มัคคสมังคี

มัคคสมังคี

ปริยัติธรรม

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

องค์มรรคสามัคคี ( มัคคสมังคี )

ความมุ่งหมายของสัมมาสมาธิ ก็เพื่อให้เป็นสนามปฏิบัติการของปัญญา หรือพูดให้กว้างว่า เพื่อทําให้จิตเป็นสถานที่เหมาะสมดีที่สุด ที่องค์ธรรมทั้งหลายจะมาทํางานร่วมกันให้บรรลุวัตถุประสงค์ คือการรู้แจ้งสัจธรรม กําจัดกิเลส ถึงภาวะดับปัญหาไร้ทุกข์ และก็ได้กล่าวแล้วเช่นเดียวกันว่า องค์มรรคทั้ง ๘ ประการทํางานประสานสอดคล้องส่งเสริมกัน โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้านําทางไป

จึงเป็นอันได้ความในตอนนี้ว่า องค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ เป็นเครื่องเกื้อหนุนให้กําลังแก่สมาธิ ช่วยให้สมาธิเกิดขึ้นได้ ดํารงอยู่ได้ดี เป็นสัมมาสมาธิ คือสมาธิที่ถูกต้อง ซึ่งจะใช้งานได้ผลตามต้องการ ส่งผลคืบหน้าต่อไปอีกจนถึงจุดหมาย โดยช่วยให้เกิดองค์ธรรมเพิ่มขึ้นอีก ๒ อย่างในขั้นสุดท้าย เรียกว่า สัมมาญาณ (หยั่งรู้ ชอบ) และสัมมาวิมุตติ (หลุดพ้นชอบ)

เมื่อมองในแง่นี้ ท่านเรียกองค์มรรคอื่นทั้ง ๗ ข้อ ว่าเป็น “สมาธิบริขาร” แปลว่า บริขารของสมาธิ หมายความว่า เป็นเครื่องประกอบ เครื่องแวดล้อม เครื่องหนุนเสริม หรือเครื่องปรุงของสมาธิ

สมาธิที่ประกอบด้วยบริขารนี้แล้ว เรียกว่า เป็นอริยสัมมาสมาธิ นําไปสู่จุดหมายได้ ดังบาลีว่า

“สมาธิบริขาร ๗ ประการเหล่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้รู้ ผู้เห็น เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ทรงจัดวางไว้เป็นอย่างดีแล้ว เพื่ออบรมบ่มสัมมาสมาธิ เพื่อความบริบูรณ์แห่งสัมมาสมาธิ, เจ็ด ประการไหน? ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ;

เอกัคคตาแห่งจิต ที่แวดล้อมด้วยองค์ ๗ เหล่านี้ เรียกว่า สัมมาสมาธิที่เป็นอริยะ ซึ่งมี อุปนิสัย (มีที่อิงที่ยันที่รองรับ) บ้าง มีบริขาร (มีเครื่องประกอบหรือเครื่องช่วยหนุน) บ้าง”

เมื่อมีสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณจึงพอแก่การ, เมื่อมีสัมมา ญาณ สัมมาวิมุตติจึงพอแก่การ

มรรคมีองค์ ๘ หรืออัฏฐิงคิกมรรค นี้ เมื่อเจริญพรั่งพร้อมถึงที่ ก็จะถึงขีดและถึงขณะหนึ่ง ซึ่งองค์มรรคทั้งหมดร่วมกัน ( มัคคสมังคี ) ทําหน้าที่ ให้เกิดญาณอันแรงกล้าสว่างขึ้นมาหยั่งเห็นสัจธรรม และกําจัดกวาดล้างกิเลสที่หุ้มห่อบีบคั้นจิตออกไป การที่องค์มรรคทั้งหมดทําหน้าที่พร้อมกันเช่นนี้ เรียกว่าเป็น “มรรค” เพราะเป็นขณะซึ่งมี องค์ประกอบทั้งหมดครบเป็นมรรคจริงๆ

