ปริยัติธรรม
หนังสือ พระพุทธวจนะ คาถาธรรมบท จาก...พระไตรปิฎก
ปมาทมนุยุญฺชนฺติ พาลา ทุมฺเมธิโน ชนา.
อปฺปมาทญฺจ เมธาวี ธนํ เสฏฺฐํว รกฺขติ
คนพาลทั้งหลายมีปัญญาทราม มักประมาทอยู่เนืองๆ ส่วนผู้มีปัญญา
มีแต่รักษาความไม่ประมาท เหมือนดังรักษาทรัพย์ที่มีค่าที่สุดไว้ ฉะนั้น
อปฺปมตฺโต หิ ฌายนฺโต ปปฺโปติ ปรมํ สุขํ
ท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประมาท จงอย่าสนิทสนมยินดีในกามอยู่เลย
เพราะเมื่อไม่ประมาท มีความเพ่งพินิจอยู่ ย่อมบรรลุถึงความสุขอันไพบูลย์ (= นิพพานสุข)
การละเล่นทำกายให้สกปรกและกล่าววาจาของอสัตบุรุษ
สมัยหนึ่งในกรุงสาวัตถีมีการเชิญชวนให้ประชาชนร่วมงาน "พาลนักษัตร" (พาลนกฺขตฺต) ๗ วัน เป็นการละเล่นแบบคนพาล คือ ผู้ร่วมงานจะต้องทาร่างกายด้วยขี้เถ้า และโคมัย (ขี้โค) จากนั้นก็เที่ยวไปตามบ้านเรือน แล้วกล่าววาจาของอสัตบุรุษ (วจีทุจริต ๔) แม้จะพบกับญาติคนที่ มีจิตใจดี หรือบรรพชิต พวกเขาก็ไม่เกิดความละอาย ยังกล่าววาจานั้นต่อไป ประชาชนคนใดไม่อาจ ทนฟังคำนั้นได้ ก็จะจ่ายเงินให้คนพวกนั้น ครึ่งบาทบ้าง บาทหนึ่งบ้าง หรือกหาปณะหนึ่งบ้าง เมื่อ คนเหล่านั้นได้เงินแล้วก็ไปสู่เรือนหลังอื่นๆ ในสมัยนั้น กรุงสาวัตถีมีพระอริยสาวกอยู่ประมาณ ๕ โกฏิ พวกท่านห่วงใยพระศาสดา ไม่ต้องการให้เสด็จเข้ากรุงในช่วง ๗ วันนี้ จึงส่งข่าวไปขอให้พระ ผู้มีพระภาคเจ้าและภิกษุสงฆ์อย่าเสด็จเข้าไปภายในพระนครตลอด ๗ วันนี้ พวกเราจะจัดภัตและ ยาคู เป็นต้น จะให้คนนำเข้ามาถวายในพระเชตวัน แม้พวกเราก็จะไม่ออกจากบ้าน จนกว่างาน พาลนักษัตรจะผ่านพ้นไปแล้ว...ซึ่งพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ก็ทรงกระทำตามคำแนะนำนั้น
ในวันที่ ๘ งานนักษัตรสิ้นสุดแล้ว อริยสาวกเหล่านั้นทูลนิมนต์ให้พระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไป ภายในพระนคร ถวายมหาทานแล้ว พวกเขากราบทูลว่า " ๗ วันที่ผ่านมา พวกข้าพระองค์ใช้ชีวิต อย่างลำบากยิ่ง, ตอนได้ยินวาจาของชนพาลนั้น หูของข้าพระองค์มีอาการดังว่าจะแตกทำลาย"
พระศาสดาตรัสว่า "การกระทำของคนพาลผู้มีปัญญาทราม (ทุมฺเมธานํ - ทรามปัญญา, ไร้ปัญญา) ย่อมเป็นอย่างนี้แหละ, ส่วนคนผู้มีปัญญา รักษาความไม่ประมาทไว้เหมือนรักษาทรัพย์ ที่เป็นประโยชน์ ย่อมบรรลุสมบัติ คือ อมตมหานิพพาน" แล้วตรัสภาษิตนี้
อธิบายพุทธภาษิต
คนพาล หมายถึงชนผู้ซึ่งไม่รู้จักประโยชน์ในโลกนี้และโลกหน้า, ทุมฺเมธิโย (ผู้มีปัญญาทราม) คือ ไร้ปัญญา จึงใช้วันเวลาให้หมดไปกับความประมาท (= การเล่น พาลนักษัตร), เมธาวี (ผู้มีปัญญา) หมายถึง บัณฑิตผู้มีปัญญารุ่งเรืองในธรรม เห็นอานิสงส์ของ ความไม่ประมาทว่า ผู้ไม่ประมาท ยอมบรรลุฌานทั้งหลาย, ย่อมบรรลุโลกุตตรธรรม ๙ หรือทำ วิชชา ๓ อภิญญา ๖ ให้ถึงพร้อมได้, มา ปมาทํ- อย่าประมาท คือ อย่าให้วันเวลาผ่านไปด้วย ความประมาท และอย่าให้ตัณหาเกิดขึ้นแล้วใกล้ชิดยินดีในกาม ทั้งวัตถุกามและกิเลสคกาม, ผู้ไม่ ประมาท ในที่นี้หมายถึง ผู้มีสติมั่นคง เพ่ง (พิจารณา) อยู่ (ในสมถะและวิปัสสนา) ย่อมบรรลุถึง ความสุข คือ นิพพานสุขอันไพบูลย์ คือ โอฬาร (ดู ธ.อ.๑/๒๕๕-๒๕๗)
คติธรรมความรู้ กิจกรรมของคนพาล มิได้เกิดจากปัญญา จึงดำเนินไปด้วยความประมาท