ปริยัติธรรม
พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)
๑. นามรูปปริจเฉทญาณ หรือเรียกว่า สังขารปริจเฉท บ้าง นามรูปววัฏฐาน บ้าง หมายถึง ความรู้จักรูปธรรม-นามธรรมว่า สิ่งที่มีอยู่เป็นอยู่ พอนับได้ว่าเป็นของจริง ก็มีแต่รูปธรรมและนามธรรมเท่านั้น และกําหนดได้ว่า ในการรับรู้และเคลื่อนไหวต่างๆ ของตนนั้น อะไรเป็นรูปธรรม อะไรเป็นนามธรรม เช่น เมื่อ เห็นรูป จักขุประสาท แสง และรูปหรือสี เป็นรูปธรรม จักขุวิญญาณ หรือการเห็น เป็นนามธรรม ดังนี้เป็นต้น
๒. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หมายถึง ญาณที่กําหนดปัจจัยของนามรูป ญาณขั้นนี้ เรียกได้ หลายชื่อ ว่า ธัมมัฏฐิติญาณ บ้าง ยถาภูตญาณ บ้าง สัมมาทัสสนะ บ้าง ผู้ประกอบด้วยญาณขั้นนี้ พระอรรถกถาจารย์เรียกว่าเป็น “จูฬโสดาบัน” คือ พระโสดาบันน้อย เป็นผู้มี คติ คือทางไปก้าวหน้า ที่แน่นอนในพระพุทธศาสนา
๓. สัมมสนญาณ หมายถึง ญาณที่พิจารณา หรือตรวจตรา (นามรูปตามแนวไตรลักษณ์) เมื่อพิจารณาด้วยสัมมสนญาณไปจนญาณแก่กล้าขึ้น เริ่มมองเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมสลายไป ของสิ่งทั้งหลาย มองเห็นความแปรปรวนของปัจจุบันธรรมว่า ธรรมเหล่านี้ ไม่มีแล้วก็มีขึ้น มีขึ้นแล้วก็ดับล่วงไป มองเห็นการเกิดและดับสลาย ทั้งโดยปัจจัย และเป็นขณะๆ ไป ก็เริ่มเกิดญาณใหม่เรียกว่า อุทยัพพยานุปัสสนา แต่ยังเป็นญาณใหม่ๆ อยู่ และญาณนี้ตอนนี้เอง ที่เรียกว่า ดรุณวิปัสสนา หรือ ตรุณวิปัสสนาญาณ (วิปัสสนา ญาณอ่อนๆ) ผู้ได้ดรุณวิปัสสนานี้ เรียกว่า “อารัทธวิปัสสก” (ผู้เริ่มเห็นแจ้ง หรือผู้ได้เริ่มวิปัสสนาแล้ว) และในตอนนี้ เอง วิปัสสนูปกิเลส” เช่น โอภาส คือ แสงสว่างแสนงาม เป็นต้น จะเกิดขึ้น ชวนให้หลงผิดและติดใจ ถ้ารู้เท่า ทันผ่านพ้นไปได้ กําหนดแยกว่าอะไรเป็นทางอะไรไม่ใช่ทางได้แล้ว
๔. อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ หรือเรียกสั้นๆ ว่า อุทยัพพยญาณ ญาณอันตามเห็นความเกิดดับ คือ พิจารณาความเกิดขึ้นและความดับไปแห่งเบญจขันธ์ จนเห็นปัจจุบันธรรมที่กําลังเกิดขึ้นและดับสลายไปๆ ชัดเจน เข้าใจภาวะที่เป็นของไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ไม่อยู่ในบังคับบัญชาตามความอยากของใคร หยั่งทราบว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดขึ้น ครั้นแล้ว ก็ต้องดับไป ล้วนเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปทั้งหมด เมื่อเกิดการรับรู้หรือ เคลื่อนไหวใดๆ ในแต่ละขณะ ก็มองเห็นนามธรรม รูปธรรม และตัวรู้หรือผู้รู้ ที่เกิดขึ้น แล้วทั้งรูปธรรม นามธรรมและตัวรู้นั้น ก็ดับไปพร้อมกันทั้งหมด เป็นความรู้เห็นชัดแก่กล้า (พลววิปัสสนา) ทําให้ละนิจจสัญญา สุขสัญญา และอัตตสัญญาได้
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า ภังคญาณ ญาณอันตามเห็นความสลาย คือ เมื่อเห็นความ เกิดดับเช่นนั้นชัดเจนเข้า ก็จะคํานึงเห็นเด่นชัดในส่วนความดับที่เป็นจุดจบสิ้น มองเห็นแต่อาการที่สิ่งทั้งหลาย ดับไปๆ เห็นว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ล้วนจะต้องดับสลายไปทั้งหมด
๖. ภยตูปัฏฐานญาณ เรียกสั้นว่า ภยญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฎเป็นของน่ากลัว คือ เมื่อพิจารณาเห็นแต่ความแตกสลาย อันมีแก่สิ่งทั้งปวงหมดทุกอย่างเช่นนั้นแล้ว สังขารทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นไปใน ภพใดคติใด ก็ปรากฏเป็นของน่ากลัว เพราะล้วนแต่จะต้องแตกสลายไป ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้น
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า อาทีนวญาณ ญาณอันคํานึงเห็นโทษ คือ เมื่อพิจารณา เห็นสังขารทั้งปวงล้วนต้องแตกสลายไป เป็นของน่ากลัว ไม่ปลอดภัยทั้งสิ้นแล้ว ย่อมคํานึงเห็นสังขารทั้งปวงนั้น ว่าเป็นโทษ เป็นสิ่งที่มีความบกพร่อง จะต้องระคนอยู่ด้วยทุกข์
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ เรียกสั้นว่า นิพพิทาญาณ ญาณอันคํานึงเห็นด้วยความหน่าย คือ เมื่อพิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นโทษเช่นนั้นแล้ว ย่อมเกิดความหน่าย ไม่เพลิดเพลินติดใจ
๙. มุจจิตุกัมยตาญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ที่ทําให้ต้องการจะพ้นไปเสีย คือ เมื่อหน่ายสังขารทั้งหลาย แล้ว ย่อมปรารถนาที่จะพ้นไปเสียจากสังขารเหล่านั้น
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ หรือ ปฏิสังขาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทาง คือ เมื่อต้องการจะพ้นไปเสีย จึงกลับหันไปยกเอาสังขารทั้งหลายขึ้นมาพิจารณากําหนดด้วยไตรลักษณ์ เพื่อมองหา อุบายที่จะปลดเปลื้องออกไป
๑๑. สังขารุเบกขาญาณ หมายถึง ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร คือ เมื่อพิจารณาสังขาร ทั้งหลายต่อไป ย่อมเกิดความรู้เห็นสภาวะของสังขารตามเป็นจริงว่า มันก็เป็นอยู่เป็นไปของมันอย่างนั้นเป็น ธรรมดา หรือเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นเอง จึงวางใจเป็นกลางเรียบเฉยได้ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ขัดใจติดใจ ใน สังขารทั้งหลาย แต่นั้นก็มองเห็นนิพพานเป็นสันติบท ญาณจึงโน้มน้อมที่จะมุ่งแล่นไปยังนิพพาน เลิกละความ เกี่ยวเกาะกับสังขารทั้งหลาย ญาณข้อนี้จัดเป็นสิขาปปัตตวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่ถึงจุดสุดยอด และเป็นวุฏฐาน คามินีวิปัสสนา คือ วิปัสสนาที่เชื่อมถึงมรรค อันเป็นที่ออกจากสิ่งที่ยึด หรือออกจากสังขาร
๑๒. สัจจานุโลมิกญาณ หรือ อนุโลมญาณ ญาณอันเป็นไปโดยอนุโลมแก่การหยั่งรู้อริยสัจ คือ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลาย ไม่พะวง และญาณก็โน้มน้อมแล่นมุ่งตรงสู่นิพพานแล้ว ญาณอันคล้อยต่อ การตรัสรู้อริยสัจ ย่อมเกิดขึ้นในลําดับถัดไป เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ
๑๓. โคตรภูญาณ หมายถึง ญาณครอบโคตร ต่อจากอนุโลมญาณ ก็จะเกิด โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร คือ ญาณที่เป็นหัวต่อ ระหว่างภาวะ ปุถุชน กับภาวะอริยบุคคล มาคั่นกลาง
๑๔. มัคคญาณ หมายถึง ญาณในอริยมรรค คือ ความหยั่งรู้ที่ให้สำเร็จภาวะอริยบุคคลแต่ละขั้น
๑๕. ผลญาณ หมายถึง ญาณในอริยผล คือ ความหยั่งรู้ที่เป็นผลสำเร็จของพระอริยบุคคลชั้นนั้นๆ
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ หมายถึง ญาณหยั่งรู้ด้วยการพิจารณาทบทวน คือ สำรวจรู้มรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่เหลืออยู่ และนิพพาน เว้นแต่ว่าพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่
หลักฐานและสภาวะของวิปัสสนาญาณ ๑๖ - หนังสือ คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย
วิปัสสนาญาณ เป็นผลของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งหมายถึง ปัญญาที่กําหนดจนรู้เห็น ว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา คือเห็นประจักษ์แจ้งซึ่งไตรลักษณ์แห่งรูปและนาม โดย อาศัยวิปัสสนากัมมัฏฐานเป็นฐานในการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ หรือที่เรียกว่า โสฬสญาณ นั้น มีเนื้อหาสาระปรากฏในขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค ที่ว่าด้วย ญาณ ๗๓ ซึ่งท่านพระสารีบุตรได้อธิบายสาระสําคัญของโสฬสญาณไว้ เพียงแต่ไม่ระบุชื่อญาณ เหมือน ที่ปรากฏในคัมภีร์วิสุทธิมรรคที่เรียงวิปัสสนาญาณตามลําดับทั้ง ๑๖ ขั้น ฉะนั้น ความหมาย และที่มาของญาณ ปรากฏทั้งในพระไตรปิฎกและคัมภีร์อรรถกถาอย่างครบถ้วน เพียงแต่ บางญาณถูกจัดรวมเข้าเป็นหมวดหมู่กัน และบางญาณก็ถูกเรียกชื่อแตกต่างกันออกไป วิปัสสนาญาณทั้ง ๑๖ ที่เกิดจากผลของการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งเป็นเส้นทางตรงสู่ พระนิพพาน มีดังต่อไปนี้
คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา , สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง
วิปัสสนาที่บรรลุถึงยอดด้วยญาณ ๙ และสัจจานุโลมิกญาณอันดับที่ (๙) นี้ เรียกชื่อว่า ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ของความรู้และความเห็นในทางปฏิบัติถูก และในคำว่า "ญาณ ๙" นี้พึงทราบไว้ว่าหมายถึงญาณ ๘ เหล่านี้คือ
๔. อุทยพยานุปัสสนาญาณ(อย่างแก่) ซึ่งเรียกว่าวิปัสสนาที่พ้นจากอุปกิเลสดำเนินไปตามวิถี (ของวิปัสสนา)๕. ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยการเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ
๖. ภยตุปัฏฐานญาณ ญาณกำหนดรู้โดยปรากฏเป็นของน่ากลัว
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยการเห็นเนืองๆ ซึ่งโทษชั่วร้าย
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยการเห็นเนืองๆ ด้วยความเบื่อหน่าย
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยความปรารถนาจะพ้นไป
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยการเห็นเนืองๆ โดยพิจารณาทบทวน
๑๑. สังขารุเปกขาญาณ ญาณกำหนดรู้ด้วยการวางเฉยในสังขาร
คำว่า "สัจจานุโลมิกญาณ อันดับที่ (๑๒)" นั้นเป็นคำเรียก "อนุโลมญาณ" เพราะฉะนั้นโยคาวจรผู้ปรารถนาบรรลุอนุโลมญาณนั้น จะต้องกระทำโยคะในญาณทั้งหลายดังกล่าวนี้ ตั้งแต่ อุทยพยญาณ (อย่างแก่) ซึ่งพ้นแล้วจากอุปกิเลส เป็นต้นไป
๔. พลวอุทยพยญาณ หรือ อุทยพยญาณอย่างแก่ หากมีคำถามว่า กระทำโยคะในอุทยพยญาณต่อไปอีก มีประโยชน์อะไร ?
(ตอบว่า) มีประโยชน์ในการกำหนดรู้ (พระไตรลักษณ์) เพราะว่า อุทยพยญาณ ในตอนต้นๆ (อย่างอ่อน) เป็นญาณที่ถูกอุปกิเลส ๑๐ ทำให้มัวหมอง ไม่สามารถกำหนดรู้พระไตรลักษณ์โดยหน้าที่ของตนตามเป็นจริงได้ แต่อุทยพยญาณ (อย่างแก่) ที่พ้นจากอุปกิเลสแล้ว สามารถกำหนดรู้ (พระไตรลักษณ์) ได้ เพราะฉะนั้น โยคาวจรจึงต้องทำโยคะในอุทยพยญาณนี้ต่อไปอีก เพื่อกำหนดรู้ (พระไตรลักษณ์)
(ถามว่า) แต่ทว่า พระไตรลักษณ์ทั้งหลาย ก็ยังมิปรากฏ เพราะอะไรปิดบังไว้ ? เพราะไม่มนสิการอะไร ?
