คืนบรรลุอรหันต์หลวงปู่มั่น เมื่อประตูพระนิพพานเปิดออก

คืนบรรลุอรหันต์หลวงปู่มั่น เมื่อประตูพระนิพพานเปิดออก

คำสอนพระอริยเจ้า

หนังสือประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ, หนังสือรำลึกวันวานฯ

เล่าเรื่อง คืนบรรลุอรหันต์ "หลวงปู่มั่น" เมื่อประตูพระนิพพานเปิดออก จากบันทึก "หลวงตาทองคำ" และ "หลวงตามหาบัว"

อย่าว่าแต่คนธรรมดาอย่างเราเลย ขนาดพระสงฆ์ผู้มีภูมิธรรมสูงอย่างหลวงตามหาบัวซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่ได้รับฟังเรื่องราวจากหลวงปู่มั่นด้วยตัวท่านเองก็ยังถึงกับกล่าวว่า ประสบการณ์การเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมะของหลวงปู่มั่นนั้นเป็นความอัศจรรย์อย่างถึงขีดสุด ประดุจการเปิดออกของประตูพระนิพพานอันยิ่งใหญ่ ให้ผู้ไม่เคยรู้ไม่เคยเห็นต้องประสบกับความความตะลึงงัน

“ท่านเล่าถึงความเพียรตอนนี้ ผู้ฟังทั้งหลายต่างนั่งตัวแข็งเหมือนไม่มีลมหายใจไปตามๆ กัน เพราะเกิดความอัศจรรย์ในธรรมของท่านอย่างสุดขีด เหมือนท่านเปิดประตูพระนิพพานออกให้ดูทั้งที่ไม่เคยรู้ว่าพระนิพพานเป็นเช่นไรเลย

แม้องค์ท่านเองก็ปรากฏว่ากำลังเร่งฝีเท้าคือความเพียรเพื่อบรรลุพระนิพพานอย่างรีบด่วนอยู่เช่นกันในขณะนั้น หากแต่ธรรมที่ท่านเล่าเพียงขั้นกำลังดำเนินนั้นเป็นธรรมที่ผู้ไม่เคยได้ยินมาก่อนจะทรงตัวอยู่ไม่ได้ จำต้องไหวตามด้วยความอัศจรรย์”

เหตุการณ์ “บรรลุธรรมครั้งสุดท้าย” ของหลวงปู่มั่นอันนำไปสู่ความเป็น “พระอรหันต์” นั้น หลวงตามหาบัวมิได้ระบุชัดเจนว่าเป็นสถานที่ใด เพียงแต่กล่าวอย่างกว้างๆ ว่าเป็นช่วงเวลาหลังจากที่หลวงปู่มั่นเดินทางไปบำเพ็ญเพียรที่เชียงใหม่แล้ว

ขณะที่หลวงตาทองคำเล่าว่า การบรรลุอรหันต์ของหลวงปู่มั่นเกิดขึ้น ณ ถ้ำไผ่ขวาง (หรือถ้ำสิงโต) เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี

แต่กระนั้น คำบอกเล่าถึง “ลำดับขั้นแห่งจิต” ก่อนการหลุดพ้น ในเรื่องที่หลวงปู่มั่นได้เพ่งพินิจพิจารณาธรรมะที่เรียกว่า “ปัจจยาการ” ตามที่ทั้งสองท่านได้ทรงจำมาจากหลวงปู่มั่นนั้น กลับมีความสอดคล้องกันอย่างยิ่ง

ในสำนวนของหลวงตามหาบัวกล่าวว่า

“นับแต่ตอนเย็นไปตลอดจนถึงยามดึกสงัดของคืนวันนั้น ท่านว่าใจมีความสัมผัสรับรู้อยู่กับ ‘ปัจจยาการ’ คือ ‘อวิชชา ปัจจยา สังขารา’ เป็นต้น เพียงอย่างเดียว ทั้งเวลาเดินจงกรมตอนหัวค่ำ ทั้งเวลานั่งเข้าที่ภาวนา จึงทำให้ท่านสนใจพิจารณาในจุดนั้นโดยมิได้สนใจกับหมวดธรรมอื่นใด ตั้งหน้าพิจารณาอวิชชาอย่างเดียวแต่แรกเริ่มนั่งสมาธิภาวนา โดยอนุโลมปฏิโลมกลับไปมาอยู่ภายในอันเป็นที่รวมแห่งภพชาติ กิเลสตัณหา มีอวิชชาเป็นตัวการ

