จากมนุษยภูมิ - สู่พรหมภูมิ

จากมนุษยภูมิ - สู่พรหมภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

ขุททกนิกาย อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า ๗๐๒-๗๐๙ อุเทนสูตร แสดงผลที่ทําให้ไปบังเกิดใน เทวภูมิและพรหมภูมิ ความตอนหนึ่งว่า

ในอดีตกาล ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ รูป ฉัน ภัตตาหารเนืองนิตย์ในพระราชนิเวศน์ หญิง ๕๐๐ คนพากันบํารุงพระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ทั้ง ๘ รูปนั้น ๗ รูปไปยังป่าหิมพานต์ รูปหนึ่งเข้าสมาบัติที่พงหญ้าแห่งหนึ่ง ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ ภายหลังวันหนึ่งเมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าไปแล้ว พระราชาไม่ประสงค์จะเล่นน้ำกับพวกหญิงนั้น จึงเสด็จหลีกไป หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำในที่นั้น ตลอดทั้งวัน ถูกความหนาวบีบคั้น ประสงค์จะผิงไฟ ยืนล้อมพงหญ้าที่ดารดาษไปด้วยหญ้าแห้ง สําคัญว่ากองหญ้า จึงจุดไฟ เมื่อหญ้าถูกไฟไหม้แล้วยุบลง เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า คิดว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าของพระราชาถูกไฟไหม้ หากพระราชาทรงทราบ จักทําให้เราพินาศ เราจักเผาท่านให้เรียบร้อยเสียเลย ดังนี้แล้ว ทุกคนพากันขนฟืนมาจาก ที่โน้นที่นี้ ทําให้เป็นกองสุมไว้ข้างบนพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น แล้วพากันหลีกไปด้วยเข้าใจว่า บัดนี้ พระปัจเจกพุทธเจ้า จักมอดไหม้แล้ว หญิงเหล่านี้มิได้มีเจตนามาก่อน แต่ด้วยเกรงภัยจากพระราชาจะมาถึงตนจึงกระทําเช่นนี้

ก็ภายในสมาบัติของพระปัจเจกพุทธเจ้า แม้หญิงเหล่านั้นจะพากันขนฟืนมาตั้งพันเล่มเกวียนสุมอยู่ ก็มิสามารถทําให้พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เข้าสมาบัติมรณภาพได้ เพราะฉะนั้น ในวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้าออก จากสมาบัติแล้ว ได้ลุกจากที่นั้นไปตามสบาย เหมือนไม่มีสิ่งไรเกิดขึ้นแก่ท่าน

เพราะกรรมที่หญิงเหล่านั้นทําไว้ จึงหมกไหม้ในนรกหลายพันปี หลายแสนปี และเศษแห่งวิบากของ กรรมนั้น ก็ยังถูกไฟไหม้ถึงร้อยอัตภาพ ครั้นมาเกิดเป็นมนุษย์นางผู้เป็นหัวหน้าในบรรดาหญิงเหล่านั้น ได้เป็นอัครมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพี ชื่อพระนางสามาวดี (ความละเอียดอยู่ในคาถาธรรมบทเล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้า ๒๒๐-๓๐๙ อัปปมาทวรรควรรณนา เรื่องพระนางสามาวดี)

พระนางสามาวดีได้ถูกนายมาคัณฑิยะ ผู้เป็นอาของนางมาคัณฑิยาเผาปราสาท โดยเอาผ้าชุบ น้ำมันพันเสาปราสาทแล้วให้หญิง ๕๐๐ ผู้เป็นบริวารเข้าไปในปราสาทนั้น ลั่นดาลประตูข้างนอก แล้วจุดไฟเผา เมื่อตําหนักกําลังถูกไฟไหม้ พระนางสามาวดีได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า เธอทั้งหลาย เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ใน วัฏสงสารซึ่งตามรู้เบื้องต้นและที่สุดไม่ได้ อัตภาพถูกไฟไหม้ถึงอย่างนี้ แม้กําหนดด้วยพุทธญาณ ก็กระทําไม่ได้ง่าย พวกเธอทั้งหลายจงอย่าประมาท แล้วโอวาทว่า

พวกเธอจงเริ่มขวนขวายในพระพุทธศาสนา จงกําจัดเสนาของมัจจุมาร เหมือนกุญชรช้างประเสริฐ ย่ำยีเรือนไม้อ้อ ฉะนั้น ผู้ไม่ประมาท เห็นแจ้งในพระธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักทําที่สุดแห่งทุกข์ได้

หญิงเหล่านั้นเป็นผู้ได้บรรลุโสดาปัตติผลมาแล้วจากสํานักของนางขุชชุตตรา ผู้เป็นอริยสาวิกาผู้รู้แจ้ง คําสอนของพระบรมศาสดา ผู้ฟังธรรมในสํานักของพระศาสดาแล้วได้บรรลุผล ผู้บรรลุเสกขปฏิสัมภิทา แสดงธรรม ตามทํานองที่พระบรมศาสดาทรงแสดง และประกอบความขวนขวายมนสิการกรรมฐานในลําดับ ๆ

