นางอุตตรา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา

นางอุตตรา ผลแห่งบุญ : ผลของการปฏิบัติเมตตาและวิปัสสนาภาวนา

ปริยัติธรรม

หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง

เมื่อปุณณะเศรษฐีได้เป็นเศรษฐีฉับพลัน ลูกสาวก็เป็นที่หมายปอง.. สุมนเศรษฐีทวงบุญคุณ บีบให้นางอุตตราแต่งงานกับลูกชายตน

เมื่อปุณณะเศรษฐีสร้างเรือนใหม่แล้ว เรือนหลังนี้ก็เปิดต้อนรับภิกษุ ภิกษุณี คนในครอบครัวมีศรัทธาทำทาน มีศีล มีกัลยาณธรรมเป็นนิตย์ บุตรสาวคือนางอุตตราก็เป็นที่ต้องการของตระกูลใหญ่ ต่างต้องการได้นางมาเป็นบุตรสะใภ้ เพื่อเกี่ยวดองเป็นญาติกับปุณณะเศรษฐี

สุมนเศรษฐีตัดสินใจเจรจาสู่ขอนางอุตตรให้กับบุตรชายของตน เมื่อปุณณะเศรษฐีตอบปฏิเสธ สุมนเศรษฐีก็พูดทวงบุญคุณว่า "ท่านปุณณะ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ท่านอาศัยครอบครัวของเราเลี้ยงชีพ ทั้งการงาน และที่อยู่อาศัย แม้แต่ที่นาที่ท่านไปไถแล้วเกิดเป็นทองคำนั้นก็เป็นที่นาของเรา จงยกธิดาให้บุตรชายของเราเถิด มิตรภาพของพวกเราจะได้ยาวนานขึ้นอีก" แต่ปุณณะเศรษฐีก็ยังปฏิเสธด้วยการกล่าวว่า "บุตรชายของท่านสุมนเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าแต่งไปแล้วนางอาจไม่ได้ทำบุญ ลูกของเราอยู่ห่างจากพระรัตนตรัยไม่ได้ ผมไม่อาจให้แต่งงานกับลูกชายท่านได้"

ข่าวที่ปุณณะเศรษฐีไม่ยกนางอุตตราให้กับบุตรชายของสุมนเศรษฐีได้แพร่กระจายไป พวกเศรษฐีและคหบดีชาวราชคฤห์ที่สนิทสนมกับสุมนเศรษฐี ต่างพากันมาขอร้องวิงวอนให้ปุณณะเศรษฐีเห็นแก่ไมตรีอันยาวนาน อย่าทำลายไมตรีเลย

ปุณณะเศรษฐีพูดคุยกับนางอุตตราผู้เป็นธิดาแล้ว บุตรสาวยินยอม สุมนเศรษฐีจึงจัดพิธีสู่ขอและรับนางไปสู่ตระกูลในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ

ครอบครัวสามีเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่งงานแล้ว นางอุตตราอดทำบุญ... ปุณณะเศรษฐีส่งเงินให้ว่าจ้างหญิงคณิกามาบำเรอสามีแล้วใช้เวลานั้นบำเพ็ญบุญ

นับแต่แต่งงานเข้าสู่ตระกูลสามีแล้ว นางอุตรามิได้มีโอกาสประพฤติกุศลอย่างเดิมเลย ไม่ได้เข้าไปบำรุงภิกษุ ภิกษุณี ทั้งไม่ได้โอกาสนิมนต์พวกท่านมาในเรือนเลย นับจากวันเข้าพรรษาเป็นต้นมา นางไม่ได้ถวายทานหรือฟังธรรมเลยตลอด ๒ เดือนครึ่ง เหลือเวลาอีกเพียงครึ่งเดือน (๑๕ วัน) ก็จะครบไตรมาส จะถึงวันออกพรรษา

