ปริยัติธรรม
หนังสือนิทานบำเพ็ญบุญ 100 เรื่อง
ครั้งอดีตกาล (กาลที่โลกไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มาณพชื่อ มฆะ อาศัยอยู่กับครอบครัวในอจลคาม แคว้นมคธ เขาจะออกจากเรือนตอนเช้าตรู่ไปทำกิจการงาน (ไม่ระบุว่างานอะไร แต่เป็นการงานภายในหมู่บ้านนั้น)
มฆมาณพเริ่มต้นบำเพ็ญกุศลสาธารณะ มีมาณพคนอื่น ๆ เห็นประโยชน์ ทยอยเข้าร่วม เกิดเป็นกลุ่มมาณพ ๓๓ คน
วันหนึ่ง เขาแวะพักใต้ต้นไม้ข้างทาง เห็นว่าต้นไม้นี้ให้ความร่มรื่นแวะพักทุกวัน จึงทำความสะอาดด้วยการเก็บกิ่งไม้ใบไม้บริเวณรอบ ๆ โคนไม้ให้สะอาดสะอ้าน เมื่อทำเสร็จแล้วเขายืนอยู่ด้วยความสบายใจ ก็มีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาแวะพัก และมีคนหนึ่งผลักให้เขาออกไปจากต้นไม้นั้น
มฆมาณพไม่โกรธ มีความสุขที่เห็นคนอื่นได้รับประโยชน์ในสิ่งที่เขาทำ วันต่อ ๆ มาเขาก็หาเวลาทำความสะอาดร่มไม้ต้นอื่นๆ ก็มีคนแถวนั้นเข้าไปใช้สอยพักผ่อนบ้าง คนเดินทางไกลแวะนั่งรับประทานอาหารบ้าง เด็กๆ ใช้เป็นสถานที่วิ่งเล่นบ้าง...เขาเห็นแล้วคิดว่า "คนจำนวนมากได้รับความสุข เราได้กระทำบุญที่ให้ความสุขแก่เราแล้ว"
วันต่อ ๆ มา เขาก็ใช้จอบเสียมออกไปปรับแต่งและทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ ที่รกบ้าง สกปรกบ้าง ซึ่งชนจำนวนมากเกิดความสะดวกสบายขึ้น เขายิ่งมีความสุขใจมากในฤดูหนาว เขาก็หาเวลาก่อกองไฟไว้ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้คนพเนจรเป็นต้นได้อาศัยไออุ่น...ฤดูร้อนเขาจัดตั้งโอ่งน้ำไว้ตามสถานที่เหล่านั้น
ต่อมา มาณพคิดว่า "สถานที่ ๆ เราทำล้วนเป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งปวง พวกเขาเห็นเป็นดุจรมณียสถานจึงพากันใช้สอย ต่อไปเราควรปรับแต่งถนนหนทางให้ราบเรียบ"
จากนั้นทุกเช้าตรู่ เขาจะออกจากบ้านพร้อมอุปกรณ์ต่าง ๆ ใช้จอบปรับพื้นถนนบ้าง ใช้มีดตัดแต่งต้นไม้ใบไม้ตามริมถนนบ้าง ทำถนนหนทางให้ราบเรียบบ้าง ทำสองข้างทางให้สวยงาม มาณพหนุ่มคนหนึ่งเห็นการกระทำของเขาแล้วถามว่า สหาย ท่านทำการงานเหล่านี้ไปเพื่ออะไร? มฆมาณพตอบว่า "เรากำลังทำหนทางไปสวรรค์อยู่สิ สหาย" มาณพคนนั้นเห็นดีงามด้วย กล่าวว่า "ถ้าอย่างนั้นเราจะช่วยสหายทำสิ่งเหล่านี้ด้วยนะ", มฆมาณพกล่าวด้วยความยินดีว่า "สหายเอ๋ย จงมาช่วยกันเถอะ สวรรค์ล้วนเป็นที่รักที่ชอบใจของชนเป็นอันมากอยู่แล้ว"
มาณพทั้งสองช่วยกันทำสาธารณประโยชน์ดังกล่าวนั้น ต่อมาก็มีมาณพคนอื่น ๆ เข้าร่วมด้วยอีก ๓๑ คน รวมเป็นกลุ่มมาณพ ๓๓ คน (๒+๓๓ = ๓๓) นำโดยมฆมาณพพวกเขาช่วยกันปรับปรุงหนทางได้วันละ ๑ โยชน์บ้าง ๒ โยชน์บ้าง
