วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ ๗

ปริยัติธรรม

คู่มือปฏิบัติสมถวิปัสสนากัมมัฏฐาน ๕ สาย

เปรียบเทียบวิปัสสนาญาณ ๑๖ ใน วิสุทธิ ๗

วิสุทธิ หมายถึง พระนิพพานอันปราศจากมลทินทั้งปวง ที่บริสุทธิ์ที่สุด ส่วนหนทาง แห่งวิสุทธิ (พระนิพพาน) มีชื่อว่า วิสุทธิมรรค ซึ่งเป็นคัมภีร์หรืออุบายที่เป็นเครื่องบรรลุถึง ซึ่งวิสุทธิ ด้วยวิธีปฏิบัติและหนทางเดียวสู่ความบริสุทธิ์อันได้แก่ วิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือ หลักปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ไม่เพียงแต่สําหรับนักปฏิบัติทั่วไปเท่านั้น การบรรลุ วิปัสสนาญาณ ๑๖ ในวิสุทธิ ๗ ยังเป็นข้อปฏิบัติที่พระปัจเจกสัมพุทธเจ้า ผู้สร้างอภินิหาร บารมีมาตลอดเวลา ๒ อสงไขย กับ ๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็ต้องปฏิบัติเพื่อบรรลุพระนิพพาน เหมือน กันทุกพระองค์ในทุกยุคสมัย นอกจากนั้น วิสุทธิ ๗ ยังเปรียบเหมือนรถ ๗ ผลัดที่พระสารีบุตรสอนไว้ในรถวินีตสูตร ซึ่งเป็นวิสุทธิมรรคหรือทางบริสุทธิ์ที่นําไปสู่ความหมดจดจาก กิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง วิสุทธิมรรคที่กล่าวมานี้ ประกอบด้วย ๗ ระยะ หรือบันได ๗ ขั้นที่เป็นทางเดินสู่ความบริสุทธิ์ อันได้แก่

๑. สีลวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งศีล อันบุคคลที่สมบูรณ์ด้วยจาตุปาริสุทธิสีลนั้น ชื่อว่า ถึงพร้อม ด้วยศีล และเป็นสีลวิสุทธิ์ ส่วนจาตุปาริสุทธิศีล ๔ ประเภท ในสีลวิสุทธิ ได้แก่

ก) ปาฏิโมกขสังวรศีล คือ การระวังรักษากาย วาจา ตามปาฏิโมกข์ โดยการสมาทาน แล้วตั้งอยู่ในวิรัติ เจตนางดเว้นโดยไม่ล่วงสีล ๕ ศีล ๘ สําหรับฆราวาส ถ้าเป็นบรรพชิตก็ให้ ตั้งอยู่ในศีล ๑๐ หรือ สีล ๒๒๗ ตามควรแก่ฐานะ

ข) อินทรีย์สังวรศีล คือ การสํารวมระวังอินทรีย์ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เว้นกั้นไม่ให้บาปอกุสลเกิดขึ้นได้

ค) อาชีวปาริสุทธิศีล คือ การรักษากาย วาจา เว้นจากการทําการพูดเนื่องด้วย มิจฉาชีพ เลี้ยงชีวิตมีความเป็นอยู่ด้วยความบริสุทธิ์ ขณะพูดให้มีสติรู้ทันทุกคําพูด ขณะทํา การงานมีเดิน ยืน นั่ง นอน คู่ เหยียด เคลื่อนไหวกาย ให้มีสติรู้ทันทุกอิริยาบถน้อยใหญ่ ขณะรับ ประทานอาหาร และขณะสวมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ก็ให้มีสติรู้ทันทุกขณะ

