นันทิยอุบาสก ผลแห่งบุญ : ทำบุญมาก มีเทพวิมานเกิดรอรับล่วงหน้า

นันทิยอุบาสก ผลแห่งบุญ : ทำบุญมาก มีเทพวิมานเกิดรอรับล่วงหน้า

ปริยัติธรรม

หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง

บิดามารดาสู่ขอนางเรวดีผู้ไม่มีศรัทธา ให้แต่งงานกับบุตรชายคือนันทิยอุบาสก

ครั้งพุทธกาล มีครอบครัวคหบดีประกอบการค้าตระกูลหนึ่งอยู่ในกรุงพาราณสี มีบุตรชายคนเดียวชื่อนันทิยะ คนในครอบครัวล้วนมีศรัทธาดีในพระรัตนตรัย มีปกติบำรุงพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ บิดามารดาแก่เฒ่าลงก็อยากให้นันทิยอุบาสกมีภรรยา จะได้มีทายาทไว้สืบทอดสกุล จึงบอกบุตรชายว่าจะสู่ขอเรวดี ธิดาของเพื่อนบ้านมาแต่งงานด้วย,ทั้งนี้ บิดามารดาไม่รู้นิสัยที่แท้จริงของนางว่าเป็นคนไม่มีศรัทธา ไม่ให้ทาน ส่วนนายนันทิยะรู้นิสัยของนางมาบ้าง จึงตอบปฏิเสธบิดามารดาว่า "ผมยังอยากอยู่เป็นโสด"

บิดามารดาชอบใจในตัวนางเรวดี ปักใจว่าจะให้ลูกแต่งกับเรวดีให้ได้ จึงเชิญนางเรวดีมายังเรือนแล้วให้ช่วยจัดสถานที่ และเลี้ยงดูภิกษุสงฆ์ นางเรวดีทำเป็นคนว่านอนสอนง่าย ทำกิจตามที่พ่อแม่นายนันทิยะบอกให้ทำ หมายให้นันทิยะพึงพอใจให้ได้ เช่น บิดามารดาสั่งว่า

"แม่หนู เจ้าจงเข้ามาช่วยงานบุญในเรือนของเราบ้างเถิด จงนำโคมัยสดทาลูบไล้อาสนะสงฆ์ (นับถือโคเป็นพาหนะเทพเจ้า งานมงคลจะใช้ขี้วัว หรือมูลโคทาตามบ้านเรือน)ปูลาดอาสนะ ตั้งเชิงรองบาตร...เมื่อภิกษุทั้งหลายมาถึง เจ้าจงไหว้ จงช่วยรับบาตร และนิมนต์ให้พวกท่านนั่ง จงกรองน้ำดื่มมาถวายภิกษุ, จงล้างบาตรให้พวกภิกษุ, เมื่อเจ้าทำอย่างนี้ ๆ แล้ว ลูกนันทิยะของเราจะพอใจเจ้า"

นางเรวดีทำตามคำเหล่านั้นโดยไม่อิดออดเลย

เรวดีมาช่วยทำกิจดังกล่าวอยู่หลายครั้ง กระทั่งนายนันทิยะค่อย ๆ ยอมรับ ยอมใกล้ชิด เมื่อมารดาบิดาสำทับว่า "ที่จริงแล้วนางเรวดีเป็นคนที่เชื่อฟัง ฝึกหัดดัดนิสัยได้"นายนันทิยะจึงยินยอมแต่งงานกับนาง เมื่อแต่งงานอยู่กินฉันท์สามีภรรยาแล้ว นางก็ยังทำภาระดังกล่าวอยู่ นันทิยะยิ่งรักมากขึ้น เริ่มมอบให้นางเป็นใหญ่ในการต้อนรับบำรุงภิกษุสงฆ์ที่เข้ามาในเรือน เขาสั่งภรรยาไว้เสมอยามที่ตนเองต้องออกไปค้าขายว่า "ถ้าเธอบำรุงภิกษุสงฆ์และบิดามารดาของเราเช่นนี้ ทำด้วยความไม่ประมาท เจ้าก็จะอยู่ในเรือนนี้ได้อย่างมีความสุข"