เพราะฉะนั้น เมื่อไฟกําลังไหม้ปราสาท หญิงเหล่านั้นมนสิการ เวทนาปริคหกรรมฐาน บางพวกได้ เป็นสกทาคามี บางพวกได้เป็นพระอนาคามี แล้วถึงแก่กรรม ในหญิงเหล่านั้น หญิงผู้เป็นพระอนาคามีไปบังเกิดใน ชั้นพรหมสุทธาวาส จักปรินิพพานในสุทธาวาสไม่กลับมาสู่โลกนี้อีก นอกนั้นบางพวกเกิดในภพดาวดึงส์ บางพวก เกิดในภพยามา บางพวกเกิดในภพดุสิต บางพวกเกิดในนิมมานนรดี บางพวกเกิดในปรนิมมิตวสวัตตี

ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทรงสดับว่า พระตําหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้ รับสั่งให้คนช่วยดับไฟ ทรงทราบว่าพระนางมาคัณฑิยาก่อเหตุเช่นนี้โดยอุบาย จึงให้ลงราชอาญาแก่นางพร้อมด้วยพวกญาติและข้าราชบริพาร มิตรสหายพวกพ้อง ทรงเปล่งอุทานว่า

 

สัตว์ใดในโลกนี้ เกลือกกลั้วไปด้วยโมหะ
สั่งสมแต่สิ่งที่นำความทุกข์มาให้ พอกพูนอกุศลไว้เป็นอันมาก
พึงเป็นผู้ถูกเครื่องผูกพัน มีอวิชชา ตัณหา และทิฏฐิเป็นต้น
ผูกไว้ในสังสารวัฏ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังนี้

 

ขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ หน้า ๓๓๐-๓๔๕ อุพพรีเปตวัตถุ แสดงผลที่ทําให้ไปบังเกิดในพรหมภูมิ ความตอนหนึ่งว่า

เมื่อพระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภอุบาสิกาคนหนึ่งที่สามีสิ้นชีวิต อุบาสิกานั้นเศร้าโศกเพราะความทุกข์ในการพลัดพรากจากสามี เดินร้องไห้ไปยังป่าช้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรง เห็นอุปนิสัยสมบัติแห่งโสดาปัตติผลของนาง ด้วยพระมหากรุณาคุณ จึงเสด็จไปยังเรือนของนาง ประทับนั่งบนอาสนะ อุบาสิกานั้นถวายบังคมแล้ว นั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระบรมศาสดาตรัสถามถึงเหตุ นางทูลว่า หม่อมฉันเศร้าโศกเพราะพลัดพรากจากสามีสุดที่รัก พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีพระประสงค์จะให้นางระงับความเศร้าโศก จึงได้นำเอาอดีตนิทานมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล กปิลนครแคว้นปัญจาละ มีพระราชาพระนามว่าพรหมทัต ครองราชสมบัติด้วยทศพิธราชธรรม บางคราวประสงค์จะทราบว่าในแว่นแคว้นของพระองค์ มีความเป็นอยู่อย่างไร จึงปลอมพระองค์เป็น ช่างหูก เสด็จเที่ยวไปพระองค์เดียว ออกจากนคร จากบ้านสู่บ้าน จากชนบทสู่ชนบท ทรงเห็นแว่นแคว้นไม่มีเสี้ยนหนาม ไม่ถูกเบียดเบียน มีความเป็นอยู่อย่างไม่ต้องปิดประตูเรือน ทรงเกิดความโสมนัส จึงเสด็จกลับพระนคร

ระหว่างทางเสด็จเข้าไปยังเรือนของหญิงหม้ายคนหนึ่ง ในสภาพของช่างหูกที่หางานทํา ประทับอยู่สอง สามวัน ทรงเห็นธิดาของหญิงหม้ายเพียบพร้อมด้วยลักษณะของผู้มีบุญมีโชค พระราชาได้ตรัสกับมารดาของนางว่า หญิงผู้นี้ถ้ายังไม่มีใครหวงแหน ท่านจงให้เด็กหญิงนี้แก่เรา หญิงหม้ายนั้นรับคําแล้วได้ถวายธิดานั้นแก่พระราชา

พระราชาทรงสถาปนาเด็กหญิงนี้ไว้ในตําแหน่งอัครมเหสี นำนางมายังพระนครด้วยราชานุภาพอัน ยิ่งใหญ่ ตั้งชื่อว่า อุพพรี เสวยรัชชสุขตลอดพระชนม์ชีพ ในที่สุดแห่งอายุพระราชาก็เสด็จสวรรคต

เมื่อพระราชาสวรรคต ทําการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว พระนางอุพพรีมีหทัยเพียบพร้อมด้วยลูกศร ไปยังป่าช้า บูชาสักการะด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น อยู่หลายวัน คร่ำครวญรำพัน พร่ำเพ้อหาแต่พระสวามี ดุจถึงความเป็นบ้า ทําการประทักษิณไปรอบป่าช้า

สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายยังเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงผนวชเป็นฤาษี บรรลุฌานและอภิญญา อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่งใกล้ๆ ขุนเขาหิมพานต์ ทอดพระเนตรเห็นพระนางอุพพรีผู้เพียบพร้อมด้วยความโศก ด้วยทิพยจักษุ เสด็จเหาะมาประทับยืนอยู่ในอากาศ ตรัสถามพวกมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณนั้นว่า นี้เป็นป่าช้าของใคร หญิงนี้จึงคร่ำครวญอยู่แต่ว่า พรหมทัต พรหมทัต พรหมทัตองค์ใดหรือ ?