นางอุตตราตัดสินใจส่งข่าวไปหาปุณณะเศรษฐีผู้เป็นบิดาว่า "พ่อจำ เหตุใดพ่อจึงให้พวกเขาจับลูกมาขังไว้แต่ในเรือน พ่อทำอย่างนี้สู้ทำให้ลูกเสียโฉม หรือให้ไปเป็นนางทาสีคนพวกอื่นเสียยังดีกว่า การที่มาอยู่ในตระกูลมิจฉาทิฏฐิไม่ประเสริฐเลย ตั้งแต่ลูกมาอยู่ในสกุลนี้ ลูกยังไม่เคยได้ทำบุญกุศลเลย ไม่ได้พบภิกษุ ภิกษุณีเลย"

ปุณณะเศรษฐีได้ข่าวแล้วเสียใจ ครุ่นคิดหาทางออกให้แก่บุตรสาว แล้วตัดสินใจส่งคนนำเงิน ๑๕,๐๐๐ กหาปณะไปให้ลูก พร้อมจดหมายสั่งว่า "ลูกรัก ในนครนี้ มีหญิงคณิกา(หญิงงามเมือง, โสเภณี หญิงแพศยา) ชื่อสิริมาอยู่ เจ้าจงให้คนไปเชิญมาเจรจาให้นางรับเป็นนางบำเรอสามีของเจ้า โดยจ่ายให้นางวันละ ๑,๐๐๐ กหาปณะ (๑,๐๐๐ X ๑๕ วัน =๑๕,๐๐๐ กหาปณะ) ให้บำเรอ ๑๕ วัน ระหว่างนี้ตัวลูกก็จงทำบุญต่าง ๆ ตามสบาย"นางอุตตราให้คนไปเชิญนางสิริมามาพูดคุย นางสิริมาตอบตกลงแล้ว จึงพาไปพบสามี และให้เหตุผลว่า "นายจำ หญิงคนนี้จะเป็นหญิงบำเรอของท่านตลอด ๑๕ วัน ส่วนดิฉันจะขออนุญาตถวายทาน ฟังธรรมตลอด ๑๕ วัน ขอได้โปรดอนุญาตให้ดิฉันทำบุญกับพระผู้เป็นเจ้าที่ดิฉันเคารพนับถือได้ตามสะดวกด้วยนะ"

สามีเห็นรูปโฉมนางสิริมาแล้ว เกิดความเสน่หามาก ตอบตกลงตามคำของภรรยา (นางอุตตราผู้เป็นภรรยายินยอมอนุญาตด้วยความเต็มใจ สามีจึงไม่ผิดศีลข้อ ๓)

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เข้าออกเขตเรือนของสุมนเศรษฐีต่อเนื่อง ๑๕ วัน...นางอุตตรารอดจากเนยใสร้อนเพราะอานุภาพเมตตา

วันรุ่งขึ้น นางอุตตราก็ทูลเชิญพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จมาจากพระเวฬุวันมหาวิหารเพื่อรับมหาทานในเรือนหลังนี้ตลอด ๑๕ วัน พระพุทธเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว นางมีจิตปิติโสมนัสว่า "เราจะได้อุปัฏฐากพระศาสดา จะได้ฟังธรรมติดต่อกันไปจนถึงวันมหาปวารณา"

กลับถึงเรือนแล้ว นางดำเนินการจัดแจงโรงครัว เตรียมเสบียงและไทยธรรมต่าง ๆ ให้เพียงพอกับการทำบุญ ๑๕ วัน

นับแต่วันรุ่งขึ้นเรื่อยไปจนถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ (รวม ๑๔ วัน) นางก็ได้กระทำบุญต่าง ๆ เหล่านั้นแต่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ ฝ่ายสามีก็เพลิดเพลินการอภิรมย์กับนางสิริมา

บ่ายของวันขึ้น ๑๔ ค่ำนั้น นางอุตตรายังคงสั่งการคนงานให้ทำกิจต่าง ๆ เช่น หุงต้ม นึ่ง ผัด เพื่อให้พร้อมถวายทานในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาและวันมหาปวารณา

ฝ่ายสามีคิดว่า พรุ่งนี้เป็นวันมหาปวารณาของคนที่นับถือพระพุทธเจ้า เมียอันธพาลของเราเที่ยวทำอะไรอยู่ที่ไหนนะ? แล้วเดินไปที่หน้าต่าง มองไปที่โรงครัว ก็เห็นนางอุตตรามีผ้านุ่งห่มเปรอะเปื้อนขะมุกขะมอมวุ่นอยู่กับกิจต่าง ๆ จึงคิดว่า นางอันธพาลมีเงินมากมายแต่กลับเลือกจะทำอะไรโง่ ๆ เพื่ออุปัฏฐากพวกสมณะโล้น แทนที่จะเที่ยวไปในที่ต่าง ๆ ดูชมสิ่งที่สวยงาม, เมื่อคิดถึงตอนนี้แล้วเขาก็เดินหัวเราะกลับไปห้องนอน

ความเป็นไปของเขาตกอยู่ในสายตาของนางสิริมาผู้แอบดูอยู่ นางเกิดความหึงหวงว่า "เรามีความสุขดีที่ได้มาอยู่ในเรือนแห่งนี้ เขาก็รักเราดี เราก็มีใจรักใคร่เขา วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่นางอุตตราว่าจ้างเรามาบำเรอเขา เขาก็คงคิดถึงเมีย จึงมาแอบดูด้วยความรักและห่วงใย น่าเสียดายความสุข ถ้าเราต้องออกจากเรือนนี้ไป มีทางเดียว เราต้องทำให้นางเสียโฉม หรือไม่ก็ตายไป เราก็จะได้อยู่ในฐานะภรรยาของเขา ได้เป็นใหญ่ในเรือนนี้แท้จริง"

นางสิริมาเดินออกจากเรือนมุ่งเข้าไปในโรงครัว โดยที่นางอุตตราไม่ทันระวังตัว นางสิริมาก็หยิบทัพพีตักน้ำมันที่เดือดพล่านในกะทะทอดขนมขึ้น เดินเข้าไปใกล้ ๆ นางอุตตราเหลือบเห็นเข้าพอดี รู้ความประสงค์ร้าย จึงแผ่เมตตาให้นางสิริมาว่า

"สหายหญิงของเรามี อุปการะแก่เรามาก เพราะนางแท้ ๆ เราจึงได้ถวายทาน และฟังธรรม จักรวาลก็แคบเกินไป พรหมโลกก็ต่ำเกินไป นางมีคุณใหญ่แก่เรามาก ถ้าเราโกรธนาง น้ำมันก็จงลวกตัวเถิด ถ้าเราไม่มีความโกรธ น้ำมันร้อนก็อย่าลวกเราเลย"

ทันทีที่คิดจบ นางสิริมาก็เข้าถึงตัว พลิกทัพพีเทน้ำมันราดลงบนศีรษะนางอุตตราน้ำมันร้อนกลับเป็นเสมือนน้ำเย็น นางอุตตรายังมีกิริยาปกติไม่ร้อน ไม่ทุรนทุราย นางสิริมาคิดว่าน้ำมันคงหายร้อน จึงรีบเดินไป ตักใหม่ คราวนี้ พวกนางทาสีตั้งหลักได้แล้วถือไม้ชี้หน้าว่า "หยุดนะ นั่งตัวร้าย จงทิ้งทัพพีลงเดี๋ยวนี้เลย เลิกคิดทำอันตรายแม่ของพวกเราถ้าไม่หยุด พวกเราจะรุมตีเจ้าให้ตาย"

นางสิริมาเกิดความหวาดกลัว ทิ้งทัพพีน้ำมันลงพื้น พวกนางทาสีก็กรูเข้าไปทำร้ายนางทันที ตบ ตี ทุบ ถีบ จนนางล้มกองกับพื้น นางอุตตราร้องห้ามแล้วพวกทาสีก็ยังไม่ฟังในที่สุดนางจึงตัดสินใจเข้าไปยืนคร่อมร่างนางสิริมาไว้ นางทาสีทุกคนจึงได้หยุดถอยออกไป

