพระราชบิดา แล้วบังคับให้พระราชมารดาอภิเษกด้วย พระราชโอรสหลบหนีออกมาได้ ทรงรวบรวมไพร่พลเข้าปิดล้อมกรุง แล้วทรงส่งสาสน์ถึงพระราชมารดา ๆ แนะให้ปิดล้อมกรุงไว้นาน ๗ ปี ๗ วัน ชาวเมืองเดือดร้อนจนทนไม่ไหว จึงช่วยกันต่อสู้กับกำลังของพระราชโกศล แล้วปลงพระชนม์พระราชาโกศลสำเร็จอกุศลกรรมในการปิดล้อมกรุงนั้น ต่อมาส่งผลในชาติสุดท้าย ทำให้พระสีวลีและพระมารดาทุกข์ทรมานอยู่ในครรภ์นาน ๗ ปี ๗ วัน (ดู อุ.อ.๑๙๐-๑)

กุศลกรรมส่งผล พระมารดาและทารกมีบุญมาก... แต่อกุศลกรรมก็ส่งผลให้ประสบทุกข์ในครรภ์นานกว่า ๗ ปี.... เกิดได้ ๗ วัน ออกบวชเป็นสามเณร และบรรลุพระอรหัต

ครั้นถึงพุทธสมัยของพระพุทธเจ้าโคตมะของพวกเราด้วยกุศลกรรมที่สั่งสมไว้ อดีตพระราชโอรส (อดีตกุลบุตรผู้ถวายน้ำผึ้งและนมส้ม)มาเกิดในพระครรภ์ของเจ้าหญิงโกลิยะแห่งกุณฑิยานคร ชื่อว่า พระนางสุปปวาสา โกลิยธิดา

ทารกในครรภ์เป็นผู้ทำบุญไว้ดีแล้ว นับแต่พระมารดารู้ว่าตั้งพระครรภ์ พระนางก็รับรู้ถึงความพิเศษของทารก จึงทรงทดลองบุญด้วยการใช้พระหัตถ์แตะหน่อของพืชชนิดต่าง ๆ ก็ปรากฏว่า หน่อพืชเกิดแตกหน่อออกมาจำนวนเป็นร้อยเป็นพัน, เมื่อทรงแตะต้องเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เขากำลังจะนำไปหว่านลงในแปลงนา ปรากฏว่า เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแปลงนั้นสามารถให้ผลผลิตได้ถึง ๕๐-๖๐ เกวียน ต่อพื้นนา ๑ กรีสะทีเดียว

หรือ เมื่อเขานำข้าวเปลือกออกไปจากยุ้งฉางแล้ว ถ้าพระนางไปจับต้องยุ้งฉาง ๆ นั้นก็กลับมีข้าวเปลือกอยู่เต็มอีก หรือเมื่อให้พระนางจับหม้อข้าวสวยไว้ ให้คนตักแจกจ่ายข้าวแก่คนที่เข้ามาขอ ตราบใดที่พระนางยังจับหม้อข้าวอยู่ เข้าสวยก็ย่อมไม่ปรากฎความหมดไปเลย

แต่ด้วยผลของอกุศลกรรมปิดล้อมเมืองที่กระทำร่วมกันไว้ ทำให้พระนางต้องอุ้มครรภ์พระโอรสอยู่นานถึง ๗ ปี ๗ วัน ทรงมีความทุกข์ทรมานนานมาก

ในวันที่ทรงคลอดพระโอรสนั้น พระนางทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับอยู่ ณ ป่ากุณฑิฐานวัน ทรงให้พระสวามีไปเข้าเฝ้ากราบทูลการทรงครรภ์นาน

พระสวามีไปเข้าเฝ้ากราบทูลว่า พระนางสุปปวาสาทรงมีความทุกข์มาก แต่ทรงอดกลั้นด้วยการระลึกถึงพระพุทธเจ้า และธรรมที่ทรงแสดง, ระลึกถึงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีและระลึกถึงนิพพานที่ปราศจากทุกข์ เป็นสุข, พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พระนางสุปปวาสาจงเป็นผู้มีความสุข หาพระโรคมิได้ คลอดพระโอรสที่ไร้โรคาเถิด"

