มรรคมีองค์ ๘

มรรคมีองค์ ๘

ปริยัติธรรม

หนังสือ ธรรมาธิบาย หลักธรรมนำพระไตรปิฏก อ.ปัญญา ใช้บางยาง

มรรคมีองค์ ๘ หรือ อัฏจังคิกมรรค เรียกเต็มว่า อริยอัฏจังคิกมรรค แปลว่า ทางมีองค์แปดประการอันประเสริฐ

๑. สัมมาทิฏฐิ : เห็นชอบ ได้แก่ ความรู้อริยสัจ ๔ หรือเห็นไตรลักษณ์ หรือรู้อกุศลและอกุศลมลกับกุศลและกุศลมูล หรือเห็นปฏิจจสมุปบาท (มรรคปัญญา,วิปัสสนาปัญญา, กัมมัสสกตาปัญญา)

๒. สัมมาสังกัปปะ : ดําริชอบ ได้แก่ เนกขัมมสังกัปปะ (ความตรึกปลอดจากกาม) อพยาบาทสังกัปปะ (ความตรึกปลอดจากพยาบาท) อวิหิงสาสังกัปปะ (ความตรึกปลอดการเบียดเบียน)

๓. สัมมาวาจา : เจรจาชอบ ได้แก่ วจีสุจริต ๔
๔. สัมมากัมมันตะ : กระทําชอบ ได้แก่ กายสุจริต ๓
๕. สัมมาอาชีวะ : เลี้ยงชีพชอบ ได้แก่ เว้นมิจฉาชีพ ประกอบสัมมาชีพ
๖. สัมมาวายามะ : พยายามชอบ ได้แก่ ปธานหรือสัมมัปปธาน ๔
๗. สัมมาสติ : ระลึกชอบ ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔
๘. สัมมาสมาธิ : ตั้งจิตมั่นชอบ ได้แก่ ฌาน ๔ มีปฐมฌาน เป็นต้น

องค์ ๘ ของมรรค จัดเข้าในธรรมขันธ์
๓ ข้อต้น คือ ๓-๔-๕ เป็นศีล,
ข้อ ๖-๗-๔ เป็นสมาธิ,
ข้อ ๑-๒ เป็นปัญญา

มรรคมีองค์ ๘ ได้ชื่อว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง เพราะเป็นข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนําไปสู่จุดหมายแห่งความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดับทุกข์ปลอดปัญหา ไม่ติดข้องในที่สุดทั้งสอง คือ กามสุขัลลิกานุโยค และอัตตกิลมถานุโยค
ที่.ม.ข้อ ๒๔๙๙, ม.ม.ข้อ ๑๔๙, ม.อุ.ข้อ ๗๐๔, อภิ.วิ.ข้อ ๕๖๙

ที่มาแห่งสูตร

ใน ม.มู ข้อ ๑๔๙ “สติปัฏฐานสูตร” ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย, ที.ม.ข้อ ๒๙๙ “มหาสติปัฏฐานสูตร” ทรงแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย, ม.อุ.ข้อ ๗๐๔ “สัจจวิภังคสูตร” พระสารีบุตรแสดงแก่ภิกษุทั้งหลาย ว่าด้วย เรื่องอริยสัจ ๔, ปปญจ. ๑/๑/๒๕๐-๒๕๒ ขยายความองค์มรรคเพิ่มเติม ดังนี้

สัมมาทิฏฐิมีความเห็นชอบเป็นลักษณะ, สัมมาสังกัปปะมีความตั้งใจโดยชอบเป็นลักษณะ สัมมาวาจามีการหวงแหนโดยชอบเป็นลักษณะ, สัมมากัมมันตะมีการตั้งขึ้นพร้อมโดยธรรมเป็นลักษณะ สัมมาอาชีวะมีความผ่องแผ้วโดยชอบเป็นลักษณะ, สัมมาวายามะมีการประคองจิตโดยชอบเป็นสักระยะ สัมมาสติมีความปรากฏโดยชอบธรรมเป็นลักษณะ, สัมมาสมาธิมีความตั้งมั่นแห่งจิตโดยชอบเป็นสักระยะ (อริยมรรค ๘ ที่เป็นอริยอัฏจังคิกมรรคแท้ๆนั้น จะกระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์เท่านั้น)

- สัมมาทิฏฐิเมื่อเกิดขึ้นย่อมละมิจฉาทิฏฐิ อันเป็นกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาทิฏฐินั้นและละอวิชชาได้ กระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์ เห็นสัมปยุตธรรมทั้งหลาย และเห็นสัมปยุตธรรมเหล่านั้นโดยความงมงาย ไม่ใช่เห็นโดยความเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ

- สัมมาสังกัปปะย่อมละมิจฉาสังกัปปะ (เช่นกามสังกัปปะเป็นต้น) และกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสังกัปปะนั้นได้ กระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์และปลูกฝังสัมปยุตธรรมทั้งหลายไว้ในใจโดยชอบ เพราะ ฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสังกัปปะ

- สัมมาวาจาย่อมละมิจฉาวาจาและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาวาจานั้นได้ กระทํานิพพานให้เป็น อารมณ์ หวงแหนสัมปยุตธรรมทั้งหลายโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า สัมมาวาจา

- สัมมากัมมันตะย่อมละมิจฉากัมมันตะและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมากัมมันตะ กระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมากัมมันตะ

- สัมมาอาชีวะย่อมละมิจฉาอาชีวะและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาอาชีวะนั้นได้ กระทํานิพพานให้ เป็นอารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาอาชีวะ

- สัมมาวายามะย่อมละมิจฉาวายามะและกิเลส ที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาวายามะนั้นได้ กระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาวายามะ

- สัมมาสติย่อมละมิจฉาสติและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสนั้นได้กระทํานิพพานให้เป็นอารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสติ |

- สัมมาสมาธิย่อมละมิจฉาสมาธิและกิเลสที่เป็นข้าศึกต่อสัมมาสมาธินั้นได้ กระทํานิพพานให้เป็น อารมณ์ และย่อมยังสัมปยุตธรรมทั้งหลายให้ตั้งขึ้นโดยชอบ เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่าสัมมาสมาธิ

(อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้ จะเกิดขึ้นละทําลายกิเลสโดยมีนิพพานเป็นอารมณ์ ๔ ครั้ง คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑)

มรรคมีองค์ ๘ เป็นทางสายเก่า

 “ภิกษุทั้งหลาย....เราได้เห็นมรรคาเก่า หนทางเก่า ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางก่อนทั้งหลายเคยเสด็จไปแล้ว....ได้แก่มรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐนี้เอง...เราได้ดําเนินตามมรรคานั้น เมื่อเดินตามมรรคานั้น จึงได้รู้ชัดซึ่งชรามรณะ รู้ชัดซึ่งสมุทัยแห่งชรามรณะ..., ครันรู้ชัดความนั้นแล้วจึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาทั้งหลาย พรหมจรรย์  (ชีวิตประเสริฐ, ไตรสิกขา, พระศาสนา) จึงเจริญแพร่หลาย แผ่ขยายเป็นที่รู้ของพหูชน เป็นปึกแผ่น..." (ส.น. ข้อ๒๕๐-๒๕๓)

“เราย่อมสรรเสริญสัมมาปฏิปทา ไม่ว่าของบรรพชิตหรือของคฤหัสถ์, คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตามปฏิบัติชอบแล้ว เพราะการปฏิบัติชอบนั้นเป็นเหตุ ย่อมยังญายธรรมอันเป็นกุศลให้สําเร็จได้, ก็สัมมาปฏิปทาคืออะไร? คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ" (ส.ม. ข้อ ๖๔)

“ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ําคงคาไหลหลัง ลาดเอนไปสู่มหาสมุทร ฉันใด ภิกษุเมื่อเจริญอยู่ ทําให้มากอยู่ซึ่งมรรคามีองค์ ๘ ประการ อันประเสริฐ ย่อมเป็นผู้โน้มน้อม ลาดเอนไปสู่นิพพานฉันนั้น” (ส.ม.ข้อ ๒๒๑)

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

มรรคมีองค์ ๘ ที่เป็นโลกียมรรค และ โลกุตตรมรรค

โลกียมรรค องค์มรรคทั้ง ๘ องค์ ย่อมมีอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ในอารมณ์ ๖ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์ ตามสมควร

 

โลกุตตรมรรค มี นิพพาน เป็นอารมณ์ เพียงอย่างเดียว เพราะในขณะที่องค์มรรคเกิดพร้อมกัน

  1. ถอนเสียได้ซึ่ง อวิชชานุสัย เป็น สัมมาทิฏฐิ
  2. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาสังกัปปะ เป็น สัมมาสังกัปปะ
  3. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาวาจา เป็น สัมมาวาจา
  4. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉากัมมันตะ เป็น สัมมากัมมันตะ
  5. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาอาชีวะ เป็น สัมมาอาชีวะ
  6. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาวายามะ เป็น สัมมาวายามะ
  7. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาสติ เป็น สัมมาสติ
  8. ถอนเสียได้ซึ่ง มิจฉาสมาธิ เป็น สัมมาสมาธิ


วิธีเจริญมรรคมีองค์ ๘

** ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ ยุคนัทธวรรค ยุคนัทธกถา หน้า ๔๔๙-๔๖๗ ว่าด้วยการเจริญมรรค วิธีเจริญมรรคมีองค์ ๘ ให้เกิดขึ้น ๔ วิธี

สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์อยู่ ณ โฆสิตาราม ใกล้พระนครโกสัมพี ได้กล่าวกับภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อน อาวุโสทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์พระอรหัต แก่ภิกษุภิกษุณีไว้ด้วยมรรคใดมรรคหนึ่ง ดังนี้

 

ดูก่อน อาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในพระศาสนานี้

  1. ย่อมเจริญ วิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า มรรคย่อมเกิด ๑
  2. ย่อมเจริญ สมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า มรรคย่อมเกิด ๑
  3. ย่อมเจริญ สมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ๑
  4. ย่อมเจริญ สมาธิเพื่อปิดกั้นอุทธัจจะคือความฟุ้งซ่าน มรรคย่อมเกิด ๑


