ปาฏิกาชีวก : ด่าคนอุปัฏฐาก

ปาฏิกาชีวก : ด่าคนอุปัฏฐาก

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

น ปเรสํ วิโลมานิ น ปเรสํ กตากตํ
อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย กตานิ อกตานิ จ.

ไม่ควรใส่ใจคำหยาบของคนเหล่าอื่น ไม่ควรแลดูการกระทำที่คนอื่นๆ
ทำแล้วและยังไม่ได้ทำ พึงพิจารณาแต่ที่ตนทำแล้วและยังไม่ได้ทำเท่านั้น

 

อาชีวกชื่อ ปาฏิกะ ห้ามไม่ให้อุปัฏฐากไปหาพระพุทธเจ้า... อุปัฏฐากจึงเป็นฝ่ายนิมนต์พระพุทธเจ้ามา

 

สตรีชาวสาวัตถีคนหนึ่ง เป็นอุปัฏฐากของอาชีวก (นักบวชเปลือย) ชื่อ ปาฏิกะ ต่อมานางได้ยินเพื่อนบ้านสนทนากันถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าประการต่างๆ นึกอยากไปฟังธรรมจาก พระพุทธเจ้าบ้าง จึงบอกแก่ปาฏิกาชีวกนั้น อาชีวกห้ามปรามว่าไม่สมควร....นางคิดว่า "พระผู้เป็น เจ้าปาฏิกะไม่ให้เราไปฟังธรรม เราไม่ไปก็ได้ แต่เราจะให้พระพุทธเจ้าเสด็จมาบ้านเราๆ จะฟังธรรม" แล้วให้ลูกชายไปทูลนิมนต์พระพุทธเจ้ามาเสวยภัต, บุตรชายไปบอกอาชีวกๆ แนะนำว่า ไปนิมนต์ตามคำสั่งมารดาเถิด แต่อย่าบอกทางมาที่เรือน เมื่อสมณะนั้นมาไม่ถูก พวกเราจะได้กิน อาหารดีๆ เหล่านั้นกัน, เขาไปกราบทูลนิมนต์ และมิได้ทูลบอกทางไปเรือน

ตอนเช้าตรู่อาชีวกนั้นก็ไปยังเรือน นั่งหลบอยู่ในห้องหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จมาโดยไม่ต้อง มีผู้ใดนำทางมาเลย หญิงแม่เรือนได้หลั่งน้ำทักชิโณทก ถวายของควรเคี้ยวควรฉันที่จัดเตรียมไว้ พระศาสดาเสวยเสร็จแล้วทรงอนุโมทนาด้วยธรรมีกถา (คำพูดประกอบด้วยธรรม) นางฟังไปพลาง กล่าวคำว่า "สาธุ" ไปพลาง อาชีวกได้ยินแล้วคิดว่า นางคงเลิกนับถือเราแล้วจึงออกจากห้อง" ตรงเข้าไปยืนด่า (อกฺโกสนฺโต) พระพุทธเจ้าและเจ้าของบ้านว่า "อีคนกาลกิณี ขอให้มึงพินาศ เชิญมึงสักการะไปเถอะ" แล้วเดินหนีออกไป นางมีจิตฟุ้งซ่านใจไม่มุ่งไปในเนื้อความ พระพุทธเจ้า ทรงทราบแล้วตรัสว่า "ไม่ควรนึกถึงคำพูดของคนที่มีความโกรธ ควรนึกถึงกิจที่ทำอยู่และยังไม่ได้ ทำเท่านั้น" แล้วตรัสภาษิตนี้, จบพระพุทธดำรัส อุบาสิกาดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล

 

อธิบายพุทธภาษิต

 

วิโลมานิ - (ดำ) มีขนไม่ปราศแล้ว คือ คำหยาบทั้งหลาย (ผรุสานิ) เป็นคำตัดความรัก (มมฺมจเฉกจนานิ) ซึ่งไม่ควรทำไว้ในใจ (มมร.แปลว่า คำแสยงขน คือ ย้อนขน ไม่ราบเรียบเหมือนขนหรือแปลว่าแสลงหูก็ได้), กิจหรือการกระทำที่คนอื่นทำแล้ว เช่น อุบาสก โน้นมีศรัทธา ให้สลากภัต เป็นต้น กิจหรือการกระทำที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ เช่น อุบาสิกาคนโน้น ไม่มีศรัทธา ไม่ให้แม้แต่ข้าวทัพหนึ่ง, พึงตรวจดูกิจที่ทำแล้วและยังไม่ได้ทำของตนอย่างนี้ว่า เรายังไม่อาจเข้าสู่ลักษณะ ๓ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้ ยังไม่อาจทำตนให้เกษมจากโยคะได้... (ดู ธ.อ.๒/๔๙-๕๓)

 

คติธรรมความรู้ ถ้าจะมัวจับผิดกิจที่คนอื่นทำหรือไม่ได้ทำ ก็ควรสนใจกิจที่ตนเองทำแล้วหรือยังไม่ได้ทำ จะดีกว่า


พิมพ์