นิพพาน

นิพพาน

ปริยัติธรรม

พระไตรปิฎก

นิพพาน หมายถึง ความดับสนิทแห่งกิเลสและกองทุกข์ เป็นสภาพโลกุตระอันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในศาสนาพุทธ

 

คำว่า นิพพาน เป็นคำที่ใช้กันในปรัชญาหลายระบบในอินเดีย โดยใช้ในความหมายของการหลุดพ้น แต่การอธิบายเกี่ยวกับสภาวะของนิพพานนั้นแตกต่างกันออกไป ในปรัชญาอุปนิษัทเชื่อว่านิพพานหรือโมกษะ คือการที่อาตมันย่อยหรือชีวาตมันเข้ารวมเป็นเอกภาพกับพรหมัน แต่ในพระพุทธศาสนาอธิบายว่า นิพพานคือการหลุดพ้นจากอวิชชา ตัณหา ซึ่งแสดงออกในรูปของโลภะ โทสะ และโมหะ มิได้หมายความว่าเป็นการหลุดพ้นของอัตตาหรือตัวตนในโลกนี้ ไปสู่สภาวะของนิพพานอย่างคำสอนอุปนิษัท แต่หมายถึงความดับสนิทแห่งความเร่าร้อนและเครื่องผูกพันร้อยรัดทั้งปวง ซึ่งเรียกว่าเป็นความทุกข์ พระพุทธศาสนาถ้าปราศจากนิพพานแล้วก็ไม่เกิดเป็นศาสนา เพราะในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๖ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะเมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา พระองค์ก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม โดยทรงเจริญสมาธิภาวนาจนจิตเป็นสมาธิได้ฌานที่ ๔ แล้วบำเพ็ญภาวนาต่อไปจนได้ญาณ ๓ คือ ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตทั้งของตนเองและผู้อื่นได้ ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของวิญญาณทั้งหลาย ยามสาม หรือยามสุดท้าย : ทรงบรรลุ "อาสวักขญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ยามสุดท้ายที่พระองค์ทรงบรรลุนี่แหละ คือนิพพาน ซึ่งเป็นชื่อเดียวกันกับ "อาสวักขญาณ"

 

ในขุททกนิกาย อิติวุตตกะ ธาตุสูตร พระพุทธเจ้ากล่าวถึงนิพพานธาตุ ๒ ประเภท คือ

 

สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานโดยที่อินทรีย์ ๕ ยังคงอยู่ จึงยังเสวยสุขและทุกข์อยู่เมื่อประสบกับประสบอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ หมายถึง นิพพานทั้งดับภพและเวทนาได้สิ้นเชิงแล้ว

นิพพานก็อยู่ใน อริยสัจ ๔ ด้วย คือเป็นจุดหมายของพระพุทธศาสนา ได้แก่ อริยสัจข้อ ๓ ที่เรียกว่า "นิโรธ" คำว่านิโรธนี้เป็น ไวพจน์ คือใช้แทนกันได้กับ "นิพพาน" พระไตรปิฎกเล่ม ๓๑ ระบุว่าอริยสัจ ๔ ทั้งหมดซึ่งรวมทั้งนิโรธ คือนิพพาน ด้วยนั้น เป็นอนัตตา ดังนี้ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ . . . นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ. (ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๔๖/๔๕๐) แปลว่า: "สัจจะทั้ง ๔ ( ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ) มีการตรัสรู้ด้วยกันเป็นอันเดียว ( คือด้วยมรรค ญาณเดียวกัน ) โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา . . . นิโรธมีความหมายว่าดับ ( ทุกข์ ) ก็มีความหมายว่า เป็นอนัตตา

ในพระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรคระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" และในอังคุตตรนิกาย ติกนิบาตมีระบุว่า "สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา" ซึ่ง "ธรรม" ในที่นี้พระอรรถกถาจารย์อธิบายต่อว่า "หมายรวมถึงนิพพานด้วย" นอกจากนี้ ยังมีข้อความในคัมภีร์พระไตรปิฎกอีกหลายแห่งทั้งที่ระบุโดยตรงและโดยอ้อมที่มีนัยบอกว่า "นิพพานเป็นอนัตตา"

