ปริยัติธรรม
หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ
ทาน แปลว่า การให้ การสละ การเผื่อแผ่แบ่งปัน ได้แก่
- อามิสทาน การให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ
- ธรรมทาน การให้ธรรมะ
อามิสทาน
วัตถุที่ควรให้ ควรสละ ได้แก่ปัจจัย ๔ คือ จีวรรวมทั้งเครื่องนุ่งห่ม บิณฑบาตรวมทั้งอาหารเครื่องบริโภค เสนาสนะที่อยู่อาศัย และ คิลานเภสัชคือยารักษาโรค และวัตถุทานอีก ๑๐ อย่าง ได้แก่ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พักอาศัย และ เครื่องประทีป ให้ด้วยการบูชาคุณความดีคือถวายแก่สงฆ์ หรือให้ด้วยความเมตตา อนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ด้วยเจตนาที่ดีทั้ง ๓ กาล คือ
- บุพเจตนา ก่อนให้ ย่อมมีใจยินดีที่จะให้
- มุญจนเจตนา ขณะที่กําลังให้ ย่อมมีจิตผ่องใส
- อปราปรเจตนา ให้แล้วก็ยังมีความชื่นชมยินดีในการให้นั้น
วัตถุทานที่ให้ด้วยเจตนาที่ดีทั้ง ๓ กาลเช่นนี้ พระพุทธองค์ ตรัสว่าเป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พระองค์ทรงแสดงอานิสงส์ ของการให้ด้วยวัตถุสิ่งของเหล่านี้ไว้ว่า
- การให้ข้าว น้ำ เชื่อว่า ให้กําลังวังชา
- การให้เครื่องนุ่งห่ม เชื่อว่า ให้ผิวพรรณวรรณะ
- การให้ยานพาหนะ เชื่อว่า ให้ความสุข
- การให้ประทีปโคมไฟ เชื่อว่า ให้ดวงตา
- การให้ที่อยู่อาศัย เชื่อว่า ให้ทุกอย่างคือให้ทั้งกําลัง ผิวพรรณ ความสุข และดวงตา
** การให้ข้าวน้ำ การใส่บาตรแก่พระภิกษุสงฆ์ การเชื้อเชิญ แขกญาติมิตรให้มาบริโภคอาหาร หรือแม้การให้ทานแก่ผู้ยากไร้ ชื่อว่า ให้ข้าวน้ำ ธรรมบทแปล ภาค ๗ หน้า ๑-๘ กล่าวถึงการให้ที่เป็นเสบียงไปในภพหน้าว่า บุตรของช่างทองคนหนึ่งในกรุงสาวัตถี เป็นผู้มีศรัทธา เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ามาก แต่บิดาของเขาไม่เคยทํากุศลใดเลย พวกบุตรจึงปรึกษากันว่า บิดาของพวกเราชราภาพมากแล้ว ควรจักได้ ถวายทานเพื่อประโยชน์แก่บิดา
วันรุ่งขึ้น พวกเขานิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ให้นั่งภายในเรือน อังคาสด้วยความเคารพ ในเวลาเสร็จภัตกิจ กราบทูล พระบรมศาสดาว่า พระเจ้าข้าพวกข้าพระองค์ขอถวายภัตรนี้ ให้เป็น ชีวภัตร (ภัตรเพื่อบุคคลผู้เป็นอยู่) เพื่อบิดา ขอพระองค์ทรงทําอนุโมทนาแก่ บิดาของพวกข้าพระองค์ด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกบิดาของพวกเขามาแล้ว ตรัสว่า อุบาสกท่านเป็นคนแก่ มีสรีระหง่อมเช่นกับใบไม้เหลือง เสบียงนำทางคือกุศล เพื่อจะนำไปยังปรโลกของท่านยังไม่มี ท่านจงทำที่พึ่งให้แก่ตนจงเป็นบัณฑิต อย่าเป็นพาล แล้วตรัสอีกว่า
บัดนี้ ท่านเป็นดุจใบไม้เหลือง ความตายปรากฏแก่ท่านแล้ว ท่านตั้งอยู่ใกล้ปากทางแห่งความเสื่อม แม้เสบียงนำทางของท่านก็ยังไม่มี ท่านจงทําที่พึ่งแก่ตน จงรีบพยายามเป็นบัณฑิต ท่านกำจัดมลทินได้แล้ว จักถึงอริยภูมิอันเป็นทิพย์
อธิบายว่า เมื่อมีความเพียรกําจัดมลทินคือราคะ โทสะ โมหะ ออกได้ จักถึงภูมิอันเป็นที่อยู่แห่งพระอริยบุคคล ในกาลจบเทศนา อุบาสกผู้บิดา และหมู่ชนที่ประชุมกันอยู่ ณ ที่นั้นได้บรรลุโสดาปัตติผล
วันรุ่งขึ้น บุตรทั้งหลายถวายข้าวน้ำให้เป็น ชีวภัตร แก่บิดาอีก หลังภัตกิจได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชีวภัตรนี้ข้าพระองค์ถวาย เพื่อบิดาอีก ขอพระองค์ทรงอนุโมทนา
พระบรมศาสดาตรัสแก่บิดาว่า บัดนี้ท่านเป็นผู้มีวัยอันชรานำ ไปแล้วสู่สำนักพญายม ท่านจงรีบพยายามทําที่พึ่งให้แก่ตน ท่านจักไม่ถึงชาติชราอีก จบเทศนานี้อุบาสกผู้บิดาได้บรรลุถึงอนาคามิผล
เรื่องนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ในครั้งพุทธกาล การได้ถวายข้าว น้ำแก่ภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เป็นทางนำให้พ้นจาก อบายได้ แม้อุบาสกนั้นจะไม่เคยได้กระทํากุศลอันจะเป็นเสบียง มีข้าว น้ำ เป็นต้นมาก่อนเลย ท่านกล่าวว่า ผู้ใดสามารถทํากุศลในเวลาที่ตนยังไม่ถึงปากทางแห่งความตาย ผู้นั้นชื่อว่าบัณฑิต จงรีบขวนขวาย รีบทําความเพียรเพื่อทําที่พึ่ง กล่าวคือกุศลให้แก่ตน เพราะคนที่จะเดินทาง ไปสู่ปรโลกไม่อาจที่จะต่อรองกับพญายมได้ว่าขอท่านจงรอ ๒-๓ วัน เพื่อข้าพเจ้าจะให้ทานก่อน หรือจะฟังธรรมก่อน เพราะเหตุว่าบุคคลเมื่อ เคลื่อนจากโลกนี้แล้ว ย่อมเกิดในปรโลกทันที
** อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ทุติยชนสูตร หน้า ๒๑๖-๒๑ กล่าวถึงที่พึ่งในภพหน้าว่า พราหมณ์ ๒ คน ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระเจ้าเป็นพราหมณ์ แก่เฒ่า ล่วงปัจฉิมวัย อายุได้ ๑๒๐ ปีแล้ว ยังมิได้ทําความดี ยังมิได้สร้างกุศล ยังไม่ทำที่ป้องกันภัย ขอพระโคดมผู้เจริญทรงโอวาท ทรงพร่ำสอน อันจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระเจ้าด้วยเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ เมื่อโลกนี้อันชราพยาธิ มรณะไหม้อยู่อย่างนี้ ความสำรวมทางกาย ทางวาจา ทางใจ จะเป็นที่ต้านทาน เป็นที่เร้นภัย เป็นที่อาศัย เป็นที่ไปในเบื้องหน้า ของบุคคลผู้ละจากโลกนี้ไปแล้ว พราหมณ์ เมื่อเรือนถูกไฟไหม้ เจ้าของขนของสิ่งใดออกได้ ของสิ่งนั้นก็เป็นประโยชน์แก่เจ้าของ ส่วนของที่ไม่ได้ขนออก ก็ถูกไฟไหม้อยู่ในนั้น ฉันเดียวกัน ครั้นเมื่อโลกอันชรามรณะไหม้อยู่อย่างนี้แล้ว ชาวโลกพึงขนออกด้วยการให้ทานเถิด สิ่งที่ให้เป็นทานไปแล้ว จัดว่าได้ ขนออกอย่างดีแล้ว บุคคลทําบุญใดไว้ บุญนั้นย่อมเป็นไปเพื่อความสุข แก่บุคคลนั้นผู้ละโลกไปแล้ว
** การให้เครื่องนุ่งห่มเป็นทาน ธรรมบทแปล ปาปวรรค วรรณนา หน้า ๑-๖ พราหมณ์ชื่อจูเฬกะ และนางพราหมณีอาศัยอยู่ในเมืองสาวัตถี สองสามีภรรยามีผ้านุ่งคนละผืน แต่มีผ้าห่มผืนเดียว เมื่อจะไปฟังธรรมจึงไม่อาจไปพร้อมกันได้ วันหนึ่งจูเฬกพราหมณ์ไปฟังธรรมในตอนกลางคืน ในเวลาปัจฉิมยาม เกิดปีติใคร่บูชาผ้าที่ตน แก่พระพุทธองค์ แต่คิดว่าถ้าเราถวายผ้านี้ ผ้าห่มของเราและของนางพราหมณีก็จักไม่มี จึงยับยั้งอยู่ เวลาล่วงไปถึงมัชฌิมยาม พราหมณ์ ก็ยังต่อสู้กับความตระหนี่จนถึงปัจฉิมยาม จูเฬกพราหมณ์จึงตัดสินใจ ถือผ้าผืนนั้นไปวางลงแทบบาทมูลของพระบรมศาสดา พลางเปล่งเสียงขึ้น ๓ ครั้งว่า ข้าพเจ้าชนะแล้ว ชนะแล้ว ชนะแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลกําลังสดับพระธรรมเทศนา ตรัสถามว่า พราหมณ์นั้นชนะอะไร ครั้นทราบความแล้ว ดําริว่า พราหมณ์นี้ทําในสิ่ง ที่ทําได้ยาก จึงรับสั่งให้พระราชทานสาฎกคู่หนึ่งแก่พราหมณ์
พราหมณ์ได้ถวายสาฎกคู่นั้นแก่พระบรมศาสดา พระราชาจึง รับสั่งให้พระราชทานมากขึ้นเป็น ๒ คู่ ๔ คู่ ๘ คู่ ๑๖ คู่ พราหมณ์ก็ ถวายทั้งหมด จนเมื่อพระราชารับสั่งให้ประทาน ๓๒ คู่ จูเฬกพราหมณ์ จึงถือเอาสาฎกนั้นไว้เพื่อตนและนางพราหมณีคนละคู่ อีก ๓๐ คู่นั้น ถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าทั้งหมด
ในที่สุด พระราชารับสั่งให้นำผ้ากัมพล ๒ ผืนมีค่าแสนหนึ่งประทานให้ พราหมณ์คิดว่า ผ้าเหล่านี้ไม่สมควรแตะต้องที่สรีระของเรา ควรแก่พระบรมศาสดาเท่านั้น จึงขึงผ้ากัมพลผืนหนึ่งให้เป็นเพดานไว้ เบื้องบนที่บรรทมของพระบรมศาสดาในพระคันธกุฎี อีกผืนหนึ่งซึ่งทําให้เป็นเพดานในที่ทําภัตกิจของภิกษุ ผู้มาฉันเป็นนิตย์ในเรือนตน
ในเวลาเย็น พระราชาเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงจําผ้ากัมพลผืนนั้นได้ ทูลถามว่า ผ้าผืนนี้ผู้ใดทําการบูชา พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า พราหมณ์ชื่อจูเฬกะถวาย พระราชาจึงพระราชทานวัตถุร้อยอย่าง อย่างละ ๔ ได้แก่ ช้าง ๔ ม้า ๔ กหาปณะ ๔ พัน ทาสี ๔ บ้านส่วย ๔ ตําบล เป็นต้น แก่จูเฬกพราหมณ์
เหล่าภิกษุสนทนากันในโรงธรรมว่า กรรมของจูเฬกพราหมณ์ น่าอัศจรรย์ ชั่วครู่เดียวเท่านั้น ให้ผลในวันนี้ที่เดียว พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่ภิกษุว่า ถ้าพราหมณ์นี้ได้ถวายเราในเวลาปฐมยาม เขาจักได้วัตถุอย่างละ ๑๖ ถ้าได้ถวายในมัชฌิมยาม เขาจักได้วัตถุอย่างละ ๘ แต่เพราะถวายในเวลาใกล้รุ่ง เขาจึงได้วัตถุอย่างละ ๔ เพราะฉะนั้น บุคคลทั้งหลายเมื่อมีจิตเกิดขึ้นว่าจะให้ ควรทําในทันทีนั้นเอง กุศลที่บุคคลทําช้า ย่อมได้ผลน้อย ดังนี้
