ปริยัติธรรม
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
สัมมาสมาธิ เป็นองค์มรรคข้อสุดท้าย และเป็นข้อที่มีเนื้อหาสําหรับศึกษามาก เพราะเป็นเรื่องของการ ฝึกอบรมพัฒนาจิตในขั้นเต็มกระบวน เป็นเรื่องละเอียดประณีต ทั้งในแง่ที่เป็นเรื่องของจิตอันเป็นของละเอียด และในแง่การปฏิบัติที่มีรายละเอียดกว้างขวางซับซ้อน เป็นจุดบรรจบ หรือเป็นสนามรวมของการปฏิบัติ
ความเข้าใจเบื้องต้นความหมายของสมาธิ
“สมาธิ” แปลกันว่า ความตั้งมั่นของจิต หรือ ภาวะที่จิตแน่วแน่ต่อสิ่งที่กําหนด คําจํากัดความของสมาธิ ที่พบเสมอ คือ “จิตตัสเสกัคคตา” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “เอกัคคตา” ซึ่งแปลว่า ภาวะที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง คือ การที่จิตแน่วแน่แนบสนิทอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ส่าย ไม่วอกแวก
คัมภีร์รุ่นอรรถกถาระบุว่า สมาธิ คือภาวะมีอารมณ์หนึ่งเดียวของกุศลจิต และไขความว่า หมายถึงการดํารงจิตและเจตสิกไว้ในอารมณ์หนึ่งเดียว อย่างเรียบสม่ำเสมอ และด้วยดี หรือแม้แต่แค่จิตตั้งมั่น
พร้อมนั้น ท่านแสดงสาระสําคัญไว้ ซึ่งขอพูดให้ง่ายว่า สมาธิมีลักษณะไม่ส่ายหรือไม่ฟุ้งซ่าน มีหน้าที่ช่วย ให้ประดาธรรมที่เกิดร่วมรวมตัวกันอยู่ได้ เหมือนน้ำผนึกผงแป้งไว้ไม่ฟุ้งกระจาย ปรากฏเป็นความสงบ โดยมี ความสุขเป็นปทัฏฐาน (เหตุใกล้) อย่างพิเศษที่จะให้ถึงสมาธิ จิตที่เป็นสมาธินั้น นิ่งแน่ว เหมือนเปลวเทียนในที่ไม่มี ลมกวน ไฟทํางานเผาไหม้ต่อเนื่องไปอย่างสม่ำเสมอ มิใช่หยุดนิ่ง แต่สงบนิ่งแน่ว
“สัมมาสมาธิ” ตามคําจํากัดความในพระสูตรทั่วไป เจาะจงว่า ได้แก่ สมาธิตามแนวฌาน ๔ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสมาธิเป็นไฉน? (คือ) ภิกษุในธรรมวินัยนี้
๑. สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตก มีวิจาร มี ปีติและสุขเกิดแต่วิเวก อยู่
๒. เข้าถึงทุติยฌาน อันมีความผ่องใสแห่งจิตภายใน มีภาวะใจเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่ มีวิจาร เพราะวิตกวิจารระงับไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิ อยู่
๓. เพราะปีติจางไป เธอมีอุเบกขาอยู่ มีสติสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าถึง ตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายกล่าวว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุข
๔. เพราะละสุขละทุกข์ และเพราะโสมนัสโทมนัสตับหายไปก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ยันไม่มี ทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่
อย่างไรก็ตาม คําจํากัดความนี้ น่าจะถือเป็นการแสดงความหมายแบบเต็มกระบวน ดังจะเห็นว่า บาง แห่ง ท่านกล่าวถึงจิตตัสเสกัคคตานั่นเองว่าเป็นสมาธินทรีย์ ดังความบาลีว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อินทรีย์คือสมาธิ เป็นไฉน? (คือ) อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ กําหนดภาวะ ปล่อยวางเป็นอารมณ์แล้ว ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาแห่งจิต (ภาวะที่จิตมีอารมณ์หนึ่งเดียว), นี้ เรียกว่าอินทรีย์ คือสมาธิ” ส่วนคําจํากัดความในพระอภิธรรมปิฎก ว่าดังนี้
“สัมมาสมาธิ เป็นไฉน? ความตั้งอยู่แห่งจิต ความตั้งแน่ว ความมั่นลงไป ความไม่ส่ายไป ความไม่ฟุ้งซ่าน ภาวะที่มีใจไม่ซัดส่าย ความสงบ (สมถะ) สมาธินทรีย์ สมาธิพละ สัมมาสมาธิ สมาธิสัมโพชฌงค์ ที่เป็นองค์แห่งมรรค นับเนื่องในมรรค อันใด นี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ”
ว่าโดยสาระสําคัญ สมาธิที่ใช้ถูกทาง เพื่อจุดหมายในทางหลุดพ้น เป็นไปเพื่อปัญญาที่รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลาย ตามเป็นจริง มิใช่เพื่อผลในทางสนองความอยากของตัวตน เช่น จะอวดฤทธิ์ อวดความสามารถ เป็นต้น นั่นเอง เป็นสัมมาสมาธิ ดังหลักการที่ท่านแสดงไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมสามารถเจริญวิปัสสนาได้ โดยใช้สมาธิเพียง ขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า วิปัสสนาสมาธิ คือสมาธิที่ใช้ประกอบกับวิปัสสนา หรือเพื่อสร้างปัญญาที่รู้แจ้ง อันเป็นสมาธิ ในระดับระหว่างขณิกสมาธิ กับอุปจารสมาธิ เท่านั้น
ระดับของสมาธิ
ในชั้นอรรถกถา ท่านจัดแยกสมาธิออกเป็น ๓ ระดับ คือ
๑. ขณิกสมาธิ สมาธิชั่วขณะ (momentary concentration) เป็นสมาธิขั้นต้น ซึ่งคนทั่วไปอาจใช้
ประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่การงานในชีวิตประจําวันให้ได้ผลดี และจะใช้เป็นจุดตั้งต้นในการ
เจริญวิปัสสนา ก็ได้
๒. อุปจารสมาธิ สมาธิเฉียดๆ หรือสมาธิจวนจะแน่วแน่ (access concentration) เป็นสมาธิขั้นระงับนิวรณ์ได้ ก่อนที่จะเข้าสู่ภาวะแห่งฌาน หรือสมาธิในบุพภาคแห่งอัปปนาสมาธิ
๓. อัปปนาสมาธิ สมาธิแน่วแน่ หรือสมาธิที่แนบสนิท (attainment concentration) เป็นสมาธิระดับสูงสุด ซึ่งมีในฌานทั้งหลาย ถือว่าเป็นผลสําเร็จที่ต้องการของการเจริญสมาธิ
สมาธิอย่างที่ ๒ และ ๓ มีกล่าวถึงบ่อยๆ ในคําอธิบายเกี่ยวกับการเจริญกรรมฐาน และมีที่กําหนด ค่อนข้างชัดเจน คือ อุปจารสมาธิ เป็นสมาธิเมื่อจิตตั้งมั่นโดยละนิวรณ์ทั้ง ๕ ได้ ถ้ามองในแง่การกําหนด อารมณ์กรรมฐาน ก็เป็นช่วงที่เกิดปฏิภาคนิมิต (ภาพที่มองเห็นในใจของสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งประณีต ลึกซึ้งเลยจากขั้นที่เป็นภาพติดตาไปอีกขั้นหนึ่ง เป็นของเกิดจากสัญญา บริสุทธิ์ ปราศจากสี ปราศจากมลทิน สามารถนึกขยายหรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา) เป็นสมาธิจวนเจียนจะแน่วแน่โดยสมบูรณ์ ใกล้จะถึงฌาน
อุปจารสมาธินั่นแหละ เป็นเมื่อชํานิชํานาญ คุ้นดีแล้ว ก็จะแน่วแน่ กลายเป็น อัปปนาสมาธิ เป็นองค์แห่งฌานต่อไป
แต่สมาธิอย่างแรก คือ ขณิกสมาธิ ดูเหมือนจะไม่มีเครื่องกําหนดหมายที่ชัดเจน จึงน่าจะพิจารณาพอ ให้เห็นเค้ารูปว่า แค่ไหนเพียงไร
คัมภีร์ปรมัตถมัญชุสา กล่าวว่า “มูลสมาธิ” (สมาธิขั้นมูล สมาธิเบื้องต้น หรือสมาธิต้นเค้า) และ บริกรรมสมาธิ (สมาธิขั้นตระเตรียม หรือเริ่มลงมือ) ที่กล่าวถึงในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็น ขณิกสมาธิ
มูลสมาธิ ที่ว่าเป็นขณิกสมาธินั้น ท่านยกตัวอย่างจากบาลีมาแสดง ดังนี้
๑. “เพราะฉะนั้นแล ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า จิตของเราจักเป็นจิตที่ตั้งมั่น ดํารงแน่ว เป็นอย่างดี ในภายใน และธรรมทั้งหลายที่ชั่วร้าย เป็นอกุศล จักไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้, ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
๒. “เมื่อใดแล จิตของเธอ เป็นจิตที่ตั้งมั่น ดํารงแน่วเป็นอย่างดีแล้ว ในภายใน และธรรม ทั้งหลายที่ชั่วร้าย เป็นอกุศล ไม่เกาะกุมจิตตั้งอยู่ได้ เมื่อนั้น เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเจริญ จักทําให้มาก ซึ่งเมตตาเจโตวิมุตติ ทําให้เป็นดุจยาน ทําให้เป็นที่ตั้ง ให้มั่นคง สั่งสมจัดเจน ทําให้สําเร็จได้เป็นอย่างดี, ภิกษุ เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล
๓. “เมื่อใดแล สมาธินี้ เป็นธรรมอันเธอได้เจริญ ได้กระทําให้มากอย่างนี้แล้ว เมื่อนั้น เธอ พึงเจริญสมาธินี้ อันมีทั้งวิตกทั้งวิจารบ้าง อันไม่มีวิตกไม่มีวิจารบ้าง อันไม่มีวิตกมีแต่วิจารบ้าง อันมีปีติบ้าง อันไม่มีปีติบ้าง อันประกอบด้วยความชื่นบ้าง อันประกอบด้วยอุเบกขาบ้าง ฯลฯ
ท่านอธิบายว่า อาการที่จิตพอแค่มีอารมณ์หนึ่งเดียวลงได้ โดยภาวะที่เป็นตัวของตัวเองอยู่ภายใน ตาม ความในข้อที่ ๑. ที่ว่า จิตตั้งมั่น ดํารงแน่วเป็นอย่างดีในภายใน บาปอกุศลธรรมไม่อาจครอบงําได้ ภาวะจิตขั้นนี้ แหละเป็น “มูลสมาธิ”
ความต่อไปในข้อที่ ๒. เป็นขั้นเจริญ คือ พัฒนามูลสมาธินั้นให้มั่นคงอยู่ตัวยิ่งขึ้น ด้วยวิธีเจริญเมตตา ท่านเปรียบมูลสมาธิ เหมือนกับไฟที่เกิดขึ้นจากการสีไม้สีไฟ หรือตีเหล็กไฟ ส่วนการพัฒนามูลสมาธินั้นด้วยการ เจริญเมตตา เป็นต้น ก็เหมือนกับเอาเชื้อไฟมาต่อ ให้ไฟนั้นลุกไหม้ต่อไปได้อีก
ส่วนข้อที่ ๓. เป็นขั้นทําให้มูลสมาธิ หรือขณิกสมาธินั้น เจริญขึ้นไป จนกลายเป็นอัปปนาสมาธิ (ผ่าน อุปจารสมาธิ) ในขั้นฌาน ด้วยวิธีกําหนดอารมณ์อื่นๆ เช่น กสิณ เป็นต้น
ตัวอย่างอื่นอีก เช่น ที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าถึงการบําเพ็ญเพียรของพระองค์เองว่า
๑. “ภิกษุทั้งหลาย เรานั้น เมื่อเป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีใจมุ่งเด็ดเดี่ยวอยู่ มี เนกขัมมวิตกอพยาบาทวิตกอวิหิงสาวิตก เกิดขึ้น เราย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เนกขัมมวิตก... อพยาบาทวิตก...อวิหิงสาวิตก นี้ เกิดขึ้นแล้วแก่เรา
“ก็แล วิตกชนิดนั้น ย่อมไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนผู้อื่น ไม่ เป็นไปเพื่อเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย ช่วยเพิ่มพูนปัญญา ไม่ส่งเสริมความคับแค้น เป็นไปเพื่อ นิพพาน
“ถึงหากเราจะเฝ้าตรึกเฝ้าตรองวิตกชนิดนั้นตลอดทั้งคืน เราก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้น จากวิตกชนิดนั้นเลย ถึงหากเราจะเฝ้าตรึกเฝ้าตรองวิตกชนิดนั้นตลอดทั้งวัน...ตลอดทั้งคืนและ ทั้งวัน เราก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นจากวิตกชนิดนั้นเลย,
“ก็แต่ว่า เมื่อเราเฝ้าตรึกตรองอยู่เนิ่นนานเกินไป ร่างกายก็จะเหน็ดเหนื่อย เมื่อกายเหน็ด เหนื่อย จิตก็จะฟุ้งซ่าน เมื่อจิตฟุ้งซ่าน จิตก็ห่างจากสมาธิ,
“ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล จึงดํารงจิตไว้ในภายใน ทําให้อยู่ตัวสงบ ทําให้มีอารมณ์หนึ่ง เดียว ตั้งมั่นไว้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะหมายใจว่า จิตของเราอย่าได้ฟังซ่านไปเลย ดังนี้
๒. “ภิกษุทั้งหลาย ความเพียร เราก็ได้เร่งระดมแล้ว ไม่ย่อหย่อน สติก็กํากับอยู่ ไม่เลือน หลง กายก็ผ่อนคลายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตก็ตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว
๓. “ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุ แล้วซึ่งปฐมฌาน...”