ประมาณเวลาราวตี ๓ ผลปรากฏว่า ฝ่ายกษัตริย์วัฏจักรถูกสังหาร ทำลายบัลลังก์ลงอย่างพินาศขาดสูญ ปราศจากการต่อสู้และหลบหลีกใดๆ ทั้งสิ้น

กษัตริย์อวิชชาดับ ชาติภพขาดลงไปแล้ว เพราะอาวุธสายฟ้าอันสง่าแหลมคมของท่านสังหาร”

 

ขณะที่สำนวนของหลวงตาทองคำกล่าวว่า

“ในปัจฉิมยาม คือยามภายหลังแห่งค่ำคืนวันนั้น พอจิตพักได้กำลังแล้วก็ถอยออกมาสู่ปฐมฌานอันเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาญาณ จิตก็พิจารณา ‘ปัจจยาการ’ คือ อาการของปัจจัย เกิดมีคำใหม่เพิ่มขึ้นอีกว่า ฐิติภูตัง อวิชชา ปัจจยา สังขารา สังขารา ปัจจยา ฯลฯ จนถึงโทมนัสสะ อุปายาสา สัมภวันติ

ได้ความว่า ‘ฐิติภูตัง’ คือ จิตดวงเดิมของสรรพสัตว์ทั้งมวลที่ยังมิได้อบรมศีล สมาธิ ปัญญา ตามแนวทางแห่งพระสัพพัญญุตญาณนั้น ก่อให้เกิดอวิชชา

ท่านพระอาจารย์ว่า เมื่อจิตได้อริยมรรคญาณแล้ว จิตดวงเดิมคือฐิติภูตังเป็นฐิติญาณ เป็นเครื่องตัดขาดจากอวิชชา เมื่ออวิชชาดับ สังขารก็ดับ สังขารดับ วิญญาณก็ดับ ฯลฯ ตลอดจนถึงตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสะ ก็ดับหมด

พอมาถึงตอนนี้ จิตก็วางการพิจารณา แล้วจิตก็รวมใหญ่ รวมคราวนี้จิตไม่พักเหมือนข้างต้น เกิดมีญาณตัดสินขึ้นมาว่า

ภพเบื้องหน้าเราไม่มีแล้ว พรหมจรรย์เราได้อยู่จบแล้ว กิจอันเราควรทำ เราได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ควรทำไม่มีอีกแล้วญาณชนิดนี้เรียกว่า ‘อาสวักขยญาณ’ คือ ความรู้ในความสิ้นไปแห่งอาสวะ พร้อมกับอวิชชาก็หายไป ไม่ก่อนไม่หลังตะวันขึ้นมาและเดือนก็ตกไป รวมความว่า ญาณเกิดขึ้น อวิชชาหายไป”

 

รายละเอียดเกี่ยวกับความเป็นไปของจิตก่อนการหยั่งถึงสภาวะแห่งพระนิพพานของหลวงปู่มั่นนอกจากจะมีความแตกต่างกันในเรื่องของช่วงเวลาและสถานที่แล้ว เหตุการณ์ก่อนและหลังการบรรลุอรหันต์ของท่านตามที่หลวงตามหาบัวและหลวงตาทองคำได้นำมาบอกเล่าก็ยังมีความแตกต่างที่น่าสนใจอยู่ด้วยเช่นกัน

ประการแรก เหตุการณ์ก่อนการบรรลุอรหันต์ในส่วนที่เป็นความทรงจำของหลวงตาทองคำนั้น ท่านได้กล่าวถึงการที่หลวงปู่มั่นเกิดความรู้เห็นในชาติภพที่เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” ความตอนนี้มีว่า