** การให้ยานพาหนะ คําว่ายานพาหนะ ในที่นี้หมายถึง รองเท้า ร่ม รถ เกวียน เป็นต้น คือสิ่งใดที่จะให้ความร่มเย็น สะดวก สบายในระหว่างที่เดินทาง แม้การที่ได้ถวายค่าพาหนะแก่ภิกษุ เพื่อให้ท่านเดินทางไปกระทํากิจของสงฆ์ หรือให้แก่ผู้ขัดสนเพื่อเดินทางกลับ ไปทํากิจจําเป็นอันควรแก่เหตุ ก็ชื่อว่า ให้ยานพาหนะ
** ขุททกนิกาย อปทาน เล่ม ๙ ปานธิทายก เถราปทาน หน้า ๑๑๐-๑๑๓ กล่าวถึงผลแห่งการถวายรองเท้าว่า ทายกผู้หนึ่งสวมรองเท้าที่ทําอย่างดีออกเดินทาง เขาเห็นพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าเสด็จ ดําเนินมาด้วยพระบาทเปล่าบังเกิดความเลื่อมใส ถอดรองเท้าออกวางแทบพระบาท กราบทูลว่า ข้าแต่พระสุคต ขอเชิญสวมรองเท้านี้เถิด ขอความปรารถนาของข้าพระองค์จงสําเร็จ ด้วยผลแห่งการได้ถวาย รองเท้านี้ พระอโนมทัสสีพุทธเจ้าทรงอนุโมทนา ตรัสพยากรณ์ว่าท่านนี้จักได้เป็นทายาทในธรรมของพระบรมศาสดาพระองค์นั้น เกิดในเทวโลกหรือมนุษยโลก จักเป็นผู้มีปัญญา จักได้ยานอันเปรียบด้วยยานของเทวดา แม้เมื่อได้ออกบวชก็ออกบวชด้วยรถในภพชาติอื่นจากนั้น ทายกนี้ไม่พานพบกับทุคติอีกเลย ด้วยผลแห่งการถวายรองเท้า และได้บรรลุพระอรหัตในเวลาปลงผม
** อีกเรื่องหนึ่ง ขุททกนิกาย อปทานเล่ม ๙ เถราปทาน หน้า ๔๒-๔๔ เอกฉัตติ เดินกั้นร่มขาวไปตามทาง เห็นพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ เสด็จจงกรมอยู่ที่กลางแจ้ง เขาคิดว่าแผ่นดินนี้ร้อน ดังถ่านเพลิงความร้อนแห่งเปลวแดดย่อมทําให้พระพุทธองค์ลําบาก จึงนําร่มเข้าไปถวาย กราบทูลว่า ขอพระองค์ได้โปรดรับร่มนี้ อันเป็นเครื่องป้องกันลมและเปลวแดดเถิด ข้าพระองค์หวังว่า จักได้พบกับพระนิพพานบ้าง พระพุทธองค์ทรงรับไว้ในกาลนั้น ผลแห่งการถวายร่ม เอกฉัตติได้เสวยผลในเทวโลก ๓๐ กัป ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ๕๐๐ ครั้ง ภพชาติสุดท้ายได้บรรลุพระอรหัต
** การให้ประทีป อปทาน เล่ม ๙ หน้า ๕๑๘-๕๒๑ แสดง อานิสงส์แห่งการถวายประทีปไว้ใน ปัญจที่ปิกาเถรี ว่า
หญิงคนหนึ่งในพระนครฟังสวดี ต้องการกุศลได้เที่ยวไป จากอารามหนึ่งสู่อารามหนึ่ง พบโพธิ์ต้นหนึ่ง ได้นั่งลงที่โคนโพธิ์ประนมอัญชลีเหนือเศียรเกล้าด้วยจิตเลื่อมใส ตั้งจิตอธิษฐานว่า ถ้าพระพุทธเจ้ามีพระคุณนับไม่ได้ ไม่มีบุคคลใดเปรียบเสมอแล้วไซร้ ก็ขอให้ทรงแสดงปาฏิหาริย์ ขอไม้โพธิ์ต้นนี้จงเปล่งรัศมีให้ประจักษ์ด้วยเถิด
ทันใดนั้น ต้นโพธิ์นั้นโพลงขึ้นด้วยรัศมีสีทอง รุ่งเรืองสว่างไปทั่วทิศ ด้วยจิตที่โสมนัส นางได้นั่งอยู่ที่โคนโพธิ์ ๗ วัน ๗ คืน ในวันที่ ๗ ทําการบูชาพระพุทธองค์ด้วยประทีป ณ โคนโพธิ์นั้น แสงของประทีป สว่างอยู่จนถึงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เพราะผลแห่งผลแห่งกรรมนั้น เมื่อละจากร่างมนุษย์แล้ว นางได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานชื่อว่าปัญจทีปวิมาน แวดล้อมด้วย ประทีปนับไม่ถ้วน ทั่วเทพพิภพโชติช่วงด้วยแสงประทีป ครั้นจุติจากเทวโลกแล้ว ไม่ว่ากําเนิดในภพใด ๆ จะมีประทีป ส่องแสงล้อมนางเช่นนั้น จนในภาพสุดท้ายนางถือกําเนิดในครรภ์มารดา ประทีปแสนดวงส่องสว่างในเรือน พออายุ ๗ ขวบได้อุปสมบทแล้ว ได้บรรลุพระอรหัต ไม่ว่านางจะเข้าฌานอยู่ในมณฑป โคนไม้ ปราสาท ถ้ำ หรือเรือนว่าง ประทีปจะส่องแสงสว่างอยู่เสมอ มีทิพยจักษุบริสุทธิ์ ฉลาดในสมาธิ ถึงความบริบูรณ์ในอภิญญา อยู่จบพรหมจรรย์ ทั้งปวง ไม่มีอาสวะ นี้คืออานิสงส์แห่งการถวายประทีป
** การให้เสนาสนะ ธรรมบทแปล เล่ม ๓ หน้า ๔๑ กล่าว ถึงอานิสงส์ของการถวายเสนาสนะ ในกรุงพาราณสี อุบาสกคนหนึ่งชื่อ นันทิยะ ฟังอานิสงส์ของการถวายอาวาสทานจากพระบรมศาสดาแล้ว ให้สร้างศาลาจตุรมุข ใกล้มหาวิหาร ในอิสิปตนะมฤคทายวัน ประกอบด้วยห้อง ๔ ห้อง พร้อมเตียงตั้ง และเครื่องใช้อันสมควรแก่สมณะ ในวันที่จะมอบถวาย นันทิยะ ได้ถวายโภชนาทานแด่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน หลั่งน้ำลงที่พระหัตถ์พระบรมศาสดา กล่าว มอบถวายเสนาสนะ ขณะที่น้ำตกลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธองค์ ปราสาททิพย์ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการพร้อมด้วยนางเทพอัปสร บังเกิดขึ้นในดาวดึงส์พิภพ ครั้งหนึ่งพระมหาโมคคัลลานะ เที่ยวจาริกไปในเทวโลก เห็นปราสาทนั้นกลับมากราบทูลถามพระบรมศาสดา จึงทราบว่า ปราสาทหินเกิดขึ้นเพื่อคอยรับนันทิยอุบาสก พระมหาโมคคัลลานะทูลถามอีกว่าผล แห่งทานย่อมเกิดไว้คอยรอรับ แม้นันทิยะผู้ยังมีชีวิตอยู่หรือ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า เป็นเช่นนั้น ครั้นเวลาสิ้นอายุนันทิยะ ได้บังเกิดในปราสาทนั้น
ทานของสัตบุรุษ
** อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ สัปปุริสทานสูตร หน้า ๓๑๔-๓๑๕ กล่าวว่าทานของสัตบุรุษมี ๕ ประการ คือ สัตบุรุษย่อม
- ให้ทานด้วยศรัทธา เพราะเชื่อกรรมและผลของกรรม ๑
- ให้ทานโดยเคารพ คือให้ด้วยกิริยาที่นอบน้อม ๑
- ให้ทานตามกาลอันควร ๑
- มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน โดยไม่หวังผลตอบแทน ๑
- ให้ทานโดยไม่กระทบตนกระทบผู้อื่น (หมายความว่าไม่กระทบคุณงามความดีของตนและของผู้อื่น) ไม่ยกตนข่มท่าน ๑
อรรถกถาอธิบายว่า
- สัตบุรุษที่ให้ทานด้วยศรัทธา ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก เป็นผู้มีรูปร่าง และผิวพรรณสวยงาม เมื่อทานนั้นเผล็ดผล
- สัตบุรุษที่ให้ทานโดยเคารพ ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีบุตร ภรรยา คนใช้เป็นผู้เชื่อฟังอยู่ในโอวาท เมื่อทานนั้นเผล็ดผล
- สัตบุรุษที่ให้ทานตามกาลอันควร ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก ย่อมได้รับสิ่งที่ปรารถนาตามกาล เมื่อทานนั้นเผล็ดผล
- สัตบุรุษที่มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์ มาก มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ ที่ประณีต เมื่อทานนั้นเผล็ดผล
- สัตบุรุษที่ให้ทานที่ไม่กระทบตนและผู้อื่น ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ปราศจากภัยอันตรายคือ จากไฟ จากน้ำ จากพระราชา จากโจร จากศัตรู จากทายาท เมื่อทานนั้นเผล็ดผล
ธรรมทาน
การให้ธรรมเป็นทาน ภิกษุที่แสดงพระธรรมเทศนา ชื่อว่าให้ ธรรมเป็นทาน คฤหัสถ์ที่กล่าวธรรมที่ได้ฟังมาแล้ว ได้ศึกษามาแล้วให้ผู้อื่นได้รู้ตาม เช่นเรื่องของนางขุชชุชตรา ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์ แล้วกลับมาแสดงธรรมแก่พระนางสามาวดีและบริวาร ให้ได้บรรลุธรรม เป็นพระโสดาบันก็ดี ครูอาจารย์ที่อบรมสั่งสอนศิษย์ให้อยู่ในกรอบแห่ง ศีลธรรมก็ดี บิดามารดาที่สอนบุตรหลานให้ประพฤติปฏิบัติตนให้อยู่ ในศีล ๕ ก็ดี เหล่านี้ชื่อว่า เป็นการให้ธรรมเป็นทานทั้งสิ้น
** มังคลัตถทีปนี้แปล เล่ม ๓ หน้า ๔๗-๕๘ กล่าวว่า พระธรรมกถึกในพระศาสนานี้ ชี้แจงให้ผู้ฟังเห็นกรรม และวิบากคือผลแห่งกรรม จําแนกธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล แจกแจงให้เห็นว่าธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้วิญญูชนติเตียน ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขทั้งโลกนี้โลกหน้า
การแสดงธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประกาศแล้ว อันเป็นเหตุให้สิ้นทุกข์ และนําสุขมาให้ ชื่อว่า ธรรมทาน เช่น อุปติสสะได้ฟังธรรม ของพระอัสสชิเถระแล้ว ได้บรรลุโสดาปัตติมรรค กลับมากล่าวธรรมนั้นแก่โกลิตะ ตามกติกาที่ให้แก่กันไว้ว่า หากผู้ใดบรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจักมาบอกข่าวให้กันทราบโกลิตะได้บรรลุโสดาปัตติมรรคเมื่อฟัง ธรรมนั้น ในกรณีนี้ธรรมที่พระอัสสชิเถระกล่าวแก่อุปติสสะ และธรรมที่อุปติสสะกล่าวแก่โกลิตะ ชื่อว่า ธรรมทาน
เวลาต่อมา อุปติสสะและโกลิตะพากันไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขอบรรพชาอุปสมบท เมื่ออุปสมบทแล้วพระพุทธองค์ทรงประทานนามตามนามของมารดาทั้งสองท่านว่า สารีบุตร และโมคคัลลานะ พระโมคคัลลานะได้บรรลุพระอรหัตภายในเวลา ๗ วัน พระสารีบุตรบรรลุพระอรหัตในเวลาล่วงไป ๑๕ วัน พระบรมศาสดาทรงแต่งตั้งท่านทั้งสองไว้ในตําแหน่งคู่อัครสาวก ในพระศาสนานี้ ในบรรดาทานทั้งสอง คือ อามิสทาน และธรรมทาน พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนาแก่ท้าวสักกะว่า ธรรมทานเป็นเลิศ ตรัสคาถาว่า
ธรรมทาน ย่อมชนะทานทั้งปวง รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง ความยินดีในธรรม ย่อมชนะความยินดีทั้งปาง ความสิ้นตัณหา ย่อมชนะทุกข์ทั้งปวง
** ในมงคลสูตร พระพุทธองค์ตรัสการให้ธรรมเป็นทาน ว่าเป็นมงคล เพราะเป็นเหตุแห่งคุณทั้งหลาย คือ นอกจากการแจกแจงให้ผู้ฟังได้รับรู้สัจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงประกาศ และพระวินัยที่ทรงบัญญัติ แนะนําในเรื่องที่ควรแนะนํา เพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นแล้ว ขณะที่ภิกษุกําลังแสดงธรรมตามที่ได้เรียนมา แม้ภิกษุผู้แสดงก็ย่อมได้ความซาบซึ้งในอรรถและในธรรมตามที่แสดงนั้นด้วย เป็นการได้ทั้งประโยชน์ ตนประโยชน์ท่าน จึงตรัสว่าการให้ธรรมทานเป็นมงคล
องค์คุณแห่งพระธรรมกถึก
**อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓ หน้า ๓๓๓-๓๓๔ กล่าวถึงองค์คุณของพระธรรมกถึก ๕ ประการ ได้แก่ ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งใจว่า
- เราจักแสดงธรรมไปโดยลําดับ ๑
- เราจักแสดงอ้างเหตุผล ๑
- เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู ๑
- เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม ๑
- เราจักไม่แสดงธรรมให้กระทบตนและผู้อื่น ๑
ภิกษุพึงแสดงธรรมโดยลําดับเช่น แสดงศีลในลําดับต่อจาก ทาน แสดงสวรรค์ในลําดับต่อจากศีล เป็นต้น แสดงเหตุแห่งเนื้อความ ในธรรมที่กําลังแสดง อาศัยความเอ็นดูว่าเราจักเปลื้องสัตว์ทั้งหลายให้ พ้นจากความยากลําบาก แสดงธรรมโดยไม่หวังลาภคือปัจจัย ๔ เพื่อตน แสดงธรรมโดยไม่ยกตนข่มผู้อื่น ภิกษุพึงตั้งธรรม ๕ ประการนี้ไว้ ภายในใจ แล้วจึงแสดงธรรม
อานิสงส์แห่งการฟังธรรม
**อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต ธัมมัสสวนสูตร หน้า ๔๔๘ กล่าวถึงอานิสงส์แห่งการฟังธรรมไว้ ๕ ประการ คือ
- ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑
- ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑
- ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑
- ย่อมทําความเห็นให้ตรง ๑
- จิตของผู้ฟังย่อมบังเกิดความเลื่อมใส ๑
เจตนาทาน
**อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต เล่ม ๔ ปุญญาภิสันทสตร หน้า ๔๙๒-๔๕๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้ เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต เจตนางดเว้นจากอทินนาทาน เจตนางดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร เจตนางดเว้นจากมุสาวาท เจตนางดเว้นจากสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
เจตนาที่งดเว้นจากธรรม ๕ ประการนี้ ได้ชื่อว่าเป็น มหาทาน เป็นทานอันเลิศ เป็นห้วงบุญห้วงกุศล เป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุขเป็นไปเพื่อสวรรค์
ปัตติทาน
การแบ่งส่วนกุศลที่ตนได้กระทําแล้ว ให้แก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้มี ส่วนแห่งบุญนั้นด้วย ก็นับว่าเป็นทาน ชื่อว่า ปัตติทาน การแบ่งส่วนบุญทําได้หลายประการเช่น
- แบ่งส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
- อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่เทวดา ชื่อว่า เทวตาพลี
การแบ่งส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่
**ธรรมบทแปล เล่ม ๘ ภิกขวรรค หน้า ๑๒๗ เรื่องสุมนเศรษฐี กล่าวว่า นายอันนภาระ เป็นคนขนหญ้าของสุมนเศรษฐี อาศัยอยู่ในกรุงสาวัตถี ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าพระนามว่า อุปริฏฐะ ตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอานิสงส์ของทานนี้ ขอความเป็นผู้ขัดสนอย่าได้มีแก่ข้าพเจ้า คําว่า ไม่มี ขออย่าได้มีในภพน้อยภพใหญ่ที่ข้าพเจ้า บังเกิดเลย พระปัจเจกพุทธเจ้ากระทําอนุโมทนาว่า ขอความปรารถนาของท่านจงสําเร็จเถิด
เทวดาที่สถิตอยู่ที่ฉัตรในบ้านสุมนเศรษฐี กล่าวว่า น่าชื่นใจ ทานของอันนภาระตั้งไว้ดีแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้า ได้ให้สาธุการ ๓ ครั้ง สุมนเศรษฐีได้ยินดังนั้น จึงถามเทวดาว่า เราถวายทานมาเป็น เวลานานเท่านี้ เหตุไรท่านยังมิเคยให้สาธุการแก่เราเลย เทวดาตอบว่า เพราะความเลื่อมใสในบิณฑบาตที่อันนภาระถวายแล้ว
สุมนเศรษฐีเมื่อรู้เหตุนั้น จึงขอซื้อบุญนั้นกับอันนภาระด้วยทรัพย์ถึงพันกหาปณะ อันนภาระไม่ยอมขาย แต่ได้แบ่งบุญนั้นให้สุมนเศรษฐีอนุโมทนา เนื่องจากได้ฟังคําของพระปัจเจกพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่า ข้าวยาคูกระบวยหนึ่ง หรือภิกษาทัพพีหนึ่งก็ตามที่ถวายแล้ว ควรที่จะแบ่งส่วนบุญในทานนั้น ให้ผู้อื่นได้อนุโมทนาด้วย ยิ่งให้คนมากเท่าใด บุญเท่านั้นย่อมเจริญขึ้น เหมือนเมื่อแบ่งบุญนี้ให้เศรษฐี ก็เท่ากับว่าบุญเพิ่มเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของท่าน อีกส่วนหนึ่งเป็นของเศรษฐี เปรียบเหมือนประทีปที่จุดไว้ในเรือนหลังเดียว เมื่อมีผู้นําประทีปอื่นมา ขอต่อไฟนั้นอีกร้อยดวงพันดวงก็ตาม ประทีปดวงแรกในเรือนนั้นก็ยัง มีแสงสว่างอยู่ และประทีปอีกร้อยดวงพันดวงที่ต่อออกไป ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มแสงให้สว่างขึ้นอีกเป็นทวีคูณ ดุจบุญที่แม้จะแบ่งให้ใคร ๆ แล้ว บุญนั้นก็ยังมีอยู่มิได้หมดสิ้นไป ฉะนั้น
การอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
** อังคุตตรนิกาย ทสกนิบาต เล่ม ๕ ชาณุสโสณีสูตร หน้า ๔๓๕-๔๔๐ ชานุสโสณีพราหมณ์ เข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับว่า ทานที่อุทิศให้แก่ญาติสาโลหิตผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว ทานนั้นจะถึงแก่ญาติทั้งหลายหรือไม่
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ในบรรดาสัตว์ทั้งหลาย มีสัตว์ นรก สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา และเปรตทั้งหลาย มีเปรตจําพวกเดียวที่อยู่ในฐานะที่ได้รับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ เพราะวิสัยของเปรตย่อมยังชีพอยู่ ด้วยทานที่หมู่ญาติ หรือหมู่มิตรสหายให้ไปจากมนุษย์ โลกนี้เท่านั้น ส่วนสัตว์เหล่าอื่นที่ไม่ได้รับเพราะเหตุว่า
- สัตว์นรก มีกรรมเป็นอาหาร มีกรรมเป็นผู้หล่อเลี้ยงอุปถัมภ์ให้สัตว์นรกนั้นมีชีวิตอยู่
- สัตว์เดรัจฉาน มีชีวิตอยู่ด้วยข้าว น้ำ หญ้า และเนื้อสัตว์ เป็นต้น
- มนุษย์ มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารมีข้าวสุก และขนม เป็นต้น
- เทวดา มีสุทธาโภชน์ คืออาหารทิพย์
ส่วน เปรต ไม่มีการทําไร่ไถนา ไม่มีการเลี้ยงโค ไม่มีการค้าขาย เปรตมีชีวิตอยู่ด้วยการให้จากผู้อื่นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้น เปรตจึงอยู่ในฐานะที่จะได้รับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศไปให้ชานุสโสณีพราหมณ์ทูลถามอีกว่า ก็ถ้าญาติสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้วไม่เข้าถึงฐานะที่จะรับได้ ใครจะเป็นผู้บริโภคทานนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทานที่ถวายแล้วนั้น แม้ว่ามุ่งหมาย สัตว์ใด จะอยู่ในฐานะที่รับได้หรือรับไม่ได้ก็ตามที ทานนั้นจักไม่ไร้ได้ผล ผู้ที่ให้ย่อมได้รับทายกผู้ให้นั้นแม้จักไปบังเกิดในกําเนิดช้าง ก็ย่อมได้ ตําแหน่งช้างมงคลหัตถี เป็นต้น
* ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะติโรกุฑฑสูตร อรรถกถา ความตอนหนึ่งกล่าวว่า พระเจ้าพิมพิสารอุทิศส่วนบุญที่ได้ถวายทาน ให้แก่เปรตผู้เป็นญาติสาโลหิตทั้งหลาย ที่รอคอยมาเป็นเวลานาน
* ขณะที่พระเจ้าพิมพิสารถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกิน แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้นข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้นให้อิ่มหนำสําราญ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ
* ขณะที่พระราชาถวายผ้า และเสนาสนะเป็นต้น แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ทันใดนั้นเอง ผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาดและที่นอนอันเป็นทิพย์ บังเกิดขึ้นแล้วแก่เปรตเหล่านั้น ได้สวมใส่ใช้สอย
* ขณะที่พระราชาหลั่งทักษิโณทก (กรวดน้ำ) ทรงอุทิศว่า ขอทานเหล่านี้จงถึงแก่พวกญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดารดาษด้วยปทุมก็บังเกิดแก่พวกเปรตเหล่านั้น ให้ได้อาบและดื่มกิน ระงับความกระหายกระวนกระวายได้ มีผิวพรรณดุจทอง พ้นจากความเป็นเปรตในทันทีนั้นเอง
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้เห็นประโยชน์ในการถวายทานแก่พระราชาว่า ทักษิณาวันนี้มหาบพิตรได้ถวายไว้ดีแล้วในสงฆ์ ทาน นั้นได้สัมฤทธิ์ผลเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่เปรตผู้เป็นญาติเหล่านั้น ให้ประสบทิพยสมบัติในขณะนั้นทันทีไม่นานเลย พระองค์ได้แล้วอย่างโอฬาร ทั้งภิกษุสงฆ์อันพระราชาถวายข้าวน้ำให้อิ่มหนำก็เป็นบุญไม่น้อย จบเทศนาการบรรลุธรรมมีแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายมากมาย ซึ่งสลดใจเพราะการพรรณาโทษแห่งการเกิดเป็นเปรต ในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง ติโรกุฑฑสูตรอีก การตรัสรู้ ธรรมได้มีแก่เทวดาและมนุษย์ถึง ๗ วัน
การอุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดาเรียกว่าเทวตาพลี
** ขุททกนิกาย อุทาน ปาฏลิคามิยสูตรหน้า ๗๕๕ แสดงว่า บุคคลเมื่อถวายปัจจัย ๔ แก่สงฆ์แล้ว พึงอุทิศส่วนบุญนั้นให้เทวดาอนุโทนาด้วย เพราะว่าคนที่อุทิศส่วนบุญให้แก่เทวดาแล้ว เทวดาย่อมคุ้มครองรักษาผู้นั้น เพราะเทวดาพากันคิดว่า คนเหล่านี้แม้จะมิได้เป็นญาติกับเราก็ยังให้ส่วนบุญแก่เราได้ ฉะนั้นเราควรอนุเคราะห์พวกเขาตามสมควร แต่พึงเข้าใจว่าเทวดาเมื่อท่านทราบแล้ว ท่านอนุโมทนากุศลนั้น ท่านก็เพียงเกิดกุศลจิตพลอยยินดีด้วยเท่านั้น แต่ท่านมิได้รับผลของทานที่มีผู้อุทิศไปให้โดยตรง เหมือนอย่างที่เปรตได้รับ
ปัตตานุโมทนาทาน
การอนุโมทนาในทานที่ผู้อื่นกระทําก็ชื่อว่าเป็นทาน ในปฐมโพธิกาล ภิกษุมิได้กล่าวคําอนุโมทนาในทานที่มีผู้ถวาย ฉันแล้วก็หลีกไปต่อมาภายหลังพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุญาตว่า หลังจากเสร็จภัตกิจ ภิกษุจงทำอนุโมทนาในที่ทั้งหลาย มีโรงฉันเป็นต้น จงกล่าวมงคลกถา เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ทายกทั้งหลาย