(ตอบว่า) ก่อนอื่น อนิจจลักษณะไม่ปรากฏเพราะสันตติปิดบังไว้ เพราะไม่มนสิการความเกิดและความดับ ทุกขลักษณะไม่ปรากฏเพราะอิริยาบถทั้งหลายปิดบังไว้ เพราะไม่มนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าเนืองๆ อนัตตลักษณะไม่ปรากฏเพราะแท่ง (หรือก้อน) ปิดบังไว้ เพราะไม่มนสิการถึงความสลายตัวของธาตุต่าง ๆ แต่ว่า เมื่อโยคาวจร กำหนดรู้ความเกิดและความดับแล้วเพิกถอนสันตติออกไป อนิจจลักษณะก็ปรากฏ โดยหน้าที่ของตนตามเป็นจริง เมื่อมนสิการความเบียดเบียนเฉพาะหน้าเนืองๆ แล้วเพิกถอนอิริยาบถ ทุกขลักษณะก็ปรากฏ โดยหน้าที่ของตนตามเป็นจริง เมื่อกระจายธาตุต่างๆ ออกไป แล้วทำการกระจายความเป็นก้อน" (เป็นแท่ง เป็นกลุ่ม) ออกไป อนัตตลักษณะก็ปรากฏ
วิภาค ๖การจำแนกลักษณะทั้ง ๓ นี้ไว้ ดังนี้คือ
- อนิจจะ ความไม่เที่ยง
- อนิจจลักษณะ ลักษณะของความไม่เที่ยง
- ทุกขะ ความเป็นทุกข์
- ทุกขลักษณะ ลักษณะของความเป็นทุกข์
- อนัตตา ความไม่มีอัตตา
- อนัตตลักษณะ ลักษณะของความไม่มีอัตตา
ในวิภาคนั้น
- ขันธ์ ๕ ชื่อว่า อนิจจะ (ถาม) เพราะเหตุไร? (ตอบ) เพราะเกิดขึ้นดับไปและมีความเป็นอย่างอื่น หรือว่า เพราะมีแล้วหามีไม่ (ได้แก่ เพราะเกิดแล้วดับไป)
- ความเกิดขึ้น ดับไป และความเป็นอย่างอื่น เป็น อนิจจลักษณะ หรือว่าอาการและพิการ กล่าวคือ ความมีแล้วหามีไม่ (เกิดแล้วดับไป) เป็นอนิจจลักษณะ
- แต่ขันธ์ ๕ นั้นนั่นแลเป็น ทุกขะ เพราะมีพระพุทธดำรัสอยู่ว่า "ยทนิจฺจํ ตํทุกฺขํ - สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์" เพราะเหตุไร ? เพราะเบียดเบียนเฉพาะหน้าเนืองๆ
- อาการเบียดเบียนเฉพาะหน้าเนือง ๆ เป็น "ทุกขลักษณะ"
- และขันธ์ ๕ นั้นนั่นเอง ชื่อว่าเป็น อนัตตา เพราะมีพระพุทธดำรัสอยู่ว่า "ยํ ทุกฺขํ ตทนตฺตา - สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา" เพราะเหตุไร ?เพราะไม่เป็นไปในอำนาจ
- อาการไม่เป็นไปในอำนาจ เป็น อนัตตลักษณะ
โยคาวจรนี้กำหนดรู้วิภาคนี้นั้นอยู่แม้ทั้งหมด ด้วยอุทยพยญาณ (อย่างแก่) ที่ท่านเรียกว่า วิปัสสนาซึ่งพ้นไปแล้วจากอุปกิเลส ดำเนินไปตามวิถี โดยหน้าที่ของตนตามเป็นจริง
๕. ภังคานุปัสสนาญาณ
เมื่อโยคาวจรนั้นกำหนดรู้อยู่อย่างนี้แล้วชั่งใจ ไตร่ตรองรูปธรรมและอรูปธรรม (รูปและนาม) ทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อยู่แล้ว ๆ เล่า ๆ ญาณนั้นก็ดำเนินไปแก่กล้า สังขารทั้งหลายก็ปรากฏรวดเร็ว เมื่อญาณดำเนินไปแก่กล้า เมื่อสังขารทั้งหลายปรากฏรวดเร็ว ญาณก็ตามไม่ทันความเกิดขึ้น หรือความตั้งอยู่ หรือความเป็นไป หรือนิมิต (ของสังขารทั้งหลาย) สติ (คือญาณ) ก็ตั้งมั่นอยู่ในนิโรธ คือความสิ้นไป ความเสื่อมไป และความแตกทำลายไปแต่อย่างเดียว
พระบาลีอธิบายความภังคานุปัสสนาญาณ
เมื่อโยคาวจรนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารเกิดขึ้นอย่างนี้ แล้วดับไปอย่างนี้เป็นธรรมดา" ดังนี้ วิปัสสนาญาณชื่อว่า ภังคานุปัสสนา ก็เกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ ซึ่งท่านกล่าวระบุถึงไว้ (ในพระบาลีปฏิสัมภิทามรรค) แปลความว่า "ถามว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์แล้วเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ เป็นอย่างไร"
จิตมีรูปเป็นอารมณ์ เกิดขึ้นแล้วดับไป โยคีกำหนดรู้อารมณ์นั้นแล้วเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับของจิตนั้น ที่ว่า "เห็นเนืองๆ" คือ เห็นเนืองๆ อย่างไร คือ เห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นของเที่ยง เห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอัตตา เบื่อหน่ายอยู่ มิใช่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากความกำหนัด มิใช่กำหนัดอยู่ ดับไป มิใช่ให้เกิดขึ้นสลัดทิ้งไป มิใช่ยึดถือไว้ เมื่อเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง ก็ละนิจจสัญญา (คือความสำคัญว่าเที่ยง) เสียได้ เมื่อเห็นเนืองๆ โดยความเป็นทุกข์ ก็ละสุขสัญญา (คือ ความสำคัญว่าเป็นสุข) เสียได้ เมื่อเห็นเนืองๆ โดยเป็นอนัตตา ก็ละอัตตสัญญา (คือความสำคัญว่ามีอัตตา) เสียได้ เมื่อเบื่อหน่าย ก็ละความเพลิดเพลินยินดี เมื่อปราศจากความกำหนัด ก็ละความกำหนัด เมื่อดับ ก็ละสิ่งเป็นแดนเกิด เมื่อสลัดทิ้งไป ก็ละความยึดถือไว้
"จิตมีเวทนาเป็นอารมณ์ ..."จิตมีสัญญาเป็นอารมณ์ ...
"จิตมีสังขารเป็นอารมณ์ ...
"จิตมีวิญญาณเป็นอารมณ์ ...
"จิตมีจักษุเป็นอารมณ์ ...
ฯลฯ
"จิตมีชราและมรณะเป็นอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป... ฯลฯ ... เมื่อโยคีสลัดทิ้งไป ก็ละความยึดถือไว้"
การย้ายไปสู่วัตถุที่ตั้ง การคงที่อยู่ในปัญญาและมีกำลังเข้มแข็งในการนึกคิด ชื่อว่า ปฏิสังขาวิปัสสนา (ความเห็นแจ้งด้วยการกำหนดรู้) การกำหนดรู้อารมณ์ทั้ง ๒ โดยสภาวะอันเดียวกันโดยดำเนินไปตามอารมณ์นั่นแล คือความน้อมจิตไปในนิโรธ ชื่อว่า วยลักขณวิปัสสนา (คือความเห็นแจ้งลักษณะของความดับ)
"การกำหนดรู้ ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่า รู้แล้ว ชื่อว่า ปัญญา โดยความหมายว่า รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในการกำหนดรู้อารมณ์แล้วเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งความดับ ชื่อว่า วิปัสสนาญาณ"
ความหมายของคำว่า "เห็นเนืองๆ" อนึ่ง คำว่า "อนุปสฺสติ - เห็นเนืองๆ" ในพระบาลีนี้ หมายความว่า ตามเห็นเนืองๆ อธิบายว่า เห็นแล้วเห็นอีก โดยอาการหลายอย่าง เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า "ที่ว่าเห็นเนืองๆ คือ เห็นเนืองๆอย่างไร ? คือเห็นเนืองๆ โดยความไม่เที่ยง" ดังนี้ เป็นต้น ในอาการหลายอย่างนั้น เพราะเหตุที่ที่สุดของความไม่เที่ยง ชื่อว่าภังคะ(คือความดับ) ฉะนั้นโยคาวจรผู้เห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ผู้นั้นจึงเห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งสังขารทั้งปวงโดยความไม่เที่ยง มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเที่ยง แต่นั้น ก็เห็นอยู่เนืองๆ ซึ่งสังขารทั้งปวงนั้นนั่นแล โดยความเป็นทุกข์ มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นสุข เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอนัตตา มิใช่เห็นเนืองๆ โดยความเป็นอัตตา เพราะความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเพราะความเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา อนึ่ง เพราะเหตุที่สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่พึงยินดีพอใจสิ่งนั้น และสิ่งใดที่ไม่พึงยินดีพอใจ ไม่พึงกำหนัดในสิ่งนั้น เพราะฉะนั้น โยคาวจรจึงเบื่อหน่าย ไม่เพลิดเพลินยินดี ปราศจากกำหนัด ไม่กำหนัดในสังขารที่ตนเองเห็นแล้วว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานี้ โดยการรำลึก ตามการเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ เมื่อโยคาวจรนั้นไม่กำหนัดอยู่อย่างนี้ ก็ทำความกำหนัด(ราคะ) ให้ดับไปมิให้เกิดขึ้น อธิบายว่า กระทำมิให้เกิดขึ้น ด้วยญาณขั้นโลกีย์เท่านั้นก่อน อีกประการหนึ่ง โยคาวจรนั้นเป็นผู้ปราศจากกำหนัดอย่างนี้แล้ว ทำสังขารที่ตนเห็นแล้ว ให้ดับไป มิให้เกิดขึ้น ฉันใด ก็ทำสังขารแม้ที่มิได้เห็นให้ดับไป มิให้เกิดขึ้นด้วยอำนาจญาณโดยลำดับ เหมือนกันฉันนั้น อธิบายว่า มนสิการโดยความดับอย่างเดียว คือว่าเห็นแต่ความดับอย่างเดียวของสังขารนั้น ไม่เห็นความเกิด เมื่อโยคาวจรผู้นั้น ปฏิบัติถึงอย่างนี้แล้ว ก็สลัดทิ้งไป ไม่ยึดถือไว้
คำว่า "การกำหนดรู้อารมณ์ทั้งสองโดยสภาวะอันเดียวกันโดยดำเนินไปตามอารมณ์นั่นแล" อธิบายว่า กำหนดรู้อารมณ์ทั้งสองโดยสภาวะอย่างเดียวกันนั่นแล อย่างนี้ว่า "สังขาร (ในปัจจุบัน) นี้ แตกดับอยู่ ฉันใด สังขารแม้ในอดีต ก็แตกดับไปแล้ว สังขารแม้ในอนาคต ก็จักแตกดับไปฉันนั้น" ดังนี้ โดยการดำเนินไป คือโดยลำดับของอารมณ์ที่ตนเห็นแล้วโดยประจักษ์ เรื่องนี้ แม้ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายก็กล่าวไว้แล้วว่า
พระภิกษุผู้มีทัศนะบริสุทธิ์ในสังขารซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันผู้นี้ นำเอาทัศนะอันบริสุทธิ์นั้นแลไปในสังขาร ซึ่งเป็นอดีตและอนาคตด้วย สังขารทั้งหลายแม้ทั่วทั้งปวงมีปรกติแตกสลายไป เหมือนหยดน้ำค้าง เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาก็ สลายไป ฉะนั้น
คำว่า "กำหนดรู้อารมณ์ ๑" หมายความว่า รู้อารมณ์มีรูปเป็นต้นที่มีอยู่ก่อน ๑ คำว่า "เห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ๑" หมายความว่า เห็นความดับของอารมณ์นั้นแล้วยังเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับของจิตซึ่งมีความดับนั้นเป็นอารมณ์ด้วยคำว่า "ความปรากฏโดยความว่างเปล่า ๑" หมายความว่า เมื่อโยคาวจรนั้นเห็นอยู่เนืองๆ
ซึ่งความดับอย่างนั้น ความปรากฏโดยความว่างเปล่า ก็ปรากฏชัดแจ้งว่า "สังขารทั้งหลายนั่นเอง แตกดับไป การแตกดับของสังขารทั้งหลายนั้นเป็นความตาย ไม่มีใครๆ อื่น" ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวไว้ว่า
ขันธ์ทั้งหลายดับไป ไม่มีใครอื่นความแตกดับของขันธ์ ทั้งหลาย เขาเรียกว่าความตาย โยคีผู้ไม่ประมาท เห็นอยู่ซึ่งความแตกดับของขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยอุบายที่แยบคาย เหมือนช่างเจียระไน เห็นแก้วมณีที่ตนเจาะอยู่ด้วยเพชร ฉะนั้น
คำว่า "อธิปัญญาวิปัสสนา" ท่านกล่าวว่า ความกำหนดรู้อารมณ์ ๑ การเห็นเนืองๆ ซึ่งความดับ ๑ การปรากฏโดยความว่างเปล่า ๑ (๓ อย่าง) นี้ ชื่อว่า อธิปัญญาวิปัสสนา (ความเห็นแจ้งด้วยปัญญารู้ยิ่ง)
คำว่า "ผู้ฉลาดในอนุปัสสนา ๓" คือว่า พระภิกษุผู้ฉลาดในอนุปัสสนา ๓ มีอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น คำว่า "และในวิปัสสนา ๔" ได้แก่ ในวิปัสสนา ๔ มีนิพพิทานุปัสสนาเป็นต้น คำว่า "เพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุปัฏฐาน ๓" ความว่าเพราะความเป็นผู้ฉลาดในอุปัฏฐาน คือ ความปรากฏ ๓ อย่างนี้ด้วย คือ (ความปรากฏ) โดยความสิ้นไป ๑ โดยความเสื่อมไป ๑ โดยความว่างเปล่า ๑ คำว่า "ไม่หวั่นไหวในทิฏฐิต่างๆ" ความว่า ไม่ส่ายไปในทิฏฐิทั้งหลายมีประการต่างๆ มีสัสสตทิฏฐิ(ความเห็นว่าเที่ยง) เป็นต้น
เมื่อโยคาวจรนั้นไม่ส่ายไปส่ายมาอย่างนี้ เป็นผู้มีมนสิการดำเนินไปว่า "สิ่งที่ยังไม่ดับนั่นแลดับอยู่ สิ่งที่ยังไม่แตกนั่นแลแตกอยู่" ละความเกิดขึ้น ความตั้งอยู่ความเป็นไป และนิมิตของสังขารทั้งหลายทั้งปวงเสีย เห็นแต่ความแตกดับอย่างเดียว ประดุจบุคคลเห็นการแตกของภาชนะบอบบางกำลังแตกอยู่ เห็นการแตกกระจายของฝุ่นละอองที่กำลังปลิวว่อนอยู่ เห็นการแตกของเมล็ดงาที่กำลังถูกคั่วอยู่ โยคาวจรนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายทั้งปวง กำลังแตกดับอยู่ แตกดับอยู่เหมือนบุรุษผู้มีดวงตา ยืนอยู่ ณ ริมฝั่งสระโบกขรณี หรือ ณ ริมฝั่งแม่น้ำ เมื่อฝนเม็ดหนากำลังตกอยู่เขาพึงเห็นต่อมน้ำใหญ่ๆ เกิดขึ้นๆ บนผิวน้ำ แล้วแตกไปทันทีทันใด ฉะนั้น" แน่ละพระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงโยคาวจรเช่นกล่าวนี้ จึงตรัสว่า
มัจจุราช มองไม่เห็นบุคคลผู้กำหนดเห็นโลก (คือ ขันธ์ ๕) เหมือนเห็นต่อมน้ำ (และ) เหมือนเห็นพยับแดด
อานิสงส์ภังคานุปัสสนาญาณ
เมื่อโยคาวจรผู้นั้น เห็นอยู่เนืองๆ ว่า "สังขารทั้งหลายทั้งปวงแตกดับไป แตกดับไป อยู่อย่างนั้น" ภังคานุปัสสนาญาณ ซึ่งมีอานิสงส์ ๘ ประการเป็นบริวาร ก็ถึงความมีกำลังแก่กล้า อานิสงส์ ๘ ประการในภังคานุปัสสนาญาณนั้น คืออานิสงส์เหล่านี้
๑. ละภวทิฏฐิ (คือความเห็นในความมีและไม่มีแห่งภพ)๒. สละความอาลัยรักใคร่ในชีวิต
๓. ประกอบความเพียรมั่นคงในความเพียรที่ควรประกอบอยู่ทุกเมื่อ
๔. มีอาชีพบริสุทธิ์
๕. ละความทะเยอทะยาน
๖. ปราศจากความกลัว
๗. ประกอบด้วยขันติและโสรัจจะ
๘. อดกลั้นต่อสิ่งไม่พอใจและในความกำหนัดยินดี
เพราะฉะนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลาย จึงกล่าวไว้ว่า
มุนี ผู้มีปรกติเห็นเนืองๆ ซึ่งความแตกดับครั้นเห็นคุณอันยอดเยี่ยม ๘ ประการ เหล่านี้แล้ว เป็นเสมือนบุคคลผู้ มีผ้าโพกบนศีรษะถูกไฟไหม้ กำหนดพิจารณาเห็นแล้วเห็นเล่า อยู่ในภังคานุปัสสนาญาณนั้น เพื่อบรรลุอมตนิพพาน
๖. ภยตุปัฏฐานญาณ
เมื่อโยคีนั้น เสพอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากๆ ซึ่งภังคานุปัสสนา มีนิโรธคือความสิ้นไป ความเสื่อมไป และความแตกดับของสังขารทั้งปวงเป็นอารมณ์อยู่อย่างนี้ สังขารทั้งหลายซึ่งมีความแตกดับ (บรรดามีอยู่) ในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ (๕) วิญญาณฐิติ (๗) สัตตาวาส (๙) ทุกหนทุกแห่ง ก็ปรากฏเป็นที่น่ากลัวมาก เช่นเดียวกับสีหะ พยัคฆะ เสือเหลือง หมี เสือดาว ยักษ์ รากษส โคดุ สุนัขดุ ช้างดุตกมัน อสรพิษร้าย สายฟ้า ป่าช้า สนามรบ และหลุมถ่านเพลิงที่ลุกโชติช่วงเป็นต้น ปรากฏเป็นที่น่ากลัวมากแก่บุรุษขลาด ผู้ปรารถนาดำรงชีวิตอยู่โดยสุขสบาย เมื่อโยคีนั้นเห็นอยู่ว่า "สังขารทั้งหลายที่เป็นอดีตก็ดับไปแล้ว ที่เป็นป้จจุบันก็กำลังดับอยู่ ถึงแม้สังขารทั้งหลายที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต ก็จักดับไป" ดังนี้ ณ ที่ตรงนี้ ญาณชื่อว่าภยตุปัฏฐานญาณ บังเกิดขึ้น
อุปมาภยตุปัฏฐานญาณ ด้วยสตรีมีลูก ๓ในการที่ภยตุปัฏฐานญาณ บังเกิดขึ้นนั้น มีอุปมาดังต่อไปนี้
สมมติว่า สตรีผู้หนึ่ง มีบุตรชาย ๓ คน เป็นผู้มีความผิดในพระราชา พระราชาตรัสสั่งให้ (ลงโทษ) ตัดศีรษะของบุตรชายทั้งสามนั้น สตรีผู้นั้นได้ไปยังตะแลงแกง พร้อมกับบุตรชายทั้ง ๓ ด้วย ทันใดนั้น เขาก็ตัดศีรษะของบุตรชายคนโตของเธอ แล้วเตรียมการเพื่อตัดศีรษะของบุตรชายคนกลาง สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนโตถูกตัดไปแล้ว และเห็นศีรษะบุตรชายคนกลางกำลังถูกตัดอยู่ ก็ทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กเสียได้ว่า "แม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้ง ๒ นั้นนั่นแล"
ในอุปมานั้น การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นอดีต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนโตถูกตัดไปแล้ว การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่เป็นปัจจุบัน ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีนั้นเห็นศีรษะของบุตรชายคนกลางกำลังถูกขาตัดอยู่ การที่โยคีเห็นความดับของสังขารทั้งหลายที่จะบังเกิดขึ้นแม้ในอนาคต ก็เปรียบเหมือนการที่สตรีผู้นั้นทอดอาลัยในบุตรชายคนเล็กว่า "ถึงแม้พ่อคนเล็กนี้ก็จักเป็นเช่นเดียวกับบุตรชายทั้ง ๒ คนนั้นนั่นแล" เมื่อโยคีนั้น เห็นอยู่อย่างนี้ ณ ที่ตรงนี้ เกิด ภยตุปัฏฐานญาณ
๗. อาทีนวานุปัสสนาญาณ
เมื่อโยคีนั้น เสพอยู่เนืองๆ ทำให้เกิดอยู่ ทำให้มากๆ อยู่ ซึ่งภยตุปัฏฐานญาณนั้น ก็ปรากฏว่า ในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ (๕) ฐิติ (๗) สัตตาวาส (๙) ทั่วทุกหนทุกแห่ง ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลบลี้ ไม่มีภูมิที่จะไป ไม่มีที่พึ่งอาศัย ไม่มีความปรารถนา หรือความยึดเหนี่ยว ในสังขารทั้งหลาย ที่ดำเนินไปในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ (๕) ฐิติ (๗) นิวาส (๙) ทั่วทุกหนทุกแห่ง แม้แต่เพียงสังขารเดียว ภพ ๓ ก็ปรากฏประดุจหลุมถ่านเพลิงซึ่งเต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลว มหาภูต ๔ ก็ปรากฏประดุจอสรพิษมีพิษร้าย ขันธ์ ๕ ก็ปรากฏประดุจเพชฌฆาตที่ยกดาบเงื้อง่าอยู่แล้ว อายตนะภายใน ๖ ก็ปรากฏประดุจหมู่บ้านร้าง อายตนะภายนอก ๖ ก็ปรากฏประดุจพวกโจรปล้นฆ่าชาวบ้าน วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ก็ปรากฏประดุจถูกเผาด้วยไฟ ๑๑ กอง ลุกโพลงและโชติช่วงอยู่ สังขารทั้งหลายทั้งปวงก็ปรากฏเป็นประดุจหัวฝี เป็นโรค ถูกลูกศรเสียบ เป็นสิ่งชั่วร้าย และเป็นอาพาธเป็นกองแห่งโทษร้ายใหญ่หลวง หาความอบอุ่นมิได้ ไม่มีรส
(ถามว่า) ปรากฏอย่างไร ?