ท่านอธิบายว่า ความในข้อ ๑. ว่า “ดํารงจิตไว้ในภายใน ทําให้อยู่ตัวสงบ ทําให้มีอารมณ์หนึ่งเดียว ตั้ง มัน” ก็ดี ความในข้อ ๒.ว่า “จิตก็ตั้งมั่น มีอารมณ์หนึ่งเดียว” ก็ดี แสดงถึง “มูลสมาธิ” (คือ ขณิกสมาธิ อันมี มาก่อนหน้าที่จะเกิดอัปปนาสมาธิในขั้นฌาน ตามความในข้อที่ ๓.
ส่วน บริกรรมสมาธิ ก็มีตัวอย่าง เช่น ผู้ที่ฝึกทิพโสต ออกจากฌานแล้ว เอาจิตกําหนดเสียงต่างๆ ตั้งแต่ เสียงที่ดังมาก แต่ไกล เช่น เสียงเสือสิงห์คําราม เสียงรถบรรทุก หรือเสียงแตรรถ เป็นต้น แล้วกําหนดเสียงที่เบา ผ่อนลงมา เช่น เสียงกลอง เสียงระฆัง เสียงดนตรี เสียงสวดมนต์ เสียงคนคุยกัน เสียงนก เสียงลม เสียงจิ้งจก เสียงใบไม้ เป็นต้น ตามลําดับ
เสียงที่คนจิตใจปกติพอได้ยิน แต่คนที่มีบริกรรมสมาธิ หรือขณิกสมาธินี้ได้ยิน จะดังชัดเจนกว่าเป็นอันมาก
เรื่องขณิกสมาธิ พึงพิจารณาทําความเข้าใจ ตามนัยที่กล่าวมานี้
คัมภีร์บางแห่งกล่าวถึง วิปัสสนาสมาธิ เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง แทรกอยู่ระหว่างขณิกสมาธิ กับอุปจารสมาธิ พึงทราบว่า วิปัสสนาสมาธินั้น ก็คือ ขณิกสมาธิ ที่นําไปใช้ในการเจริญวิปัสสนานั่นเอง และมีความ ประณีตยิ่งขึ้นไปเพราะการปฏิบัติ
ความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิ: มองอย่างทั่วไปความมุ่งหมายของสมาธิที่ใช้อย่างถูกต้อง หรือพูดตามศัพท์ว่า ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธินั้น เป็นที่ ชัดเจน ดังได้กล่าวมาแล้วบ่อยๆ ว่า เพื่อเตรียมจิตให้พร้อมที่จะใช้ปัญญาอย่างได้ผลดี
พูดอย่างง่ายๆ ว่า สมาธิเพื่อปัญญา ดังบาลีที่เคยอ้างแล้วว่า “สมาธิ เพื่ออรรถคือยถาภูตญาณทัสสนะ (สมาธิ เพื่อจุดหมายคือการรู้เห็นตามเป็นจริง)” บ้าง “สมาธิ มียถาภูตญาณทัสสนะ เป็นอรรถ เป็นอานิสงส์ (ความมุ่งหมายและผลสนองที่พึงประสงค์ของสมาธิ คือการรู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น)” บ้าง “จิตวิสุทธิ เพียงแค่มีทิฏฐิวิสุทธิเป็นอรรถ (การบําเพ็ญสมาธิให้จิตบริสุทธิ์ มีจุดหมายอยู่แค่จะทําความเห็นความเข้าใจให้ ถูกต้องบริสุทธิ์)” บ้าง
อีกทั้งอาจจะอ้างพุทธพจน์ต่อไปนี้ มาสนับสนุนด้วย
“สมาธิที่ศีลบ่มรอบแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก, ปัญญาที่สมาธิบ่มรอบแล้ว ย่อมมี ผลมาก มีอานิสงส์มาก, จิตที่ปัญญาบ่มรอบแล้ว ย่อมหลุดพ้นโดยชอบเทียว จากอาสวะทั้งหลาย คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ”
แม้ว่าสมาธิจะมีความมุ่งหมายดังกล่าวมานี้ก็จริง แต่สมาธิก็ยังมีคุณประโยชน์อย่างอื่นๆ ที่ นอกเหนือไปจากจุดมุ่งหมายนั้นอีก ประโยชน์บางอย่าง เป็นผลพลอยได้ ในระหว่างการปฏิบัติเพื่อบรรลุจุดหมาย ของสมาธินั้นเอง บางอย่างเป็นประโยชน์ส่วนพิเศษออกไป ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนยิ่งกว่าธรรมดา บางอย่างเป็น ประโยชน์ที่เกื้อกูล แม้แก่ท่านที่ได้บรรลุจุดหมายของสมาธิเสร็จสิ้นไปแล้ว
ความมุ่งหมายและประโยชน์ของสมาธิ สรุปตามประเภทของสมาธิภาวนาถ้าสรุปตามพระบาลี การฝึกอบรมเจริญสมาธิ มีวัตถุประสงค์ที่จะนําไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้
“ภิกษุทั้งหลาย สมาธิภาวนา การเจริญสมาธิ) มี ๔ อย่าง ดังนี้ คือ
๑. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อทิฏฐธรรมสุขวิหาร (การอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน)๒. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อการได้ญาณทัสสนะ
๓. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อสติและสัมปชัญญะ
๔. สมาธิภาวนา ที่เจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย
แบบที่ ๑ บาลีขยายความว่า ได้แก่ ฌาน ๔ ข้อ นี่ก็คือ การเจริญฌานในลักษณะที่พูดอย่างชาวบ้านว่า เป็นวิธีหาความสุขแบบหนึ่ง ตามหลักที่แบ่งความสุขเป็น ๑๐ ขั้น ซึ่งประณีตขึ้นไปตามลําดับ คือ กามสุข สุข ในรูปฌาน ๔ ขั้น สุขในอรูปฌาน ๔ ขั้น และสุขในนิโรธสมาบัติ พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย นิยม เจริญฌานในโอกาสว่าง เพื่อเป็นการพักผ่อนอย่างสุขสบาย ที่เรียกว่า ทิฏฐธรรมสุขวิหาร
แบบที่ ๒ บาลีขยายความว่า ได้แก่การมนสิการอาโลกสัญญา (กําหนดหมายในแสงสว่าง) อธิษฐานทิวา สัญญา (กําหนดหมายว่าเป็นกลางวัน) เหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดโล่ง ไม่ถูก (นิวรณ์) ห่อหุ้ม ฝึกให้เป็นจิตที่มีความสว่าง
อรรถกถาอธิบายว่า การได้ญาณทัสสนะในที่นี้ หมายถึงการได้ทิพยจักษุ และท่านกล่าวว่า ทิพยจักษุนั้น เป็นยอดของโลกิยอภิญญาทั้ง ๕ (อีก ๔ คือ อิทธิวิธี ทิพยโสต เจโตปริยญาณ และปุพเพนิวาสานุสติญาณ) บาง แห่งท่านกล่าวถึงญาณทัสสนะนี้คําเดียว หมายคลุมถึงโลกิยอภิญญาหมดทั้ง ๕ ดังนั้น ประโยชน์ข้อนี้จึงหมายถึง การนําเอาสมาธิไปใช้เพื่อผลสําเร็จทางจิต คือความสามารถพิเศษจําพวกอภิญญา รวมทั้งอิทธิปาฏิหาริย์
แบบที่ ๓ คือ การตามดูรู้ทันความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นดับไป ในความเป็นอยู่ประจําวันของตน ดังที่บาลีไขความไว้ว่า เวทนา สัญญา และวิตกทั้งหลาย จะเกิดขึ้น จะตั้งอยู่ จะดับไป ก็เป็นไปโดยรู้ชัด
แบบที่ ๔ บาลีขยายความว่า ได้แก่ การเป็นอยู่โดยมีปัญญามองดูรู้ทันอยู่เสมอ ถึงความเกิดขึ้น และ ความเสื่อมสิ้นไปในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ ว่า รูป เป็นดังนี้ ความเกิดขึ้นของรูป เป็นดังนี้ ความดับไปของรูป เป็น ดังนี้ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นดังนี้ เกิดขึ้นดังนี้ ดับไปดังนี้ มองอย่างกว้างๆ ก็คือ การใช้สมาธิเพื่อ ประโยชน์ทางปัญญา เป็นอุปกรณ์ในการเจริญวิปัสสนา อย่างที่เรียกว่า เป็นบาทฐานของวิปัสสนา เพื่อบรรลุ จุดหมายสูงสุด คือ อาสวักขยญาณ หรือวิชชาวิมุตติ
ตามคําอธิบายของอรรถกถา จะเห็นว่า ประโยชน์อย่างที่ ๑ และ ๒ เป็นด้านสมถะ ส่วนประโยชน์อย่าง ที่ ๓ และ ๔ เป็นด้านวิปัสสนา
ประโยชน์อย่างอื่นๆ ที่ได้กล่าวข้างต้น แม้จะไม่มีระบุไว้ในพระบาลีนี้ ก็พึงเห็นว่า เป็นประโยชน์พลอย ได้สืบเนื่องออกไป ซึ่งพึ่งได้รับในระหว่างการปฏิบัติ เพื่อประโยชน์ ๔ อย่างนี้บ้าง เป็นข้อปลีกย่อยกระจาย ออกไป ไม่ต้องระบุไว้ให้เด่นชัดต่างหากบ้าง
ในคัมภีร์ในอรรถกถา ท่านก็ได้สรุปอานิสงส์ คือ ผลได้ต่างๆ ของสมาธิภาวนา หรือการฝึกเจริญสมาธิ ไว้เหมือนกัน ดังที่แสดงไว้ในวิสุทธิมัคค์ มี ๕ ประการ คือ
๑) เป็นวิธีการพักผ่อนอย่างสุขสบายในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร)ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา (คือ ระดับฌาน) สําหรับพระอรหันต์ ซึ่งเป็นผู้ทํากิจเพื่อความ หลุดพ้นเสร็จสิ้นแล้ว ไม่ต้องใช้ฌานเพื่อบรรลุภูมิธรรมใดๆ ต่อไปอีก อ้างพุทธพจน์ว่า
“ฌานเหล่านี้ เรียกว่าเป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร ในอริยวินัย (ระบอบของอริยชน หรือแบบ แผนของพระอริยะ)”