วิธีที่ ๑. การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า

การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า คือ การทำจิตให้สงบก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาในภายหลัง ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน ด้วยสามารถแห่งเนกขัมมะ จิตย่อมสงบเป็นสมาธิ ชื่อว่าเจริญสมถะ เมื่อพิจารณาเห็นธรรมที่เกิดขึ้นในสมาธินั้น โดยความเป็นสภาพที่ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สมถะจึงมีก่อน การตามพิจารณาเห็นรูปนามสังขารปรวนแปร มีความไม่เที่ยงอยู่ ชื่อว่าตามเห็นทุกข์ พิจารณาเห็นความดับสลาย แห่งทุกข์ ชื่อว่าตามเห็นอนัตตา เป็นการเจริญวิปัสสนา เพราะเห็นแจ้งในอริยสัจ ๔ ในขณะนั้นอินทรีย์ทั้งหลาย มีศรัทธาที่เป็น สัทธินทรีย์ มีสติที่เป็น สตินทรีย์ มีความเพียรที่เป็น วิริยินทรีย์ มีสมาธิที่เป็น สมาธินทรีย์ มีปัญญาที่เป็น ปัญญินทรีย์ ทําหน้าที่อย่างเดียวกัน พร้อมกัน ด้วยการตามเห็นสภาพธรรมตามที่เป็นจริง ในขณะนั้น โดยสภาพไตรลักษณ์ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะนำหน้า

มรรคย่อมเกิดเพราะ สัมมาทิฏฐิ เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสังกัปปะ ดำริในสภาพ ธรรมนั้นตามที่เป็นจริง สัมมาวาจา ด้วยอรรถว่ากำหนด สัมมากัมมันตะ ด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน สัมมาอาชีวะ ด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว สัมมาวายามะ ด้วยอรรถว่าประคองไว้ สัมมาสติ ด้วยอรรถว่าตั้งมั่น สัมมาสมาธิ ด้วยอรรถว่า ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น ได้กำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ ละธรรมที่ ควรละ รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ ควรรู้แจ้ง เจริญธรรมที่ ควรเจริญ

เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทําให้มากอยู่ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

 

วิธีที่ ๒. การเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า

การเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า คือ เจริญวิปัสสนาก่อน ด้วยการทำให้แจ้งในอริยสัจ ๔ โดย กําหนดตามเห็นเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ จักษุ ฯลฯ ชราและมรณะ โดยความเป็นสภาพ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในธรรมทั้งหลาย ความที่จิตมีการปล่อยธรรมทั้งหลายที่เกิดในภาวนานั้นเป็นอารมณ์ และความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่านเป็นสมาธิ ด้วยประการดังนี้ ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า

ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด เพราะการตามกําหนดเห็นรูปนามสังขารปรวนแปร มีความไม่เที่ยงอยู่ ชื่อว่า ตามเห็นทุกข์ กําหนดเห็นความดับสลายแห่งทุกข์ เป็นการตามเห็นอนัตตา ชื่อว่าเจริญวิปัสสนา เพราะเห็นแจ้ง ในอริยสัจ ๔ ในขณะนั้น อินทรีย์ทั้งหลาย คือมีศรัทธาที่เป็น สัทธินทรีย์ มีสติที่เป็น สตินทรีย์ มีความเพียรที่เป็น วิริยินทรีย์ มีสมาธิที่เป็น สมาธินทรีย์ มีปัญญาที่เป็น ปัญญินทรีย์ ทำหน้าที่อย่างเดียวกัน พร้อมกัน ด้วยการเห็น สภาพธรรมตามที่เป็นจริงในขณะนั้น เพราะจิตที่ตามรับรู้เฉพาะอารมณ์ที่เด่นที่สุดเพียงทีละอารมณ์ จิตย่อมเป็น สมาธิเข้าสู่ความสงบ ชื่อว่า เจริญสมถะ ท่านจึงกล่าวว่า การเจริญสมถะอันมีวิปัสสนานำหน้า

มรรคย่อมเกิดเพราะ สัมมาทิฏฐิ ได้เห็นสภาพธรรมตามความเป็นจริง สัมมาสังกัปปะ ดําริในสภาพ ธรรมนั้นตามที่เป็นจริง สัมมาวาจา ด้วยอรรถว่ากำหนด สัมมากัมมันตะ ด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน สัมมาอาชีวะ ด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว สัมมาวายามะ ด้วยอรรถว่าประคองไว้ สัมมาสติ ด้วยอรรถว่าตั้งมั่น สัมมาสมาธิ ด้วยอรรถว่า ไม่ฟุ้งซ่าน ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นย่อมเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นได้กำหนดรู้ธรรมที่ควร กำหนดรู้ ละธรรมที่ ควรละ รู้ยิ่งซึ่งธรรมที่ ควรรู้แจ้ง เจริญธรรมที่ ควรเจริญ

เมื่อภิกษุนั้นเสพเจริญ ทำให้มากอยู่ซึ่งมรรคนั้น ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

 

วิธีที่ ๓. การเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป

การเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นอารมณ์ ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เคียงคู่กัน ไม่ล่วงเกิน กันและกัน ด้วยความเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า เจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยอาการ ๑๖ คือ โดยความเป็นอารมณ์ ๑ ความเป็นโคจร ๑ ด้วยความละ ๑ ด้วยความสละ ๑ ด้วยความออก ๑ ด้วยความหลีกไป ๑ ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ๑ ด้วยความเป็นธรรมประณีต ๑ ด้วยความหลุดพ้น ๑ ด้วยความไม่มีอาสวะ ๑ ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ๑ ด้วยความไม่มีนิมิต ๑ ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ๑ ด้วยความว่างเปล่า ๑ ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน ๑ ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน ๑