(ตอบว่า) ปรากฏดุจดังว่า ป่าชัฏ แม้ตั้งสงบอยู่โดยอาการเป็นที่รื่นรมย์ แต่มีมฤคร้าย ปรากฏแก่บุรุษขลาด ผู้ปรารถนาดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุข ปรากฏประดุจถ้ำมีเสือโคร่ง ประดุจน้ำมีรากษสสิงอยู่ ประดุจข้าศึกเงือดเงื้อพระขรรค์อยู่แล้วประดุจโภชนะมียาพิษ ประดุจมรรคาที่มีโจร ประดุจเรือนที่ไฟไหม้ ประดุจสนามรบที่มีทหารเตรียมพร้อมอยู่แล้ว ความจริง บุรุษผู้นั้น ครั้นมาถึงสถานที่เช่นป่าชัฏมีสัตว์ร้ายเป็นต้นเหล่านี้แล้ว ก็กลัว หวาดหวั่น ขนลุกขนพอง เห็นแต่โทษร้ายอย่างเดียวทุกทิศทาง ฉันใด โยคาวจรท่านนี้ก็ฉันนั้นเช่นกั้น เมื่อสังขารทั้งหลายทั้งปวงปรากฏโดยความน่ากลัว ด้วยอำนาจภังคานุปัสสนา ก็เห็นอยู่โดยทั่วไป แต่โทษร้าย ไม่มีรส ไม่มีความอบอุ่นใจแต่อย่างเดียว
เมื่อโยคาวจรท่านนั้นเห็นอยู่อย่างนี้ ญาณที่ชื่อว่า อาทีนวญาณ ก็เป็นอันเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นญาณที่ท่านระบุถึง กล่าวคำพระบาลีนี้ไว้ (แปลความ) ว่า
"(ถามว่า) ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัว เป็นอาทีนวญาณอย่างไร"
"(ตอบว่า) ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเกิดขึ้น เป็นที่น่ากลัว' ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเป็นไปเป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'นิมิตเป็นที่น่ากลัว ... ว่า 'ความขวนขวายเป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'ปฏิสนธิเป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'คติ (ภูมิที่ไป) เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'นิพพัตติ (ความบังเกิด) เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'อุปปัตติ (ความเข้าถึง) เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'ชาติ (ความเกิด) เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'ชรา เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'พยาธิ (ความป่วยไข้) เป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'มรณะเป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'ความโศกเป็นที่น่ากลัว' ... ว่า 'ความคร่ำครวญเป็นที่น่ากลัว' ..ว่า 'ความคับแค้นใจเป็นที่น่ากลัว" ดังนี้เป็น อาทีนวญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ปัญญา (ความรู้) ว่า 'ความไม่เกิดขึ้นเป็นแดนเกษม (ปลอดภัย)' ดังนี้เป็น สันติปทญาณ (ความรู้ในทางบรรลุสันติ คือพระนิพพาน) ความรู้ว่า 'ความไม่เป็นไปเป็นแดนเกษม' ... ฯลฯ ... ความรู้ว่า ความไม่คับแค้นใจเป็นแดนเกษม" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ปัญญา (ความรู้) ว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นที่น่ากลัวความไม่เกิดขึ้นเป็นแดนเกษม' ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (ความรู้ในทางบรรลุสันติ คือพระนิพพาน) ความว่า 'ความเป็นไป ... ฯลฯ ...ความคับแค้นใจเป็นที่น่ากลัว ความไม่คับแค้นใจเป็นแดนเกษม" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์เป็นอาทีนวญาณ, ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเป็นไป' ...ฯลฯ ...ว่า 'ความคับแค้นใจเป็นทุกข์" ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า 'ความไม่เกิดขึ้นเป็นสุขดังนี้ เป็นสันติปทญาณ ความรู้ว่า "ความไม่เป็นไป ... ฯลฯ ความไม่คับแค้นใจ เป็นสุข" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆพวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ ความไม่เกิดขึ้นเป็นสุข' ดังนี้เป็นสันติปทญาณ, ความรู้ว่า 'ความเป็นไปเป็นทุกข์ ความไม่เป็นไปเป็นสุข ... ฯลฯ ... 'ความคับแค้นใจเป็นทุกข์ ความไม่คับแค้นใจเป็นสุข" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นการเจือด้วยอามิส ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ, ความรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่าความเป็นไป ... ฯลฯ ... ความคับแค้นใจ เป็นการเจือด้วยอามิส" ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า ความไม่เกิดขึ้นเป็นการไม่มีอามิส' ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ ความรู้ว่า 'ความไม่เป็นไป ... ฯลฯ ... ความไม่คับแค้นใจ เป็นการไม่มีอามิส" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า "ความเกิดขึ้นเป็นการเจือด้วยอามิส ความไม่เกิดขึ้น เป็นการไม่มีอามิส' ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ ความรู้ว่า 'ความเป็นไป เป็นการเจือด้วยอามิส ความไม่เป็นไปเป็นการไม่มีอามิส ... ฯลฯ ... ความคับแค้นใจ เป็นการเจือด้วยอามิส ความไม่คับแค้นใจ เป็นการไม่มีอามิส" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นสังขารดังนี้เป็นอาทีนวญาณ ความรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเป็นไปเป็นสังขาร ... ฯลฯ ความคับแค้นใจ เป็นสังขาร" ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า 'ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพานดังนี้ เป็นสันติปทญาณ ความรู้ว่า 'ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน' .. ฯลฯ ... 'ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ (แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"ความรู้ว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นสังขาร ความไม่เกิดขึ้นเป็นนิพพาน ดังนี้เป็นสันติปทญาณ ความรู้ว่า ความเป็นไปเป็นสังขาร ความไม่เป็นไปเป็นนิพพาน' ... ฯลฯ 'ความคับแค้นใจเป็นสังขาร ความไม่คับแค้นใจเป็นนิพพาน" ดังนี้ เป็นสันติปทญาณ(แต่ละอย่างๆ พวกหนึ่ง)
"โยคาวจรเห็นความเกิดขึ้น และความเป็นไป และนิมิตความขวนขวายและปฏิสนธิ ว่าเป็นทุกข์ นี้เป็น อาทีนวญาณ และเห็นความไม่เกิดขึ้น ความไม่เป็นไป ความไม่มีนิมิต ความไม่มีขวนขวาย ไม่มีปฏิสนธิ ว่าเป็นสุข นี้เป็น สันติปทญาณ อาทีนวญาณนี้เกิดใน ๕ ฐาน สันติปทญาณก็เกิดใน ๕ ฐาน โยคาวจรกำหนดรู้ญาณ ๑๐ ด้วยความเป็นผู้ฉลาดในญาณ ๒ (คือ อาทีนวญาณ และ สันติปทญาณ) จึงไม่หวั่นไหวในทิฏฐิต่างๆ" ด้วยประการฉะนี้
"ความเห็นนั้น ชื่อว่า ญาณ โดยความหมายว่า รู้แล้ว ชื่อว่า ปัญญา โดยความหมายว่า รู้ทั่ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ปัญญาในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัว เป็นอาทีนวญาณ" ดังนี้"
คำว่า "ความเกิดขึ้น" ในคำพระบาลี (ที่แปลไว้ข้างต้น) นั้น หมายถึง การเกิดขึ้นในภพ เพราะกรรมในภพก่อนเป็นปัจจัย คำว่า "ความเป็นไป" หมายถึง ความเป็นไปของสังขารซึ่งเกิดขึ้นอย่างนั้นแล้ว คำว่า "นิมิต" หมายถึง นิมิต คือ สังขารแม้ทุกประการ คำว่า "ความขวนขวาย" หมายถึง กรรมอันเป็นเหตุให้ปฏิสนธิในภพต่อไป คำว่า "ปฏิสนธิ" หมายถึง การเกิดขึ้นในภพต่อไปคำว่า "คติ (ภูมิที่ไป)" หมายถึง ภูมิที่ไปซึ่งมีปฏิสนธิ คำว่า "นิพพัตติ (ความบังเกิด)" หมายถึง ความบังเกิดของขันธ์ทั้งหลาย คำว่า "อุปปัตติ (ความข้าถึง)" หมายถึง ความเป็นไปแห่งวิบาก ที่ท่านกล่าวไว้อย่างนี้ว่า "ความเป็นไปแห่งวิบาก ของผู้ถึงพร้อมแล้ว หรือว่าของผู้เข้าถึงแล้ว" คำว่า "ชาติ (ความเกิด)" หมายถึง ชาติ ซึ่งเป็นปัจจัยแห่งชรา เป็นต้น เกิดขึ้นเพราะภพเป็นปัจจัย อาการทั้งหลายมีชราและมรณะเป็นต้น เป็นอาการที่ปรากฏแล้วโดยเฉพาะ อนึ่ง ในพระบาลีนั้น อาการมีความเกิดขึ้นเป็นต้น ๕ อย่าง เท่านั้น ท่านกล่าวไว้โดยความเป็นวัตถุ (ที่ตั้ง) ของอาทีนวญาณ นอกนั้น ท่านกล่าวไว้โดยเป็นไวพจน์ของอาการ ๕ อย่างเหล่านั้น เพราะว่า คำ "นิพพัตติ" (และ) "ชาติ" ๒ คำนี้ เป็นไวพจน์ของอุปปาทะ (ความเกิดขึ้น) และของปฏิสนธิ คำว่า "คติ" (และ) "อุปปัตติ" ๒ คำนี้ เป็นไวพจน์ของปวัตตะ (ความเป็นไป) คำว่า "ชรา" เป็นต้นเป็นไวพจน์ของนิมิต ดังนี้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ข้างต้น (ด้วยคาถาซึ่งแปลความว่า)
"โยคาวจรเห็นความเกิดขึ้นและความเป็นไปและนิมิต ความขวนขวายและปฏิสนธิว่าเป็นทุกข์นี้เป็นอาทีนวญาณ" ดังนี้ ๑ และว่า "อาทีนวญาณนี้เกิดใน ๕ ฐาน" ดังนี้ ๑
ส่วนคำเป็นต้นว่า "ปัญญา (ความรู้) ว่า 'ความไม่เกิดขึ้นเป็นแดนเกษม' เป็น สันติปทญาณอนึ่ง ในอาทีนวญาณนี้ เพราะสิ่งใดเป็นของน่ากลัว สิ่งนั้นเป็นทุกข์โดยแน่นอนและสิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นของเจือด้วยอามิสโดยแท้ เพราะเป็นของไม่พ้นไปจาก(อามิส ๓ คือ) อามิสคือวัฏฎะ ๑ อามิสในโลก ๑ และอามิสคือกิเลส ๑ และสิ่งใดเจือด้วยอามิส สิ่งนั้นก็เป็นเพียงสังขารเท่านั้น เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวคำเป็นต้นว่า "ความรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัวว่า 'ความเกิดขึ้นเป็นทุกข์ดังนี้ เป็นอาทีนวญาณ" ดังนี้ไว้ แม้เป็นอย่างนั้นก็ควรทราบความแตกต่างกันในอาการทั้งหลายนี้ ด้วยความเป็นไปโดยอาการต่างๆ กันอย่างนี้ คือ โดยอาการเป็นที่น่ากลัว ๑ โดยอาการเป็นทุกข์ ๑ โดยอาการมีอามิส ๑
๘. นิพพิทานุปัสสนาญาณ
เมื่อโยคีนั้นเห็นสังขารทั้งปวงโดยความเป็นโทษอยู่อย่างนี้ ก็เบื่อหน่ายเอือมระอา ไม่อภิรมย์ในสังขารอันมีการแตกดับ ซึ่งดำเนินอยู่ในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ (๕) วิญญาณฐิติ (๗) สัตตาวาส (๙) ทั่วทุกหนทุกแห่ง เปรียบเหมือนพญาหงส์ทอง ผู้อภิรมย์ยินดีอยู่ ณ เชิงภูเขาจิตรกูฎ ไม่อภิรมย์ยินดีในบ่อน้ำสกปรกใกล้ประตูบ้านคนจัณฑาล อภิรมย์ยินดีอยู่แต่ในสระใหญ่ทั้ง ๗ (ในป่าหิมพานต์) เท่านั้น ชื่อแม้ฉันใด พญาหงส์ คือโยคีแม้นี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่อภิรมย์ยินดีในสังขารซึ่งมีแต่การแตกดับ มีโทษร้าย ซึ่งตนได้กำหนดเห็นมาอย่างดีแล้ว แต่ทว่า ยินดีอยู่ในอนุปัสสนาทั้งหลาย ๗ เท่านั้น เพราะเป็นผู้ประกอบแล้วด้วยความเป็นผู้มีภาวนาเป็นที่ยินดี (และ) ด้วยความยินดีในภาวนา อนึ่ง เปรียบเหมือนสีหะมฤคราชที่ถูกเขาขังไว้แม้ในกรงทอง ก็ไม่อภิรมย์ยินดี แต่ทว่า ยินดีพอใจอยู่แต่ในป่าหิมพานต์กว้าง ๓,๐๐๐ โยชน์เท่านั้น ฉันใด สีหะมฤคราช คือโยคีนี้ ก็ฉันนั้น ไม่อภิรมย์ยินดีแม้ในสุคติภพทั้ง ๓ อย่าง แต่ทว่ายินดีอยู่แต่ในอนุปัสสนา ๓ เท่านั้น อนึ่ง เปรียบเหมือนพญาช้างฉัททันต์เผือกทั่วสรรพางค์ มีอวัยวะ ๗ จรดถึงพื้น มีฤทธิ์ เหาะไปได้ในเวหาสก็ไม่อภิรมย์ยินดีอยู่ในท่ามกลางพระนคร อภิรมย์ยินดีอยู่แต่ในป่าชัฏริมสระฉัททันต์ ในป่าหิมพานต์เท่านั้น ฉันใด พญาช้างตัวประเสริฐคือโยคีผู้นี้ ก็ฉันนั้น ไม่อภิรมย์ยินดีในสังขารแม้ทั้งปวง อภิรมย์ยินดีอยู่แต่ในพระนิพพาน อันเป็นสันติบทที่ตนเห็นแล้ว โดยนัยเป็นต้นว่า "ความไม่เกิดขึ้นเป็นแดนเกษม" เป็นผู้มีใจน้อมไปในพระนิพพานนั้น โน้มไปในพระนิพพานนั้น โอนเอียงไปในพระนิพพานอันเป็นสันติบทนั้น ด้วยประการฉะนี้
อนึ่ง นิพพิทาญาณนี้นั้น โดยความหมายก็เป็นญาณเดียวกันกับ ๒ ญาณข้างต้น (คือ ภยตุปัฏฐานญาณและอาทีนวญาณ) เพราะเหตุนั้น ท่านพระโบราณาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า "ภยตุปัฏฐานญาณเดียวนั่นแล ได้ชื่อ ๓ ชื่อ คือ ชื่อว่าภยตุปัฏฐาน เพราะเห็นสังขารทั้งปวงโดยความน่ากลัว ๑ ชื่อว่าอาทีนวานุปัสสนา เพราะให้เกิด (ความเห็น) โทษร้ายขึ้นในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง ๑ ชื่อว่า นิพพิทานุปัสสนา เพราะเกิดเบื่อหน่ายขึ้นแล้วในสังขารทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแล ๑" แม้ในพระบาลี ท่านก็กล่าวไว้ว่า "ปัญญาใดในภยตุปัฏฐาน ๑ ญาณใดในอาทีนวะ ๑ นิพพิทาใด ๑ ธรรมทั้งหลายเหล่านี้มีความหมายอย่างเดียวกัน พยัญชนะเท่านั้นที่ต่างกัน"
๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ
แต่เมื่อกุลบุตรผู้นี้ เบื่อหน่ายอยู่ เอือมระอาอยู่ ไม่อภิรมย์ยินดีอยู่ด้วย นิพพิทาญาณนี้ จิตก็ไม่ข้อง ไม่เกาะ ไม่ติดอยู่ ในสังขารทั้งหลาย ซึ่งมีความแตกดับ ที่ดำเนินไปอยู่ในภพ (๓) กำเนิด (๔) คติ (๕) วิญญาณฐิติ (๗) และ สัตตาวาส (๙) ทุกหนทุกแห่งแม้แต่สังขารเดียวเป็นจิตที่ใคร่จะพ้นไป ปรารถนาจะออกไปเสียจากสังขารทั้งปวง
(ถามว่า) เปรียบเหมือนอะไร ?
