ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
รมณียานิ อรญฺญานิ ยตฺถ น รมตี ชโน วีตราคา รเมสฺสนฺติ น เต กามคเวสิโน.
ป่าอันน่ารื่นรมย์ที่ชนทั่วไปไม่ยินดี กลับเป็นสถานที่ยินดีของท่านผู้ปราศจาก ราคะทั้งหลาย เพราะท่านเหล่านั้นมีปกติไม่แสวงหากาม
ภิกษุสลดใจที่ถูกหญิงโสเภณียั่ว พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้บรรลุพระอรหัต
ภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นปกติรูปหนึ่งเรียนกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วไปอยู่บำเพ็ญ สมณธรรมในอุทยานร้าง วันหนึ่งมีหญิงโสเภณีในพระนคร (สาวัตถี) คนหนึ่ง นัดกับชายคนหนึ่งไว้ ในอุทยานนี้ แต่ชายคนนั้นไม่มา นางนั่งรอคอยเขาอยู่ก็เกิดความกระสันขึ้นมา (อุกฺกณฐิตา - กระสัน ในที่นี้คือเกิดความต้องการทางเพศ) จึงเดินเข้าไปภายในก็พบภิกษุนั่งคู่บัลลังก์อยู่ คิดว่า “สมณะ นี้เป็นผู้ชาย เราจะทําจิตของสมณะให้ลุ่มหลงเรา” แล้วแก้ผ้านุ่งออกแล้วก็นุ่งอีก สยายผมแล้วเกล้า ปรบมือและหัวเราะ ภิกษุมองเห็นแล้วเกิดความสังเวชแผ่ไปทั่วสรีระ คิดว่า “นางจะทําอะไรต่อไปหนอ”, พระศาสดาประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ในพระเชตวัน ทรงใคร่ครวญถึงภิกษุนี้อยู่ ทรงเห็นการทําอนาจารของหญิงโสเภณี และทรงทราบความสังเวชใจของภิกษุแล้ว ทรงใช้พุทธานุภาพ ตรัสแก่ท่านว่า “ภิกษุ สถานที่อันไม่น่ารื่นรมย์ของคนผู้แสวงหากาม คือ สถานที่รื่นรมย์ของคนที่ปราศจากราคะแล้ว” จากนั้นทรงเปล่งพระรัศมีมาแล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดํารัส ภิกษุรูปนี้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ เหาะกลับมาทางอากาศ ทูลชมเชย (พระธรรมเทศนา) และถวายความเคารพ (วนฺทิตฺวา) ที่พระบาทของพระตถาคตเจ้า
อธิบายพุทธภาษิต : คนผู้แสวงหากาม (ผู้ยังมีราคะ) ย่อมไม่ยินดีในป่าทั้งหลาย (แม้จะน่ารื่นรมย์ด้วยน้ำ ต้นไม้ ดอกไม้) เหมือนแมลงวันไม่ยินดีในดงดอกบัวหลวงที่กําลังบาน ฉะนั้น, พระขีณาสพ คือผู้ปราศจากราคะแล้ว ย่อมยินดีในป่าทั้งหลาย เหมือนแมลงภู่แมลงผึ้งยินดีในดงดอกบัวหลวง ฉะนั้น เพราะเหตุไร? เพราะท่านปราศจากราคะแล้ว (ปราศจากกิเลสกาม) มีปกติ ไม่แสวงหากาม (วัตถุกาม) ดู ธ.อ.๒/๓๔๑-๓๔๒
คติธรรมความรู้ ภิกษุนั่งขัดสมาธิอยู่ในกุฏิใดแล้วฝนตกไม่เปียกเข่าทั้งสองข้าง กุฏิขนาดเท่านี้ก็เพียงพอสําหรับอยู่อย่างผาสุกแห่งภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยวมุ่งนิพพาน