บรรลุนิพพาน บรรลุธรรม ดวงตาเห็นธรรม ประจักษ์แจ้งพระนิพพาน

บันทึกธรรมผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

สันทิฏฐิโกจากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร

บันทึกธรรม จากผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ขั้นตอนการปฏิบัติตั้งแต่ต้น-จนรู้แจ้งเห็นจริง พ้นทุกข์ ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป

๑. การเจริญสมถภาวนา ประกอบด้วย องค์ฌาน ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา

- ดูลมหายใจเข้าออก บริกรรมพุทโธ ไปเรื่อยๆ จนจิตเริ่มสงบ

- เห็น จิตคุยกัน ( จิตกุศล กับ จิตอกุศล ) เรามีสติเป็นผู้ดู

- มีอาการโอกกันติกาปีติ  ตัวหมุน ตัวโคลงเคลง เกิดขึ้นในจิตที่เป็นสมาธิ ไม่ใช่หมายถึง ร่างกายจริงๆ หมุนหรือโคลงเคลง จากนั้นไม่สนใจอาการที่เกิดขึ้น จึงผ่านไปได้ (ก่อนหน้าเคยมาติดตรงนี้ ออกไม่ได้ เพราะไม่รู้วิธีออก)

- มีผรณาปีติ ปีติซาบซ่าน ให้รู้สึกเย็นซ่านแผ่เอิบอาบไปทั่วสรรพางค์

- เห็นแสงสีเขียวเป็นระลอกแล้วตามแสงนั้นไป จากนั้นเห็นแสงสว่างแจ้งไปทั้งจิตเหมือนคืนลอยกระทง สว่างไสว

- กายกับจิตแยกออกจากกัน ไม่รับรู้เวทนาทางกาย หายปวดเมื่อยเป็นปลิดทิ้ง หูไม่ได้ยินเสียงภายนอกร่างกาย

- มีความสุขในสมาธิมากที่สุดที่ไม่เคยมีมาก่อน

- ได้ยินเสียงบางอย่างเดินไปเดินมาเสียงดัง (เสียงทิพย์)

 

๒. การเจริญวิปัสสนาภาวนา วิปัสสนาญาณ "ญาณที่ ๘ นิพพิทาญาณ" ปัญญากำหนดพิจารณาเห็นความเบื่อหน่ายในรูปนาม

- นั่งสมาธิพิจารณาทุกข์ ทวนไปทวนมา ตั้งแต่ วัยเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน วัยชรา ตาย

- แล้วจิตมีนิมิตเห็นภาพวัยชราของตัวเองและอารมณ์ความรู้สึกที่เหนื่อยมากในวัยชรา

- ทำให้เกิดความรู้สึกเหนื่อยและเบื่อหน่ายกับการเกิดแก่เจ็บตาย ไม่ต้องการเกิดอีกแล้ว เห็นการเกิดเป็นทุกข์

 

๓. การเจริญวิปัสสนาภาวนา ปัญญาญาณ "กาลเวลาไม่มีความหมาย" หรือ เหนือกาลเวลา

- นั่งสมาธิเมื่อจิตรวมได้ระยะหนึ่ง วันนี้จิตสงบอยู่กับปัจจุบันได้นาน และจิตได้เข้าไปรับรู้ถึงสภาวธรรมที่ไม่มีการปรุงแต่งและการยึดมั่นถือมั่นประมาณว่าจิตเกิดการเข้าใจสภาวะต่างๆ ว่า สิ่งเหล่านั้นก็ปรุงแต่ง สิ่งนี้ก็ปรุงแต่ง ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้เลย

-  จากนั้นสักระยะ จิตได้รับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับ "เวลา" มี "ปัญญาญาณ" ผุดขึ้นว่า "กาลเวลาไม่มีความหมาย" เหมือนกับว่าทุกอย่างเกิดจากสมมุติบัญญัติขึ้นมา เวลาเป็นเพียง “อนิจจัง” ของการเคลื่อนที่ ของโลก ของดวงจันทร์ ของดวงอาทิตย์ แล้วสมมุติบัญญัติเรียกว่า “เวลา”วัน เดือน ปี หากเราไม่ยึดมั่นถือมั่นในสมมุติบัญญัติแล้ว และเห็นตามความเป็นจริงว่า การเคลื่อนที่ การไม่หยุดนิ่ง เป็นเรื่องของ “อนิจจัง”