เมื่อมรรคทําหน้าที่แล้ว ก็มีภาวะที่เป็นผลตามมา คือความรู้ความเข้าใจในสัจธรรม และความหลุดพ้น จากกิเลส ไร้สิ่งบีบคั้น เป็นอิสระ เรียกสั้นๆ ว่า “ผล

ถ้าทุกอย่างค่อยดําเนินไปตามลําดับ จะมีการทําหน้าที่ของมรรคเช่นนี้ ที่แรงหรือเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้น จนเสร็จ สิ้นรวมทั้งหมด ๔ คราว หรือ ๔ ขั้น จึงเรียกว่ามรรค ๔ และภาวะที่เป็นผลจึงมี ๔ เช่นเดียวกัน รวมเรียกว่า มรรค ๔ ผล ๔ หรือ อริยมรรค ๔ หรือ อริยผล ๔ คือ โสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล สกทาคามิมรรค สกทาคามิผล อนาคามิมรรค อนาคามิผล อรหัตมรรค และอรหัตผล

จะเห็นว่า มรรคนี้ ว่าโดยองค์ประกอบมี ๔ จึงเรียกว่า อัฏจังคิกมรรค แปลว่า มรรคมีองค์ ๘

แต่ว่าโดยปฏิบัติการ หรือการทํากิจ มี ๔ ลําดับขั้น เรียกกันว่า จตุมรรค แปลว่า มรรค ๔ (คู่กับ จตุผล คือ ผล ๔)

อาการที่องค์ธรรมทั้งหลายทําหน้าที่พร้อมกัน ในขณะจิตเดียว ยังผลที่ต้องการให้สําเร็จนี้ ท่านเรียกว่า ธรรมสามัคคี และธรรมสามัคคี ก็คือ โพธิ อันได้แก่ ความตรัสรู้

ในขณะแห่งมรรคนี้ มิใช่เฉพาะองค์มรรคเพียง ๘ เท่านั้น แม้โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการก็เกิดขึ้น ทําหน้าที่พร้อมหมดในขณะจิตเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม โพธิปักขิยธรรมทั้งหมดนั้น ก็สรุปลงได้ในองค์มรรคทั้ง ๔ นั่นเอง ดังนั้น เมื่อพูดถึง มรรค ก็จึงเป็นอันครอบคลุมถึงธรรมอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

อาจมีผู้สงสัยว่า องค์มรรคหลายอย่าง จะทําหน้าที่ในขณะหนึ่งขณะเดียวกันได้อย่างไร โดยเฉพาะองค์ฝ่ายศีล เช่น สัมมาวาจา และสัมมากัมมันตะ ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องในกรณีอย่างนี้เลย

ปัญหาข้อนี้ คงจะตอบให้เข้าใจได้ ด้วยเอาตัวอย่างที่เห็นง่ายกว่าเข้ามาเทียบ เช่น คนยิงปืนแม่น หรือยิง ธนูแม่น

ในวันที่มีการประกวด หรือแสดง เราเห็นเขายิงปืนหรือธนูถูกเป้า ประสบความสําเร็จ เขาได้รับชัยชนะ ยิงถูกเป้า ด้วยการยิงที่เป็นไปในเวลาขณะเดียวเท่านั้น

ถ้ามองผิวเผิน ก็อาจพูดเพียงแค่ว่า เขามือดี หรือมือแม่น จึงยิงถูก แล้วก็ผ่านไป แต่ถ้ามองเหตุปัจจัย ให้ลึกซึ้ง เบื้องหลังความมีมือดี มือแม่น และการยิงถูก ขณะเดียวคราวเดียวนั้น เราอาจสืบเห็นการฝึกหัดซักซ้อม ที่ใช้เวลาก่อนหน้าเหตุการณ์นั้นยาวนาน