พวกมนุษย์ได้ฟังดังนั้นพากันกล่าวว่า พระราชาของชาวปัญจาละ ทรงพระนามว่าพรหมทัต ท้าวเธอสวรรคต นี้เป็นพระเมรุมาศของพระราชาพระองค์นั้น หญิงนี้เป็นอัครมเหสีพระนามว่าอุพพรี พระดาบสนั้นเพื่อจะบันเทาความเศร้าโศกของพระนางอุพพรี จึงได้กล่าวว่า

พระราชาทรงพระนามว่า พรหมทัต ถูกเผาในป่าช้านี้ ๘๖,๐๐๐ พระองค์แล้ว ก็บรรดาพระเจ้าพรหมทัตเหล่านั้น พระนางทรงกรรแสงถึงพระเจ้าพรหมทัตพระองค์ใด ?

พระนางอุพพรี ถูกดาบสถามอย่างนี้แล้ว กล่าวตอบว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระราชาพระองค์ใดเป็น พระราชโอรสของพระเจ้าจูฬนี ทรงเป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ ดิฉันเศร้าโศกถึงพระราชาพระองค์นั้น ผู้เป็นพระราชสวามี พระองค์ทรงประทานสิ่งของที่น่าปรารถนาทุกอย่างแก่หม่อมฉัน"

 

พระดาบสกล่าวว่า
พระราชาทุกพระองค์ ทรงพระนามว่าพรหมทัตเหมือนกันหมด
ล้วนเป็นพระโอรสของพระเจ้าจูฬนี เป็นใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาละ
พระนางเป็นพระมเหสีของพระราชาเหล่านั้นทั้งหมด โดยลําดับกันมา
เพราะเหตุไร พระนางจึงเว้นพระราชาพระองค์ก่อน ๆ ที่ผ่านมาเสีย
มาทรงกรรแสงถึงแต่พระราชาพระองค์หลัง องค์นี้เท่านั้น ?

 

พระนางอุพพรีได้ฟังดังนั้นแล้ว เกิดสลดพระทัย กล่าวว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ ดิฉันเกิดเป็นแต่หญิง ตลอดกาลนานเท่านั้นเชียวหรือ ? หรือจะได้เกิดเป็นชายบ้าง ท่านจึงพูดถึงแต่กาลที่ดิฉันเป็นหญิงในสังสารวัฏ เสียเป็นอันมาก

 

พระดาบสเมื่อจะแสดงว่า การกําหนดแน่นอนนี้ ไม่มีในสังสารวัฏ จึงกล่าวว่า
บางคราวพระนางเกิดเป็นหญิง บางคราวก็เกิดเป็นชาย
บางคราวก็เกิดในกําเนิดปศุสัตว์ เป็นช้าง ม้า วัว ควาย แพะ แกะ เป็นต้น
ที่สุดแห่งอัตภาพทั้งหลายอันเป็นอดีต ย่อมไม่ปรากฏ อย่างนี้

 

โดยแท้ที่สุดแห่งอัตภาพ ของเหล่าสัตว์ผู้วนเวียนอยู่ในสังสารวัฏทั้งหมด ย่อมไม่ปรากฏ คือรู้ไม่ได้ ทีเดียว ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า

 

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สังสารวัฏนี้ไม่มีที่สิ้นสุด
และเบื้องต้นอันใคร ๆ ไปตามอยู่ย่อมรู้ไม่ได้
เบื้องต้นและที่สุดของเหล่าสัตว์ ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น
ผูกพันด้วยตัณหา แล่นไป ท่องเที่ยวไป ย่อมไม่ปรากฏ

 

พระนางอุพพรี ได้ฟังธรรมที่ดาบสนั้น มีพระทัยสลดในสังสารวัฏที่ไม่มีที่สิ้นสุด มีใจเลื่อมใสในธรรม เมื่อจะประกาศความเลื่อมใสในธรรม ความที่วัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด และความที่สัตว์มีกรรมเป็นของตน และปราศจากลูกศรคือความเศร้าโศกของพระนาง จึงกล่าวว่า ท่านดับความกระวนกระวายทั้งปวงของดิฉัน ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟที่ลาดด้วยน้ำมัน ฉะนั้น ท่านบรรเทาความเศร้าโศกถึงพระสวามีของดิฉันผู้ถูกความโศก ครอบงำแล้ว ถอนได้แล้วหนอ ซึ่งลูกศรความเศร้าโศก ดิฉันจะไม่ร้องไห้ต่อไปอีก เพราะได้ฟังคำของท่าน

 

พระบรมศาสดาทรงแสดงข้อปฏิบัติของพระนางอุพพรี ผู้ระงับความโศกได้แล้ว ตรัสพระคาถาว่า
พระนางอุพพรี ฟังคำสุภาษิตของดาบสผู้เป็นสมณะนั้นแล้ว
ถือบาตรและจีวรออกบวชเป็นภิกษุณี ครั้นออกบวชแล้ว
เจริญเมตตาจิต เพื่อเข้าถึงพรหมโลก เมื่อพระนางท่องเที่ยวไป
จากบ้านหนึ่ง สู่บ้านหนึ่ง จากนิคม สู่นิคม จากราชธานีสู่ราชธานี
ได้สวรรคตที่บ้านอุรุเวลา พระนางเมื่อเบื่อหน่ายความเป็นหญิง
เจริญเมตตาจิต เพื่อบังเกิดในพรหมโลก ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลกแล้ว