- ในเรื่องของ "เวลา" จะไม่มีความหมายเพราะเราไม่ให้ค่าหรือไม่ไปยึดมั่นถือมั่นใน “สมมุติบัญญัติ” นี้

 

๔. การเจริญวิปัสสนาภาวนา ปัญญาญาณ "ที่จริงแล้วโลกนี้ไม่มีอะไรเลย แม้ตัวเราก็ไม่มี โลกนี้ก็ไม่มีด้วย"

- นั่งสมาธิพิจารณาใน ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และ อายตนะ ๖ ๑. จักษุ (ตา) ๒. โสต (หู) ๓. ฆานะ (จมูก) ๔. ชิวหา (ลิ้น) ๕. กาย ๖. มนะ (ใจ) ด้วย ไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) พอมาพิจารณา อายตนะ จึงได้เข้าใจเรื่อง "ธรรมชาติที่ถูกจิตรู้"

รูปธรรม (รูปขันธ์) >

อายตนะภายนอก > รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์

อายตนะภายใน > ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

 

นามธรรม (นามขันธ์) >

ความรู้สึก ความจำ ความคิดปรุงแต่ง ความรับรู้ทาง อายตนะทั้ง ๖

นามธรรมทั้งสี่นี้ เป็นอาการของจิต ออกมาจากจิต รู้ได้ที่จิต

 

- เมื่อจิตเห็นตามความจริงว่า "รูปขันธ์" เป็นเพียงธาตุที่ผสมปรุงแต่งกันขึ้นมาเป็นตัวเป็นตน และธาตุที่มีเหตุผสมปรุงแต่งกันแล้ว มี ความไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริง จิตจึงคลายความหลงผิดหลงยึดมั่น

- เมื่อจิตเห็นตามความจริงว่า "นามขันธ์" ความคิดนึกปรุงแต่ง ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีตัวตนที่แท้จริง จิตจึงคลายความหลงผิดหลงยึดมั่น

 

เกิดปัญญาพิจารณาเห็นว่า

“ทุกสรรพสิ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยปรุงแต่งขึ้นมาจากความไม่รู้ของจิต (อวิชชา) แล้วก่อให้เกิดเป็น รูปธรรม นามธรรม ขันธ์ ๕ ขึ้นมา

พิจารณาเห็นทุกสรรพสิ่งเป็น "อนัตตา" เป็นเพียงธาตุ "เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่มีอะไรแท้จริงเลย"

จิตคลายความยึดมั่นถือมั่นในทุกๆ สิ่งลงได้ เบาลง เบาบาง”

แล้วจากนั้นสักระยะ มี ปัญญาญาณ ผุดขึ้นว่า "ที่จริงแล้วโลกนี้ไม่มีอะไรเลย แม้ตัวเราก็ไม่มี โลกนี้ก็ไม่มีด้วย"

 

๕. การเจริญวิปัสสนาภาวนา เข้าถึงสภาวะ "สภาวธรรมชาติ ที่อิสระ สมบูรณ์ บริสุทธิ์"

- นั่งสมาธิพิจารณาใน ขันธ์ ๕ ธาตุ ๔ และ อายตนะ ๖ ตามปกติ เมื่อจิตสงบรวมลงสักระยะ

เข้าถึงสภาวะ "ธรรมชาติ ที่อิสระ สมบูรณ์ บริสุทธิ์" ที่ไม่ต้องคิด ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นให้ค่า ใดๆ  อิสระ อย่างนั้นๆ อยู่กับปัจจุบัน อย่างนั้นๆ  ปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสภาวธรรม ไม่ต้องปรุงแต่ง ไม่ต้องคิด ใดๆ

- สังขาร ปรุงแต่ง มีเกิด-มีดับ ไม่หลุดพ้น เป็นวัฏสงสาร

- วิสังขาร สภาวะที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีเกิด-ไม่มีดับ คือ การหลุดพ้น นิพพาน

 

๖. การเจริญวิปัสสนาภาวนา หลวงปู่ดูลย์ อตุโล "คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้   แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้"

