สัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ

** อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เล่ม ๑/๒ อรรถกถา หน้า ๑๘๕-๑๙๐ แสดงสัมมาทิฏฐิไว้ว่า

ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ความเข้าใจ
สัมมา แปลว่า ความถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง
สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้อง มี ๕ อย่างคือ กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ฌานสัมมาทิฏฐิ วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ มัคคสัมมาทิฏฐิ และ ผลสัมมาทิฏฐิ

  • บุคคลผู้มีความเห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล ๑
  • การต้อนรับเชื้อเชิญหรือทํามงคลต่าง ๆ มีผล ๑
  • การบูชามีผล ๑
  • กรรมดีหรือชั่วที่ทําไว้มีผลมีวิบาก ๑
  • โลกนี้มี ๑
  • โลกหน้ามี ๑
  • มารดามี ๑
  • บิดามี ๑
  • สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะ (เกิดแล้ว โตทันที) มี ๑
  • สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และโลกหน้าให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ ๑ เหล่านี้
ชื่อว่า กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ

บุคคลผู้ละนิวรณ์ ๕ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นต้น ชื่อว่า ฌานสัมมาทิฏฐิ

บุคคลผู้รู้ชัดซึ่งไตรลักษณ์ พิจารณาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นของไม่เที่ยง พิจารณาเห็นจักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กาย มโน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ เป็นของไม่เที่ยง ความรู้นั้นเป็น วิปัสสนาสัมมาทิฏฐิ

บุคคลผู้รู้ชัดซึ่ง ทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยอริยสัจ ทุกขนิโรธ อริยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ในขณะอริยมรรค ชื่อว่า มัคคสัมมาทิฏฐิ

บุคคลซึ่งมีความเห็นตรง มีปัญญาที่ประกอบด้วยอริยผล ชื่อว่า ผลสัมมาทิฏฐิ

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ความสําคัญของสัมมาทิฏฐิ

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อน เป็นบุพนิมิต ฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นตัวนํา เป็นบุพนิมิตเพื่อการตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ ฉันนั้น; ภิกษุผู้มีสัมมาทิฏฐิย่อมเป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักรู้ชัดตามเป็นจริงว่า ทุกข์ คือดังนี้...เหตุให้ เกิดทุกข์ คือดังนี้...ความดับทุกข์ คือดังนี้...ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ คือดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์มรรคเหล่านั้น สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนํา สัมมาทิฏฐิเป็นตัวนําอย่างไร? (ด้วยสัมมาทิฏฐิ) จึงรู้จักมิจฉาทิฏฐิ ว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักสัมมาทิฏฐิ ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักมิจฉาสังกัปปะ ว่าเป็นมิจฉาสังกัปปะ รู้จักสัมมาสังกัปปะ ว่าเป็นสัมมาสังกัปปะ รู้จักมิจฉาวาจา...สัมมาวาจามิจฉากัมมันตะสัมมากัมมันตะ ฯลฯ”

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้าอย่างไร? เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึง พอเหมาะได้ เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณ จึงพอเหมาะได้, เมื่อมีสัมมาญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

โดยนัยดังนี้แล พระเสขะ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๘ จึงกลายเป็นพระอรหันต์ ผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐"

“ข้อที่ภิกษุจักทําลายอวิชชา ยังวิชชาให้เกิด ทําให้แจ้งซึ่งนิพพานได้ ด้วยทิฏฐิที่ตั้งไว้ชอบ ด้วยมรรคภาวนาที่ตั้งไว้ชอบ นี้เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ นั่นเพราะเหตุใด? ก็เพราะตั้งทิฏฐิไว้ชอบแล้ว”

“เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งจะเป็นเหตุให้กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือกุศลธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว เป็นไปเพื่อความเพิ่มพูนไพบูลย์ เหมือนอย่างสัมมาทิฏฐินี้เลย”

คําจํากัดความของสัมมาทิฏฐิ

คําจํากัดความที่พบบ่อยที่สุด คือ ความรู้ในอริยสัจ ๔ ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ คืออะไร? ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย ความรู้ในทุกขนิโรธ ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ"