เขาอาจฝึก ตั้งแต่การวางท่า การยืน การวางเท้า วางขา วางไหล่ วางแขน วิธีจับ วิธีประทับอาวุธ การเล็ง การกะระยะ การหัดใช้กําลังให้พอดี ปัญญา ไหวพริบ การตัดสินใจ และจิตใจที่แน่วแน่ เป็นต้น มากมาย จนเกิดความคล่องแคล่ว ร่ําชอง ทําได้ในเวลาฉับไว เข้าที่ทันที จนรู้สึกเหมือนเป็นไปเอง โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม

ครั้นถึงคราวแสดง ในเวลาที่เขายิงถูกเป้าอย่างแม่นยํา อันเป็นไปในขณะเดียวนั้น ย่อมมีความจริงที่ไม่ อาจปฏิเสธได้เลยว่า การยิงแม่นวิบเดียวนั้น เป็นผลรวมของการจับ ถือวางกิริยาท่าทาง ใช้กําลังพอดีด้านร่างกาย ความมั่นใจ จิตตั้งมั่น แน่วแน่ และความรู้ไว ไหวพริบทั้งหมด ที่เป็นเหตุปัจจัยพรั่งพร้อมอยู่เบื้องหลังตั้งมากมาย

พูดอีกอย่างหนึ่ง กิริยาอาการ ความพอดีของร่างกายทั้งหมด ก็ดี ภาวะจิตใจที่พร้อม และทํางานได้ที่ ก็ดี ปัญญาที่รู้เข้าใจบัญชาให้ตัดสินทําการก็ดี ทําหน้าที่ร่วมกันทั้งหมดในการยิงขณะเดียวกัน

มองย้อนทางว่า ความพร้อมพอดีของกาย ความพร้อมพอดีของใจ ความพร้อมพอดีของปัญญา ในเวลาขณะเดียวนั้น ก็คือผลของการซักซ้อมฝึกหัดตลอดเวลายาวนาน เป็นแรมเดือนแรมปีทั้งหมด

จึงพูดได้ว่า การยิงถูกเป้าขณะเดียวนั้น เป็นผลงานของการฝึกซ้อมที่ยาวนาน เป็นเดือน เป็นปี ทั้งหมด โดยที่ความถนัด ความสามารถ ความชํานิชํานาญ ที่เป็นผลจากการฝึกแรมเดือนแรมปีทั้งหมดนั้น ไม่ว่าทางกาย ทางจิตใจ และทางปัญญา ทุกอย่าง ทุกด้าน ทุกส่วน ทํางานร่วมพร้อมกันทั้งหมดในการยิงขณะเดียวนั้น

อนึ่ง ณ จุดนี้แหละ ที่ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะความพร้อมหรือแก่กล้าของอินทรีย์ต่างๆ

  • บางคนอาจฝึกซ้อมไม่ต้องมาก ก็ประสบความสําเร็จโดยง่าย
  • บางคนอาจฝึกหัดใช้เวลานาน แต่ฝึกไปสบายๆ ก็สําเร็จ
  • บางคนทั้งฝึกยากลําบาก ทั้งต้องใช้เวลายาวนาน จึงสําเร็จ
  • บางคนจะฝึกหัดอย่างไร ก็ไม่อาจประสบความสําเร็จได้เลย

นอกเหนือจากความแตกต่างระหว่างบุคคลแล้ว ความสําเร็จ และความช้าเร็ว เป็นต้น ยังขึ้นต่อปัจจัยอื่นอีก โดยเฉพาะการฝึกที่ถูกวิธี การมีผู้แนะนํา หรือครูดี ที่เรียกว่ากัลยาณมิตร ตลอดจนสภาพในกาย และ สภาพแวดล้อมทางกายภาพ เป็นต้น

โดยนัยนี้ท่านจึงจําแนกการปฏิบัติธรรมที่ประสบความสําเร็จเป็น ๔ ประเภทเรียกว่า ปฏิปทา ๔ คือ

  1. ทุกขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติยากลําบาก ทั้งรู้ (มีอภิญญา) ช้า
  2. ทุกขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติยากลําบาก แต่รู้ (มีอภิญญา) เร็ว
  3. สุขา ปฏิปทา ทันธาภิญญา ปฏิบัติสะดวกสบาย แต่รู้ (มีอภิญญา) ช้า
  4. สุขา ปฏิปทา ขิปปาภิญญา ปฏิบัติสะดวกสบาย ทั้งรู้ (มีอภิญญา) เร็ว

