ปริยัติธรรม
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวายามะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาวายามะ คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความไม่เกิดขึ้น แห่ง อกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่ยังไม่เกิดขึ้น๒) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อละเสีย ซึ่งอกุศลธรรม อันเป็นบาป ที่เกิดขึ้นแล้ว
๓) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความเกิดขึ้น แห่ง กุศลธรรม ที่ยังไม่เกิดขึ้น
๔) ยังฉันทะให้เกิด พยายาม ระดมความเพียร ยกชูจิตไว้ มุ่งมั่น เพื่อความดํารงอยู่ เพื่อ ความไม่เลือนหาย เพื่อภิญโญภาพ เพื่อความไพบูลย์ เพื่อความเจริญเต็มบริบูรณ์ แห่งกุศล ธรรม ที่เกิดขึ้นแล้ว ส่วนในอภิธรรม มีคําจํากัดความเพิ่มอีกแบบหนึ่ง ดังนี้
“สัมมาวายามะ เป็นไฉน? การระดมความเพียร (วิริยารัมภะ) ทางใจ ความก้าวหน้า ความ บากบัน ความขะมักเขม้น ความพยายาม ความอุตสาหะ ความอึดสู้ ความเข้มแข็ง ความมั่นคง ความก้าวหน้าไม่ลดละ ความไม่ทอดทิ้งฉันทะ ความไม่ทอดทิ้งธุระ การแบกทูนเอาธุระไป วิริยะ วิริยินทรีย์ วิริยพละ สัมมาวายามะ วิริยสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์มรรค นับเนื่องในมรรค นี้ เรียกว่า สัมมาวายามะ"
ในคําจํากัดความและความหมายทั้งหมดนี้ พึงสังเกตความสําคัญของฉันทะ ที่เป็นตัวนําของ สัมมาวายามะ และเป็นสาระหลักของความเพียรทั้งหมด
สัมมาวายามะ อย่างที่แยกเป็น ๔ ข้อ ตามคําจํากัดความแบบพระสูตร นั้น เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า สัมมัปปธาน หรือ ปธาน ๔ และมีชื่อเรียกเฉพาะ สําหรับความเพียรแต่ละข้อนั้นว่า
๑. สังวรปธาน เพียรป้องกัน หรือเพียรระวัง (อกุศล ที่ยังไม่เกิด)๒. ปหานปธาน เพียรละ หรือเพียรกําจัด (อกุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว)
๓. ภาวนาปาน เพียรเจริญ หรือเพียรสร้าง (กุศล ที่ยังไม่เกิด)
๔. อนุรักขนาปธาน เพียรอนุรักษ์ หรือเพียรรักษาและส่งเสริม (กุศล ที่เกิดขึ้นแล้ว)
บางแห่งมีคําอธิบายแบบยกตัวอย่างความเพียร ๔ ข้อนี้ เช่น
๑. สังวรปธาน ได้แก่ ภิกษุเห็นรูปด้วยจักษุแล้ว ไม่ถือนิมิต (ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในรูปลักษณะทั่วไป) ไม่ถืออนุพยัญชนะ (ไม่คิดเคลิ้มหลงติดในลักษณะปลีกย่อย) ย่อมปฏิบัติเพื่อสํารวม ซึ่งอินทรีย์ ที่เมื่อไม่สํารวม แล้วจะพึงเป็นเหตุให้บาปอกุศลธรรม คือ อภิชฌาและโทมนัส (ความยินดียินร้าย หรือชอบใจไม่ชอบใจ) ครอบงํา ได้ ย่อมรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสํารวมในจักขุนทรีย์, ฟังเสียงด้วยหู สูดกลิ่นด้วยจมูก, ลิ้มรสด้วยลิ้น, ถูกต้อง โผฏฐพพะด้วยกาย, รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ (ก็เช่นเดียวกัน)
๒. ปหานปธาน ได้แก่ ภิกษุไม่ยอมให้กามวิตก พยาบาทวิตก วิหิงสาวิตก และบาปอกุศลธรรม ทั้งหลาย ที่เกิดขึ้นแล้วตั้งอยู่ได้ ย่อมละเสีย บรรเทาเสีย ทําให้หมดสิ้นไปเสีย ทําให้ไม่มีเหลืออยู่เลย
๓. ภาวนาปธาน ได้แก่ ภิกษุเจริญ โพชฌงค์ ๗ ประการ ซึ่งอิงวิเวก อิงวิราคะ อิงนิโรธ โน้มไปเพื่อ การสลัดพ้น
๔. อนุรักขนาปธาน ได้แก่ ภิกษุอนุรักษ์ (คอยถนอมรักษา) สมาธินิมิตอันดี คือ สัญญา ๕ ประการที่ เกิดขึ้นแล้ว
