พระกุณฑลเกลีเถรี : อดีตสตรีผู้หลงรักโจร

พระกุณฑลเกลีเถรี : อดีตสตรีผู้หลงรักโจร

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

โย จ คาถา สตํ ภาเส อนตฺถปทสญฺหิตา เอก ธมมปท์ เสยุโย ย์ สุตวา อุปสมมติ

ผู้ใดพึงกล่าวคาถาตั้งร้อย แต่ไม่ประกอบด้วยเนื้อความที่เป็นประโยชน์ เทียบกันไม่ได้กับบทธรรมบทเดียว ที่ฟังแล้วสงบระงับกิเลสได้

โย สหสฺสํ สหสฺเสน สงฺคาเม มานุเส ชิเน เอกญฺจ เชยฺยมตฺตานํ ส เว สงฺคามชุตฺตโม.

ผู้ใดพึงชนะข้าศึกจํานวนพันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่งในสงคราม ผู้นั้นไม่ชื่อว่า ผู้ชนะที่ยอดเยี่ยม ส่วนผู้ใดชนะตนเองได้ ผู้นั้นแลเป็นผู้ชนะสูงสุดในสงคราม


ธิดาเศรษฐีหลงรักนักโทษประหาร ช่วยมาได้แล้วจะถูกฆ่าเอง....ฆ่าโจรแล้วออกบวชเป็นพระอรหันต์

ลูกสาวเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีอายุ ๑๖ ปี เป็นวัยที่กําลังมีความฝักใฝ่และโลเลในบุรุษ มารดาบิดาจึงให้อยู่บนปราสาท ๗ ชั้น วันหนึ่ง นางได้ยินเสียงอื้ออึงที่ถนนข้างล่าง มองลงไปก็พบว่า ทางการกําลังนำตัวโจรไปสู่ที่ฆ่า นางเห็นโจรแล้วเกิดจิตปฏิพัทธ์ ต้องการได้โจรมาเป็นสามี จึงบอกแก่มารดาถึงความปรารถนา แม้บิดามารดาจะห้ามปราม นางก็ไม่ยอมลดละ ข่มขู่ว่าถ้าไม่ได้ก็จะตาย บิดานําทรัพย์ไปติดสินบน พวกราชบุรุษจึงประหารชายคนอื่นแทน... โจรเข้ามาอยู่ในปราสาทในฐานะสามีแล้ว เธอก็พยายามเอาใจสามีเป็นอย่างดี แต่สามีมีสันดานโจร คิดว่าสักวันเราจะฆ่านางคนนี้แล้วเอาเครื่องประดับไปขาย นําเงินไปกินสุราให้สบาย

วันหนึ่ง เขาโกหกภรรยาว่า ฉันบนบานเทวดาขอให้ท่านช่วยจากแดนประหาร พรุ่งนี้เราไปทําพลีแก่เทวดากัน แล้วบอกให้นางสั่งแม่ครัวหุงข้าวปายาสและจัดดอกไม้ มีข้าวตอกเป็นอย่างที่ ๕, ขอให้เธอแต่งตัวใส่เครื่องประดับแพงๆ ไป ทําพลีกรรมแล้วเราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข, นางหลงเชื่อ...วันรุ่งขึ้น โจรถือเครื่องทําพลีกรรมเอง ให้นางเดินตามขึ้นไปบนภูเขาที่ทางการใช้ทิ้งศพโจร, ถึงยอดเขาแล้วเขากล่าวว่า ฉันไม่ได้มาทําพลีกรรมหรอก ฉันหลอกเธอมาฆ่า ฉัน ต้องการเครื่องประดับของเธอ นางวิงวอนว่า เราเป็นสามีภรรยากัน ของๆ ฉันก็ย่อมเป็นของๆ ท่านอยู่แล้ว ฉันยินดีให้สิ่งของมีค่าเหล่านี้ทั้งหมด จงปล่อยฉันไปเถิด...เมื่อเห็นว่าเขาไม่เปลี่ยนใจ นางก็เกิดปัญญาเห็นทางเอาตัวรอดได้ จึงขอมองหน้าและทําความเคารพสามีเป็นครั้งสุดท้าย เขาอนุญาตนางจึงมองหน้าเขาแล้วทําประทักษิณ ๓ รอบ ยืนในทิศทั้ง ๔ แล้วไหว้ พลางรำพัน ว่านี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย แล้วเข้าสวมกอดด้านหลัง แล้วผลักโจรสุดแรง ร่างของโจรร่วงหล่นลง ปะทะกับหินก้นเหวแหลกเละ...นางไม่กลับบ้านเพราะคิดว่า พูดความจริงไปใครๆ ก็ไม่เชื่อ เพราะเราจ่ายทรัพย์ไปให้ได้สามีคนนี้มา แล้วเขาจะมาคิดฆ่าเมียเพื่อชิงทรัพย์?...