นางเรวดีทำทีเป็นประพฤติตามครอบครัวสามีเรื่อยมา จนคลอดบุตรคนที่ ๒ มารดาบิดาของนันทิยะก็สิ้นชีวิตไป ความเป็นใหญ่ในเรือนทั้งหมด (เช่น การดูแลทรัพย์และทาสกรรมกร เป็นต้น) นายนันทิยะก็มอบให้ภรรยาเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

นันทิยอุบาสกเป็นทานบดี...สร้างศาลาหลังใหญ่ถวายพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ทันทีที่หลั่งน้ำถวาย ก็เกิดปราสาททิพย์ผุดขึ้นในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

แต่นั้นเป็นต้นมา นายนันทิยะก็ยิ่งมีศรัทธาในพระศาสนายิ่งขึ้น เขาเริ่มจัดเตรียมภัตแบบต่างๆ ถวายภิกษุสงฆ์ เช่น ภัตสำหรับภิกษุอาคันตุกะ และภัตสำหรับภิกษุเจ็บปวยทั้งให้ทานแก่คนยากไร้ และคนเดินทาง เป็นต้น ชาวบ้านมักเรียกเขาว่า "นันทิยะผู้เป็นมหาทานบดี" (= ผู้เป็นเจ้าของ หรือมีอำนาจในการให้ทาน และเป็นผู้สละจริงไม่หวงแหน)

ต่อมา นันทิยอุบาสกสละทรัพย์ให้สร้างศาลา ๔ มุข (บางแห่งว่า ศาลา ๔ หลัง)จัดให้มีห้อง ๔ ห้อง ภายในมหาวิหาร ณ ป่าอิสิปตนะ (มีอารามหรือวัดอยู่ก่อนแล้ว จึงสร้างศาลาเพิ่ม) และมีการจัดเตียง ตั่ง เครื่องปูลาด สิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นแก่สมณะไว้พร้อม

สร้างเสร็จแล้วกราบทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสด็จเข้ารับมหาทาน... นายนันทิยะถวายภัตตาหารต่าง ๆ แล้ว หลั่งน้ำทักษิโณทก ลงบนพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้ากล่าวคำถวายศาลา พร้อม ๆ กับการหลั่งน้ำนั้นได้มีปราสาทรัตนะ ๗ ประการอันเป็นทิพย์ผุดขึ้นในสวรรค์ดาวดึงส์ ปราสาทมีขนาดประมาณกว้างและยาว ๑๒ โยชน์ สูง ๑๐โยชน์ มีหมู่นางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ อยู่ภายใน (โดยที่โลกมนุษย์ไม่มีใครรู้)

พระศาสดาทรงรับและอนุโมทนามหาทานของเขาแล้ว...

นางเรวดีก็ยังปฏิบัติตามคำกำชับของสามีเรื่อยมา ทั้งต้อนรับแขก และจัดการทานต่าง ๆ ที่สามีดำเนินการไว้ ทั้งส่วนทานเพื่อภิกษุ และคนอนาถาที่เข้ามาพึ่ง

ฝ่ายนายนันทิยะบำเพ็ญบุญต่าง ๆ ทั้งตอนอยู่บ้านและตอนเดินทางไปค้าขาย เขาสละทรัพย์ทำทานในทุกที่ ๆ ไป ทั้งถวายภิกษุ (ภิกษุณี สามเณร) และให้แก่คนอนาถาชื่อเสียงดีงามของเขาฟุ้งไป ทำให้พระอรหันต์ทั้งหลายต้องการสงเคราะห์เขา ให้เขาเพิ่มพูนบุญ) ด้วยการแวะมารับทานจากเรือนของเขาเนือง ๆ (วิมาน.อ.๓๙๗-๘)