ผู้ใหญ่บ้านใส่ความว่าเป็นโจร... พระราชาพิพากษาให้พ้นผิด ให้ผู้ใหญ่บ้านและครอบครัวเป็นทาสพวกมาณพ
ผู้ใหญ่บ้านอจลคามเป็นคนพาล ได้เห็นกิจการงานที่พวกมฆมาณพประพฤติแล้ว คิดว่า "คนหนุ่ม ๆ เหล่านี้ทำสิ่งที่ไม่จำเป็นจะต้องทำเลย ถ้าพวกเขาเข้าป่าล่าเนื้อออกมา กินแกล้มกับสุราก็น่าจะดี อย่างน้อยตัวเราก็จะได้กินอะไร ๆ บ้าง"
เขาจึงเข้าไปหามาณพเหล่านั้นแล้วกล่าวสอนว่า "นี่แน่ะพ่อหนุ่มทั้งหลาย พวกเจ้าไม่เห็นจะต้องทำอย่างนี้เลย หน้าที่เหล่านี้เป็นหน้าที่คนของพระราชา พวกเราเป็นชาวบ้านครองเรือนหาเลี้ยงชีพไปวันๆ ดีกว่าเอาเวลามาทำสิ่งเหล่านี้ ธรรมดาคนหนุ่มๆ ควรหาปลาและเนื้อในป่าออกมาขาย หรือกินแกล้มกับสุราบ้างจะดีกว่า" พวกมาณพฟังแล้วคัดค้านว่ากิจเหล่านี้รอพระราชสั่งไม่ได้หรอก พวกเราอยู่ถิ่นนี้ช่วยกันทำถิ่นของเราให้น่าอยู่น่าสัญจร มีความสุขดีกว่าการเข้าป่าล่าสัตว์ ดีกว่าการดื่มสุรา
ผู้ใหญ่บ้านก็ยังไม่ลดละความคิด ยังคงหาเวลาพูดเกลี้ยกล่อมพวกมาณพ เมื่อไม่ได้รับความเชื่อถือ ผู้ใหญ่บ้านจึงโกรธคิดว่า "เมื่อพวกมันไม่ทำตามคำของเรา เราก็จะให้พวกมันตาย" แล้วไปเข้าเฝ้าทูลใส่ร้ายพวกมาณพให้พระราชาทรงสดับว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันเห็นกลุ่มโจรกลุ่มใหญ่มาหลบซ่อนในหมู่บ้านของหม่อมฉัน พระเจ้าข้า" พระราชาตรัสว่า "ถ้าอย่างนั้น เราจะส่งเจ้าหน้าที่ทหารไปกับท่านแล้วจับกุมตัวพวกโจรมาลงโทษ"
ผู้ใหญ่บ้านนำกำลังไปยังอจลคาม จับกุมมาณพทั้ง ๓๓ คน มาเฝ้าพระราชา พระราชามิได้ทรงใคร่ครวญ ไม่ทรงให้ไต่สวนพวกเขาก่อน ตรัสสั่งให้เจ้าหน้าที่ลงโทษทันทีว่า "พวกท่านจงให้ช้างเหยียบทุกคนให้ตาย"
มฆมาณพกล่าวให้โอวาทแก่มาณพเพื่อนๆ ว่า "สหายทั้งหลาย ตอนนี้มีแต่เมตตาเท่านั้นจะเป็นที่พึ่งของพวกเราได้ พวกท่านอย่าได้ให้ความโกรธเกิดขึ้น จงมีเมตตาแก่พระราชา ผู้ใหญ่บ้าน ช้าง และตัวของเราเอง จงทำเมตตาแก่ชนทั้ง ๔ ให้เสมอกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่ลำเอียง" มาณพเหล่านั้นตั้งจิตเมตตาแล้วแผ่ไป
นายควาญช้างบังคับช้างวิ่งเข้ามา แต่ต้องหยุดไม่อาจเข้าใกล้ได้ เพราะอานุภาพเมตตาของคนเหล่านั้น พระราชาทราบแล้ว ทรงนึกว่า "ช้างคงกลัวเพราะเห็นคนจำนวนมาก" จึงสั่งให้ใช้เสื่อผืนใหญ่คลุมพวกมาณพไว้ ช้างจะได้ไม่เห็น
คราวนี้ควาญช้างบังคับให้ช้างวิ่งไปใหม่ แต่ช้างกลับเดินถอยหลังออกไปไกลยิ่งขึ้นพระราชาทรงสดับรายงานแล้วทรงดำริว่า "น่าจะต้องมีเหตุอะไรพิเศษแน่ๆ ช้างจึงถอยหนี" ตรัสสั่งให้นำมาณพทั้งหมดมาเข้าเฝ้าอีกครั้งในท้องพระโรง