นางบวชเป็น ปริพาชิกา ถามพวกอาจารย์ว่าสอนอะไรบ้าง? พวกเขาตอบว่า มีการเจริญ กสิณ ๑๐ ทําฌานให้เกิด...นางเลือกเรียน ๑,๐๐๐ วาทะ (เรียนการโต้ตอบคําถาม) เรียนจบก็ตระเวนท้าทายคนให้มาโต้วาทะ โดยการปัก กิ่งไม้หว้า (ชมฺพุสาขํ) เป็นสัญลักษณ์ นางจึงได้ชื่อว่า ชัมพุปริพาชิกา... นางโต้วาทะไม่แพ้ใครเลย จนกระทั่งมาถึงกรุงสาวัตถีและพ่ายแพ้ พระสารีบุตร ท่านแนะนําให้บวชในสํานักภิกษุณี, บรรพชาอุปสมบทแล้วมีชื่อว่า “กุณฑลเกสี” (อรรถกถา ธรรมบทว่าบวชเป็นปริพาชิกา แต่ อรรถกถาอังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ระบุว่าบวชกับ พวกนิครนถ์ พวกเขาใช้ก้านตาลถอนผมนางออกแล้วให้บวช เมื่อผมงอกใหม่ก็มีลักษณะเป็นวงกลมคล้ายตุ้มหู นางจึงได้ชื่อว่า กุณฑลเกสา (ผู้มีผมเหมือนแหวน) หรือกุณฑลเถรี, ดู องฺ.อ.๑/๒/๓๗-๓๙ จากคําอธิบาย “ชื่อ” นางจึงน่าจะบวชและเรียนวาทะกับพวกนิครนถ์ เหมือนที่ สัจจกนิครนถ์บุตรเรียน นั่นแหละ) บวชแล้วเพียรอยู่ ๒-๓ วัน ก็บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔, ภิกษุทั้งหลาย สนทนากันในธรรมสภาว่า ท่านกุณฑลเกสีเถรีฟังธรรมไม่มากแต่ถึงที่สุดกิจของบรรพชิตแล้ว ได้ยินว่า นางทํามหาสงครามชนะโจรคนหนึ่งด้วย...พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จงอย่านับธรรมที่เราแสดงว่า มากหรือน้อย (ทรงแสดงธรรมแก่นาง ๑ คาถา, ดู ขุ.ธ.ข้อ ๑๘) ถ้ากล่าว ๑๐๐ บท แต่ไม่มีประโยชน์ ก็ไม่ประเสริฐ, กล่าวบทที่มีประโยชน์บทเดียวประเสริฐกว่า, การชนะโจรคือกิเลสภายในจึงเป็น ผู้ชนะ การชนะโจรที่เหลือนอกจากนี้ไม่เรียกว่าชัยชนะ” แล้วตรัสภาษิตนี้

อธิบายพุทธภาษิต : บทธรรม (ธมฺมปทํ) ที่ให้สําเร็จประโยชน์ เช่น ขันธ์ ๕ หรือ บทแห่งธรรม คือ อนภิชฌา อพยาบาท สัมมาสติ สัมมาสมาธิ แม้เพียงบทเดียวย่อมประเสริฐกว่า (๑,๐๐๐ คาถาที่ไม่มีประโยชน์) ผู้ใดพิจารณากรรมฐานในภายใน (จิต) เอาชนะกิเลสของตนเองได้ ผู้นั้นเป็นยอด คือประเสริฐกว่าผู้นํากองทัพชนะในศึกสงคราม (ดู ธ.อ.๒/๓๑๐-๓๖๘)

จํานวนพันหนึ่งคูณด้วยพันหนึ่ง คือ ๑,๐๐๐ X ๑,๐๐๐ = ๑,๐๐๐,๐๐๐ (หนึ่งล้าน) อนึ่ง อรรถกถาเอตทัคคะกล่าวว่า ก่อนที่พระภัททากุณฑลเกสาเถรีจะบรรลุพระอรหัตนั้น พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่ท่าน ๑ คาถา คือ คาถาข้อที่ ๑๐๑ (ดูเรื่องพระพาหิยทารุจีริยเถระ เรื่องที่ ๘๒) ดู อง.อ.๑/๒/๓๙

คติธรรมความรู้ น ตํ ชิตํ สาธุ ชิตํ ยํ ชิตํ อวชิยฺยติ ตํ โข ชิตํ สาธุ ชิต ยํ ชิตํ นาวชิยฺยติ

ความชนะใดที่กลับเป็นแพ้ได้ ความชนะนั้นไม่ดี ชัยชนะใดที่ชนะแล้วไม่กลับเป็นแพ้อีก ชัยชนะนั้นเป็นชัยชนะอันยอดเยี่ยม


พิมพ์