พระพุทธเจ้าไม่เคยทรงอธิบายว่า พระอรหันต์ผู้บรรลุนิพพานเมื่อดับขันธ์แล้วจะอยู่ในสภาพเช่นใด การอธิบายทำได้ในลักษณะเพียงว่า นิพพานคือการดับทุกข์ สิ้นตัณหา เหมือนไฟที่ดับจนสิ้นเชื้อไม่สามารถที่จะลุกลามขึ้นมาได้อีก สำหรับพระอรหันต์ที่ปรินิพพานแล้วนั้น พระพุทธองค์ไม่ตรัสยืนยันถึงความมีอยู่หรือความดับสูญ พระองค์ตรัสแต่เพียงว่า เมื่อพระองค์ปรินิพพานแล้ว ทั้งเทวดาและมนุษย์จะไม่สามารถเห็นพระองค์อีกต่อไป "ดูกร ภิกษุทั้งหลาย กายของตถาคต มีตัณหาอันนำไปสู่ภพขาดแล้ว ยังดำรงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักเห็นตถาคตชั่วเวลาที่กายของตถาคตยังดำรงอยู่ เมื่อกายแตกสิ้นชีพแล้ว เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจักไม่เห็นตถาคต" ( ที.สี.๑๔/๙๐ )

ในคัมภีร์รุ่นอรรถกถา ยังมีข้อความแสดงสภาวะของนิพพานอีกหลายแห่ง เช่นในปฏิสัมภิทามรรค มีอธิบายว่า นิพฺพานธมฺโม อตฺตสฺเสว อภาวโต อตฺตสุญฺโญ "ธรรมคือนิพพาน ว่างจากอัตตา เพราะไม่มีอัตตา" (ขุ.ป.อ.๒/๒๘๗) นอกจากนี้ในวิสุทธิมรรค พระพุทธโฆสะ พยายามอธิบายให้เห็นถึงความไม่มีตัวตนของผู้ได้ชื่อว่าบรรลุนิพพาน ซึ่งเท่ากับว่าไม่มีอัตตา และนิพพานก็มิใช่สิ่งที่จะต้องมีอัตตาถึงจะมีอยู่ได้ ดังที่พระพุทธโฆสะกล่าวว่า "นิพพานมีอยู่ แต่ไม่มีผู้เข้าถึงนิพพาน มรรคามีอยู่ แต่ปราศจากผู้ดำเนินไป" ( วิสุทฺธิ.๓/๑๐๑ ) ข้อความนี้แสดงให้เห็นว่า ไม่มีตัวตนบุคคลใด ๆ ที่ปฏิบัติตามมรรคมีองค์แปด แล้วบรรลุนิพพาน เมื่อปราศจาก "ตัวตน" ของผู้เข้าถึงนิพพาน นิพพานก็ย่อมไม่ใช่อัตตาไปด้วย

นิพพานเป็นธรรมที่พ้นไปจากโลก ในพาหิยสูตร ความว่า "ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ ( สัจจะ ๔ ) รู้แล้วด้วยตนเอง เมื่อนั้นพราหมณ์ย่อมหลุดพ้นแล้วจากรูปและอรูป จากความสุขและความทุกข์..." ( ขุ.ขุ.อ.๒๕/๕๐ )

นิพพานเป็นปรมัตถ์ ว่าโดยความแตกต่างแห่งอาการ มี ๓ อย่าง คือ สุญญตะ ๑ อนิมิตตะ ๑ อัปปณิหิตะ ๑ อาการที่ชื่อว่า สุญญตะ เพราะเป็นสภาพสูญจากสังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อนิมิตตะ เพราะไม่มีนิมิต คือ สังขารทั้งปวง อาการที่ชื่อว่า อัปปณิหิตะ เพราะไม่มีที่ตั้ง คือ สังขารทั้งปวง

อุทาน ปาฏลิคามิยวรรคที่ ๘ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

นิพพานสูตรที่ ๑

[๑๕๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน ก็ภิกษเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไป หาอารมณ์มิได้นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ


นิพพานสูตรที่ ๒

[๑๕๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาอันปฏิสังยุตต์ด้วยนิพพาน ก็ภิกษุเหล่านั้นกระทำให้มั่น มนสิการแล้วน้อมนึกธรรมีกถาด้วยจิตทั้งปวงแล้ว เงี่ยโสตลงฟังธรรม ฯ
... ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้วได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
... ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่ ฯ


นิพพานสูตรที่ ๓

[๑๖๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ... เงี่ยโสตลงสดับธรรม ลำดับนั้นแลพระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ ฯ