ง) ปัจจยนิสสิตสีล คือ การเว้นจากการอาศัยปัจจัยที่ผิด คือไม่ได้พิจารณาก่อนบริโภค ปัจจัย ๔ ที่ตนอาศัย มีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นการเว้นจาก การบริโภคด้วยตัณหาและอวิชชา เมื่อมีสีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว ชื่อว่ามีรากฐานมั่นคงที่ จะทําสมาธิเพื่อชําระใจให้บริสุทธิ์อีกต่อไป แต่ถ้าสีลยังไม่บริสุทธิ์ มีขาด ด่างพร้อย ทะลุอยู่ ก็ยากที่จะทําให้บังเกิดมีสมาธิขึ้นมาได้ สมาธิที่เจริญไว้ด้วยสีลย่อมมีกําลังมากและมีผลานิสงส์ มาก ปัญญาที่ได้เจริญไว้ด้วยสมาธินั้นย่อมมีกําลังมากและมีอานิสงส์มาก จิตใจที่ได้เจริญ ไว้ด้วยปัญญานั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้ง ๔ ได้โดยตนเอง

๒. จิตตวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งจิต คือจิตที่บริสุทธิ์จากนิวรณ์ทั้งหลาย ขณะใดที่จิตเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ หรืออัปปนาสมาธิ ขณะนั้นเป็นจิตที่ปราศจากนิวรณ์ จึงได้ชื่อว่าเป็น จิตตวิสุทธิ จิตตวิสุทธิ ในทางสมถกัมมัฏฐาน หมายถึง อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่แน่วแน่จวนจะหรือใกล้จะได้ฌานเข้าไปแล้ว ตลอดจนถึงอัปปนาสมาธิ คือสมาธิที่แนบแน่นอย่างแน่วแน่ จนได้ฌานนั้นด้วย ส่วนในทางวิปัสสนากัมมัฏฐาน สามารถใช้แค่ขณิกสมาธิ เพื่อเป็นฐาน ของการเจริญวิปัสสนาในการมีสติรู้ทันปัจจุบันแห่งรูปนาม โดยไม่เผลอไปจากปัจจุบันธรรม ผลก็คือความโลภ โกรธ และหลง ก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่รู้ทันปัจจุบันอยู่ทุกขณะอย่าง มั่นคงด้วยจิตที่บริสุทธิ์จากกิเลส

๓. ทิฏฐิวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งทิฏฐิ ปัญญาที่รู้แจ้งรูปนามตามความเป็นจริง ได้ชื่อว่า ทิฏฐิวิสุทธิ กล่าวโดยโสฬสญาณ คือการเห็นแจ้งญาณที่ ๑ คือ นามรูปปริจเฉทญาณ องค์ธรรมของ ทิฏฐิวิสุทธิ ได้แก่ ปัญญา ที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา เพราะเป็นปัญญาที่เกิดจากวิปัสสนา กัมมัฏฐาน ซึ่งสามารถละสักกายทิฏฐิ ความเห็นผิดว่าเป็นตัวเป็นตนเสียได้

๔. กังขาวิตรณวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งการข้ามพ้นจากความสงสัย เพราะเกิดปัญญาที่รู้แจ้งปัจจัยที่ให้เกิด รูปนาม คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร แต่ในวิสุทธิมรรคได้อธิบายไว้ว่า รูปที่เกิดขึ้นนั้นมีธรรม เป็นเหตุเป็นปัจจัย ๕ อย่าง ได้แก่ ธรรม ๔ อย่าง คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม (เพราะ เป็นผู้ให้เกิดขึ้น) และ อาหาร (เพราะเป็นผู้อุปถัมภ์) ส่วนปัจจัยที่ให้นามเกิด คือ อารมณ์ วัตถุ มนสิการ พระโยคีผู้ที่ถึงแล้วซึ่งกังขาวิตรณวิสุทธิ์ คือ ปัจจยปริคคหญาณ ย่อมพ้นจาก ความสงสัย ๘ ประการ ดังนี้

ก) ความสงสัยในพระพุทธเจ้า คือ สงสัยในพระพุทธคุณ ๔ ประการมีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่พุทธานุสสติ

ข) ความสงสัยในพระธรรมเจ้า คือสงสัยในพระธรรมคุณ 5 ประการ มีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่ ธัมมานุสสติ

ค) ความสงสัยในพระสงฆ์เจ้า คือ สงสัยในพระสังฆคุณ ๔ ประการ มีรายละเอียดแจ้งอยู่แล้วที่สังฆานุสสติ

ง) ความสงสัยในการศึกษา ในข้อปฏิบัติแห่งพระพุทธศาสนา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา

