ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
อุฏฺฐานวโต สตีมโต สุจิกมฺมสฺส นิสมฺมการิโน
สญฺญตสฺส จ ธมฺมชีวิโน อปฺปมตฺตสฺส ยโสภิวฑฺฒติ.
ยศย่อมเจริญยิ่งขึ้น เมื่อบุคคลมีความขยัน มีสติ
ประกอบการงานที่ไม่มีโทษ ใคร่ครวญก่อนทำทุกครั้ง
สำรวมกาย วาจา ใจ เลี้ยงชีวิตตามธรรม ด้วยความไม่ประมาท
ลูกชายเศรษฐีหนีโรคระบาด กลับมาไม่กล้านำเงินออกมาใช้... เที่ยวรับจ้างเคาะหม้อบอกเวลา... พระราชาทรงให้สืบฐานะที่แท้จริงของเขา
อหิวาตกโรคระบาดในครอบครัวเศรษฐีชาวราชคฤห์ครอบครัวหนึ่ง เริ่มจากสัตว์ล้มตาย ทาส กรรมกร กระทั่งเศรษฐีและภรรยาติดเชื้อ เศรษฐีสั่งให้บุตรชายรีบหนีไป "อย่าห่วงพ่อกับแม่เลย จงไปให้ไกล เมื่อโรคสงบแล้วเจ้าจงกลับมา พ่อได้ฝังทรัพย์ไว้ ณ ที่ตรงนั้น ๔๐ โกฏิ เจ้าจงกลับมาขุดขึ้นใช้เลี้ยงชีวิต" ร่ำลามารดาบิดาแล้วพังผนังเรือนออกไป (ไม่ออกทางประตูหน้าต่าง เพราะเกรงจะติดเชื้อ) ไม่นานมารดาบิดาก็เสียชีวิตจากเชื้อโรคนั้น
เด็กชายหนีออกจากบ้านไปนาน ๑๒ ปี โตเป็นหนุ่มแล้วเขาไว้ผมยาว มีหนวดเครา กลับมายังบ้านเกิด ก็ไม่พบญาติคนใดแล้ว เขาสำรวจหาที่ซ่อนทรัพย์ตามที่บิดาบอกไว้จนพบ แต่ไม่กล้าขุดขึ้นมาใช้ เพราะคิดว่าเราจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าร่ำรวยมาจากอาชีพอะไร? ใครเล่าจะเป็นพยาน ยืนยันว่าเราเป็นลูกเศรษฐีจริง เขาคิดว่าเราจะต้องประกอบอาชีพก่อนแล้วนำทรัพย์ออกมาใช้ทีละ น้อยๆ จึงนุ่งผ้าเก่าผืนหนึ่งเดินไปถามหางานทำ มีคนจ้างให้เขาเป็นยามคอยเดินประกาศบอกเวลา และเตือนภารกิจ เช่น ตอนเช้าตรู่ก็ออกเดินประกาศว่า "พ่อทั้งหลาย จงลุกขึ้นเถิด จงเตรียม เกวียน เตรียมโค, จงนำช้าง ม้า ออกไปกินหญ้าเถิด" , "พ่อทั้งหลาย จงลุกขึ้นหุงข้าว ต้มยาคู....เถิด" และนายจ้างให้เขาพักอยู่ในเรือนหลังหนึ่ง เขาทำหน้าที่นั้นเรื่อยมา
จนวันหนึ่ง พระเจ้าพิมพิสารพระเจ้าแผ่นดินมคธผู้ทรงชำนาญเรื่องเสียงสัตว์ ทรงสดับเสียงประกาศของเขาแล้วตรัสบอกนางสนม (ปริจาริกา- นางสนม, หญิงรับใช้พระราชา) ว่า "นั่น เป็นเสียงของคนมีทรัพย์มาก" นางสนมคนหนึ่งคิดว่า พระราชาคงไม่ตรัสเรื่องเหลวไหล เราจะลอง ให้คนไปสืบดู...คนสืบกลับมารายงานว่า "คนบอกยามนั้นเป็นคนกำพร้า อาศัยอยู่กับนายจ้าง" นางสนมทูลแด่พระราชาๆ ทรงนิ่ง