๒) เป็นบาท หรือเป็นปทัฏฐาน แห่งวิปัสสนา
ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาก็ได้ หรือขั้นอุปจาระก็พอได้ แต่ไม่โปร่งนัก ประโยชน์ข้อนี้ใช้ สําหรับพระเสขะและปุถุชน อ้างพุทธพจน์ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย จงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง”
๓) เป็นบาทหรือเป็นปทัฏฐานแห่งอภิญญา
ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สําหรับผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว เมื่อต้องการอภิญญา ก็อาจทําให้ เกิดขึ้นได้ อ้างพุทธพจน์ว่า
“จิตนุ่มนวลควรแก่งานจะน้อมจิตไป เพื่อประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมที่พึ่ง ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา อย่างใดๆ ก็ถึงความเป็นพยานในธรรมนั้นๆ ได้ในเมื่อเหตุมีอยู่
๔) ทําให้ได้ภพวิเศษ
ข้อนี้ หมายถึงการเกิดในภพที่ดีที่สูง เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สําหรับปุถุชนผู้ได้ฌานแล้ว และ ฌานมิได้เสื่อมไปเสีย ทําให้ได้เกิดในพรหมโลก อ้างพุทธพจน์ว่า
“เจริญปฐมฌานขั้นปริตตกุศลแล้วเกิดที่ไหน? ย่อมเข้าร่วมพวกเทพพรหมปาริสัชชา" อย่างไรก็ดี แม้สมาธิขั้นอุปจาร ก็สามารถให้ภพวิเศษ คือกามาวจรสวรรค์ ๖ ได้
๕) ทําให้เข้านิโรธสมาบัติได้
ข้อนี้ เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนา สําหรับ (พระอรหันต์ หรือพระอนาคามี) ผู้ได้สมาบัติ ๘ แล้ว ทํา ให้เสวยความสุขอยู่ได้โดยไม่มีจิต ตลอดเวลา ๗ วัน อ้างญาณในนิโรธสมาบัติ ในปฏิสัมภิทามัคค์
การเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผนคําว่า การเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผน ในที่นี้ หมายถึง วิธีฝึกอบรมเจริญสมาธิอย่างที่ได้ปฏิบัติสืบๆ กันมา ในประเพณีการปฏิบัติธรรมของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ตามที่ท่านนําลงเขียนอธิบายไว้ในคัมภีร์ชั้น อรรถกถา เฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ เป็นวิธีการที่ปฏิบัติกันอย่างเอาจริงเอาจัง เป็นงานเป็นการ โดยมุ่ง ฝึกจําเพาะแต่สมาธิแท้ๆ ภายในขอบเขตที่เป็นระดับโลกีย์ทั้งหมด ซึ่งกําหนดวางกันไว้เป็นรูปแบบ มีขั้นตอนที่ ดําเนินไปตามลําดับ เริ่มตั้งแต่การตระเตรียมตัวเบื้องต้นก่อนฝึก วิธีเจริญกรรมฐานแต่ละอย่างๆ และ ความก้าวหน้าในการฝึก จนได้รับผลในขั้นต่างๆ ตลอดถึงฌานสมาบัติ และโลกิยอภิญญาทั้งหลาย
วิธีเจริญสมาธิอย่างเป็นแบบแผนนั้น สรุปความตามที่ท่านแสดงไว้ เป็นลําดับขั้นตอนใหญ่ได้ คือ เบื้องแรก เมื่อมีศีลบริสุทธิ์ดี หรือชําระศีลให้หมดจดแล้ว๑. ตัดปลิโพธ คือ ข้อติดข้อง หรือเหตุกังวล ๑๐ ประการ
๒. เข้าหากัลยาณมิตร คือ ครูอาจารย์ ผู้มีคุณสมบัติเหมาะที่จะให้กรรมฐาน
๓. รับเอากรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔๐ อย่าง ที่เหมาะกับจริยาของตน
๔. ก) เข้าอยู่ในวัด ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ปฏิบัติ ซึ่งเหมาะแก่การเจริญสมาธิ
ข) ตัดปลิโพธ คือ ข้อกังวลเล็กๆ น้อยๆ เสียให้หมด
๕. สมาธิภาวนา: ปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ
รายละเอียดของวิธีปฏิบัติตามหัวข้อเหล่านี้ ท่านกล่าวไว้สําหรับพระภิกษุผู้จะทําการฝึกอย่างจริงจัง อาจ เป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ถ้าคฤหัสถ์จะปฏิบัติหรือผู้ใดจะฝึกระยะสั้นๆ ก็พึงจับเอาสาระมาใช้เท่าที่เหมาะ
ข้อ ๑. ตัดปลิโพธ ๑๐ปลิโพธ แปลว่า เครื่องผูกพัน หรือหน่วงเหนี่ยว ซึ่งเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวน ห่วงกังวล ไม่โปร่ง แปลกัน ง่ายๆ ว่าความกังวล เมื่อมีปลิโพธ ก็จะทําให้ปฏิบัติก้าวหน้าไปได้ยาก ไม่อํานวยโอกาสแก่การเกิดสมาธิ จึงต้อง กําจัดเสีย ปลิโพธ นั้นท่านแสดงไว้ ๑๐ อย่าง คือ :
๑. อาวาส คือ ที่อยู่ หรือวัด ตนมีของใช้เก็บสะสมไว้มาก หรือมีงานอะไรค้างอยู่ เป็นกังวล แต่ถ้าใจไม่ผูกพัน ก็ไม่เป็นไร๒. ตระกูล คือ ตระกูลญาติ หรือตระกูลอุปัฏฐาก ซึ่งสนิทสนม ห่างไป ใจคอยห่วง ควรทําใจให้ได้
๓. ลาภ เช่น มีคนเลื่อมใสมาก มาหามาถวายของ มัววุ่นอยู่ ไม่เป็นอันปฏิบัติ ควรปลีกตัวไปหาที่สงัด
๔. คณะ เช่น มีคณะศิษย์ที่ต้องสอน ยุ่งอยู่กับงานสอน และการแก้ความสงสัย ควรทําให้เสร็จเรื่องที่ค้าง หรือหาคนแทน เป็นต้น แล้วขอโอกาสลาไป
๕. กรรม คือ การงาน โดยเฉพาะนวกรรม การก่อสร้าง) ควรทําให้เสร็จ หรือมอบหมายแก่ใครให้เรียบร้อย
๖. อัทธานะ คือ การเดินทางไกลด้วยกิจธุระ เช่น ไปบวชพระเณร พึ่งทําเสียให้เสร็จ ให้หมดกังวล
๗. ญาติ ทั้งญาติทางบ้าน และญาติทางวัด (อุปัชฌาย์ อาจารย์ ศิษย์ เพื่อนศิษย์) เจ็บป่วย ต้องขวนขวายรักษาให้หาย จนหมดห่วง
๘. อาพาธ คือ ตนเองป่วยไข้ รีบรักษาให้หาย ถ้าดูท่าจะไม่ยอมหาย ก็ให้ทําใจสู้ว่า ฉันจะไม่ยอมเป็นทาสของแก จะปฏิบัติละ
๙. คันถะ คือ ปริยัติ หรือสิ่งที่เล่าเรียน เป็นปลิโพธสําหรับผู้วุ่นกับการรักษาความรู้ เช่น สาธยาย เป็นต้น ถ้าไม่วุ่น ก็ไม่เป็นไร
๑๐. อิทธิ คือ ฤทธิ์ของปุถุชน เป็นภาระในการรักษา แต่เป็นปลิโพธสําหรับผู้บําเพ็ญวิปัสสนาเท่านั้นไม่เป็นปลิโพธแก่การเจริญสมาธิโดยเฉพาะ เพราะผู้ที่เจริญสมาธิ ยังไม่มีฤทธิ์ที่จะห่วง
ข้อ ๒. เข้าหากัลยาณมิตร
เมื่อตัดปลิโพธได้แล้ว ไม่มีอะไรติดข้องค้างใจ ไร้ห่วงกังวล จึงไปหาท่านที่สามารถสอนกรรมฐานให้แก่ ตนได้ ซึ่งมีคุณสมบัติดีงาม ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอย่างแท้จริง เรียกว่า กัลยาณมิตร คือ ผู้ประกอบด้วย กัลยาณมิตรธรรม ๗ ประการ คือ น่ารัก น่าเคารพ น่าเจริญใจ รู้จักว่ารู้จักพูด ยอมให้พูดยอมให้ว่า แถลงเรื่อง ลึกซึ้งได้ และไม่ชักนําในเรื่องไม่ควร
กัลยาณมิตรนั้น ถ้าให้ดี ควรได้พระพุทธเจ้า ถ้าไม่ได้ ก็หาพระอรหันต์ พระอริยบุคคลระดับรองลงมา ท่านผู้ได้ฌาน ผู้ทรงพระไตรปิฎก จนถึงท่านที่เป็นพหูสูตลดหลั่นกันลงมา
ท่านว่า พระปุถุชนที่เป็นพหูสูต บางที่สอนได้ดีกว่าพระอรหันต์ที่ไม่เป็นพหูสูตเสียอีก เพราะพระอรหันต์ ถนัดแต่แนวปฏิบัติที่ท่านผ่านมาเองเท่านั้น บอกทางไปได้พอจําเพาะตัว และบางองค์ก็ไม่ถนัดเชิงสอนอีกด้วย ส่วนพระพหูสูต ได้ค้นคว้ามาก สอบสวนมาหลายอาจารย์ แสดงทางไปให้เห็นกว้างขวาง และรู้จักกลวิธียักเยื้อง สอนให้เหมาะ ยิ่งได้พระอรหันต์ที่เป็นพหูสูต ก็ยิ่งดี
เมื่อหากัลยาณมิตรได้แล้ว พึงเข้าไปหา ทําวัตรปฏิบัติต่อท่านแล้ว ขอโอกาสเรียนกรรมฐานจากท่าน
ข้อ ๓. รับกรรมฐานที่เหมาะกับจริยา
ในข้อนี้ พึงเข้าใจความหมายของจริยา และกรรมฐาน พอเป็นเค้า ดังนี้
กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทํางานของจิต หรือที่ให้จิตทํางาน มีความหมายเป็นทางการว่า สิ่งที่ใช้ เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา หรืออุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนําสมาธิ พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่เอามาให้จิตกําหนด (ด้วยสติ) จิตจะได้มีงานทําเป็นเรื่องเป็นราว สงบอยู่ที่ได้ ไม่เที่ยววิ่งเล่นเตลิดหรือ เลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปอย่างไร้จุดหมาย
พูดสั้นๆ กรรมฐาน คือ สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ของจิตที่จะชักนําให้เกิดสมาธิ หรืออะไรก็ได้ที่พอจิตเพ่งหรือ จับแล้ว จะช่วยให้จิตแน่วแน่อยู่กับมัน เป็นสมาธิได้เร็ว และมั่นคงที่สุด พูดให้สั้นที่สุดว่า สิ่งที่ใช้ฝึกสมาธิ
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ
ก. กสิณ ๑๐ แปลกันว่า วัตถุอันจูงใจ หรือวัตถุสําหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ เป็นวิธีใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยวิธีเพ่ง เพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง มี ๑๐ อย่าง คือก) ภูตกสิณ (กสิณ คือมหาภูตรูป) ๔ คือ ปฐวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม)
ข) วรรณกสิณ (กสิณ คือสี) ๔ คือ นีล (เขียว) ปีต (เหลือง) โลหิต (แดง) โอทาต (ขาว)
ค) กสิณอื่นๆ คือ อาโลก (แสงสว่าง) ปริจฉินนากาส เรียกสั้นว่า อากาศ (ช่องว่าง)
กสิณ ๑๐ นี้ จะใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติก็ได้ ตกแต่งจัดทําขึ้นให้เหมาะกับการใช้เพ่ง โดยเฉพาะก็ได้ แต่โดยมากนิยมวิธีหลัง
ข. อสุภะ ๑๐ ได้แก่ พิจารณาซากศพในระยะต่างๆ กัน รวม ๑๐ ระยะ เริ่มแต่ศพที่ขึ้นอึด ไปจนถึงศพที่เหลือแต่โครงกระดูก
ค. อนุสติ ๑๐ คือ อารมณ์ดีงามที่ควรระลึกถึงเนืองๆ ได้แก่
๑. พุทธานุสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า และพิจารณาคุณของพระองค์
๒. ธัมมานุสติ ระลึกถึงพระธรรม และพิจารณาคุณของพระธรรม
๓. สังฆานุสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ และพิจารณาคุณของพระสงฆ์
๔. สีลานุสติ ระลึกถึงศีล พิจารณาศีลของตน ที่ได้ประพฤติบริสุทธิ์ไม่ด่างพร้อย
๕. จาคานุสติ ระลึกถึงจาคะ ทานที่ตนได้บริจาคแล้ว และพิจารณาเห็นคุณธรรม คือความเผื่อแผ่เสียสละที่มีในตน
๖. เทวตานุสติ ระลึกถึงเทวดา หมายถึงเทวดาที่ตนเคยได้รู้ได้ยินมา และพิจารณาเห็นคุณธรรม ซึ่งทําคนให้เป็นเทวดา ตามที่มีอยู่ในตน
๗. มรณสติ ระลึกถึงความตายอันจะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้เกิดความไม่ประมาท
๘. กายคตาสติ สติอันไปในกาย หรือระลึกถึงเกี่ยวกับร่างกาย คือ กําหนดพิจารณากายนี้ให้เห็นว่าประกอบด้วยส่วนต่างๆ คือ อาการ ๓๒ อันไม่สะอาด ไม่งาม น่าเกลียด เป็นทางรู้เท่าทันสภาวะของกายนี้ มิให้หลงใหลมัวเมา
๙. อานาปานสติ สติกําหนดลมหายใจเข้าออก
๑๐. อุปสมานุสติ ระลึกถึงธรรมเป็นที่สงบ คือนิพพาน และพิจารณาคุณของนิพพาน อันเป็นที่หายร้อน ดับกิเลส และไร้ทุกข์
ง. อัปปมัญญา ๔ คือ ธรรมที่พึ่งแผ่ออกไปในมนุษย์สัตว์ทั้งหลาย อย่างมีจิตใจสม่ำเสมอทั่วกัน ไม่มีประมาณ ไม่จํากัดขอบเขต โดยมากเรียกกันว่า พรหมวิหาร ๔ (ธรรมเครื่องอยู่อย่างประเสริฐ ธรรมประจําใจที่ประเสริฐบริสุทธิ์ หรือคุณธรรมประจําใจของท่านผู้มีจิตกว้างขวางยิ่งใหญ่) คือ
๑. เมตตา ความรัก คือ ปรารถนาดี มีไมตรี อยากให้มนุษย์สัตว์มีสุขทั่วหน้า
๒. กรุณา ความสงสาร คือ อยากช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์
๓. มุทิตา ความพลอยยินดี คือ พลอยมีใจแช่มชื่นเบิกบาน เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุขและเจริญงอกงามประสบความสําเร็จยิ่งขึ้นไป
๔. อุเบกขา ความมีใจเป็นกลาง คือ วางจิตเรียบสงบ สม่ําเสมอ เที่ยงตรงดุจตาชัง มองเห็นมนุษย์สัตว์ทั้งหลายได้รับผลดีร้ายตามเหตุปัจจัยที่ประกอบ ไม่เอนเอียงไปด้วยชอบหรือยัง
จ. อาหาเร ปฏิกูลสัญญา กําหนดหมายความเป็นปฏิกูลในอาหาร
ฉ. จตุธาตุววัฏฐาน กําหนดพิจารณาธาตุ ๔ คือ พิจารณาเห็นร่างกายของตน โดยสักว่าเป็นธาตุ ๔ แต่ละอย่างๆ
ช. อรูป หรือ อารุปป์ ๔ ได้แก่ กําหนดภาวะอรูปธรรมเป็นอารมณ์ ใช้ได้เฉพาะผู้ที่เพ่งกสิณ ๙ อย่างแรกข้อใดข้อหนึ่ง จนได้จตุตถฌานมาแล้ว คือ
๑. อากาสานัญจายตนะ กําหนดช่องว่างหาที่สุดมิได้ (ซึ่งเกิดจากการเพิกกสิณออกไป) เป็นอารมณ์
๒. วิญญาณัญจายตนะ กําหนดวิญญาณหาที่สุดมิได้ (คือเลิกกําหนดที่ว่าง เลยไปกําหนดวิญญาณที่แผ่ไปสู่ที่ว่างแทน) เป็นอารมณ์
๓. อากิญจัญญายตนะ (เลิกกําหนดวิญญาณเป็นอารมณ์ เลยไป) กําหนดภาวะไม่มีอะไรเลย เป็นอารมณ์
๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เลิกกําหนดแม้แต่ภาวะไม่มีอะไรเลย) เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
กรรมฐานทั้งหมดนี้ บางที่ท่านจัดรวมเป็น ๒ ประเภท คือ
๑. สัพพัตถกกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานที่ใช้ประโยชน์ได้ หรือควรต้องใช้ ทุกที่ทุกกรณี คือ ทุกคนควรเจริญอยู่เสมอ ได้แก่ เมตตา และมรณสติ (บางท่านจัด อสุภสัญญา เข้าด้วย)
๒. ปาริหาริยกรรมฐาน แปลว่า กรรมฐานที่ต้องบริหาร หมายถึงกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของแต่ละบุคคล ซึ่งเมื่อลงมือปฏิบัติแล้ว จะต้องคอยเอาใจใส่รักษาอยู่ตลอดเวลา ให้เป็นพื้นฐานของการ ปฏิบัติที่สูงยิ่งขึ้นไป
กรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น ท่านแนะนําว่า แตกต่างกันโดยความเหมาะสมแก่ผู้ปฏิบัติ ซึ่งควรเลือกใช้ให้ เหมาะกับลักษณะนิสัย ความโน้มเอียงของแต่ละบุคคล ที่เรียกว่าจริยาต่างๆ ถ้าเลือกได้ถูกกันเหมาะกัน ก็ปฏิบัติ ได้ผลดี และรวดเร็ว ถ้าเลือกผิด อาจทําให้ปฏิบัติได้ล่าช้า หรือไม่สําเร็จผล
จริยา แปลว่า ความประพฤติปกติ หมายถึง พื้นเพของจิต พื้นนิสัย ลักษณะความประพฤติที่หนัก ไปทางใดทางหนึ่ง ตามสภาพจิตที่เป็นปกติของบุคคลนั้นๆ
- ตัวความประพฤติ หรือลักษณะนิสัยนั้น เรียกว่า “จริยา”- บุคคลผู้มีลักษณะนิสัย และความประพฤติอย่างนั้นๆ เรียกว่า “จริต” ตัวอย่างเช่น คนมี ราคจริยา เรียกว่า ราคจริต เป็นต้น
โดยประเภทใหญ่ๆ จัดเป็น จริต ๖ คือ
๑. ราคจริต ผู้มีราคะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางราคะ ประพฤติหนักไปทาง รักสวยรักงาม ละมุนละไม ควรใช้กรรมฐานคู่ปรับ คือ อสุภะ (และกายคตาสติ)
๒. โทสจริต ผู้มีโทสะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางโทสะ ประพฤติหนักไปทาง ใจร้อนหงุดหงิดรุนแรงกรรมฐานที่เหมาะคือ เมตตา (รวมถึงพรหมวิหารข้ออื่นๆ และกสิณ โดยเฉพาะวรรณกสิณ)
๓. โมหจริต ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยหนักไปทางโมหะ ประพฤติหนักไปทาง เขลา เหงา ซึม เงื่องงง งมงาย ใครว่าอย่างไร ก็คอยเห็นคล้อยตามไป จึงแก้ด้วยมีการเรียน ไต่ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู (กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ)