 

พระบรมศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ในเวลาจบสัจจะ อุบาสิกานั้นดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล เทศนาได้มีประโยชน์แก่บริษัทผู้ถึงพร้อมแล้ว ฉะนี้แล

ท่ามกลางสังสารวัฏ สัตว์โลกทั้งหลายต่างต้องประสบกับภัยอันเป็นความสุขบ้างทุกข์บ้าง ตามควรแก่กรรมที่ตนได้กระทํามา วนเวียนอยู่ในวงจรของสังสารจักร คือ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิปากวัฏ หลากหลายรูปแบบ อย่างคาดไม่ถึงต่อเหตุการณ์วิจิตรพิสดารที่เกิดขึ้นกับแต่ละบุคคล สมดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า

 

เพราะจิตวิจิตร กรรมจึงวิจิตร
เพราะกรรมวิจิตร วิบากจึงวิจิตร

 

ก็เพราะวิบากวิจิตร สัตว์โลกจึงต้องเผชิญกับทุกข์ภัยอยู่ในวงเวียนของสังสารวัฏ อย่างไม่รู้เบื้องต้น ไม่รู้เบื้องปลาย ไม่มีวันจบสิ้น วิบากกรรมทั้งหลายที่สัตว์โลกกำลังผจญอยู่ มิใช่มารดาบิดา มิใช่พี่น้องชาย พี่น้องหญิง มิใช่ญาติสาโลหิต วงศาคณาญาติ หรือญาติสนิทมิตรสหายผู้หนึ่งผู้ใดเป็นผู้สร้างหรือทําให้ ทุกคนทำแล้ว ด้วยตนเองทั้งสิ้น ด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ดังกล่าวไว้แล้วในเบื้องต้น เพราะความไม่รู้เป็นรากเหง้า เป็นต้นตอ เป็นหน้าที่นำพาเราทั้งหลายให้แล่นไปสู่ภพภูมิต่างๆ จากภพภูมินี้ไปสู่ภพภูมิโน้น จากภพภูมินั้นกลับมาสู่ภพภูมินี้ จากกําเนิดนั้นมา สู่กําเนิดนี้เป็นต้น วนเวียนอยู่ในห้วงเหวของวัฏฏะทุกข์อย่างไม่รู้จบสิ้น

ยามใดที่ กุศลกรรมที่ตนกระทํามาให้ผล ชีวิตก็ประสบแต่ความสุขที่น่ารื่นรมย์ ทําให้เพลิดเพลินที่จะใช้ชีวิตอย่างประมาท เดินไปบนปากทางแห่งทุคติภูมิอีกโดยไม่รู้ตัว ด้วยอํานาจของกิเลสคือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ 

ยามใดที่ อกุศลกรรมที่ตนกระทํามาให้ผล ชีวิตก็ประสบกับความทุกข์ เจ็บปวด เผ็ดร้อนรุนแรง เศร้าโศกเสียใจ หวั่นไหวไปตามควรแก่เหตุที่ตนกระทํามา ได้รับผลคือวิบากกรรมที่วิจิตรพิสดารต่างกันไป

 

สมดังพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน อุทาน เล่ม ๑ ภาค ๓ หน้า ๗๒๗-๗๒๘ จตุตถนิพพานสูตรว่า

ความหวั่นไหวย่อมมี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิอาศัย
ความหวั่นไหวย่อมไม่มี แก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัย
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป
เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและอุบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี นี้แล เป็นที่สุดแห่งทุกข์

 

ขุททกนิกาย เถรีคาถา เล่ม ๒ ภาค ๔ หน้า ๑๘๔-๑๙๗ อรรถกถา ปฏาจาราเถรีคาถา กล่าวถึง ความทุกข์ของพระเถรีรูปหนึ่ง ที่เศร้าโศกกับความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ในเวลาพร้อมกันจนเสียสติ ความว่า

ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ นางปฏาจาราบังเกิดในกรุงหังสาวดี รู้เดียงสาแล้วได้ ฟังธรรมในสํานักพระศาสดา เห็นพระศาสดาทรงสถาปนาภิกษุณีรูปหนึ่งไว้ในตําแหน่งเอตทัคคะ เป็นเลิศของภิกษุณี ผู้ทรงพระวินัย นางตั้งความปรารถนาตําแหน่งนั้นกระทํากุศลตลอดชีวิต เวียนว่ายไปในเทวโลกมนุษยโลก จนถึง สมัยของพระกัสสปพุทธเจ้า นางถือปฏิสนธิในพระราชมณเฑียรของพระเจ้ากาสีพระนามว่ากิกิ เป็นพระราชธิดา องค์หนึ่ง ระหว่างพระพี่น้องนาง ๗ องค์ ทรงประพฤติพรหมจรรย์มาตลอด ๒๐,๐๐๐ ปี ได้ทรงสร้างบริเวณถวาย พระภิกษุสงฆ์ นางจุติจากนั้นแล้วบังเกิดในเทวโลก เสวยทิพยสมบัติอยู่พุทธันดรหนึ่ง ในพุทธบาทกาลนี้ บังเกิดใน ครอบครัวเศรษฐี เติบโตเป็นสาวแล้ว ได้ทําความสนิทเสน่หากับคนงานคนหนึ่งในเรือนตน