ในบรรดาองค์ประกอบต่างๆ หลายๆ อย่าง ที่ทําให้ปฏิบัติยากหรือง่าย รู้ได้ช้าหรือเร็วนั้น สมาธิก็เป็น ปัจจัยแห่งความแตกต่างอย่างหนึ่งด้วย

ได้กล่าวแล้วว่า ผู้ปฏิบัติธรรมอาจเจริญวิปัสสนาไปได้ทันที โดยอาศัยสมาธิขั้นต้นเพียงเล็กน้อย และก็ เป็นไปได้ที่จะบรรลุอาสวักขยญาณที่เป็นจุดหมาย แต่ใครจะบําเพ็ญสมถะให้ได้ฌานเสียก่อน เป็นฐานมั่นคงแล้ว จึงเจริญวิปัสสนาก็ได้

ความข้อนี้ก็มาชัดขึ้นที่เรื่องปฏิปทา ๔ นี้ด้วย กล่าวคือ ท่านแสดงว่า ผู้ที่ได้ฌาน ๔ แล้ว จะมีการปฏิบัติ ที่เป็น สุขา ปฏิปทา คือ ปฏิบัติสะดวกสบาย ส่วนผู้ที่เจริญอสุภสัญญา อาหาเรปฏิกูลสัญญา และมรณ-สัญญา เป็นต้น (พวกนี้ ตามหลักที่ผ่านมาแล้วว่า ได้อย่างมากเพียงปฐมฌาน หรือเพียงอุปจารสมาธิ) จะมีการปฏิบัติที่ เป็น ทุกขา ปฏิปทา คือ ปฏิบัติยากลําบาก ไม่สู้ชิ้นในระหว่างปฏิบัติ

ต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างพุทธพจน์แสดงวิธีปฏิบัติธรรมแนวหนึ่ง ซึ่งให้เห็นการที่โพธิปักขิยธรรมทั้งหมด เนื่องอยู่ด้วยกันกับมรรคมีองค์ ๘ และเป็นวิธีปฏิบัติที่มองเผินๆ อาจว่าง่าย ไม่มีอะไรมาก คือ สําหรับผู้พร้อม แล้ว ก็ง่าย แต่ผู้ไม่พร้อม อาจยาก และอาจต้องปฏิบัติอะไรๆ อื่นอีกมาก เพื่อทําให้พร้อม

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลรู้อยู่ เห็นอยู่ตามเป็นจริง ซึ่งจักษุซึ่งรูปทั้งหลาย...ซึ่งจักขุวิญญาณ ซึ่งจักขุสัมผัส. ซึ่งเวทนา สุข ทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัย ย่อม ไม่ติดใครใน (จักษุเป็นต้นที่กล่าวมาแล้ว) นั้น เมื่อเขาไม่ติดใคร่ ไม่ผูกรัดตัว ไม่ลุ่มหลง เล็งเห็น โทษอยู่ อุปาทานขันธ์ ๕ ย่อมถึงความไม่เติบขยายต่อไป, ตัณหา อันนําให้มีภพใหม่ ประกอบด้วยนันทิราคะ ซึ่งครุ่นใครใฝ่หาในอารมณ์ต่างๆ ก็ถูกละได้, ความกระวนกระวายกายก็ดี ความกระวนกระวายใจก็ดี ความแผดเผาทางกายก็ดี ความแผดเผาทางใจก็ดี ความเร่าร้อนกายก็ ดี ความเร่าร้อนใจก็ดี ก็ถูกละได้, เขาย่อมได้เสวยทั้งสุขทางกาย ทั้งสุขทางใจ;