พระมหาโมคคัลลานะเที่ยวไปในสวรรค์ดาวดึงส์พบเทพวิมานและหมู่เทพธิดา ต่างรอคอยนายนันทิยะ

ต่อมา พระมหาโมคคัลลานเถระใช้อิทธิฤทธิ์ท่องเที่ยวไปในสวรรค์ดาวดึงส์ ท่านได้เห็นวิมานมีรัศมีงามดังดวงอาทิตย์ คลุมไว้ด้วยตาข่ายทอง (เหมือนของยังอยู่ในกล่อง)มีนางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ นางอาศัยอยู่ เทพธิดาบางพวกนำแก่นจันทน์มาลูบไล้วิมานภายนอกบางพวกนั่งเล่นดนตรีอยู่ภายในวิมาน

พระเถระหยุดมองดูเห็นความต่างกับวิมานอื่น ๆ เพราะมีตาข่ายทองคลุมอยู่ ขณะนั้นเทพบุตรทั้งหลายรู้ว่าพระมหาโมคคัลลานะมาจึงมาไหว้นมัสการ พระเถระถามว่า "นั่นเป็นปราสาททิพย์ของใครกัน?" เทพบุตรเรียนว่า "ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ปราสาทหลังนี้เทพบุตรผู้เป็นเจ้าของยังไม่มา เขายังเป็นมนุษย์ชื่อนันทิยะ เป็นบุตรของกุฎุมพีในกรุงพาราณสี เขาสละทรัพย์สร้างศาลา (อรรถกถาวิมานวัตถุว่า สร้าง ๔ หลัง, อรรถกถาธรรมบทว่า สร้าง ๑ หลัง มี ๔ มุข) ถวายภิกษุสงฆ์ไว้ในอิสิปตนมหาวิหาร ปราสาทหลังนี้เกิดขึ้นเพื่อนายนันทิยะเจ้าข้า"

เหล่านางเทพอัปสรในวิมานนั้น ได้ยินเสียงเจรจาแล้วก็ออกมาไหว้พระเถระ และกล่าวว่า "ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ พวกดิฉันเกิดอยู่ในปราสาททิพย์นี้ เพื่อเป็นเทพธิดาของนันทิยอุบาสกชาวกรุงพาราณสี พระคุณเจ้ากลับสู่โลกมนุษย์แล้ว ช่วยบอกแก่เขาที่ว่าเหล่าเทพธิดาต่างรอคอยการมาของเขาอยู่ด้วยความกระวนวายใจ ท่านอย่าได้ชักช้าอยู่เลยเทวสมบัติน่าปรารถนากว่าสมบัติที่เขากำลังได้รับในโลกมนุษย์ ให้รีบทิ้งภาชนะดินมารับภาชนะทองเถิด" พระเถระรับคำว่า "ถ้าเรามีโอกาสพบเขา ก็จะบอกแก่เขาให้"

เมื่อกลับสู่โลกมนุษย์แล้ว พระมหาโมคคัลลานะเข้าเฝ้าขณะพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางพุทธบริษัท ๔ (ณ มหาวิหารอิสิปตนะ) จบแล้ว พระเถระได้ทูลถามว่า"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ มนุษย์ที่ทำบุญอยู่ในโลกมนุษย์นี้ ขณะเดียวกันก็มีทิพยสมบัติ เช่นปราสาททิพย์เกิดขึ้นในสวรรค์ เพื่อรอบุคคลผู้ทำบุญ เป็นไปได้หรือพระพุทธเจ้าข้า?"

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า

"โมคคัลลานะ เธอได้เห็นปราสาททิพย์ของนายนันทิยะแล้วมิใช่หรือ? เหตุใดยังมาถามเราอีก?"