๔. สัทธาจริต ผู้มีศรัทธาเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยมากด้วยศรัทธา ประพฤติหนักไป ทางมีจิตซาบซึ้ง ชื่นบาน น้อมใจเลื่อมใสโดยง่าย จึงชักนําไปในสิ่งที่ควรแก่ความเลื่อมใส และความเชื่อที่มี เหตุผล เช่น ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย และศีลของตน (อนุสติ ๖ ข้อแรก ได้ทั้งหมด)
๕. พุทธิจริต หรือญาณจริต ผู้มีความรู้เป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไป ทางใช้ความคิดพิจารณา และมองไปตามความจริง พึงส่งเสริมด้วยแนะนําให้ใช้ความคิดพิจารณาสภาวธรรมและ สิ่งดีงาม ที่ให้เจริญปัญญา เช่นพิจารณาไตรลักษณ์ (กรรมฐานที่เหมาะ คือ มรณสติ อุปสมานุสติ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเร ปฏิกูลสัญญา)
๖. วิตกจริต ผู้มีวิตกเป็นความประพฤติปกติ มีลักษณะนิสัยความประพฤติหนักไปทางชอบครุ่นคิด วกวน นึกคิดจับจด ฟุ้งซ่าน จึงแก้ด้วยสิ่งที่สะกดอารมณ์ เช่น เจริญอานาปานสติ (หรือเพ่งกสิณ เป็นต้น)
อาการแสดงออกต่างๆ กันในทางความประพฤติของจริตเหล่านี้ เช่น เมื่อพบเห็นสิ่งของอะไรสักอย่าง- ถ้าของนั้นมีอะไรเป็นส่วนดีน่าชมอยู่บ้าง ใจของคนราคจริต จะไปจับอยู่ที่ส่วนนั้น ติดใจ เล็งแลอยู่ได้นานๆ ส่วนอื่นที่เสียๆ ไม่ได้ใส่ใจ
- ส่วนคนโทสจริต แม้ของนั้นจะมีส่วนดีอยู่หลายอย่าง แต่ถ้ามีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องอยู่สักหน่อย ใจของเขาจะกระทบเข้ากับส่วนที่เสียนั้นก่อน ไม่ทันได้พิจารณาเห็นส่วนดี ก็จะไปเสียเลย
- คนพุทธิจริต คล้ายคนโทสจริตอยู่บ้าง ที่ไม่ค่อยติดใจอะไร แต่ต่างกันที่ว่า คนโทสจริต มองหาส่วนเสียหรือมองให้เสีย ทั้งที่ไม่เป็นอย่างนั้นจริง และผละไปอย่างหงุดหงิดขัดใจ ส่วนคนพุทธิจริตมองหาส่วนเสียข้อบกพร่องที่เป็นจริง และเพียงแต่ไม่ติดใจผ่านไป
- ส่วนคนโมหจริต มองเห็นแล้ว จับจุดอะไรไม่ชัด ออกจะเฉยๆ ถ้าใครว่าดี ก็พลอยเห็นดี ว่าตามเขาไปถ้าเขาว่าไม่ดี ก็พลอยเห็นไม่ดี คล้อยตามเขาไป
- ฝ่ายคนวิตกจริต คิดจับจด นึกถึงจุดที่ตรงนี้บ้าง ส่วนไม่ดีตรงนั้นบ้าง วุ่นไปวุ่นมา ซึ่งไม่เสร็จตัดสินใจไม่ตก จะเอาหรือไม่เอา - ส่วนคนสัทธาจริต มีลักษณะคล้ายคนราคจริตอยู่บ้าง คือ มักมองเห็นส่วนที่ดี แต่ต่างที่ว่า คนสัทธาจริตเห็นแล้ว ก็ชื่นชมซาบซึ้งใจเรื่อยๆ ไป ไม่ติดใจอ้อยอิ่งอย่างพวกราคจริต
อย่างไรก็ตาม คนมักมีจริตผสม เช่น ราคะผสมวิตก โทสะผสมพุทธิ เป็นต้น ในการปฏิบัติบําเพ็ญสมาธิ นอกจากเลือกกรรมฐานให้เหมาะกับจริตแล้ว แม้แต่สถานที่อยู่อาศัย บรรยากาศ หนทาง ของใช้ อาหารเป็นต้น ท่านก็ยังแนะนําให้เลือกสิ่งที่เป็นสัปปายะ คือ เกื้อกูล เหมาะกันด้วย
กรรมฐาน ๔๐ นั้น นอกจากเหมาะกับจริตที่ต่างกันแล้ว ยังต่างกันโดยผลสําเร็จที่สามารถให้เกิดขึ้น สูง ต่ำ มากน้อยกว่ากันด้วย คือมีขอบเขตในการให้เกิดสมาธิระดับต่างๆ ไม่เท่ากัน
การรับกรรมฐาน
ในการรับกรรมฐาน ท่านให้ทําเป็นพิธีการสักหน่อย คือ เข้าไปหาท่านผู้เป็นกัลยาณมิตรแล้ว
ก. กล่าวคํามอบถวายตัวแด่พระพุทธเจ้า ทํานองนี้ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้า ขอสละอัตภาพนี้ แต่พระองค์”
หรือมอบตัวแก่พระอาจารย์ก็ได้ว่า “ข้าแต่ท่านพระอาจารย์ ข้าพเจ้า ขอสละอัตภาพนี้ แต่ท่าน
การมอบตัวให้นี้ เป็นกลวิธีสร้างความรู้สึกให้ปฏิบัติอย่างจริงจังเด็ดเดี่ยว ช่วยทําลายความหวาดกลัว ทํา ให้ว่าง่าย ทําให้ความรู้สึกระหว่างอาจารย์กับผู้ปฏิบัติถึงกัน และเปิดโอกาสให้อาจารย์สอนและช่วยในการฝึกได้ อย่างเต็มที่ พร้อมนั้น จึงทําพื้นใจของตนให้ประกอบด้วยอโลภะ อโทสะ อโมหะ เนกขัมมะ ความใฝ่สงัด และ ความรอดพ้น กับทั้งทําจิตให้โน้มน้อมไปในสมาธิและนิพพาน แล้วขอกรรมฐาน
ข. ฝ่ายพระอาจารย์ ถ้ารู้จิตใจศิษย์ได้ ก็กําหนดจริยาด้วยญาณนั้น ถ้ามิฉะนั้นก็สอบถามให้รู้ เช่นว่า เธอเป็นพวกจริตใด? ลักษณะอาการความรู้สึกนึกคิดของเธอส่วนมากเป็นอย่างไร? เธอนึกถึงพิจารณาอะไรแล้ว สบาย? ใจเธอน้อมไปในกรรมฐานไหน? เป็นต้น แล้วบอกกรรมฐานที่เหมาะกับจริยาของเขานั้น ชี้แจงให้รู้ว่าจะ เริ่มต้นปฏิบัติ ทําอย่างไร วิธีกําหนดและเจริญทําอย่างไร นิมิตเป็นอย่างไร สมาธิมีขั้นตอนอย่างไร วิธีรักษา เลี้ยง และทําสมาธิให้มีกําลังมากขึ้น ทําอย่างไร เป็นต้น
ข้อ ๔. เข้าประจําที่ก. อยู่ในวัดที่เหมาะแก่การเจริญสมาธิ ความจริง ควรอยู่วัดเดียวกับพระอาจารย์ แต่ถ้าไม่ผาสุก ก็พึ่งไป หาวัดที่เป็นสัปปายะ สาระคือ หาสถานที่ที่เหมาะ เกื้อกูลแก่การปฏิบัติ
ท่านให้เว้นวัด คือ ที่อยู่ ซึ่งมีโทษ ๑๘ ประการ คือวัดใหญ่ (มีพระมาก ต่างจิตต่างใจ เรื่องมาก และไม่ค่อยสงบ)
วัดใหม่ (ต้องพลอยไปยุ่งงานก่อสร้างกับเขาด้วย)
วัดเก่าจัด (มีเรื่องดูแลมาก)
วัดติดทาง (อาคันตุกะมาบ่อย)
วัดมีสระหิน (คนมาชุมนุมกันมาก)
วัดมีผัก วัดมีไม้ดอก วัดมีไม้ผล (คนจะมากันเรื่อย มาเก็บดอกไม้ ขอผลไม้ ฯลฯ วุ่นวาย)
วัดที่คนเชื่อถือมาก (ว่ามีพระวิเศษ เป็นต้น คนจะมาออกันมาก)
วัดติดเมือง วัดติดป่าไม้ใช้สอย วัดติดที่นา (เป็นถิ่นที่ชาวบ้านทํากิจธุระ การงาน และหาเลี้ยงชีพ)
วัดมีคนไม่ถูกกัน (ยุ่งกับปัญหา)
วัดติดท่าน้ําท่าบก (คนมากับรถกับเรือ แวะเรื่องโน้นเรื่องนี้ ไม่ได้สงบ)
วัดถิ่นห่างไกลชายแดน (ที่คนไม่นับถือพระศาสนา)
วัดติดพรมแดน (เขตแห่งอํานาจระหว่าง ๒ รัฐ อาจเป็นการเสี่ยงภัย แม้แต่ถูกหาว่าเป็นจารบุรุษ)
วัดมีสภาพไม่เป็นสัปปายะ (เป็นที่มีอารมณ์ต่างๆ รบกวนมาก)
วัดที่หากัลยาณมิตรไม่ได้ (ข้อนี้ชัดอยู่แล้ว)
ส่วนวิหาร หรือวัด ที่เหมาะสม คือ เสนาเสนะที่ประกอบด้วยองค์ ๕ อันได้แก่
๑. ไม่ไกลนัก ไม่ใกล้นัก ไปมาสะดวก
๒. กลางวันไม่พลุกพล่าน กลางคืนไม่อึกทึก
๓. ปราศจากการรบกวนของเหลือบยุง ลมแดด สัตว์เลื้อยคลาน
๔. เมื่อพักอยู่ที่นั้น ไม่ขัดสนปัจจัยสี่
๕. มีพระเถระพหูสูต ซึ่งจะสามารถเข้าไปสอบถามอรรถธรรม ให้ท่านช่วยอธิบายแก้ความสงสัยได้
ข. ตัดปลิโพธเล็กๆ น้อยๆ คือ ข้อกังวลเกี่ยวกับร่างกาย เครื่องใช้ประจําตัว ไม่ต้องให้เป็นข้อกวนใจ จุกจิกขึ้นอีก เช่น ตัดโกนผมขนเล็บ เย็บย้อมจัดการเรื่องผ้าจีวรให้เรียบร้อย ชําระที่พักอาศัยให้สะอาด เป็นต้น
ข้อ ๕. เจริญสมาธิ: หลักทั่วไปในการปฏิบัติตามวิธีเจริญสมาธิ พึงทราบว่า กรรมฐานแต่ละประเภท มีรายละเอียดวิธีเจริญสมาธิ แตกต่างกันไป แต่กระนั้น ก็พอจะสรุปเป็นหลักการทั่วไปอย่างกว้างๆ ดังที่บางคัมภีร์แสดงไว้ โดยจัดเป็นภาวนา คือ การเจริญ หรือการฝึก ๓ ขั้น ได้แก่ บริกรรมภาวนา อุปจารภาวนา และอัปปนาภาวนา
แต่ก่อนจะกล่าวถึงภาวนา ๓ ขั้น มีคําที่ควรทําความเข้าใจคําหนึ่ง คือ นิมิต
นิมิต หรือ นิมิตต์ คือ เครื่องหมายสําหรับให้จิตกําหนด หรือภาพที่เห็นในใจ ซึ่งเป็นตัวแทนของสิ่งที่ใช้ เป็นอารมณ์กรรมฐาน แบ่งเป็น ๓ อย่าง ตามลําดับความเจริญ คือ (ดู ตารางท้ายข้อ ๓. ประกอบด้วย)