พระราชาตรัสถามพวกมาณพว่า "พ่อทั้งหลาย เหตุใดพวกเจ้าจึงไม่หาเลี้ยงชีพสุจริตกัน?" พวกมาณพทั้ง ๓๓ ทูลถามว่า "นี่มันเรื่องอะไรกันแน่พระเจ้าข้า?" ตรัสว่า "ก็เราได้ฟังความว่าพวกเจ้าเป็นโจรดักปล้นตามหนทางเปลี่ยว แล้วหลบหนีเข้ามาในหมู่บ้าน เราจึงให้คนไปจับพวกเจ้ามา" ทูลถามว่า "ใครเป็นผู้กราบทูลเช่นนั้นพระเจ้าข้า?" ตรัสตอบว่า "ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนมาร้องทุกข์"
มฆมาณพทูลว่า "พวกข้าพระองค์ไม่ใช่โจร พวกเราทำแต่กรรมดีเพื่อทำหนทางไปสวรรค์ ในแต่ละวันพวกเราประพฤติแต่สาธารณประโยชน์ แต่ผู้ใหญ่บ้านเข้ามาขัดขวางชักชวนให้พวกเราทำแต่อกุศล เมื่อพวกเราไม่ทำตามก็โกรธพวกเรา แล้วมาทูลความเท็จต่อพระองค์ พระเจ้าข้า"
พระราชาทรงสดับแล้วทรงโสมนัส ตรัสว่า "สัตว์ดิรัจฉานอย่างช้างยังรู้คุณของพวกเจ้า เราเป็นมนุษย์แท้ ๆ กลับไม่รู้ ยกโทษให้เราด้วย เราขอชื่นชมพวกเจ้า" แล้วตรัสราชโองการประกาศว่าพวกมาณพไม่มีโทษ และประกาศให้ผู้ใหญ่บ้านและบุตรธิดาไปเป็นทาสของพวกมาณพ ทรงพระราชทานช้างเชือกนั้นให้พวกมาณพใช้เป็นพาหนะ และพระราชทานบ้านอจลคามให้พวกเขาดูแล พวกมาณพพูดกันว่า พวกเราได้ประสบอานิสงส์บุญในปัจจุบันนี้แล้ว, เกิดกำลังใจมากขึ้น ปรึกษาตกลงกันว่า "พวกเราควรทำบุญให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก"
มาณพทั้ง ๓๓ เริ่มบุญใหม่ด้วยการสร้างศาลาที่พักหลังใหญ่ไว้ในหนทาง ๔ แพร่ง เพื่อให้มหาชนที่ผ่านไปผ่านมาได้แวะพัก, รวบรวมทรัพย์ได้แล้วว่าจ้างช่างไม้มาสร้างศาลาพวกเขาสัญญากันว่า "พวกเราเท่านั้นบำเพ็ญบุญร่วมกัน เฉพาะเราผู้เป็นบุรุษเท่านั้น พวกเราไม่พึงบอกกล่าวแก่บรรดาภรรยาหรือใคร ๆ ที่เป็นสตรีเลย"
มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน นางสุธัมมาวางแผนให้ศาลาชื่อสุธัมมา
มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน คือ
๑. นางสุนันทา ๒. นางสุจิตรา
๓. นางสุธัมมา ๔. นางสุชาดา
นางสุธัมมาทราบข่าวการสร้างศาลาแล้ว ต้องการมีส่วนร่วมบุญด้วย นางจึงแอบปรึกษากับนายช่างไม้ว่าตัวนางต้องการให้ศาลาหลังนี้ชื่อว่า "สุธัมมา" เมื่อช่างสร้างแล้วขอให้ประกาศว่าศาลาขาดช่อฟ้า ต้องเป็นช่อฟ้าที่มีรูปร่างอย่างนี้ๆ และต้องได้ภายในวันนี้เท่านั้น แล้วติดสินบนนายช่างไม้ให้ถากไม้ทำช่อฟ้า สลักชื่อว่า "สุธัมมา" ไว้ล่วงหน้า