บุคคลที่เป็นเช่นนั้นแล้ว มีความเห็นอันใด ความเห็นนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิ มีความดําริใด ความดํารินั้นก็เป็นสัมมาสังกัปปะ มีความพยายามใด ความพยายามนั้นก็เป็นสัมมาวายามะ มีสติ ใด สตินั้นก็เป็นสัมมาสติ มีสมาธิใด สมาธินั้นก็เป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะ ของเขา ย่อมบริสุทธิ์ดีตั้งแต่ต้นที่เดียว, มรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะของเขา ย่อมถึงความ เจริญเต็มบริบูรณ์ได้ ด้วยอาการอย่างนี้

เมื่อเขาเจริญมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นอริยะนี้อยู่อย่างนี้ แม้สติปัฏฐาน ๔ ก็ย่อมถึงความ เจริญเต็มบริบูรณ์ แม้สัมมัปปธาน ๔ แม้อิทธิบาท ๔ แม้อินทรีย์ ๕ แม้พละ ๕ แม้โพชฌงค์ ๗ ก็ย่อมถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์, เขาย่อมมีธรรม ๒ อย่างนี้ คือ สมถะ และ วิปัสสนา เข้าเคียงคู่กันไป;

 “ธรรมเหล่าใด พึงกําหนดรู้ตัวยอภิญญา เขาก็กําหนดรู้ตัวยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น ธรรมเหล่าใด พึงละด้วยอภิญญา เขาก็ละด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น, ธรรมเหล่าใด จึงให้เกิดมีด้วยอภิญญา เขาก็ทําให้เกิดมีด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น, ธรรมเหล่าใด พึงประจักษ์ แจ้งด้วยอภิญญา เขาก็ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา ซึ่งธรรมเหล่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่าไหน พึงรู้เท่าทันด้วยอภิญญา? ได้แก่ สิ่งที่เรียกว่าอุปาทาน ขันธ์ ๕ กล่าวคือ รูปอุปาทานขันธ์ เวทนาอุปาทานขันธ์ สัญญาอุปาทานขันธ์ สังขาร-อุปาทาน ขันธ์ วิญญาณอุปทานขันธ์...

ธรรมเหล่าไหน พึงละด้วยอภิญญา? ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา

ธรรมเหล่าไหน จึงทําให้เกิดมี (เจริญ) ด้วยอภิญญา? ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา

ธรรมเหล่าไหน จึงทําให้ประจักษ์แจ้งด้วยอภิญญา? ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่ง สรุปธรรมทั้งหมดไว้ ดังนี้

ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอถูกถามอย่างนี้ พึงตอบชี้แจงแก่เหล่าอัญเดียรถีย์ปริพาชก เหล่านั้น อย่างนี้ว่า: แน่ะ ท่านผู้มีอายุ

๑. ธรรมทั้งปวง มีฉันทะเป็นมูล (ฉนทมูลกา)

๒. ธรรมทั้งปวง มีมนสิการเป็นที่ก่อตัว (มนสิการสมภวา)

๓. ธรรมทั้งปวง มีผัสสะเป็นแหล่งเกิด (ผสสสมุทยา)

๔. ธรรมทั้งปวง มีเวทนาเป็นที่ชุมนุม (เวทนาสโมสรณา)

๕. ธรรมทั้งปวง มีสมาธิเป็นประมุข (สมาธิปมุขา)

๖. ธรรมทั้งปวง มีสติเป็นเจ้าใหญ่ (สตาธิปเตยุยา)

๗. ธรรมทั้งปวง มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง (ปญณุตตรา)

๘. ธรรมทั้งปวง มีวิมุตติเป็นแก่น (วิมุตติสารา)

๙. ธรรมทั้งปวง มีอมตะเป็นที่หยั่งลง (อมโตคธา)

๑๐. ธรรมทั้งปวง มีนิพพานเป็นสุดท้าย (นิพพานปริโยสานา)”

อีกแห่งหนึ่งตรัสว่า

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอยู่ครองชีวิตประเสริฐ (พรหมจริยะ หรือพรหมจรรย์) นี้ อันมีสิกขา เป็นอานิสงส์ มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง มีวิมุตติเป็นแก่น มีสติเป็นอธิปไตย