ด้วยความเป็นอารมณ์ เมื่อภิกษุ ละอุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านแห่งจิต สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟังซ่าน มีนิโรธเป็นอารมณ์ ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นอารมณ์เดียวกัน ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความเป็นอารมณ์ ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความเป็นโคจร เมื่อภิกษุ ละอุทธัจจะ คือความฟุ้งซ่านแห่งจิต สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์ เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา ด้วยการพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นโคจร ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความเป็นโคจร ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความละ เมื่อภิกษุ ละกิเลส อันประกอบด้วยอุทธัจจะและขันธ์ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์ เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกิน กันและกัน ด้วยความละ ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความละ ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความสละ เมื่อภิกษุ สละกิเลส อันประกอบด้วยอุทธัจจะและขันธ์ สมาธิความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุสละกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่า พิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกิน กันและกัน ด้วยความสละ ท่านจึงกล่าวว่า เจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความสละ มรรคย่อมเกิด

ด้วยความออก เมื่อภิกษุ ออกจากกิเลส อันประกอบด้วยอุทธัจจะและขันธ์ สมาธิคือความที่จิตมี อารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุออกจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์ วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความออก ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความออก ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความหลีกไป เมื่อภิกษุ หลีกจากกิเลส อันประกอบด้วยอุทธัจจะและขันธ์ สมาธิคือความที่ จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุหลีกจากกิเลสอันประกอบด้วยอวิชชาและขันธ์ วิปัสสนา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลีกไป ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กัน ด้วยความหลีกไป ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความเป็นธรรมละเอียด เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมละเอียด มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กัน ด้วยความเป็นธรรมละเอียด ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความเป็นธรรมประณีต เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟังซ่าน ธรรมประณีต มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา ด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมที่ประณีต มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นธรรมประณีต ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กันไป ด้วยความเป็นธรรมประณีตขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความหลุดพ้น เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรม หลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นความหลุดพ้น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ ชื่อว่า เจโตวิมุตติ เพราะสำรอกราคะ ชื่อว่า ปัญญาวิมุตติ เพราะสำรอกอวิชชา ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความหลุดพ้น เพราะเหตุดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กัน ด้วยความหลุดพ้น ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความไม่มีอาสวะ เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรม ที่ไม่มีอาสวะคือ กามาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรม ไม่มีอาสวะด้วย อวิชชาสวะ มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีอาสวะ ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่เคียงกันไป ด้วยความไม่มีอาสวะ ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความเป็นเครื่องข้าม เมื่อภิกษุข้ามจากกิเลสอันประกอบด้วยอุทธัจจะ และจากขันธ์ สมาธิคือ ความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุ ข้ามจากกิเลส อันประกอบด้วยอวิชชา และ จากขันธ์ วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจ เป็นอันเดียวกันเป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม เพราะเหตุดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้น เจริญสมถะและวิปัสสนาเคียงคู่กัน ด้วยความเป็นเครื่องข้าม ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความไม่มีนิมิต เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรมไม่มี นิมิตด้วยนิมิตทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมที่ ไม่มีนิมิตด้วยนิมิตทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีนิมิต เพราะเหตุดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กัน ด้วยความไม่มีนิมิต ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความไม่มีที่ตั้ง เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรม ที่ไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมที่ ไม่มีที่ตั้งด้วยที่ตั้งทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอันเดียวกัน เคียงคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป ด้วยความไม่มีที่ตั้ง ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความว่างเปล่า เมื่อภิกษุละอุทธัจจะ สมาธิคือความที่จิตมีอารมณ์เดียวไม่ฟุ้งซ่าน เป็นธรรม ที่ว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร (ที่ไป) เมื่อภิกษุละอวิชชา วิปัสสนาด้วยอรรถว่าพิจารณาเห็น เป็นธรรมที่ ว่างเปล่าจากความยึดมั่นทั้งปวง มีนิโรธเป็นโคจร ด้วยประการดังนี้ สมถะและวิปัสสนาจึงมีกิจเป็นอัน เดียวกัน เป็นคู่กัน ไม่ล่วงเกินกันและกัน ด้วยความว่างเปล่า เพราะเหตุดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า ภิกษุนั้นเจริญสมถะ และวิปัสสนาเคียงคู่กัน ด้วยความว่างเปล่า ขณะนั้นมรรคย่อมเกิด

ด้วยความเป็นธรรมมีกิจเป็นอันเดียวกัน เพราะความหมายว่า อินทรีย์ทั้งหลาย ได้แก่ สัทธินทรีย์ สตินทรีย์ วิริยินทรีย์ สมาธินทรีย์ และปัญญินทรีย์ มีกิจเป็นอันเดียวกัน ทำงานอย่างเดียวกัน มรรคย่อมเกิด

ด้วยความไม่ล่วงเกินกันและกัน เพราะความหมายว่า นำความเพียรที่สมควรแก่ธรรมนั้นเข้าไป ไม่ล่วงเกินกันและกัน คือเท่า ๆ กัน สมดุลกัน ย่อมกระทำให้มรรคเกิด และเจริญขึ้น ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนา เคียงคู่กัน ด้วยอาการอย่างนี้ มรรคย่อมเกิด ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป

 

วิธีที่ ๔ การเจริญสมาธิ ปิดกั้นอุทธัจจะความฟุ้งซ่าน

เมื่อภิกษุมนสิการอุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านโดยความเป็นสภาพไม่เที่ยง โอภาส คือแสงสว่าง ย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนึกถึงโอภาสว่า โอภาสเป็นธรรม เพราะนึกถึงโอภาสนั้นจึงมีความฟุ้งซ่าน เป็นกิเลสคืออุทธัจจะ ภิกษุอันอุทธัจจะกั้นไว้ ย่อมไม่ทราบชัดซึ่งธรรมนั้นตามความเป็นจริง โดยสภาพไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ โดยความเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า มีใจที่นึกถึง โอภาสอันเป็นธรรมที่ถูกอุทธัจจะกั้นไว้