** ธรรมบทแปล ภาค ๘ พราหมณวรรค หน้า ๒๔๖-๒๔๘ เรื่องบุพกรรมของสองพี่น้อง มีกุฎพีสองพี่น้องใน กรุงพาราณสี ทําไร่อ้อยไว้เป็นอันมาก วันหนึ่ง มีกุฎพีผู้น้องไปไร่อ้อย ถืออ้อยมาสองลํา คั้นทําเป็นน้ำอ้อยสองส่วน คิดจะนําไปให้พี่ชายด้วย ระหว่างทางได้พบ พระปัจเจกพุทธเจ้าบังเกิดจิตเลื่อมใส ได้ถวายน้ำอ้อยส่วนของตนลงในบาตร ตั้งความปรารถนาว่าด้วยผลแห่งรส (อ้อย) อันเลิศนี้ กระผมพึงได้เสวยสมบัติในเทวโลกหรือมนุษยโลก ในที่สุดพึงบรรลุธรรมที่ท่าน บรรลุแล้วนั้นเถิด
เมื่อท่านฉันแล้ว เขาได้ถวายน้ำอ้อยส่วนที่ ๒ อันเป็นส่วนของพี่ชายลงในบาตรอีก คิดว่าเราจักให้มูลค่าหรือส่วนบุญแก่พี่ชาย พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะไปสู่ภูเขาคันธมาทน์ ถวายน้ำอ้อยนั้นแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าอีก ๕๐๐ องค์ ที่ภูเขานั้น มีกุฎพีผู้น้องเห็นเหตุการณ์นั้นเกิดความปีติ กลับไปเล่าให้พี่ชายฟังถึงเหตุนั้น ถามพี่ชายว่า พี่จักรับเอามูลค่าอ้อยนั้น หรือจักรับเอาส่วนบุญ พี่ชายมีจิตเลื่อมใส ไม่รับเอามูลค่าขออนุโมทนาส่วนบุญจากมีกุฎพีผู้น้อง ด้วยความโสมนัส ตั้งความปรารถนาว่า ขอเราพึงได้บรรลุธรรมที่พระปัจเจกพุทธเจ้าเห็นแล้วนั้นเถิด พี่อนุโมทนาทานที่น้องได้กระทําแล้ว นี้ชื่อว่า ปัตตานุโมทนาทาน
**ขุททกนิกาย วิมานวัตถุ เล่ม ๒/๑ วิหารวิมาน หน้า ๓๕๔-๓๕๘ พระอนุรุทธะถามนางเทพธิดาว่า ท่านมีวรรณะงามยิ่งนัก มีรัศมี สว่างไสวไปทั่วทุกทิศเหมือนดาวประกายพรึก เมื่อท่านฟ้อนอยู่ กลิ่นทิพย์อันหอมหวลก็ฟังออกจากสรีระของท่าน เสียงของเครื่องประดับช้องผมยามที่ถูกลมรําเพยพัด ก็กังวานไพเราะดุจเสียงดนตรี แม้พวงมาลัยบนเศียรเกล้าของท่าน ก็มีกลิ่นหอมชวนให้เบิกบานใจ หอมฟังไป ทั่วทุกทิศ เทพธิดา อาตมาขอถามว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร
นางเทพธิดาตอบว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า นางวิสาขามหาอุบาสิก ผู้สหายของดิฉัน ที่อยู่ในเมืองสาวัตถี ได้สร้างวิหารถวายสงฆ์ ดิฉันได้เห็นวิหารนั้น มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาพลอยยินดีด้วยในส่วนบุญนั้นของนาง ก็วิมานและสมบัติทุกอย่างที่ดิฉันได้แล้วนี้ เพราะการพลอยยินดีอนุโมทนาบุญของสหายนั้น ด้วยจิตอันบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น
จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่าเพียงมีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาในบุญของผู้อื่นที่ได้กระทําแล้ว ยังมีผลยิ่งใหญ่เห็นปานนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีใคร บอกให้อนุโมทนาเช่น เห็นคนกําลังใส่บาตรหรือถวายทาน พลอยมีจิตยินดีอนุโมทนาในบุญนั้นด้วย ก็ชื่อว่า ปัตตานุโมทนาทาน
ปาฏิกบุคคลิกทาน
** มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงจําแนกการให้ทานโดยเจาะจง และไม่เจาะจง ไว้ดังนี้ ทานที่ให้โดยเจาะจง มี ๑๔ ประเภท คือ
- ทานที่ให้แก่ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
- ทานที่ให้แก่ พระปัจเจกพุทธเจ้า
- ทานที่ให้แก่ พระอรหันตสาวก
- ทานที่ให้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อทําพระอรหัตผลให้แจ้ง
- ทานที่ให้แก่ พระอนาคามี
- ทานที่ให้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อทําพระอนาคามีให้แจ้ง
- ทานที่ให้แก่ พระสกทาคามี
- ทานที่ให้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อทําพระสกทาคามีให้แจ้ง
- ทานที่ให้แก่ พระโสดาบัน
- ทานที่ให้แก่ ผู้ปฏิบัติเพื่อทําพระโสดาบันให้แจ้ง
- ทานที่ให้แก่ บุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกําหนัด
- ทานที่ให้แก่ บุคคลผู้มีศีล
- ทานที่ให้แก่ ปุถุชนผู้ทุศีล
- ทานที่ให้แก่ สัตว์เดรัจฉาน
อานิสงส์ของปาฏิกบุคคลิกทาน
- การให้ทานแก่ เดรัจฉาน มีอานิสงส์ร้อยชาติ คือให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณถึง ๑๐๐ ชาติ
- การให้ทานแก่ ปุถุชนผู้ทุศีล มีอานิสงส์พันชาติ
- การให้ท่านแก่ ปุถุชนผู้มีศีล มีอานิสงส์แสนชาติ
- การให้ทานแก่ ปุถุชนผู้ปราศจากความยินดีในกาม นอกพระพุทธศาสนา เช่น พวกนักบวชหรือฤาษีที่ได้ฌาน เป็นต้น แม้ไม่ได้นับถือ พระพุทธศาสนา ก็ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ
มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ อรรถกถาสัลเลขสูตรหน้า ๔๙๙ กล่าวว่า การให้ทานแก่นักบวชนอกศาสนา ยังมีอานิสงส์ถึงแสนโกฏิชาติ เพราะสมาบัติ ๘ ของคนนอกศาสนาเป็นบาทของวัฏฏะ แต่พุทธศาสนา แม้ผู้ที่ถึงไตรสรณาคมน์ (มีพระรัตนตรัยเป็นสรณะ) สามารถเป็นบาทให้ถึงโลกุตตรธรรมได้ จึงมีผลมากมีอานิสงส์มากเช่นเดียวกัน
สังฆทาน
สังฆทาน คือทานที่ให้โดยไม่เจาะจง มี ๗ ประเภท คือ
- ให้ทานแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย คือภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน
- ให้ทานแก่สงฆ์ ๒ ฝ่าย แม้พระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้ว
- ให้ทานแก่ภิกษุสงฆ์
- ให้ทานแก่ภิกษุณีสงฆ์
- ให้ทานแก่บุคคลที่ขอมาจากสงฆ์ ๒ ฝ่าย ด้วยคําว่าขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจํานวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
- ให้ทานแก่บุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์ ด้วยคําว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจํานวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
- ให้ทานแก่บุคคลที่ขอมาจากภิกษุณีสงฆ์ ด้วยคําว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจํานวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า
สังฆทานทั้ง ๗ อย่างที่แสดงไว้นี้ เพราะเหตุที่พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานแล้ว ภิกษุณีสงฆ์ก็สูญวงศ์แล้ว ในยุคปัจจุบันสังฆทาน จึงทําได้เพียง ๒ อย่าง คือ ให้ทานในภิกษุสงฆ์ และให้ทานในบุคคลที่ขอมาจากภิกษุสงฆ์เท่านั้น
สังฆทานที่จะนับเป็นสังฆทานได้ ก็ต่อเมื่อผู้ถวายมีความเคารพยําเกรงต่อสงฆ์ วางใจในสงฆ์ให้เสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นภิกษุหรือเป็นบุคคลที่ขอมาจากภิกษุ โดยไม่ยินดีเมื่อได้ภิกษุหรือสามเณรที่ชอบใจและไม่ยินร้ายในภิกษุหรือสามเณรที่ไม่ชอบใจ จะต้องไม่เลือกว่าสงฆ์นั้นจะเป็นพระเถระหรือพระนวกะ (บวชใหม่) หรือสามเณร ทําใจให้เสมอกันว่าจักถวายต่อพระอริยสงฆ์ ด้วยเหตุนี้สังฆทานจึงทําให้ถูกต้องได้ไม่ง่ายนัก อีกประการหนึ่ง ปัจจุบันมักจะมีคําถามว่า สังฆทาน จะต้องมี ภิกษุกี่รูป บางท่านก็กล่าวว่าต้องมีภิกษุ ๔ รูป จึงจะเป็นสังฆทาน บางท่านก็ว่าภิกษุรูปเดียวก็นับเป็นสังฆทาน จึงขอยกทักขิณาวิภังคสูตร เป็นอุทาหรณ์ เพื่อนํามาพิจารณาให้เป็นเครื่องตัดสินด้วยตนเอง
**มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ๓/๒ ทักขิณาวิภังคสูตร หน้า ๓๙๑-๕๑๒ มีเรื่องเล่าว่า เศรษฐีคนหนึ่งจะถวายทานได้ไปขอภิกษุรูปหนึ่งจากสงฆ์ด้วยคําว่า ขอพระคุณเจ้าทั้งหลายจงให้ภิกษุรูปหนึ่งแก่ข้าพเจ้า เศรษฐีได้ภิกษุทุศีลรูปหนึ่ง แต่เศรษฐีผู้นี้ก็ปฏิบัติต่อสงฆ์ที่ได้ มาด้วยความเคารพนอบน้อม ตกแต่งเสนาสนะ พร้อมด้วยเครื่องสักการะบูชาอย่างดี เมื่อภิกษุมาถึง เศรษฐีได้ล้างเท้าเอาน้ำมันทาเท้าให้ภิกษุ แล้วถวายไทยธรรมด้วยความเคารพยำเกรงต่อสงฆ์นั้น เสมือนหนึ่งทําการต้อนรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุฉันภัตตาหารแล้วก็กลับวัด หลังจากนั้นได้กลับมาที่บ้านเศรษฐีอีกเพื่อขอยืมจอบ เศรษฐีได้เอาเท้า เขี่ยจอบให้ไป
ชนทั้งหลายเห็นกิริยาของเศรษฐีดังนั้นก็แปลกใจ จึงถามว่า เมื่อเช้านี้ท่านถวายทานแก่ภิกษุรูปนี้ ด้วยความเคารพนบนอบอย่างยิ่ง แต่บัดนี้เพราะเหตุไรจึงแสดงกิริยาเช่นนี้ เศรษฐีตอบว่า ทานที่ถวายเมื่อเช้าข้าพเจ้าถวายแก่สงฆ์ หาได้ถวายแก่พระรูปนี้ไม่เรื่องนี้แสดงให้เห็นเป็นตัวอย่าง ในการถวายทาน ที่ชื่อว่า สังฆทาน คือเมื่อเศรษฐีขอภิกษุจากสงฆ์ได้แล้ว มิได้คิดว่าภิกษุรูปนี้เป็นใครจะมีศีลหรือทุศีล จะเป็นพระเถระหรือสามเณร เศรษฐีมีความตั้งใจมุ่งถวายทานแก่ภิกษรูปนั้น ด้วยความเคารพนอบน้อมต่อสงฆ์ เสมือนหนึ่งกําลังถวายทานแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า หรือพระอริยสงฆ์ ที่แม้จะมีภิกษุเพียงรูปเดียวก็ตาม นี้ชื่อว่า สังฆทาน
อานิสงส์ของการถวายสังฆทาน
ทานที่ถวายในสงฆ์ หรือสังฆทาน เป็นทานที่ถวายโดยไม่เจาะจงสงฆ์ ท่านกล่าวว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่าปาฏิกบุคคลิกทาน
คําว่า สงฆ์ หมายถึง พระอริยสงฆ์ คือ- พระโสดาปัตติมรรค พระโสดาปัตติผล
- พระสกทาคามิมรรค พระสกทาคามิผล
- พระอนาคามิมรรค พระอนาคามิผล
- พระอรหัตตมรรค พระอรหัตตผล
รวมเป็น ๔ คู่ ๘ บุคคล มิได้หมายถึง สมมุติสงฆ์ เพราะพระอริยสงฆ์นั้นเป็นสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อเญยยธรรม พระอริยสงฆ์เหล่านั้นเป็นผู้ควรแก่ของที่นํามาบูชา ควรแก่ไทยธรรมที่นํามาถวายด้วยความศรัทธา เป็น เนื้อนาบุญอันเยี่ยม ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า จึงมีผลมากมีอานิสงส์มาก
** ทักขิณาวิภังคสูตร ข้อ ๗๑๓ หน้า ๓๙๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงอานิสงส์ของสังฆทาน กับพระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ ในอนาคตกาล แม้จักมีแต่ภิกษุที่มีเพียงผ้ากาสาวะ (ผ้าเหลือง) พันคอ เป็นผู้ทุศีล มีธรรมอันลามก แต่ทานที่คนทั้งหลายถวายโดยมุ่งตรงต่อสงฆ์ แม้ในเวลานั้นตถาคตก็กล่าวว่า ยังมีผลนับประมาณไม่ได้
พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญสังฆทาน
** อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทารุกัมมิกสูตร หน้า ๗๓๙-๗๔๑ พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญสังฆทานว่าเป็นทานอันเลิศ ความโดยย่อมีว่า ครั้งหนึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่นาทิกคาม พ่อค้าฟืนชื่อทารุกัมมิกกะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ตรัสถามว่า สกุลของท่านยังให้ทานดีอยู่หรือ ทารุกัมมิกกะกราบทูลว่า ข้าพระองค์ยังให้อยู่ในภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์ ถือการอยู่ป่า เที่ยวบิณฑบาต และถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า ท่านเป็นคฤหัสถ์อยู่ครองเรือน ไฉนจึงจักรู้ว่าภิกษุนี้เป็นพระอรหันต์ ก็แม้ว่าภิกษุนั้นจะถือการอยู่ป่าเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรแต่ภิกษุ นั้นเป็นผู้มีจิตฟุ้งซ่าน มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่สํารวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นก็พึงถูกติเตียน
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสอนทารุกัมมิกะว่า ท่านจงพิจารณาว่าภิกษุใดเป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ สํารวมอินทรีย์ ภิกษุนั้นจึงได้รับสรรเสริญ ด้วยเหตุนี้ เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เพราะเมื่อท่านถวายทานในสงฆ์ คือไม่เลือกไม่เจาะจงสงฆ์ จิตจักผ่องใส ผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไปจักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
ทารุกัมมิกกะกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักให้สังฆทาน จักถวายทานมุ่งตรงต่อสงฆ์โดยไม่เลือก ไม่เจาะจงสงฆ์ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พระเจ้าข้า
นอกจากนั้น พระบรมศาสดายังตรัสสอนท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ว่าด้วยหลักการใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ดังความต่อไปนี้
** อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต อาทิยสูตร หน้า ๙๓-๙๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ สะสมทรัพย์ที่ตน หามาด้วยน้ำพักน้ำแรง ด้วยความขยันหมั่นเพียรและโดยชอบธรรม ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่หามาได้แล้วนั้น ให้เกิดประโยชน์ คือ
- เลี้ยงตน เลี้ยงมารดาบิดา เลี้ยงบุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนใช้ในครอบครัว ให้อิ่มหนำเป็นสุขสําราญ- เลี้ยงมิตรสหาย ให้อิ่มหนำเป็นสุขสําราญ
- ป้องกันอันตรายอันจะเกิดจากไฟน้ำ พระราชา โจร หรือ ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก เพื่อความปลอดภัย
- ทําพลีกรรม ๕ อย่าง คือ
- ญาติพลี บํารุงญาติ
- อติถิพลี ต้อนรับแขก
- ปุพพเปตพลี ทําบุญอุทิศให้ผู้ตาย
- ราชพลี บริจาคช่วยชาติบ้านเมือง (เสียภาษี) เป็นต้น
- เทวตาพลี ทําบุญอุทิศให้เทวดา
** บําเพ็ญทักษิณาทาน ในสมณพราหมณ์ผู้เว้นจากความประมาท ตั้งอยู่ในขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (อัธยาศัยงาม) ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับจากกิเลสโดยส่วนเดียว
มาดูก่อน คฤหบดี หลักการใช้จ่ายโภคทรัพย์ที่หามาด้วยน้ำพัก น้ำแรง ได้มาโดยชอบธรรม ๕ ประการนี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการดํารงชีพในโลกนี้ แม้ว่าโภคทรัพย์นั้นจะหมดสิ้นไป แต่คฤหบดีก็ได้ถือ เอาประโยชน์จากการใช้จ่ายนั้นแล้วอย่างบริบูรณ์ อริยสาวกย่อมไม่มีความเดือดร้อน เพราะเป็นการใช้จ่ายที่มีผลเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบากเป็นสุข
ความบริสุทธิ์ของทายกและปฏิคาหก
** มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ทักขิณาวิภังคสูตร หน้า ๒๓๔ ข้อ ๗๑๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงความบริสุทธิ์แห่งทักษิณาทาน คือ การให้ของทําบุญทําทานไว้ ๔ อย่าง คือ
- ทักษิณาบางอย่าง บริสุทธิ์ฝ่ายทายกคือผู้ให้ แต่ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกคือผู้รับ กล่าวคือผู้ให้เป็นผู้มีศีลมีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม แต่ผู้รับเป็นผู้ทุศีล
- ทักษิณาบางอย่าง บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก แต่ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก กล่าวคือผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม แต่ผู้ให้เป็นผู้ทุศีล ได้ของมาโดยไม่ชอบธรรม เป็นผู้ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม
- ทักษิณาบางอย่าง ไม่บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคาหก กล่าวคือทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้ทุศีล ไทยธรรมก็ได้มาโดยมิชอบธรรม
- ทักษิณาบางอย่าง บริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและปฏิคาหกคือ ทั้งผู้ให้และผู้รับเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม เป็นผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่าหากทายก คือผู้ให้เป็นผู้มีศีลงามมีธรรมงาม ได้ของมาโดยชอบธรรม มีศรัทธา เชื่อกรรมและผลของกรรม และปฏิคาหกคือผู้รับเป็นผู้มีศีลงามมีธรรม งาม ปราศจากราคะ โทสะ โมหะ ทานของผู้นั้น ถือว่าเป็นทานที่เลิศ กว่าอามิสทานทั้งหลาย
ผลและอานิสงส์ของการให้ทาน
** อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต ทานสูตร หน้า ๑๓๙-๑๔๕ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุปัจจัย ที่ทําให้ทานที่ถวายแล้วมีผลมาก แต่ไม่มีอานิสงส์มาก และมีผลมาก มีอานิสงส์มากไว้ ดังต่อไปนี้
๑. บุคคลบางคนให้ทาน ด้วยความหวังว่า เมื่อตายไปแล้วจัก ได้เสวยผลของทานนี้ ครั้นตายไป ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกา แต่เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมากคือทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๒. บุคคลบางคนให้ทาน ด้วยทราบว่า การให้ทานเป็นของดี เป็นบุญเป็นกุศลจึงให้ทาน ครั้นตายไป ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมากคือ ทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้อง กลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๓. บุคคลบางคนให้ทาน ด้วยคิดว่า ทําตามจารีตประเพณีที่ บรรพบุรุษเคยทํามา ครั้นตายไป ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นยามา เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมาก คือทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นยามา แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๔. บุคคลบางคนให้ทานเพราะเห็นว่า สมณพราหมณ์เหล่านั้น หุงหากินไม่ได้ ครั้นตายไป ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นดุสิต เมื่อหมดบุญนั้นแล้วก็กลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมากคือทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๕. บุคคลบางคนให้ทาน เพราะ ต้องการบําเพ็ญทานเหมือนฤาษีในปางก่อนกระทํามหาทานมาแล้ว ครั้นตายไป ได้บังเกิดใน เทวโลกชั้นนิมมานนรดี เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมากคือทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานนรดี แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๖. บุคคลบางคนให้ทาน เพราะคิดว่าเมื่อให้ทานแล้ว จิตจะเลื่อมใสโสมนัส ครั้นตายไป ได้บังเกิดในเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัตตี เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานเช่นนี้มีผลมาก คือทําให้ได้เกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี แต่ไม่มีอานิสงส์มาก เพราะยังต้องกลับมาเกิดในโลกนี้อีก
๗. บุคคลบางคนให้ทาน โดยมิได้หวังผลเพราะเหตุดังกล่าว ทั้ง ๖ ประการ แต่ให้ทานเพื่อขัดเกลากิเลสให้หมดจดด้วยอํานาจของสมถะและวิปัสสนา จนได้ฌานบรรลุเป็นพระอนาคามีบุคคล ครั้นตายไป ได้บังเกิดในพรหมโลก แม้เมื่อหมดบุญนั้นแล้ว ย่อมปรินิพพานในพรหมโลก ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก ทานชนิดนี้เป็นทานที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก
สรุปว่า ทานชนิดใดก็ตาม ที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ต้องกลับมาเกิดอีก ทานชนิดนั้นแม้จะมีผลมากทําให้เกิดในสวรรค์ แต่ทานนั้น ก็ไม่ชื่อว่ามีอานิสงส์มาก เพราะไม่สามารถทําให้หมดจดจากกิเลส โดยไม่กลับมาเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะอีก
ด้วยเหตุนี้ ทานที่ถวายด้วยความตั้งใจให้เป็นเครื่องขัดเกลา กิเลส ปรุงแต่งจิตให้ควรแก่การเจริญสมถะ และวิปัสสนา จนบรรลุมรรคผล ไม่ต้องกลับมาเกิดอีก จึงเป็นทานที่มีผลมากมีอานิสงส์มาก
คําว่า ผล หมายถึง วิบาก คือผลที่ได้รับโดยตรงคําว่า อานิสงส์ หมายถึง ผลที่มีมากกว่าผลที่ได้รับโดยตรง เช่น การให้ทาน ทําให้ได้ไปเกิดในสวรรค์ แต่วิมานในสวรรค์นั้นก็ยังมีความงดงามประดับตกแต่งด้วยรัตนะสวยงาม มีเทพอัปสรเป็นบริวาร เป็นต้น เหล่านี้เป็นความหมายของคําว่า อานิสงส์