(ตอบว่า) เปรียบเหมือนสัตว์และบุคคลเป็นต้นว่าอย่างนี้ คือ
- ปลาติดอยู่ภายในอวน (หรือแห)
- กบอยู่ในปากงู
- ไก่ป่าถูกขังไว้ในกรง
- เนื้ออยู่ในบ่วงบาศอันเหนียวแน่น
- งูอยู่ในเงื้อมมือของหมองู
- ช้างกุญชรติดอยู่ในหล่มลึก
- พญานาคอยู่ในปากครุฑ
- พระจันทร์เข้าไปในปากราหู
- บุรุษถูกศัตรูล้อมไว้
เป็นผู้มีความปรารถนาจะพ้นไป มีความมุ่งมั่นจะออกไปเสียจากที่นั้นๆ ชื่อฉันใด จิตของโยคีผู้นั้น ก็ฉันนั้น เป็นจิตปรารถนาจะพ้นไป ประสงค์จะออกไปเสียจากสังขารทั้งปวง ทันใดนั้น ครั้นโยคีท่านนั้น ผู้ปราศจากความอาลัยในสังขารทั้งปวงแล้ว ผู้ปรารถนาจะพ้นไปจากสังขารทั้งปวงอยู่อย่างนี้ มุญจิตุกัมยตาญาณก็เกิดขึ้น ด้วยประการฉะนี้
๑๐. ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ
โยคีผู้นั้น เป็นผู้มีความปรารถนาเพื่อจะพ้นไปเสียจากสังขารทั้งหลาย ซึ่งมีแต่ความแตกดับอันดำเนินไปอยู่ในภพ ในกำเนิด ในคติ ในฐิติ และในนิวาส ทุกหน ทุกแห่งดังกล่าวนั้น จึงยกเอาสังขารทั้งหลายเหล่านั้นนั่นแหละขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ แล้วกำหนดรู้ด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณต่อไปอีก เพื่อพ้นไปเสียจากสังขารทั้งปวง
โยคีนั้นก็เห็นอยู่ซึ่งสังขารทั้งปวงว่า "ไม่เที่ยง" ด้วยเหตุทั้งหลาย เป็นต้นว่าอนัจจันติกโต โดยไม่เป็นไปเลยที่สุด
ตาวกาลิกโต โดยเป็นไปชั่วคราว
อุปปาทวยปริจฉินนโต โดยกำหนดได้ด้วยความเกิดและความดับ
ปโลกโต โดยแตกทำลาย
ขณิกโต โดยเป็นไปชั่วขณะ
จลโต โดยความหวั่นไหว
ปภังคุโต โดยผุพัง
อัทธุวโต โดยไม่ยั่งยืน
วิปริณามธัมมโต โดยมีความแปรผันอยู่เป็นธรรมดา
อสารกโต โดยไม่มีสาระ
วิภวโต โดยปราศจากความเจริญ
สังขตโต โดยเป็นของถูกปรุงแต่งขึ้นไว้
มรณธัมมโต โดยมีความตายเป็นธรรมดา
เห็นอยู่ (ซึ่งสังขารทั้งปวง) ว่า "เป็นทุกข์" ด้วยเหตุทั้งหลาย เช่นเป็นต้นว่า
อภิณหปฎิปีฬนโต โดยเบียดเบียนเฉพาะหน้าอยู่เนืองๆ
ทุกขมโต โดยทนได้ยาก
ทุกขวัตถุโต โดยเป็นที่ตั้งของทุกข์
โรคโต โดยเป็นโรค
คัณฑโต โดยเป็นแผลฝี
สัลลโต โดยเป็นลูกศรเสียบ
อฆโต โดยความชั่วร้าย
อาพาธโต โดยความป่วยไข้
อีติโต โดยความหายนะ
อุปัททวโต โดยเป็นอุปัทวะ
ภยโต โดยเป็นภัย
อุปสัคคโต โดยเป็นอุปสรรค
อตาณโต โดยไม่เป็นที่ต้านทาน
อเลณโต โดยไม่เป็นที่หลบลี้
อสรณโต โดยไม่เป็นที่พึ่ง
อาทีนวโต โดยเป็นโทษร้าย
อฆมูลโต โดยเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้าย
วธกโต โดยเป็นฆาตกร
สาสวโต โดยมีอาสวะ
มารามิสโต โดยเป็นเหยื่อล่อของมาร
ชาติธัมมโต โดยมีความเกิดเป็นธรรมดา
ชราธัมมโต โดยมีความแก่เป็นธรรมดา
พยาธิธัมมโต โดยมีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
มรณธัมมโต โดยมีความตายเป็นธรรมดา
โสกธัมมโต โดยมีความโศกเป็นธรรมดา
ปริเทวธัมมโต โดยมีความคร่ำครวญเป็นธรรมดา
อุปายาสธัมมโต โดยมีความคับแค้นใจเป็นธรรมดา
สังกิเลสิกธัมมโต โดยมีความเศร้าหมองเป็นธรรมดา
เห็นอยู่ (ซึ่งสังขารทั้งปวง) "โดยอสุภะ" (ความไม่งาม) โดยเป็นบริวารของทุกขลักขณะ ด้วยเหตุทั้งหลาย เช่นเป็นต้นว่า
อธัญญโต โดยเป็นของไม่งาม
ทุคคันธโต โดยมีกลิ่นเหม็น
เชคุจฉโต โดยเป็นของน่าเกลียด
ปฏิกูลโต โดยเป็นของปฏิกูล
อมัณฑนโต โดย (ปรากฏชัดด้วย) การไม่ตบแต่ง
วิรูปโต โดยเป็นรูปพิการ
วิภัจฉโต โดยเป็นของควรสลัดทิ้งไป
เห็นอยู่ (ซึ่งสังขารทั้งปวง) โดยความ "เป็นอนัตตา" ด้วยเหตุทั้งหลาย เป็นต้นว่า
ปรโต โดยเป็นปรปักษ์
ริตตโต โดยเป็นของเปล่า
ตุจฉโต โดยเป็นของว่าง
สุญญโต โดยเป็นของสูญ
อัสสามิกโต โดยไม่มีเจ้าของ
อนิสสรโต โดยไม่มีผู้เป็นใหญ่
อวสวัตติโต โดยไม่เป็นไปในอำนาจของใครๆ
โยคีท่านนี้ ผู้เห็นอยู่ด้วยประการดังกล่าวมานี้แหละ เป็นอันเรียกได้ว่า ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ กำหนดรู้สังขารทั้งหลายอยู่
อุปมาด้วยบุรุษจับปลา
(ถามว่า) แต่โยคาวจรผู้นี้กำหนดรู้สังขารทั้งหลายเหล่านี้อยู่อย่างนั้นเพื่ออะไร ?
(ตอบว่า) เพื่อให้บรรลุถึงอุบายแห่งการพ้นไป (จากสังขารทั้งหลาย) ในการบรรลุอุบายแห่งการพ้นไปนั้น มีอุปมาดังต่อไปนี้
สมมติว่า บุรุษผู้หนึ่ง คิดจักจับปลา คว้าเอาสุ่มจับปลาไปสุ่มลงในน้ำ บุรุษผู้นั้นหย่อนมือลงไปทางปากสุ่ม จับเอางูไว้ที่คอใน (ใต้) น้ำ ก็ดีใจว่า ข้าจับปลาได้แล้วเขานึกอยู่ว่า "ข้าได้ปลาตัวใหญ่จริงๆ" จึงยกขึ้นมาดู พอเห็นสวัสติกะ (ดอกจัน) ๓ อัน ก็รู้ได้ว่าเป็นงู จึงกลัว เห็นโทษร้าย ท้อใจในการจับ (งู) ไว้ ปรารถนาเพื่อที่จะพ้นไป จึงทำอุบายเพื่อพ้นไป (จากงู) แกะปลดมือออก (จากงู) ตั้งแต่ปลายหาง แล้วยกแขนขึ้นแกว่ง (งู) เหนือศีรษะ ๒-๓ รอบ ทำให้งูเปลี้ย แล้วเหวี่ยง (งู) ไปด้วยคำว่า "ไป ! เจ้างูร้าย" แล้วรีบขึ้นขอบหนอง ยืนมองดูทางที่ตนมา โดยรำพึงอยู่ว่า "เอาละเป็นอันว่าเรารอดพ้นจากปากของเจ้างูใหญ่มาได้แล้ว"
ในอุปมานั้น กาลเวลาที่โยคีแม้นี้ได้อัตภาพ (เกิดเป็นมนุษย์) แล้ว ยินดีพอใจมาตั้งแต่แรก (รู้ความ) นั่นเลย เปรียบเหมือนเวลาที่บุรุษผู้นั้นจับงูที่คอมันไว้แล้ว ดีใจว่าเป็นปลา การที่โยคีผู้นี้ทำการย่อยความเป็นก้อน (ของสังขาร) ออกไป แล้วเห็นพระไตรลักษณ์ในสังขารทั้งหลายเปรียบความเหมือนการที่บุรุษผู้นั้นนำเอาหัว (งู) ออกมาจากปากสุ่ม แล้วเห็นสวัสติกะ ๓ อัน ภยตุปัฏฐานญาณ (ญาณกำหนดรู้ในความปรากฏโดยความเป็นที่น่ากลัว) ของโยคีท่านนี้เปรียบเหมือนการที่บุรุษผู้นั้นกลัว(งู) อาทีนวานุปัสสนาญาณ (ญาณกำหนดรู้โดยการเห็นเนืองๆ ซึ่งโทษร้าย) เปรียบเหมือนการเห็นโทษร้ายจากการจับงูนั้น, นิพพิทานุปัสสนาญาณ (ญาณกำหนดรู้โดยการเห็นเนืองๆ ด้วยความเบื่อหน่าย) เปรียบความท้อใจในการจับ (งู) ไว้ มุญจิตกัมยตาญาณ (ญาณกำหนดรู้ด้วยความปรารถนาที่จะพ้นไป) เปรียบเหมือนความมุ่งหมายที่จะพ้นงู การยกพระไตรลักษณ์เข้าในสังขารทั้งหลายด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ เปรียบเหมือนการทำอุบายแห่งการพ้นไป (จากงู)
ความจริง บุรุษผู้นั้นแกว่งงูทำให้มันเปลี้ย ทำให้มันไม่สามารถวกมากัดได้ แล้วปล่อยมันไป เป็นการปล่อยอย่างดี ฉันใด โยคาวจรท่านนี้ก็ฉันนั้น เวียนกำหนดสังขารทั้งหลายด้วยการยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ ทำให้ทุพลภาพ ทำให้ถึงความไม่สามารถปรากฏโดยอาการเที่ยงเป็นสุข เป็นของงดงาม และเป็นอัตตาได้อีกต่อไป ชื่อว่าพ้นไป เป็นการพ้นไปอย่างดี เพราะฉะนั้น จึงกล่าวไว้ (ข้างต้น) ว่า "กำหนดรู้อยู่อย่างนั้น เพื่อให้บรรลุถึงอุบายแห่งการพ้นไป"
เป็นอันว่า ปฏิสังขาญาณ เกิดขึ้นแล้วแก่โยคาวจรท่านนั้น ด้วยการกำหนดเพียงเท่านี้๑๑. สังขารุเปกขาญาณ
สุญญตานุปัสสนา การเห็นเนืองๆ โดยความว่างเปล่ามีเงื่อน ๒
โยคาวจรนั้นครั้นกำหนดรู้ว่า "สังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นของว่างเปล่า" ด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ดังกล่าวมาแล้วนั้น จึงกำหนดสุญญตา (ความว่างเปล่า) มีเงื่อน ๒ ต่อไป อีกว่า "สังขารนี้ ว่างเปล่าจากอัตตา ๑ หรือ ว่างเปล่าจากสิ่งที่เนื่องด้วยอัตตา ๑"
สุญญตา มีเงื่อน ๔โยคาวจรนั้นครั้นไม่เห็นอัตตา ไม่เห็นอะไรๆ อื่นที่ตั้งอยู่ในภาวะเป็นบริขารของอัตตา ก็กำหนดรู้ สุญญตา มีเงื่อน ๔ ซึ่งท่านกล่าวไว้ในอธิการแห่ง สุญญตานุปัสสนา นี้ต่อไปอีกว่า
- นาหํ กฺวจนิ - ไม่มีฉันอยู่ ณ ที่ไหนๆ
- กสฺสจิ กิญฺจนตสฺมึ - ในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ
- น จ มม กฺวจนิ - และไม่มีอยู่ ณ ที่ไหนๆ ของฉัน
- กิสฺมิญฺจิ กิญฺจนตตฺถิ - ไม่มีความเป็นอะไรๆ ณ ที่ไหนๆ"
อธิบายความสุญญตา มีเงื่อน ๔
(ถามว่า) กำหนดรู้อย่างไร ?
