หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

คำสอนพระอริยเจ้า

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล

ในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมสายพระกรรมฐาน ทั้งพระภิกษุและฆราวาสให้การยอมรับว่า "หลวงปู่ดูลย์ อตุโล นับเป็นองค์เดียวที่มีความรู้ลึกซึ้งในเรื่องของจิต จนกระทั่งได้รับสมญาว่าเป็น บิดาแห่งการภาวนาจิต" ประจักษ์พยานแห่งสมญานามดังกล่าว จะเห็นได้จาก คำเทศน์ คำสอนและความสนใจของหลวงปู่ อยู่ในเรื่อง "จิต" เพียงอย่างเดียว เรื่องอื่นนอกจากนั้นหาได้อยู่ในความสนใจของหลวงปู่ไม่ ด้วยความลึกซึ้งในเรื่องจิตจึงทำให้หลวงปู่ประกาศหลักธรรมโดยใช้คำว่า "จิต คือ พุทธะ" โดยเน้นสาระเหล่านี้

หลวงปู่ดูลย์ ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ เมื่อวันอังคารแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีกุน ตรงกับวันอังคารที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๐ เป็นปีที่ ๒๐ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ โยมบิดาของท่านชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางเงิม นามสกุล ดีมาก หลวงปู่มีพี่น้อง ๕ คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ กลิ้ง คนที่สองคือตัวหลวงปู่เอง ชื่อ ดูลย์ คนที่สามเป็นชายชื่อ เคน คนที่สี่และห้าเป็นหญิงชื่อ รัตน์ และ ทอง พี่น้องทั้ง ๔ คนของท่านมีชีวิตจนถึงวัยชรา และทุกคนเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุถึง ๗๐ ปี มีเพียงหลวงปู่เท่านั้นที่ดำรงอายุขัยอยู่จนถึง ๙๖ ปี

อุปสมบท ณ วัดจุมพลสุทธาวาส อ.เมือง จ.สุรินทร์ ในพ.ศ. ๒๔๕๓ โดยมีพระครูวิมลศีลพรต เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อแรกบวช หลวงปู่ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ ๖ หลวงปู่จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้ เนื่องจากวัดสุปัฏนาราม เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายในพ.ศ. ๒๔๖๑ ณ วัดสุปัฏนารามโดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียว จากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติแล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่าง ๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก ต่อมาเจ้าคณะมณฑลนครราชสีมาขอให้หลวงปู่กลับจังหวัดสุรินทร์ เพื่อบูรณะวัดบูรพาราม หลวงปู่จึงจำต้องระงับกิจธุดงค์และเริ่มงานบูรณะตามที่ได้รับมอบหมาย หลวงปู่ได้อุทิศชีวิต เพื่อพระศาสนาอย่างแท้จริง จนได้รับการยอมรับจากสาธุชนทั้งหลาย ว่าเป็นอริยสงฆ์ที่หาได้ยากยิ่งองค์หนึ่ง

คำสอน

 

จิต คือ พุทธะ

 

"พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว ไม่มีอะไรตั้งอยู่เลย"

"จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นและไม่อาจถูกทำลายได้เลย"

"จิตหนึ่งเท่านั้นที่เป็นพระพุทธะ ดังคำตรัสที่ว่า

ผู้ใดเห็นจิต ผู้นั้นเห็นเรา

ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต"

 

ในการสอนของหลวงปู่ ท่านจะเตือนสติสานุศิษย์เสมอๆ ว่า "อย่าส่งจิตออกนอก"

หลวงปู่ยังสอนแนวทางปฏิบัติ อีกว่า "จงทำญาณให้เห็นจิต เมื่อเห็นจิตได้ ก็จะสามารถแยกรูป ถอดด้วยวิชชามรรคจิต เพื่อที่จะแยกรูปกับกายให้อยู่คนละส่วน แล้วจะเข้าใจพฤติของจิตได้ในลำดับต่อไป"

 

คำสอนเกี่ยวกับเรื่องจิตของหลวงปู่ ที่มีการบันทึกไว้ในที่อื่นๆ อีก ก็มีเช่น "หลักธรรมที่แท้จริง คือ จิต" จิตของเราทุกคนนั่นแหละ คือ หลักธรรมสูงสุดในจิตใจเรา นอกจากนั้นแล้วไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย

จิตนี้แหละ คือ หลักธรรม ซึ่งนอกไปจากนั้นแล้วก็ไม่ใช่จิต แต่จิตนั้นโดยตัวมันเองก็ไม่ใช่จิต

ขอให้เลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้นเราอาจกล่าวได้ว่า คลองแห่งคำพูดได้ถูกตัดทอนไปแล้ว พิษของจิตก็ได้ถูกถอนขึ้นจนหมดสิ้น

จิตในจิตก็จะเหลือแต่ความบริสุทธิ์ ซึ่งมีอยู่ประจำแล้วทุกคน"

ด้วยเหตุนี้ การสอนของหลวงปู่ จึงไม่เน้นที่การพูด การคิดหรือการเทศนาสั่งสอน แต่ท่านจะเน้นที่ การภาวนา และให้ดูลงที่จิตใจ ของตนเอง อย่าไปดูสิ่งอื่น เช่น อย่าไปสนใจดูสวรรค์ ดูนรก หรือสิ่งอื่นใด แต่ให้ดูที่จิตของตนเอง ให้ดูไปภายในตนเอง