ทักษิณาทาน ๖ ประการ
** อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทานสูตร หน้า ๖๒๘-๖๓๑ กล่าวว่า อุบาสิกาชื่อนันทมารดา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะ ถวายทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ เป็นประธานกล่าวคือฝ่ายปฏิคาหก ๓ ประการ ฝ่ายทายก ๓ ประการ ได้แก่
องค์ ๓ ของปฏิคาหก (ผู้รับทาน) ได้แก่ผู้ที่- ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกําจัดราคะ
- ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกําจัดโทสะ
- ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกําจัดโมหะ
คือผู้ที่ถึงความเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน แม้สามเณรผู้บวชในวันนั้นที่ได้โสดาปัตติมรรค ก็ถือว่าอยู่ในข่ายขององค์ ๓ ของปฏิคาหกผู้ควรแก่การรับทานด้วย
องค์ ๓ ของทายก (ผู้ถวาย) ได้แก่- บุพเจตนา ก่อนให้ทาน คือตั้งแต่เริ่มต้นทํานา ตั้งใจว่าเราจักถวายทานด้วยข้าวกล้าที่เกิดจากนานี้ ด้วยจิตโสมนัส
- มุญจนเจตนา ขณะที่กําลังให้ทาน ย่อมยังจิตให้ผ่องใส ตั้งใจว่ากําลังถวายทานในพระอริยสงฆ์
- อปรเจตนา ให้ทานแล้วภายหลังในกาลต่อมา ก็ยังมีจิต ปลาบปลื้มโสมนัส เมื่อระลึกถึงทานนั้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ทักษิณาของอุบาสิกานันทมารดา ที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการนี้ ย่อมถึงความบริบูรณ์แห่งทาน บําเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงเทวโลกที่มีแต่สุขโสมนัสอันโอฬาร
คำสอนพระอริยเจ้า
หนังสือ วิธีสร้างบุญบารมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
การทำทาน ได้แก่การสละทรัพย์สิ่งของสมบัติของตนที่มีอยู่ให้แก่ผู้อื่น โดยมุ่งหวังจะจุนเจือให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์และความสุขด้วยความเมตตาจิตของตน ทานที่ได้ทำไปนั้น จะทำให้ผู้ทำทานได้บุญมากหรือน้อยเพียงใด ย่อมสุดแล้วแต่องค์ประกอบ ๓ ประการ ถ้าประกอบถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบทั้ง ๓ ประการต่อไปนี้แล้ว ทานนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญบารมีมาก กล่าวคือ
องค์ประกอบข้อที่ ๑ " วัตถุทานที่ให้ต้องบริสุทธิ์ " วัตถุทานที่ให้ ได้แก่สิ่งของทรัพย์สมบัติที่ตนได้สละให้เป็นทานนั้นเอง จะต้องเป็นของที่บริสุทธิ์ ที่จะเป็นของบริสุทธิ์ได้จะต้องเป็นสิ่งของที่ตนเองได้แสวงหา ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ในการประกอบอาชีพ ไม่ใช่ของที่ได้มาเพราะการเบียดเบียนผู้อื่น เช่น ได้มาโดยยักยอก ทุจริต ลักทรัพย์ ฉ้อโกง ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ ฯลฯ
ตัวอย่าง ๑ ได้มาโดยการเบียดเบียนชีวิตและเลือดเนื้อสัตว์ เช่นฆ่าสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้นว่า ปลา โค กระบือ สุกร โดยประสงค์จะเอาเลือดเนื้อของเขามาทำอาหารถวายพระเพื่อเอาบุญ ย่อมเป็นการสร้างบาปเอามาทำบุญ วัตถุทาน คือเนื้อสัตว์นั้นเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ แม้ทำบุญให้ทานไป ก็ย่อมได้บุญน้อย จนเกือบไม่ได้อะไรเลย ทั้งอาจจะได้บาปเสียอีก หากว่าทำทานด้วยจิตที่เศร้าหมอง แต่การที่จะได้เนื้อสัตว์มาโดยการซื้อหามาจากผู้อื่นที่ฆ่าสัตว์นั้น โดยที่ตนมิได้มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจในการฆ่าสัตว์นั้นก็ดี เนื้อสัตว์นั้นตายเองก็ดี เนื้อสัตว์นั้นย่อมเป็นวัตถุทานที่บริสุทธิ์ เมื่อนำมาทำทานย่อมได้บุญมากหากถึงพร้อมด้วยองค์ประกอบข้ออื่น ๆ ด้วย
ตัวอย่าง ๒ ลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกง ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ รวมตลอดถึงการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง อันเป็นการได้ทรัพย์มาในลักษณะที่ไม่ชอบธรรม หรือโดยเจ้าของเดิมไม่เต็มใจให้ทรัพย์นั้น ย่อมเป็นของที่ไม่บริสุทธิ์ เป็นของร้อน แม้จะผลิดอกออกผลมาเพิ่มเติม ดอกผลนั้นก็ย่อมเป็นของไม่บริสุทธิ์ ด้วยนำเอาไปกินไปใช้ย่อมเกิดโทษ เรียกว่า " บริโภคโดยความเป็นหนี้ " แม้จะนำเอาไปทำบุญ ให้ทาน สร้างโบสถ์วิหารก็ตาม ก็ไม่ทำให้ได้บุญแต่อย่างไร สมัยหนึ่งในรัชกาลที่ ๕ มีหัวหน้าสำนักนางโลมชื่อ " ยายแฟง " ได้เรียกเก็บเงินจากหญิงโสเภณีในสำนักของตนจากอัตราที่ได้มาครั้งหนึ่ง ๒๕ สตางค์ แกจะชักเอาไว้ ๕ สตางค์ สะสมเอาไว้เช่นนี้จนได้ประมาณ ๒ , ๐๐๐ บาท แล้วจึงจัดสร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งด้วยเงินนั้นทั้งหมด เมื่อสร้างเสร็จแล้วแกก็ปลื้มปีติ นำไปนมัสการถามหลวงพ่อโตวัดระฆังว่าการที่แกสร้างวัดทั้งวัดด้วยเงินของแกทั้งหมดจะได้บุญบารมีอย่างไร หลวงพ่อโตตอบว่า ได้แค่ ๑ สลึง แกก็เสียใจ เหตุที่ได้บุญน้อยก็เพราะทรัพย์อันเป็นวัตถุทานที่ตนนำมาสร้างวัดอันเป็นวิหารทานนั้น เป็นของที่แสวงหาได้มาโดยไม่บริสุทธิ์ เพราะว่าเบียดเบียนมาจากเจ้าของที่ไม่เต็มใจจะให้ ฉะนั้น บรรดาพ่อค้าแม่ขายทั้งหลายที่ซื้อของถูก ๆ แต่มาขายแพงจนเกินส่วนนั้น ย่อมเป็นสิ่งของที่ไม่บริสุทธิ์โดยนัยเดียวกัน
วัตถุทานที่บริสุทธิ์เพราะการแสวงหาได้มาโดยชอบธรรมดังกล่าว ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นของดีหรือเลว ไม่จำกัดว่าเป็นของมากหรือน้อย น้อยค่าหรือมีค่ามาก จะเป็นของดี เลว ประณีต มากหรือน้อยไม่สำคัญ ความสำคัญขึ้นอยู่กับเจตนาในการให้ทานนั้น ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาที่ตนมีอยู่
องค์ประกอบข้อที่ ๒ " เจตนาในการสร้างทานต้องบริสุทธิ์ " การให้ทานนั้น โดยจุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อเป็นการขจัดความโลภ ความตระหนี่เหนียวแน่นความหวงแหนหลงใหลในทรัพย์สมบัติของตน อันเป็นกิเลสหยาบ คือ " โลภกิเลส " และเพื่อเป็นการสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขด้วย เมตตาธรรมของตน อันเป็นบันไดก้าวแรกในการเจริญเมตตา พรหมวิหารธรรมในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น ถ้าได้ให้ทานด้วยเจตนาดังกล่าวแล้ว เรียกว่าเจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ แต่เจตนาที่ว่าบริสุทธิ์นั้น
ถ้าจะบริสุทธิ์จริงจะต้องสมบูรณ์พร้อมกัน ๓ ระยะ คือ
(๑) ระยะก่อนที่จะให้ทาน ก่อนที่จะทานก็จะมีจิตที่โสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีที่จะให้ทาน เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่นให้ได้รับความสุขเพราะทรัพย์สิ่งของของตน
(๒) ระยะที่กำลังลงมือให้ทาน ระยะที่กำลังมือให้ทานอยู่นั้นเอง ก็ทำด้วยจิตใจโสมนัสร่าเริงยินดีและเบิกบานในทานที่ตนกำลังให้ผู้อื่น
(๓) ระยะหลังจากที่ได้ให้ทานไปแล้ว ครั้นเมื่อได้ให้ทานไปแล้วเสร็จ หลังจากนั้นก็ดี นานมาก็ดี เมื่อหวนคิดถึงทานที่ตนได้กระทำไปแล้วครั้งใด ก็มีจิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบาน ยินดีในทานนั้น ๆ เจตนาบริสุทธิ์ในการทำทานนั้น อยู่ที่จิตใจโสมนัสร่าเริงเบิกบานยินดีในทานที่ทำนั้นเป็นสำคัญ และเนื่องจากเมตตาจิต ที่มุ่งสงเคราะห์ผู้อื่นให้พ้นความทุกข์ และให้ได้รับความสุขเพราะทานของตน นับว่าเป็นเจตนาบริสุทธิ์ในเบื้องต้น แต่เจตนาที่บริสุทธิ์เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วนี้ จะทำให้ยิ่ง ๆ บริสุทธิ์มากขึ้นไปอีก หากผู้ใดให้ทานนั้นได้ทำทานด้วยการวิปัสสนาปัญญา กล่าวคือ ไม่ใช่ทำทานอย่างเดียว แต่ทำทานพร้อมกับมีวิปัสสนาปัญญา โดยใคร่ครวญถึงวัตถุทานที่ให้ทานนั้นว่า อันบรรดาทรัพย์สิ่งของทั้งที่ชาวโลกนิยมยกย่องหวงแหนเป็นสมบัติกันด้วยความโลภนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงวัตถุธาตุประจำโลก เป็นสมบัติกลาง ไม่ใช่ของผู้ใดโดยเฉพาะ เป็นของที่มีมาตั้งแต่ก่อนเราเกิดขึ้นมา และไม่ว่าเราจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม วัตถุธาตุดังกล่าวก็มีอยู่เช่นนั้น และได้ผ่านการเป็นเจ้าของมาแล้วหลายชั่วคน ซึ่งท่านตั้งแต่ก่อนนั้น ได้ล้มหายตายจากไปแล้วทั้งสิ้น ไม่สามารถนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลยจนในที่สุดก็ได้ตกทอดมาถึงเรา ให้เราได้กินได้ใช้ไดยึดถือเพียงชั่วคราว แล้วก็ตกทอดสืบเนื่องไปเป็นของคนอื่น ๆ ต่อ ๆ ไปเช่นนี้ แม้เราเองก็ไม่สามารถจะนำวัตถุธาตุดังกล่าวนี้ติดตัวไปได้เลย จึงนับว่าเป็นสมบัติผลัดกันชมเท่านั้น ไม่จากไปในวันนี้ก็ต้องจากไปในวันหน้า อย่างน้อยเราก็ต้องจากต้องทิ้งเมื่อเราได้ตายลงนับว่าเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราได้ถาวรได้ตลอดไป แม้ตัววัตถุธาตุดังกล่าวนี้เอง เมื่อมีเกิดขึ้นเป็นตัวตนแล้ว ก็ต้องอยูในสภาพนั้นให้ตลอดไปไม่ได้ จะต้องเก่าแก่ ผุพัง บุบสลายไป ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างไร แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของเราเองก็มีสภาพเช่นเดียวกับวัตถุธาตุเหล่านั้น ซึ่งไม่อาจจะตั้งมั่นให้ยั่งยืนอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้วก็จะต้องเจริญวัยเป็นหนุ่มสาวแล้วก็แก่เฒ่าและตายไปในที่สุด เราจะต้องพลัดพรากจากของอันเป็นที่รัก ที่หวงแหน คือทรัพย์สมบัติทั้งปวง
