วัดพระเจดีย์ซาวหลัง ตั้งอยู่ที่บ้านวังหม้อ ตำบลต้นธงชัย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง แวดล้อมด้วยเจดีย์อีกสิบเก้าองค์ รวมกันแล้วเป็นยี่สิบองค์ ชาวบ้านจึงเรียกว่าวัดเจดีย์ซาวหลัง โดยคำว่าซาวเป็นภาษาเหนือแปลว่ายี่สิบ ด้านหน้าของเจดีย์แต่ละองค์ทำเป็นซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน

จากประวัติมีว่า เมื่อ 500 ปี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว มีพระอรหันต์จากอินเดียสองรูป ได้จาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงยังบริเวณนี้ เห็นสถานที่เงียบสงบเหมาะที่จะบำเพ็ญธรรม จึงใช้เป็นที่พำนักอาศัยปฏิบัติวิปัสนา และอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้น จนมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น ในครั้งนั้นพญามิลินทรผู้แตกฉานในหลักธรรม ได้มาสนทนาซักถามปัญหาธรรมกับพระอรหันต์เถระทั้งสองรูป และมีความประสงค์จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ทั้งสองรูปได้ใช้มือลูบศีรษะ มีเส้นเกศาติดมือมารูปละสิบเส้น แล้วมอบให้พญามิลินทร พญามิลินทรได้สร้างเจดีย์ขึ้นยี่สิบองค์ แล้วนำเอาเส้นเกศาบรรจุในเจดีย์องค์ละเส้น ต่อมาคนทั้งหลายจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดเจดีย์ซาวหลัง วัดเจดีย์ซาว ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย ห่างจากตัวเมือง 1.5 กิโลเมตร ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม คำว่า ?ซาว? แปลว่า ยี่สิบ คำว่า ?หลัง? แปลว่า องค์ ฉะนั้น วัดเจดีย์ซาวหลัง จึงแปลได้ว่าวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ จากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัย หริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าวัดนี้สร้างมานานกว่าพันปี จุดเด่นของวัดคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว ที่มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า ?พระพุทธรูปทันใจ? พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่ และที่ศาลาการเปรียญเรือนไม้ชั้นเดียว ด้านหลังพระอุโบสถเป็นพิพิธภัณฑสถานเขลางค์นครแสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก 100 บาทสองสลึง มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า ?พระแสนแซ่ทองคำ? เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9 นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