คําจํากัดความนอกจากนี้ ได้แก่
รู้อกุศลและอกุศลมูล กับ กุศลและกุศลมูล: “เมื่อใด อริยสาวกรู้ชัด ซึ่งอกุศล...อกุศลมูล...กุศล... และกุศลมูล ด้วยเหตุเพียงนี้ เธอชื่อว่ามีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นตรง ประกอบด้วยความเลื่อมใสแน่วแน่ในธรรม เข้าถึงสัทธรรมนี้แล้ว

เห็นไตรลักษณ์: “ภิกษุเห็นรูป...เวทนา...สัญญา...สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อเห็นชอบ ก็ย่อมหน่าย เพราะสิ้นเพลิน ก็สิ้นการย้อมติด เพราะสิ้นการย้อมติด ก็สิ้นเพลิน เพราะสิ้นเพลินและยอมติด จิตจึงหลุดพ้น เรียกว่า พ้นเด็ดขาดแล้ว”

“ภิกษุเห็นจักษุ โสตะ...ฆานะ..ชิวหา..กาย...มโน...รูป...เสียง....กลิ่น...รส...โผฏฐพพะ... ธรรมารมณ์ ซึ่งเป็นของไม่เที่ยง ว่าไม่เที่ยง ความเห็นของเธอนั้นเป็นสัมมาทิฏฐิ ฯลฯ”

เห็นปฏิจจสมุปบาท: คําจํากัดความแบบนี้ เป็นแบบที่มีมากแบบหนึ่ง และไม่จําเป็นต้องนําพุทธพจน์มาอ้าง เพราะเคยอ้างถึงมาแล้ว

พุทธพจน์อีกแห่งหนึ่ง แยกความหมายของสัมมาทิฏฐิ เป็น ๒ ระดับ คือ ระดับที่เป็นสาสวะ กับ ระดับโลกุตระ

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิเป็นไฉน? เรากล่าวว่าสัมมาทิฏฐิมี ๒ อย่าง คือ สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ ซึ่งจัดเป็นฝ่ายบุญ อํานวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับ สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง”

“สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดอยู่ในฝ่ายบุญ อํานวยวิบากแก่ขันธ์เป็นไฉน? คือความเห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล การบําเพ็ญทานมีผล การบูชามีผล กรรมที่ทําไว้ดีและชั่ว มีผล มีวิบาก โลกนี้มี ปรโลกมี มารดามี บิดามี สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบ ปฏิบัติชอบ ซึ่งประกาศโลกนี้และปรโลกให้แจ่มแจ้ง เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง มีอยู่ นี้แล สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ จัดเป็นฝ่ายบุญ อํานวยวิบากแก่ขันธ์”

“สัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน? คือ องค์มรรค ข้อสัมมาทิฏฐิ ที่เป็นตัวปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธรรมวิจัยสัมโพชฌงค์ ของผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี ผู้กําลังเจริญอริยมรรคอยู่ นี้แลสัมมาทิฏฐิที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค”

ข้อควรทราบทั่วไปเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ทิฏฐิ หรือเขียนลดรูปเป็น ทิฐิ แปลว่า ความเห็น หมายรวมถึง ความเชื่อถือ ลัทธิ ทฤษฎี ความเข้าใจตามนัยเหตุผล ข้อที่เข้ากับความเข้าใจของตน หลักการที่เห็นสม ข้อที่ถูกใจ ข้อที่เชิดชูเอาไว้ ความใฝ่นิยม หรือที่ปัจจุบันเรียกกันว่า ค่านิยม รวมไปถึงอุดมการณ์ แนวทัศนะในการมองโลกและชีวิต ที่เรียกกันว่า โลกทัศน์และชีวทัศน์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติพื้นฐาน ที่สืบเนื่องจากความเห็นความเข้าใจ และความใฝนิยมเหล่านั้น