“ท่านว่า จิตถอนออกมาอีก คราวนี้เวทนา วิตก จางลงไปมาก แต่ยังไม่หมด ท่านกำหนดพิจารณาอีก จิตก็รวมลงไป ปรากฏว่าฝนตกน้ำนอง ชุ่มชื่นขึ้นมา มีกำลังปีติซาบซ่านไปทั่ว มีความสุข และจิตเข้าถึงเอกัคคตาญาณ

เกิดความรู้ชนิดหนึ่งขึ้นมา คือ รู้เห็นชาติภพในกาลก่อน ที่เรียกว่า ‘ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ’ เป็นตัววิปัสสนาญาณขึ้นมาว่า ปัจจุบันเราเป็นอย่างนี้ ในอดีตชาติเราเกิดอยู่บ้านเมืองนั้น ประเทศนั้น มีอาหารอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีสุขอย่างนั้น มีทุกข์อย่างนั้น เป็นลำดับไป จนถึงครั้งเป็นเสนาบดี นั่งฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าเฉพาะพระพักตร์... เป็นเวลาผ่านมาประมาณ ๔๐๐ - ๕๐๐ ชาติ”

นอกจากเรื่องการระลึกชาติของหลวงปู่มั่นในช่วงก่อนการบรรลุอรหันต์ตามที่หลวงตาทองคำได้เล่าไว้จะไม่ปรากฏอยู่ในสำนวนเล่าของหลวงตามหาบัวแล้ว (หลวงตามหาบัวพูดถึงการรู้อดีตชาติของหลวงปู่มั่นว่าท่านเล่าไว้ในที่อื่น แต่มิได้กล่าวไว้ในช่วงของการบรรลุธรรม) ก็ยังปรากฏว่า หลวงตาทองคำได้กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า บางครั้งหลวงปู่มั่นได้บอกเล่าถึงกำเนิดในชาติภพก่อน รวมทั้งบุคคลที่เกี่ยวข้องผูกพันกันมาอีกด้วย

อาทิ ชาติหนึ่งหลวงปู่มั่นเกิดในตระกูลขายผ้าขาว ณ มณฑลยูนนาน มีน้องสาวคนหนึ่งซึ่งเคยช่วยเหลือกันมา ซึ่งในชาตินี้ น้องสาวคนนั้นได้มาเกิดเป็นนางนุ่ม ชุวานนท์ อุบาสิกาชาวสกลนครผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาสให้

อีกชาติหนึ่ง ท่านเกิดในตระกูลช่างทำเสื่อลำแพน ณ โยนกประเทศ ซึ่งอยู่บริเวณเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า โดยมีพระอาจารย์เสาร์เป็นนายช่างใหญ่ หลวงปู่มั่นเป็นผู้จัดการ ส่วนพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นคนเดินตลาด

อีกชาติหนึ่ง หลวงปู่มั่นเกิดที่ลังกาทวีป (ประเทศศรีลังกา) ท่านบวชเป็นพระและได้เข้าร่วมการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๔ พร้อมกับพระภิกษุจำนวนนับหมื่น และยังได้พักอยู่ในเสนาสนะเดียวกับพระรูปหนึ่งซึ่งเป็นมิตรสหายกันมาจวบจนชาติปัจจุบัน คือ ท่านวิริยังค์ สิรินธโร

และอีกชาติหนึ่ง ท่านเกิดเป็นเสนาบดีที่แคว้นกุรุรัฐ ชมพูทวีป โดยเป็นน้องชายของพระปทุมราชา ผู้ปกครองแคว้น ซึ่งในชาตินี้ก็คือเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) ในชาติเดียวกันนี้ ท่านยังมีหลานชายหัวดื้อคนหนึ่งซึ่งพี่ชายมอบให้ท่านดูแล ซึ่งในชาตินี้ก็คือ “หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี” นั่นเอง ที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งก็คือ ท่านยังได้ฟังธรรมเฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาขอเป็นพระพุทธเจ้าอีกด้วย

