พระเจ้าพิมพิสาร ผลแห่งบุญ : วิธีอุทิศทานแด่เปรตที่เคยเป็นพระญาติ

พระเจ้าพิมพิสาร ผลแห่งบุญ : วิธีอุทิศทานแด่เปรตที่เคยเป็นพระญาติ

ปริยัติธรรม

หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง

พระเจ้าพิมพิสารเคยเป็นเสมียนบำเพ็ญบุญในพระพุทธเจ้าปุสสะ... ชาวบ้านที่ใกล้ชิดกับนายเสมียน ขโมยไทยธรรมกิน...เกิดในนรก

ในสมัยของพระพุทธเจ้าปุสสะ (หรือผุสสะ) ครั้งนั้นพระราชกุมาร ๓ พระองค์ ได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาในชนบท จากนั้น เหล่าพระราชกุมารตรัสสั่งให้ข้าราชบริพารที่ใกล้ชิดช่วยกันอุปัฏฐากบำรุงพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ เช่น ให้ดำเนินการจัดการสร้างพระวิหารด้วยกำลังแรงงานของบุรุษจำนวน ๑,๐๐๐ คน

ตลอดกาล ๓ เดือนนั้น พระราชกุมารทั้งสาม ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ ถวายทาน ฟังธรรม ปฏิบัติธรรมโดยเคารพ, ส่วนนายภัณฑาคาริก (ผู้จัดการทรัพย์สินของเจ้าชายทั้ง ๓)และภรรยาเป็นผู้มีศรัทธา ก็ร่วมกันถวายทาน และอุปัฏฐากภิกษุสงฆ์ นายเสมียนผู้จัดเก็บรายได้ในชนบทส่งเข้าคลังหลวง ได้เชิญชวนให้ชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ร่วมกันทำบุญฟังธรรมตลอด ๓ เดือน ซึ่งคนเหล่านั้นก็ขวนขวายบุญโดยเคารพ

ชาวชนบทคนอื่น ๆ ได้เห็นการจัดทำมหาทานใหญ่เพื่อถวายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ทุก ๆ วัน ก็เกิดความริษยา จึงขโมยไทยธรรมต่าง ๆ ไปกินบ้าง เมื่อถูกจับขับไล่ออกไปก็แอบกลับมาเผาโรงครัวบ้าง...

พระราชกุมาร ๓ พระองค์สิ้นพระชนม์แล้วอุบัติในสวรรค์, นายภัณฑาคาริกกับภรรยา, นายเสมียนและชาวชนบทผู้ถวายทานโดยเคารพ ก็บังเกิดในสวรรค์ ส่วนชาวชนบทอื่น ๆ ที่ประทุษร้ายทานก็บังเกิดในนรก

เวลาผ่านไปนานถึง ๙๒ กัป...

พ้นจากขุมนรกแล้ว เกิดเป็นเปรตเข้าเฝ้าทูลถามพระพุทธเจ้ากัสสปะถึงกาลที่จะพ้นจากความหิวกระหาย...ตรัสบอกว่ารออีก ๙๒ กัป

ครั้นถึงพุทธสมัยของพระพุทธเจ้า "กัสสปะ" (พระพุทธเจ้าก่อนหน้าพระพุทธเจ้าโคตมะของพวกเรา) พวกเขาพ้นจากนรก เศษบาปทำให้มาเกิดเป็นเปรต

เปรตเหล่านี้ได้เห็นมนุษย์ถวายทานแล้วอุทิศว่า "ขอทานที่ถวายครั้งนี้ จงสำเร็จแก่พวกญาติที่ล่วงลับด้วยเถิด" ได้เห็นเปรตที่เคยเป็นญาติของมนุษย์เหล่านั้นอนุโมทนาแล้วได้รับทิพยสมบัติทิพยสุข เช่น มีข้าว น้ำ ผ้า...พวกเปรตกลุ่มนี้จึงอยากได้ทิพยสมบัติทิพยสุขอย่างเปรตพวกนั้นบ้างจึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้ากัสสปะ ทูลถามว่า "พวกข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายมีโอกาสจะได้รับทิพยสุขทิพยสมบัติ อย่างเปรตที่มีญาติอุทิศทานให้บ้างหรือไม่?"

พระพุทธเจ้ากัสสปะ ตรัสตอบว่า "ตอนนี้พวกท่านยังไม่สามารถจะรับได้ แต่จะได้รับในอนาคต ในพุทธสมัยที่พระพุทธเจ้ามีพระนามว่า โคตมะ, กาลนั้นจะมีพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร ซึ่งเคยเป็นญาติกับพวกท่าน พระองค์จะถวายทานแล้วอุทิศทานให้แก่พวกท่านพวกท่านต้องรออีก ๙๒ กัป" (=๑ พุทธันดร)

เปรตเหล่านั้นฟังแล้วดีใจอย่างยิ่ง ดุจคิดว่ากาลนั้นจะถึงในวันพรุ่งนี้...

อดีตเสมียนมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร... ทรงบรรลุธรรมเป็นพุทธมามกะ ถวายอาหารและพระอุทยาน แต่ทรงลืมอุทิศ พวกเปรตผิดหวังส่งเสียงน่ากลัวให้พระราชาได้ยิน

ครั้นถึงพุทธสมัยแห่งพระพุทธเจ้าโคตมะของพวกเรา

อดีตพระราชกุมารในสมัยนั้น มาเกิดเป็นชฎิล ๓ พี่น้อง (อุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะและคยากัสสปะ) มีบริวาร ๑,๐๐๐ คน, อดีตคหบดีและภรรยามาเกิดเป็นวิสาขะ (และนางธัมมทินนา) ส่วนนายเสมียนมาเกิดเป็นพระเจ้าพิมพิสาร

หลังพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วประมาณ ๙ เดือน พระองค์ได้เสด็จเข้าเขตกรุงราชคฤห์โปรดชฎิล ๓ พี่น้อง และบริวาร พวกเขาออกบวชแล้ว ได้เสด็จโปรดพระเจ้าพิมพิสารและหมู่ประชาชนราว ๑๑,๐๐๐ คน พระราชาบรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยโสดาบันแล้วได้กราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ให้เสด็จไปทรงรับมหาทานที่พระราชนิเวศน์ในวันรุ่งขึ้น

หมู่เปรตเหล่านั้นรู้เห็นแล้วพากันดีใจว่า "ใกล้เวลาที่พระราชาจะทรงอุทิศทานให้พวกเราแล้ว พวกเราจะได้พ้นความทุกข์ยากกันแล้ว"

วันรุ่งขึ้น พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายมหาทานแล้ว ทรงสดับธรรมกถาแล้ว ทรงดำริถึงสถานที่ประทับของพระพุทธเจ้า... แล้วทูลถวายสวนไผ่ "เวฬุวันกลันทกนิวาปะ"(สวนไผ่อันเป็นสถานที่ให้เหยื่อแก่พวกกระรอกกระแต) แต่พระราชาทรงลืมอุทิศทาน มิได้ทรงอุทิศทานให้แก่ใคร ๆ เลย

พวกเปรตเหล่านั้นต่างดีใจ เฝ้ารอคอยการอุทิศทานอยู่ ๑ พุทธันดร เมื่อเห็นพระราชามิได้อุทิศให้ตน ต่างคร่ำครวญว่า "พวกเราเปรตทั้งหลาย อุตส่าห์ตั้งหน้าตั้งตารอคอยรอรับการอุทิศจากท่าน ท่านลืม ท่านพลาดไปได้อย่างไร ความสิ้นหวัง ความผิดหวังความเหือดแห้งใจ ความเศร้าใจ บังเกิดกับพวกเราเป็นหมื่นแสนทวีคูณ ความทุกข์ระทมเกิดกระหน่ำทับถมหัวใจของพวกเรา พระราชาจะทรงรู้ไหมหนอ, หากแม้นเปรตอย่างเรามีหัวใจสักร้อยสักพันดวง.. โอหนอ...ทุกดวงได้ถึงกาลดับแดดิ้นสิ้นไปแล้วในวันนี้ พวกเราจักต้องรอคอยไปอีกนานแสนนานเท่าใดหนอ"

ครั้นตกกลางคืนยังมิทันสงัด ในราตรีนั้น เหล่าเปรตจึงพากันเข้าไปในพระราชนิเวศน์ส่งเสียงโหยหวนกรีดร้องคร่ำครวญด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัวแบบต่าง ๆ พระเจ้าพิมพิสารทรงได้สดับแล้ว ทรงหวาดกลัว บรรทมหลับไม่สนิท

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าบุพกรรมของพวกเปรตพระราชาทรงถวายมหาทานแล้วอุทิศพวกเปรตอนุโมทนาแล้วพ้นความหิวกระหาย

เช้าตรู่แล้ว พระเจ้าพิมพิสารเสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลเรื่องเสียงที่น่าสะพรึงกลัวนั้นว่า จะเป็นนิมิตร้ายแก่ตัวข้าพระองค์หรือไม่? พระพุทธเจ้าจึงตรัสเล่าความเป็นมาของเปรตเหล่านั้นให้ทรงสดับ, ทูลถามว่า "ถ้าหม่อมฉันจะถวายทานในเช้านี้ เพื่ออุทิศทานให้พวกเขาได้หรือไม่?" ตรัสตอบว่า "ได้สิ มหาบพิตร" พระราชาจึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าให้เสด็จเสวยภัตที่พระราชนิเวศน์ เพื่อจะอุทิศทานนั้นให้แก่หมู่เปรต

พระพุทธเจ้าเสด็จดำเนินประทับยังที่เขาจัดไว้ในพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์เหล่าเปรตรู้เห็นแล้วดีใจว่า "วันนี้พระราชาจะทรงอุทิศทานให้แก่พวกเรา ๆ จะได้ทิพยสมบัติ"จึงพากันมายืนอยู่ตามที่ต่าง ๆ บริเวณพระราชนิเวศน์, พระพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธานุภาพทำให้พระราชาทอดพระเนตรเห็นเปรตเหล่านั้นท่ามกลางเบื้องหน้าของพระองค์

