ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ยาวเทว อนตฺถาย ญตฺตํ พาลสฺส ชายติ
หนฺติ พาลสฺส สุกฺกํสํ มุทฺธํ อสฺส วิปาตยํ.
ความรู้ที่เกิดแก่คนพาล เป็นไปเพื่อความฉิบหายอย่างเดียว
ความรู้ที่คนพาลมีนั้น ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ ทำความดีงามให้พินาศ
เคยเป็นมนุษย์เรียนศิลปะการดีดกรวดแล้วดีดใส่หูพระปัจเจกพุทธะ
ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานะเดินลงจากเขาคิชฌกูฏกับพระลักขณเถระ ท่านเห็นสัฏฐิกูฏเปรต (เปรตมีค้อนเหล็ก ๖๐ พัน คือ หกหมื่นทุบตีศีรษะ) เป็นเปรตมีอัตภาพขนาด ๓ คาวุต มีค้อนเหล็กติดไฟลุกโพลงจำนวน ๖ หมื่นด้าม ทุบลงบนศีรษะ ศีรษะแตกกระจายแล้วกลับเป็น ศีรษะเหมือนเดิมอีก เป็นอย่างนี้เรื่อยมา, ท่านจึงยิ้มแย้ม พระลักขณะเห็นแล้วถามเหตุที่ยิ้ม? ท่านขอให้ถามอีกครั้งเมื่อเข้าเฝ้าพระศาสดา...เมื่อทั้งสองเข้าเฝ้า พระศาสดาได้ทรงยืนยันว่า แม้พระองค์ก็เคยเห็นสัฏฐิกูฏเปรตสมัยที่พระองค์ประทับนั่งอยู่ที่โพธิมัณฑ์ (โคนไม้เป็นที่ตรัสรู้ อาจทรงเห็นในมัชฌิมยามด้วยอำนาจของจุตูปปาตญาณซึ่งเป็นญาณที่รวมทิพยจักษุด้วย) แต่ไม่ ทรงบอกใครๆ เพื่ออนุเคราะห์คนที่ไม่เชื่อ (ถ้าตรัสบอกแล้ว ถ้าเขาไม่เชื่อก็จะพูดดูหมิ่นพระองค์ จะเกิดอกุศลแก่เขา) ทรงเป็นพยานรับรองการเห็นเปรตของพระเถระแล้วตรัสบอกอดีตกรรมของ เปรตตนนี้ว่า
เปรตนี้เคยเป็นมนุษย์เรียนวิชาการดีดก้อนกรวด (สาลิตฺตกสิปฺป) จากอาจารย์พิการ เป็นคนขาเปลี้ย อาจารย์สามารถดีดกรวดใส่ใบไม้บนต้นไม้ทะลุเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ได้...พระราชา ขอให้ไปแอบดีดขี้แพะใส่ปากปุโรหิตที่ชอบพูดมาก...ทำให้ปุโรหิตนั้นไม่กล้าพูดมากต่อหน้าพระราชา อีก ชายเปลี้ยได้รับของพระราชทานจำนวนมาก ชายหนุ่มคนนี้รู้ จึงมาปรนนิบัติจนชายเปลี้ยยอม สอนศิลปะให้ เขาชำนาญแล้วได้แอบดีดกรวดใส่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุเนตตะ ระหว่างเดินบิณฑบาต ก้อนกรวดเข้าช่องหูขวาทะลุออกช่องหูซ้าย ท่านรีบกลับไปปรินิพพานที่บรรณศาลา มหาชนพากันร้องไห้คร่ำครวญ ชายหนุ่มก็มาดูศพด้วย และบอกว่าตนเองเป็นผู้ดีดกรวดใส่ ประชาชนจึงโบยตีเขาจนตาย แล้วเกิดในนรก พ้นแล้ว อกุศลกรรมที่ยังเหลืออยู่นั้นทำให้มาเกิด เป็นสัฏฐิกูฏเปรตนี้,
ตรัสสอนว่า "คนพาลที่ได้ศิลปะหรือได้ความเป็นใหญ่ มีแต่ทำความฉิบหาย ให้แก่ตัวเอง" และตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต
ญตฺตํ-ความรู้ คือ การรู้ศิลปะก็ตาม หรือ ดำรงอยู่ในความเป็นใหญ่ (อิสฺสริยํ) ก็ตาม หรือถึงพร้อมด้วยยศ (การได้รับการยกย่องนับถือ) คนพาลมีหรือได้รับแล้ว ย่อม เป็นไปเพื่อความพินาศแก่ตนเองอย่างเดียว, มีแต่ทำปัญญา (มุทฺธํ) ของตนเองให้ตกต่ำและฆ่า ส่วนที่เป็นความดีงามหรือฆ่ากุศลของตนให้หมดไป (ดู ธ.อ.๒/๑๔๗-๒o๒)
คติธรรมความรู้ คนบางคนมีความรู้ แต่ไม่ได้ใช้ความรู้เพื่อความเจริญ กลับใช้ความรู้ทำลายปัญญาและความดีงามของตนเองเสีย