สัมมากัมมันตะ

สัมมากัมมันตะ

ปริยัติธรรม

มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑ และอื่นๆ ท้ายบทความ

สัมมากัมมันตะ เป็นหนึ่งใน มรรค ๘

สัมมากัมมันตะ คือ การงานชอบ

๑. การงดเว้นจากการล้างผลาญชีวิต
๒. การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้
๓. การงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ

ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร นี้ มิจฉากัมมันตะ ฯ

ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน

เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ

- สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑
- สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะเป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้นจากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์

ก็สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน

ความงดความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมากัมมันตะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้ มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น ฯ

อ้างอิง :

- มหาสติปัฏฐานสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๐ ข้อที่ ๒๙๙ หน้า ๒๓๑
- มหาจัตตารีสกสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวง เล่มที่ ๑๔ ข้อที่ ๒๗๐-๒๗๓ หน้า ๑๔๘-๑๔๙

พิมพ์