จะอย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลวงตาทองคำจะเล่าถึงเหตุการณ์ที่หลวงปู่มั่นเกิดความรู้ที่เรียกว่า “ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ” ในช่วงก่อนการบรรลุอรหันต์ ซึ่งไม่ปรากฏในสำนวนเล่าของหลวงตามหาบัว แต่ก็ดูเหมือนว่าในสำนวนเล่าของหลวงตาทองคำจะกล่าวถึงเหตุการณ์หลังจากที่หลวงปู่มั่นบรรลุอรหันต์ไว้ค่อนข้างสั้นและกระชับ

“พอผ่านไป ๔ วัน โยมอุปัฏฐากพร้อมทั้งบุตรสาวนำภัตตาหารมาถวาย พูดวิงวอนว่า ‘พระคุณเจ้าอดมาหลายวันแล้ว จะหิว จะลำบาก ขอนิมนต์ฉันเจ้าข้า’ ท่านก็ลองฉัน พอฉันเสร็จ โยมกลับไป มาพิจารณาก็เกิดไม่คล่องแคล่ว อืดอาด แต่ทำได้อยู่ นี้มันอะไร เพราะเสียสัจจะ ท่านเลยงดฉันภัตตาหารต่ออีก ๓ วัน ครบแล้วจึงฉัน ก็คล่องแคล่วอีก ทุกอย่างก็ละเอียดอ่อนไปหมด นี่คือมรรคผลคุณวิเศษในพระพุทธศาสนานี้”

ในขณะที่หลวงตาทองคำเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่หลวงปู่มั่นบรรลุอรหันต์ไว้อย่างสั้นและกระชับ สำนวนเล่าของหลวงตามหาบัวได้ให้รายละเอียดมากมายเกี่ยวกับ “สภาวะจิต” ของหลวงปู่มั่นในช่วงที่กำลังจะข้ามพ้นไปสู่ภูมิแห่ง “โลกุตตระ” รวมทั้งเหตุการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมาหลังจากค่ำคืนแห่งการรู้แจ้ง

เรื่องการตั้งจิตปรารถนาใน “พุทธภูมิ” ของหลวงปู่มั่นนี้ หลวงตามหาบัวเล่าว่า มาในชาติสุดท้าย หลวงปู่มั่นได้เปลี่ยนความปรารถนาเสียใหม่ให้กลายเป็น “สาวกภูมิ” ในช่วงที่ออกธุดงค์ร่วมกับหลวงปู่เสาร์ เพราะพิจารณาเห็นว่า กว่าจะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้านั้นต้องท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดอีกหลายกัปหลายกัลป์ ซึ่งจะยิ่งทำให้ความหลุดพ้นล่าช้าออกไป.

“ท่านพระอาจารย์มั่นมีนิสัยผาดโผนมาดั้งเดิมนับแต่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ แม้ขณะจิตจะเข้าถึงจุดอันเป็นวาระสุดท้ายก็ยังแสดงลวดลายให้องค์ท่านเองระลึกอยู่ไม่ลืม ถึงกับได้นำมาเล่าให้บรรดาลูกศิษย์ฟังพอเป็นขวัญใจ คือ พอจิตพลิกคว่ำวัฏจักรออกจากใจโดยสิ้นเชิงแล้ว ยังแสดงขณะเป็นลักษณะฉวัดเฉวียนเวียนรอบตัว วิวัฏฏจิตถึงสามรอบ

  1. รอบที่หนึ่งสิ้นสุดลง แสดงบทบาลีขึ้นมาว่า ‘โลโป’ บอกความหมายขึ้นมาพร้อมว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือการลบสมมุติทั้งสิ้นออกจากใจ
  2. รอบที่สองสิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า ‘วิมุตติ’ บอกความหมายว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือความหลุดพ้นอย่างตายตัว
  3. รอบที่สามสิ้นสุดลง แสดงคำบาลีขึ้นมาว่า ‘อนาลโย’ บอกความหมายขึ้นมาว่า ขณะใหญ่ของจิตที่ทำหน้าที่สิ้นสุดลงนั้นคือการตัดความอาลัยอาวรณ์โดยสิ้นเชิง