ถ้าจะจัดเข้าเป็นพวกๆ ทิฏฐิ ก็คงมี ๒ ระดับ คือ ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณค่า ว่าดี ไม่ดี ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น เป็นต้น อย่างหนึ่ง ความเห็น ความเข้าใจ เกี่ยวกับความจริงว่า คืออะไร เป็นอย่างไร เพราะเหตุไร เป็นต้น อย่างหนึ่ง ดังจะเห็นได้ในเรื่องสัมมาทิฏฐิ ๒ ประเภท

ทิฏฐิ คือ ความเห็น ความเข้าใจ ความใฝนิยมยึดถือต่างๆ นั้น มีอิทธิพลครอบงํา และมีบทบาทในการกําหนดวิถีชีวิตและสังคมของมนุษย์เป็นอย่างมาก

ในกรรมบถ ท่านจัดทิฏฐิเข้าเป็นมโนกรรม ซึ่งเป็นกรรมที่สําคัญ มีผลมากมายร้ายแรงที่สุด ยิ่งกว่ากายกรรม และวจีกรรม เพราะเป็นตัวบันดาลกายกรรมและวจีกรรมอยู่เบื้องหลังอีกชั้นหนึ่ง สามารถนําชีวิตสังคม หรือมนุษยชาติทั้งหมดไปสู่ความเจริญงอกงามรุ่งเรืองหลุดพ้น หรือนําไปสู่ความเสื่อม ความพินาศก็ได้

ดังจะมองเห็นได้ในชีวิตของบุคคล ทิฏฐิเป็นตัวชักจูง และกําหนดวิถีชีวิต ทั้งในด้านรับเข้า และด้านแสดงออก กล่าวคือ จะมองเห็นโลกและชีวิตเป็นอย่างไร และจะปฏิบัติต่อโลกและชีวิตนั้นอย่างไร เริ่มตั้งแต่จะแปลความหมายของประสบการณ์ที่รับรู้เข้ามาใหม่อย่างไร จะตีค่า จะตัดสินวินิจฉัยว่าอย่างไร จะหันไปหาหรือเลือกรับสิ่งใด ส่วนใด ในแง่ใด จะเห็นด้วยหรือไม่ จะอยู่ฝ่ายใด แล้วชักนําแนวความคิด การพูดการกระทําที่จะสนองตอบโต้ แสดงปฏิกิริยาออกไปว่าจะเอาอย่างไร พูดหรือทําอย่างไร กับบุคคล สิง สภาพแวดล้อม หรือ สถานการณ์นั้นๆ พร้อมทั้งสร้างเหตุผลประกอบสําหรับการที่จะพูดจะทําเช่นนั้น

กล่าวสั้นๆ ด้วยศัพท์ธรรมว่า ทิฏฐิปรุงแต่งชักนําองค์ธรรมต่างๆ ตั้งแต่สังกัปปะ คือความคิด หรือ ความดําริเป็นต้นไป ให้เป็นมิจฉา หรือเป็นสัมมา ตามทิฏฐินั้นๆ

ในทางปฏิบัติ ความสําคัญของทิฏฐิมองเห็นได้ไม่ยาก เช่น เมื่อคนชอบความมั่งมี เห็นว่าความพรั่งพร้อมทางวัตถุส่วนตัวเป็นจุดหมายของชีวิต เป็นเครื่องวัดความสําเร็จของบุคคล และเป็นเครื่องหมายแห่งความภาคภูมิใจ เขาย่อมพยายามดิ้นรนขวนขวายเพื่อแสวงหาความพรั่งพร้อมทางวัตถุนั้น ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียน หรือประกอบกิจการงาน ก็ทําเพื่อจุดหมายนี้ และเมื่อมองดูคนอื่น เขาก็จะวัดจะตีค่าจะให้เกียรติคนนั้นๆ หรือไม่ โดยถือเอาความมั่งคั่งพรั่งพร้อมเป็นเกณฑ์

ยิ่งถ้าเขาขาดความใฝ่สุจริตด้วยแล้ว เขาก็จะแสวงหาความมั่งคั่ง โดยไม่เลือกวิธีว่าเป็นไปโดยสุจริตชอบธรรมหรือไม่ และจะมองเห็นคนประพฤติสุจริตที่ยากได้ว่า เป็นคนเขลาครีที่มซื้อ หรือไร้เกียรติ