(ตอบว่า)
๑. ที่จริง คำว่า "นาหํ กฺวจนิ - ไม่มีฉันอยู่ ณ ที่ไหนๆ" หมายความว่า โยคาวจรผู้นี้ ไม่เห็นอัตตา ณ ที่ไหนๆ
๒. คำว่า "กสฺสจิ กิญฺจนตสฺมึ - ในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ" หมายความว่า "ไม่เห็นอัตตาของตนเอง ที่พึงนำเข้าไปในความเป็นอะไรๆ ของใครๆ อื่น" อธิบายว่า ไม่เห็นอัตตาที่เป็นพี่ชายน้องชาย ที่พึงมั่นหมายนำเข้ามาในฐานะเป็นพี่ชายน้องชาย หรือว่า ไม่เป็นอัตตาที่เป็นสหาย ที่พึงมั่นหมายนำเข้ามาในฐานะเป็นสหาย หรือว่า ไม่เป็นอัตตาที่เป็นบริขาร ที่พึงมั่นหมายนำเข้ามาในฐานะเป็นบริขาร
๓. ในคำว่า "น จ มม กฺวจนิ - และไม่มีอยู่ ณ ที่ไหนๆ ของฉัน" นั้น ยกเอา ศัพท์ว่า "มม - ของฉัน" ออกเสียก่อน (เหลือเพียง) ว่า "น จ กฺวจนิ - และไม่มี ณ ที่ไหนๆ" มีอธิบายอย่างนี้ว่า "และไม่เห็นอัตตาของบุคคลอื่น ณ ที่ไหนๆ"
๔. คราวนี้ นำเอาศัพท์ว่า "มม - ของฉัน" มา (ไว้ในประโยคหลัง) ว่า "มม กิสฺมิญฺจิ กิญฺจนตตฺถิ - ไม่มีความเป็นอะไรๆ ณ ที่ไหนๆ ของฉัน" หมายความว่า "ไม่เห็นว่า อัตตาของบุคคลอื่นนั้นมีอยู่ในความเป็นอะไรๆ ณ ที่ไหนๆ ของฉัน" อธิบายว่า ไม่เห็นอัตตาของบุคคลอื่นที่พึงนำเข้ามาโดยความเป็นอะไรๆ นี้ ในฐานะไรๆ คือว่าเป็นพี่ชายน้องชายในฐานะเป็นพี่ชายน้องชายของตน หรือว่าเป็นสหายในฐานะเป็นสหาย (ของตน) หรือว่า เป็นบริขารในฐานะเป็นบริขาร (ของตน)
(รวมความ) โยคาวจรท่านนี้ เพราะเหตุที่
- ไม่เห็นเลยซึ่งอัตตา ณ ที่ไหนๆ
- ไม่เห็นอัตตานั้นที่พึงนำเข้ามาในความเป็นอะไรๆ ของบุคคลอื่น
- ไม่เห็นอัตตาของบุคคลอื่น
- ไม่เห็นอัตตาของบุคคลอื่นที่พึงนำข้ามาในความเป็นอะไรๆ ของตน
เพราะฉะนั้น เป็นอันว่า โยคาวจรท่านนี้กำหนดรู้ "สุญญตา มีเงื่อน ๔" แล้ว ด้วย ประการฉะนี้แล
สุญญตา โดยอาการ ๖
ครั้นกำหนดรู้สุญญตามีเงื่อน ๔ อย่างนี้แล้ว โยคาวจรจึงกำหนดรู้สุญญตา โดยอาการ ๖ ต่อไปอีก
(ถามว่า) กำหนดรู้สุญญตา โดยอาการ ๖ อย่างไร ?
(ตอบว่า) กำหนดรู้ว่า "จักขุ" เป็นของว่างเปล่าจากอัตตา ๑ หรือจากสิ่งเนื่องด้วยอัตตา ๑ หรือจากความเป็นของเที่ยง ๑ หรือจากความเป็นของยั่งยืน ๑ หรือจากความเป็นของคงทน ๑ หรือจากความไม่แปรผันเป็นธรรมดา ๑
โสตะ ... ฆานะ ... ชิวหา ... กาย ... ใจ ... รูปเป็นของว่างเปล่า ... เสียง ... กลิ่น ... รส...โฏพพะ... ธรรมารมณ์เป็นของว่างเปล่า ... จักขุวิญญาณ ... ฯลฯ ... มโนวิญญาณ ... จักขุสัมผัส ...พึงนำนัยโดยประการดังกล่าวนี้ไปจนถึงชรามรณะ ด้วยประการฉะนี้
สุญญตา โดยอาการ ๘
ครั้นกำหนดรู้สุญญตาโดยอาการ ๖ อย่างนี้แล้ว จึงกำหนดรู้โดยอาการ ๘ ต่อไปอีก คือ กำหนดรู้ดังนี้อย่างไรล่ะ "รูป" ไม่มีแก่นสาร หาแก่นสารมิได้ปราศจากแก่นสาร โดยแก่นสาระมีสาระว่าเที่ยง ๑ หรือโดยแก่นสารมีสาระว่ายั่งยืน ๑ หรือโดยแก่นสารมีสาระว่าเป็นสุข ๑ หรือโดยแก่นสารมีสาระว่าเป็นอัตตา ๑ หรือ โดยเป็นของเที่ยง ๑ หรือโดยเป็นของยั่งยืน ๑ หรือโดยเป็นของคงทน ๑ หรือโดยความเป็นของไม่แปรผันเป็นธรรมดา ๑
เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... จักขุ... โสตะ... ฯลฯ ชรามรณะ
สุญญตา โดยอาการ ๑๐
โยคาวจรนั้น ครั้นกำหนดรู้สุญญตาโดยอาการ ๘ อย่างนี้แล้ว จึงกำหนดรู้โดยอาการ ๑๐ ต่อไปอีก
(ถามว่า) กำหนดรู้อย่างไร ?
(ตอบว่า) โยคาวจรผู้นั้นเห็นอยู่ซึ่งรูปโดยความเป็นของว่าง ๑ เห็นอยู่โดยความเป็นของว่างเปล่า ๑ .. โดยความเป็นของสูญ๑ ... โดยความเป็นอนัตตา ๑ .. โดยความไม่มีผู้เป็นใหญ่ ๑ ... โดยความไม่เป็นของพึงกระทำได้ตามความปรารถนา ๑ ... โดยความเป็นของอันบุคคลไม่พึงบรรลุถึง ๑ ... โดยเป็นของไม่เป็นไปในอำนาจ .. โดยความเป็นปรปักษ์ ๑ ... โดยความเป็นของว่าง ๑
เห็นอยู่ซึ่งเวทนา ... วิญญาณโดยความเป็นของว่าง... ฯลฯ ... เห็นอยู่ ... โดยความเป็นของว่าง ดังนี้สุญญตา โดยอาการ ๑๒
ครั้นกำหนดรู้สุญญตาโดยอาการ ๑๐ อย่างนี้แล้ว จึงกำหนดรู้โดย อาการ ๑๒ ต่อไปอีก คือ กำหนดรู้ดังนี้อย่างไรล่ะ
"รูป" มิใช่สัตว์ ๑ มิใช่ชีวะ ๑ มิใช่คน ๑ มิใช่มาณพ ๑ มิใช่สตรี ๑ มิใช่บุรุษ ๑ มิใช่อัตตา ๑ มิใช่ของเนื่องด้วยอัตตา ๑ มิใช่เรา ๑ มิใช่ของเรา ๑ มิใช่ของบุคคลอื่น ๑ มิใช่ของใครๆ ๑
เวทนา... สัญญา... สังขาร... วิญญาณ... มิใช่ของใครๆ ดังนี้อนึ่ง ท่านกล่าวคำต่อไปนี้ไว้ว่า "เมื่อเห็นรูปโดยความไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นของควรหลีกหนีไป ชื่อว่าเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า เมื่อเห็นเวทนา... ฯลฯ ... วิญญาณ โดยความไม่เที่ยง ฯลฯ โดยเป็นของควรหลีกหนีไป ชื่อว่าเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า (สมด้วยพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่ท่านโมฆราชว่า)
ดูก่อนโมฆราช ท่านจงเป็นผู้มีสติตลอดเวลา มองเห็นโลกโดยความเป็นของว่างเปล่า พึงถอนอัตตานุทิฏฐิ (คือความเห็นเนืองๆ ว่ามีอัตตา) เสียจึงจะเป็นผู้ข้ามพ้นมฤตยู ด้วยอาการอย่างนั้น มัจจุราช(มองหา) ไม่เห็นบุคคลผู้มองเห็นโลกอย่างนี้
วิโมกขกถา
ครั้นโยคาวจรเห็น (โลก) โดยความเป็นของว่างเปล่าอย่างนั้นแล้ว ยกขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ กำหนดรู้สังขารทั้งหลายอยู่ ก็ละความกลัวและความพึงพอใจเสียได้ เป็นผู้มีตนเป็นกลาง ว่างเฉยในสังขารทั้งหลาย ไม่ถือว่า "เป็นเรา" หรือว่า "เป็นของเรา" เป็นเหมือนบุรุษผู้หย่าขาดภรรยาแล้ว
สังขารุเปกขาญาณเปรียบด้วยบุรุษผู้หย่าขาดภรรยา
เล่ากันว่า บุรุษผู้มีภรรยาเป็นที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพึงพอใจ ปราศจากภรรยานั้นเสียแล้ว เขามิสามารถทนอยู่ได้แม้แต่ครู่เดียว เขารักภรรยานั้นเสียเหลือเกิน บุรุษผู้นั้นเห็นสตรีผู้เป็นภรรยานั้น ยืนอยู่ก็ดี นั่งอยู่ก็ดี (หรือนอนอยู่ก็ดี) พูดอยู่ก็ดี หัวเราะอยู่ก็ดี กับบุรุษอื่น (เขาก็โกรธ ขัดเคืองใจ ประสบโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ครั้นกาลต่อมา บุรุษนั้นได้เห็นโทษชั่วร้ายของสตรีผู้นั้น ก็มีความปรารถนาที่จะพ้น (จากเธอ) จึงหย่าขาดเธอ ไม่ถือหญิงนั้นว่า "เป็นของเรา" จำเดิมแต่นั้นมา แม้เขาจะเห็นเธอ ทำอะไรๆ อยู่กับใครๆ ก็ไม่โกรธเคือง ไม่ถึงความโทมนัส มีตนเป็นกลางวางเฉยได้โดยแท้ ชื่อฉันใด โยคาวจรผู้นี้ก็เหมือนกันฉันนั้น เป็นผู้มีความปรารถนาเพื่อพ้นไปเสียจากสังขารทั้งปวงกำหนดรู้สังขาร ทั้งหลายอยู่ด้วย ปฏิสังขานุปัสสนา ไม่เห็นความที่สังขารทั้งหลายเป็นของที่พึงถือเอาได้ว่า "เป็นเรา เป็นของเรา" จึงละความกลัวและความพึงพอใจเสียได้ เป็นผู้มีตนเป็นกลางวางเฉยในสังขารทั้งปวง เมื่อโยคาวจรผู้นั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็ถอยกลับ หวนกลับ วกกลับ ไม่แพร่กระจายไปในภพ ๓ ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ วางเฉยอยู่ หรือถอยกลับมา ตั้งมั่นอยู่ เปรียบเหมือนหยดน้ำในใบบัวซึ่งขอบใบงอนิดๆ กลิ้งกลับอยู่ วกกลับอยู่ กลอกกลับอยู่ ไม่แผ่กระจายไป ชื่อแม้ฉันใด (จิตของโยคาวจร) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เปรียบเหมือนขนไก่หรือสายเอ็น ที่เขาใส่เผาในไฟ ก็งอกลับ งอนกลับ วกกลับ ไม่เหยียดยืดออก ชื่อแม้ฉันใด จิต (ของโยคาวจร) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถอยกลับ หวนกลับ วกกลับ ไม่แพร่กระจายไป ในภพ ๓ ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ วางเฉยอยู่ หรือ ถอยกลับ ตั้งมั่นอยู่
เป็นอันว่า ญาณชื่อ "สังขารุเปกขาญาณ" เกิดขึ้นแล้วแก่โยคีท่านนั้น ด้วยประการฉะนี้
อุปมาด้วยนกการู้ทิศ
แต่ว่า สังขารุเปกขาญาณที่เกิดขึ้นแล้วนี้นั้น ถ้าเห็นพระนิพพาน อันเป็นทางสันติ โดยความสงบ ก็จะสลัดทิ้งความเป็นไปของสังขารทั้งปวงแล้วแล่นเข้าสู่พระนิพพานเลยทีเดียว หากว่า ยังไม่เห็นพระนิพพาน โดยความสงบ (สังขารุเปกขาญาณนั้น) ก็มีสังขารเป็นอารมณ์อย่างเดียว แล้วดำเนินไปอยู่ แล้วๆ เล่าๆ เปรียบเหมือนนกกาของพวกพ่อค้าเดินเรือทะเล (ในสมัยโบราณ เมื่อยังไม่รู้จักใช้เข็มทิศ นักเดินเรือทะเลโบราณ เช่น ชาวอินเดีย และพวกนอร์สแมน หรือพวกไวกิงส์ใช้วิธีปล่อยนกกานำทิศ)
อุปมา ๔ ข้อ
บัดนี้ เพื่อความแจ่มแจ้งของ "วุฏฐานคามินีวิปัสสนา" นี้ พร้อมทั้ง ญาณก่อนๆ (มีภยตุปัฏฐานญาณเป็นต้น) และญาณหลังๆ (มีโคตรภูญาณเป็นต้น) ควรทราบอุปมาเหล่านี้ไว้ ดังนี้
๑. อุปมาด้วยงูเห่า ได้กล่าวมาแล้วใน (ตอนว่าด้วย) ปฏิสังขาญาณ แต่ในการเปรียบเทียบด้วยอุปมาในที่นี้ มีความแปลกออกไปดังนี้ คือ โคตรภูญาณ เปรียบเหมือนการปล่อยงูไป มรรคญาณเปรียบเหมือนการยืนอยู่ของบุรุษผู้ปล่อยงู แล้วมองดูทางที่ตนมาอยู่ ผลญาณเปรียบเหมือนการไปยืนอยู่ในที่ปลอดภัย
๒. อุปมาด้วยเรือน เรื่องมีว่าเมื่อเจ้าของเรือนบริโภคอาหารในตอนเย็นแล้วก็ขึ้นนอนหลับไป เรือนถูกไฟไหม้ เขาตื่นขึ้นเห็นไฟ ก็กลัว คิดว่า "พึงเป็นการดีแน่ ถ้าเราไม่ถูกไฟไหม้ รีบออกไปเสียก่อน" มองหา ครั้นเห็นทางก็ออกไป รีบไปยืนอยู่ ณ ที่ปลอดภัย
ในอุปมานั้น การที่พาลปุถุชนยึดถือขันธ์ ๕ ว่า เป็นเรา เป็นของเรา เปรียบเหมือนการที่เจ้าของเรือน บริโภคอาหาร (ในตอนเย็น) แล้วขึ้นที่นอน นอนหลับไปการ (ที่โยคี) ปฏิบัติเป็นสัมมาปฏิบัติแล้วเห็นพระไตรลักษณ์ (เกิด) ภยตุปัฏฐานญาณ เปรียบเหมือนกาล (แห่งเจ้าของเรือน) ตื่นขึ้นเห็นไฟแล้วกลัว มุญจิตกัมยตาญาณ เปรียบเหมือนการมองหาทางออก อนุโลมญาณเปรียบเหมือนการเห็นทาง โคตรภูญาณเปรียบเหมือนการออกไป มรรคญาณเปรียบเหมือนการรีบไป ผลญาณ เปรียบเหมือนการยืนอยู่ ณ ที่ปลอดภัย
๓. อุปมาด้วยวัว เล่ากันว่า ขณะที่ชาวนาผู้หนึ่งนอนหลับอยู่ในเวลากลางคืน วัวทั้งหลายก็แหกคอกหนีไป ครั้นเวลาเช้ามืด ชาวนาผู้นั้นไปตรวจดูในคอกนั้น รู้ว่าวัวเหล่านั้นหนีไปแล้ว จึงตามรอยไป ก็พบวัวทั้งหลายของพระราชา มั่นหมายว่าวัว เหล่านั้นเป็นของเรา จึงต้อนกลับมา ครั้นเวลารุ่งแจ้งก็จำได้ว่า วัวเหล่านี้มิใช่ของเรา เป็นวัวของพระราชา จึงกล่าวว่า ตราบใดที่พวกราชบุรุษจะยังไม่จับเราไว้ ว่าผู้นี้เป็นโจร แล้วทำให้ถึงความพินาศ ตราบนั้นเราจักหนีไปเสียก่อน จึงทิ้งฝูงวัวไว้แล้วรีบหนี ไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ในอุปมานั้น การที่พาลปุถุชนยึดถือขันธ์ทั้งหลาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เปรียบเหมือน การ (ที่ชาวนา) จับต้อนวัวทั้งหลายของพระราชามาด้วยสำคัญว่าเป็นวัวของตน การหมายรู้ขันธ์ทั้งหลายว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" โดยพระไตรลักษณ์ ของโยคี เปรียบเหมือนการ (ที่ชาวนา) จำได้ว่าเป็นวัวของพระราชา ในเวลารุ่งแจ้ง ภยตุปัฏฐานญาณเปรียบเหมือนเวลา (ที่ชาวนานั้น) กลัว มุญจิตกัมยตาญาณเปรียบเหมือนความปรารถนาที่จะทิ้ง (วัวทั้งหลายของพระราชา) ไป โคตรภูญาณเปรียบเหมือนการทิ้ง (วัวทั้งหลาย) มรรคญาณเปรียบเหมือนการหนีไป ผลญาณเปรียบเหมือนการหนีไปอยู่ ณ ที่ปลอดภัย