วันต่อมา นายกุมภโฆสกะก็เดินประกาศบอกเวลาผ่านมายังพระราชนิเวศน์อีก (เขาเดินไป เคาะหม้อไป และพูดประกาศไป จึงได้ชื่อว่า กุมภโฆสกะ) พระราชาก็ยังตรัสว่า "เสียงของคนมี ทรัพย์มาก" คราวนี้นางสนมนั้นทูลขอเงิน ๑,๐๐๐ เพื่อจะใช้ทำความจริงให้ปรากฏ พระราชาทรงอนุญาตแล้ว นางนำลูกสาวมาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าเก่า แล้วทำทีเป็นคนเดินทางไกลผ่านมาขอพัก ค้างแรมที่เรือนนายจ้างของนายกุมภโฆสกะ นายจ้างเห็นว่าที่เรือนของนายกุมภโฆสกะ ยังมีที่ว่างอยู่ จึงให้ไปพักกับเขา รุ่งเช้านางก็ออกปากขอเงินเขา เพื่อจะหุงข้าวทำกับข้าวให้เขา เขาหลงเชื่อให้ เงินแก่นางแล้วออกไปป่าที่บิดาฝังทรัพย์ไว้ นำเงินติดตัวออกมา นางสนมเก็บเงินนั้นไว้แล้วนำเงิน ของพระราชาไปหาซื้ออาหารอย่างดีมาเตรียมไว้ นายกุมภโฆสกะกลับเข้าเรือนแล้วได้บริโภคอาหาร อย่างดีเหล่านั้นก็ชอบใจ นำเงินให้นางทำอาหาร นางก็ออกปากขอพักอยู่อีก ๒-๓ วัน เขาก็อนุญาต ถึงเวลาเย็นก็นำอาหารดีๆ มาให้เขาอีก เขามีจิตร่าเริงเบิกบานมาก
เมื่อเขาเผลอ นางก็แอบทำลายขาเตียงนอนของขา ถึงเวลากลางคืนเขานอนลง เตียงก็หัก ...เขาโวยวายว่า การมาอาศัยอยู่ของสองแม่ลูกทำให้เขาลำบากมาก นางชี้แจงว่า มีพวกเด็กๆ เข้ามาในบ้านและคงเล่นกันจนขาเตียงหัก...นางขอให้เขาไปนอนเตียงเดียวกับบุตรสาว เขาเพลียมาก จึงยอมไปนอนและมีสันถวะกันในคืนนั้น รุ่งเช้าหญิงสาวร้องไห้เล่าให้มารดาฟัง นางปลอบโยนธิดา และรับเขาเป็นบุตรเขยแล้ว
ผ่านไป ๒-๓ วัน นางสนมก็ส่งข่าวให้พระราชาทรงมีพระบรมราชโองการให้คนที่มีบ้านเรือน อยู่ถนนเดียวกับที่นายกุมภโฆสกะอยู่ ต้องจัดมหรสพทุกครัวเรือนไม่อย่างนั้นจะมีโทษ, นางรบเร้า ขอเงินจัดมหรสพ เขาจึงไปนำทรัพย์มา ๑ กหาปณะ นางส่งเงินนั้นไปถวายพระราชาแล้วใช้เงิน ตนเองจัดมหรสพ, ผ่านไป ๒-๓ วัน ก็มีพระราชโองการให้จัดมหรสพอีก เขาต้องแอบไปนำเงินมา ให้อีก...
พระเจ้าพิมพิสารทรงส่งราชบุรุษมาเชิญเขาไปเข้าเฝ้า...พระราชาตรัสถามว่า ทำไมเจ้าต้อง ปกปิดทรัพย์ไว้จำนวนมาก? ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่มีทรัพย์ เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้าง, ตรัสว่า เจ้าจะ ลวงคนอย่างข้าหรือ? ทูลว่า ข้าพระองค์ไม่ได้หลอกลวง, พระราชาทรงให้นำกหาปณะที่เขาจ่าย ให้แก่แม่ยายออกมาให้ดู เขาจำกหาปณะนั้นได้ก็ตกใจมากคิดว่า "เราตายแน่ กหาปณะเหล่านี้ ของเรามาอยู่ในมือพระราชาได้อย่างไรหนอ?" แล้วมองไปรอบๆ ท้องพระโรงก็พบผู้หญิงสองคน แต่งกายงดงามยืนอยู่ เขาจำได้ว่า นั่นคือแม่ยายและภรรยาของเรา จึงคิดว่า "พระราชาส่งพวกนาง ไปล้วงความลับจากเราแน่ๆ เลย" พระราชาตรัสด้วยพระสุรเสียงเป็นมิตรว่า "เจ้าจงเล่าให้เราฟัง สิว่า คนที่มีทรัพย์มากอย่างเจ้า เหตุใดจึงต้องปิดบังฐานะที่แท้จริงไว้" นายกุมภโฆสกะจึงทูลเรื่อง ทั้งหมดให้ทรงทราบ