๑) บริกรรมนิมิต แปลว่า นิมิตขั้นเตรียม หรือเริ่มต้น ได้แก่ สิ่งใดก็ตามที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญกรรมฐาน เช่น ดวงกสิณที่เพ่งดู ลมหายใจที่กําหนด หรือพุทธคุณที่นึกเป็นอารมณ์ว่าอยู่ในใจ๒) อุคคหนิมิต แปลว่า นิมิตที่ใจเรียน หรือนิมิตติดตา ได้แก่ บริกรรมนิมิตนั่นเอง ที่เพ่งหรือนึกจนเห็นแม่นยํา กลายเป็นภาพติดตาติดใจ เช่น ดวงกสิณที่เพ่งจนติดตา หลับตามองเห็น เป็นต้น
๓) ปฏิภาคนิมิต แปลว่า นิมิตเสมือน นิมิตคู่เปรียบ หรือนิมิตเทียบเคียง ได้แก่ นิมิตที่เป็นภาพเหมือนของอุคคหนิมิตนั่นเอง แต่ติดลึกเข้าไปอีก จนเป็นภาพที่เกิดจากสัญญาของผู้ที่ได้สมาธิ จึงบริสุทธิ์จนปราศจากสี เป็นต้น และไม่มีมลทินใดๆ ทั้งสามารถนึกขยาย หรือย่อส่วนได้ตามปรารถนา
นิมิต ๒ อย่างแรก คือ บริกรรมนิมิต และอุคคหนิมิต ได้ทั่วไปในกรรมฐานทุกอย่าง แต่ปฏิภาคนิมิต ได้เฉพาะในกรรมฐาน ๒๒ อย่าง ที่มีวัตถุสําหรับเพ่ง คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ และอานาปานสติ
ภาวนา คือ การเจริญ หมายถึง การเจริญกรรมฐาน หรือฝึกสมาธิ ที่ก้าวหน้าในขั้นต่างๆ มี ๓ ขั้น ดังนี้
๑. บริกรรมภาวนา การเจริญสมาธิขั้นเริ่มต้น ได้แก่ การกําหนดถือเอานิมิตในสิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ กรรมฐาน เช่น เพ่งดวงกสิณ กําหนดลมหายใจเข้าออกที่กระทบปลายจมูก หรือนึกถึงพุทธคุณเป็นอารมณ์ ว่าอยู่ ในใจ เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่ากําหนดบริกรรมนิมิตนั่นเองเมื่อกําหนดอารมณ์กรรมฐาน (คือ บริกรรมนิมิต) นั้นไป จนมองเห็นภาพสิ่งนั้นติดตาติดใจแม่นยํา ก็ เกิดเป็นอุคคหนิมิต จิตก็เป็นสมาธิขั้นต้น ที่เรียกว่า บริกรรมสมาธิ (คือ ขณิกสมาธิ นั่นเอง)
๒. อุปจารภาวนา การเจริญสมาธิขั้นอุปจาร ได้แก่ อาศัยบริกรรมสมาธิ เอาจิตกําหนดอุคคหนิมิต ต่อไป จนกระทั่งแน่วแน่แนบสนิทในใจ เกิดเป็นปฏิภาคนิมิตขึ้น นิวรณ์ก็สงบระงับ (ในกรรมฐานที่ไม่มีวัตถุเพ่ง เพียงแต่นึกถึงอารมณ์อยู่ในใจ ไม่มีปฏิภาคนิมิต กําหนดด้วยจิตแน่วแน่จนนิวรณ์ระงับไปอย่างเดียว) จิตก็ตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิ เป็นขั้นสูงสุดของกามาวจรสมาธิ
๓. อัปปนาภาวนา การเจริญสมาธิขั้นอัปปนา ได้แก่ เสพปฏิภาคนิมิตที่เกิดขึ้นแล้วนั้นสม่ําเสมอด้วย อุปจารสมาธิ พยายามรักษาไว้ ไม่ให้เสื่อมหายไปเสีย โดยหลีกเว้นสถานที่ บุคคล อาหาร เป็นต้น ที่เป็นอสัปปายะ เสพแต่สิ่งที่เป็นสัปปายะ และรู้จักปฏิบัติตามวิธีที่จะช่วยให้เกิดอัปปนา เช่น ประคับประคองจิตให้พอดี เป็นต้น จนในที่สุด ก็เกิดเป็นอัปปนาสมาธิ บรรลุปฐมฌานเป็นขั้นเริ่มแรกของรูปาวจรสมาธิ
กรรมฐานหลายอย่าง สุขุมละเอียด เป็นอารมณ์ลึกซึ้ง ไม่มีวัตถุสําหรับเพ่ง หรือสัมผัสด้วยกายได้ จึงไม่ ชัดพอ จิตไม่สามารถแอบแนบติดสนิทอยู่ได้นาน จึงไม่มีปฏิภาคนิมิต และให้ผลสําเร็จได้เพียงแค่อุปจารสมาธิ
ส่วนกรรมฐานที่เป็นอารมณ์หยาบ เพ่งดู หรือสัมผัสด้วยกายได้ กําหนดได้ชัดเจน จิตแนบสนิทตั้งอยู่ได้ นาน ก็ให้เกิดปฏิภาคนิมิตด้วย และสําเร็จผลถึงอัปปนาสมาธิได้
ทั้งนี้ มีแปลกแต่อัปปมัญญา (พรหมวิหาร) ซึ่งแม้จะไม่มีปฏิภาคนิมิต เพราะไม่มีวัตถุธรรมเป็นอารมณ์ แต่ก็มีสัตว์เป็นอารมณ์ จึงมีความชัดเจนเพียงพอ และให้เกิดอัปปนาสมาธิได้
เมื่อบรรลุปฐมฌานแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นการบําเพ็ญความชํานาญ ให้เกิดขึ้นในปฐมฌานนั้น และทํา ความเพียรเพื่อบรรลุฌานขั้นต่อๆ ขึ้นไปตามลําดับ ภายในขอบเขตความสามารถให้สําเร็จผลของกรรมฐานชนิด นั้นๆ เป็นอันได้บรรลุผลของสมถะตามสมควร
เจริญสมาธิ: อานาปานสติภาวนา เป็นตัวอย่างเมื่อได้กล่าวถึงหลักทั่วไปของวิธีเจริญสมาธิแล้ว ก็เห็นควรแสดงตัวอย่างวิธีเจริญสมาธิไว้สักอย่างหนึ่ง ด้วย และบรรดากรรมฐาน ๔๐ อย่างนั้น ในที่นี้ ขอเลือกแสดงอานาปานสติ
ข้อดีพิเศษของอานาปานสติ เหตุผลที่เลือกแสดงอานาปานสติภาวนา เป็นตัวอย่าง มีหลายประการ เช่น
- เป็นวิธีเจริญสมาธิที่ปฏิบัติได้สะดวกยิ่ง เพราะใช้ลมหายใจซึ่งเนื่องอยู่กับตัวของทุกคน ใช้ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ในทันที่ที่ต้องการ ไม่ต้องตระเตรียมวัตถุอุปกรณ์อย่างพวกกสิณ เป็นต้น ในเวลาเดียวกันก็เป็น อารมณ์ประเภทรูปธรรม ซึ่งกําหนดได้ชัดเจนพอสมควร ไม่ละเอียดลึกซึ้งอย่างกรรมฐานประเภทนามธรรม ที่ ต้องนึกขึ้นมาจากสัญญา และถ้าต้องการปฏิบัติอย่างง่ายๆ ก็ไม่จําเป็นต้องใช้ความคิดอะไร เพียงเอาสติคอย กําหนดลมหายใจที่ปรากฏอยู่แล้ว ไม่ต้องคิดแยกแยะพิจารณาสภาวธรรมอย่างพวกธาตุมนสิการ เป็นต้น ผู้ที่ใช้ สมองเหนื่อยมาแล้ว ก็ปฏิบัติได้สบาย
- พอเริ่มลงมือปฏิบัติ ก็ได้รับผลเป็นประโยชน์ทันทีตั้งแต่ต้นเรื่อยไป ไม่ต้องรอจนเกิดสมาธิที่เป็น ขั้นตอนชัดเจน กล่าวคือ กายใจผ่อนคลายได้พัก จิตสงบสบายลึกซึ้งลงไปเรื่อยๆ ทําให้อกุศลธรรมระงับ และ ส่งเสริมให้กุศลธรรมเกิดขึ้น
- ไม่กระทบกระเทือนต่อสุขภาพ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงประสบการณ์ของพระองค์เองว่า “เมื่อเราอยู่ ด้วยวิหารธรรมนี้ (คืออานาปานสติสมาธิ) มาก กายก็ไม่เมื่อย ตาก็ไม่เหนื่อย” ไม่เหมือนอย่างกรรมฐาน บางอย่าง ที่อาศัยการยืน การเดิน หรือการเพ่งจ้อง แต่ตรงข้าม อานาปานสติกรรมฐานนี้กลับเกื้อกูลแก่สุขภาพ ทั้งช่วยให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างดี และระบบการหายใจที่ปรับให้เรียบเสมอประณีตด้วยการปฏิบัติ กรรมฐานนี้ ก็ช่วยส่งเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น
ขอให้นึกอย่างง่ายๆ คนที่วิ่งมา หรือขึ้นลงที่สูง กําลังเหนื่อย หรือคนตื่นเต้นตกใจ เกรี้ยวกราด หวาดกลัว เป็นต้น ลมหายใจหยาบแรงกว่าคนปกติ บางที่จมูกไม่พอ ต้องหายใจทางปากด้วย ในทางตรงข้าม คนที่กายผ่อนคลาย ใจสงบสบาย ลมหายใจละเอียดประณีตกว่าคนปกติ
การบําเพ็ญอานาปานสติ ช่วยทําให้กายใจสุขสงบ จนลมหายใจละเอียดประณีตลงไปเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้น อีก จนถึงขั้นที่แทบจับไม่ได้เลยว่ามีลมหายใจ ในเวลานั้น ร่างกายดํารงอยู่ได้ดี โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด ไม่ เรียกร้องการเผาผลาญ เตรียมความสดชื่นไว้ให้แก่การทํากิจในเวลาถัดไป และช่วยให้แก่ช้าลง หรือช่วยให้ ทํางานได้มากขึ้น พร้อมกับที่สามารถพักผ่อนน้อยลง
- เป็นกรรมฐานข้อหนึ่งในจํานวนเพียง ๑๒ อย่าง ที่สามารถให้สําเร็จผลในด้านสมถะได้จนถึงขั้นสูงสุด คือ จตุตถฌาน และส่งผลให้ถึงอรูปฌาน กระทั่งนิโรธสมาบัติก็ได้ จึงจับเอาเป็นข้อปฏิบัติหลักได้ ตั้งแต่ต้นจน ตลอด ไม่ต้องพะวงที่จะหากรรมฐานอื่นมาสับเปลี่ยน หรือต่อเติมอีก มีพุทธพจน์เสริมว่า