นั่งสมาธิพิจารณา อายตนะ ทั้ง ๖ พอพิจารณากลับไปกลับมา ดูว่าเราเริ่มปรุงแต่งตั้งแต่ตอนไหน พบว่าจิตของเรานั้นตั้งแต่ก่อนจะเกิดก็มีการปรุงแต่ง และปรุงแต่งจากอะไร ก็พบว่าปรุงมาจาก อายตนะ ๖ ทั้งนั้น ๑. จักษุ (ตา) ๒. โสต (หู) ๓. ฆานะ (จมูก) ๔. ชิวหา (ลิ้น) ๕. กาย ๖. มนะ (ใจ) ๕ ตัวแรก เป็นการสัมผัสกับสิ่งภายนอกส่งเข้ามาสัมผัสกับสิ่งภายใน คือ ตัวที่ ๖. มนะ (ใจ) ทำให้เกิดการเข้าใจว่าเป็นตัวเรา เป็นโลก เป็นดาวต่างๆ เป็นจักรวาล แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนอยู่ในกฎธรรมชาติ มีเกิด-มีดับ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ทั้งนั้น ไม่มีแก่นสารใดๆ ให้ต้องยึดเหนี่ยวทั้งสิ้น กล่าวคือ เมื่อเข้าใจทุกอย่างแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องคิด(หายสงสัย) เมื่อไม่คิดแล้ว ปัญญาที่แท้จริงมันจึงเกิดให้รู้เอง

พอพิจารณาแบบนี้ได้แล้ว ทำให้เกิดความเข้าใจใน คำสอน ของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล "คิดเท่าไรๆก็ไม่รู้   ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้   แต่ต้องอาศัยความคิดนั่นแหละจึงรู้"

 

๗. การเจริญจิตภาวนา "ดูจิต"

นั่งสมาธิและพิจารณาตามปกติ พอพิจารณาเรียบร้อยแล้ว เกิดความว่างในจิตและได้ดูจิต ให้ผู้รู้หรือสติตามจิต(ความคิด) เริ่มเห็นและเข้าใจการดูจิตโดยให้สติหรือผู้รู้เป็นผู้ดู แค่ดูอย่างเดียวไปเรื่อยๆ เหมือนนักฟุตบอลวิ่งประกบฝ่ายตรงข้าม ดูอย่างเดียว ดูให้ทันอย่างต่อเนื่อง

 

๘. การเจริญวิปัสสนาภาวนา  วิปัสสนาญาณ ๑๓ - โคตรภูญาณ เข้าสู่ สุญญตา หรือ นิพพาน

โคตรภูญาณ คือ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ใครจะเข้าเมืองสำหรับอริยะต้องผ่านประตูนี้

จิตตื่นรู้ ในสภาวธรรม ภายในจิตรู้ถึงความว่าง ว่างแบบยิ่งกว่าว่างแบบบนโลก เพราะที่นั่นไม่มีอะไรเลย

ไม่มีธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ไม่มีดวงดาว ไม่มีโลก ไม่มีดวงจันทร์ ไม่มีดวงอาทิตย์ ไม่มีตัวตนของเรา มีแค่รู้ แค่นั้น

 

มันว่างจากทุกสิ่ง ไม่มีอะไรเลย และรู้ในสิ่งที่เรียกว่า "นิพพานัง ปรมัง สุขัง, นิพพานัง ปรมัง สุญญัง"

"นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง", "นิพพานเป็นธรรมว่างจากความทุกข์ ว่างจากกิเลส โลภ โกรธ หลง ว่างจากขันธ์ ๕ ว่างจากดิน น้ำ ลม ไฟ"

 

สุขบรมสุข ราวกับคลื่นในแม่น้ำทะลักสารแห่งความสุขหรือเอ็นโดฟินส์ สาดซัดเข้ามาในจิต ทำให้เรารับรู้ความสุขที่บรรยายได้ไม่ครบจริงๆ

ไม่เคยได้รับรู้ความรู้สึกแบบนี้มากก่อนเลย ในตอนนั่งสมาธิเรารู้ว่ามันสุข แต่สภาวะไร้ตัวตน มีแต่รู้นี้ มันสุขยิ่งกว่ามาก เทียบกันไม่ได้เลยครับ มี ปัญญาญาณ บอกว่า "นี่คือสภาวะ ไม่ทุกข์-ไม่สุข"

