พระฉันนเถระ : ผู้ถูกพรหมทัณฑ์คนแรก

พระฉันนเถระ : ผู้ถูกพรหมทัณฑ์คนแรก

ปริยัติธรรม

หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก

น ภเช ปาปเก มิตฺเต น ภเช ปุริสาธเม ภเชถ มิตฺเต กลฺยาเณ ภเชถ ปุริสุตฺตเม.

ไม่พึงคบมิตรชั่ว ไม่พึ่งคบคนต่ำช้า พึงคบกัลยาณมิตร พึงคบบุคคลผู้อุดม (ด้วยคุณ)

 

พระฉันนเถระ

พระฉันนะถือตัวว่าเป็นคนของพระพุทธเจ้า...ด่าพระอัครสาวก

นายฉันนะติดตามพระพุทธเจ้าในวันเสด็จมหาภิเนษกรมณ์... ต่อมาได้บวชเป็นพระฉันนะ ท่านถือตัวว่าเป็นผู้รับใช้ใกล้ชิดพระศาสดามาเก่าก่อน เมื่อถูกพวกภิกษุตักเตือนก็มักจะวิวาทกับภิกษุเหล่านั้น

ครั้งหนึ่ง ท่านได้ยินใครๆ ยกย่องพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะว่าเป็น “พระอัครสาวก” จึงไม่พอใจ ได้ด่า (อกฺโกสติ) พระอัครสาวกทั้งสองว่า “เราตามเสด็จมหาภิเนษกรมณ์ (มหาภินิกฺขมนํ) กับลูกเจ้า (ลูกพระเจ้าสุทโธทนะ) ของเราในเวลานั้น เราไม่เห็นคนอื่นๆ เลย แม้แต่คนเดียว มาถึงตอนนี้ บุคคลพวกนี้เที่ยวได้กล่าวว่า เราชื่อสารีบุตร เราชื่อโมคคัลลานะ พวกเราเป็นอัครสาวก” ...พระศาสดาทรงทราบขณะประทับอยู่ในพระเชตวัน ตรัสให้เรียกพระฉันนะเข้าเฝ้า และตรัสสอนให้เคารพยําเกรงภิกษุทั้งหลาย..พระฉันนะยอมสงบปากไปพักหนึ่ง แล้วก็ด่าพระเถระทั้งหลายอีกเป็นครั้งที่ ๒ และ ๓.พระพุทธเจ้าตรัสให้เข้าเฝ้าและทรงสอนว่า “นี่แน่ะ ฉันนะ พระอัครสาวกทั้งสองเป็นกัลยาณมิตรเป็นบุรุษผู้สูงสุด (อุตฺตมปุริสา) ของเธอ เธอจงเสพ จงคบกัลยาณมิตรเช่นนี้เถิด” และตรัสภาษิตนี้

อธิบายพุทธภาษิต : มิตรชั่วหรือปาปมิตร หมายถึง ผู้ที่ยินดีในอกุศลกรรมต่างๆ เช่น กายทุจริต เป็นต้น, คนต่ำช้า (ปุริสาธเม) หมายถึง คนที่ชักนำไปในเรื่องไม่สมควร เช่น การตัด ช่องเข้าไปโจรกรรม หรือผู้ที่แสวงหาลาภด้วยวิธีที่ไม่สมควร ๒๑ อย่าง, คน ๒ ประเภทนี้ (ปาปมิตร และคนต่ำช้าเป็นทั้งปาปมิตรและคนต่ำช้า ไม่ควรคบ คือ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้, ส่วนคนที่ ตรงข้าม (กัลยาณมิตรและคนผู้สูงสุด หรือคนผู้อุดม) ชื่อว่า เป็นทั้งกัลยาณมิตรและสัตบุรุษ (สปฺปุริสา) เป็นผู้ควรคบ คือ ควรเข้าไปนั่งใกล้ เมื่อพระฉันนะยังไม่ยอมเลิกด่าเลิกขู่ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ตอนเรายังมีชีวิตอยู่ ภิกษุทั้งหลายจะไม่อาจให้พระฉันนะเลิกนิสัยนั้นได้ แต่ เมื่อเราปรินิพพานไปแล้วจะเปลี่ยนนิสัยเขาได้” ก่อนเสด็จปรินิพพาน พระอานนท์ ได้ทูลถามวิธี ปฏิบัติต่อพระฉันนะ ตรัสว่า “อานนท์ ” พวกเธอพึงลงพรหมทัณฑ์แก่ฉันนะภิกษุเถิด” (คือประกาศให้พระฉันนะทราบว่าสงฆ์จะไม่คบหา จะไม่ตักเตือนแล้ว) หลังพุทธปรินิพพาน สงฆ์ได้กระทำตาม ที่ตรัสแนะไว้พระฉันนะเสียใจ สลบถึง ๓ ครั้ง ตั้งอยู่ในโอวาท ไม่นานก็บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา ๔ (ดู ธ.อ.๒/๒๔๕-๒๔๖)

คติธรรมความรู้ มานะ คือกิเลสประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ทำให้บุคคลมีความเย่อหยิ่งจองหอง


พิมพ์