ถ้าเด็กเห็นว่า การมีอํานาจ เป็นความเก่ง เป็นความดี เขาก็จะมีท่าทีที่น้อมไปในทางแสดงอํานาจ ทําตัวยิ่งใหญ่ ชอบครอบงําข่มเหงรังแกผู้อื่น

ถ้าคนเห็นว่าบุญบาปไม่มีจริง เป็นเพียงคําขู่หลอกไว้ เขาย่อมไม่เอาใจใส่สิ่งที่สอนว่าเป็นบุญ และไม่ระวังยั้งตัวในสิ่งที่ถือว่าเป็นบาป

เมื่อคนไม่เข้าใจซึ้งถึงสภาวะของโลกและชีวิตที่เป็นสิ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรอยู่โดยธรรมดา เขาย่อมมีความยึดมั่นต่อต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และบุคคลแวดล้อมมาก แล้วเกิดความหวันไหว หวั่นกลัว ทําการ และมีพฤติกรรมสะท้อนความทุกข์ ซึ่งเป็นไปตามอํานาจของความยึดมั่น หวั่นไหว หวาดกลัวนั้น ดังนี้เป็นต้น

ส่วนในด้านดี ก็พึงทราบโดยนัยตรงข้าม

ความเห็นที่ผิด เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ความเห็นที่ถูกต้อง เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ได้กล่าวแล้วว่า ปัจจัยให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะ ที่ไม่ดีไม่งาม สภาพแวดล้อมทางสังคมที่ชั่วร้าย เฉพาะอย่างยิ่งปาปมิตร และอโยนิโสมนสิการ คือการทําในใจโดยไม่แยบคาย ไม่รู้จักคิด คิดไม่เป็น คิดไม่ถูกวิธี

ส่วนปัจจัยของสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ ปรโตโฆสะที่ดีงาม การหล่อหลอมกล่อมเกลาในทางที่ถูกต้องจากสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ดี เฉพาะอย่างยิ่งกัลยาณมิตร หรือการเสวนาสัตบุรุษ และโยนิโสมนสิการ คือการทําในใจโดยแยบคาย รู้จักคิด คิดเป็น หรือคิดถูกวิธี

ในที่นี้ จะพูดถึงแต่สัมมาทิฏฐิเป็นหลัก เอามิจฉาทิฏฐิเป็นเรื่องแทรก สัมมาทิฏฐิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท หรือ ๒ ระดับ คือ

๑. โลกิยสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกีย์ คือ ยังเนื่องในโลก ขึ้นต่อโลก ได้แก่ ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตที่ถูกต้องตามหลักแห่งความดี เป็นไปตามคลองธรรม หรือสอดคล้องกับศีลธรรม ดังตัวอย่างในพุทธพจน์ที่ยกมาแสดงไว้แล้วข้างต้น

โดยทั่วไป สัมมาทิฏฐิประเภทนี้เกิดจาก ปรโตโฆสะ คือปัจจัยฝ่ายภายนอก หรือ องค์ประกอบทางสังคม ด้วยอาศัยศรัทธาเป็นเครื่องเชื่อมโยงหรือชักนํา เฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากการหล่อหลอมกล่อมเกลาของสังคม เช่น การอบรมสั่งสอนทางศีลธรรม การถ่ายทอดทางวัฒนธรรม เป็นต้น แม้สัมพันธ์กับโยนิโสมนสิการ ก็มักเป็นโยนิโสมนสิการแบบเร้ากุศล

ทิฏฐิระดับนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณค่า เช่นว่า ดี ชั่ว ถูก ผิด อะไรดีกว่า อะไรเลวกว่า ควรจะเป็น ไม่ควรจะเป็น หรือว่าน่าเป็น ไม่น่าเป็น อย่างไร เป็นต้น ตลอดจนหลักความเชื่อ หลักความเห็นต่างๆ ที่จะรักษาคุณค่าที่ดีงามถูกต้องไว้