บิดามารดาได้กําหนดวันที่จะส่งมอบนางให้ชายหนุ่ม ซึ่งมีชาติเสมอกัน นางรู้เรื่องนั้นแล้วก็หยิบฉวย ทรัพย์ที่สําคัญไว้ในมือ ออกไปทางประตูหลัง กับชายหนุ่มในเรือนนั้น อาศัยอยู่ในหมู่บ้านตําบลหนึ่ง ไม่นานนักก็ตั้งครรภ์เมื่อครรภ์แก่นางจะกลับไปคลอดที่บ้าน สามีก็ผิดเพี้ยนวันแล้ววันเล่า นางจึงตัดสินใจเดินทางไปแต่ผู้เดียว เมื่อสามีกลับมาไม่พบนางรู้จากเพื่อนบ้านว่านางกลับไปยังเรือนของตระกูล จึงเดินทางตามไป

นางได้คลอดบุตรในระหว่างทางนั้นเอง นับแต่นางคลอดบุตรแล้ว นางก็ชวนสามีกลับบ้าน จนนางตั้งครรภ์ครั้งที่สอง ก็มีความคิดที่จะกลับไปคลอดที่บ้านนางอย่างเดิมอีก แต่ในคราวนี้ในระหว่างทางลมกัมมัชวาตเกิด ปั่นป่วน เมฆฝนอันมิใช่ฤดูกาลตกลงมาห่าใหญ่ ท้องฟ้ามีหยาดฝนตกลงมาไม่ขาดสาย สายฟ้าก็แลบแปลบปลาบ ไปรอบ ๆ เสียงเมฆคํารามดังโลก จะทําลาย บังเอิญสามีกับลูกคนโตเดินทางตามมาทัน นางได้พูดกับสามีให้ช่วย หาที่กําบังฝน สามีพบพุ่มไม้มีหญ้าปกคลุมแห่งหนึ่ง ประสงค์จะตัดไม้ที่พุ่มไม้นั้นมาเพื่อกําบัง ด้วยมีดที่ถืออยู่ในมือ เมื่อตัดต้นไม้ท้ายจอมปลวกที่หญ้าปกคลุม ทันใดนั้นงูพิษร้ายก็เลื้อยออกมาจากจอมปลวกนั้น กัดชายผู้สามีล้มลง ตายอยู่ ณ ที่นั้นเอง

ขณะนั้นนางต้องประสบกับทุกข์ใหญ่ เพราะนางคลอดแล้ว นางโอบลูกน้อยทั้งสองซึ่งทนลมฝนไม่ไหว ร้องไห้จ้าไว้แนบอก สองเข่าสองมือยึดพื้นดินอยู่ในท่านั้นตลอดคืน รอคอยการกลับมาของสามี เมื่อราตรีสว่าง ก็เอาลูกคนเล็กซึ่งมีสีคล้ายชิ้นเนื้อนอนบนเศษผ้าเก่า ประคองโอบลูกไว้แนบอก กล่าวกับลูกคนโตว่า ตามแม่มา พ่อเจ้าไปทางนี้ ก็ได้พบสามีนอนตายอยู่ใกล้จอมปลวก นางร้องไห้คร่ำครวญว่า เพราะตัวเราทีเดียว สามีเราจึงตาย เดินไปต่อสักครู่ก็ถึงแม่น้ำ ซึ่งมีกระแสน้ำลึกแค่อก นางไม่สามารถจะข้ามน้ำนั้นไปพร้อมกันทั้งสามคนได้ นางจึงวางลูกคนโตไว้ที่ริมฝั่ง อุ้มลูกคนเล็กข้ามไปยังฝั่งโน้น ปูกิ่งไม้หักไว้วางเบาะลูกไว้บนกิ่งไม้ เมื่อนางจะกลับไปรับลูกคนโตให้ข้ามมา ก็เป็นห่วงลูกคนเล็ก เดินกลับไป กลับมาหลายเที่ยว จึงตัดใจข้ามไป

ขณะที่นางไปถึงกลางแม่น้ำ เหยี่ยวตัวหนึ่งเห็นเด็กอ่อนที่นอนอยู่บนเบาะ เข้าใจว่าเป็นชิ้นเนื้อจึงโผลง จากอากาศ นางเห็นเหยี่ยวนั้นจึงยกมือขึ้นไล่ เหยี่ยวไม่สนใจในอาการของนาง ก็ลงโฉบเอาเด็กอ่อนนั้นเหินขึ้น อากาศไป ส่วนลูกคนโตที่ยืนรออยู่ฝั่งนี้ เห็นมารดายกมือส่งเสียงดัง ก็เข้าใจว่าแม่เรียก จึงกระโดดลงน้ำไปโดยเร็ว เด็กนั้นถูกกระแสน้ำพัดพาหายไปอย่างรวดเร็ว นางตกตลึงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ร่ำไห้คร่ำครวญว่า ลูกเราคนหนึ่งถูกเหยี่ยวเฉียวไป คนหนึ่งถูกน้ำพัดไป สามีก็ตายที่หนทาง นางเดินร้องไห้รำพันไปดังนี้ ระหว่างทาง ได้พบชายผู้หนึ่งกำลังเดินสวนทางมา นางได้ถามถึงทางที่จะไปกรุงสาวัตถี