๔. อุปมาด้วยยักษิณี เขาว่า บุรุษผู้หนึ่งอยู่ร่วมสังวาสกับนางยักษิณี ครั้นในราตรีกาล นางยักษ์นั้นรู้ว่าบุรุษนี้หลับแล้วจึงไปยังป่าช้าผีดิบแล้วเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์ บุรุษผู้นั้นสงสัยว่า นางนี่ไปไหน จึงติดตามไป ครั้นเห็นนางยักษ์กำลังเคี้ยวกินเนื้อมนุษย์อยู่ ก็รู้ว่า นางมิใช่มนุษย์จึงคิดว่า จักหนีไปเสียก่อนที่มันจะกินเรา หวาดกลัวรีบหนีไปอยู่ในที่ปลอดภัย
ในอุปมานั้น การ (ที่โยคี) ยึดถือขันธ์ทั้งหลายว่า เป็นเรา เป็นของเรา เปรียบเหมือนการ (ที่บุรุษนั้น) อยู่ร่วมกับนางยักษิณี การเห็นพระไตรลักษณ์แล้วรู้ถึงความที่ขันธ์ทั้งหลายเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น เปรียบเหมือนการ (ที่บุรุษนั้น) เห็น (นางยักษ์) เคี้ยวกินเนื้อมนุษย์อยู่ในป่าช้า แล้วรู้ว่า นางนี้เป็นยักษิณี ภยตุปัฏฐานญาณเปรียบเหมือนเวลา (ที่บุรุษนั้น) หวาดกลัว มุญจิตุกัมยตาญาณเปรียบเหมือนความปรารถนาที่จะหนีไป โคตรภูญาณเปรียบเหมือนการละทิ้งป่าช้าไป มรรคญาณเปรียบเหมือนการรีบหนีไป ผลญาณเปรียบเหมือนการอยู่ในประเทศไม่มีภัย
เพราะเหตุนั้น จึงได้กล่าวไว้ ข้างต้นว่า "เมื่อโยคาวจรผู้นั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็ถอยกลับ หวนกลับ วกกลับ ไม่แพร่กระจายไป ในภพ ๓ ในกำเนิด ๔ ในคติ ๕ ในวิญญาณฐิติ ๗ ในสัตตาวาส ๙ วางเฉยอยู่ หรือถอยกลับมาตั้งมั่นอยู่ เปรียบเหมือนหยดน้ำในใบบัว ซึ่งขอบใบงอนิดๆ" คำทั้งปวงพึงทราบตามนัยที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นนั่นแล
ก็แล ด้วยประการดังกล่าวนี้ โยคาวจรท่านนี้ เป็นผู้มีชื่อเรียกว่า ผู้ประพฤติโดยความเป็นผู้หลีกลี้ ซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสระบุถึงไว้ว่า
พระภิกษุใด ไม่แสดงตนในภพ พระอริยเจ้าทั้งหลาย กล่าวว่า การไม่แสดงตนนั้นของพระภิกษุนั้น ผู้ประพฤติหลีกลี้อยู่โดยเฉพาะ ผู้คบแต่อาสนะที่เงียบสงัด ว่าเป็นการสมควร
๑๒. อนุโลมญาณ
เมื่อโยคีนั้นเสพเนืองๆ ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มากขึ้น ซึ่งสังขารุเปกขาญาณนั้นอยู่ ศรัทธา คืออธิโมกข์ ก็เกิดมีกำลังเข้มแข็งขึ้น ความเพียรก็ได้รับประคับประคองดี สติก็เข้าตั้งอยู่เป็นอย่างดี จิตก็เป็นสมาธิดีขึ้น สังขารุเปกขาก็เกิดแก่กล้ายิ่งขึ้น ครั้นโยคีนั้นเกิดความคิดว่า "มรรค (ญาณ) จักเกิด ณ บัดนี้แน่" สังขารุเปกขาก็กำหนดรู้สังขารทั้งหลายว่า ไม่เที่ยง หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นอนัตตา แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ ในลำดับแห่งภวังค์ มโนทวาราวัชชนจิตก็เกิดขึ้น ทำสังขารทั้งหลายเป็นอารมณ์ว่าไม่เที่ยง หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นอนัตตา โดยนัยเดียวกับที่สังขารุเปกขาญาณทำมาแล้วนั่นแหละ ในลำดับแห่งกิริยาจิตที่เกิดขึ้น หันเหภวังคจิตไปจากมโนทวาราวัชชนะนั้น ชวนจิตดวงที่ ๑ (คืออนุโลมญาณ ที่ ๑) ซึ่งท่านเรียกว่า "บริกรรม" ก็เกิดขึ้นสืบต่อตามติดไม่มีช่องว่าง ทำสังขารทั้งหลายเป็นอารมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน ในลำดับนั้น ชวนจิตดวงที่ ๒ (อนุโลมญาณ ที่ ๒) ซึ่งท่านเรียกว่า "อุปจาร" ก็เกิดขึ้น ทำสังขารทั้งหลายเป็นอารมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน แม้ในลำดับต่อจากนั้น ชวนจิตดวงที่ ๓ ซึ่งท่านเรียกว่า "อนุโลม" (คืออนุโลมญาณ ที่ ๓) ก็เกิดขึ้นทำสังขารทั้งหลายเป็นอารมณ์อย่างนั้นเหมือนกัน
ชื่อ (ที่เรียก) นี้เป็นชื่อเฉพาะของชวนจิต ๓ ดวงเหล่านั้น แต่จิตทั้ง ๓ อย่างนี้ จะเรียกว่า "อาเสวนะ" บ้าง ว่า "บริกรรม" บ้าง ว่า "อุปจาร" บ้าง ว่า "อนุโลม" บ้าง โดยไม่แตกต่างกัน ก็สมควร
(ถามว่า) เป็นอนุโลมของอะไร ?
(ตอบว่า) เป็นอนุโลมของญาณทั้งหลายที่เป็นส่วนเบื้องหน้าและของธรรมทั้งหลายที่เป็นส่วนเบื้องหลัง เพราะว่าอนุโลมญาณนั้นคล้อยตามวิปัสสนาญาณ ๘ เบื้องหน้า เพราะมีกิจเหมือนกัน และคล้อยตามโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเบื้องบน (เบื้องหลัง) จริงอยู่ อนุโลมญาณนั้น เพราะเหตุปรารภสังขารทั้งหลายแล้วดำเนินไป โดยลักษณะมีอนิจจลักษณะเป็นต้น จึงอนุโลมคล้อยตามญาณทั้ง ๘ ประการเหล่านี้ เพราะมีกิจ (กำหนดพิจารณาพระไตรลักษณ์) เหมือนกัน
และอนุโลมแก่โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการในเบื้องบน เพราะต้องบรรลุด้วยการ ปฏิบัติ (วิปัสสนาญาณทั้งหลาย) นั้น
อุปมาอนุโลมญาณ ด้วยพระราชาผู้ทรงธรรม
อุปมาเหมือนพระราชาผู้ทรงธรรมประทับนั่งในสถานวินิจฉัยทรงสดับคำวินิจฉัยของท่านมหาอำมาตย์ผู้ว่าคดี ๘ ท่านแล้ว ทรงละการถึงอคติเสีย ทรงตั้งพระองค์เป็นกลาง มีพระราชดำรัสอำนวยตามว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด" ชื่อว่าทรงอนุโลมแก่คำวินิจฉัยของมหาอำมาตย์เหล่านั้นด้วยและทรงอนุโลมแก่โบราณราชธรรมด้วยฉันใด ข้อเปรียบนี้ ก็พึงทราบฉันนั้น เพราะว่า อนุโลมญาณ เปรียบเหมือนพระราชา ญาณทั้งหลาย ๘ เปรียบเหมือนมหาอำมาตย์ผู้ว่าคดี ๘ ท่าน โพธิปักขิยธรรม ๓๗ เปรียบเหมือนโบราณราชธรรม ในอุปมานั้น พระราชา เมื่อทรงมีพระราชดำรัสว่า "จงเป็นอย่างนั้นเถิด" ชื่อว่าทรงอนุโลมแก่คำวินิจฉัยของมหาอำมาตย์ทั้งหลายผู้ว่าคดีด้วย ทรงอนุโลมแก่ราชธรรมด้วย ฉันใด อนุโลมญาณนี้ก็ฉันนั้น เมื่อเกิดขึ้นปรารภสังขารทั้งหลายโดยพระไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้น ชื่อว่าอนุโลมแก่ญาณทั้งหลาย ๘ เพราะมีกิจเหมือนกันด้วย และอนุโลมแก่โพธิปักขิยธรรมทั้งหลาย ๓๗ ในเบื้องต้น (ในขณะมรรคญาณ) ด้วย เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านจึงเรียกว่า สัจจานุโลมมิกญาณ ด้วยประการฉะนี้
ญาณทัสสนวิสุทธินิเทศ
๑๓. โคตรภูญาณ
ต่อจากอนุโลมญาณนี้ไป ก็เป็น โคตรภูญาณ โคตรภูญาณนั้นไม่นับเป็นปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (และ) ไม่นับเป็นญาณทัสสนวิสุทธิ เพราะตั้งอยู่ในฐานะหันมาสู่มรรค เป็น อัพโพหาริก (คือจะกล่าวว่าอยู่ในวิสุทธิฝ่ายใดมิได้) อยู่ในระหว่างกลางนั้นเอง แต่ถึงการนับว่า "วิปัสสนา" เพราะตกอยู่ในกระแสของวิปัสสนาแล้ว
ส่วนญาณในมรรค ๔ คือโสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑ เหล่านี้ เรียกชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ
ในมรรคทั้งหลาย ๔ นั้น ความจริง ขึ้นชื่อว่ากิจไรๆ อื่น ที่โยคีผู้มีความปรารถนาจะบรรลุมรรคญาณที่ ๑ จะต้องทำ หามีไม่ เพราะว่ากิจใดซึ่งเป็นกิจที่โยคีท่านนี้จะต้องทำ เมื่อท่านทำวิปัสสนาซึ่งมีอนุโลมญาณเป็นญาณสุดท้ายให้บังเกิดขึ้น ก็ได้ทำ (กิจนั้น) เรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับท่านผู้มีอนุโลมญาณบังเกิดขึ้นอย่างนี้แล้ว เมื่อ อนุโลมญาณแม้ทั้ง ๓ (หรือ ๒) เหล่านั้น ได้ทำลายความมืด (คือกิเลส) ชนิดหนาๆ ที่ปิดบัง (อริย) สัจจะอยู่ ให้อันตรธานไปตามสมควรแก่กำลังของตนๆ แล้วจิตของโยคีท่านนั้น ก็ไม่แล่นไป ไม่ตั้งมั่น ไม่น้อมไป ไม่ข้อง ไม่ติด ไม่เกาะ ในสังขารทั้งปวง (แต่) ถอยกลับ งอกลับ วกกลับ เหมือนหยาดน้ำ กลอกกลิ้งกลับจากใบบัว นิมิต (คือสังขาร) ที่เป็นอารมณ์ทั้งปวงก็ดีความเป็นไป (ของสังขาร) ที่เป็นอารมณ์ทั้งปวงก็ดียังปรากฏโดย "ปลิโพธ" (คือสิ่งขัดขวาง) อยู่ในทันที เมื่ออารมณ์คือนิมิตและความเป็นไป (ของสังขาร) ทุกประการปรากฏโดยปลิโพธอยู่นั้น ณ ตอนท้ายสุดแห่งอาเสวนะ (๓ หรือ ๒ ครั้ง ของอนุโลมญาณ "โคตรภูญาณ" ที่เป็นญาณถึงยอด เป็นที่สุดของวิปัสสนา ก็เกิดขึ้น ทำนิโรธคือพระนิพพานอันปราศจากสังขาร ไม่มีนิมิต ไม่มีความเป็นไป ให้เป็นอารมณ์ ข้ามพ้นโคตรปุถุชน พ้นการเรียกว่าปุถุชน พ้นภูมิปุถุชน ก้าวลงสู่โคตรพระอริยะ สู่การเรียกขานว่า พระอริยะ สู่ภูมิพระอริยะ ซึ่งเป็นการรำพึงถึงครั้งแรก คำนึงถึงเป็นครั้งแรก คิดคำนึงถึงเป็นครั้งแรก ในอารมณ์พระนิพพาน ทำให้สำเร็จความเป็นปัจจัยของ (อริย) มรรคโดยอาการ ๖ ประการ คือโดยอนันตรปัจจัย ๑ สมนันตรปัจจัย ๑ อาเสวนปัจจัย ๑ อุปนิสสยปัจจัย ๑ นัตถิปัจจัย ๑ และวิคตปัจจัย ๑ ไม่หวนกลับมาอีก ซึ่ง (เป็นญาณที่) ท่านกล่าวระบุถึงไว้ว่า
"ปัญญาในการหวนกลับด้วยการออกจากสังขารภายนอกเรียกว่า "โคตรภูญาณ" เป็นอย่างไร? เรียกว่า โคตรภูเพราะครอบงำความเกิดขึ้น (ของสังขารทั้งหลาย) เรียกว่า โคตรภู เพราะครอบงำความเป็นไป (ของสังขาร) ... เพราะครอบงำความคับแค้นใจ เรียกว่า โคตรภู เพราะครอบงำนิมิตคือสังขารภายนอก เรียกว่า โคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น (ของสังขาร) เรียกว่า โคตรภู เพราะแล่นไปสู่ความไม่เป็นไป ... ฯลฯ ... สู่ความไม่คับแค้นใจ สู่นิโรธ สู่พระนิพพาน เรียกว่า โคตรภู เพราะครอบงำความเกิดขึ้น (ของสังขาร) แล้วแล่นไปสู่ความไม่เกิดขึ้น (คือพระนิพพาน)"
๑๔. มัคคญาณ - ญาณในอริยมรรค
๑. โสดาปัตติมรรคญาณ
ในการนั้น มีอุปมาแสดงถึงอาการที่อนุโลมญาณและโคตรภูญาณ แม้ดำเนินไปในวิถีเดียวกัน โดยอาวัชชนะเดียวกัน แต่ดำเนินไปในอารมณ์ต่างๆ กัน ดังต่อไปนี้
อุปมาด้วยบุรุษโดดข้ามคูน้ำ