เมื่อพระราชาประทับนั่งแล้ว ทรงถวายน้ำทักษิโณทกตรัสอุทิศ (เจาะจง) ว่า "ขอทานนี้จงมีแก่หมู่ญาติของเรา" (อิทํ โน ญาตีนํ โหนตุ) "ขอญาติทั้งหลายจงมีสุขเถิด"(สุขิตา โหนตุ ญาตโย) พวกเปรตได้รับการอุทิศทานแล้วอนุโมทนา ทันใดนั้น ก็ปรากฎสระโบกขรณีเต็มไปด้วยดอกบัว เปรตทั้งหลายเห็นก็ดีใจลงอาบและดื่มน้ำระงับความกระหายและขจัดความเศร้าหมองทางกายได้จากสระงามนั้น

พระราชาทรงถวายข้าวยาคู ของเคี้ยวของกิน แล้วตรัสอุทิศอีก เปรตอนุโมทนาแล้วข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกิน อันเป็นทิพย์ ก็ปรากฎแก่พวกเปรต พวกเขาพากันบริโภคอาหารทิพย์นั้นจนมีร่างกายอิ่มเอิบ

พระราชาทรงถวายผ้าและเสนาสนะ (ตั่งและเตียงเป็นต้น) เปรตอนุโมทนาแล้วบังเกิดผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ และที่นอนทิพย์ เป็นต้น... พระราชาทอดพระเนตรแล้วทรงพอพระทัยอย่างยิ่ง

องค์ประกอบ ๓ ประการ ที่ทำให้เปรตได้รับความสุขและพระธรรมเทศนา "ติโรกุฑฑสูตร"

ท่านว่า ทักษิณา (การให้, การอุทิศ) จะสำเร็จได้ด้วยองค์ประกอบ ๓ คือ

  1. การอุทิศของทายก (=ผู้ให้ทาน)
  2. เปรตทั้งหลายอนุโมทนาด้วยตนเอง
  3. ผู้รับทานเป็นทักขิไณยบุคคล (เป็นเนื้อนาบุญที่ดี เช่น พระอริยเจ้าทั้งหลาย)

ครั้นพระศาสดาทรงเสวยเสร็จแล้ว ทรงอนุโมทนาด้วยพระธรรมเทศนา "ติโรกุฑฑสูตร" (พระธรรมว่าด้วยหมู่เปรตมายืนอยู่นอกเรือน) สรุปความได้ดังนี้

"หมู่เปรตมายังเรือนญาติ คิดว่าเป็นเรือนของตน ยืนอยู่นอกเรือนบ้าง บานประตูเรือนบ้าง ทาง ๔ แพร่ง และ ๓ แพร่งบ้าง, ญาติทั้งหลายถวายข้าวน้ำแล้ว ลืมอุทิศ ระลึกไม่ได้ เพราะอกุศลกรรมของสัตว์เหล่านั้นเป็นปัจจัย (การไม่ได้รับการอุทิศ เป็นเพราะอกุศลกรรมที่เปรตทำไว้)

แต่ชนเหล่าใด เป็นผู้เอ็นดูญาติผู้ล่วงลับ ให้ข้าวและน้ำแล้ว อุทิศให้หมู่ญาติว่าขอทานนี้แล จงมีแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงมีสุขเถิด

หมู่เปรตที่เป็นญาติมาชุมนุมกันในบริเวณที่ให้ทานนั้น ย่อมอนุโมทนาโดยเคารพดีใจว่า พวกเราได้ทิพยสมบัติ เพราะญาติเป็นเหตุ ขอญาติเหล่านั้นของเราจงมีอายุยืน..."

ในเปตวิสัย (โลกของเปรต) ไม่มีการทำกสิกรรม หรือการค้าขายก็ไม่มี ผู้ได้อัตภาพเป็นเปรต ย่อมดำรงอัตภาพอยู่ได้ด้วยทานที่ญาติให้แล้วจากมนุษย์โลกนี้

น้ำจากที่สูงย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่ม ฉันใด ทาน (กุศลทาน) ที่ทายก (ผู้อุทิศ) ให้ไปจากมนุษย์โลกนี้ ย่อมสำเร็จผลแก่หมู่เปรต ฉันนั้นเหมือนกัน

ห้วงน้ำที่เต็มแล้วในแหล่งน้ำต่าง ๆ ย่อมยังสมุทรสาครให้เต็ม ฉันใด ทานที่ทายกในมนุษย์โลกนี้ให้ไป ก็ย่อมสำเร็จผลแก่หมู่เปรต ฉันนั้นเหมือนกัน..."

(ดู ขุ.ขุ.ข้อ ๘, ขุทุกก.อ.๒๑๗-๒๙๒, ขุ.เปต.ข้อ ๙๐, เปต.อ.๓๐-๔๖)

คติธรรมสำคัญของเรื่อง : ถ้ารู้ชัดวันเวลาพ้นทุกข์ที่แน่นอน ก็ย่อมอยู่กับทุกข์ได้ดีขึ้น


พิมพ์