จากนั้นตรัสอีกว่า "โมคคัลลานะ สิ่งที่เธอได้เห็นมา (เหล่าเทพธิดารอนายนันทิยะ) ก็เป็นเหมือนผู้ยืนอยู่ในบ้านมองออกไปนอกบ้าน ได้เห็นลูก หรือพี่น้องที่ไปอยู่ไกล ๆ กำลังเดินมา ก็ดีใจว่าคนโน้นคนนี้กลับมาแล้ว หมู่ญาติก็เกิดความยินดีปรีดา กล่าวว่า มาแล้ว ๆฉันใด เหล่าเทวดาก็พากันถือเครื่องบรรณาการทิพย์ ๑๐ อย่าง (เช่น อายุ และวรรณะ) รอมอบให้แก่สตรีหรือบุรุษผู้ทำความดีไว้ในโลกนี้ แล้วละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ฉันนั้นเหมือนกัน"(ร.อ.๓/๓๕๖-๘)

แล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า

"ญาติ มิตร และผองเพื่อน (ผู้มีจิตใจดี) ทั้งหลาย เห็นบุคคลผู้ไปอยู่ต่างถิ่นมานาน เดินทางกลับมาโดยสวัสดี ย่อมยินดีร่าเริงว่า กลับมาแล้ว ฉันใด บุญทั้งหลายก็ย่อมต้อนรับบุคคลผู้กระทำบุญไว้ (ด้วยบรรณาการทิพย์ ๑๐ เช่น สุข ยศ รูป และเสียงทิพย์)ซึ่งไปจากโลกนี้สู่โลกหน้า ดุจพวกญาติรอต้อนรับญาติหรือคนผู้เป็นที่รักกลับมา ฉันนั้น"(ขุ.ธ.ข้อ ๒๖)

ในอรรถกถาวิมานวัตถุกล่าวว่านายนันทิยะฟังอยู่ด้วย จึงทำบุญต่าง ๆ ยิ่งขึ้น (วิ.อ. ๓๙๙)

นางเรวดีต้องการให้สามีเลิกถวายทานจึงเริ่มแผนกลั่นแกล้งภิกษุ...ถูกสามีขับไล่

ครั้งหนึ่ง เมื่อสามีออกจากบ้านไปค้าขายหลายวัน นางเรวดีผู้เคยประพฤติตนตามคำของพ่อแม่สามีและสามีตลอดหลายปีที่ผ่านมา โดยที่จิตใจมิได้เกิดความยินดีเต็มใจอย่างแท้จริง แต่ทำตามคำสั่ง เพราะเกรงว่าจะไม่ได้รับความรัก (เรื่องไม่ได้เล่าอย่างละเอียด เป็นไปได้ว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานางอาจไม่เคยถวายทานด้วยตนเองเลยก็ได้ หลังจากพ่อแม่สามีเสียไปแล้ว) นางกลับกลายเป็นเรวดีที่มีนิสัยตระหนี่ ขี้โกรธ ทำการยกเลิกการบริจาคให้แก่คนอนาถาทั้งหมด แล้วสั่งให้หุงปลายข้าวและน้ำต้มผักถวายแก่หมู่ภิกษุ และนางวางแผนใส่ร้ายภิกษุทั้งหลาย คือ เมื่อหมู่ภิกษุลุกจากที่นั่งกลับออกไป นางก็จะนำเมล็ดข้าวสุกและเศษกับข้าวไปโปรยยังบริเวณที่ภิกษุนั่งฉัน แล้วโวยวายให้คนในเรือนพากันมามุงดู นางก็กล่าวว่า "พวกท่านจงดูการกระทำของพวกสมณะ พวกสมณะกินทิ้งกินขว้างซึ่งข้าวปลาอาหารของผู้มีจิตศรัทธา" หวังให้คนในเรือนเป็นพยานยืนยันแก่สามี

