สัมมาสังกัปปะ

สัมมาสังกัปปะ

ปริยัติธรรม

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

สัมมาสังกัปปะ องค์มรรคข้อที่ ๒ นี้ มีคําจํากัดความแบบทั่วไปตามคัมภีร์ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน? เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
นอกจากนี้ ยังมีคําจํากัดความแบบแยกออกเป็น ระดับโลกิยะ และระดับโลกุตระ ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย สัมมาสังกัปปะ เป็นไฉน? เรากล่าวว่า สัมมาสังกัปปะ มี ๒ อย่าง คือสัมมา สังกัปปะ ที่ยังมีอาสวะ เป็นฝ่ายบุญ อํานวยวิบากแก่ขันธ์ อย่างหนึ่ง กับสัมมาสังกัปปะ ที่เป็น อริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ และเป็นองค์มรรค อย่างหนึ่ง”

“สัมมาสังกัปปะ ที่ยังมีอาสวะ คือ เนกขัมมสังกัปป์ อพยาบาทสังกัปป์ อวิหิงสาสังกัปป์ๆ…”

“สัมมาสังกัปปะ ที่เป็นอริยะ ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค คือ ความตรึก (ตักกะ) ความนึกคิด (วิตักกะ) ความดําริ (สังกัปป์) ความคิดแนบแน่ว (อัปปนา) ความคิดปักแน่นแฟ้น (พยัปปนา) ความเอาใจจดจ่อลง วจีสังขาร ของบุคคลผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรค เป็นสมังคี ผู้กําลังเจริญอริยมรรคอยู่…”

เพื่อรวบรัด ในที่นี้ จะทําความเข้าใจกันแต่เพียงคําจํากัดความแบบทั่วไป ที่เรียกว่าเป็นขั้นโลกิยะเท่านั้น ตามคําจํากัดความแบบนี้ สัมมาสังกัปปะ คือ ความดําริชอบ หรือความนึกคิดในทางที่ถูกต้อง ตรงข้ามกับความ ดําริผิดที่เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ซึ่งมี ๓ อย่าง คือ

๑. กามสังกัปป์ หรือ กามวิตก คือ ความดําริที่เกี่ยวข้องกับกาม ความนึกคิดในทางที่จะแสวงหา หรือ หมกมุ่นพัวพันติดข้องอยู่ในสิ่งสนองความต้องการทางประสาททั้ง ๕ หรือสิ่งสนองตัณหาอุปาทานต่างๆ ความคิดในทางเห็นแก่ตัว เป็นความนึกคิดในฝ่ายราคะ หรือ โลภะ

๒. พยาบาทสังกัปป์ หรือ พยาบาทวิตก คือ ความดําริที่ประกอบด้วยความขัดเคือง ไม่พอใจ เคียดแค้น ชิงชัง คิดเห็นเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ มองคนอื่นเป็นศัตรูผู้มากระทบกระทั่ง เห็นสิ่งทั้งหลาย เป็นไปในทางขัดอกขัดใจ เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะ แง่ถูกกระทบ (ตรงข้ามกับเมตตา)

๓. วิหิงสาสังกัปป์ หรือ วิหิงสาวิตก คือ ความดําริในทางที่จะเบียดเบียน ทําร้าย ข่มเหง ตัดรอน และทําลาย อยากไปกระทบกระทั่งรุกรานผู้อื่น อยากทําให้เขาประสบความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นความนึกคิดในฝ่ายโทสะแง่จะไปกระทบ (ตรงข้ามกับกรุณา) ความดําริ หรือแนวคิดแบบนี้ เป็นเรื่องปรกติของคนส่วนมาก เพราะตามธรรมดา เมื่อบุถุชนรับรู้ อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการเห็น ได้ยิน เป็นต้น จะเกิดความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่าง คือ ถ้า ถูกใจ ก็ชอบ ติดใจ อยากได้ พัวพัน คล้อยตาม ถ้าไม่ถูกใจ ก็ไม่ชอบ ขัดใจ ขัดเคือง ผลักแย้ง เป็นปฏิปักษ์ จากนั้น ความดํารินึกคิดต่างๆ ก็จะดําเนินไปตามแนวทาง หรือตามแรงผลักดันของความชอบและไม่ชอบนั้น

ด้วยเหตุนี้ ความคิดของบุถุชนโดยปรกติ จึงเป็นความคิดเห็นที่เอนเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง มีความพอใจ และไม่พอใจของตนเข้าไปเคลือบแฝงชักจูง ทําให้ไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็นของมันเองล้วนๆ

ความนึกคิดที่ดําเนินไปจากความถูกใจ ชอบใจ เกิดความติดข้อง พัวพัน เอียงเข้าหา ก็กลายเป็น กามวิตก ส่วนที่ดําเนินไปจากความไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ เกิดความรู้สึกกระทบกระทั่ง ขัดเคือง ชิงชัง เป็นปฏิปักษ์ มองในแง่ร้าย ก็กลายเป็นพยาบาทวิตก ที่พุ่งออกมาเป็นความคิดรุกราน คิดเบียดเบียน กลั่นแกล้ง ข่มเหง เล่น ล่า ทําลาย ก็กลายเป็นวิหิงสาวิตก ทําให้เกิดทัศนคติ (หรือเจตคติ) ต่อสิ่งต่างๆ อย่างไม่ถูกต้อง

