จงรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย - ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมจะรั่วไหล ไปสู่จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ฉันนั้น

จงรักษาอินทรีย์ทั้งหลาย - ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมจะรั่วไหล ไปสู่จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ฉันนั้น

ปริยัติธรรม

หนังสือ คัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสเถระ รจนา

ก็แหละ เมื่ออินทรียสังวรศีลนี้อันภิกษุไม่ทําให้สําเร็จแล้วด้วยประการดังกล่าวมา แม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็นอันตั้งอยู่ไม่นานดํารงอยู่ไม่นานไปด้วย เหมือนข้าวกล้า ที่เขาไม่ได้จัดการล้อมรั้ว ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ไม่ทําให้อินทรียสังวรศีลสําเร็จนี้ ย่อมจะ ถูกพวกโจรคือกิเลสปล้นเอาได้ เหมือนบ้านที่เปิดประตูทิ้งไว้ย่อมจะถูกพวกโจรขโมย เอาได้ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธวจนะที่ตรัสไว้ว่า :

จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป, เสียง, กลิ่น, รสและผัสสะ ทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ถูกเปิดทิ้งไว้ไม่รักษา ย่อมจะถูกโจรคือกิเลสปล้นเอา เหมือนพวกโจรปล้นบ้าน ฉะนั้น

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงไม่ดี ฉันใด ราคะย่อมจะรั่วไหล ไปสู่จิตที่ไม่ได้อบรมแล้ว ฉันนั้น

แต่เมื่ออินทรียสังวรศีลนั้นอันภิกษุทําให้สําเร็จแล้วแม้ปาติโมกขสังวรศีลก็พลอยเป็น อันตั้งอยู่ได้นานดํารงอยู่ได้นานไปด้วย เปรียบเหมือนข้าวกล้าที่เขาจัดการล้อมรั้วดีแล้ว ฉะนั้น อนึ่ง ภิกษุผู้ทําให้อินทรียสังวรศีลสําเร็จแล้วนี้ ย่อมจะไม่ถูกพวกโจร คือกิเลส ปล้นเอาได้ เปรียบเหมือนบ้านที่ปิดประตูดีแล้ว พวกโจรทั้งหลายก็ขโมยไม่ได้ ฉะนั้น อนึ่ง ราคะย่อมจะรั่วไหลไปสู่จิตของภิกษุนั้นไม่ได้ เหมือนฝนรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น สมด้วยพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า :

จงรักษาอินทรีย์ ที่รูป, เสียง, กลิ่น, รสและผัสสะ ทั้งหลาย เพราะว่า ทวารเหล่านี้ที่ปิดแล้วระวังดีแล้ว อันพวกโจรคือกิเลส ปล้นไม่ได้ เหมือนพวกโจรปล้นบ้าน ที่ปิดประตูดีแล้วไม่ได้ ฉะนั้น

ฝนย่อมรั่วรดเรือนที่มุงดีแล้วไม่ได้ ฉันใด ราคะย่อม รั่วไหลเข้าไปสู่จิตที่อบรมดีแล้วไม่ได้ ฉันนั้น

ก็แหละ พระธรรมเทศนานี้ นับเป็นพระธรรมเทศนาชั้นอุกฤษฏ์อย่างยิ่ง

ขึ้นชื่อว่าจิตนี้นั้นเป็นธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้น อันโยคีบุคคลพึงบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วด้วยมนสิการถึงอสุภกัมมัฏฐาน แล้วจึง ทําให้อินทรียสังวรศีลสําเร็จ เหมือนอย่างพระวังคีสเถระผู้บวชไม่นานเถิด

เรื่องพระวังคีสเถระ

ได้ยินว่า เมื่อพระวังคีสเถระผู้บวชแล้วไม่นาน กําลังเดินบิณฑบาตไปนั้น ความกําหนัดเกิดขึ้นแก่ท่านเพราะได้เห็นสตรีคนหนึ่ง เพราะเหตุนั้น ท่านจึงเรียน พระอานนทเถระว่า

กระผมถูกไฟคือกามราคะเผาเข้าแล้ว จิตของกระผม ถูกเผาจนเกรียม สาธุ ท่านผู้โคตมโคตร ขอท่านได้กรุณาโปรดบอกอุบายเครื่องดับไฟให้ด้วย

พระอานนทเถระได้กล่าวแนะนําว่า

จิตของเธอถูกเผาเกรียมเพราะสัญญาวิปลาสเธอจงเว้น สุภนิมิตอันประกอบด้วยความกําหนัดเสีย จงอบรมจิต ด้วยอสุภกัมมัฏฐาน ทําให้ตั้งมั่นด้วยดี มีอารมณ์เป็นหนึ่ง

เธอจงพิจารณาเห็นสังขารทั้งหลายโดยเป็นอื่น โดยเป็นทุกข์ และโดยมิใช่ตน จงทําความกําหนัดอันยิ่งใหญ่ ให้ดับไปเสีย จงอย่าได้มีความเร่าร้อนต่อไปเลย

พระวังคีสเถระบรรเทาความกําหนัดได้แล้ว ก็เที่ยวบิณฑบาตต่อไป

อธิบายเพิ่มเติม : อินทรียสังวร สำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ, ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจ ในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖


พิมพ์