ชายนั้นชี้ทางที่จะไปกรุงสาวัตถีให้แล้ว บอกข่าวแก่นางว่า เมื่อคืนนี้ฝนตกหนักตลอดคืนยังรุ่ง เรือนล้ม ทับคนตาย ๓ คน คือตัวเศรษฐี ภรรยาเศรษฐี และลูกชายเศรษฐี ทั้งสามคนถูกเผาแล้วบนเชิงตะกอนเดียวกัน ควันไฟที่พื้นยังเห็นอยู่เลยจ้ะแม่คุณ นางปฏาจาราได้ยินดังนั้น จึงรีบซักถาม ก็ได้ความว่าทั้ง ๓ คนนั้นเป็น ครอบครัวของตนเอง ทันใดนั้นเองนางหมดสติ ทอดกายล้มลง ณ ที่นั้น เสียจริตด้วยความเศร้าโศก ร่ำไห้รำพันว่า

 

ลูกทั้งสองก็ตาย สามีก็ตายในระหว่างหนทาง
บิดามารดาและพี่ชาย ก็ถูกเผาที่เชิงตะกอนเดียวกัน

 

นับแต่นั้นมา นางก็เที่ยวไปด้วยผ้าปกกายที่หลุดลุ่ย ผู้คนทั้งหลายที่พบเห็น บางพวกก็โยนขยะลงบน ศีรษะนาง พร้อมทั้งขับไล่ว่า ไปให้พ้นอีคนบ้าบางพวกก็โปรยฝน บางพวกก็ขว้างก้อนดินบ้าง ท่อนไม้บ้างลงใส่นาง ขณะนั้น พระบรมศาสดากําลังทรงแสดงธรรม ท่ามกลางบริษัทหมู่ใหญ่ ณ พระเชตวันวิหาร ทอดพระเนตรเห็นนางกำลังวนเวียนอย่างนั้น ทรงสำรวจดูความแก่กล้าแห่งญาณของนางแล้ว ทรงตั้งจิตปรารถนาที่จะให้นางบ่ายหน้ามายังพระวิหาร ด้วยพระพุทธานุภาพ เหล่าบริษัทเห็นนางจึงกล่าวกันว่า อย่าให้หญิงบ้าเข้ามาที่นี้นะ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่าห้ามนางเลย เมื่อนางเข้ามาใกล้ ตรัสว่า แม่นาง เธอจงกลับได้สติเถิด ทันใดนั้น นางกลับได้สติ ด้วยพระพุทธานุภาพ รู้ตัวว่าผ้าที่นุ่งหลุดหล่นหมดสิ้น เกิดหิริโอตตัปปะ รีบนั่งกระโหย่ง ลงเพื่อปิดบังอวัยวะ ชายผู้หนึ่งโยนผ้าห่มให้ นางรับผ้านั้นมาคลุมกายแล้วเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ถวายบังคม ด้วย เบญจางคประดิษฐ์ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอทรงเป็นที่พึ่งให้ข้าพระองค์ด้วย เหยี่ยวเฉียวเอาบุตร ของข้าพระองค์ไปคนหนึ่ง ลูกอีกคนหนึ่งก็ถูกน้ำพัดพาไป สามีก็ตายในระหว่างทาง บิดามารดาและพี่ชายก็ถูกเรือน ล้มทับตาย ถูกเผาอยู่ที่เชิงตะกอนเดียวกันนางได้กราบทูลเล่าถึงเหตุแห่งความเศร้าโศกของนางแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อน ปฏาจารา เจ้าอย่าคิดไปเลย เจ้ามาหาเรา ซึ่งสามารถจะเป็นที่พึ่งของ เจ้าได้ ก็บัดนี้เจ้าหลั่งน้ําตา เพราะความตายของลูกเป็นต้นเหตุ ฉันใด ในสังสารวัฏที่มีเงื่อนต้นเงื่อนปลายที่ตามไป ไม่รู้ ก็ฉันนั้นน้ําตาที่หลั่งเพราะความตายของลูกเป็นต้นเป็นเหตุยังมากกว่าน้ําในมหาสมุทรทั้ง ๔ เมื่อจะทรงแสดง ธรรมโปรดแก่นาง จึงตรัสพระคาถาว่า

 

น้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ ยังมีปริมาณน้อย
ความเศร้าโศกของนรชนผู้ถูกทุกข์กระทบแล้ว
น้ำของน้ำตามิใช่น้อย มีปริมาณมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ นั้นเสียอีก
แม่นางเอย เหตุไรเจ้าจึงยังประมาทอยู่อีกเล่า

 

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้ากําลังตรัสกถาบรรยายเรื่องสังสารวัฏ ที่มีเงื่อนต้นและเงื่อนปลายตามไป ไม่รู้แล้ว ความเศร้าโศกของนางค่อยทุเลาลง ลําดับนั้น พระศาสดาทรงทราบว่า นางมีความเศร้าโศกเบาบางลงแล้ว จึงตรัสต่อไปว่า ดูก่อนปฏาจารา ขึ้นชื่อว่าปิยชนมีบุตรเป็นต้น ก็ไม่อาจช่วย จะซ่อนเร้นหรือเป็นที่พึ่งของตนที่กําลังไป สู่ปรโลกได้ ดังนั้น ปิยชนเหล่านั้นแม้มีอยู่ ก็ชื่อว่าไม่มี เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงชำระศีลของตนแล้ว ทําทางที่จะไป พระนิพพานให้สําเร็จ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมด้วยพระคาถาเหล่านี้ต่อไปว่า