 

นี่คือธรรมที่แสดงในจิตท่านขณะแสดงลวดลายเป็นขณะสามรอบจบลง อันเป็นวาระสุดท้ายแห่งสมมุติกับวิมุตติทำหน้าที่ต่อกัน และแยกทางกันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

 

เมื่อหลวงปู่มั่นทำลายสังสารวัฏลงได้อย่างเด็ดขาดแล้ว ท่านก็ยังเล่าต่อไปอีกว่า ขณะนั้นเหมือนโลกธาตุทั้งมวลบังเกิดความเลื่อนลั่นหวั่นไหว

เทวบุตรและเทวธิดาทั่วทั้งหมดนั้นต่างก็ประกาศก้องสาธุการ เสียงสะเทือนสะท้านไปทั่วทั้งจักรวาล ทั้งในคืนนั้นและคืนถัดมา เหล่าเทพทั้งหลายต่างก็มาปรากฏกายเพื่อขอเยี่ยมคารวะและฟังธรรมเทศนา

“ในคืนวันนั้น ชาวเทพทั้งหลายทั้งเบื้องบนชั้นต่างๆ ทั้งเบื้องล่างทุกสารทิศทุกทาง หลังจากพร้อมกันให้สาธุการประสานเสียงสำเนียงไพเราะเสนาะโสตจนสะเทือนโลกธาตุเพื่อประกาศอนุโมทนากับท่านแล้ว ยังพร้อมกันมาเยี่ยมฟังธรรมจากท่านอีกวาระหนึ่ง แต่ท่านไม่มีเวลารับแขก เพราะภารกิจเกี่ยวกับธรรมขั้นสูงสุดยังไม่ยุติลงเป็นปกติ

ในคืนต่อมา ชาวเทพทั้งหลายที่มีความหิวกระหายในธรรมได้พากันมาเยี่ยมท่านเป็นพวกๆ ทั้งเบื้องบนเบื้องล่างแทบทุกทิศทาง

ต่างพวกก็มาเล่าความอัศจรรย์แห่งรัศมีและอานุภาพแห่งธรรมของคืนวันนั้นให้ท่านฟังว่า เหมือนสวรรค์วิมาน พิภพ ครุฑ นาค เทวดา อินทร์ พรหม ยม ยักษ์ ทุกชั้นภูมิในแดนโลกธาตุสะเทือนสะท้านหวั่นไหวไปตามๆ กัน พร้อมกับความอัศจรรย์ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนส่งแสงสว่างไปทั่วแดนโลกธาตุ ไม่มีอะไรปิดบัง เพราะความสว่างไสวแห่งธรรมที่พุ่งออกมาจากกายจากใจของพระคุณเจ้ายิ่งกว่าความสว่างของดวงอาทิตย์ร้อยดวงพันดวงเป็นไหนๆ”

หลังจากเหตุการณ์ที่เทพทั้งหลายแวะเวียนกันเข้ามาเปล่งสาธุการและขอฟังธรรมเทศนาจากหลวงปู่มั่นแล้ว หลวงตามหาบัวก็ยังเล่าถึงอีกเหตุการณ์หนึ่งเป็นกรณีพิเศษด้วย เหตุการณ์ที่ว่านี้ก็คือ ผู้ที่เป็น “คู่บารมี” ของหลวงปู่มั่นทุกภพทุกชาติได้เดินทางมาพบท่านหลังจากที่บรรลุธรรมแล้ว

หลวงปู่มั่นเล่าให้หลวงตามหาบัวฟังถึง “คู่บารมี” ท่านนี้ว่า ตั้งแต่สมัยที่ภูมิธรรมของท่านยังไม่ถึงระดับพระอรหันต์ “คู่บารมี” นี้ได้แวะมาเยี่ยมท่านทางสมาธิภาวนาเสมอ แต่ก็มาในรูปของ “ดวงวิญญาณ” ไม่ปรากฏร่างกายให้เห็นเหมือนกับที่ภพภูมิอื่นๆ เขาเป็นกัน