ความเพียรเป็นคุณธรรมสําคัญยิ่งข้อหนึ่งในพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นได้จากการที่สัมมาวายามะเป็น องค์มรรคประจําข้อ ๑ ใน ๓ ข้อ (สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ) ซึ่งต้องคอยช่วยหนุนองค์มรรคข้ออื่นๆ ทุกข้อเสมอไป ดังกล่าวแล้วข้างต้น และในหมวดธรรมที่เกี่ยวกับการปฏิบัติแทบทุกหมวด จะพบความเพียร แทรกอยู่ด้วย ในชื่อใดชื่อหนึ่ง การเน้นความสําคัญของธรรมข้อนี้ อาจพิจารณาได้จากพุทธพจน์ เช่น
“ธรรมนี้ เป็นของสําหรับผู้ปรารภความเพียร มิใช่สําหรับคนเกียจคร้าน
“ภิกษุทั้งหลาย เรารู้ชัดถึงคุณของธรรม ๒ ประการ คือ
๑) ความเป็นผู้ไม่สันโดษ ในกุศลธรรมทั้งหลาย๒) ความเป็นผู้ไม่ยอมถอยหลัง ในการเพียรบําเพ็ญ
เพราะฉะนั้นแล เธอทั้งหลาย พึงศึกษาดังนี้ว่า: เราจักตั้งความเพียรอันไม่ถอยหลัง ถึงจะ เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูก เนื้อและเลือดในสรีระ จะแห้งเหือดไป ก็ตามที ยังไม่บรรลุผลที่ บุคคลพึงลุถึงได้ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว ที่จะหยุดยั้งความเพียรเสีย เป็นอันไม่มี - เธอทั้งหลายพึงศึกษาฉะนี้แล
การที่ต้องเน้นความสําคัญของความเพียรนั้น นอกจากเหตุผลอย่างอื่นแล้ว ย่อมสืบเนื่องมาจากหลัก พื้นฐานของพระพุทธศาสนาที่ว่า สัจธรรมเป็นกฎธรรมชาติ หรือหลักความจริงที่มีอยู่โดยธรรมดา พระพุทธเจ้า หรือศาสดา มีฐานะเป็นผู้ค้นพบหลักความจริงนั้น แล้วนํามาเปิดเผยแก่ผู้อื่น การได้รับผลจากการปฏิบัติ เป็น เรื่องของความเป็นไปอันเที่ยงธรรม ตามเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ศาสดามิใช่ผู้บันดาล เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกคนจึง จําเป็นต้องเพียรพยายามสร้างผลสําเร็จด้วยเรี่ยวแรงของตน ไม่ควรคิดหวัง และอ้อนวอนขอผลที่ต้องการ โดย ไม่กระทํา หลักพุทธศาสนาในเรื่องนี้ จึงมีว่า
“ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา”
“ความเพียร ท่านทั้งหลายต้องทําเอง ตถาคตทั้งหลาย เป็นแต่ผู้บอก (ทาง) ให้”
อย่างไรก็ตาม การทําความเพียร ก็เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรมข้ออื่นๆ ต้องเริ่มก่อตัวขึ้นในใจให้พร้อม และถูกต้องก่อน แล้วจึงขยายออกไปเป็นการกระทําภายนอก ให้ประสานกลมกลืนกัน มิใช่คิดอยากทําความ เพียร ก็สักแต่ว่าระดมใช้กําลังกาย เอาแรงเข้าทุ่ม ซึ่งอาจกลายเป็นการทรมานตนเอง ทําให้เกิดผลเสียได้มาก
โดยนัยนี้ การทําความเพียรจึงต้องสอดคล้องกลมกลืนกันไปกับธรรมข้ออื่นๆ ด้วย โดยเฉพาะ สติสัมปชัญญะ มีความรู้ความเข้าใจ ใช้ปัญญา มีสติตรวจสอบ ดําเนินความเพียรให้พอเหมาะ อย่างที่เรียกว่าไม่ ตึง และไม่หย่อนเกินไป ดังเรื่องต่อไปนี้
ครั้งนั้น ท่านพระโสณะพํานักอยู่ในป่าสีตวัน ใกล้เมืองราชคฤห์ ท่านได้ทําความเพียรอย่างแรงกล้า เดิน จงกรมจนเท้าแตกทั้งสองข้าง แต่ไม่สําเร็จผล คราวหนึ่ง ขณะอยู่ในที่สงัด จึงเกิดความคิดขึ้นว่า “บรรดาสาวก ของพระผู้มีพระภาค ที่เป็นผู้ตั้งหน้าทําความเพียร เราก็เป็นผู้หนึ่ง ถึงกระนั้น จิตของเราก็หาหลุดพ้นจากอาสวะ หมดอุปาทานไม่ ก็แหละ ตระกูลของเราก็มีโภคะ เราจะใช้จ่ายโภคสมบัติ และทําความดีต่างๆ ไปด้วยก็ได้ อย่า กระนั้นเลย เราลาสิกขา ไปใช้จ่ายโภคสมบัติ และบําเพ็ญความดีต่างๆ เสียเถิด”
พระพุทธเจ้าทรงทราบความคิดของท่านโสณะ และได้เสด็จมาสนทนาด้วย
พระพุทธเจ้า: โสณะ เธอเกิดความคิด (ดังกล่าวข้างต้น) มิใช่หรือ?
โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? ครั้งก่อน เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอเป็นผู้ชํานาญในการดีดพิณ มิใช่หรือ
โสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? คราวใดสายพิณของเธอตึงเกินไป คราวนั้นพิณของเธอมี เสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ?
โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า: เธอคิดเห็นอย่างไร? คราวใด สายพิณของเธอหย่อนเกินไป คราวนั้นพิณของเธอ มีเสียงเพราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ กระนั้นหรือ?
โสณะ: หามิได้ พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า: แต่คราวใด สายพิณของเธอ ไม่ตึงเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ตั้งอยู่ในระดับพอดี คราวนั้นพิณของเธอ จึงจะมีเสียงไพเราะ หรือเหมาะที่จะใช้การ ใช่ไหม?
พระโสณะ: ถูกแล้ว พระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้า: ฉันนั้นเหมือนกัน โสณะ ความเพียรที่ระดมมากเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความ ฟุ้งซ่าน ความเพียรที่หย่อนเกินไป ย่อมเป็นไปเพื่อความเกียจคร้าน เพราะเหตุนั้นแล เธอจง ตั้งใจกําหนดความเพียรให้เสมอพอเหมาะ จงเข้าใจความเสมอพอดีกัน แห่งอินทรีย์ทั้งหลาย และจงถือนิมิตในความเสมอพอดีกันนั้น
ตัวสัมมาวายามะเองแท้ๆ ที่เป็นองค์มรรคนั้น เป็นคุณธรรมอยู่ภายในจิตใจของบุคคลก็จริง แต่กระนั้น สัมมาวายามะจะทําหน้าที่ของมันได้ และจะเจริญงอกงามขึ้นได้ ย่อมต้องอาศัยความสัมพันธ์กับโลกภายนอก กล่าวคือ การวางท่าที ตอบสนอง และจัดการกับอารมณ์ต่างๆ ที่รับรู้เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย บ้าง การแผ่ ขยายความเพียรนั้นจากภายในจิตใจออกไปเป็นการกระทํา ความประพฤติ การดําเนินชีวิต และการประกอบ กิจการต่างๆ บ้าง สภาพแวดล้อมภายนอกที่เอื้อ หรือไม่เอื้อ มีอิทธิพลต่อการประกอบความเพียรและความเจริญ งอกงามของคุณธรรมภายใน ทั้งในทางเกื้อกูลและในทางขัดขวางมั่นรอน บ้าง
เฉพาะอย่างยิ่ง ความเพียรพยายามในการประพฤติปฏิบัติธรรม ชนิดที่ขยายออกเป็นการกระทํา ภายนอก และซึ่งกระทํากันอย่างเป็นงานเป็นการ ที่เรียกว่า “ปธาน” นั้น ต้องเกี่ยวข้องและอิงอาศัยปัจจัย แวดล้อมภายนอกเป็นอันมาก ทั้งปัจจัยแวดล้อมทางร่างกาย ทางธรรมชาติ และทางสังคม
ณ จุดหรือขั้นตอนนี้แหละ ที่พุทธธรรมกล่าวถึงบทบาทและความสําคัญของปัจจัยแวดล้อมภายนอก เหล่านั้น ต่อการสร้างสรรค์ชีวิตที่ดีงาม และการเข้าถึงจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา
เพื่อให้เห็นตัวอย่าง ที่แสดงความคิดดังกล่าวแล้วนั้น ขอนําเอาพุทธพจน์ที่ตรัสเกี่ยวกับเรื่องเช่นนี้มา ประกอบการพิจารณาสักเล็กน้อย