นิพพานสูตรที่ ๔

[๑๖๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงชี้ให้ภิกษุทั้งหลายเห็นแจ้ง ... เงี่ยโสตลงฟังธรรม ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยเมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมาการไป เมื่อไม่มีการมาการไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

นิพพาน หมายถึง การดับหรือการหมดสิ้นไปของสังสารทุกข์ อันเป็นวนเวียนของกิเลส (กิเลสวัฏ) เป็นวนเวียนของกรรม (กรรมวัฏ) และวนเวียนของวิบาก (วิปากวัฏ)

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗ ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต

พาหิยสูตร

ดิน น้ำ ไฟ และลม ย่อมไม่หยั่งลงในนิพพานธาตุใด ในนิพพานธาตุนั้น ดาวทั้งหลายย่อมไม่สว่าง พระอาทิตย์ ย่อมไม่ปรากฏ พระจันทร์ย่อมไม่สว่าง ความมืดย่อมไม่มี

ก็เมื่อใดพราหมณ์ชื่อว่าเป็นมุนีเพราะรู้ (สัจจะ ๔) รู้แล้ว ด้วยตน เมื่อนั้น พราหมณ์ย่อมหลุดพ้นจากรูปและอรูป จากสุขและทุกข์ ฯ

พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต)

ภาวะแห่งนิพพาน - บรรลุนิพพาน

 

เมื่อสังสารวัฏฐ์หายไปก็กลายเป็นวิวัฏฏ ขึ้นเองทันที เป็นของเสร็จพร้อมอยู่ในตัว ไม่ต้องเดินทาง ออกจากสังสารวัฏฏที่แห่งหนึ่ง ไปสู่วิวัฏฏอีกแห่งหนึ่ง เว้นแต่จะเป็นการพูดในเชิงภาพพจน์ หรืออุปมา เมื่อ อวิชชา ตัณหา อุปาทานดับไป นิพพานก็ปรากฎแทนที่พร้อมกัน จะพูดให้มันเข้าอีกก็ว่า การดับอวิชชา ตัณหา อุปาทานนั่นแหละ คือนิพพาน

ตามปกติของปุถุชน อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ย่อมคอยครอบงําเคลือบแฝงจิตใจ กําบังปัญญา และเป็น ตัวชักใยนําเอากิเลสต่างๆ ให้ไหลเข้ามาสู่จิตใจ ทําใจให้ไหว ให้วุ่น ให้ขุ่น ให้มัว ให้ฝ้าหมอง ทําให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ไม่ชัดบ้าง ให้บิดเบือนไปเสียบ้าง ตลอดจนถ่วงดึงเหนี่ยวรั้งไว้ให้วนเวียนติดตั้งข้องขัดและคับแคบอยู่กับ เครื่องผูกมัดหน่วงเหนี่ยวชนิดต่างๆ

เมื่ออวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้น ดับหายไปแล้ว ก็เกิดปัญญา เป็นวิชชาสว่างแจ้งขึ้น มองเห็นสิ่งทั้งหลาย กล่าวคือโลกและชีวิต ถูกต้องชัดเจน ตามที่มันเป็นของมันไม่ใช่ตามที่อยากให้มันเป็น หรือตามอิทธิพลของสิ่ง เคลือบแฝงกําบัง การมองเห็น การรับรู้ต่อโลกและชีวิต ก็จะเปลี่ยนไป ความรู้สึกและท่าทีต่อสิ่งต่างๆ ก็จะ เปลี่ยนไป ยังผลให้บุคลิกภาพเปลี่ยนไปด้วย

สิ่งที่ปรากฏอยู่ แต่ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น หรือแม้แต่นึกถึง เพราะถูกปิดกั้นคลุมบังเงาไว้ หรือเพราะมัว สาละวนเพลินอยู่กับสิ่งอื่น ก็ได้รู้ได้เห็นขึ้น เกิดเป็นความรู้เห็นใหม่ๆ จิตใจเปิดเผย กว้างขวาง ไม่มีประมาณ โปร่งโล่ง เป็นอิสระ เป็นภาวะที่แจ่มใส สะอาด สว่าง สงบ ละเอียดอ่อน ประณีต ลึกซึ้ง ซึ่งผู้ยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงําใจอยู่ อย่างที่เรียกกันว่าปุถุชน นึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ แต่เข้าถึงเมื่อใด ก็รู้เห็นประจักษ์แจ้งเอง เมื่อนั้น ดังคุณบท คือ คําแสดงคุณลักษณะของนิพพานว่า

