ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
อุทกญฺหิ นยนฺติ เนตฺติกา อุสุการา นมยนฺติ เตชนํ ทารุํ นมยนฺติ ตจฺฉกา อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา
ผู้ต้องการน้ำ ย่อมชักน้ำไป ช่างศร ย่อมดัดลูกศร ช่างไม้ ย่อมถากไม้ บัณฑิต ย่อมฝึกตน
สามเณรอายุ ๗ ขวบ เห็นสิ่งที่ไม่มีจิต ยังเป็นไปตามใจคนได้ จึงตัดสินใจฝึกตนจนถึงความสมบูรณ์
สามเณรชื่อบัณฑิตเป็นบุตรชายของลูกสาวคนโตของตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรในกรุงสาวัตถี สมัยที่ยังอยู่ในครรภ์ มารดาแพ้ท้องต้องการถวายอาหารที่มีรสปลาตะเพียนแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูป มีพระสารีบุตรเป็นประธาน (ทารกในครรภ์เคยถวายภัตที่มีปลาตะเพียนแด่พระพุทธเจ้ากัสสปะ) ในวันที่ถวายทาน นางก็นุ่งห่มผ้ากาสาวะ นั่งท้ายแถวภิกษุรอบริโภคอาหารเดนของพวก ภิกษุ อาการแพ้ท้องก็จะระงับไป นางแพ้ท้อง ๗ ครั้ง ก็ถวายทานที่มีรสปลาตะเพียน ๗ ครั้งจน คลอดบุตร ถึงวันตั้งชื่อลูก มารดาก็นิมนต์พระสารีบุตรมา พระเถระถามว่า ทารกนี้มีชื่อว่าอะไร? มารดาเรียนว่า “นับแต่เขามาเกิด คนในเรือนที่เคยโง่ก็กลับฉลาด คนที่หูหนวก เป็นใบ้ ก็ยัง กลายเป็นคนฉลาด บุตรชายของดิฉัน จะได้ชื่อว่า “บัณฑิต” (ปณฺฑิตทารโก, เด็กผู้ฉลาด) พระเถระจึงให้เด็กชายบัณฑิตรับสิกขาบท...ครั้นเขามีอายุ ๗ ขวบ เด็กชายก็ขออนุญาตบวชกับมารดา มารดาก็เห็นอัธยาศัยในความเป็นบรรพชิตของลูกมานาน จึงให้บวชเป็นสามเณรกับพระสารีบุตร...
ในวันที่ ๘ พระสารีบุตรให้บัณฑิตสามเณรติดตามไปเพื่อบิณฑบาต ระหว่างทางเดินไป สามเณรเห็นเหมือง (เหมือง คือ หลุมขนาดใหญ่อยู่บนที่ดอนรองรับน้ำฝนที่ไหลลงมาจากที่ดอน แล้วเกษตรกรจะต่อลํารางนำน้ำออกจากเหมืองไปยังที่นาที่สวน) จึงถามว่า นี่คืออะไรขอรับ? พระเถระตอบว่า “เหมือง (= อ่างเก็บน้ำ)”, ถามว่า เหมืองนี้ (ตอนนี้) เขาใช้ทำอะไร? ตอบว่า เขาชักน้ำในเหมืองไปเลี้ยงข้าวกล้า, ถามว่า น้ำมีจิต มีความคิด ความรู้สึกต่างๆ ไหม? ตอบว่า “ไม่มีหรอก”, ถามว่า คนสามารถนำน้ำที่ไม่มีจิตไปสู่ที่ๆ ตนต้องการได้หรือ? ตอบว่า “ได้สิ” สามเณรคิดว่า น้ำที่ไม่มีจิต แต่คนก็นำไปทำการงานได้ แล้วทำไมคนเรามีจิตจะไม่อาจควบคุม จิตให้ดำเนินไปในสมณธรรมได้, เมื่อเดินต่อไปพบช่างศรกำลังดัดไม้ให้ตรง, พบช่างไม้กำลังถากไม้ เพื่อทำล้อรถ, สามเณรก็ถามและคิดเปรียบเทียบระหว่างลูกศรและไม้ที่ไม่มีจิต กับคนเราที่มีจิต, ท่านมีจิตใจน้อมไปในการบำเพ็ญสมณธรรมให้สำเร็จ จึงขออนุญาตกลับไปที่วิหารก่อน และกล่าว กับพระเถระว่า “ถ้าพระอาจารย์จะนำอาหารไปให้กระผม จึงนำอาหารที่มีปลาตะเพียนนะขอรับ ถ้าไม่ได้ด้วยบุญของพระอาจารย์ ก็จะได้ด้วยบุญของผม”, พระเถระเห็นว่าสามเณรยังเด็กจึงสั่ง ให้ไปรอในกุฏิของท่านแล้วปิดประตูให้มิดชิด...สามเณรเข้าไปในที่อยู่แล้ว นั่งพิจารณากรัชกาย ของตน พิจารณาในอัตภาพอยู่