เมื่อเจตนาในการให้ทานบริสุทธิ์ผุดผ่องดีพร้อมทั้งสามระยะดังกล่าวมาแล้ว ทั้งยังประกอบไปด้วยวิปัสสนาปัญญาดังกล่าวมาแล้วด้วย เจตนานั้นย่อมบริสุทธิ์อย่างยิ่ง ทานที่ได้ทำไปนั้นย่อมมีผลมาก ได้บุญมากหากวัตถุทานที่ได้ทำเป็นของบริสุทธิ์ตามองค์ประกอบข้อ ๑ ด้วย ก็ย่อมทำให้ได้บุญมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก วัตถุทานจะมากหรือน้อย เป็นของเลวหรือประณีตไม่สำคัญ เมื่อเราได้ให้ทานไปตามกำลังทรัพย์ที่เรามีอยู่ย่อมใช้ได้ แต่ก็ยังมีข้ออันควรระวังอยู่ก็คือ " การทำทานนั้นอย่าได้เบียดเบียนตนเอง " เช่นมีน้อย แต่ฝืนทำให้มาก ๆ จนเกินกำลังของตนที่จะให้ได้ เมื่อได้ทำไปแล้วตนเองและสามี ภริยา รวมทั้งบุตรต้องลำบาก ขาดแคลน เพราะว่าไม่มีจะกินจะใช้ เช่นนี้ย่อมทำให้จิตเศร้าหมอง เจตนานั้นย่อมไม่บริสุทธิ์ ทานที่ได้ทำไปแล้วนั้น แม้วัตถุทานจะมากหรือทำมาก ก็ย่อมได้บุญน้อย
ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างที่ทำทานด้วยเจตนาอันไม่บริสุทธิ์ คือ
ตัวอย่าง ๑ ทำทานเพราะอยากได้ ทำเอาหน้า ทำอวดผู้อื่น เช่น สร้างโรงเรียน โรงพยาบาลใส่ชื่อของตน ไปยืนถ่ายภาพลงโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์เพื่อให้ได้รับความนิยมยกย่องนับถือ โดยที่แท้จริงแล้วตนมิได้มีเจตนาที่จะมุ่งสงเคราะห์ผู้ใด เรียกว่า " ทำทานด้วยความโลภ " ไม่ทำเพื่อขจัดความโลภ ทำทานด้วยความอยากได้ คืออยากได้หน้า ๆได้เกียรติ ได้สรรเสริญ ได้ความนิยมนับถือ
ตัวอย่าง ๒ ทำทานด้วยความฝืนใจ ทำเพราะเสียไม่ได้ ทำด้วยความเสียหาย เช่นทีพวกพ้องมาเรี่ยไร ตนเองไม่มีศรัทธาที่จะทำ หรือมีศรัทธาอยู่บ้างแต่มีทรัพย์น้อย เมื่อมีพวกมาเรี่ยไรบอกบุญ ต้องจำใจทำทานไปเพราะความเกรงใจพวกพ้อง หรือเกรงว่าจะเสียหน้า ตนจึงได้สละทรัพย์ทำทานไปด้วยความจำใจ ย่อมเป็นการทำทานด้วยความตระหนี่หวงแหน ทำทานด้วยความเสียดาย ไม่ใช่ทำทานด้วยจิตเมตตาที่มุ่งจะสงเคราะห์ผู้อื่น ซึ่งยิ่งคิดก็ยิ่งเสียดาย ให้ไปแล้วก็เป็นทุกข์ใจ บางครั้งก็นึกโกรธผู้ที่มาบอกบุญ เช่นนี้จิตย่อมเศร้าหมอง ได้บุญน้อย หากเสียดายมาก ๆ จนเกิดโทสะจริตกล้าแล้ว นอกจากจะไม่ได้บุญแล้ว ที่จะได้ก็คือบาป
ตัวอย่าง ๓ ทำทานด้วยความโลภ คือทำทานเพราะว่าอยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ อันเป็นการทำทานเพราะว่าหวังสิ่งตอบแทน ไม่ใช่ทำทานเพราะมุ่งหมายที่จะขจัดความโลภ ความตระหนี่หวงแหนในทรัพย์ของตน เช่น ทำทานแล้วตั้งจิตอธิษฐานขอพรให้ชาติหน้าได้เป็นเทวดา นางฟ้า ขอให้รูปสวย ขอให้ทำมาค้าขึ้น ขอให้รำรวยเป็นเศรษฐี มหาเศรษฐี ทำทาน ๑๐๐ บาท แต่ขอให้ร่ำรวยนับล้าน ขอให้ถูกสลากกินแบ่งกินรวบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมบัติสวรรค์ หากชาติก่อนไม่เคยได้ทำบุญใส่บาตรฝากสวรรค์เอาไว้ อยู่ๆก็มาขอเบิกในชาตินี้ จะมีที่ไหนให้เบิก การทำทานด้วยความโลภเช่นนี้ย่อมไม่ได้บุญอะไรเลย สิ่งที่จะได้พอกพูนเพิ่มให้มากและหนาขึ้นก็คือ " ความโลภ "
ผลหรืออานิสงส์ของการทำทานที่ครบองค์ประกอบ ๓ ประการนั้น ย่อมมีผลให้ได้ซึ่งมนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติเอง แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งเจตนาเอาไว้ล่วงหน้าก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นผลที่สืบเนื่องมาจากเหตุ เมื่อทำเหตุครบถ้วนย่อมมีผลเกิดขึ้นตามมาเอง เช่นเดียวกับปลูกต้นมะม่วง เมื่อรดน้ำพรวนดินและใส่ปุ๋ยไปตามธรรมดาเรื่อยไป แม้จะไม่อยากให้เจริญเติบโตและออกดอกออกผล ในที่สุดต้นไม้ก็จะต้องเจริญเติบโตและผลิตดอกออกผลตามมา สำหรับผลของทานนั้น หากน้อยหรือมีกำลังไม่มากนัก ย่อมน้อมนำให้เกิดในมนุษย์ชาติ หากมีกำลังแรงมากก็อาจจะน้อมนำให้ได้บังเกิดในเทวโลก ๖ ชั้น เมื่อได้เสวยสมบัติในเทวโลกจนสิ้นบุญแล้ว ด้วยเศษของบุญที่ยังคงหลงเหลืออยู่บ้าง ประกอบกับไม่มีอกุศลกรรมอื่นแทรกให้ผลก็อาจจะน้อมนำให้มาบังเกิดในมนุษย์อีกครั้งหนึ่ง และเมื่อได้มาบังเกิดเป็นมนุษย์แล้ว ก็ย่อมทำให้ได้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง สมบูรณ์ไปด้วยทรัพย์ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่มีลาภผลมาก ทำมาหากินขึ้นและร่ำรวยในภายหลัง ทรัพย์สมบัติไม่วิบัติหายนะไปเพราะวินาศภัย โจรภัย อัคคีภัย วาตภัย ฯลฯ
แต่จะมั่งคั่งร่ำรวยในวัยใดก็ย่อมแล้วแต่ผลทานแต่ชาติก่อน ๆ จะส่งผล คือ
๑ . ร่ำรวยตั้งแต่วัยต้น เพราะผลของทานที่ได้ตั้งเจตนาไว้บริสุทธิ์ดีตั้งแต่ก่อนจะทำทาน คือก่อนที่จะลงมือทำทานก็มีจิตเมตตาโสมนัสร่าเริง เบิกบานยินดีในทานที่ตนจะได้ทำเพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น แล้วก็ได้ลงมือทำทานไปตามเจตนานั้น เมื่อเกิดเป็นมนุษย์ย่อมโชคดี โดยเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย ชีวิตในวัยต้นอุดมสมบูรณ์พูนสุขไปด้วยทรัพย์ ไม่ยากจนแร้นแค้น ไม่ต้องขวนขวายหาเลี้ยงตนเองมาก แต่ถ้าเจตนานั้นไม่งามบริสุทธิ์พร้อมกันทั้ง ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นก็ย่อมส่งผลให้ไม่สม่ำเสมอกัน คือแม้ว่าจะร่ำรวยตั้งแต่วัยต้นโดยเกิดมาบนกองเงินกองทองก็ตาม หากในขณะที่กำลังลงมือทำทานเกิดจิตเศร้าหมองเพราะหวนคิดเสียดายหรือหวงแหนทรัพย์ที่จะให้ทานขึ้นมา หรือเกิดหมดศรัทธาขึ้นมาเฉยๆแต่ก็ยังฝืนใจทำทานไปเพราะเสียไม่ได้หรือเพราะตามพวกพ้องไปอย่างเสียไม่ได้ เช่นนี้ผลทานย่อมหมดกำลังให้ผลระยะที่ ๒ ซึ่งตรงกับวัยกลางคน ซึ่งจะมีผลทำให้ทรัพย์สมบัติหายนะไปด้วยประการต่างๆแม้จะได้รับมรดกมาก็ไม่อาจจะรักษาไว้ได้ หากเจตนาในการทำทานนั้นเศร้าหมองในระยะที่ ๓ คือทำทานไปแล้วหวนคิดขึ้นมาทำให้เสียดายทรัพย์ ความหายนะก็มีผลต่อเนื่องมาจนบั้นปลายชีวิตด้วย คือทรัพย์สินคงวิบัติเสียหายต่อเนื่องจากวัยกลางคนตลอดไปจนถึงตลอดอายุขัยชีวิตจริงของผู้ที่เกิดบนกองเงินกองทองก็มีให้เห็น เป็นตัวอย่างที่เมื่อได้รับทรัพย์มรดกแล้วก็วิบัติเสียหายไป หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในวัยต้นแต่ก็ต้องล้มละลายในวัยกลางคน และบั้นปลายชีวิต แต่ถ้าได้ตั้งเจตนาในการทำทานไว้บริสุทธิ์ครบถ้วนพร้อม ๓ ระยะแล้ว ผลทานนั้นย่อมส่งผลสม่ำเสมอ คือร่ำรวยตั้งแต่เกิด วัยกลางคนและจนปัจฉิมวัย
๒ . ร่ำรวยในวัยกลางคนการที่ร่ำรวยในวัยกลางคนนั้น สืบเนื่องมาจากผลของทานที่ได้ทำเพราะเจตนางามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๒ กล่าวคือไม่งามบริสุทธิ์ในระยะแรก เพราะก่อนที่จะลงมือทำทานก็มิได้มีจิตศรัทธามาก่อน ไม่คิดจะทำทานมาก่อนแต่ก็ได้ตัดสินใจทำทานไปเพราะเหตุบางอย่าง เช่นทำตามพวกพ้องอย่าเสียไม่ได้ แต่เมื่อได้ลงมือทำทานอยู่ก็เกิดโสมนัสรื่นเริงยินดีในทานที่กำลังกระทำอยู่นั้น ด้วยผลทานชนิดนี้ย่อมทำให้มาบังเกิดในตระกูลที่ยากจนคับแค้น ต้องต่อสู้สร้างตนเองมาในวัยต้น ครั้นเมื่อถึงวัยกลางคน กิจการหรือธุรกิจที่ทำก็ประสบความสำเร็จรุ่งเรื่อง และหากเจตนาในการทำทานได้งามบริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ ด้วย กิจการหรือธุรกิจนั้นย่อมส่งผลรุ่งเรื่องตลอดไปจนถึงบั้นปลายชีวิต หากเจตนาในการทำทานไม่บริสุทธิ์ในระยะที่ ๓ แม้ธุรกิจหรือกิจการงานจะประสบความสำเร็จรุ่งเรืองในวัยกลางคน แต่ก็ล้มเหลวหายนะในบั้นปลาย ทั้งนี้เพราะผลทานหมดกำลังส่งผลไม่ตลอดจนถึงบั้นปลาชีวิต
๓ . ร่ำรวยปัจฉิมวัย คือร่ำรวยในบั้นปลายชีวิตนั้น สืบเนื่องมาจากผลทานที่ผู้กระทำมีเจตนางามไม่บริสุทธิ์ในระยะแรกและระยะที่ ๒ แต่งามบริสุทธิ์เฉพาะในระยะที่ ๓ กล่าวคือ ก่อนและในขณะลงมือทำทานอยู่นั้น ก็มิได้มีจิตโสมนัสยินดีในการทำทานนั้นแต่อย่างใด แต่ได้ทำลงไปโดยบังเอิญ เช่น ทำตามๆพวกพ้องไปอย่างเสียมิได้ แต่เมื่อได้ทำไปแล้วต่อมาหวนคิดถึงผลทานนั้น ก็เกิดจิตโสมนัสร่าเริง ยินดีเบิกบาน หากผลทานชนิดนี้จะน้อมนำให้มาบังเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเกิดในตระกูลที่ยากจนข้นแค้น ต้องต่อสู้ดิ้นรนศึกษาเล่าเรียนและขวนขวายสร้างตนเองมากตั้งแต่วัยต้นจนล่วงวัยกลางคนไปแล้ว กิจการงานหรือธุรกิจนั้นก็ยังไม่ประสบกับความสำเร็จ เช่นต้องล้มลุกคลุกคลานตลอดมา แต่ครั้นถึงบั้นปลายชีวิตก็ประสบช่องทางเหมาะ ทำให้กิจการนั้นเจริญรุ่งเรื่องทำมาค้าขึ้นและร่ำรวยอย่างไม่คาดหมาย ซึ่งชีวิตจริง ๆ ของคนประเภทนี้ก็มีให้เห็นเป็นตัวอย่างอยู่มาก