ครั้นเมื่อศาลาสร้างเสร็จแล้ว ในวันจะเปิดงาน นายช่างไม้ก็ทำเป็นตกใจกล่าวว่า"ตายจริง กระผมลืมไปว่าศาลาจะต้องมีช่อฟ้า" มาณพ ๓๓ คนกล่าวว่า "ไม่เป็นไร พวกเราจะรีบไปหาไม้มาทำช่อฟ้า" "นายช่างกล่าวว่า "น่าจะไม่ทันหรอก กว่าพวกท่านจะไปหาไม้ที่เนื้อดีแห้งได้ที่ กว่าจะแกะสลักเสร็จ มงคลฤกษ์ก็จะล่วงเลยไปเสียก่อนนะสิ" พวกเขาถามว่า "แล้วพวกเราจะต้องทำอย่างไร?" นายช่างแนะว่า "ควรประกาศหาช่อฟ้าที่อาจมีคนทำไว้นานแล้ว ถ้าพบ เราก็ขอซื้อมา ยังพอมีเวลา พวกท่านจงรีบไปหาเถิด"
มาณพ ๓๓ คน ช่วยกันประกาศขอซื้อช่อฟ้าที่สำเร็จแล้วไปตามบ้านเรือนต่าง ๆ... ก็ไปพบว่าช่อฟ้ามีอยู่ในเรือนของนางสุธัมมา จึงขอซื้อด้วยเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ แต่นางไม่ขาย กล่าวว่า "ถ้าพวกท่านเปิดโอกาสให้ดิฉันร่วมบุญด้วยก็จะยกช่อฟ้านี้ให้เลย"
เหล่ามาณพกล่าวว่า "พวกเราจะไม่ให้ส่วนบุญแก่ผู้หญิง" นายช่างไม้กล่าวไกล่เกลี่ยว่า "นายท่าน พวกท่านพูดอะไรไป นอกจากพรหมโลกเท่านั้นที่ไม่มีผู้หญิง (คือไม่มีเพศหญิง เพศชาย ด้วยกำลังฌานภาวนา) นอกนั้น ไม่มีที่ใดที่ไม่มีผู้หญิง พวกท่านควรรับช่อฟ้าไปเถิด การงานมงคลวันนี้จะได้สำเร็จลุล่วงไป" พวกเขาจำต้องยอมรับช่อฟ้าที่มีชื่อนางสุธัมมาไปประดับอยู่หน้าศาลา, การเปิดใช้ศาลาผ่านพ้นไปด้วยดี...
ศาลาหลังใหญ่นี้ แบ่งเป็น ๓ ส่วน คือ
๑. ส่วนสำหรับต้อนรับอิสรชน (ผู้หลักผู้ใหญ่ เช่นพระมหากษัตริย์)
๒. ส่วนสำหรับคนเข็ญใจ ยากจน หรือคนเดินทางหาที่พักไม่ได้
๓. ส่วนสำหรับผู้เจ็บป่วย
ภายในศาลาวางไม้กระดานไว้ ๓๓ แผ่น แต่ละแผ่นสลักชื่อมาณพ ๑ คน ถ้าแขกหรืออาคันตุกะมานั่งบนไม้กระดานของใคร ก็จะเชิญแกขึ้นช้างไปส่งยังเรือนของผู้นั้น ให้พักให้กินดื่มและบีบนวดให้ รวมถึงผู้นั้นจะต้องปรนนิบัติดูแลช้างให้ดีที่สุดด้วย
มฆมาณพปลูกต้นทองหลางไว้ใกล้ ๆ ศาลา, ภรรยา ๒ คน สร้างสระ และสวนไม้ดอกไม้ผล
มหาชนที่เข้า ๆ ออก ๆ ศาลาหลังนี้ มักจะแหงนหน้ามองดูช่อฟ้า เห็นชื่อสุธัมมาแกะสลักอยู่ ก็จึงพูดกันต่อ ๆ ไปว่า "เรามาศาลาสุธัมมา, เราจะแวะศาลาสุธัมมา" เป็นเหตุให้ศาลาหลังนี้ถูกเรียกว่า "ศาลาสุธัมมา" ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่าศาลาหลังนี้สร้างโดยมาณพ ๓๓ คน
ฝ่ายนางสุนันทาคิดว่า "สามีเราและเพื่อน ๆ ไม่ยอมให้เราร่วมบุญด้วยเลย แต่นางสุธัมมาใช้ความฉลาดเข้าร่วมบุญจนได้ เราจะทำอะไรดีหนอ?" แล้วคิดได้ว่า ชนที่มายังศาลานี้ ควรจะได้น้ำกินน้ำใช้ นางจึงว่าจ้างให้ช่างขุดสระโบกขรณี (สระบัว) ไว้ด้านข้างของศาลา ต่อมาเรียกว่า สระสุนันทา