ขณะนั้น ที่ประทับนั่งของ ท้าวสักกะ เกิดอาการร้อน ทรงใคร่ครวญหาเหตุ รู้ว่าเพราะบัณฑิตสามเณรกำลังเจริญสมณธรรมอยู่ จึงให้ ท้าวจาตุมหาราช (เทวราชปกครองสวรรค์จาตุมหาราชิกา ๔ พระองค์) ไปอารักขาบริเวณวิหารและไล่นกไม่ให้ส่งเสียง ให้ สุริยเทพบุตรและจันทเทพบุตร ฉุดรั้งพระอาทิตย์และพระจันทร์ไว้ไม่ให้เคลื่อนคล้อย ส่วนตัวพระองค์เองมาเฝ้าอยู่หน้ากุฏิพระสารีบุตร, ขณะนั้นสามเณรบรรลุ ผล ๓ แล้ว (เป็นพระอนาคามี)
วันนั้น ตระกูลอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว เขาปรุงอาหารไว้แล้ว ได้นิมนต์ให้พระเถระนั่งฉันในเรือน ฉันเสร็จแล้วนำอาหารนั้นใส่ให้ท่านจนเต็มบาตรอีก พระเถระรีบเดินกลับ เพราะคิดว่า สามเณรคงหิวมากแล้ว, พระศาสดา ทรงทราบว่าสามเณรบรรลุอนาคามิมรรคแล้ว เพียรเพื่อบรรลุพระอรหัต พระสารีบุตรอาจมาขัดขวางการบรรลุได้ จึงเสด็จมาประทับยืนอยู่ที่ ซุ้มประตูพระเชตวัน และ ตรัสถามปัญหาพระสารีบุตร ๔ ข้อ เมื่อพระเถระทูลตอบปัญหาจบลง สามเณรก็บรรลุพระอรหัดพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔. พระสารีบุตรทูลลานำอาหารเข้าไปให้สามเณร เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว เทพบุตรปล่อยให้พระอาทิตย์และพระจันทร์โคจรไปตามปกติ ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันว่า "อะไรกัน สามเณรเพิ่งฉันเสร็จเมื่อกี้นี้ ทำไมวันนี้ถึงเวลาบ่ายเร็วมาก” พระพุทธเจ้า ตรัสว่า ในเวลาที่ผู้มีบุญทำสมณธรรม เหล่าเทวดาต่างก็ช่วยกันอารักขา อำนวยความสะดวก แม้แต่ตัวเราก็ยังไปอารักขาบุตรของเราที่ซุ้มประตู บัณฑิตทั้งหลายเห็นคนชักน้ำไปจากเหมือง ก็ถือเป็นเหตุทำให้เป็นอารมณ์ฝึกตนแล้วยึดพระอรหัตไว้ได้ และตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต คนทั้งหลายช่วยกันขุดดินบนที่ดอนทำเป็นเหมือง (มาติกะ-เหมือง = อ่างเก็บน้ำ) ปรับแต่งพื้นที่ให้มั่นคงแข็งแรง (รองรับน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา อธิบายอย่างนี้ ก็น่า จะหมายถึงอ่างเก็บน้ำได้) จากนั้นก็มีการวางลำรางไม้ (ใช้ไม้ไผ่ต่อๆ กันเป็นรางส่งน้ำ) นำน้ำไป ยังพื้นที่ๆ ต้องการ, บัณฑิตทั้งหลายเห็นช่างศรดัดศรให้ตรงได้ เป็นต้น ก็น้อมนํามาเป็นเหตุ ในการฝึกตน, เมื่อบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็จัดเป็นการฝึกโดยสมบูรณ์ (ดู ธ.อ.๒/๒๖๒-๒๘๑)
คติธรรมความรู้ เด็กอายุ ๗ ขวบที่บารมีเพียบพร้อม ฟังและปฏิบัติวิปัสสนาได้ถูกต้องก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ มีอยู่จำนวนหลายคน เช่น สามเณรบัณฑิต สามเณรเรวตะ สามเณรจุนทะ สุขสามเณร สามเณรีวีราและเด็กหญิงวิสาขะ เป็นต้น