เหมือนหนึ่งว่า บุรุษผู้ (อยู่ฝั่งข้างนี้) ปรารถนาจะกระโดดข้ามคูน้ำกว้างใหญ่ แล้วไปยืน อยู่ ณ ฝั่งฟากข้างโน้น จึงวิ่งมาโดยเร็ว แลัวยึดเส้นเชือกที่ผูกห้อยอยู่กับกิ่งของต้นไม้ หรือจับไม้ค้ำยัน ณ ฝั่งข้างนี้ของคู แล้วโดดขึ้น (ขณะที่) มีการโน้มน้อมเอียงโอนไปยังฝั่งโน้น ถึงส่วนเบื้องบนของฝั่งโน้นแล้ว จึงละเส้นเชือกหรือไม้ค้ำยันนั้นซวนเซไปตกลง ณ ฝั่งโน้นแล้วจึงค่อยๆ ทรงตัวยืนอยู่ฉันใด แม้โยคาวจรท่านนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีความปรารถนาเพื่อประดิษฐานอยู่ในพระนิพพานซึ่งเป็นฝั่งโน้นของภพ ๓ โยนิ ๔ คติ ๕ ฐิติ ๗ และนิวาส ๙ จึงวิ่งมาโดยเร็วด้วยญาณมี "อุทยพยานุปัสสนาญาณ" เป็นต้น แล้วเหนี่ยวเส้นเชือกคือรูปที่ผูกห้อยไว้กับกิ่งของต้นไม้คืออัตภาพ(ร่างกาย) หรือว่ายึดไม้ค้ำยันคือขันธ์มีเวทนาขันธ์เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยการรำพึงของอนุโลมญาณว่าไม่เที่ยง หรือว่าเป็นทุกข์ หรือว่าเป็นอนัตตา ยังไม่ละเส้นเชือก คือรูป หรือไม้ค้ำยัน คือเวทนาเป็นต้นนั้นก่อน โลดขึ้นด้วยอนุโลมจิตดวงที่ ๑ (บริกรรม) แล้วเป็นผู้มีจิตใจโน้มน้อมเอียงโอนไปสู่พระนิพพาน ด้วยอนุโลมจิตดวงที่ ๒ (อุปจาร) ดุจบุรุษผู้มีกายโน้มน้อมเอียงโอนไปยังฝั่งข้างโน้น (ของคูน้ำ) เป็นผู้อยู่ใกล้พระนิพพานที่ตนจะพึงถึง ณ บัดนี้ ด้วยอนุโลมจิตดวงที่ ๓ ดุจบุรุษผู้ (โดด) ถึงส่วนเบื้องบนของฝั่งโน้น แล้วละอารมณ์คือสังขาร (รูปหรือเวทนาเป็นต้น) นั้นด้วยความดับ ของ (อนุโลม) จิตนั้น แล้วตกลงไปในพระนิพพานที่ปราศจากสังขารซึ่งเป็นฝั่งข้างโน้น ด้วย "โคตรภูจิต" (มีพระนิพพานเป็นอารมณ์) แต่เพราะเหตุที่ยังไม่ได้อาเสวนะ (ความคุ้นเคย) ในอารมณ์พระนิพพานเพียงครั้งเดียว จึงยังหวั่นไหว ไม่ตั้งมั่นอยู่ด้วยดีก่อน เหมือนบุรุษ (โดดข้ามคูน้ำ) ผู้นั้นซวนเซอยู่ จากนั้นก็ประดิษฐานอยู่ด้วย "มรรคญาณ" ด้วยประการฉะนี้
ในญาณทั้งสองนั้น อนุโลมญาณสามารถกำจัดความมืดคือกิเลสที่ปิดบัง (อริย) สัจจะออกไปได้ แต่ทำพระนิพพานให้เป็นอารมณ์มิได้ ส่วนโคตรภูญาณ สามารถทำพระนิพพานนั่นแลให้เป็นอารมณ์ได้ แต่มิสามารถกำจัดความมืดที่ปิดบัง (อริย) สัจจะไว้ออกไปได้ ในการทำกิจของอนุโลมญาณและโคตรภูญาณนั้น มีอุปมาดังนี้
อุปมาด้วยบุรุษดูฤกษ์นักษัตรโยคะ
สมมติว่า บุรุษผู้มีจักษุผู้หนึ่ง คิดจักรู้ฤกษ์ร่วมของดาวนักษัตร จึงออกมาในเวลากลางคืน แล้วแหงนขึ้นไปดูดวงจันทร์ ดวงจันทร์ก็ไม่ปรากฏ เพราะดวงจันทร์นั้นถูกหมู่เมฆทั้งหลายบังไว้ ทันใดนั้น ก็มีลมระลอกหนึ่งพัดขึ้นพัดพาเอาหมู่เมฆหนาๆ ออกไป ลมอีกระลอกหนึ่ง ตั้งขึ้นแล้วพัดพาเอาหมู่เมฆชนิดกลางๆ ออกไป ลมอีกระลอกหนึ่งตั้งขึ้นแล้วพัดพาเอาหมู่เมฆบางๆ ออกไป แต่นั้น ครั้นท้องฟ้าปราศจากเมฆแล้ว บุรุษผู้นั้นก็เห็นดวงจันทร์ แล้วรู้ฤกษ์ร่วมของดาวนักษัตรได้
ในอุปมานั้น ความมืดคือกิเลสอย่างหนา อย่างกลาง และอย่างละเอียด ที่ปิดบังสัจจะไว้ เป็นเหมือนเมฆทั้งหลาย ๓ ชนิด อนุโลมจิต ๓ ดวง เป็นเหมือนลม ๓ ระลอก โคตรภูญาณ เปรียบบุรุษผู้มีจักษุ พระนิพพาน เปรียบประดุจดวงจันทร์ การกำจัดความมืด (คือกิเลส) ที่ปิดบัง (อริย) สัจจะออกไป ของอนุโลมจิตดวงหนึ่งๆ เปรียบเหมือนการพัดพาเอาหมู่เมฆ ๓ ชนิดออกไปโดยลำดับ ของลมระลอกหนึ่งๆ เมื่อปราศจากความมืดที่ปิดบัง(อริย) สัสจะแล้วโคตรภูญาณก็เห็นพระนิพพานอันบริสุทธิ์ เปรียบเหมือนเมื่อท้องฟ้าปราศจากหมู่เมฆแล้ว บุรุษผู้นั้นก็เห็นดวงจันทร์อันผ่องใส
จริงอยู่ อนุโลมจิตทั้งหลาย สามารถกำจัดความมืดที่ปิดบัง (อริย) สัจจะได้แต่อย่างเดียวเท่านั้น ไม่สามารถเห็นพระนิพพาน เปรียบเหมือนลม ๓ ระลอก สามารถพัดพาเอาหมู่เมฆทั้งหลายที่บังดวงจันทร์ไว้ออกไปได้ แต่อย่างเดียว แต่ไม่สามารถเห็นดวงจันทร์ โคตรภูญาณ สามารถเห็นพระนิพพานได้อย่างเดียว ไม่สามารถกำจัดความมืดคือกิเลสได้ เปรียบเหมือนบุรุษผู้นั้น สามารถเห็นดวงจันทร์ได้อย่างเดียว ไม่สามารถพัดพาเอาหมู่เมฆทั้งหลายออกไปได้ และด้วยเหตุนั้นแลท่านจึงกล่าวว่า "โคตรภูญาณ" นี้ เป็นอาวัชชนะของมรรค (คือหันมาสู่มรรค)
ที่จริง โคตรภูญาณนั้น แม้ไม่หันมา (แต่) ก็ตั้งอยู่ในฐานะแห่งการหันมา คล้ายกับว่าให้สัญญา (นัดหมาย) แก่มรรคว่า "ท่านจงบังเกิดขึ้นอย่างนี้" แล้ว (ตัวเอง) ก็ดับไป ทั้งมรรคเองก็ไม่ละสัญญาที่โคตรภูญาณนั้นให้ไว้ บังเกิดขึ้นติดตาม (โคตรภู) ญาณนั้นโดยสืบเนื่องไม่มีระหว่างคั่นทันทีนั้น ทั้งเจาะทะลุทั้งทุบทำลายกองโลภะ กองโทสะ กองโมหะ ที่ไม่เคยเจาะทะลุ ไม่เคยทุบทำลายมาก่อน
อานิสงส์โสดาปัตติมรรค
อนึ่ง (โสดาปัตติ) มรรคนี้ มิใช่แต่ทำการเจาะทะลุกองกิเลสทั้งหลายมีกองโลภะเป็นต้น อย่างเดียวเท่านั้น แต่ทำมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ ซึ่งไม่มีใครรู้ที่สุดเบื้องต้น ให้เหือดแห้งไปด้วย ปิดประตูอบายทั้งปวง ทำให้เป็นผู้มีอริยทรัพย์ ๗ ประการอยู่พร้อมพรั่ง สลัดทิ้งมิจฉามรรค (ทางดำเนินผิด) ๘ ประการเสียได้ ทำเวรและภัยทุกประการให้สงบลง นำ (โยคี) เข้าถึงความเป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุระของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และดำเนินไปเพื่อได้อานิสงส์อื่นๆ อีกหลายร้อยอย่างด้วยประการฉะนี้
ญาณ ที่สัมปยุตด้วยโสดาปัตติมรรค ซึ่งให้อานิสงส์หลายประการ ดังกล่าวนี้ คือ "ญาณในโสดาปัตติมรรค" ฉะนี้แล
จบ (มรรค) ญาณที่ ๑
๑๕. ผลญาณ - ญาณในอริยผล
อนึ่ง ในลำดับแห่ง (ปฐมมรรค) ญาณนี้ ผลจิต ๒ หรือ ๓ ดวง ซึ่งเป็นวิบากของโสดาปัตติมรรคจิตนั้นเอง ก็เกิดขึ้น ความจริง (วิปากจิตของโสดาปัตติมรรคจิตนี้) พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสไว้ว่า
"สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ" "ซึ่งปราชญ์ทั้งหลายเรียกกันว่า อานันตริกสมาธิ (คือ มรรคสมาธิซึ่งให้อริยผลในทันที)"
และตรัสไว้ว่า
" ... ทนฺธํ อานนฺตริกํ ปาปุณาติ อาสวานํ ขยาย" "(เพราะอินทรีย์ ๕ เหล่านี้อ่อน) บุคคลผู้นั้นจึงบรรลุอานันตริกสมาธิ เพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลาย ช้า" ดังนี้เป็นต้น
แต่ว่าโยคีท่านนี้ก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๒ ชื่อว่าพระโสดาบัน ด้วยอาการเช่นกล่าวมานี้ แม้ท่านจะยังเป็นผู้ประมาทอยู่มาก ท่านก็จะเร่ร่อนท่องเที่ยวไปใน (โลก) เทวดาทั้งหลาย และใน (โลก) มนุษย์ทั้งหลาย เพียง ๗ ครั้ง (๗ ชาติ) แล้วจะเป็นผู้สามารถทำที่สุดทุกข์ได้
๑๖. ปัจจเวกขณญาณ
แต่ในขณะสุดท้ายของ (โสดาปัตติ) ผลจิต จิตของพระโสดาบันนั้นก็หยั่งลงสู่ภวังค์ แต่นั้น มโนทวาราวัชชนะก็ตัดภวังค์เกิดขึ้น เพื่อต้องการสำรวจดูมรรค ครั้นมโนทวาราวัชชนะนั้นดับแล้ว ชวนจิตในการกลับไปสำรวจดูมรรค ๗ ชวนะ ก็เกิดขึ้นโดยลำดับ ด้วยประการฉะนี้ แล้วตกลงสู่ภวังค์อีก แล้วชวนะทั้งหลายมี (มโนทวาร) อาวัชชนะเป็นต้นก็เกิดขึ้น เพื่อย้อนกลับไปสำรวจดูผลเป็นต้น ตามนัย (ที่กล่าวแล้วในการสำรวจดูมรรค) นั้นนั่นแล ซึ่งพระอริยบุคคลท่านนี้จะสำรวจทบทวนดูมรรค ๑ สำรวจทบทวนดูผล ๑ สำรวจทบทวนดูกิเลสทั้งหลายที่ละได้แล้ว ๑ สำรวจทบทวนดูกิเลสทั้งหลายที่ยังเหลืออยู่ ๑ สำรวจทบทวนดูพระนิพพาน ๑ ด้วยการเกิดขึ้นของชวนจิตเหล่านั้น
เพราะว่า พระอริยบุคคลท่านนั้นสำรวจทบทวนดูมรรคว่า "ข้าพเจ้ามาด้วยมรรคนี้แน่แล้ว" ๑ จากนั้นก็สำรวจทบทวนดูผลว่า "อานิสงส์ดังนี้ข้าพเจ้าได้รับแล้ว" ๑ จากนั้นสำรวจทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วว่า "กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆ ข้าพเจ้าละได้แล้ว" ๑ จากนั้นสำรวจทบทวนดูกิเลสทั้งหลายที่ต้องฆ่าด้วยมรรค ๓ เบื้องสูงว่า "กิเลสทั้งหลายชื่อนี้ๆ ของข้าพเจ้า ยังเหลืออยู่" ๑ และในที่สุด ก็สำรวจทบทวนดูพระอมตนิพพานว่า "พระธรรมนี้ ข้าพเจ้าแทงตลอดโดยอารมณ์แล้ว" ๑
พระโสดาบันอริยสาวกมีปัจจเวกขณะ (คือการสำรวจทบทวน) ๕ ประการ ด้วยประการดังกล่าวนี้
และพระโสดาบันมีปัจจเวกขณะ ๕ ฉันใด แม้พระสกทาคามีและพระอนาคามทั้งหลาย ก็มีปัจจเวกขณะ ๕ ฉันนั้น แต่ของพระอรหันต์ไม่มีการสำรวจทบทวนดูกิเลสที่เหลือแล (เพราะ ท่านละกิเลสทั้งหลายหมดแล้ว) ที่เรียกว่า ปัจจเวกขณะ (การสำรวจทบทวน) รวมทั้งหมดจึงมี ๑๙ ด้วยประการฉะนี้ และนี้เป็นการกำหนดอย่างสูงเลยทีเดียว ความจริงแม้พระเสขอริยบุคคลทั้งหลายก็มีการสำรวจทบทวนดูกิเลสที่ท่านละได้แล้ว และกิเลสที่ยังเหลืออยู่บ้าง ไม่มีการสำรวจทบทวนดูบ้าง เพราะว่าโดยความที่ไม่มีการสำรวจทบทวนดูนั้นเอง เจ้าศากยะ มหานามะ (ซึ่งเป็นพระสกทาคามีอริยบุคคล) จึงกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า "ยังมีธรรมชื่ออะไรอยู่อีกหรือที่หม่อมฉันมิได้ละแล้วภายในตน ซึ่งเป็นเหตุให้สิ่งที่เรียกว่าโลภะทั้งหลายครอบงำจิตของหม่อมฉันอยู่ในกาลบางคราว" ดังนี้ ควรทราบความทั้งหมด (ในพระสูตร) โดยพิสดาร
๒. สกทาคามิมรรคญาณ
อนึ่ง พระโสดาบันอริยสาวกนั้น ครั้นสำรวจทบทวนดู (ด้วยปัจจเวกขณญาณ) โดยอาการดังกล่าวแล้ว ยังนั่งอยู่ ณ อาสนะนั้นนั่นเอง หรือในสมัยอื่น (ต่อมา) ทำโยคะ (ความเพียรในวิปัสสนายิ่งขึ้น) เพื่อบรรลุภูมิที่ ๒ (สกทาคามิมรรคญาณ) เพื่อความเบาบางแห่งกามราคะและพยาบาท (อย่างหยาบ) ท่านชุมนุมอินทรีย์ (๕) พละ (๕) และโพชฌงค์ (๗) ให้เสมอกัน แล้วบดขยี้สังขาร ซึ่งจำแนกเป็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้นนั่นแล ด้วยญาณกำหนดรู้ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ทบทวนไปมา หยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ เมื่อพระอริยสาวกนั้น ปฏิบัติโดยอาการอย่างนี้แล้ว ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณเกิดขึ้น โดยอาวัชชนะเดียวกัน ในตอนท้ายของสังขารุเปกขาญาณ โดยนัยที่กล่าวแล้ว (ในการทำให้ญาณทั้งหลายมีอุทยพยญาณเป็นต้นเกิดขึ้น) นั่นแล สกทาคามิมรรคก็เกิดขึ้นในลำดับโคตรภูญาณ
"ญาณ" ซึ่งสัมปยุตด้วยสกทาคามิมรรคนั้น คือ"ญาณในสกทาคามิมรรค" ฉะนี้แล
จบ (มรรค) ญาณที่ ๒
พระสกทาคามีอริยบุคคล
ควรทราบไว้ด้วยว่า ผลจิต (สกทาคามิผลจิต) ทั้งหลาย (ก็เกิดขึ้น) แม้ในลำดับของ (สกทาคามิมรรค) ญาณนี้ โดยนัยดังกล่าวไว้แล้ว (ในโสดาปัตติมรรคญาณและโสดาปัตติผลญาณ) เช่นกัน และด้วยอาการเพียงนี้ พระอริยสาวกท่านนี้ก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๔ มีนามว่า "พระสกทาคามี" เป็นผู้ที่จะกลับมายังโลกนี้ (ด้วยการถือปฏิสนธิ) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น แล้วสามารถทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ การสำรวจทบทวนดู (ด้วยปัจจเวกขณะ) ต่อแต่นั้นไป ก็มีนัยดังกล่าวแล้วเช่นกัน
๓. อนาคามิมรรคญาณ