“เพราะฉะนั้นแล หากภิกษุหวังว่าเราฟังบรรลุจตุตถฌาน...ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธิ นี้แลให้ดี...หากภิกษุหวังว่า เราพึงก้าวล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงเนว สัญญานาสัญญายตนะเถิด.เราจึงก้าวล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวงแล้ว เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธเถิด ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธินี้แลให้ดี
- ใช้ได้ทั้งในทางสมถะ และวิปัสสนา คือ จะปฏิบัติเพื่อมุ่งผลฝ่ายสมาธิแน่วไปอย่างเดียว ก็ได้ จะใช้ เป็นฐานปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐานจนครบทั้ง ๔ อย่าง ก็ได้ เพราะเป็นข้อปฏิบัติที่เอื้ออํานวยให้สามารถใช้สมาธิ จิต เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญาได้เต็มที่
- เป็นวิธีเจริญสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญมาก ทรงสนับสนุนบ่อยครั้ง ให้พระภิกษุทั้งหลาย ปฏิบัติ และพระพุทธองค์เองก็ได้ทรงใช้เป็นวิหารธรรมมาก ทั้งก่อนและหลังตรัสรู้ ดังพุทธพจน์บางแห่งว่า
“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธินี้แล เจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบ ประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และยังอกุศลธรรมชั่วร้ายที่เกิดขึ้นแล้วๆ ให้ อันตรธานสงบไปได้โดยพลัน เปรียบเหมือนฝนใหญ่ที่ตกในสมัยมิใช่ฤดูกาล ยังฝุ่นละอองที่ฟัง ขึ้นในเดือนท้ายฤดูร้อน ให้อันตรธานสงบไปโดยพลัน ฉะนั้น”
“ภิกษุทั้งหลาย...เมื่อจะกล่าวให้ถูกต้อง จึงกล่าวถึงอานาปานสติสมาธิว่า เป็นอริยวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยะ) ก็ได้ ว่าเป็นพรหมวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของพรหม) ก็ได้ ว่าเป็น ตถาคตวิหาร (ธรรมเครื่องอยู่ของตถาคต) ก็ได้,
“ภิกษุเหล่าใด เป็นเสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตผล ปรารถนาภาวะปลอดโปร่งโล่งใจ (โยคเกษม) อันยอดเยี่ยม, อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อ ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย,
“ส่วนภิกษุเหล่าใด เป็นอรหันต์สิ้นอาสวะแล้วอานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเหล่านั้นเจริญ แล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อความอยู่สุขสบายในปัจจุบัน (ทิฏฐธรรมสุขวิหาร) และเพื่อ สติสัมปชัญญะ"
“ภิกษุทั้งหลาย ดังที่เป็นมา เรานั้น ก่อนสัมโพธิ เมื่อยังมิได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ก็อยู่ ด้วยวิหารธรรม (คืออานาปานสติสมาธิ) นี้ โดยมาก, เมื่อเรานั้นเป็นอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้ โดยมาก กายก็ไม่เมื่อย ตาก็ไม่เหนื่อย และจิตของเราก็หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยไม่ถือ มั่น; เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย หากภิกษุหวังว่า กายของเราไม่พึงเมื่อย ตาก็ไม่พึงเหนื่อย และจิตของเราก็พึงหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย ด้วยไม่ถือมั่น, ก็พึงมนสิการอานาปานสติสมาธิ นี้แลให้มาก”
“สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ไพรสณฑ์ ชื่ออิจฉานังคละ ใกล้อิจฉานังคล-นคร ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า: ภิกษุทั้งหลาย เราปรารถนาจะหลีกเร้น อยู่ตลอดไตรมาส ใครๆ ไม่พึงเข้ามาหาเรา เว้นแต่ภิกษุผู้นําบิณฑบาตรูปเดียว
“ครั้งนั้นแล เมื่อล่วงเวลาสามเดือนแล้ว พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจากที่หลีกเร้นแล้ว ตรัส กะภิกษุทั้งหลายว่า: ภิกษุทั้งหลาย หากว่า อัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายจะพึงถามพวกเธออย่าง นี้ว่า พระสมณโคดมอยู่จําพรรษา ด้วยวิหารธรรมใดโดยมาก, เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้แล้ว จึงชี้แจงแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้น อย่างนี้ว่า: ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาค ประทับจําพรรษา ด้วยอานาปานสติสมาธิ โดยมาก”
“ดูกรอานนท์ ธรรมเอก คือ อานาปานสติสมาธิ ภิกษุเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมยังสติ ปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน 4 อันภิกษุเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้ บริบูรณ์, โพชฌงค์ ๗ อันภิกษุเจริญแล้ว ทําให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์”
ผลสูงสุดของสมาธิและสู่ความสมบูรณ์เหนือสมาธิการเจริญสมาธินั้น จะประณีตขึ้นไปเป็นขั้นๆ โดยลําดับ ภาวะจิตที่มีสมาธิถึงขั้นอัปปนาสมาธิแล้ว เรียกว่า ฌาน (absorption)
ฌานมีหลายขั้น มองดูง่ายๆ ว่า ยิ่งเป็นขั้นสูงขึ้นไปเท่าใด องค์ธรรมต่างๆ คือคุณสมบัติของจิต ที่เป็น ตัวกําหนดความเป็นฌาน ซึ่งเรียกว่า “องค์ฌาน” ก็ยิ่งลดน้อยลงไปเท่านั้น
ฌาน โดยทั่วไป แบ่งเป็น ๒ ระดับใหญ่ และแบ่งย่อยออกไปอีกระดับละ ๔ รวมเป็น ๘ อย่าง เรียกว่า ฌาน ๔ หรือ สมาบัติ ๔ คือ
๑. รูปฌาน ๔ ได้แก่๑) ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ประกอบ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒) ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓) ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ประกอบ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔) จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ประกอบ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
๒. อรูปฌาน ๔ ได้แก่ ๑) อากาสานัญจายตนะ (ฌานที่กําหนดอากาสคือช่องว่าง อันอนันต์)
๒) วิญญาณัญจายตนะ (ฌานที่กําหนดวิญญาณ อันอนันต์)
๓) อากิญจัญญายตนะ (ฌานที่กําหนดภาวะที่ไม่มีสิ่งใดๆ)
๔) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ฌานที่เลิกกําหนดสิ่งใดๆ โดยประการทั้งปวง เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)
ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม เฉพาะอย่างยิ่งอภิธรรมยุคหลัง รุ่นอรรถกถาฎีกา นิยมแบ่งรูปฌานเป็น ๕ ขั้น เรียกว่า “ฌานปัญจกนัย” (แล้วเรียกฌานที่แบ่ง ๔ อย่างเดิม เป็นจตุกกนัย)
ทั้งนี้ โดยซอยละเอียดออกไปจาก (รูป) ฌาน ๔ นั้นเอง คือ แทรกเพิ่มฌานที่ ๒ เข้ามาอีกข้อหนึ่ง ระหว่างปฐมฌาน กับทุติยฌานเดิม เป็น “ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ประกอบ ๔ คือ วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา” หรือพูดง่ายๆ ว่า ฌานที่ไม่มีวิตก มีแต่วิจาร
แล้วเลื่อนทุติยฌานเดิม ออกไปเป็นตติยฌาน ตติยฌานเดิมเป็นจตุตถฌาน จตุตถฌานเดิมเป็นปัญจม ฌาน ตามลําดับ
โดยนัยนี้ เมื่อได้ยินคําว่า ฌาน ๔ ฌานปัญจกนัย ปัญจกัชฌาน ปัญจมฌาน ไม่พึ่งสับสนหรือแปลกใจ พึงทราบว่า เป็นเพียงการซอยละเอียดจากฌาน ๔ นี้เอง
การเพียรพยายามบําเพ็ญสมาธิ โดยใช้กลวิธีใดๆ ก็ตาม เพื่อให้เกิดผลสําเร็จเช่นนี้ เรียกว่า “สมถะ"