ชีวิตประเสริฐ มีสิกขาเป็นอานิสงส์อย่างไร? คือ สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร เราบัญญัติไว้แก่ สาวกทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ เพื่อความเลื่อมใสของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส เพื่อความเจริญยิ่งขึ้นไป ของผู้ที่เลื่อมใสแล้ว, สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร เราบัญญัติไว้ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นย่อมถือ ปฏิบัติศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วยประการนั้นๆ ไม่ทําให้ขาด ไม่ทําให้ทะลุ ไม่ให้ต่าง ไม่ให้ พร้อย,

อีกประการหนึ่ง สิกขาฝ่ายอาทิพรหมจรรย์ เราบัญญัติไว้แก่สาวกทั้งหลาย เพื่อความสิ้น ทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง, สิกขาฝ่ายอาทิพรหมจรรย์ เราบัญญัติไว้ด้วยประการใดๆ สาวกนั้นย่อมถือปฏิบัติศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ด้วยประการนั้นๆ ไม่ทําให้ขาด ไม่ทําให้ ทะลุ ไม่ให้ด่าง ไม่ให้พร้อย,

ชีวิตประเสริฐ มีสิกขาเป็นอานิสงส์ อย่างนี้แล

ชีวิตประเสริฐ มีปัญญาเป็นยอดยิ่งอย่างไร? คือ ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วแก่เหล่า สาวกในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง, ธรรมทั้งหลาย เราแสดง แล้ว....โดยประการใดๆ ธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สาวกมองเห็นจบถ้วนโดยประการนั้นๆ ด้วย ปัญญา,

ชีวิตประเสริฐ มีปัญญาเป็นยอดยิ่ง อย่างนี้แล

ชีวิตประเสริฐ มีวิมุตติเป็นแก่นอย่างไร? คือ ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้วแก่เหล่าสาวก ในธรรมวินัยนี้ เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบด้วยประการทั้งปวง, ธรรมทั้งหลาย เราแสดงแล้ว โดยประการใดๆ ธรรมเหล่านั้น ย่อมเป็นสิ่งที่สาวกสัมผัสโดยประการนั้นๆ ด้วยวิมุตติ,

ชีวิตประเสริฐ มีวิมุตติเป็นแก่น อย่างนี้แล

ภิกษุทั้งหลาย ชีวิตประเสริฐ มีสติเป็นอธิปไตยอย่างไร? คือ สาวกมีสติคอยกํากับอยู่เป็น อย่างดีในภายในที่เดียวว่า เราจักบําเพ็ญสิกขาฝ่ายอภิสมาจาร ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ หรือ สิกขาฝ่ายอภิสมาจาร ที่บริบูรณ์แล้ว เราก็จักช่วยหนุนเสริมด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง

“...ว่า เราจักบําเพ็ญสิกขาฝ่ายอาทิพรหมจรรย์ ที่ยังไม่บริบูรณ์ ให้บริบูรณ์ หรือสิกขาฝ่าย อาทิพรหมจรรย์ ที่บริบูรณ์แล้ว เราก็จักช่วยหนุนเสริมด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง

“...ว่า เราจักตรวจพิจารณาเห็นจบถ้วน ซึ่งธรรมที่ยังมิได้มองเห็นจบถ้วน ด้วยปัญญาในฐานะ นั้นๆ หรือธรรมที่มองเห็นจบถ้วนแล้ว เราก็จักช่วยหนุนเสริมด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง

“...ว่า เราจักสัมผัสธรรมที่ยังมิได้สัมผัส ด้วยวิมุตติ หรือธรรมที่ได้สัมผัสแล้ว เราก็จักช่วย หนุนเสริมด้วยปัญญาในฐานะนั้นๆ ดังนี้บ้าง,

ชีวิตประเสริฐ มีสติเป็นอธิปไตย อย่างนี้แล...