เพราะเหตุที่เกิดจากการหล่อหลอมของสังคม มีการถ่ายทอดโดยปรโตโฆสะ ทิฏฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นหลักการ กฎเกณฑ์ มาตรฐาน ความเชื่อถือ ชนิดที่มนุษย์ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ หรือบัญญัติวางกันขึ้น เป็นของช้อนเข้ามา หรือต่างหากจากกฎธรรมดาของธรรมชาติอีกที่หนึ่ง และดังนั้น จึงมีลักษณะของความเป็นโลกิยะคือมีรายละเอียดข้อปลีกย่อยผิดแปลกแตกต่างกันออกไปตามกาลเทศะ เปลี่ยนแปลงได้ตามอิทธิพลของสภาพแวดล้อมและความเป็นไปของสังคม

ทิฏฐิจําพวกข้อถูกใจ ความใฝนิยม หรือค่านิยมทั้งหลาย ล้วนรวมอยู่ในทิฏฐิประเภทโลกิยะนี้ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ารายละเอียดข้อปลีกย่อยของทิฏฐินี้จะเปลี่ยนแปลงต่างกันไปได้ ตามถิ่นฐานและกาลสมัย แต่ก็มีหลักกลางสําหรับวัดความเป็นสัมมาทิฏฐิ คือ ความสอดคล้องกับหลักกรรม หรือกฎแห่งกรรมเพราะหลักกรรมเป็นกฎธรรมดา หรือหลักความจริง ที่รองรับความเป็นไปแห่งพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์

โดยนัยนี้ โลกิยสัมมาทิฏฐิจึงมีกฎธรรมชาติรองรับอยู่ หรือสอดคล้องกับความความจริงของธรรมชาติ และด้วยเหตุนี้ บางครั้งท่านจึงจํากัดความหมายของโลกิยสัมมาทิฏฐิ โดยระบุลงไปว่า ได้แก่ กัมมัสสกตาญาณ คือความรู้ว่าคนมีกรรมเป็นของตน รู้ว่าคนเป็นเจ้าของการกระทําของตน จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น คือได้รับผลแห่งกรรมของตน ซึ่งเป็นความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรม หรือพูดได้ว่า รู้เข้าใจถึงการที่พฤติกรรม และผลสืบเนื่องจากพฤติกรรมทั้งหลายของมนุษย์ เป็นไปตามกฎธรรมดาของความสัมพันธ์สืบทอดแห่งเหตุปัจจัย

โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงส่องถึงค่านิยมพื้นฐาน เช่น ความรับผิดชอบต่อการกระทําของตน ความใฝ่ผลสําเร็จที่เกิดจากการกระทํา หรือความเพียรพยายาม ความสามารถ และสติปัญญาของตน ความรู้จักพึ่งตนเอง และการช่วยเหลือกันด้วยเรียวแรงกําลังของมนุษย์เอง เป็นต้น

พึงสังเกตด้วยว่า ความรู้เกี่ยวกับกรรมในระดับนี้ เป็นเพียง “ความรู้ถึงความที่กรรมเป็นของตน รู้ว่าแต่ละสัตว์แต่ละคนเป็นเจ้าของการกระทําของตน ที่จะทําให้รู้จักรับผิดชอบต่อการกระทําของตนนั้น หรือรู้ว่ามนุษย์จะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมนั้น อยู่ในขั้นของความรู้เข้าใจที่สอดคล้องกับกฎแห่งกรรมเท่านั้น ยังมิใช่เป็นการรู้เข้าใจตัวกฎ หรือหยั่งรู้ถึงความเป็นไปของเหตุปัจจัยนั้นโดยตรง ทั้งนี้เพราะความรู้เข้าใจที่หยั่งถึงตัวกฎหรือเหตุปัจจัยโดยตรง ย่อมจัดเข้าในจําพวก โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นข้อต่อไป