เมื่อพระสวามีกลับมาถึงพระนิเวศน์ ก็พบว่าพระนางประสูติพระโอรสแล้วโดยราบรื่นพระนางทรงให้พระสวามีไปกราบทูลนิมนต์พระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยภัตตลอด ๗ วันด้วย

ทารกคลอดแล้วทำให้จิตใจของหมู่พระญาติหมดความร้อน ความกระวนกระวายสงบเย็น จึงตั้งชื่อทารกว่า "สีวลี" (คลอดแล้วนับอายุได้ ๗ ขวบกับอีก ๗ วัน)...

สีวลีกุมารได้ช่วยพระมารดาถวายทานตลอด ๗ วัน, ในวันที่ ๗ พระสารีบุตรชวนให้สีวลีบวช พระกุมารขออนุญาตพระบิดามารดาแล้วได้รับอนุญาตบวชเป็นสามเณร และสีวลีกุมารได้บรรลุพระอรหัต ขณะปลงผมเสร็จ ส่วนพระมารดาเป็นพระโสดาบันตั้งแต่การเข้าเฝ้าครั้งแรกก่อนหน้านี้

กราบทูลขออนุญาตพาหมู่ภิกษุเดินทางไกล ทดลองบุญในถิ่นกันดาร.. ถึงความเป็นเอตทัคคะ

นับแต่สามเณรสีวลีบวช ปัจจัย ๔ ก็เกิดแก่ภิกษุสงฆ์อย่างมากมาย สามเณรได้ติดตามพระพุทธเจ้าไปอยู่ที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี วันหนึ่ง ท่านได้กราบทูลขอทดลองบุญ โดยกราบทูลขอภิกษุ ๕๐๐ รูป ให้ร่วมเดินทางไปในป่าลึกในเขตหิมวันต์ เพื่อจะดูว่าจะมีใครนำอาหารและน้ำมาถวายบ้าง พระศาสดาทรงอนุญาตแล้ว

เมื่อเดินทางลึกเข้าไปถึงสถานที่ ๗ แห่ง ก็มีมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย มาคอยถวายมหาทานแห่งละ ๗ วัน คือ

  1. เดินทางพัก ณ ต้นไทร
  2. เดินทางต่อแล้วพัก มองเห็นภูเขาบัณฑวะ
  3. เดินทางต่อจนถึงต้นน้ำอจิรวดีแล้วแวะพัก
  4. เดินทางต่อจนถึงต้นน้ำวรสาครแล้วแวะพัก
  5. เดินทางต่อจนมองเห็นภูเขาหิมวันต์แล้วแวะพัก
  6. เดินทางต่อจนถึงสระฉัททันต์แล้วแวะพัก
  7. เดินทางต่อจนถึงภูเขาคันธมาทน์แล้วแวะพัก

หลังจากกลับออกมาแล้ว ต่อมาสามเณรสีวลีได้ร่วมตามเสด็จพระพุทธเจ้าไปทรงเยี่ยมพระขทิรวนิยเรวตเถระ (น้องชายพระสารีบุตร) ในป่าลึก ซึ่งระหว่างทางไปต้องผ่านหนทางกันดาร ก็มีหมู่เทพยดาช่วยกันเนรมิตเมืองขึ้นทุกๆ หนึ่งโยชน์ ตลอดหนทางกันดาร ๓๐ โยชน์ พระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไม่ประสบความขาดแคลนอาหารและที่พักเลย

ต่อมา พระพุทธเจ้าทรงยกย่องให้ท่านเป็นภิกษุสาวกเอตทัคคะด้านเลิศด้วยลาภ

คติธรรมสำคัญของเรื่องความมีโชคมีลาภ มิได้เกิดจากการขอพรวิงวอนขอ แต่มาจากกรรมที่ทำไว้ดี เผล็ดผลตรงกับกาลที่วิงวอนพอดี


พิมพ์