เมื่อหลวงปู่มั่นถาม ดวงวิญญาณนั้นก็ตอบว่า ที่ยังไม่ได้ไปเกิดในภพภูมิที่เป็นหลักแหล่ง เช่น โลกมนุษย์หรือแดนสวรรค์ แต่ยังคงวนเวียนอยู่ใน “ภพย่อย” ที่ละเอียดภพหนึ่งในระหว่างภพทั้งหลาย ก็เพราะว่ายังเป็นห่วงและอาลัยในตัวหลวงปู่มั่นอยู่

อีกทั้งยังกลัวว่าท่านจะหลงลืมความสัมพันธ์แต่หนหลังและความปรารถนา “พุทธภูมิ” ที่เคยตั้งไว้ร่วมกัน ประหนึ่งเป็น “คำสัญญา” ที่เคยมีต่อกันมานานแสนนานในสังสารวัฏอันไกลโพ้นนี้ (ซึ่งหลวงปู่มั่นก็บอกว่า บัดนี้ท่านได้ของดความปรารถนาในพุทธภูมิแล้ว และขอมุ่งมั่นปฏิบัติตนเพื่อพ้นทุกข์ให้ได้ในชาตินี้)

หลวงปู่มั่นเล่าว่า ยามใดที่ดวงวิญญาณนี้มาพบ ท่านก็แสดงธรรมให้พอสมควร แล้วก็สั่งให้กลับไป และยังบอกอีกว่าอย่ามาบ่อย แม้ว่าไม่อยู่ในวิสัยที่จะสร้างความเสียหายต่อกันได้แล้ว แต่ก็อาจเป็นเหตุให้การปฏิบัติล่าช้าได้ ซึ่งในครั้งสุดท้ายที่ดวงวิญญาณนี้มาพบเกิดขึ้นหลังจากที่หลวงปู่มั่นบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์แล้วนั่นเอง

ดวงวิญญาณกล่าวกับหลวงปู่มั่นในวันนั้นว่า ในคืนที่ท่านตัดขาดภพชาติและทุกข์ทั้งปวงจนรู้กันไปทั่วทุกแห่งหนในโลกธาตุ แต่แทนที่จะชื่นชมยินดีและ อนุโมทนาสาธุการ ตนกลับรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจว่าท่านทิ้งตนโดยไม่เหลียวแล

หลวงปู่มั่นจึงสนทนาโต้ตอบกับดวงวิญญาณนั้นด้วยความเมตตา กระทั่งดวงวิญญาณเกิดความเข้าใจจนสามารถสลัดตนให้หลุดจากความห่วงหาอาลัย และลาจากไปในที่สุด

หลังจากนั้นไม่นาน ดวงวิญญาณนั้นได้กลับมาพบหลวงปู่มั่นอีกครั้ง แต่คราวนี้เป็นการกลับมาในร่างของเทวดาผู้งามสง่าที่มาพร้อมกับความสำนึกซาบซึ้งในพระคุณของหลวงปู่มั่นว่า เหตุที่ตนได้เสวยสุขอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นล้วนเป็นผลมาจากการที่หลวงปู่มั่นมักจะชักชวนให้สร้างบุญสร้างกุศลตลอดระยะเวลาที่ได้ครองคู่อยู่ร่วมภพชาติกันนั่นเอง

ก่อนเล่าเรื่องนี้ หลวงตามหาบัวกล่าวว่า แม้จะเป็นเรื่องภายในที่ “อาจารย์” กับ “ลูกศิษย์” บอกกล่าวต่อกันเป็นการส่วนตัว แต่หลวงตามหาบัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการบรรลุธรรมของหลวงปู่มั่นด้วย ถ้าข้ามไปก็อาจทำให้ขาดเรื่องที่จะเป็นข้อคิดแก่ผู้อ่าน.


พิมพ์