 

บุตรก็ช่วยไม่ได้ บิดามารดาก็ช่วยไม่ได้ แม้พวกพ้องก็ช่วยไม่ได้
เมื่อความตายมาถึงตัวแล้ว หมู่ญาติหรือผู้ใดก็ช่วยไม่ได้
ก็สัจจะ ธรรมะ อหิงสา สัญญมะ และทมะ มีอยู่ในผู้ใด
พระอริยะทั้งหลายย่อมคบผู้นั้น นั่นเป็นธรรมที่ไม่ตายในโลก
บัณฑิตเมื่อรู้ความข้อนี้แล้ว
พึงสํารวมในศีล พึงรีบเร่งชําระทางที่ไปพระนิพพานที่เดียว

 

จบพระธรรมเทศนา นางปฏาจาราตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล กราบทูลขอบรรพชา พระศาสดาทรงนำไป สํานักภิกษุณีให้บรรพชา นางได้อุปสมบทแล้ว ก็กระทํากิจกรรมในวิปัสสนาเพื่อมรรคเบื้องบนขึ้นไป

วันหนึ่งนางล้างเท้า ขณะที่ราดน้ำลงที่เท้า น้ำนั้นไหลไปสู่ที่ลุ่มได้หน่อยหนึ่งก็ขาดหายไป ราดน้ำลงอีก ครั้งที่สอง น้ำที่ไหลไหลไปได้ไกลกว่าเดิมอีกหน่อย ราดรดครั้งที่สาม น้ำไหลไปได้ไกลกว่าครั้งที่สอง นางยึดน้ำนั้น เป็นอารมณ์ พิจารณาว่าน้ำที่ไหลนี้จะใกล้หรือไกล ก็มีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ฉันใด อายุและสังขารของ สัตว์ทั้งหลาย ก็ฉันนั้น นางกําหนดวัยทั้งสาม คิดว่า

 

สัตว์ทั้งหลาย ตายเสียในปฐมวัยก็มี เหมือนน้ำที่ ราดรดลงครั้งแรก
สัตว์ทั้งหลาย ตายเสียในมัชฌิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่ ราดรดลงครั้งที่สอง
สัตว์ทั้งหลาย ตายเสียในปัจฉิมวัยก็มี เหมือนน้ำที่ ราดรดลงครั้งที่สาม

 

พระเถรีพิจารณา  ทุกขลักษณะ อนิจจลักษณะ อนัตตลักษณะ ตามแนวที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ กระทําจิตให้ตั้งมั่นแล้วด้วยสมาธิ สัมปยุตด้วยวิปัสสนา เข้าห้องน้อย เพื่อต้องการอุตุสัปปายะ วางประทีปลง พอพระเถรีนั่งลงบนเตียง ก็หมุนไส้ประทีปขึ้นเพื่อเพ่งประทีป ทันใดนั้นเอง จิตของพระเถรีนั้นตั้งมั่นเพราะได้ อุตุสัปปายะ หยั่งลงสู่วิถีแห่งวิปัสสนา แต่นั้นอาสวะทั้งหลายก็สิ้นไปตามลําดับแห่งมรรค ความหลุดพ้นได้มีแล้ว

พระศาสดาประทับนั่งอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงแผ่พระรัศมีไปประหนึ่งประทับยืนอยู่ต่อหน้านางตรัสว่า ดูก่อน ปฏาจารา ในข้อนั้นก็เป็นเช่นนั้นแหละ สัตว์เหล่านี้ทั้งหมดล้วนมีความตายไปเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น คนที่เห็นความเกิด ความเสื่อมของปัญจขันธ์ มีชีวิตเป็นอยู่วันเดียวก็ดี ขณะเดียวก็ดี ยังประเสริฐ กว่าคนที่ไม่เห็นความเกิดความเสื่อมนั้น ถึงจะมีชีวิตเป็นอยู่ตั้งร้อยปีก็ตาม

กาลที่จบพระคาถา พระปฏาจาราภิกษุณี ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทา ๔ ด้วยเหตุนั้น พระเถรีจึงกล่าวไว้ในคัมภีร์อปทาน ความตอนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าฟังพระดํารัสของพระมุนี แล้วก็ได้ บรรลุผลอันดับแรกคือโสดาปัตติผล บวชไม่นานนักก็บรรลุพระอรหัต ข้าพเจ้าทำตามคำสอนของพระบรมศาสดา ก็เป็นผู้ชำนาญในฤทธิ์ ในทิพโสตธาตุ รู้ปรจิตตวิชชา รู้ปุพเพนิวาสาญาณ ชำระทิพยจักษุ ทําอาสวะให้สิ้น เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีมลทิน ต่อจากนั้นข้าพเจ้าก็เล่าเรียนพระวินัยทั้งหมด ในสํานักของพระองค์อย่างพิสดาร แล้วน้อม นำมาประพฤติปฏิบัติ สืบทอดมาตามที่เป็นจริง ดังนี้

