จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป การเห็นด้วยปัญญาจักษุ

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป การเห็นด้วยปัญญาจักษุ

สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

แก่นธรรมคำสอน ของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

 

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ - จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป การเห็นด้วยปัญญาจักษุ

เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไป เรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วย "ปัญญาจักษุ"

เมื่อจิตว่างจาก "พฤติ" ต่างๆ แล้ว จิตก็จะถึง ความว่างที่แท้จริง ไม่มีอะไรให้สังเกตได้อีกต่อไป จึงทราบได้ว่าแท้ที่จริงแล้ว จิตนั้นไม่มีรูปร่าง มันรวมอยู่กับความว่าง ในความว่างนั้น ไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ซาบซึมอยู่ในสิ่งทุกๆ สิ่ง และจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน

เมื่อจิตกับผู้รู้เป็นสิ่งเดียวกัน และเป็นความว่าง ก็ย่อมไม่มีอะไรที่จะให้อะไรหรือให้ใครรู้ถึง ไม่มีความเป็นอะไรจะไปรู้สภาวะของอะไร ไม่มีสภาวะของใครจะไปรู้ความมีความเป็นของอะไร

เมื่อเจริญจิตจนเข้าถึงสภาวะเดิมแท้ของมันได้ดังนี้แล้ว "จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง" จิตก็จะอยู่เหนือสภาวะสมมุติบัญญัติทั้งปวง เหนือความมีความเป็นทั้งปวง มันอยู่เหนือคำพูด และพ้นไปจากการกล่าวอ้างใดๆ ทั้งสิ้น เป็นธรรมชาติอันบริสุทธิ์และสว่าง

 

อธิบายเพิ่มเติม "สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร"


จิตเห็นจิต คือ ปัญญาจักษุ เห็น "จิตบริสุทธิ์ ธาตุรู้บริสุทธิ์ ที่พ้นอวิชชา อมตธาตุ อมตธรรม"

จงทำญาณให้เห็นจิต คือ ทำ อาสวักขยญาณ ชื่อว่า ปัญญาจักษุ ให้เห็น "จิตบริสุทธิ์ ธาตุรู้บริสุทธิ์ ที่พ้นอวิชชา อมตธาตุ อมตธรรม"

เหมือนดั่งตาเห็นรูป คือ ปัญญาจักษุ หรือ ตาปัญญา มีการเห็นลักษณะการรับรู้คล้ายตาเนื้อ แต่ไม่ใช่ตาเนื้อ หรือ ตาทิพย์(ทิพจักขุญาณ) และเป็นการเห็นในขณะเกิดการ บรรลุธรรม 

จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว ใน "อรหัตมรรค อรหัตผล อาสวักขยญาณ"

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๙ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค - อาสวักขยญาณ
[๓๓๖] ภิกษุนั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้ ย่อมโน้มน้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ ย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อเธอรู้เห็นอย่างนี้ จิตย่อมหลุดพ้น แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มี ญาณว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่น เพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.

 

พระสุตตันตปิฎก
๒. จักขุสูตร

[๒๓๙] จริงอยู่ พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว พระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย จักษุ ๓ อย่างนี้แล ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้แล้ว ในพระสูตรนั้น พระผู้มีพระภาค ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่าบุรุษ ได้ตรัสจักษุ ๓ อย่างนี้ คือ มังสจักษุ ๑ ทิพยจักษุ ๑ ปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม ๑ ความบังเกิดขึ้นแห่งมังสจักษุเป็นทางแห่งทิพยจักษุ เมื่อใด ญาณบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อนั้น บุคคลย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง เพราะการได้เฉพาะซึ่งปัญญาจักษุอันยอดเยี่ยม ฯ เนื้อความแม้นี้พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้ว ฉะนี้แล ฯ

 

อรรถกถาจักขุสูตร
ปัญญาจักษุ

ธรรมชาติ ชื่อว่าปัญญา เพราะรู้ชัด. รู้ชัดอะไร? รู้ชัดอริยสัจ ๔ โดยนัยมีอาทิว่า นี้ทุกข์. สมจริงตามที่ท่านพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้ว่า ดูก่อนอาวุโส ธรรมชาติที่เรียกว่าปัญญา เพราะรู้ทั่วแล. รู้ทั่วอะไร? รู้ทั่วว่านี้ทุกข์ ดังนี้ เป็นต้น.

ส่วนในอรรถกถาท่านกล่าวไว้ว่า ชื่อว่าปัญญา ด้วยสามารถแห่งการบัญญัติ. บัญญัติว่าอย่างไร? บัญญัติว่า อนิจจัง ... ทุกขัง ... อนัตตา. ก็แลปัญญานี้นั้นโดยลักษณะเป็นต้น มีการแทงตลอดความจริงเป็นลักษณะ หรือมีการแทงตลอดโดยไม่พลาดพลั้งเป็นลักษณะ เหมือนการแทงทะลุของลูกศรที่นายขะมังธนูผู้ฉลาดยิงออกไป มีการส่องให้เห็นอารมณ์เป็นกิจ เหมือนดวงประทีป มีการไม่หลงเป็นเครื่องปรากฏ เหมือนมัคคุเทสก์ชั้นดีบอกทางแก่ผู้ไปป่า แต่โดยพิเศษแล้ว ในที่นี้ทรงประสงค์เอาปัญญา กล่าวคือ อาสวักขยญาณ ว่า ชื่อว่าปัญญาจักษุ เพราะหมายความว่า เห็นสัจจะทั้ง ๔ ซึ่งพระองค์ตรัสหมายเอาว่า จักษุได้เกิดขึ้นแล้ว ญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ปัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว วิชชาได้เกิดขึ้นแล้ว แสงสว่างได้เกิดขึ้นแล้วดังนี้.

ปัญญาจักษุ เป็นโลกุตระ ไม่มีอาสวะ มีสัจจะทั้ง ๔ เป็นอารมณ์


พิมพ์