สุญญตา ความไร้จากพันธนาการของสังขารธรรม, นิพพาน วิสังขารธรรม โลกุตรธรรม สภาวะนี้เป็นของเที่ยง

 

๙. การเจริญจิตภาวนา "พบสภาวะ จิตอิสระ จิตพุทธ"

นั่งสมาธิวิปัสสนาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ตามปกติ พอขัดเกล้าจิตใจสักพักใหญ่ๆ ก็เกิดสภาวะ  "จิตอิสระ"

อิสระจากความคิด ยึดมั่นถือมั่น อิสระจากความฟุ้งซ่าน อิสระจากอดีตและอนาคต อิสระจากกาลเวลา จิตรู้อยู่แค่ปัจจุบัน รู้แค่หายใจอยู่

จิตมีเหลือเพียงแค่รู้ แค่รู้เท่านั้น เมื่อมีอะไรมาสัมผัสอายตนะ จิตก็แค่รู้ไม่ไปสนใจ สภาวะนี้ทำให้รู้ว่า "แค่สักแต่ว่ารู้" มันเป็นอย่างไร

อิสระจากสิ่งพันธนาการ อิสระจาก กิเลส ตัณหา อุปาทาน

 

๑๐. การเจริญจิตภาวนา "พบสภาวะ นามขันธ์ สังขารขันธ์ ดับ หรือ เห็นจิตดับ ต่อหน้าต่อตา"

นั่งสมาธิตามปกติ พิจารณา อนัตตา ทุกอย่างว่างหมด จนจิตสงบนิ่ง มีแค่รู้ไปเรื่อยๆ มีฟุ้งบ้างแต่พอรู้ทัน จากนั้นเกิดคำสอนบางอย่างจากครูบาอาจารย์ในโลกทิพย์ เสียงเหมือนเป็นคนแก่ๆ มาสอน ท่านพูด "นั่นๆ จิตแส่ไปเรื่อยอีกแล้วนะ" ประมาณว่าบ่น เราก็ไม่ได้สนใจ แค่รู้ว่ามีบางอย่างมาบอกแบบนี้ จากนั้นก็รู้ๆ ต่อไป

 

จากนั้นจิตเริ่มนิ่ง รู้ไปอย่างเดียว รู้ไปเรื่อยๆ รู้เย็นๆ รู้เฉยๆ รู้แบบไม่สนใจอะไรแล้ว เพราะทุกสิ่งมันว่างเลยไม่ได้มีอะไรจะให้สนใจ แค่รู้ๆ

สักพักเกิดอาการจิตดับเหมือนกับมันดับไปทั้งหมด ดับกาย ดับเวทนา ดับสังขาร ดับสัญญา ดับวิญญาณ มันเหมือนดับไปหมดเลยช่วงเวลาสั้นๆ ดับการรับรู้ แล้วก็กลับมาปกติ

 

อาการคือมันดับแล้วมันก็กลับมารู้ปกติ ก็มีแปลกใจบ้างเวลาเกิดอะไรขึ้น แต่เพียงแค่รู้ว่ามันดับไปแค่นั้น แต่ไม่ได้กังวลกลัวใดๆ เพราะทุกอย่างมันว่าง ตัวเราไม่มี เลยไม่มีใครหรืออะไรให้ต้องกลัว

พอกลับมาปกติ รู้ว่าจิตมันมีการรับรู้ถึงการดับเมื่อสักครู่ แล้วกลับมารู้ กลับมาในสมาธิเช่นเดิม จากนั้นก็นั่งต่อไป แต่ดูเหมือนว่าสมาธิจะดีขึ้น มันว่างกว่าเดิม มันนิ่งกว่าเดิม

 

๑๑. การเจริญวิปัสสนาภาวนา  วิปัสสนาญาณ ๑๖ "ปัจจเวกขณญาณ" ๓๑ มกราคม ๒๕๖๑

ปัจจเวกขณญาณ เป็นญาณสุดท้าย ใน ญาณ ๑๖ ปัญญาพิจารณามรรคผลพระนิพพาน กิเลสที่ละแล้วและยังเหลืออยู่

