ความทุกข์ ความดับทุกข์

ความทุกข์ ความดับทุกข์

สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

ความทุกข์ เกิดจากความไม่รู้ความจริงตามธรรมชาติ (ความโง่ อวิชชา) ของจิตหรือธาตุรู้ ทำให้มีความคิดเป็นตัวเป็นตน เป็นสมมุติต่างๆ เช่น เรา เขา คน สัตว์ สิ่งของ โลก ดวงดาว ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ จักรวาล มีความเห็นผิดในสภาวะทั้งปวง ด้วยเหตุของความเห็นผิดในความมีตัวตน ซึ่งเป็นความหลงผิดหรือความโง่ ความไม่รู้ของจิตที่ไม่มีวิชชา ทำให้เกิดการสร้างกรรม ทั้งฝ่าย บุญและบาป ครั้นพอตายจากภพชาติหนึ่งไป ต่างไปรับกรรมทั้งบุญและบาป และเวียนว่ายตายเกิดไม่จบสิ้น เพราะความไม่รู้ความจริงตามธรรมชาติ ไม่รู้อริยสัจ ๔ ไม่รู้แจ้งเห็นจริงในไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้ไม่อาจจะพ้นจากทุกข์เวียนว่ายตายเกิดได้

ความดับทุกข์ หรือ นิโรธ หมายถึง การทำลายสมุทัยและดับสมุทัย คือ ตัวตัณหาให้สิ้นไปจนไม่เกิดขึ้นได้อีกเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ ด้วยอำนาจการดำเนินตามมรรคจนได้บรรลุมรรคนั้นๆ นิโรธ จัดเป็นอริยสัจอันดับที่ ๓ ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค โดยภาวะคือนิพพานนั่นเอง

ความดับทุกข์ จะดับทุกข์ได้ก็ต่อเมื่อปฏิบัติตาม มรรค ๘ ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสั่งสอนแก่สัตว์โลก เพื่อช่วยให้พ้นทุกข์ ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป เมื่อปฏิบัติขัดเกลากิเลสต่างๆ ที่นอนเนื่องในจิตใจออกทีละส่วนละส่วนจนหมดสิ้น

ครั้งที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาแก่เหล่าปัญจวัคคีย์ จนทำให้พระโกณฑัญญะ มี ธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม อันปราศจากธุลีมลทิน ว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา" บรรลุพระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้คือ หมดสักกายทิฏฐิ,วิจิกิจฉาและสีลัพพตปรามาส คำนี้มีความหมายอย่างมากในการนำมาปฏิบัติขัดเกลาจิตใจให้กิเลสเบาบางลง คลายความยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งทั้งปวงที่เคยได้รู้ได้เห็นและหลงผิดคิดยึดมั่นเป็นตัวตนลงได้

ครั้งที่ พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระปัจวัคคีย์ มีญาณแก่กล้า พอที่จะบรรลุธรรมเบื้องสูง ได้แล้ว จึงตรัสพระธรรมเทศนา "อนัตตลักขณสูตร" คือสูตรที่แสดงลักษณะ แห่งเบญจขันธ์ ว่าเป็นอนัตตา ความไม่มีตัวตน โปรดพระปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผล เป็นพระอเสขบุคคลด้วยกันทั้งหมด ขณะนั้น มีพระอรหันต์ เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์ รวมทั้งพระพุทธองค์ด้วย

อนัตตลักขณสูตร เป็นพระสูตรที่สอนให้เห็นความจริงของธรรมชาติ ถึงความไม่ใช่ตัวตนของเบญจขันธ์ ได้แก่ รูป คือ ร่างกาย เวทนา คือ ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉย ๆ สัญญา คือ ความจำได้หมายรู้ สังขาร คือ ความคิดหรือเจตนา วิญญาณ คือ ความรู้อารมณ์ทางตา หู เป็นต้น หรือเรียกอีกประการหนึ่งว่า อายตนะทั้ง ๖ อันได้แก่สัมผัสทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ขณะสดับพระธรรมเทศนา พระภิกษุปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ส่งจิตไปตามกระแสพระธรรมเทศนา จิตก็หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง ไม่ยึดมั่น ถือมั่นด้วยอุปาทาน สามารถละสังโยชน์ครบ ๑๐ ประการ ได้บรรลุพระนิพพานเป็นพระอรหันต์พร้อมกันทั้ง ๕ รูป

จะเห็นได้ว่าหากเราปฏิบัติขัดเกลากิเลสออกจากจิต เติมปัญญาจนเกิดวิชชารู้แจ้งเห็นจริง ในอริยสัจ ๔ ละความเห็นผิดในอัตตาตัวตน จนมีปัญญาจักษุเห็นความจริงของอนัตตาในทุกสรรพสิ่ง จิตปล่อยวางความยึดมั่นหมายมั่นทั้งปวง จิตจะหลุดพ้นได้ด้วยวิชชาความรู้เห็นตามความเป็นจริงตามธรรมชาติเห็นสัจธรรม

จะมีญาณ รู้ตามความจริง "แท้จริงแล้วเราไม่เคยมีตัวตนมาแต่ไหนแต่ไร" เมื่อจิตรู้ความจริง จะมีญาณรู้ "จิตหลุดพ้น ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ ภพชาติหมดไป ไม่ต้องกลับไปเกิดอีก จิตหลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด จะเห็นจิตบริสุทธิ์ผุดผ่อง สว่างไสว เป็นอิสระจากความไม่รู้ (อวิชชา) ความโง่ในอัตตาตัวตนหมดไป"

"นิพพานัง ปรมังสุขัง" พระนิพพานเป็นสุขยิ่ง : ความดับทุกข์ ความพ้นทุกข์ เป็นสุขยิ่งอย่างยิ่ง


พิมพ์