ครั้นนายนันทิยะค้าขายเสร็จเดินทางกลับมา ได้ทราบเรื่องดังกล่าวจากคนในเรือนเขาจึงขับไล่นางเรวดีให้กลับไปเรือนสกุลของตนเองในวันแรกที่กลับมาถึงนั่นแหละ

นายนันทิยะสลดใจ ผิดหวัง แต่ศรัทธายังมีอยู่แรงกล้า ในวันที่ ๒ เขาก็ได้ถวายมหาทานแต่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน และจัดภัตต่าง ๆ ถวายตามเดิม ในส่วนการสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่งเขาก็ทำต่อไป

นายนันทิยะรับนางเรวดีกลับ แต่ไม่ให้ความเป็นใหญ่ดังเดิม,นันทิยะตายแล้วเกิดในเทพวิมาน ยักษ์พาเรวดีไปชมวิมานก่อนนางตายแล้วเกิดในนรก

หลายวันต่อมา พวกเพื่อนของนางเรวดีเข้ามาหานายนันทิยะแล้ววิงวอนขอให้นางเรวดีได้กลับมาอยู่กับลูก ๆ นันทิยอุบาสกใจอ่อนอนุญาตให้กลับมา แต่ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการถวายทานอีก เขาเลี้ยงดูภรรยาด้วยการให้เพียงอาหารและเครื่องนุ่งห่มเท่านั้น

ต่อมา นันทิยอุบาสกสิ้นชีพแล้วเกิดในเทพวิมานของตนในสวรรค์ดาวดึงส์นางเรวดีได้เป็นใหญ่ในเรือนนี้อีกครั้ง (บุตร ๒ คน เกรงใจมารดา) นางสั่งยกเลิกการให้ทานทุกอย่าง และเที่ยวด่าบริภาษภิกษุสงฆ์ นางคิดว่า "เพราะพวกสมณะ ทำให้ตัวเราไม่ได้ทรัพย์มรดกจากสามี"

ก่อนนางตาย ๗ วัน ท้าวเวสวัณมหาราช (๑ ใน ๔ ท้าวมหาราชผู้ปกครองสวรรค์จาตุมหาราชิกา, ท้าวเวสวัณปกครองหมู่ยักษ์) ทรงรู้ว่าอีก ๗ วัน นางเรวดีจะตายแล้วตกนรก นางจะไม่ได้มีโอกาสเห็นผลบุญของนันทิยอุบาสกผู้เป็นสามี จึงตรัสให้ยักษ์ ๒ ตนแสดงตนในลักษณะ มีผมและหนวดสีดำปนแดงมีแสง จมูกบิดเบี้ยวผิดจากปกติ มีเขี้ยวโง้งมีนัยน์ตาแดง มีผิวพรรณขรุขระ น่ากลัวน่าเกลียดอย่างยิ่ง เดินไปทั่วพระนครพาราณสีประกาศว่า "อีก ๗ วันนางเรวดีจะตาย นางจะถูกพวกเราจับโยนลงนรก"

นางเรวดีและหมู่ประชาชนได้เห็นได้ฟังแล้ว ตกใจ หวาดสะดุ้งกลัวนางขังตัวเองอยู่แต่ในเรือน นั่งหลบอยู่ในห้องปิดแน่นหนา คิดว่าปีศาจ ๒ ตนจะไม่สามารถเข้ามาจับตัวเราไปได้

วันที่ ๗ ยักษ์ ๒ ตนนั้นก็ปรากฏตัวภายในห้อง นางเรวดีเห็นแล้วกลัวจนลนลานยักษ์ตรงเข้ามาจับที่แขนทั้งสองข้าง กล่าวว่า "เรวดีผู้แสนชั่วร้าย เจ้าจงลุกขึ้น ได้เวลาที่บาปกรรมจะนำพาเจ้าให้ประสบผลแห่งความชั่วและความดีแล้ว" นำนางออกไปเดินในถนน พร้อมประกาศก้องว่า "มนุษย์ทั้งหลาย จงดูนางเรวดีผู้ชั่วร้ายไว้..." คุมตัวให้นางเดินล้มลุกคลุกคลานจากถนนหนึ่งไปยังถนนหนึ่งทั่วพระนคร แล้วจับเหาะนำไปปรากฏตัวในสวรรค์ดาวดึงส์ เบื้องหน้าคือเทพวิมานของนันทิยอุบาสก