สมัยนั้น จิตที่ตั้งมั่นสงบอยู่ภายในอย่างเดียว คืออยู่เฉพาะภายในอารมณ์ที่คิดซ่านเท่านั้นไม่ไปที่อื่น มีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมที่ถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ด้วยความเกิดขึ้นแห่ง ตัณหา มานะ ทิฏฐิ

โอภาส ทำให้เกิดตัณหา ด้วยมีความพอใจว่าได้ญาณเห็นปานนี้ ไม่เคยเกิดแก่เรามาก่อน (ตัณหา) เราเป็นผู้บรรลุมรรค บรรลุผลแน่นอน (มานะ) แล้วถือเอาสิ่งที่มิใช่มรรคว่าเป็นมรรค สิ่งที่มิใช่ผลว่าเป็นผล (ทิฏฐิ) ย่อมไม่ทราบชัดโอภาสนั้นตามสภาพที่เป็นจริง

ส่วนบัณฑิตผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้ เมื่อโอภาสเกิดขึ้นย่อมกำหนด ย่อมสอบสวนโอภาสนั้นด้วยปัญญา ว่า โอภาสนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็โอภาสนั้นก็มีสภาพไม่เที่ยง เป็นสิ่งปรุงแต่ง อาศัยกันเกิดขึ้น มีความเสื่อมไป สิ้นไปเป็นธรรมดา มีการดับกิเลสเป็นธรรมดา ด้วยประการดังนี้

อีกอย่างหนึ่ง บัณฑิตนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า หากโอภาสพึงเป็นตัวตน ก็ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน แต่โอภาสนี้ มิใช่ตัวตน ยังถือกันว่าเป็นตัวตน เพราะฉะนั้น ภิกษุย่อมพิจารณาว่า

  • โอภาสนี้ มิใช่ตัวตน เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ ย่อม ถอนทิฏฐิเสียได้
  • โอภาสนี้ ไม่เที่ยง เพราะมีแล้วไม่มี ย่อม ถอนมานะเสียได้
  • โอภาสนี้ เป็นทุกข์ เพราะเกิดขึ้นแล้วเสื่อมสิ้นไป และบีบคั้น ย่อมถอนตัณหา เสียได้
ครั้นพิจารณาอย่างนี้แล้ว ย่อมพิจารณาเห็นโอภาสว่า นั่นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่นั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา เมื่อพิจารณาอยู่เช่นนี้ จิตย่อมไม่กวัดแกว่ง ไม่หวั่นไหว ในโอภาสนั้น

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้ตามดูตามรู้ ตามเห็นอุทธัจจะนั้นโดยความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยอํานาจของวิปัสสนา อบรมบ่อยๆ ด้วยปัญญา โอภาส (แสงสว่าง) ญาณ (ปัญญา) ปีติ (ความอิ่มเอิบใจ) ปัสสัทธิ (ความสงบ) สุข (สุขสบาย) อธิโมกข์ (ความยอมรับ) ปัคคาหะ (ความเพียร) อุปัฏฐานะ (ความตั้งมั่น) อุเบกขา (ความวางเฉย เป็นกลาง) นิกันติ (ความพอใจ) ย่อมเกิดขึ้น พ้นจากอุปกิเลส เป็นผู้ฉลาดในความนึกถึงโอภาสนั้น อันเป็นธรรมที่ทำให้ฟุ้งซ่าน มีปฏิภาณแทงตลอดโอภาสนั้นตามความเป็นจริง ย่อมไม่ถึงความหลงใหล เพราะได้ถอนตัณหา มานะ และ ทิฏฐิ เสียได้ มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น

 

วิธีการทำให้มรรคเกิดวิธีใดวิธีหนึ่งใน ๔ วิธีดังกล่าวแล้ว มรรคย่อมเกิดตามลําดับดังนี้ คือ

  1. สัมมาทิฏฐิ การเห็นอย่างถูกต้องย่อมเกิด เพราะเห็นทุกข์ เห็นเหตุที่ทำให้ทุกข์เกิด เห็นทุกข์ดับ เห็นมรรค คือ ทางที่ทำให้ทุกข์ดับอย่างถูกต้อง ตามความเป็นจริง
  2. สัมมาสังกัปปะ ความดำริอย่างถูกต้อง ย่อมเกิดขึ้นพร้อม
  3. สัมมาวาจา วาจาชอบ ย่อมเกิดพร้อม
  4. สัมมากัมมันตะ การงานชอบย่อมเกิด เพราะได้รู้สภาพธรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง
  5. สัมมาอาชีวะ การเลี้ยงชีพย่อมสะอาดอย่างถูกต้อง เพราะมีวาจาชอบและการงานชอบ
  6. สัมมาวายามะ มีความเพียรที่ถูกต้อง คือเพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
  7. สัมมาสติ มีสติเป็นสัมมาสติ เพราะการระลึกรู้สภาพธรรมนั้นได้ถูกต้องตามจริง
  8. สัมมาสมาธิ เห็นความตั้งมั่นแห่งจิต และความสงบได้อย่างถูกต้องตามจริง