อนึ่ง พระสกทาคามีอริยสาวกนั้น ครั้นสำรวจทบทวนดูโดยอาการดังกล่าวแล้วยังนั่งอยู่ ณ อาสนะนั้นนั่นเอง หรือในสมัยต่อมา ทำโยคะเพื่อบรรลุภูมิที่ ๓ เพื่อละ (สังโยชน์ส่วนล่างอีก ๒ คือ) กามราคะและพยาบาท (ที่เป็นส่วนละเอียด) โดยไม่เหลือพระอริยสาวกนั้น จึงชุมนุมอินทรีย์ พละ และโพชฌงค์ ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วบดขยี้สังขารนั้นนั่นแล ด้วยญาณกำหนดรู้ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ทบทวนไปมา หยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ (อีกครั้ง) เมื่อพระอริยสาวกนั้น ปฏิบัติโดยอาการอย่างนี้แล้ว ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณเกิดขึ้นโดยอาวัชชนะเดียวกัน ในตอนท้ายของสังขารุปกขาญาณ โดยนัยดังกล่าวแล้วนั่นแล อนาคามิมรรคก็เกิดขึ้นในลำดับโคตรภูญาณ
ญาณ ซึ่งสัมปยุตด้วยอนาคามิมรรคนั้น คือญาณในอนาคามิมรรค ฉะนี้แล
จบ (มรรค) ญาณที่ ๓
พระอนาคามีอริยบุคคล
แม้ในลำดับของ (อนาคามิมรรค) ญาณนี้ ก็ควรทราบผลจิตทั้งหลาย (อนาคามิผลจิตที่เกิดขึ้น) โดยนัยดังกล่าวแล้วเช่นกัน และด้วยอาการเช่นกล่าวมานี้ พระอริยสาวกท่านนี้ก็เป็น พระอริยบุคคลที่ ๖ มีนามว่า "พระอนาคามี" เป็นผู้เกิดผุดขึ้น ปรินิพพานในชั้นสุทธาวาสนั้น มีอันไม่กลับมาเป็นธรรมดา กล่าวคือไม่มายัง (มนุษย์) โลกนี้ด้วยการถือปฏิสนธิอีกต่อไป ปัจจเวกขณะ (คือการสำรวจทบทวนดู) ต่อแต่ (อนาคามิผลญาณ) นั้นก็มีนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล
๔. อรหัตตมรรคญาณ
อนึ่ง พระอนาคามีอริยสาวกนั้น ครั้นสำรวจทบทวนดูโดยอาการดังกล่าวแล้ว ยังนั่งอยู่ในอาสนะนั้นนั่นเอง หรือในสมัยต่อมา ทำโยคะเพื่อบรรลุภูมิที่ ๔ เพื่อละ (สังโยชน์ส่วนบนอีก ๕ คือ) รูปราคะ ๑ อรูปราคะ ๑ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ โดยไม่เหลือเลย พระอริยสาวกนั้นจึงชุมนุมอินทรีย์พละและโพชฌงค์ทำให้สม่ำเสมอกัน แล้วบดขยี้สังขารนั้นนั่นแหละด้วยญาณกำหนดรู้ว่า "ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" ทบทวนไปมา หยั่งลงสู่วิถีของวิปัสสนาญาณ (อีกครั้ง) เมื่อท่านอริยสาวกนั้นปฏิบัติ โดยอาการอย่างนี้แล้ว ครั้นอนุโลมญาณและโคตรภูญาณเกิดขึ้นโดยอาวัชชนะเดียวกัน ในตอนท้ายของสังขารุเปกขาญาณ โดยนัยดังกล่าวมาแล้วนั่นแล พระอรหัตตมรรคก็เกิดขึ้นในลำดับโคตรภูญาณ
ญาณ ซึ่งสัมปยุตด้วยพระอรหัตตมรรคนั้น คือญาณในอรหัตตมรรค ฉะนี้แล
จบ (มรรค) ญาณที่ ๔
พระอรหันตมหาขีณาสพ
ถึงแม้ในลำดับของ (พระอรหัตตมรรค) ญาณนี้ ก็ควรทราบผลจิต (อรหัตตผลจิตที่เกิดขึ้น) โดยนัยดังกล่าวมาแล้วเช่นกัน และด้วยอาการเช่นกล่าวมานี้ พระอริยสาวกท่านนี้ก็เป็นพระอริยบุคคลที่ ๘ มีนามว่า "พระอรหันต์" เป็นพระมหาขีณาสพ ผู้ทรงร่างกายนี้เป็นวาระสุดท้าย เป็นผู้ปลงภาระลงได้แล้ว เป็นผู้บรรลุถึงความต้องการของตนเองโดยลำดับแล้ว เป็นผู้หมดสิ้นสังโยชน์ในภพแล้ว เป็นผู้พ้นพิเศษด้วยความรู้โดยชอบแล้ว เป็นทักขิไณยบุคคล ชั้นสุดยอดของ (มนุษย์) โลก รวมทั้งเทวโลก ด้วยประการฉะนี้
คำใดที่ข้าพเจ้ากล่าวไว้ (ข้างต้น) ว่า "ส่วนญาณในมรรค ๔ คือ โสดาปัตติมรรค ๑ สกทาคามิมรรค ๑ อนาคามิมรรค ๑ อรหัตตมรรค ๑ เหล่านี้ เรียกชื่อว่า ญาณทัสสนวิสุทธิ" ดังนี้ คำนั้น ข้าพเจ้ากล่าวไว้ หมายถึงญาณทั้งหลาย ๔ เหล่านี้ ซึ่งโยคีพึงบรรลุได้โดยลำดับ (ดังกล่าวมา) นี้ ด้วยประการฉะนี้
อานุภาพของมรรคญาณ
ณ บัดนี้ เพื่อทราบโดยแจ่มแจ้งถึงอานุภาพของ (มรรค) ญาณ ๔ คือ ญาณทัสสนวิสุทธิ นี้นั่นเอง (ท่านจึงกล่าวไว้ว่า)
โยคีควรทราบ
- ความที่มรรคมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ บริบูรณ์
- วุฏฐานะ
- พลสมาโยคะ
- การละธรรมทั้งหลายที่พึงละด้วยญาณ และ
- กิจทั้งหลาย มีการกำหนดรู้เป็นต้น ในเวลาตรัสรู้ ซึ่งกล่าวไว้แล้วนั้น ตามสภาวะ ทุกประการ ฉะนี้
กิจในอริยสัจจ์ ๔
กิจทั้งหลายใด มีการกำหนดรู้เป็นต้น ในเวลาตรัสรู้ซึ่งกล่าวไว้แล้วนั้น โยคีควรทราบไว้ตามสภาวะทุกประการ ความว่า
ที่จริง ในเวลาตรัสรู้ (อริย) สัจจะ ท่านกล่าวไว้ว่า บรรดาญาณทั้งหลาย ๔ เหล่านั้น ในแต่ละญาณ มีกิจ (ญาณละ) ๔ มีปริญญา (การกำหนดรู้) เป็นต้น เหล่านี้ คือ
- ปริญญา กำหนดรู้
- ปหาน ประหาณ (ละ)
- สัจฉิกิริยา ทำให้เห็นแจ้ง
- ภาวนา ทำให้เกิด
(เกิดขึ้น) โดยขณะเดียวกัน โยคีควรทราบกิจทั้งหลายเหล่านั้น ตามสภาวะ
มรรคญาณเปรียบด้วยดวงประทีป
เพราะว่ากิจ ๔ อย่างนี้ พระโบราณาจารย์ทั้งหลายได้กล่าวไว้แล้วว่า ดวงประทีปทำกิจ ๔ อย่างไม่ก่อนไม่หลังโดยขณะเดียวกัน คือเผาไส้ ๑ กำจัดความมืด ๑ ทำแสงสว่างให้ปรากฏ ๑ ทำน้ำมันให้สิ้นไป ๑ ฉันใด มรรคญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตรัสรู้สัจจะ ๔ ไม่ก่อนไม่หลังโดยขณะเดียวกัน คือตรัสรู้ทุกข์ ด้วยการตรัสรู้โดยกำหนดรู้ ๑ ตรัสรู้สมุทัย ด้วยการตรัสรู้โดยการละ ๑ ตรัสรู้มรรค ด้วยการตรัสรู้โดยการทำให้ (มรรค) เกิด ๑ ตรัสรู้นิโรธ ด้วยการตรัสรู้โดยการทำให้เห็นแจ้ง ๑
ถามว่า มีคำอธิบายกล่าวไว้อย่างไร ?
ตอบว่า "โยคีทำนิโรธ (พระนิพพาน) เป็นอารมณ์ แล้วบรรลุ คือเห็น คือว่าแทงทะลุซึ่งสัจจะหมดทั้ง ๔" และแม้ความข้อนี้ พระผู้มีพระภาคก็ตรัสไว้แล้วว่า "ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเห็นทุกข์ แม้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ ผู้นั้นก็เห็น แม้ความดับแห่งทุกข์ก็เห็น เขาเห็นทั้งปฏิปทาดำเนินไปสู่ความดับแห่งทุกข์ด้วย" ดังนี้ ควรทราบพระพุทธดำรัส (เรื่องนี้) ทั้งหมด ทั้งท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้กล่าวไว้อีกว่า "ญาณของท่านผู้ถึงพร้อมด้วยมรรค คือญาณนี้ในทุกข์ด้วย ญาณนี้ในเหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ด้วย ญาณนี้ในความดับแห่งทุกข์ด้วย ญาณนี้ในปฏิปทาดำเนินไปสู่ความดับแห่งทุกข์ด้วย" ดังนี้
ในข้ออุปมานั้น พึงทราบการเปรียบเทียบด้วยอุปมาอย่างนี้ คือมรรคญาณกำหนดรู้ทุกข์ เปรียบเหมือนดวงประที่เผาไส้ ละสมุทัยเปรียบเหมือนดวงประทีปกำจัดความมืด ทำมรรคกล่าวคือสัมมาสังกัปปะเป็นต้นให้เกิดโดยความเป็นปัจจัยมีสหชาตุปัจจัยเป็นต้น เปรียบเหมือนดวงประทีปทำแสงสว่างให้ปรากฏโดยรอบ ทำให้เห็นแจ้งนิโรธอันหมดสิ้นกิเลส เปรียบเหมือนดวงประทีปทำน้ำมันให้สิ้นไป
มรรคญาณเปรียบด้วยดวงอาทิตย์
อีกนัยหนึ่ง เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ เมื่อโผล่ขึ้นมาก็ทำกิจ ๔ อย่างพร้อมกับความปรากฏไม่ก่อนไม่หลัง คือส่องให้เห็นสิ่งที่เป็นรูป ๑ กำจัดความมืด ๑ ให้ความสว่าง ๑ ระงับความหนาว ๑ ฉันใด มรรคญาณก็ฉันนั้นเหมือนกัน ตรัสรู้สัจจะ ๔ โดยขณะเดียวกัน ไม่ก่อนไม่หลัง คือ ... ฯลฯ ... ตรัสรู้นิโรธ ด้วยการตรัสรู้ โดยการทำให้เห็นแจ้ง ๑ แม้ในอุปมานี้ก็พึงทราบการเปรียบเทียบด้วยอุปมาอย่างนี้ คือมรรคญาณกำหนดรู้ทุกข์ เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ส่องให้เห็นสิ่งที่เป็นรูป ละสมุทัยเปรียบเหมือนดวงอาทิตย์กำจัดความมืด ทำมรรคให้เกิดโดยความเป็นปัจจัย มีสหชาตปัจจัยเป็นต้น เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ให้ความสว่างทำให้เห็นแจ้งนิโรธ คือความสงบระงับกิเลส เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ระงับความหนาว
อนึ่ง ปัญหากรรมใด ที่เรากล่าวไว้ว่า "อะไร เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนา (การทำวิปัสสนามรรคปัญญาให้เกิด)" (บัดนี้) เราจะกล่าวแก้ในปัญหากรรมนั้น (ต่อไป)
ความจริง ขึ้นชื่อว่า ปัญญาภาวนา (คือการทำวิปัสสนามรรคปัญญาให้เกิด) นี้ มีอานิสงส์หลายร้อยอย่างการที่จะประกาศอานิสงส์ของปัญญาภาวนานั้นโดยพิสดาร แม้ใช้เวลายาวนานก็ทำมิได้ง่าย แต่พึงทราบอานิสงส์ของปัญญาภาวนานั้นโดยสังเขปไว้ดังนี้ คือ
๑. นานากิเลสวิทฺธํสนํ - ทำลายกิเลสต่างๆ
ในอานิสงส์ทั้งหลายนั้น การทำลายกิเลสต่างๆ ใด โดยความเป็นสักกายทิฏฐิเป็นต้น ที่เรากล่าวมาแล้วตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ (ญาณกำหนดรู้นามและรูป) ข้อนี้พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนาฝ่ายโลกิยะ การทำลายกิเลสต่างๆ ใดโดยความเป็นสังโยชน์เป็นต้น ในขณะ (บรรลุ) พระอริยมรรค ที่เรา กล่าวมาแล้ว ข้อนี้พึงทราบว่า เป็นอานิสงส์ของปัญญาภาวนา ฝ่ายโลกุตตระ
ความจริง วิปัสสนาปัญญาที่โยคีทำให้เกิดขึ้นแล้วย่อมทำลายข่ายกิเลส ที่ติดตามมาตลอดกาลนาน สร้างสรรค์แต่สิ่งไม่เป็นประโยชน์ทุกอย่างให้พินาศไป เหมือนสายฟ้าที่ฟาดลงมาด้วยความเร็วน่าหวาดกลัว ทำลายภูเขาศิลาทั้งหลายให้พังพินาศ เหมือนไฟไหม้ป่าที่ลุกไหม้ขึ้นด้วยแรงพายุ ทำลายป่าให้มอดไหม้ไป เหมือนดวงอาทิตย์ซึ่งมีมณฑลรัศมีรุ่งโรจน์ด้วยความร้อนของตน กำจัดความมืดให้สลายไป เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบอานิสงส์ ในปัญญาภาวนานี้ ซึ่งเป็นอานิสงส์ที่เห็นประจักษ์ด้วยตนเองนี้
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แต่เมื่อกล่าวถึงวิปัสสนาญาณโดยเฉพาะ อันหมายถึงญาณที่นับเข้าในวิปัสสนา หรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนา จะมีเพียง ๙ ขั้น คือ ตั้งแต่ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ถึง สัจจานุโลมิกญาณ (ตามปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ (ขั้นหนึ่งในวิสุทธิ ๗) ที่บรรยายคัมภีร์ในวิสุทธิมรรค แต่ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ นับรวม สัมมสนญาณ ด้วยเป็น ๑๐ ขั้น) เมื่อโพชฌงค์เจริญบริบูรณ์ครบ ๗ ข้อ จิตจึงมีกำลังสามารถเห็นวิปัสสนาญาณได้ และใช้วิปัสสนาที่ปรากฏขึ้นมาเป็นเครื่องมือนำไปสู่มรรค ผล นิพพาน
- วิปัสสนาญาณคืออุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ภังคานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นอนิจจัง
- วิปัสสนาญาณคือภยตูปัฏฐานญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ นิพพิทานุปัสสนาญาณ นั้นเห็นทุกขัง
- วิปัสสนาญาณคือมุจจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ สังขารุเบกขาญาณ นั้นเห็นอนัตตา
ญาณ ๑๖ จัดเข้าในวิสุทธิ ๗
- นามรูปปริทเฉทญาณ จัดเข้าใน ทิฏฐิวิสุทธิ
- นามรูปปัจจยปริคคหญาณ จัดเข้าใน กังขาวิตรณวิสุทธิ
- สัมมสนญาณและอุทธยัพพยญาณอย่างอ่อน จัดเข้าใน มัคคามัคคญาณทัสสนะวิสุทธิ
- วิปัสสนาญาณทั้ง ๙ จัดเข้าใน ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ
- โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ จัดเป็น ญาณทัสสนวิสุทธิ
ลักษณะ ๓ อย่างในญาณ ๑๖