นางเรวดีถามว่า "นั่นเป็นวิมานของใครกัน มีรัศมีงามดุจดวงอาทิตย์ คลุมด้วยตาข่ายทอง เต็มด้วยหมู่เทพธิดา?" ยักษ์ตอบว่า "นั่นเป็นวิมานของอุบาสกชื่อนันทิยะชาวกรุงพาราณสี เขาเป็นอุบาสกผู้ไม่ตระหนึ่ เป็นทานบตี เขาตายแล้วมีความสุขอยู่ในวิมานนี้"

นางเรวดีรีบกล่าวว่า "ดิฉันเป็นภรรยาของเขา เป็นแม่เรือนของเขา ดิฉันดูแลทรัพย์สินของเขาอยู่ ปล่อยให้ดิฉันอยู่กับเขาในที่นี้เถิด ดิฉันไม่ได้ปรารถนานรก" แล้ววิงวอนต่างๆ นานา ยักษ์ไม่ฟัง นำนางมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าอุสสทนรกทันที ยักษ์กล่าวว่า"แน่ะนางผู้ชั่วร้าย นี่แหล่ะ นรกสำหรับเจ้าผู้ไม่ทำบุญ เอาแต่ตระหนี่ ขี้โกรธ ทำบาปกรรมต่างๆ เจ้าย่อมไม่ได้เพื่อจะอยู่กับเทวดาในสวรรค์" กล่าวจบยักษ์ทั้งสองก็อันตรธานไป

ทันใดนั้น ก็มีนายนิรยบาลรูปร่างคล้ายยักษ์ ๒ ตน ตรงเข้ามาจับฉุดให้นางเข้าไปใกล้ปากทางคูถนรก ที่ชื่อว่า สังสวกะ นางเห็นสภาพนรกนั้นแล้วถามว่า "เพราะอะไรจึงมีแต่คูถ มูตร และของเน่าเหม็น ทำไมกลิ่นเหม็นรุนแรงขนาดนี้?"

นายนิรยบาลตอบว่า "นี้คือ สังสวกนรกลึก ๑๐ ชั่วบุรุษ (ต่อๆ กัน) เป็นที่ ๆเจ้าจะต้องหมกไหม้อยู่เป็นพันปี" ถามว่า "ดิฉันทำกรรมชั่วด้วยกาย วาจา ใจ อะไรไว้หรือจึงต้องมานรกแห่งนี้" ตอบว่า "เจ้ามุสาวาทหลอกลวงสมณพราหมณ์ และวณิพกทั้งหลายไว้ (เช่น พูดเท็จว่าสมณะกินข้าวปลาแล้วทิ้งเกลื่อนพื้น) บาปกรรมเหล่านั้นทำให้เจ้ามายังสังสวกนรกแห่งนี้ (ชื่อสังสวกะเพราะเต็มไปด้วยของไม่สะอาด มีของไม่สะอาดหลั่งไหลมาทับสัตว์นรก) นอกจากนี้ เจ้ายังจะถูกนายนิรยบาลตัดมือ เท้า หู และจมูก แล้วมีฝูงกามารุมจิกกินร่างของเจ้าด้วย (=ฝูงกามีปากเหล็ก ปลายคม จิกร่างขนาด ๓ คาวุตของนาง ตรงที่หนังเนื้อถูกจิกกินก็จะเกิดหนังเนื้อผุดขึ้นอีกด้วยอำนาจอกุศลกรรม)