นางอุตตราก้าวออกมายืนดูนางสิริมา เห็นสภาพสะบักสะบอม จึงกล่าวว่า "เหตุใดเจ้าทำกรรมหนักเช่นนี้เล่า?" นางสิริมานิ่ง นางอุตตราสั่งให้นางทาสีอุ้มร่างวางบนเตียงให้ปฐมพยาบาล ทำความสะอาดบาดแผล เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ใหม่ และกล่าวโอวาทไปพลาง

นางสิริมารู้สำนึกว่าทำความผิดครั้งใหญ่แล้วเพราะความหึงหวง ทั้งที่เป็นเพียงคนนอกเรือน คิดว่า "ถ้านางอุตตราไม่ห้ามปราม ป่านนี้พวกทาสีคงรุมทำร้ายเราจนตายแน่เราช่างผิดมหันต์ เราต้องขอโทษนางตอนนี้แหละ ไม่อย่างนั้นศีรษะเราจะแตกออกเป็น ๗เสี่ยงแน่" คิดดังนั้นแล้ว จึงหมอบกราบลงที่เท้านางอุตตรา กล่าวขอโทษว่า "แม่เจ้า แม่จงยกโทษให้แก่ดิฉันด้วยเถิด"

นางอุตตรา : สิริมาเอ๋ย ตัวเราเป็นลูกที่มีพ่อ ถ้าพ่อเรายกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แม่อุตตรา ถ้าอย่างนั้นดิฉันจะไปขอขมาต่อท่านปุณณะเศรษฐีบิดาของท่านในวันนี้แหละ

นางอุตตรา : ปุณณะเศรษฐีเป็นพ่อบังเกิดเกล้าของเราในสังสารวัฏ แต่ถ้าพ่อบังเกิดเกล้าที่นำเราออกจากวัฏฏะ ยกโทษให้ เราก็จะยกโทษให้

นางสิริมา : แล้วใครเล่า เป็นบิดาบังเกิดเกล้านำออกจากวัฏฏะของแม่เจ้า?

นางอุตตรา : พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นางสิริมา : แต่ดิฉันไม่มีความคุ้นเคยกับพระองค์เลย จะขอให้ยกโทษได้อย่างไร?

นางอุตตรา : เราจะเป็นภาระให้เอง พรุ่งนี้ พระศาสดาจะเสด็จนำหมู่ภิกษุสงฆ์มายังที่นี่ (มีการจัดเตรียมโรงปะรำ โรงครัว ไว้พร้อมสรรพแล้ว) ตัวเธอจงนำสิ่งของที่ควรทำสักการะมาเข้าเฝ้าพร้อมกับเรา แล้วท่านก็จงกราบทูลขอขมาโทษเถิด

นางสิริมารับคำแล้วกลับไปยังเรือนตนเอง (สำนักหญิงคณิกา) สั่งหญิงบริวาร ๕๐๐ คน ให้ช่วยกันตระเตรียมของฉันของเคี้ยวต่าง ๆ และเครื่องไทยธรรมที่สมควรแก่สมณะไว้ให้พร้อมสรรพ

นางสิริมากราบทูลขอขมาโทษ พระศาสดาตรัสธรรม... นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี นางสิริมาเป็นพระโสดาบัน

รุ่งเช้า นางก็สั่งให้คนช่วยกันนำวัตถุสิ่งของเหล่านั้นมายังเรือนของนางอุตตราพระพุทธเจ้าเสด็จมาพร้อมภิกษุสงฆ์ประทับนั่งยังที่ ๆ จัดไว้ นางอุตตราเริ่มนำข้าวเป็นต้น ใส่ลงในบาตรพระศาสดาและภิกษุสงฆ์จนครบ แต่นางสิริมาถือภาชนะข้าวอยู่ไม่กล้าจะเข้าไปถวาย นางอุตตราจึงรับสิ่งของเหล่านั้นถวายแทน

พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์เสร็จภัตกิจแล้ว นางสิริมาพร้อมด้วยบริวารเข้ามาหมอบกราบลงเบื้องพระบาท พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า "พวกท่านมีความผิดอะไรหรือ?"