ความดําริหรือความนึกคิดที่เอนเอียง ทัศนคติที่บิดเบือนและถูกเคลือบแฝงเช่นนี้ เกิดขึ้นก็เพราะการ ขาดโยนิโสมนสิการแต่ต้น คือ มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน รับรู้อารมณ์เข้ามาทั้งดุ้น โดยขาดสติสัมปชัญญะ แล้ว ปล่อยความนึกคิดให้แล่นไปตามความรู้สึก หรือตามเหตุผลที่มีความชอบใจ ไม่ชอบใจเป็นตัวนํา ไม่ได้ใช้ ความคิดวิเคราะห์แยกแยะ และความคิดสืบสาวสอบค้นเหตุปัจจัย ตามหลักโยนิโสมนสิการ

โดยนัยนี้ มิจฉาทิฏฐิ คือ ความเข้าใจผิดพลาด ไม่มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง จึงทําให้เกิด มิจฉาสังกัปปะ คือ ดําริ นึกคิด และมีทัศนคติต่อสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิดเบือน และมิจฉาสังกัปปะนี้ก็ ส่งผลสะท้อนให้เกิดมิจฉาทิฏฐิ เข้าใจและมองเห็นสิ่งทั้งหลายอย่างผิดพลาดบิดเบือนต่อไป หรือยิ่งขึ้นไปอีก องค์ประกอบทั้งสอง คือ มิจฉาทิฏฐิ และมิจฉาสังกัปปะ จึงส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน

ในทางตรงข้าม การที่จะมองเห็นสิ่งทั้งหลายถูกต้องตามที่มันเป็นได้ จะต้องใช้โยนิโสมนสิการ ซึ่ง หมายความว่า ขณะนั้นความนึกคิด ความดําริต่างๆ จะต้องปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ไม่มีทั้งความชอบใจ ความยึด ติด พัวพัน และความไม่ชอบใจ ผลักแย้ง เป็นปฏิปักษ์ต่างๆ ด้วย ข้อนี้มีความหมายว่า จะต้องมีสัมมาทิฏฐิและ สัมมาสังกัปปะ และองค์ประกอบทั้งสองอย่างนี้ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับในฝ่ายมิจฉานั่นเอง

โดยนัยนี้ ด้วยการมีโยนิโสมนสิการ ผู้นั้นก็มีสัมมาทิฏฐิ คือ มองเห็นและเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามความเป็น จริง เมื่อมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จึงมีสัมมาสังกัปปะ คือ ดําริ นึกคิด และตั้งทัศนคติต่อสิ่งเหล่านั้น อย่างถูกต้อง ไม่เอนเอียง ยึดติด หรือผลักแย้ง เป็นปฏิปักษ์

เมื่อมีความดํารินึกคิดที่เป็นอิสระจากความชอบใจ ไม่ชอบใจ เป็นกลางเช่นนี้ จึงทําให้มองเห็นสิ่ง ต่างๆ ตามความเป็นจริง คือ เสริมสัมมาทิฏฐิให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น จากนั้นองค์ประกอบทั้งสองก็สนับสนุนกันและกัน หมุนเวียนต่อไป

ในภาวะจิตที่มีโยนิโสมนสิการ จึงมีความดําริตรตรึกนึกคิด ซึ่งปลอดโปร่ง เป็นอิสระ ปราศจากความ เอนเอียง ทั้งในทางผูกติด และในทางผลักขัด ตรงข้ามกับมิจฉาสังกัปปะ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ มี ๓ อย่าง เช่นเดียวกัน คือ

๑. เนกขัมมสังกัปป์ หรือ เนกขัมมวิตก คือ ความดําริที่ปลอดจากโลภะ ความนึกคิดที่ปลอดโปร่งจากกาม ไม่หมกมุ่นพัวพันติดข้องในสิ่งสนองความอยากต่างๆ ความคิดที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว ความคิดเสียสละ และความคิดที่เป็นคุณเป็นกุศลทุกอย่าง จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากราคะหรือโลภะ

๒. อพยาบาทสังกัปป์ หรือ อพยาบาทวิตก คือ ความดําริที่ไม่มีความรู้สึกกระทบกระทั่ง ขัดเคือง ชิงชัง หรือเพ่งมองในแง่ร้ายต่างๆ โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือเมตตา ซึ่งหมายถึงความปรารถนาดี ความมีไมตรี ต้องการให้ผู้อื่นมีความสุข จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะ

๓. อวิหิงสาสังกัปป์ หรือ อวิหิงสาวิตก คือ ความดําริที่ไม่มีการเบียดเบียน การคิดทําร้าย ข่มเหง หรือ ทําลาย โดยเฉพาะมุ่งเอาธรรมที่ตรงข้าม คือกรุณา ซึ่งหมายถึงความคิดช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ จัดเป็นความนึกคิดที่ปราศจากโทสะเช่นเดียวกัน

พิมพ์