นั่งสมาธิพิจารณาธรรมตามปกติ พอจิตนิ่งดิ่งลงสงบสักระยะ เหมือนจิตตื่นขึ้นมารับรู้สภาวะบางอย่าง มีเพียงสติรู้อย่างเดียว

เกิดกระบวนการบางอย่างเหมือนกับมีการประมวลผลในจิตเกี่ยวกับ กิเลสที่ละได้แล้วและที่ยังเหลืออยู่ (ราคะ โทสะ โมหะ)

ในจิตแจ้งบอกว่า “แต่ละตัวยังเหลือกิเลสอยู่ แต่เบาบาง” และรับรู้ข้อความบางอย่างแจ้งว่า “สืบทอดพระพุทธศาสนา” หลังจากนั้นสักพักได้ยินเสียงครูบาอาจารย์ในโลกทิพย์ บอกว่า "ให้รีบเลย ให้รีบปฏิบัติ ใกล้จะได้พ้นทุกข์แล้ว"

 

๑๒. ตรัสรู้อริยสัจ ๔ จิตหลุดพ้น วิมุตติ นิพพาน ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

- นั่งสมาธิตามปกติ พิจารณาธรรม มรณานุสสติ กายคตานุสสติ ความไม่สวยไม่น่าหลงใหลในกายสังขาร และพิจารณาธาตุ ๔

- วันนี้พิจารณาการเกิดดับในจักรวาลในสังสารวัฏ พิจารณา สัตว์โลก-โลกมนุษย์-ระบบสุริยจักรวาล ๓ อย่างนี้ ประกอบด้วยสิ่งเดียวกัน คือ ธาตุ ๔ เป็นหลัก คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม พิจารณาเห็นชัดเจนใน สัตว์โลก-โลกมนุษย์-ระบบสุริยจักรวาล ว่าประกอบไปด้วยธาตุ ๔ ทั้งนั้น เหมือนกัน มีเกิด มีดับ ไม่ใช่ตัวตนเช่นกัน

- พิจารณาโดยใช้หลัก อนุโลม-ปฏิโลม ทวนไปมากลับไปกลับมา สัตว์โลก > โลกมนุษย์ > ระบบสุริยจักรวาล แล้วก็ทวนกลับ ระบบสุริยจักรวาล > โลกมนุษย์ > สัตว์โลก

- สักพักใหญ่ๆ เกิดสภาวะในจิต สัตว์โลก-โลกมนุษย์-ระบบสุริยจักรวาล เห็นทุกสรรพสิ่งเป็นสมมุติชัดเจนในจิต แล้วสมมุติทั้งปวงหายไปหมดจากจิตไม่เหลืออะไรเลย

 

ตื่นรู้เห็นวิมุตติจิตหลุดพ้นด้วย มหาสติ มหาปัญญา เห็นบางสิ่งรู้ในสติตอนนั้นได้คืออวิชชาค่อยๆ คลายออกจากจิตพุทธะ

จนคลายออกมาทั้งดวงจิตพุทธะ อยู่ห่างกันสักระยะคล้ายเมฆหมอก เงาดำทมิฬ รู้ชัดได้ว่านั่นคือ จักรวาล โลกธาตุ สังสารวัฏ

รู้ได้ว่าเราได้หลุดพ้นออกมาจาก โลกธาตุ สังสารวัฏ ได้แล้ว รู้ว่าจิตหรือธาตุรู้ เป็นอิสระแล้ว

  1. รู้ชัดว่า ดวงสว่างไสว คือ จิต, เมฆหมอกดำทมิฬ คือ อวิชชา คือ ทุกข์,
  2. รู้ชัดว่า สภาวะที่จะเริ่มปรุงแต่งจิตคืออวิชชาจะครอบงำจิต คือ สมุทัย,
  3. รู้ชัดว่า อวิชชาไม่สามารถครอบงำจิตได้อีกแล้ว จิตหลุดพ้นแล้ว คือ นิโรธ,
  4. รู้ชัดว่า มีเพียงสติสัมปชัญญะตั้งมั่นรู้เท่าทันจึงจะไม่ให้อวิชชาครอบงำจิตได้ คือ มรรค