นางสิริมาได้กราบทูลความผิดของตน และความดีที่นางอุตตรามีคุณธรรม น้ำมันร้อน ไม่อาจทำอันตรายนางได้ อีกทั้งนางยังมีความกรุณาห้ามปรามมิให้พวกทาสีทำร้าย เมื่อหม่อมฉันกราบขอขมาโทษ นางก็กล่าวว่า ถ้าบิดาบังเกิดเกล้าผู้นำออกจากวัฏฏะคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงยกโทษให้ นางก็จะยกโทษให้...

พระพุทธเจ้าตรัสถามนางอุตตราว่า เรื่องเป็นอย่างที่สิริมาเล่าหรือ? นางอุตตรารับว่าเป็นอย่างนั้น, พระศาสดาตรัสถามถึงความคิดเมตตาที่เกิดขึ้นขณะจะถูกนางสิริมาราดด้วยน้ำมันร้อนนั้นว่าคิดอย่างไร? นางก็ทูลถึงความคิดที่ว่า นางสิริมามีคุณใหญ่ เป็นผู้ที่ทำให้ตนเองมีโอกาสได้ทำบุญ...

พระพุทธเจ้าตรัสอนุโมทนาว่า "ดีแล้วอุตตรา การชนะความโกรธ เป็นสิ่งสมควรการจะเอาชนะคนขี้โกรธก็ต้องไม่โกรธตอบ, เจอคนด่าบริภาษ ก็พึงชนะด้วยการไม่ด่า ไม่บริภาษตอบ, เจอคนตระหนี่จัด ก็พึงชนะด้วยการให้, เจอคนพูดเท็จ ก็พึงชนะด้วยคำจริง"

แล้วตรัสพระคาถาว่า...

"พึงชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะความไม่ดีด้วยความดี พึงชนะความตระหนี่ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดไม่จริงด้วยคำจริง"

จบพระเทศนา นางสิริมาพร้อมด้วยบริวาร ๕๐๐ บรรลุเป็นพระโสดาบัน (ดู ร.อ.๓/๓๗๔-๙)

อรรถกถาวิมานวัตถุเล่าว่า จบพระคาถานี้แล้ว พระศาสดาได้ตรัสอริยสัจ ๔ จบแล้ว นางอุตตราบรรลุเป็นพระสกทาคามี, สามีของนาง, สุมนเศรษฐีและภรรยาบรรลุเป็นพระโสดาบัน, นางสิริมาและบริวารบรรลุเป็นพระโสดาบัน

นางอุตตราเกิดในสวรรค์ดาวดึงส์ส่วนนางสิริมาเกิดในสวรรค์นิมมานรดี

ต่อมา นางอุตตราสิ้นชีวิต เกิดเป็นเทพธิดาในภพดาวดึงส์ครั้งหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระจาริกมาในเทวโลก อุตตราเทพธิดาพบแล้วเข้ามาไหว้ พระเถระถามถึงกุศลกรรมที่ทำไว้ นางก็เรียนว่า สมัยเป็นมนุษย์ครองเรือน ไม่มีความริษยา ไม่ตระหนี่ ไม่ตีเสมอ ไม่โกรธ อยู่ในโอวาทของสามี เข้าจำอุโบสถมีองค์ ๘ เป็นนิตย์ชอบให้ทาน ยินดีในสิกขาบท ๕ (ศีล ๕)... จบแล้วได้ร้องขอให้พระเถระเป็นธุระเข้าเฝ้าพระศาสดาแล้ว ช่วยกราบทูลด้วยว่า

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุตตราอุบาสิกา ขอถวายบังคมพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยเศียรกล้า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้พยากรณ์ดิฉันไว้ในสามัญผลอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น ไม่น่าอัศจรรย์เลย เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพยากรณ์ดิฉันไว้สกทาคามิผลแล้ว"(ดู ขุ.วิ.ข้อ ๑๕, วิมาน.อ.๑๐๒-๑๑๒)


พิมพ์