มนุษย์ปุถุชนเพียรพยายามบําเพ็ญสมาธิเพียงใดก็ตาม ย่อมได้ผลสําเร็จอย่างสูงสุดเพียงเท่านี้ หมายความว่า สมถะล้วนๆ ย่อมนําไปสู่ภาวะจิตที่เป็นสมาธิได้สูงสุด เพียงเนวสัญญานาสัญญายตนะเท่านั้น
แต่ท่านผู้บรรลุผลสําเร็จควบ ทั้งฝ่ายสมถะ และวิปัสสนา เป็นพระอนาคามี หรือพระอรหันต์ สามารถ เข้าถึงภาวะที่ประณีตสูงสุดอีกขั้นหนึ่ง นับเป็นขั้นที่ ๔ คือ สัญญาเวทยิตนิโรธ หรือนิโรธสมาบัติ เป็นภาวะที่สัญญาและเวทนาหยุดการปฏิบัติหน้าที่และเป็นความสุขขั้นสูงสุด
สมาธิ เป็นองค์ธรรมที่สําคัญยิ่งข้อหนึ่งก็จริง แต่ก็มีขอบเขตความสําคัญที่พึงตระหนักว่า สมาธิมีความ จําเป็นแค่ไหนเพียงใด ในกระบวนการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงวิมุตติ อันเป็นจุดหมายของพุทธธรรม
ขอบเขตความสําคัญของสมาธิ อาจสรุปดังนี้๑. ประโยชน์ของสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น อยู่ที่นํามาใช้เป็นที่ทําการ สําหรับให้ปัญญาปฏิบัติการอย่างได้ผลดีที่สุด (ดังที่ว่าทําจิตให้ควรแก่งาน) และสมาธิที่ใช้เพื่อการนี้ ก็ไม่จําต้อง เป็นขั้นที่เจริญถึงที่สุด
ลําพังสมาธิอย่างเดียว แม้จะเจริญถึงขั้นฌานสูงสุด หากไม่ก้าวไปสู่ขั้นการใช้ปัญญาแล้ว ย่อมไม่ สามารถทําให้ถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาได้เป็นอันขาด
๒. ฌานต่างๆ ทั้ง ๘ ขั้น แม้จะเป็นภาวะจิตที่ลึกซึ้ง แต่ในเมื่อเป็นผลของกระบวนการปฏิบัติที่เรียกว่า สมถะอย่างเดียวแล้ว ยังเป็นเพียงโลกีย์เท่านั้น จะนําไปปะปนกับจุดหมายของพุทธธรรมหาได้ไม่
๓. ในภาวะแห่งฌาน ที่เป็นผลสําเร็จของสมาธินั้น กิเลสต่างๆ สงบระงับไป จึงเรียกว่าเป็นความหลุด พ้นเหมือนกัน แต่ความหลุดพ้นนี้มีชั่วคราว เฉพาะเมื่ออยู่ในภาวะนั้นเท่านั้น และถอยกลับสู่สภาพเดิมได้ ไม่ ยังยืนแน่นอน
ท่านจึงเรียกความหลุดพ้นชนิดที่เกิดจากฌานนี้ ว่าเป็นโลกิยวิโมกข์ ความหลุดพ้นขั้นโลกีย์) เป็น กุปป วิโมกข์ ความหลุดพ้นที่กําเริบ คือเปลี่ยนแปลงกลับกลายหายสูญได้) และเป็นวิกขัมภนวิมุตติ (ความหลุด พ้นด้วยข่มไว้ คือ กิเลสระงับไปเพราะถูกกําลังสมาธิข่มไว้ เหมือนเอาแผ่นหินทับหญ้า ยกแผ่นหินออกเมื่อใด หญ้าย่อมกลับงอกงามขึ้นได้ใหม่)
จากข้อพิจารณาที่กล่าวมานี้ จะเห็นว่า ในการปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายของพุทธธรรมนั้น องค์ธรรมหรือ ตัวการสําคัญที่สุด ที่เป็นตัวตัดสินในขั้นสุดท้าย จะต้องเป็นปัญญา และปัญญาที่ใช้ปฏิบัติการในขั้นนี้ เรียกชื่อ เฉพาะว่า “วิปัสสนา” ดังนั้น การปฏิบัติที่ถูกแท้ จึงต้องก้าวมาถึงขั้นวิปัสสนาด้วยเสมอ
ส่วนสมาธินั้น แม้จะจําเป็นเพื่อทําจิตให้เหมาะกับงาน แต่อาจยืดหยุ่นเลือกใช้ ขั้นใดขั้นหนึ่งก็ได้ เริ่มแต่ ขั้นต้นๆ ที่เรียกว่า “วิปัสสนาสมาธิ” ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ เป็นต้นไป
โดยนัยนี้ วิถีแห่งการเข้าถึงจุดหมายแห่งพุทธธรรมนั้น แม้จะมีสาระสําคัญว่า ต้องประกอบพร้อมด้วย องค์มรรคทั้ง 6 ข้อเหมือนกัน แต่ก็อาจแยกได้โดยวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการใช้สมาธิ เหมือนเป็น ๒ วิถี คือ
๑. วิถีของวิปัสสนายานิก “ผู้มีวิปัสสนาเป็นยาน” ได้แก่ วิธีการอย่างที่กล่าวไว้บ้างแล้วในเรื่อง สัมมาสติ เป็นวิธีปฏิบัติที่เน้นสติ คือ ใช้สมาธิแต่เพียงขั้นต้นๆ เท่าที่จําเป็น หรือใช้สมาธิเป็นเพียงตัวช่วย แต่ใช้ สติเป็นองค์ธรรมหลักสําหรับยึดจับสิ่งที่ต้องการกําหนดไว้ ให้ปัญญาตรวจสอบวิจัย บางทีเรียกให้หนักแน่นว่า สุทธวิปัสสนายานิก คือมี “วิปัสสนาล้วน” เป็นยาน (ความจริงสมถะก็มีด้วย แต่แค่จําเป็นโดยไม่เน้น)
๒. วิถีของสมถยานิก “ผู้มีสมถะเป็นยาน” เป็นวิธีปฏิบัติที่สมาธิมีบทบาทสําคัญ คือ บําเพ็ญสมาธิให้ จิตใจสงบแน่วแน่ จนเข้าถึงภาวะที่เรียกว่าฌาน หรือสมาบัติขั้นต่างๆ เสียก่อน ทําให้จิตดื่มด่แน่นแฟ้นอยู่กับสิ่ง ที่กําหนดนั้นๆ จนมีความพร้อมอยู่โดยตัวของมันเอง ที่จะใช้ปฏิบัติการต่างๆ อย่างที่เรียกว่า จิตนุ่มนวล ควรแก่ งาน โน้มไปใช้ในกิจที่ประสงค์อย่างได้ผลดีที่สุด
ในสภาพจิตเช่นนี้ กิเลสอาสวะต่างๆ ซึ่งตามปรกติฟังขึ้นรบกวน และบีบคั้นบังคับจิตใจให้พล่านอยู่ ก็ ถูกควบคุมให้สงบนิ่งอยู่ในเขตจํากัด เหมือนผงธุลีที่ตกตะกอนในเวลาน้ํานิ่ง และมองเห็นได้ชัดเพราะน้ําใส เหมาะสมอย่างยิ่งแก่การที่จะก้าวต่อไป สู่ขั้นใช้ปัญญาจัดการกําจัดตะกอนเหล่านั้นให้หมดสิ้นไปโดยสิ้นเชิง
ในชั้นนี้ ที่เจริญก้าวหน้ามาทั้งหมด นับว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่เรียกว่า สมถะ
ถ้าไม่หยุดเพียงนี้ ก็จะก้าวต่อไปสู่ขั้นการใช้ปัญญากําจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นเชิง คือ ขั้นวิปัสสนา คล้ายกับในวิธีที่ ๑ แต่กล่าวตามหลักการว่า ทําได้ง่ายขึ้น เพราะจิตพร้อมอยู่แล้ว
วิธีปฏิบัติอย่างนี้ ก็คือ การปฏิบัติที่เรียกว่าครบเต็ม ทั้งสมถะและวิปัสสนา
เมื่อแยกโดยบุคคล ผู้ประสบผลสําเร็จในการปฏิบัติตามวิถีทั้งสองนี้
- ผู้ได้รับผลสําเร็จตามวิถีแรก เรียกว่า ปัญญาวิมุต คือ ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา (ถ้าว่าอย่างเคร่งครัดเป็น “สุกขวิปัสสก” ซึ่งได้สมาธิถึงฌาน ต่อเมื่อถึงขณะแห่งมรรค จัดเป็นสุดท้ายของปัญญาวิมุต)
- ส่วนผู้ได้รับผลสําเร็จตามวิถีที่ ๒ เรียกว่า อุภโตภาควิมุต คือ ผู้หลุดพ้นทั้งสองส่วน (ทั้งด้วยสมาบัติ และด้วยอริยมรรค)
ข้อที่ควรทราบเพิ่มเติม และเน้นไว้ เกี่ยวกับวิถีที่ ๒ คือ วิถีที่ใช้สมถะเต็มรูปแล้ว จึงเจริญวิปัสสนา ซึ่ง ได้ผลสําเร็จเป็นอุภโตภาควิมุตนั้น มีว่า
๑. ผู้ปฏิบัติตามวิถีนี้ ย่อมประสบผลได้พิเศษในระหว่าง คือ ความสามารถชนิดต่างๆ ที่เกิดจากฌาน สมาบัติด้วย โดยเฉพาะที่เรียกว่า อภิญญา ซึ่งมี ๖ อย่าง คือ
๑) อิทธิวิธิ (แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้ - magical powers)๒) ทิพพโสต (หูทิพย์ – clairaudience หรือ divine ear)
๓) เจโตปริยญาณ (กําหนดใจหรือความคิดผู้อื่นได้ – telepathy หรือ mind-reading)
๔) ทิพพจักขุ หรือ จุตูปปาตญาณ (ตาทิพย์ หรือรู้การจุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของตน – divine eye; clairvoyance; knowledge of the decease and rebirth of beings)
๕) ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ (การระลึกชาติได้ – reminiscence of previous lives)
๖) อาสวักขยญาณ (ญาณหยังรู้ความสิ้นอาสวะ – knowledge of the extinction of all taints)
ส่วนผู้ปฏิบัติตามวิถีแรก จะได้เพียงความสิ้นอาสวะ หาได้ผลสําเร็จพิเศษต่างๆ ที่จะเกิดจากฌานไม่
๒. ผู้ปฏิบัติตามวิถีที่ ๒ จะต้องปฏิบัติให้ครบทั้ง ๒ ขั้นของกระบวนการปฏิบัติ การปฏิบัติตามวิถีของ สมถะอย่างเดียว แม้จะได้ฌาน ได้สมาบัติ ขั้นใดก็ตาม ถ้าไม่ก้าวหน้าต่อไปถึงขั้นวิปัสสนา หรือควบคู่ไปกับ วิปัสสนาด้วยแล้ว จะไม่สามารถเข้าถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาเป็นอันขาด