สัมมามรรคทั้ง ๘ องค์ ย่อมเกิดขึ้นพร้อมเพรียงกันดังนี้ ท่านเรียกว่า มรรคสมังคี เป็นปัจจัย ให้การดับกิเลสมุ่งสู่นิพพานเกิดขึ้น ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏพึงเจริญ สัมมามรรค ให้มากขึ้น พึงตามเห็น ตามพิจารณา ตามกำหนดรู้ น้อมจิตไปด้วยศรัทธาที่เป็น สัทธินทรีย์ ประคองความเพียรด้วย วิริยินทรีย์ รักษาสติให้มั่นด้วย สตินทรีย์ รักษาจิตให้สงบจากกิเลสด้วย สมาธินทรีย์ ทําให้มรรคสมังคีด้วย ปัญญินทรีย์ คือ

  1. ควรกำหนดรู้ ซึ่งธรรมที่ควรกำหนดรู้ คือทุกข์
  2. ควรละ ซึ่งธรรมที่ควรละ คือตัณหา
  3. ควรทําให้แจ้ง ซึ่งธรรมที่ควรทําให้แจ้ง คือนิโรธ (ดับทุกข์)
  4. ควรทำให้เจริญ ซึ่งธรรมที่ควรเจริญ คือสัมมามรรคทั้ง ๘ องค์



อริยมรรค - อริยผล

ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อเจริญมรรคตามวิธีการเหล่านั้นอยู่ กระทำมรรคให้เพิ่มพูนมาก ขึ้นอยู่ สังโยชน์ทั้งหลายย่อมละไป อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วย โสดาปัตติมรรค เป็นพระโสดาบันบุคคล

พระโสดาบันบุคคล ละกิเลส คือ สังโยชน์ ๓ ได้แก่
  1. สักกายทิฏฐิ ละการเห็นรูปนามสังขารว่าเป็นกาย
  2. วิจิกิจฉา ละความลังเลสงสัยในพระรัตนตรัย มรรคผลนิพพาน และข้อปฏิบัติ
  3. สีลัพพตปรามาส ละการเชื่อถือในศีลและพรตว่าจักทฎให้ได้สิ่งที่ต้องการ

พระโสดาบันบุคคล ละกิเลส คือ อนุสัย ๒ ได้แก่
  1. ทิฏฐานุสัย ละจากความเห็นผิดว่าความคิดเห็นของตนถูกต้อง ที่นอนเนืองอยู่ในจิต
  2. วิจิกิจฉานุสัย ละความลังเลสงสัย ที่นอนเนืองอยู่ในจิต

ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อเจริญมรรคนั้นอยู่ กระทํามรรคให้เพิ่มมากขึ้นอยู่ สังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมละไป อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วย สกทาคามิมรรค เป็นพระสกทาคามีบุคคล

พระสกทาคามีบุคคล ละกิเลส คือ สังโยชน์ ๒ ได้แก่
  1. กามราคะสังโยชน์ ละการยินดี พอใจ ติดใจเสวยอารมณ์ที่ชอบใจ ในส่วนหยาบ
  2. ปฏิฆสังโยชน์ ละการยินดี พอใจ ติดใจเสวยอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ในส่วนหยาบ

พระสกทาคามีบุคคล ละกิเลส คือ อนุสัย ๒ได้แก่
  1. กามราคานุสัย ละความยินดีพอใจอันเป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในจิต ในส่วนหยาบ
  2. ปฏิฆานุสัย ละความไม่ยินดี ไม่พอใจ ที่นอนเนืองอยู่ในจิต ในส่วนหยาบ อนุสัยทั้งสองนี้ในส่วนหยาบย่อมสิ้นไปหมดไปไม่มีอีก แก่พระสกทาคามีบุคคล

ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อเจริญมรรคนั้นอยู่ กระทํามรรคให้เพิ่มมากขึ้นอยู่ สังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมละไป อนุสัยทั้งหลายย่อมสิ้นไปด้วย อนาคามิมรรค เป็นพระอนาคามีบุคคล

พระอนาคามีบุคคล ละกิเลส คือ สังโยชน์ ๒ ได้แก่
  1. กามราคสังโยชน์ ละความยินดีพอใจ เสวยอารมณ์ที่ชอบใจ ในส่วนละเอียด
  2. ปฏิฆสังโยชน์ ละความยินดีพอใจใน การเสวยอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ ในส่วนละเอียด

พระอนาคามีบุคคล ละกิเลส คือ อนุสัย ๒ ได้แก่
  1. กามราคานุสัย ละความยินดีพอใจ อันเป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในจิต ในส่วนละเอียด
  2. ปฏิฆานุสัย ละความไม่ยินดีไม่พอใจ ที่นอนเนืองอยู่ในจิต ในส่วนละเอียด อนุสัยทั้งสองนี้ ย่อมสิ้นไป หมดไปไม่มีอีกกับพระอนาคามีบุคคล

ผู้เห็นภัยในสังสารวัฏเมื่อเจริญมรรคนั้นอยู่ กระทํามรรคให้เพิ่มมากขึ้นอยู่ สังโยชน์ทั้งหลาย ย่อมละไป อนุสัยทั้งหลาย ย่อมสิ้นไปด้วย อรหัตมรรค เป็นพระอรหันต์บุคคล ดับกิเลสเข้าสู่นิพพาน

พระอรหันต์ ละกิเลส คือ สังโยชน์ ๕ ได้แก่
  1. รูปราคะสังโยชน์ ละความยินดีพอใจ ยึดติด ในรูป ที่ชอบใจรักใคร่
  2. อรูปราคะสังโยชน์ ละความยินดีพอใจ ยึดติด ในนาม ที่ชอบใจรักใคร่
  3. มานะสังโยชน์ ละความถือตัวว่าดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา เป็นต้น
  4. อุทธัจจะสังโยชน์ ละความยึดติดในความคิดฟุ้งซ่าน
  5. อวิชชาสังโยชน์ ละความยึดติดด้วยโมหะ ย่อมสิ้นไปไม่เกิดอีก