“นิพพาน อันผู้บรรลุเห็นได้เอง ไม่ขึ้นกับกาล เรียกให้มาดูได้ ควรน้อมเอาเข้ามาไว้ อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน"

การที่ปุถุชนไม่สามารถนึกเห็น ไม่อาจคิดให้เข้าใจภาวะของนิพพานได้นั้น เพราะธรรมดาของมนุษย์ เมื่อ ยังไม่รู้เห็นประจักษ์เองซึ่งสิ่งใด ก็เรียนรู้สิ่งนั้นด้วยอาศัยความรู้เก่าเป็นพื้นเทียบ คือ เอาสัญญาที่มีอยู่แล้วมากําหนด แล้ววาดภาพขึ้นใหม่จากสัญญาต่างๆ ที่เอามากําหนดเทียบนั้น ได้ภาพตามสัญญาที่เป็นองค์ประกอบ เหมือนอย่างคนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จักช้างเลย เมื่อมีใครพูดขึ้นแก่เขาว่า “ช้าง” เขาจะไม่รู้ไม่เข้าใจ นึกอะไรไม่ได้ เลยอาจจะกําหนดไปตามอาการกิริยาเป็นต้นของผู้พูดแล้ว อาจจะนึกว่าผู้พูดกล่าวผรุสวาทแก่เขา หรืออาจจะ นึกไปว่าผู้พูดกล่าวคําภาษาต่างประเทศคําหนึ่ง หรืออาจจะนึกว่าผู้พูดเสียสติ จึงกล่าวคําไร้ความหมายออกมาหรือนึกคิดอะไรต่างๆ ไปได้มากมาย แล้วแต่สถานการณ์

แต่ถ้าผู้พูดกล่าวว่า “ฉันเห็นช้าง” ผู้ฟังนั้น จะมีความเข้าใจขึ้นหน่อยหนึ่งว่า ช้างเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ เห็นได้ด้วยตา ถ้าผู้พูดอธิบายต่อไปว่า “ช้าง เป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง” เขาก็เข้าใจเพิ่มขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง โดยอาจจะนึกไปถึงสิ่งทั้งหลายที่เรียกว่าสัตว์ ไม่จํากัดชนิดและขนาด ตั้งแต่มดถึงไดโนเสาร์ ตั้งแต่ปลากัดถึงปลาวาฬ ตั้งแต่ยุง ถึงนกอินทรีย์ เมื่อผู้พูดกล่าวต่อไปว่า “ช้าง เป็นสัตว์บก” เขาก็เข้าใจชัดขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง ครั้นบอกว่า “ช้าง เป็น สัตว์ตัวโตมาก” เขาก็เห็นภาพจํากัดชัดเข้าอีก

จากนั้น ผู้พูดก็อาจบรรยายลักษณะของช้าง เช่น ใบหูโต ตาเล็ก มีงาสองข้าง มีจมูกยาวเป็นงวง เป็นต้น ผู้ฟังก็จะได้ภาพจําเพาะที่ชัดเจนในใจของเขามากขึ้น ภาพนั้นอาจใกล้ของจริงก็ได้ หรือห่างไกลไปมากมาย ชนิดที่ว่า ถ้าให้เขาวาดภาพที่เขาเห็นในใจเวลานั้นออกมาเป็นรูปวาดบนแผ่นกระดาษ เราอาจได้รูปสัตว์ประหลาด เพิ่มขึ้นอีกชนิดหนึ่ง สําหรับนิยายโบราณเรื่องใหม่ก็ได้ เพราะผู้ไม่รู้ไม่เห็นจริงนี่แหละ มักใช้สัญญาต่างๆ สร้างภาพได้วิจิตรพิสดารนัก ทั้งนี้ ภาพในใจของเขาจะเป็นอย่างไร ย่อมขึ้นต่อความแม่นยําของสัญญาเกี่ยวกับ ลักษณะอาการต่างๆ ที่ผู้เล่ายกขึ้นมาพูดฝ่ายหนึ่ง และสัญญาที่ผู้ฟังเอามาประสานเป็นองค์ประกอบสร้างสัญญา ใหม่อีกฝ่ายหนึ่ง