จ) ความสงสัยในอดีตกาลแต่ชาติปางก่อน

ฉ) ความสงสัยในอนาคตกาล ที่จะมีมาในชาติหน้า

ช) ความสงสัยในปัจจุบันกาลในชาตินี้

ซ) ความสงสัยในปฏิจจสมุปปาท คือ ธรรมที่เป็นเหตุให้เกิดผลต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดสาย ซึ่งทําให้ต้องวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏ

สรุปความแล้ว แม้จะมีความสงสัยอเนกประการก็ตาม แต่เมื่อถึงกังขาวิตรณวิสุทธิ แล้ว แจ้งในปัจจยปริคคหญาณแล้ว ก็พ้นจากการสงสัย ๒ ประการ คือ สงสัยในพระพุทธ ศาสนา และสงสัยในปัจจัยแห่งรูปนาม ปัจจยปริคคหญาณสามารถละอเหตุกทิฏฐิ (ความ เห็นผิดว่าไม่มีเหตุ) ละวิสมเหตุกทิฏฐิ (เห็นผิดโดยยึดถือเหตุที่ไม่เหมาะไม่สมควร) และละ กังขามลทิฏฐิ (มลทิน หรือ ความหม่นหมองอันเกิดจากความสงสัยเหล่านี้เสียได้) ผู้ที่ข้าม พ้นความสงสัยคือได้ปฏิบัติจนได้แจ้งกังขาวิตรณวิสุทธิ์ ผู้นั้นจะได้ความเบาใจ ได้ที่พึ่งที่อาศัย ในพระพุทธศาสนา มีคติอันเที่ยง ชื่อว่า “จูฬโสดาบัน”

๕. มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งญาณที่รู้ว่าทางหรือมิใช่ทาง กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็เห็นแจ้งญาณ ที่ ๓ ที่ชื่อว่า สัมมสนญาณแล้ว และถึงญาณที่ ๔ ที่ชื่อว่า อุทยัพพยญาณเพียงตรุณะคือเพียง อย่างอ่อนเท่านั้น ยังไม่ถึงอุทยัพพยญาณที่เรียกว่า พลวะ คืออย่างกล้า ซึ่งตรงนี้แหละที่ จะเกิดวิปัสสนูปกิเลสที่เป็นเครื่องเศร้าหมองและอุปสรรคของวิปัสสนา มีถึง ๑๐ ประการ ได้แก่

ก) โอภาส มีแสงสว่างรุ่งโรจน์แรงกล้า สว่างกว่าแต่กาลก่อน

ข) ปีติ อิ่มใจเป็นอย่างยิ่งกว่าที่ได้เคยพบเห็นมา

ค) ปัสสัทธิ จิตสงบเยือกเย็นมาก

ง) อธิโมกข์ น้อมใจเชื่อ อย่างเลื่อมใสเด็ดขาด ปัญญาก็เกิดได้ยาก

จ) ปัคคหะ พากเพียรอย่างแรงกล้า

ฉ) สุข มีความสุขสบายเหลือเกิน ชวนให้ติดสุขเสีย

ช) ญาณ มีปัญญามากไป จะทําให้เสียปัจจุบัน

ซ) อุปัฏฐาน ตั้งมั่นในอารมณ์รูปนามจนเกินไป จึงเกิดนิมิตต่างๆ

ฌ) อุเบกขา วางเฉยมาก เป็นเหตุให้หย่อนความเพียร

ญ) นิกันติ ชอบใจติดใจในกิเลส ๙ อย่างข้างบนนั้นๆ

เมื่อนั้นจึงนับว่าองค์ประกอบทั้ง ๔ นี้เป็นวิปัสสนูปกิเลส ทําให้วิปัสสนาเศร้าหมอง ยินดี พอใจอยู่เพียงแค่นี้ โดยเข้าใจเสียว่าตนเองสําเร็จมรรคผลแล้ว เป็นปัจจัยให้เกิดกิเลส เป็นที่อาศัยแห่งคาหธรรม คือ ตัณหา มานะ ทิฏฐิ และเป็นช่องให้อกุสลธรรมเหล่าอื่นเกิด ขึ้นอีกมากมาย ผู้มีปัญญาย่อมพิจารณาองค์ประกอบของวิปัสสนูปกิเลสทั้ง ๙ และองค์ วิปัสสนูปกิเลสแท้ๆ อีก ๑ คือนิกันติ ว่าสักแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้แล้ว วิปัสสนาก็ไม่เศร้าหมอง ไม่กีดขวาง แต่จะเจริญขึ้นตามลําดับต่อไป