ในระหว่างนั้น สติเห็นความปรุงแต่งในจิตกำลังจะเกิดขึ้นซึ่งคืออวิชชากำลังจะเข้าไปครอบงำจิต
สติสัมปชัญญะได้ตั้งมั่นเพื่อต่อสู้ไม่ให้อวิชชาเข้าไปครอบงำจิตได้เมื่อสติตั้งมั่นแล้วอวิชชาหรือเมฆหมอกได้สลายหายไปจากจิตใจ

"จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วย "ปัญญาจักษุ" ( คำสอน หลวงปู่ดูลย์ อตุโล )"

 

จากนั้นรู้ชัดว่า จิตหลุดพ้นแล้วจากสามโลก จากสังสารวัฏ วัฏสงสาร ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว ภพชาติจบสิ้นแล้ว มีความโล่ง โปร่ง เบาสบาย เหมือน ยกภูเขาออกจากอก ยกโลกออกจากใจ หายโง่ขึ้นมาทันทีทันใด ล้างธุลีกิเลสออกจากจิต จิตหลุดพ้นจากกิเลส จิตใสสะอาดบริสุทธิ์

 

รู้ชัดว่า “ตัวตนเราเองนั้น ไม่เคยมีมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว (อนัตตา)” เป็นเพียงความไม่รู้ที่หลงปรุงแต่งของจิต ซึ่งจิตหรือธาตุรู้ ไม่ใช่เรา

หลังจากจิตหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าต้องช่วยผู้อื่นหรือคนที่เรารู้จักให้ออกมาจาก สังสารวัฏ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

"จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค, ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ  จบอริยสัจจ์ (คำสอนหลวงปู่ดูลย์อตุโล )"

 

๑๓. การเจริญจิตภาวนา "พบสภาวะ สติรู้เห็นพระนิพพาน เห็นอรหันตสาวก บนพระนิพพาน" ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ ก่อนวัน มาฆบูชา ๑ วัน

นั่งสมาธิตามปกติ อยู่กับรู้ๆ ว่างๆ ไม่มีการปรุงแต่งจิตเพราะเห็นประจักษ์แจ้งวิมุตติแล้ว สักพักสติรู้ได้รับรู้ในขณะนั่งสมาธิเหมือนกับเรานั่งที่บ้านแล้วสติรู้เชื่อมเข้าไปสู่ที่นั่งบนพระนิพพาน ซึ่งมีที่นั่งสำหรับธาตุรู้ที่บริสุทธิ์หรือจิตที่หลุดพ้นแล้ว ได้มารู้เห็นพระนิพพานแบบต่อหน้าต่อตาซึ่งๆหน้า(ในสติรู้) เห็นพระจำนวนมากมายสุดสายตา ท่านเข้าสมาธินิโรธสมาบัติ จากนั้นสติรู้เกิดปัญญาหรือรู้ในสติหรือในจิตว่าพระเหล่านี้คือ "อรหันตสาวก"

ลักษณะที่รู้ได้คือคล้ายกับที่หลวงปู่ฤๅษีลิงดำท่านบอกไว้ ด้านหน้าสุดเป็นพระพุทธเจ้าองค์ขนาดใหญ่มากราวกับพระประธานในโบสถ์

๑๔. เข้าสมาธิลึก มีญาณรู้  ว่า “ผู้ชาย หรือ ผู้หญิง คน หรือ สัตว์  และพระพุทธเจ้า แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันโดยสภาพสูงสุด หรือ ปรมัตถ์ เป็นเพียงสิ่งสิ่งหนึ่ง ที่ไม่ได้มีตัวตนที่แท้จริง  หากขัดเกลากิเลสออกหมดแล้ว จะเป็นเพียงธาตุที่บริสุทธิ์ ไร้อัตตาตัวตนเหมือนกัน”

 

๑๕. เข้าสมาธิลึก มีญาณรู้  ว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้เข้าฌานในขณะปรินิพพาน เมื่อท่านออกจากฌาน ๔ แล้ว พระองค์ทรงดับเวทนาขันธ์ซึ่งเป็นขันธ์สุดท้ายในสภาวะจิตตื่น จึงปรินิพพาน ในสภาวะรู้มีสติสัมปชัญญะครบถ้วน



