พระมหากัจจายนเถระ : ผู้เป็นที่รักของเทวดา

พระมหากัจจายนเถระ : ผู้เป็นที่รักของเทวดา

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

ยสฺสินฺทริยานิ สมถงฺคตานิ อสฺสา ยถา สารถินา สุทนฺตา ปหีนมานสฺส อนาสวสฺส เทวาปิ ตสฺส ปิหยนฺติ ตาทิโน

อินทรีย์ทั้งหลายของผู้ใดถึงความสงบแล้ว ก็เป็นเหมือนม้าที่นายสารถีฝึก ดีแล้ว ฉะนั้น เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายย่อมรักใคร่ผู้นั้น ผู้ละความถือตัวได้ ไม่มีอาสวะ ดํารงอยู่ในภาวะคงที่


พระมหากัจจายนะอยู่ไกลถึงแคว้นอวันตี แต่มาฟังธรรมที่พระเชตวัน กรุงสาวัตถี แคว้นโกศลบ่อยๆ

ครั้งหนึ่ง เป็นวันมหาปวารณา พระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ใน ปราสาทของมิคารมาตา (= วัดบุพพารามที่นางวิสาขาสร้าง) มีพระสาวกหมู่ใหญ่นั่งแวดล้อมเพื่อฟังธรรม โดยเว้นที่นั่งที่หนึ่ง ไว้ให้พระมหากัจจายนเถระผู้อยู่ในแคว้นอวันตี (แต่ก็มาฟังธรรมจากพระศาสดาเป็นนิตย์ จนเป็นที่รู้กันในหมู่ภิกษุ, โดยท่านจะมาด้วยกําลังฤทธิ์) ท่านมาจากแดนไกล เพราะท่านชื่นชอบการ ฟังธรรม, แม้ ท้าวสักกเทวราช ก็นำหมู่เทวดามาจากเทวโลก ทรงบูชาพระศาสดาด้วยของหอม และดอกไม้ทิพย์ เป็นต้น แล้วประทับยืนอยู่ ทอดพระเนตรมองไปไม่เห็นพระมหากัจจายนะจึง ทรงคิดว่า “ทําไมพระผู้เป็นเจ้าของเราจึงไม่มาหนอ ถ้าท่านมาก็จะเป็นการดีมาก” สักครู่หนึ่ง พระมหากัจจายนะ ก็มาถึง นั่งลงบนที่นั่งว่างนั้น ท้าวสักกะเห็นแล้วตรงเข้าไปจับข้อเท้าทั้งสอง แล้วตรัสว่า “ข้าพเจ้ากําลังรอคอยการมาของพระผู้เป็นเจ้าอยู่ที่เดียว” แล้วทรงนวดเท้าทั้งสอง ข้างให้ และบูชาด้วยของหอมและดอกไม้ ทรงไหว้แล้วเสด็จกลับไปประทับยืนอยู่ที่เดิม

ภิกษุทั้งหลายเห็นการกระทําของท้าวสักกะแล้วเพ่งโทษว่า “ท้าวสักกะเห็นแก่หน้าพระมหากัจจายนะ จึงเข้าไปทําสักการะ เหตุใดจึงไม่ทําแก่พระมหาสาวกท่านอื่นๆ บ้างเล่า” พระศาสดาทรงสดับถ้อยคําของภิกษุเหล่านั้นแล้วตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้คุ้มครองช่องทางอินทรีย์ทั้งหลาย (อินฺทุริเยสุ คุตฺตทวารา, เช่น จักขุนทรีย์ – ความเป็นใหญ่ในการเห็นรูป) เหมือน กับมหากัจจายนะผู้เป็นบุตรของเรา ก็ย่อมเป็นที่รักของเทวดาทั้งหลายแน่” แล้วตรัสภาษิตนี้

อธิบายพุทธภาษิต : อินทรีย์ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ของภิกษุใดถึงความสงบ คือ ถึงภาวะที่ฝึกแล้วจนหมดพยศร้าย (ไม่พยศด้วยอํานาจกิเลสแล้ว) ก็เป็นเหมือนม้าที่นายสารถี ฝึกดีแล้ว, ท่านละมานะ (ความถือตัว, ถือเราถือเขา) ทั้ง ๙ แล้ว, ไม่มีอาสวะ ๔ แล้ว ทั้งเทวดา และมนุษย์ก็ย่อมรักใคร่ (ปิหยนุติ - กระหยิ่ม, รักใคร่) ปรารถนาการเห็นและการมาของภิกษุ เช่นนั้น ผู้ตั้งอยู่ในภาวะของผู้คงที่แล้ว (ดู ธ.อ.๒/๓๑๖-๓๑๗) คือ ไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้มีความ ประพฤติดี-ชั่ว แล้ว

คติธรรมความรู้ : การเล่าเรียนธรรมวินัยของพระอรหันต์ เรียกว่า ภัณฑาคาริกปริยัติ (ปริยัติเปรียบด้วยขุนคลัง) ท่านเรียนเพื่อเป็นผู้ทรงแบบแผน รักษาประเพณี และอนุรักษ์วงศ์ (ม.อ.๑/๒/๓๐๕)


พิมพ์