ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ทิโส ทิสํ ยนฺตํ กยิรา เวรี วา ปน เวรินํ.
มิจฺฉาปณิหิตํ จิตฺตํ ปาปิโย นํ ตโต กเร
จิตที่ตั้งไว้ผิด ทำให้เป็นคนเลวทราม
เกิดความพินาศเสียหายยิ่งกว่าโจรเจอโจร หรือศัตรูเจอศัตรู
นันทเศรษฐีหลบภัยจากพระราชามาเป็นคนเลี้ยงโค... เสด็จโปรดก่อนเขาโดนฆ่าตาย
คนเลี้ยงโค (โคปาลกะ, นายโคบาล) คนหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ชื่อว่า นันทะ มีฐานะแท้จริง คือเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก แต่เขาหลบเลี่ยงการบีบคั้นของพระราชา (ราชปีฬํ, พระราชาเบียดเบียนบางอย่าง เช่น จะให้รับราชการแล้วไปอยู่ต่างเมือง) จึงปลอมตัว มาเป็นคนรับจ้างเลี้ยงโค เหมือนอย่างที่เกณิยเศรษฐีหลบเลี่ยงอยู่ในเพศบรรพชิตคือ เป็นชฎิล เพื่อรักษาความมั่งคั่งของตนเองไว้
เขามีหน้าที่เลี้ยงโค (รีดนมโค, ทำผลิตภัณฑ์จากน้ำนมโค) และนำเบญจโครส (รสจากโค ๕ คือ นมสด, นมส้ม, เปรียง, เนยใส, เนยข้น) มาส่งให้อนาถบิณฑิกเศรษฐี ทำให้เขาได้ฟังธรรม จากพระพุทธเจ้า เขาเลื่อมใสแล้วกราบทูลนิมนต์ให้เสด็จไปยังที่อยู่ของเขาบ้างเพื่อจะถวายเบญจ โครส แต่พระศาสดาทรงเห็นว่า ญาณของเขายังไม่แก่กล้า จึงยังไม่รับนิมนต์...
ต่อมา ทรงทราบว่า ญาณของนันทโคบาลแก่กล้าแล้ว วันหนึ่ง จึงเสด็จมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ติดตามไปประทับนั่งยังโคนต้นไม้ใกล้กับที่อยู่ของเขา นายนันทะรู้แล้วรีบมาไหว้ กระทำการ ต้อนรับและทูลนิมนต์ให้ทรงรับ "ปัญจโครสทาน" (การถวายรสที่ทำจากน้ำนมโค ๕ อย่าง) อัน ประณีตแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขตลอด ๗ วัน ซึ่งพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว...
ในวันที่ ๗ พระศาสดาทรงเสวยแล้ว ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรม คือ อนุบุพพิกถา เช่น ทานกถา เป็นต้น จบพระเทศนา นายนันทะดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล, เขาถือบาตรเดินตาม ส่งเสด็จไปไกลทีเดียว จนพระศาสดาตรัสว่า "จงหยุดเถิดอุบาสก" เขาไหว้แล้วน้อมถวายบาตร คืนพระองค์ ระหว่างเขาเดินกลับที่อยู่ได้ถูกพรานคนหนึ่งยิงตาย (วิชฺฌิตฺวา - ยิงแล้ว, แทงแล้ว) พวกภิกษุที่ติดตามเสด็จอยู่ข้างหลังเห็นแล้วได้กราบทูลให้ทรงทราบ, พวกทนพูดกันว่า "นันทโคบาลตายเพราะพระศาสดาเสด็จมาที่นี่ ถ้าพระองค์ไม่เสด็จมา เขาคงไม่โดนฆ่าตาย"
พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้ว ตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย เราจะมาหรือไม่มาก็ไม่มีวิธีช่วยให้ นันทะพ้นจากความตายได้ แม้เขาจะไม่ได้อยู่ที่นี่ จะไปอยู่ในทิศอื่นๆ ก็ไม่พ้นความตาย, เพราะว่า พวกโจร หรือพวกคนที่เป็นศัตรู ยังไม่อาจกระทำความพินาศให้มากเท่ากับจิตที่ตั้งไว้ผิด อันเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เทียว ย่อมกระทำความพินาศให้มากกว่านั้นอีก" แล้วตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต
ทิโส ทิสํ-โจร (เห็นซึ่ง) โจร (หรือข้าศึก, ศัตรู เห็นข้าศึก, เห็น ศัตรู) อธิบายว่า โจรคนหนึ่งได้ประพฤติผิดในบุตร ภรรยา นา ไร่ วัว ควายของโจรคนหนึ่ง, ตนเอง ทำผิดต่อโจรคนใด ก็เห็นว่าโจรคนนั้นก็ย่อมทำผิดแบบตนนั่นแหละ, หรือเวรีบุคคล (คนผู้มีเวร, คนจองเวร) เห็นเวรีบุคคลที่ผูกเวรกันไว้ด้วยเรื่องบางอย่าง, เมื่อโจรหรือเวรีบุคคลมีโอกาส จึงทำ ความเบียดเบียนบุตรและภรรยาของโจร หรือเวรีบุคคลนั้น ด้วยการทำลายสิ่งต่างๆ ของอีกฝ่าย ให้หายนะ เช่น เผานา หรือปลงเสียจากชีวิต ด้วยความที่ตนเป็นคนโหดร้าย แต่ทว่า การทำลาย กันของโจรกับโจร, คนผู้มีเวรกับคนผู้มีเวรเหล่านั้น ย่อมทำลายได้เพียงอัตภาพนี้เท่านั้น, ส่วนจิต ที่ตั้งไว้ผิด คือ ตั้งอยู่ในอกุศลกรรมบถ ๑๐ ทำให้ผู้นั้นเป็นคนเลวทราม ทำความพินาศให้ยิ่งกว่า นั้นอีก เพราะทำความพินาศให้ในปัจจุบันด้วยและซัดไปในอบาย ๔ ให้ยกศีรษะไม่ขึ้นตลอด ๑,๐๐๐ อัตภาพด้วย, ส่วนอกุศลกรรมที่นันทอุบาสกทำไว้ในกาลก่อนนั้น พวกภิกษุมิได้กราบทูล ถาม พระศาสดาจึงมิได้ตรัสบอก (ดู ธ.อ.๑/๓๒๓-๓๒๕)
คติธรรมความรู้ โจรสองพวกเป็นศัตรูกัน พบกันแล้ว ย่อมทำร้ายทำลายกันและกันบ้าง หรือทำหมู่ญาติของอีกฝ่ายให้พินาศไป แต่ผู้ใดยึดถือและประพฤติตามมิจฉาทิฏฐิ ย่อมเกิดความพินาศเสียหายยิ่งกว่านั้น