พระอภิธรรม เจตสิกปรมัตถ์ เรียบเรียงโดย พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร

การประหาณกิเลส ๓ ประการ

กิเลส คือ ธรรมชาติที่เศร้าหมองเร่าร้อน และทำให้สัตว์เศร้าหมองเร่าร้อนไปตามสภาพของตนด้วย ในพระอภิธรรมได้แบ่งกิเลสตามอาการที่แสดงออกได้เป็น ๓ ระดับ คือ

๑. วีติกกมกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างหยาบ ที่สามารถก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทางกาย ทางวาจาได้ เป็นทุจริตกรรมต่าง ๆ เปรียบเหมือนตะกอนที่ถูกกวนอย่างแรงจนลอยขึ้นมาให้เห็น กิเลสชนิดนี้ สามารถประหาณได้ด้วยศีลกุศล หรือ มหากุศล เป็นการทำให้สงบระงับไปชั่วครั้งชั่วคราวในขณะที่ยังมีการรักษาศีลอยู่ หรือ ยังเกิดมหากุศลจิตอยู่การประหาณกิเลสอย่างนี้ เรียกว่า "ตหังคปหาน" แปลว่า การละด้วยองค์นั้น ๆ คือ องค์แห่งทาน องค์แห่งศีล เป็นต้น ฉันนั้น

๒. ปริยุฏฐานกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างกลาง ที่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ ยังไม่ล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจา เปรียบเหมือนตะกอนที่ถูกกวนเบา ๆ เกิดอาการไหวตัวอยู่ก้นตุ่มน้ำ กิเลสชนิดนี้ ได้แก่ อนุสัยกิเลสที่แปรสภาพเป็นนิวรณ์ ๕ ซึ่งเกิดอยู่ภายในมโนทวารไม่ถึงกับแสดงอาการล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจา กิเลสชนิดนี้ประหาณได้ด้วยอำนาจแห่งสมาธิกุศล คือฌาน ย่อมข่มทับไว้หรือระงับไว้ได้ตามสมควรแก่กำลังอำนาจของฌานอยู่ได้นานตราบเท่าที่กำลังของฌานยังไม่เสื่อม เรียกว่า "วิกขัมภนปหาน" แปลว่าการประหาณด้วยการข่มทับไว้ เหมือนเอาหินไปทับหญ้าไว้ไม่ให้งอกขึ้นมาได้

๓. อนุสัยกิเลส หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดที่นอนเนืองอยู่ในขันธสันดานของสัตว์ทั้งหลายมาเป็นวลานานในสังสารวัฏ เมื่อยังไม่มีอารมณ์มากระทบทางทวารต่าง ๆ ย่อมสงบนิ่งอยู่ภายใน ไม่สามารถรู้สึกได้ นอกจากปัญญาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะรู้ได้ว่ามีอยู่ ต่อเมื่อมีอารมณ์มากระทบ เกิดการตอบสนองขึ้น ย่อมแปรสภาพเป็นปริยุฏฐานกิเลส และเมื่อได้เหตุปัจจัยสนับสนุนมากขึ้น ย่อมแปรสภาพเป็นวีติกกมกิเลส ล่วงล้ำออกมาทางกายทางวาจาต่อไป เมื่อหมดเหตุปัจจัยสนับสนุนแล้ว ก็กลับกลายเป็นอนุสัยกิเลสอีกต่อไป เปรียบเหมือนตะกอนที่นอนอยู่ก้นตุ่ม ยังไม่ถูกกระทบ หรือไม่ถูกกวน ย่อมไม่ลอยขึ้นมาให้เห็น อนุสัยกิเลสนี้ ต้องประหาณด้วยอำนาจแห่งปัญญาในมัคคจิตทั้ง ๔ ตามสมควรแก่กำลังของมรรค ซึ่งเป็นการประหาณโดยเด็ดขาด เรียกว่า "สมุจเฉทปหาน" แปลว่า การประหาณด้วยการตัดขาด เปรียบเหมือนขุดรากถอนโคน หรือทำลายรากเงาของตันไม้ต้นหญ้าทิ้งไป ฉันนั้น


พิมพ์