พระชินเจ้า ทรงยินดีในคุณเหล่านั้น ทรงสถาปนาข้าพเจ้าว่า ปฏาจาราภิกษุณีผู้เดียวเป็นเลิศของ ภิกษุณีผู้ทรงพระวินัย บัดนี้ พระศาสดาข้าพเจ้าก็บํารุงแล้ว คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าข้าพเจ้าก็ทําเสร็จแล้ว ภาระหนักข้าพเจ้าก็ปลงลงแล้ว ตัณหาที่นำไปสู่ภพข้าพเจ้าก็ถอนเสียแล้ว คนทั้งหลายออกจากเรือนบวช เพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว ธรรมเป็นที่สิ้นสังโยชน์ทั้งหมดข้าพเจ้าก็บรรลุแล้ว กิเลสทั้ง หลายข้าพเจ้าก็เผาเสียแล้ว คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้าข้าพเจ้าก็ทําเสร็จแล้ว

พระปฏาจาราเถรี ครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว พิจารณาทบทวนถึงการปฏิบัติของตนในเวลาเป็น เสกขบุคคล เมื่อจะชี้แจงการบังเกิดของผลเบื้องบนคือพระอรหัต ได้กล่าวอุทานว่า

 

ผู้ชายทั้งหลาย ไถนาด้วยไถ หว่านเมล็ดพืชลงที่พื้นนา
ย่อมได้ทรัพย์มา เพื่อเลี้ยงดูบุตรภรรยา
ข้าพเจ้าสมบูรณ์ด้วยศีล ทําตามคําสั่งสอนของพระศาสดา
ไม่เกียจคร้าน ไม่ฟุ้งซ่าน ไฉนจะไม่ประสบพบพระนิพพานเล่า

 

เรื่องราวของพระปฏาจาราเถรี เป็นเรื่องที่ชี้ให้เห็นภัยในท่ามกลางสังสารวัฏชัดเจนมาก เพราะชี้ให้เห็น โทษของความเป็นปุถุชน ที่เต็มอยู่ด้วยตัณหา มานะ ทิฏฐิ แม้ท่านจะมีอุปนิสัยในพระธรรม ที่ตั้งความปรารถนา เป็นเอตทัคคะผู้เลิศทางพระวินัย ไว้ตั้งแต่ครั้งพระปทุมุตตระพุทธเจ้า แม้ว่าท่านจะวนเวียนเสวยสุขเสวยทุกข์อยู่ อยู่ในเทวโลกหรือมนุษยโลกก็ตาม แม้ว่าท่านจะอุบัติในภพต่าง ๆ ในฐานะพระราชธิดา หรือครอบครัวเศรษฐี ตามกุศลกรรมที่ได้สร้างไว้ก็ตามที แต่สิ่งที่หนีไม่พ้นคือ วิบากกรรมที่ท่านต้องประสบกับความผิดพลาดในการ ดําเนินชีวิต ต้องประสบกับความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ถูกความทุกข์ทับถมซ้ำซ้อนจนเสียสติ ซึ่งไม่มีผู้ใด ตอบได้ว่าท่านสร้างเหตุเหล่านั้นไว้แต่ในภพใด กำเนิดใด เพราะความยาวนานในสังสารวัฏ

แต่ในที่สุดแห่งความทุกข์ ท่านก็ได้ประสบกับสิ่งที่ท่านตั้งความปรารถนามาเป็นเวลาอันยาวนานมาก ท่านได้พ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ด้วยพระธรรมคําสอนของพระบรมศาสดา และอุปนิสัยที่ท่านเคยสั่งสมมา ได้เป็นเอตทัคคะได้เป็นเลิศของภิกษุณีผู้ทรงพระวินัย สมดังที่ท่านตั้งความปรารถนาไว้ในสมัยพระปทุมุตตระพุทธเจ้า

สมจริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า ชาติคือความเกิดเป็นทุกข์ ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็เป็นทุกข์ ความตายก็เป็นทุกข์ แม้ความโศกก็เป็นทุกข์ ความร่ำไห้รำพันก็เป็นทุกข์ ความทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นทุกข์ ความคับแค้นใจก็เป็นทุกข์ ความประสบกับสิ่งที่ไม่รักไม่ชอบใจก็เป็นทุกข์ ความพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รักก็เป็นทุกข์ แม้มารดาตายก็เป็นทุกข์ บิดาตายก็เป็นทุกข์ พี่น้องชายพี่น้องหญิงตายก็เป็นทุกข์ บุตรภรรยาตายก็เป็นทุกข์ ญาติตายก็เป็นทุกข์ ทาสตายก็เป็นทุกข์ รวมความว่า  อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นตัวทุกข์ ดังนี้

ชีวิตสัตว์ทั้งหลายที่อุบัติขึ้นมาสู่ภพใดภพหนึ่ง ระหว่างความเกิดจนถึงความตาย ในแต่ละอัตภาพนั้น นั้น นอกจากชรามรณะที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเกิด ก็ยังมีทุกข์ในท่ามกลางชีวิตอีกมากมายหลายประการ ทุกข์โทมนัสบางอย่างซึ่งคาดไม่ถึง ในความวิจิตรของวิบากคือผลที่ได้รับ อันเป็นภัยทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า

ขุททกนิกาย มหานิทเทส อัฏฐกวรรค อัตตทัณฑสุตตนิเทสที่ ๑๕ หน้า ๔๑๓-๔๓๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสภัย ๒ อย่าง ได้แก่ ภัยมีในชาตินี้ ๑ ภัยมีในชาติหน้า ๑ ภัยเหล่านั้นเกิดแต่โทษของตน ได้แก่โทษทางกาย โทษทางวาจา และโทษทางใจ


พิมพ์