นางสุจิตราคิดว่า นางสุธัมมามีส่วนร่วมบุญด้วยช่อฟ้า นางสุนันทาร่วมบุญด้วยสระน้ำ "เราจะทำอะไรดีหนอ?" คิดว่า "ชนที่มาที่ศาลาได้ดื่มน้ำอาบน้ำแล้วควรจะมีดอกไม้สวย ๆ ประดับศีรษะ ศาลาก็สวย คนก็สดชื่นสวยงาม" แล้วว่าจ้างให้ปลูกสวนดอกไม้และไม้ผลอื่น ๆ จำนวนมาก จนไม่อาจจะกล่าวได้ว่าสวนนี้ไม่มีไม้ดอกไม้ผลอะไร ต่อมาจึงเรียกสวนนี้ว่า สวนสุจิตรา
มีแต่นางสุชาดาเท่านั้นไม่ขอมีส่วนร่วมบุญอะไร ๆ นางคิดว่า "เราเป็นลูกของลุงนายมาฆะ และเป็นทั้งภรรยา บุญที่สามีทำก็เป็นของเราเหมือนกัน บุญที่เราทำก็เป็นของนายมฆะเช่นเดียวกัน" คิดอย่างนี้แล้ว นางก็เอาแต่แต่งตัวสวยอย่างเดียว
มฆมาณพบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการสมบูรณ์ตายแล้วเกิดเป็นท้าวสักกะ
นอกจากมฆมาณพจะเป็นผู้นำกระทำสาธารณประโยชน์ บำเพ็ญบุญหลายประเภทแล้ว มฆมาณพยังประพฤติวัตตบท (วตฺตปท, วัตรบทก็เขียน) ๗ ประการ ด้วยวัตตบท ๗ ประการนี้แล เป็นเหตุให้ถึงความเป็นท้าวสักกะ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าไว้ว่า
"ภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ท้าวสักกะจอมเทพยังเป็นมนุษย์ ได้สมาทานวัตตบท ๗ ประการบริบูรณ์ เพราะเป็นผู้สมาทานวัตตบท ๗ ประการ จึงได้ถึงความเป็นท้าวสักกะ
วัตตบท ๗ ประการคืออะไร? คือ
- บำรุงเลี้ยงดูมารดาบิดาตลอดชีวิต
- ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต(= ยำเกรงปู่ ย่า อา น้า ลุง ป้า)
- พูดจาอ่อนหวาน (สัณหวาจา) ตลอดชีวิต
- ไม่พูดวาจาส่อเสียดตลอดชีวิต
- ปราศจากความตระหนี่ มีการบริจาค เป็นผู้ควรแก่การขอยินดีในการให้การแจกจ่ายทานตลอดชีวิต
- พูดคำสัตย์ตลอดชีวิต
- ไม่โกรธตลอดชีวิต กำจัดความโกรธที่เกิดขึ้นได้เร็วพลัน
ตรัสสรุปการบำเพ็ญวัตตบทของท้าวสักกะว่า
"เทวดาดาวดึงส์กล่าวถึงนรชนผู้เลี้ยงดูมารดาบิดา, มีปกติประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูล, เจรจาอ่อนหวาน, เจรจาสมานมิตรสหาย, ละคำส่อเสียด, รู้อุบายกำจัดความตระหนี่, มีวาจาสัตย์, ครอบงำความโกรธไว้ได้ ว่าผู้นั้นแลเป็นสัปบุรุษ" (ปฐมเทวสูตรสํ.ส.ข้อ ๙๐๕ - ๗)
ครั้นชนทั้งหมดสิ้นชีวิต ชนทั้งหมดได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์, มฆมาณพได้เป็นท้าวสักกะ, พวกมาณพผู้เป็นสหายเป็นเทพบุตร, นายช่างไม้เป็นวิสสุกรรมเทพบุตร,ช้างเกิดเป็นเทพบุตรชื่อ เอราวัณ
นางสุธัมมาเกิดเป็นเทพธิดาคู่พระทัย พร้อมเกิดเทวสภาชื่อสุธัมมาในดาวดึงส์ด้วย
นางสุนันทาเกิดเป็นเทพธิดาคู่พระทัย พร้อมเกิดสระโบกขณีสุนันทาในดาวดึงส์
นางสุจิตราเกิดเป็นเทพธิดาคู่พระทัย พร้อมเกิดสวนดอกไม้สุจิตราในดาวดึงส์
มีแต่นางสุชาดาผู้ชอบแต่การแต่งกาย เกิดเป็นนกยางอยู่ ณ บริเวณหุบเขาแห่งหนึ่งในแดนมนุษย์