นอกจากนี้ อาจวัดความเป็นโลกิยสัมมาทิฏฐิด้วยวิธีพูดอย่างอื่นอีก เช่นว่า ได้แก่ ทิฏฐิชนิดที่เกื้อกลเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ชีวิตและสังคม หรือว่าได้แก่ทิฏฐิชนิดที่ทําให้ก้าวหน้าไปในมรรคได้ คือ ส่งผลแก่องค์มรรคข้ออื่นๆ ได้ ตั้งแต่ช่วยให้เกิดสัมมาสังกัปปะ เป็นต้น และในเมื่อเป็นความรู้ความเข้าใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริงตามธรรมดาของธรรมชาติ โลกิยสัมมาทิฏฐินี้ จึงอาจเชื่อมต่อให้ก้าวไปยังโลกุตรสัมมาทิฏฐิได้ด้วย

๒. โลกุตรสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบระดับโลกุตระ คือเหนือโลก ไม่ขึ้นต่อโลก ได้แก่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกและชีวิตถูกต้องตามความเป็นจริง หรือรู้เข้าใจตามสภาวะของธรรมชาติ พูดง่ายๆ ว่า รู้เข้าใจธรรมชาตินั่นเอง

สัมมาทิฏฐิประเภทนี้ เกิดจาก โยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายใน หรือปัจจัยภายในตัวบุคคลปรโตโฆสะที่ดี หรือกัลยาณมิตร อาจช่วยได้เพียงด้วยการกระตุ้นให้บุคคลนั้นใช้โยนิโสมนสิการแล้วรู้เห็นเข้าใจเอง หมายความว่า สัมมาทิฏฐิประเภทนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เพียงด้วยการรับฟังแล้วเชื่อตามคนอื่นด้วยศรัทธาเพราะต้องเป็นการรู้จักที่ตัวสภาวะเอง ต้องเอาธรรมชาตินั่นเองเป็นข้อพิจารณาโดยตรง

ด้วยเหตุนี้ โลกุตรสัมมาทิฏฐิจึงไม่เกี่ยวข้องกับหลักการ กฎเกณฑ์ ข้อยึดถือที่ปรุงแต่งหรือบัญญัติวางซ้อนเพิ่มขึ้นมาต่างหากจากธรรมดาของธรรมชาติ และจึงเป็นอิสระจากการหล่อหลอมของสังคม ไม่ขึ้นต่ออิทธิพลของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นการเกี่ยวข้องกับธรรมชาติเองแท้ๆ ซึ่งมีสภาวะและธรรมดาเสมอเหมือนกันทุกถิ่นฐานทุกกาลสมัย

โดยนัยนี้ สัมมาทิฏฐิประเภทนี้จึงมีลักษณะเป็นโลกุตระ คือ ไม่ขึ้นต่อกาล ไม่จํากัดสมัย เป็นความรู้ความเข้าใจอย่างเดียวกัน จําเป็นสําหรับปรีชาญาณและความหลุดพ้นในทุกถิ่นทุกกาลเสมอเหมือนกัน

สัมมาทิฏฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ที่ท่านจัดเป็นโลกุตระนั้น หมายเอาเฉพาะที่เป็นความรู้ความเข้าใจชัดเจนแจ่มแจ้ง ถึงขั้นเป็นมรรคเป็นผล ทําให้เป็นอริยบุคคลเท่านั้น

แต่กระนั้นก็ตาม สัมมาทิฏฐิที่เป็นมรรคเป็นผลนั้น ก็สืบเนื่องไปจากสัมมาทิฏฐิแบบเดียวกัน ที่เป็นของปถุชนนั่นเอง ดังนั้น จึงขอเรียกสัมมาทิฏฐิตามความหมายอย่างที่สองนี้ ในขั้นที่เป็นของปุถุชนว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ

พึงเห็นความสําคัญของสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกุตระ หรือแนวโลกุตระนี้ว่า เป็นธรรมที่มีผลลึกซึ้งกว่าโลกียสัมมาทิฏฐิมาก สามารถทําให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในบุคลิกภาพอย่างที่เรียกว่าถอนรากถอนโคน