กลอนธรรมไร้นาม

เปรียบดั่งอวิชชาเหมือนอสรพิษ เลื้อยเข้ามาห่อหุ้มจิตครอบงำใจ

เกิดเป็นภพชาติสังสารวัฏใหญ่ เวียนหมุนไปไม่จบสิ้นอันตัวเรา

พอเห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แจ้งประจักษ์ในจิตมิเสื่อมหาย

ปฏิบัติตาม มรรค ๘ มิเสื่อมคลาย หาจนได้เห็นดวงธรรมในคัมภีร์

พระไตรปิฎก บอกไว้ เริ่มจนจบ หนทางพบหลุดพ้นเป็นไฉน

ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เป็นเช่นไร ศึกษาไปเพียรไปจะรู้เอง

มันเป็นเองเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ต้องคาดหรือหวังในสิ่งไหน

เพราะสิ่งคิดสิ่งหวังไม่มีใน ความหลุดพ้นเวียนว่ายจะสุขเอง

สิ่งที่คิดสิ่งที่หวังเพราะว่าอยาก เป็นต้นรากแรงผลักวนเวียนไป

เพียรปฏิบัติเจริญจิตเจริญใจ จนเห็นได้ไม่มีเราในแต่เดิม

แล้วจะเห็นอวิชชาห่อหุ้มจิต ประภัสสรสว่างเป็นนิจเป็นไฉน

แต่ถูกอวิชชาอาสวะกิเลสครอบงำไว้ เห็นในจิตเห็นในใจประจักษ์เลย

มีเพียงแต่สติสัมปชัญญะ เป็นเครื่องอยู่เครื่องสู้มิคลอนหาย

บรรลุธรรมบรรลุจิตบรรลุกาย มิมีความหมายใดเลยในความจริง

สิ่งที่มีสิ่งที่เป็นนั้นละเหตุ เป็นต้นของอวิชชามาแต่ไหน

หลงไปยึดไปติดคิดว่าใจ เป็นของเราของเขามิใช่เลย

ทุกสรรพสิ่งเกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัยตามธรรมชาติ ดังพุทธศาสนาว่าเอาไว้

พระโคตมพุทธเจ้าท่านเห็นใน อริยสัจ ๔ แท้จริงเอย...


เทียน-ไส้เทียน-ไฟ

เทียน เปรียบกับ สัตว์ในวัฏสงสาร

เทียน พร้อมจะติดไฟเสมอเพราะมีเชื้อของไฟ

เทียน แบบไหนที่จะไม่ติดไฟ ? เทียนที่ไม่มีไส้

ไส้เทียน เปรียบกับใจอยู่ภายในแต่ส่งผลร้อนถึงภายนอก เพราะเกิดการปรุงแต่งของเชื้อไฟกับไส้เทียน

เทียน ที่ไม่มีไส้ก็ไม่ใช่เทียนตามวัตถุประสงค์ของการสร้างเทียน

การสร้างเทียน เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ เปรียบกับ เชื้อของการเกิดสร้างคนตามเหตุปัจจัย(อวิชชา)

เทียนที่ไม่มีไส้ จึงจุดไฟไม่ได้ และไม่ใช่เทียนอีกต่อไป


แท้จริงแล้ว ไม่เคยมีเทียนหรือมีเรามาแต่ไหนแต่ไร

แต่หลงปรุงแต่งขึ้นมา เพราะมีความไม่รู้อวิชชาเป็นเหตุปัจจัย

หลงผิดไปว่าเป็นเทียนหรือเป็นเราจริงๆ แท้จริงแล้วเป็นเพียง ธาตุ ๔ ตามธรรมชาติ

หลงไปยึดว่านั่นเทียน นี่เรา นั่นเขา จึงเกิดวนเวียนในวัฏสงสารไม่จบไม่สิ้น


บทส่งท้าย

ในส่วนของการเห็น ผี, เทวดา, เจ้ากรรมนายเวร, พระสาวกสมัยพุทธกาล, พระพุทธเจ้า, พระโพธิสัตว์ และความสามารถพิเศษทางจิต (อภิญญา) ไม่ขอกล่าวถึง เพราะเป็นเพียงทางผ่าน ผ่านมา ผ่านไป ให้แค่รู้ว่ามีตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ แค่นั้นพอ

พิมพ์