พระอรหันต์ ละกิเลส คือ อนุสัย ๓ ได้แก่
  1. มานานุสัย ละความถือตัวอันเป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในจิต
  2. ภวราคานุสัย ละความอยากเป็น อยากยิ่งใหญ่ อยากยังยืนที่นอนเนืองอยู่ในจิต
  3. อวิชชานุสัย ละความไม่รู้คือโมหะ ที่นอนเนื่องอยู่ในจิต ย่อมสิ้นไปหมดไป ไม่มีอีก

พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสดับ ยุคนัทธกถา ว่าด้วยปฏิปทามรรค ๔ วิธี ซึ่งท่านพระอานนท์ผู้เป็น ธรรมภัณฑาคาริก (คลังพระธรรม) ได้รับฟังมาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า อันเป็นข้อปฏิบัติในการเจริญมรรค เพื่อพยากรณ์อรหัตมรรค แก่ภิกษุภิกษุณี อุบาสกอุบาสิกาผู้เห็นภัยในสังสารวัฏ ด้วยความชื่นชมยินดี ณ โฆสิตาราม อารามที่โฆสิต เศรษฐีสร้างไว้ในกรุงโกสัมพี ด้วยประการฉะนี้

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

ประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อ อนุปาทาปรินิพพาน ทางแห่งความหลุดพ้น

สังยุตตนิกาย มหาวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ หน้า ๖๙-๗๓ วิราคสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกับ ภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อเธอทั้งหลายถูกถามว่า ประพฤติพรหมจรรย์เพื่อใคร เธอจึงชี้แจงว่า เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อสำรอกราคะ เพื่อละสังโยชน์ เพื่อสิ้นอาสวะ เพื่อถอนอนุสัย เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏ เพื่อทำให้แจ้ง ซึ่งวิชชา เพื่อวิมุตติญาณทัสสนะ และเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน

ถ้าถูกถามอีกว่า ก็ทางนั้นมีอยู่หรือ ? ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทานิพพานมีอยู่หรือ ? เธอจึงชี้แจงว่า อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดําริชอบ การกล่าววาจาชอบ การทําการงานชอบ การเลี้ยงชีพชอบ ความพยายามชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งมั่นแห่งจิตชอบ นี้เป็นหนทาง และเป็นข้อปฏิบัติ

เพื่อสํารอกราคะ อันเป็นกิเลสที่เปรียบเหมือนไฟ เพราะเผาลนจิตให้เร่าร้อน พล่านไป ได้แก่

  1. ราคัคคิ สำรอกไฟคือ ราคะ ได้แก่ ความติดใจ ความอยากได้
  2. โทสัคคิ สำรอกไฟคือ โทสะ ได้แก่ ความขัดเคือง ความไม่พอใจ คิดประทุษร้าย
  3. โมหัคคิ สำรอกไฟคือ โมหะ ได้แก่ ความหลง ความไม่รู้ในสภาวะของสิ่งทั้งหลาย
(พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ ภาค ๒ เล่ม ๒ หน้า ๙๒๗-๙๒๙)

 

เพื่อละสังโยชน์ อันเป็นกิเลสที่ผูกใจสัตว์ เป็นธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ ๗ ประการ ได้แก่ กามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ ทิฏฐิสังโยชน์ วิจิกิจฉาสังโยชน์ มานะสังโยชน์ ภวสังโยชน์ และอวิชชาสังโยชน์ (ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า ๒๓๒)

แต่สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ ข้อ ๓๔๙ แสดงสังโยชน์เบื้องต่ำ ๕ ได้แก่

  1. สักกายทิฏฐิสังโยชน์ ละจากความเห็นว่า เป็นตัวตน
  2. วิจิกิจฉาสังโยชน์ ละจากความสงสัย ลังเล ไม่แน่ใจ
  3. สีลัพตปรามาสสังโยชน์ ละจากความเห็นผิดว่าบุคคลจะบริสุทธิ์ด้วยศีลและวัตร
  4. กามราคสังโยชน์ ละจากความกำหนัดในกาม ความติดใจในกามคุณ
  5. ปฏิฆสังโยชน์ ละจากความไม่พอใจ ความขัดเคืองใจ

สังโยชน์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่า โอรัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์หยาบ เป็นไป ในภพอันต่ำ

  1. รูปราคะสังโยชน์ ละจากความติดใจในอารมณ์แห่งรูปธรรมอันประณีต หรือรูปฌาน
  2. อรูปราคะสังโยชน์ ละจากความติดใจในนามธรรม หรือความปรารถนาในอรูปภพ
  3. มานะสังโยชน์ ละจากความสำคัญตน ถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่
  4. อุทธัจจะสังโยชน์ ละจากความฟุ้งซ่าน
  5. อวิชชาสังโยชน์ ละจากความไม่รู้จริง

สังโยชน์ ๕ ประการนี้ ชื่อว่า อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์ละเอียด เป็นไปใน ภพอันสูง
(สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ แสดงสังโยชน์ส่วนเบื้องสูง ๕ ข้อ ๓๕๑ หน้า ๑๘๑)