นางเรวดีวิงวอนอีกครั้งว่า "ได้โปรดเถิดท่านเจ้าข้า ช่วยนำดิฉันกลับไปยังโลกมนุษย์ก่อนเถิด ดิฉันจะไปทำกุศลให้มาก ดิฉันจะให้ทาน ประพฤติสม่ำเสมอ การสำรวม(ศีล) และจะฝึกตน ทำอย่างที่คนมีความสุขเขาทำกัน จะได้ไม่ต้องมาเดือดร้อนใจภายหลัง"

นายนิรยบาลกล่าวว่า "เจ้ามัวประมาทมายาวนาน ถึงตอนนี้จะมาคร่ำครวญทำไมความทุกข์เผ็ดร้อนก็มาจากบรรดากรรมที่เจ้าทำไว้เอง"

ความปรารถนาดีของเรวดีต่อเพื่อนมนุษย์ความตั้งใจจะทำกรรมดี แต่เวลาไม่มีแล้ว

นางเรวดีเห็นหมดทางจะรอดตาย และไม่ได้อยู่กับอดีตสามีในสวรรค์แน่นอนแล้วจึงกล่าวว่า "ใครๆ ในเทวโลก ถ้ามีโอกาสไปโลกมนุษย์ ถ้ามีมนุษย์ถามถึงดิฉัน พึงช่วยนำคำพูดของดิฉันไปบอกพวกมนุษย์ด้วยว่า

ขอท่านทั้งหลายจงให้ทาน ให้ผ้านุ่งห่ม ที่นอน ข้าว น้ำ แก่สมณพราหมณ์ผู้วางอาชญาแล้ว (มีศีล, ไม่เบียดเบียน) เพราะว่า คนตระหนี่ ขี้โกรธ ทำบาปกรรม ย่อมไม่ได้อยู่ร่วมกับผู้ขึ้นสวรรค์

และหากดิฉันพ้นจากนรกร้ายกาจแห่งนี้ ได้เกิดเป็นมนุษย์ ดิฉันจะปฏิบัติตนเป็นผู้รู้ถ้อยคำของผู้ขอ (=รู้ว่าสมณะยืนเพื่ออาหาร, ผู้เดือดร้อนจึงมาขอ) จะทำศีลให้สมบูรณ์ทำกุศลให้มาก ดิฉันจะให้ทาน ประพฤติสม่ำเสมอ สำรวม และจะฝึกหัดขัดเกลาตนแน่นอน

ดิฉันจะปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น ทำถนนเข้าไปในหนทางลำบาก จะขุดบ่อน้ำและตั้งน้ำดื่มไว้ให้คนและสัตว์ ทำด้วยจิตที่ผ่องใส

ดิฉันจะสมาทานรักษาอุโบสถประกอบด้วยองค์ ๘ (อุโบสถศีล ๘) ทุก ๑๔ คำหรือ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำแห่งปักษ์ และปาฏิหาริยปักษ์ สำรวมในศีลทุกเมื่อ จะให้ทานโดยไม่ประมาท เพราะดิฉันได้เห็นและประสบผลกรรมด้วยตนเองแล้ว"

นายนิรยบาลได้โยนร่างของนางเรวดี ผู้กำลังพูดรำพันและดิ้นรนหนีลงไปในนรกนางตายแล้วเกิดเป็นสัตว์อยู่ในนรกแห่งนั้น สัตว์นรกตนนั้นยังรำพันต่ออีกว่า

"เมื่อก่อนเราเป็นคนตระหนี่ ด่าบริภาษสมณพราหมณ์ และหลอกลวงสามีด้วยเรื่องไม่จริง จึงหมกไหม้อยู่ในนรกน่ากลัวแห่งนี้"

คติธรรมสำคัญของเรื่อง : ผลของบุญ เป็นเสมือนการที่หมู่ญาติ จัดสิ่งของรอต้อนรับการมาของญาติผู้เป็นที่รัก (=ผู้ทำบุญไว้)


พิมพ์