สัมมาทิฏฐิระดับนี้เท่านั้น จึงกําจัดกิเลสได้ มิใช่เพียงกด ข่ม หรือทับไว้ และทําให้เกิดความมั่นคงในคณธรรมอย่างแท้จริง ไม่แกว่งไกวไหวโอนไปตามค่านิยมที่สังคมหล่อหลอม เพราะมองความจริงผ่านทะลุเลยระดับสังคมไปถึงสภาวธรรมที่อยู่เบื้องหลังแล้ว จึงไม่เต้นส่ายไปกับภาพปรุงแต่งในระดับสังคม

ความที่ว่าในตอนนี้ มีความหมายสําคัญในแง่ของการศึกษาด้วย เพราะจะเป็นข้อพิจารณาเกี่ยวกับพัฒนาการของบุคคลว่าควรจะสัมพันธ์กับสังคมและธรรมชาติอย่างไร ควรได้รับอิทธิพล หรือได้รับประโยชน์จากสังคมและธรรมชาตินั้น แค่ไหนเพียงไร

อนึ่ง ดังที่ทราบอยู่แล้วว่า สัมมาทิฏฐิแนวโลกุตระ เกิดจากโยนิโสมนสิการ โยนิโสมนสิการจึงมีบทบาทสําคัญในเรื่องนี้ ซึ่งควรไว้อีกครั้งหนึ่งว่า ตามปกติ พฤติกรรมของมนุษย์ปุถุชนจะเป็นไปตามอํานาจของค่านิยม ที่เกิดจากการหล่อหลอมทางสังคม เช่น ละเว้นการกระทําไม่ดีอย่างนั้น และกระทําการที่ดีอย่างนี้ ตามคําอบรมสั่งสอนบอกเล่าถ่ายทอดเล่าเรียน หรือจดจําแบบอย่างมา ถ้าเมื่อใดปุถุชนไม่ตกอยู่ใต้อํานาจของค่านิยมเช่นนั้น เขาก็จะตกเป็นทาสของตัณหา ที่เรียกกันในสมัยใหม่ว่าอารมณ์ของตนเอง  แต่โยนิโสมนสิการ ช่วยให้หลุดพ้นได้ ทั้งจากอิทธิพลของค่านิยมทางสังคม และจากความเป็นทาสแห่งตัณหาหรืออารมณ์กิเลสของตนเองทําให้มีพฤติกรรมอิสระ ที่เป็นไปด้วยปัญญา

จึงอาจพูดสรุปได้ว่า ปุถุชนจะคิดจะทําการใดๆ ก็ตาม หากขาดโยนิโสมนสิการเสียแล้ว ถ้าไม่ตกอยู่ใต้อํานาจของค่านิยมจากภายนอก ก็ย่อมตกเป็นทาสแห่งตัณหาของตนเอง เมื่อใดมีโลกุตรสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นเขาก็จะหลุดพ้นจากอํานาจปรุงแต่งของสังคมได้อย่างแท้จริง

เมื่อใดทิฏฐิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นก็จัดเป็นปัญญา หรือไวพจน์คําหนึ่งของปัญญา  แม้ว่าในขั้นแรกเริ่ม สัมมาทิฏฐินั้นจะยังเป็นเพียงความเห็นหรือความเชื่ออยู่ ทั้งนี้เพราะความเห็นหรือความเชื่อนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริง มีความเข้าใจตามสภาวะหรือตามเหตุปัจจัยเป็นที่อ้างอิง เริ่มเดินหน้าออกจากอํานาจครอบงําของอวิชชาและตัณหา

ต่อจากนั้นไป แม้ว่าความเห็นหรือความเชื่อนั้นจะกลายเป็นความรู้ความเข้าใจอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งที่เรียกว่าญาณแล้ว ก็ยังคงเรียกด้วยชื่อเดิมว่าสัมมาทิฏฐิได้เรื่อยไป เพื่อสะดวกในการมองเห็นความเจริญเติบโตหรืองอกงามที่ต่อเนื่องกัน

โดยนัยนี้ สัมมาทิฏฐิจึงมีความหมายกว้างขวาง คลุมตั้งแต่ความเห็นและความเชื่อถือที่ถูกต้อง ไปจนถึงความรู้ความเข้าใจตามสภาวะที่เป็นจริง


พิมพ์