๖. ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งญาณที่รู้เห็นว่า นี่แหละเป็นทางที่ชอบแล้ว กล่าวโดยโสฬสญาณ ก็ได้แก่ พลวอุทยัพพยญาณ (อย่างกล้า) ภังคญาณ ภยญาณ อาทีนวญาณ นิพพิทาญาณ มุญจิตกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ อนุโลมญาณ และนับโคตรภูญาณรวม ด้วยโดยปริยายโดยอ้อม

๗. ญาณทัสสนวิสุทธิ

ความบริสุทธิ์แห่งญาณที่รู้เห็นพระนิพพานคือ มรรคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณ รวมด้วยโดยอนุโลมญาณทัสสนวิสุทธิ ได้แก่ มรรคญาณโดยตรงแต่ญาณเดียว ซึ่งมีถึง ๔ ขั้น คือ

ก) ปฐมมรรค ได้แก่ โสดาปัตติมรรคญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดโสดาปัตติผลญาณ โดย ไม่มีระหว่างคั่น สําเร็จเป็นพระโสดาบัน

ข) ทุติยมรรค ได้แก่ สกทาคามีมรรคญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดสกทาคามีผลญาณ โดย ไม่มีระหว่างคั่น สําเร็จเป็นพระสกทาคามี

ค) ตติยมรรค ได้แก่ อนาคามีมรรคญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดอนาคามีผลญาณ โดยไม่มีระหว่างคั่น สําเร็จเป็นพระอนาคามี

ง) จตุตถมรรค ได้แก่ อรหัตตมรรคญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดอรหัตตผลญาณ โดยไม่มี ระหว่างคั่น สําเร็จเป็นพระอรหันต์

ผู้ที่ผ่านปฐมมรรคเป็นพระโสดาบันแล้วเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้บรรลุมรรค เบื้องบน คือทุติยมรรค เป็นพระสกทาคามีต่อไปนั้น ให้เริ่มกําหนดพิจารณาไตรลักษณ์ ความ เกิดดับของรูปนามตามนัยแห่งอุทยัพพยญาณ ต่อจากนั้นก็กําหนดพิจารณาไปตามลําดับญาณ จนกว่าจะบรรลุถึงมรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ อันเป็นญาณสุดท้าย ผู้ที่ผ่าน ทุติยมรรคเป็นพระสกทาคามีแล้วก็ดี ผู้ที่ผ่านตติยมรรคเป็นพระอนาคามีแล้วก็ดี เจริญ วิปัสสนากัมมัฏฐานเพื่อให้บรรลุมรรคเบื้องบน ก็ให้เริ่มต้นที่อุทยัพพยญาณซึ่งเป็นญาณขั้นต้น ของวิปัสสนาญาณในชั้นโลกีย์

สีลวิสุทธิ์ และ จิตตวิสุทธิ ใน ๒ วิสุทธิแรกนั้น ไม่ใช่วิปัสสนาแท้ ตัววิปัสสนาแท้หรือ ล้วนๆ ได้แก่ วิสุทธิ์ ๕ ข้อหลังจากนั้นได้แก่ ทิฏฐิวิสุทธิ์ กังขาวิตรณวิสุทธิ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ์ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ์ และญาณทัสสนวิสุทธิ วิปัสสนาแท้ ๕ ข้อนั้นจะ เกิดขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานเท่านั้น อย่างไรก็ดี ศีล (สีลวิสุทธิ) และสมาธิ (จิตตวิสุทธิ) เป็นฐานและเป็นปัจจัยที่มีประโยชน์ในการยกจิตขึ้นสู่วิปัสสนาแท้สําหรับนัก ปฏิบัติทุกคน เพื่อให้จิตเห็นพระไตรลักษณ์จนเกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖ ตามลําดับ ซึ่งเป็น เส้นทางสู่พระนิพพาน


พิมพ์