"อย่าส่งจิตออกนอก" จึงเป็นคำที่หลวงปู่เตือนลูกศิษย์อยู่เสมอ ความรู้ ความเข้าใจเรื่องจิต อย่างลึกซึ้งนี้ เป็นผลจากการปฏิบัติที่ ถ้ำพระเวสฯ อำเภอนาแก จังหวัดนครพนม เมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

 

"อริยสัจแห่งจิต"

 

จิตที่ส่งออกนอก เป็น สมุทัย
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็น ทุกข์
จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็น มรรค
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็น นิโรธ

 

หลวงปู่เล่าว่า "เมื่อพิจารณาตามหลัก อริยสัจ ๔ โดยเห็นแจ้งดังนี้แล้ว ย่อมหมายถึงการผ่านเลยแห่งความรู้ใน ปฏิจฺจสมุปฺบาท ไปแล้ว เนื่องเพราะความรู้ในเหตุแห่งทุกข์ การดำรงอยู่แห่งทุกข์ และวิธีดับทุกข์นั้น คือ แก่นกลางแท้จริงของปฏิจจสมุปบาท"

ที่สำคัญยิ่งก็คือ ธรรมะใน อริยสัจ ๔ นี้ เป็นธรรมะหมวดแรก ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสรู้ ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว ซึ่งหลวงปู่ดูลย์ อตุโล เป็นศิษย์ตถาคต ผู้หนึ่งที่สามารถให้ อรรถาธิบายได้อย่างแจ่มแจ้ง

"จงทำญาณให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป" เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิด ของอารมณ์ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์ แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า-ชาติหลัง หรือ นรก-สวรรค์อะไรก็ได้ ขอให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้น ตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้ว ก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองตามลำดับ หรือถ้า สวรรค์-นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีในขณะนี้ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุข เป็นมนุษย์ชั้นเลิศ

"คิดเท่าไรๆ ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้"

เกี่ยวกับนิมิต "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"

"ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งใน ขันธ์๕, แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท, หยุดการปรุงแต่ง, หยุดการแสวงหา, หยุดกริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่ บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญตา ว่างมหาศาล"

เมื่อจิตกระทบเข้ากับอารมณ์ภายนอกอย่างไร ก็ให้หยุดอยู่แค่นั้น, อย่าไปทะเลาะวิวาทโต้แย้ง, อย่าไปเอออวยเห็นดีเห็นงามให้จิตได้โอกาสก่อรูปก่อร่างเป็นตุเป็นตะเป็นเรื่องเป็นราวยืดยาวออกไป อย่าไปวิพากษ์วิจารณ์ต่อไป อย่าไปใส่ใจอีกต่อไป พอกันเพียงรู้อารมณ์เท่านี้เอง หยุดกันเพียงเท่านี้"

หลักธรรมที่หลวงปู่ใช้พิจารณาคือ "สัพเพสังขารา สัพพะสัญญา อนัตตา" ซึ่งมีคําขยายความในหนังสือหน้า๔๔ ดังนี้ "เมื่อสังขารขันธ์ดับไปแล้ว ความเป็นตัวตนจักไม่มี เพราะไม่ได้เข้าไปเพื่อปรุงแต่ง ครั้นเมื่อความปรุงแต่งขาดไป สภาพแห่งการเป็นตัวตนไม่มี ความทุกข์จะเกิดขึ้นแก่ใครได้อย่างไร"

"คําสอนทั้ง ๘๔๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั่น เป็นเพียงอุบายให้คนทั้งหลายหันมาดูจิตนั่นเอง คําสอนของพระพุทธองค์มีมากมายก็เพราะกิเลสมีมากมาย แต่ทางที่ดับทุกข์ได้มีทางเดียว พระนิพพาน การที่เรามีโอกาสปฏิบัติธรรมที่ถูกทางเช่นนี้มีน้อยนัก หากปล่อยโอกาสให้ผ่านไปเราจักหมดโอกาสพ้นทุกข์ได้ทันในชาตินี้ แล้วเราจะหลงอยู่ในความเห็นผิดอีกนานแสนนาน เพื่อที่จะพบธรรมอันเดียวกันนี้ ดังนั้น เมื่อเราเกิดมาพบพระพุทธศาสสนาแล้ว รีบปฏิบัติให้พ้นทุกข์เสีย มิฉนั้นจะเสียโอกาสอันดีนี้ไป เพราะว่าเมื่อสัจจธรรมถูกลืม ความมืดมนย่อมครอบงําปวงสัตว์ให้อยู่ในกองทุกข์สิ้นกาลนาน"

มีผู้เรียนถามหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ว่า "ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม?"
หลวงปู่ตอบ สั้นๆว่า "มี แต่ไม่เอา"

อีกครั้งหนึ่ง มีผู้เรียนถามหลวงปู่เรื่องการละกิเลส "หลวงปู่ครับทําอย่างไรจึงจะตัดความโกรธให้ขาดได้"
หลวงปู่ตอบ "ไม่มีใครตัดให้ขาดได้หรอก มีแต่รู้ทัน...... เมื่อรู้ทันมันก็ดับไปเอง"

มีผู้เรียนถามหลวงปู่ "พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ"
หลวงปู่ตอบ "การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์ไม่ใช่หรือ"

มีผู้เรียนถามถึงเรื่อง "หยุดคิด หยุดนึก"
หลวงปู่ตอบ "ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดนั่นเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจักอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกําจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิดหยุดนึกเสียให้สิ้นเลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง"


พิมพ์