พระราชาตรัสให้เจ้าหน้าที่ไปขนทรัพย์เหล่านั้นมากองไว้ที่พระลานหลวง แล้วทรงพระ ราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้เขาเป็น "กุมภโฆสกเศรษฐี" ทั้งพระราชทานธิดาของนางสนมนั้นแก่เขาด้วย พระราชาทรงให้เศรษฐีตามเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระเวฬุวันวิหาร ถวายบังคมแล้วทูลว่า "ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทอดพระเนตรชายหนุ่มผู้นี้เถิด เขามีปัญญามาก มีทรัพย์มาก ถึง ๔๐ โกฏิ แต่ไม่อวดตัวว่าร่ำรวย ไม่ทำอาการเย่อหยิ่งเลย ใช้ชีวิตเหมือนคนกำพร้าจนๆ สวมใส่ เสื้อผ้าเก่าๆ ทำงานรับจ้างอาศัยอยู่ในชุมชนของพวกคนรับจ้าง" แล้วตรัสเล่าเรื่องทั้งหมด
พระพุทธเจ้าตรัสว่า "มหาบพิตร การดำเนินชีวิตอย่างนี้ชื่อว่า เป็นอยู่ด้วยธรรม เมื่อไม่มีทรัพย์ก็เลี้ยงชีวิตด้วยธรรม เช่น รับจ้างเลี้ยงชีพก็ดี ทำนาเลี้ยงชีพก็ดี ไม่ทำโจรกรรม เป็นต้น, ยศ (ความเป็นใหญ่, ความมีทรัพย์) ย่อมมีแต่เจริญขึ้นอย่างเดียวแก่ผู้ถึงพร้อมด้วย ความเพียร ถึงพร้อมด้วยสติ มีกรรมทางกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ มีปกติใคร่ครวญด้วยปัญญาแล้ว จึงทำ, มีการสำรวมทางกาย วาจา ใจ เลี้ยงชีวิตอยู่โดยธรรม ตั้งอยู่ในความมีสติ นี่แหละชีวิต ของผู้เป็นอยู่ด้วยธรรม" จากนั้นตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดำรัส นายกุมภโฆสกะดำรงอยู่ใน โสดาปัตติผล
อธิบายพุทธภาษิต
ยศ (ยโส) หมายถึง ความเป็นใหญ่ ความมีโภคสมบัติ,ความนับถือ, ความมีเกียรติและคำสรรเสริญ, ความขยัน ได้แก่ ความเพียรที่เป็นเหตุให้ลุกขึ้นทำการงาน, การ งานที่ไม่มีโทษ ได้แก่ การงานต่างๆ ที่ไม่ผิด (ไม่ผิดธรรม เช่น ไม่ขัดกับกุศลหรือไม่ขัดกับกฎหมาย เป็นต้น), ใคร่ครวญก่อนทำ (นิสมฺมการิโน) ได้แก่ ไตร่ตรอง เช่น ผลจะเป็นอย่างนี้ ถ้าเราทำ อย่างนี้ เหมือนแพทย์ตรวจหาสาเหตุแล้วรักษา ฉะนั้น เลี้ยงชีวิตตามธรรม (ธมฺมชีวิโน) คือ ถ้าเป็น คฤหัสถ์ก็เว้นการงานทุจริตต่างๆ เช่น เว้นโกงด้วยตาชั่ง, ถ้าเป็นบรรพชิต ก็เว้นจากอเนสนากรรม (การแสวงหาที่ไม่ควร) ทั้งหลาย เช่น การทำตนเป็นหมอรักษาคน และการทำตนเป็นทูต เป็นต้น ดำรงชีพอยู่ด้วยภิกขาจาร (บิณฑบาต) สม่ำเสมอ, ไม่ประมาทคือมีสติอยู่เสมอ (ดู ธ.อ.๑/๒๓๓-๒๔๐)
คติธรรมความรู้ คนที่ไม่มีทรัพย์ ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยธรรม คือ ขยัน ประกอบการงานที่ไม่ทุจริต มีสติใช้ปัญญาใคร่ครวญก่อนทำ รู้จักการสำรวมกาย วาจา ใจ ประพฤติตามธรรมเหล่านี้อยู่ด้วยความไม่ประมาท ย่อมเจริญด้วยยศ (= ความเป็นใหญ่, โภคสมบัติ, เกียรติยศ)