เพื่อสิ้นอาสวะ อันเป็นกิเลสที่หมักดองอยู่ในสันดาน ได้แก่

  1. กามาสวะ สิ้นจากความพอใจ ความหมกมุ่นในกาม
  2. ภวาสวะ สิ้นจากความพอใจ ความหมกมุ่นในภพ
  3. ทิฏฐาสวะ สิ้นจากความเห็นผิดว่าโลกเที่ยง ฯลฯ การถือเอาโดยวิปลาส
  4. อวิชชาสวะ สิ้นจากความไม่รู้ในอริยสัจธรรม ๔

อาสวะ ๔ เหล่านี้ เป็นเหตุพาให้สัตว์ทั้งหลายวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏไม่มีที่สิ้นสุด
(พระอภิธรรมปิฎก ภาค ๒ เล่ม ๒ ขุททกวัตถุวิภังค์ จตุกกนิเทส ข้อ ๙๖๑ หน้า ๘๐๕)

เพื่อถอนอนุสัย อันเป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในขันธสันดาน ได้แก่

  1. กามราคานุสัย ถอนจากความกําหนัดในกาม ความอยากได้ ความติดใจในกาม
  2. ปฏิฆานุสัย ถอนจากความขัดใจ ความหงุดหงิดใจ ความโกรธ
  3. ทิฏฐานุสัย ถอนจากความเห็นผิด การถือเอาความคิดเห็นของตนว่าเป็นความจริง
  4. วิจิกิจฉานุสัย ถอนจากความลังเลสงสัย
  5. มานานุสัย ถอนจากความถือตัวว่า ดีกว่าเขา เสมอเขา เลวกว่าเขา
  6. ภวราคานุสัย ถอนจากความพอใจในภพ
  7. อวิชชานุสัย ถอนจากความไม่รู้จริงคือโมหะ

อนุสัย ๗ เป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในสันดานของสัตว์ สืบต่ออยู่ในขันธสันดาน คือนามรูป หรือขันธ์ ๕ มิใช่เป็นกิเลสที่นอนเนืองอยู่ในจิต ต่อเมื่อได้เหตุได้ปัจจัยที่สมควรย่อมเกิดขึ้น เพราะเป็นกิเลสที่ยังละไม่ได้
(พระอภิธรรมปิฎก ภาค ๒ เล่ม ๒ ขุททกวัตถุวิภังค์ สัตตกนิเทส ข้อ ๑๐๐๕ หน้า ๘๒๓)

เพื่อกําหนดรู้สังสารวัฏ

  1. กิเลสวัฏ วงจรกิเลส ประกอบด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
  2. กรรมวัฏ วงจรกรรม ประกอบด้วย สังขาร และกรรมภพ
  3. วิปากวัฏ วงจรวิบาก ประกอบด้วย วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
(สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ อัทธานสูตร หน้า ๗๑)

เพื่อทําให้แจ้งซึ่งวิชชา คือความรู้แจ้ง ๓ ประการ ได้แก่

  1. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ญาณเป็นเหตุระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อน การระลึกชาติ
  2. จุตูปปาตญาณ ญาณกําหนดรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นไปตามกรรม
  3. อาสวักขยญาณ ญาณหยั่งรู้ในธรรมอันเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย คือ ตรัสรู้

เพื่อวิมุตติญาณทัสสนะ ความรู้ความเห็นในภาวะที่หลุดพ้นจากกิเลส วิมุตติ ๒ ได้แก่

  1. เจโตวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิตจากราคะ ด้วยกําลังแห่งสมาธิ
  2. ปัญญาวิมุตติ ความหลุดพ้นแห่งจิตจากอวิชชา ความหลุดพ้นด้วยการเจริญปัญญา
วิมุตติเพื่อญาณทัสสนะ คือ สมาธิที่เป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ อันเป็นความรู้ความเห็นในการหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์ ด้วยกําลังแห่งปัญญา (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ วิชชาและวิมุตติสูตร หน้า ๗๑)

เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน การดับกิเลสพ้นจากกองทุกข์ ได้แก่

  1. สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีอุปธิเหลือ หรือเรียกว่า กิเลสนิพพาน พระอรหันต์ ที่ยังมีชีวิตอยู่ คือสิ้นกิเลสแต่ยังมีชีวิตอยู่ ชื่อว่า เสขะบุคคล
  2. อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีอุปธิเหลือ หรือเรียกว่า ขันธปรินิพพาน คือ สภาพที่ดับ ทั้งกิเลส ดับทั้งขันธ์ พระอรหันต์ที่สิ้นทั้งกิเลส สิ้นทั้งขันธ์ ชื่อว่า อเสขะบุคคล

ข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ทางแห่งความหลุดพ้น ก็ได้แก่ อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน ดังนี้แล

นี้เป็นหนทาง นี้เป็นข้อปฏิบัติเพื่อสำรอกราคะ เพื่อละสังโยชน์ เพื่อสิ้นอาสวะ เพื่อถอนอนุสัย เพื่อกำหนดรู้สังสารวัฏ เพื่อทําให้แจ้งซึ่งวิชชาและวิมุตติ เพื่อญาณทัสสนะ และ เพื่ออนุปาทาปรินิพพาน อันเป็น ทางแห่งความหลุดพ้น ทางแห่งความพ้นจากสังสารวัฏ ดังนี้ (สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่ม ๕ ภาค ๑ อนุปาทาปรินิพพานสูตร ข้อ ๑๒๖-๑๒๘ หน้า ๗๒-๗๓)


พิมพ์