พระสารีบุตรเถระ : ผู้ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

พระสารีบุตรเถระ : ผู้ไม่ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

อสฺสทฺโธ อกตญฺญู จ สนฺธิจฺเฉโท จ โย นโร หตาวกาโส วนฺตาโส ส เว อุตฺตมโปริโส.

นรชนใด ไม่ต้องเชื่อใคร รู้อกตัญญ (ไม่มีปัจจัยใดๆ กระทํา-นิพพาน) ด้วย, ตัดที่ต่อ (สังสาร) ด้วย, กําจัดโอกาส (แห่งความเกิด), คายความหวังแล้ว นรชนนั้นแล เป็นบุรุษผู้สูงสุด


พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของผู้ไม่ต้องเชื่อใครแล้ว โดยมีพระสารีบุตรเป็นแบบอย่าง

สมัยหนึ่งมีภิกษุผู้อยู่ป่าประมาณ ๓๐ รูป เดินทางมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเชตวัน ทรงพิจารณาเห็นแล้วว่าภิกษุกลุ่มนี้มีอุปนิสัยที่จะบรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔. ได้ด้วย วิธีสนทนากับพระสารีบุตร จึงตรัสเรียกพระสารีบุตรมาเข้าเฝ้าแล้วตรัสถามปัญหาปรารภถึง อินทรีย์ ๕ (สัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ ปัญญา) ว่า สารีบุตร เธอเชื่อหรือไม่ว่าสัทธินทรีย์ที่เจริญ แล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมหยั่งถึงอมตะ (พระนิพพาน) มีอมตะเป็นที่สุด...พระเถระทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า สําหรับคนที่ไม่รู้ ไม่สดับ ไม่เห็น ไม่ทราบ ไม่ทําให้แจ้ง ไม่ได้สัมผัส ด้วยปัญญา (ในการเจริญสัทธินทรีย์ เป็นต้น) เขาย่อมเชื่อคนอื่น พระพุทธเจ้าข้า, ภิกษุเหล่านั้น ฟังคําตอบแล้วกล่าวกันว่า “พระสารีบุตรเถระตอบชี้แจงแบบถือเอาความเห็นผิดๆ แม้จนถึงวันนี้ พระเถระก็ยังไม่เชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลยหรือ” พระศาสดาทรงสดับคํานั้นแล้วตรัสว่า ที่เราถามนั้น เราหมายถึง เธอเชื่อหรือไม่ว่า ผู้ที่ไม่ได้เจริญอินทรีย์ ๕ นี้ (ก็คือ) ไม่ได้เจริญสมถะและวิปัสสนาแล้วสามารถจะทําให้แจ้งมรรคและผลได้นั้นมีอยู่จริง? สารีบุตรก็ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เชื่อว่ามีอยู่, มิได้หมายความว่า สารีบุตรไม่เชื่อผลวิบากของทาน หรือว่าไม่เชื่อ (ผลของ) การกระทํา ที่กระทําแล้ว, ไม่ใช่สารีบุตรไม่เชื่อคุณของรัตนะ ๓ แต่สารีบุตรไม่เชื่อตามที่บุคคลอื่นบอกใน เรื่องฌาน วิปัสสนา มรรคและผล เพราะสารีบุตรถึงธรรมเหล่านั้นด้วยตนเองแล้ว จึงไม่ต้องเชื่อ ใครๆ) ดังนั้น สารีบุตรจึงไม่ควรถูกใครๆ ติเตียน, แล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดํารัส ภิกษุ ๓๐ รูปนั้นบรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔

อธิบายพุทธภาษิต : ไม่เชื่อ (อสฺสทฺโธ) คือ ไม่เชื่อคําของคนเหล่าอื่น เพราะตนได้รู้แจ้ง เองแล้ว, อกตัญญ (อันปัจจัยทําไม่ได้) หมายถึง รู้ว่าพระนิพพานเป็นธรรมที่อะไรๆ ก็กระทําไม่ได้ (ปรุงแต่งไม่ได้ เป็นอสังขตะ) ซึ่งตนได้ทําให้แจ้งแล้ว, ตัดที่ต่อ (สนฺธิจฺเฉโท) คือ ตัดวัฏฏะ (กิเลส, กรรม, วิบาก) ที่ต่อ คือ สังสาร, กําจัดโอกาสแล้ว (หตาวกาโส) ได้แก่ โอกาสของการบังเกิด เพราะกําจัดพืช คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรมสิ้นแล้ว, คายความหวังแล้ว ได้แก่ ไม่ต้องทํากิจเพื่อสําเร็จ มรรค ๔ อีก (โสดาปัตติมรรค เป็นต้น), เป็นบุรุษหรือบุคคลผู้สูงสุด เพราะรู้แจ้งโลกุตตรธรรม ๙ แล้ว (ดู ธ.อ.๒/๓๒๗-๓๒๘)

คติธรรมความรู้ : เมื่อได้รู้เห็นเองแล้ว ก็ไม่ต้องเชื่อเรื่องนั้นจากใครๆ อีก พระอรหันต์จึงเป็นผู้ที่พ้นความเชื่อ อยู่เหนือความเชื่อ


พิมพ์