“ภิกษุทั้งหลาย คุณสมบัติของผู้บําเพ็ญเพียร (ปธานิยังคะ/องค์ของผู้มีปธาน) มี ๕ ประการเหล่านี้; ๕ ประการ คืออะไร? (กล่าวคือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้
(๑) เป็นผู้มีศรัทธา เชื่อตถาคตโพธิ ว่า แม้เพราะเหตุดังนี้ๆ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ นั้น เป็นอรหันต์เป็นสัมมาสัมพุทธะ ฯลฯ เป็นผู้จําแนกแจกธรรม(๒) เป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ประกอบด้วยไฟเผาผลาญเครื่องย่อยอาหารอัน สม่ําเสมอ ไม่เย็นนัก ไม่ร้อนนัก พอปานกลาง เหมาะแก่การบําเพ็ญเพียร
(๓) เป็นผู้ไม่โอ้อวด ไม่มีมายา เป็นผู้เปิดเผยตัวตามเป็นจริง ทั้งในพระศาสดา ทั้งในเพื่อน พรหมจารี ผู้เป็นวิญญ
(4) เป็นผู้ระดมความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม มีความ เข้มแข็ง บากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย
(๕) เป็นผู้มีปัญญา ประกอบด้วยปัญญาอย่างอริยะ ที่หยั่งถึงความเกิดขึ้นและความดับ สลาย ชําแรกกิเลสได้ อันให้ถึงความสิ้นทุกข์โดยชอบ
“ภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่างเหล่านี้ มิใช่สมัยที่เหมาะสําหรับบําเพ็ญเพียร; ๕ อย่าง คืออะไร? (กล่าวคือ)
(๑) ภิกษุเป็นผู้แก่เฒ่า ถูกชราครอบงํา(๒) ภิกษุเป็นผู้เจ็บไข้ ถูกพยาธิครอบงํา
(๓) สมัยทุพภิกขา ข้าวไม่ดี หาอาหารยาก ไม่สะดวกที่จะยังชีพด้วยบิณฑบาต
(๕) สมัยที่มีภัย เกิดความเดือดร้อนวุ่นวายโจรผู้ร้ายจากป่ามาปลันตี ชาวชนบทพากันขึ้น ยานพาหนะผันผ้ายย้ายหนี
(๕) สมัยที่สงฆ์แตกแยกกัน เมื่อสงฆ์แตกแยกแล้ว ย่อมมีการด่าว่ากัน บริภาษกัน มีการใส่ ร้าย และละทิ้งกันและกัน คนที่ยังไม่เลื่อมใส ก็ไม่เลื่อมใส บางคนที่เลื่อมใสแล้ว ก็เปลี่ยนไป กลายเป็นอย่างอื่น
“ภิกษุทั้งหลาย ๕ อย่างเหล่านี้ เป็นสมัยที่เหมาะสําหรับบําเพ็ญเพียร; ๕ อย่าง คืออะไร? (กล่าวคือ)
(๑) ภิกษุยังหนุ่ม ยังเยาว์ มีผมดําสนิท ประกอบด้วยวัยหนุ่มอันเจริญ เป็นปฐมวัย(๒) ภิกษุเป็นผู้มีอาพาธน้อย มีโรคน้อย ฯลฯ
(๓) สมัยสุภิกขา ข้าวดี หาอาหารได้ง่าย สะดวกที่จะยังชีพด้วยบิณฑบาต
(๔) สมัยที่มนุษย์ (ประชาชน) ทั้งหลายพร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน เป็น เหมือนน้ํานมกับน้ํา มองดูกันด้วยสายตาประกอบด้วยความรัก
(๕) สมัยที่สงฆ์พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมต่อกัน ไม่วิวาทกัน มีอุเทศร่วมเป็นอันเดียวกัน เป็นอยู่ผาสุก, เมื่อสงฆ์พร้อมเพียงกัน ก็ไม่มีการด่าว่ากัน ไม่บริภาษกัน ไม่ใส่ร้ายกัน ไม่ทอดทิ้ง กัน คนที่ยังไม่เลื่อมใส ก็เลื่อมใส และคนที่เลื่อมใสแล้ว ย่อมเลื่อมใสยิ่งขึ้นไป”