องค์ประกอบข้อที่ ๓ " เนื้อนาบุญต้องบริสุทธิ์ " คำว่า " เนื้อนาบุญ " ในที่นี่ได้แก่บุคคลผู้รับการทำทานของผู้ทำทานนั้นเอง นับว่าเป็นองค์ประกอบข้อที่สำคัญที่สุด แม้ว่าองค์ประกอบในการทำทานข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ จะงามบริสุทธิ์ครบถ้วนดีแล้ว กล่าวคือวัตถุที่ทำทานนั้นเป็นของที่แสวงหาได้มาด้วยความบริสุทธิ์ เจตนาในการทำทานก็งามบริสุทธิ์พร้อมทั้งสามระยะ แต่ตัวผู้ที่ได้รับการทำทานเป็นคนที่ไม่ดี ไม่ใช่ผู้ที่เป็นเนื้อนาบุญที่บริสุทธิ์ เป็นเนื้อนาบุญที่เลว ทานที่ทำไปนั้นก็ไม่ผลิดอกออกผล เปรียบเหมือนกับการหว่านเมล็ดข้าวเปลือกลงในพื้นนา ๑ กำมือ แม้เมล็ดข้าวนั้นจะเป็นพันธุ์ดีที่พร้อมจะงอกงาม ( วัตถุทานบริสุทธิ์ ) และ ผู้หว่านคือกสิกรก็มีเจตนาจะหว่านเพื่อทำนาให้เกิดผลิตผลเป้นอาชีพ ( เจตนาบริสุทธิ์ ) แต่หากที่นานั้นเป็นที่ที่ไม่สม่ำเสมอกัน เมล็ดข้าวที่หว่านลงไปก็งอกเงยไม่เสมอกัน โดยเมล็ดที่ไปตกในที่เป็นดินดี ปุ๋ยดี มีน้ำอุดมสมบูรณ์ดี ก็จะงอกเงยมีผลิตผลที่สมบูรณ์ ส่วนเมล็ดที่ไปตกบนพื้นนาที่แห้งแล้ง มีแต่กรวดกับทรายและขาดน้ำก็จะแห้งเหี่ยวหรือเฉาตายไป หรือไม่งอกเงยเสียเลย การทำทานนั้น ผลิตผลที่ผู้ทำทานจะได้รับก็คือ " บุญ " หากผู้ที่รับการให้ทานไม่เป็นเนื้อนาที่ดีสำหรับการทำบุญแล้ว ผลของทานคือบุญก็จะได้เกิดขึ้น แม้จะเกิดก็ไม่สมบูรณ์ เพราะแกร็นหรือแห้งเหี่ยวเฉาไปด้วยประการต่าง ๆ ฉะนั้นในการทำทาน ตัวบุคคลผู้รับของที่เราให้ทานจึงเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด เราผู้ทำทานจะได้บุญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับคนพวกนี้ คนที่รับการให้ทานนั้นหากเป็นผู้ที่มีศีลธรรมสูง ก็ย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่ดี ทานที่เราได้ทำไปแล้วก็เกิดผลบุญมาก หากผู้รับการให้ทานเป็นผู้ที่ไม่มีศีลไม่มีธรรม ผลของทานก็ไม่เกิดขึ้น คือได้บุญน้อย ฉะนั้นคติโบราณที่กล่าวว่า " ทำบุญอย่าถามพระ หรือ ตักบาตรอย่าเลือกพระ " เห็นจะใช้ไม่ได้ในสมัยนี้ เพราะว่าในสมัยนี้ไม่เหมือนกับท่านในสมัยก่อนๆที่บวชเพราะมุ่งจะหนีสงสาร โดยมุ่งจะทำมรรคผลและนิพพานให้แจ้ง ท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ แต่ในสมัยนี้มีอยู่บางคนที่บวชด้วยคติ ๔ ประการ คือ " บวชเป็นประเพณี บวชหนีทหาร บวชผลาญข้าวสุก บวชสนุกตามเพื่อน " ธรรมวินัยใดๆท่านไม่สนใจ เพียงแต่มีผ้าเหลืองห่มกาย ท่านก็นึกว่าตนเป็นพระและเป็นเนื้อนาบุญเสียแล้ว ซึ่งป่วยการจะกล่าวไปถึงศีลปาฏิโมกข์ ๒๒๗ ข้อ แม้แต่เพียงศีล ๕ ก็ยังเอาแน่ไม่ได้ว่าท่านจะมีหรือไม่ การบวชที่แท้จริงแล้วก็เพื่อจะละความโลภ ความโกรธ ความหลง ปัญหาว่า
ทำอย่างไรจึงจะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ข้อนี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับวาสนาของเราผู้ทำทานเป็นสำคัญ หากเราได้เคยสร้างสมอบรมสร้างบารมีมาด้วยดีในอดีตชาติเป็นอันมากแล้ว บารมีนั้นก็จะเป็นพลังวาสนาน้อมนำให้ได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญที่ประเสริฐ ทำทานครั้งใดก็มักโชคดี ได้พบกับท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบไปเสียทุกครั้ง หากบุญวาสนาของเราน้อยและไม่มั่นคง ก็จะได้พบกับท่านที่เป็นเนื้อนาบุญบ้าง ได้พบกับอลัชชีบ้าง คือดีและชั่วคละกันไป เช่นเดียวกับการซื้อสลากกินแบ่งสลากกินรวบ หากมีวาสนาบารมีเพราะได้เคยทำบุญให้ทานฝากกับสวรรค์ไว้ในชาติก่อน ๆ ก็ย่อมมีวาสนาให้ถูกรางวัลได้ หากไม่มีวาสนาเพราะไม่เคยทำบุญทำทานฝากสวรรค์เอาไว้เลย ก็ไม่มีสมบัติสวรรค์อะไรที่จะให้เบิกได้ อยู่ ๆ ก็จะมาขอเบิก เช่นนี้ก็ยากที่จะถูกรางวัลได้
สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า แม้วัตถุทานจะบริสุทธิ์ดี เจตนาในการทำทานจะบริสุทธิ์ดี จะทำให้ทานนั้นมีผลมากหรือน้อย ย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อนาบุญเป็นลำดับต่อไปนี้ คือ
๑ . ทำทานแก่สัตว์เดรัจฉาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่มนุษย์ แม้จะเป็นมนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมเลยก็ตาม ทั้งนี้เพราะสัตว์ย่อมมีวาสนาบารมีน้อยกว่ามนุษย์และสัตว์ไม่ใช่เนื้อนาบุญที่ดี
๒ . ให้ทานแก่มนุษย์ที่ไม่มีศีล ไม่มีธรรมวินัย แม้จะให้มากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๓ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๕ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าให้ทานดังกล่าวแก่ผู้มีศีล ๘ แม้จะให้เพียงครั้งเดียวก็ตาม
๔ . ให้ทานแก่ผู้ที่มีศีล ๘ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานแก่ผู้มีศีล ๑๐ คือสามเณรในพุทธศาสนา แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๕ . ถวายทานแก่สามเณรซึ่งมีศีล ๑๐ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าถวายทานดังกล่าวแก่พระสมมุติสงฆ์ ซึ่งมีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อ พระด้วยกันก็มีคุณธรรมแตกต่างกัน จึงเป็นเนื้อนาบุญที่ต่างกัน บุคคลที่บวชเข้ามาในพระพุทธศาสนามีศีลปาฏิโมกข์สังวร ๒๒๗ ข้อนั้น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังไม่ตรัสเรียกว่าเป็น " พระ " แต่เป็นเพียงพระสมมุติเท่านั้น เรียกกันว่า " สมมุติสงฆ์ " พระที่แท้จริงนั้น หมายถึงบุคคลที่บรรลุคุณธรรมตั้งแต่พระโสดาปัตติผลเป็นพระโสดาบันเป็นต้นไป ไม่ว่าท่านผู้นั้นจะได้บวชหรือเป็นฆราวาสก็ตาม นับว่าเป็น " พระ " ทั้งสิ้น และพระด้วยกันก็มีคุณธรรมต่างกันหลายระดับชั้น จากน้อยไปหามากดังนี้คือ " พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธเจ้า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธมเจ้า " และย่อมเป็นเนื้อนาบุญที่แตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
๖ . ถวายทานแก่พระสมมุติสงฆ์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานแก่ - พระโสดาบัน แม้จะได้ถวายทานดังกล่าวแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม ( ความจริงยังมีการแยกเป็นพระโสดาปัตติมรรคและพระโสดาปัตติผล ฯลฯ เป็นลำดับไปจนถึงพระอรหัตผล แต่ในที่นี้จะกล่าวแต่เพียงย่นย่อพอให้ได้ความเท่านั้น )
๗ . ถวายทานแก่พระโสดาบัน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระสกิทาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๘ . ถวายทานแก่พระสกิทาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอนาคามี แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๙ . ถวายทานแก่พระอนาคามี แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระอรหันต์ แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๐ . ถวายทานแก่พระอรหันต์ แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๑ . ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายทานดังกล่าวแด่พระองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะถวายทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๒ . ถวายทานแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะถวายสังฆทานดังกล่าวเพียงครั้งเดียวก็ตาม
๑๓ . การถวายสังฆทานที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประธาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่า " การถวายวิหารทาน " แม้จะได้กระทำแต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " วิหารทาน ได้แก่การสร้างหรือร่วมสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ศาลาโรงธรรม ศาลาท่าน้ำ ศาลาที่พักอาศัยคนเดินทางอันเป็นสาธารณะประโยชน์ที่ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน " อนึ่ง การสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์หรือสิ่งที่ประชาชนใประโยชน์ร่วมกัน แม้จะไม่เกี่ยวเนื่องกับกิจในพระพุทธศาสนา เช่น " โรงพยาบาล โรงเรียน บ่อน้ำ แท็งก์น้ำ ศาลาป้ายรถยนต์โดยสารประจำทาง สุสาน เมรุเผาศพ " ก็ได้บุญมากในทำนองเดียวกัน
๑๔ . การถวายวิหารทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ( ๑๐๐ หลัง ) ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " ธรรมทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม " การให้ธรรมทานก็คือการเทศน์ การสอนธรรมะแก่ผู้อื่นที่ยังไม่รู้ให้รู้ได้ ที่รู้อยู่แล้วให้รู้ยิ่งๆขึ้น ให้ได้เข้าใจมรรค ผล นิพพาน ให้ผู้ที่เป็นมิจฉาทิฐิได้กลับใจเป็นสัมมาทิฐิ ชักจูงผู้คนให้เข้าปฏิบัติธรรม รวมตลอดถึงการพิมพ์การแจกหนังสือธรรมะ "
๑๕ . การให้ธรรมทาน แม้จะมากถึง ๑๐๐ ครั้ง ก็ยังได้บุญน้อยกว่าการให้ " อภัยทาน " แม้จะให้แต่เพียงครั้งเดียวก็ตาม การให้อภัยทานก็คือ " การไม่ผูกโกรธ ไม่อาฆาตจองเวร ไม่พยาบาทคิดร้ายผู้อื่นแม้แต่ศัตรู " ซึ่งได้บุญกุศลแรงและสูงมากในฝ่ายทาน เพราะเป็นการบำเพ็ญเพียรเพื่อ " ละโทสะกิเลส " และเป็นการเจริญ " เมตตาพรหมวิหารธรรม " อันเป็นพรหมวิหารข้อหนึ่งในพรหมวิหาร ๔ ให้เกิดขึ้น อันพรหมวิหาร ๔ นั้น เป็นคุณธรรมที่เป็นองค์ธรรมของโยคีบุคคลที่บำเพ็ญฌานและวิปัสสนา ผู้ที่ทรงพรหมวิหาร ๔ ได้ย่อมเป็นผู้ทรงฌาน ซึ่งเมื่อเมตตาพรหมวิหารธรรมได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อใด ก็ย่อมละเสียได้ซึ่ง " พยาบาท " ผู้นั้นจึงจะสามารถให้อภัยทานได้ การให้อภัยทานจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและยากเย็น จึงจัดเป็นทานที่สูงกว่าการให้ทานทั้งปวง อย่างไรก็ดี การให้อภัยทานแม้จะมากเพียงใด แม้จะชนะการให้ทานอื่น ๆ ทั้งมวล ผลบุญนั้นก็ยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า " ฝ่ายศีล " เพราะเป็นการบำเพ็ญบารมีคนละขั้นต่างกัน