จะเห็นว่า คําว่า “เห็น” ก็ดี “สัตว์” ก็ดี “บก” “ตัวโต” เป็นต้น ก็ดี ล้วนเป็นสัญญาที่ผู้ฟังมีอยู่แล้ว ทั้งสิ้น แต่ในกรณีที่สิ่งที่นํามาบอกเล่า แตกต่างไปจากสิ่งที่ผู้ฟังเคยรู้เห็นมีสัญญาอยู่ก่อนแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีลักษณะอาการใดที่จะเทียบกันได้เลย ผู้ฟังจะไม่มีทางนึกเห็นหรือเข้าใจได้ด้วยประการใดทั้งสิ้น

เมื่อมีการสอบถามเทียบเคียงขึ้น คือผู้ฟังขอนําเอาสัญญาของตนออกมาต่อความรู้ใหม่ ก็จะทําได้อย่าง เดียว คือปฏิเสธ หรือถ้าผู้เล่าขึ้นพยายามจะชี้แจงด้วยสัญญาที่ผู้ฟังพอจะเอามาเทียบได้บ้าง ก็เสี่ยงอันตรายอย่างมากต่อการที่ผู้ฟังจะสร้างสัญญาผิดๆ ต่อสิ่งที่นํามาเล่านั้น ถ้าผู้ฟังไม่สร้างสัญญาผิด ก็อาจไปสู่สุดทางอีก ข้างหนึ่ง คือปฏิเสธคําบอกของผู้เล่า โดยกล่าวหาว่าผู้เล่ากล่าวเท็จ หลอกลวง สิ่งที่นํามาเล่านั้นไม่มีจริง

แต่การที่ผู้ฟังจะปฏิเสธ โดยกล่าวว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มีจริง เพียงเพราะเหตุที่ตนไม่เคยเห็นไม่เคยรู้จัก ไม่ เหมือนกับสิ่งที่ตนเคยรู้จักและตนเองไม่อาจนึกเห็นหรือเข้าใจ ย่อมไม่เป็นการถูกต้อง

นิพพานเป็นภาวะที่พ้นจากสภาพทั้งหลายที่ปุถุชนรู้จัก นอกเหนือออกไปจากการรับรู้ที่ถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทานครอบงํา เป็นภาวะที่เข้าถึงทันที พร้อมกับการละกิเลสที่เคลือบคลุมใจ หรือพ้นจากภาวลักษณะต่างๆ ที่เป็นวิสัยของปุถุชน เหมือนเลื่อนฉากออก ก็มองเห็นท้องฟ้า นิพพานไม่มีลักษณะอาการเหมือนสิ่งใด ที่ปุถุชนเคย รู้เคยเห็น ปุถุชนจึงไม่อาจนึกเห็นหรือคิดเข้าใจได้ แต่จะว่านิพพานไม่มี ก็ไม่ถูก มีผู้กล่าวอุปมาบางอย่างไว้ เพื่อให้ปุถุชนพอสํานึกได้ว่า สิ่งที่ตนนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ ไม่จําเป็นต้องไม่มี

ข้อเปรียบเทียบที่น่าฟังเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องปลาไม่รู้จักบก มีความย่อของนิทานว่า ปลากับเต่าเป็นเพื่อน สนิทกัน ปลาอยู่แต่ในน้ํา รู้จักแต่เรื่องราวความเป็นไปในน้ํา เต่าเป็นสัตว์สะเทินน้ําสะเทินบก รู้จักทั้งบกทั้งน้ํา

วันหนึ่งเต่าไปเที่ยวบกมาแล้ว ลงในน้ําพบปลา ก็เล่าให้ปลาฟัง ถึงความสดชื่นที่ได้ไปเดินเที่ยวบนผืนดิน แห้ง ในท้องทุ่งโล่งที่ลมพัดฉิว ปลาฟังไปได้สักหน่อย ไม่เข้าใจเลย อะไรกันนะที่ว่าเดิน อะไรกันพื้นดินแห้งอะไร กันทุ่งโล่ง อะไรกันลมพัดผิว แม้แต่ความสดชื่นอย่างนั้น ปลาก็ไม่รู้จัก ความสุขโดยปราศจากน้ํา จะเป็นไปได้ อย่างไร มีแต่จะตายแน่ๆ

ปลาทนไม่ได้ จึงขัดขึ้น และซักถามหาความเข้าใจ เต่าเล่าและอธิบายด้วยศัพท์บก ปลาซักถามด้วยศัพท์ น้ํา เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ ปลาจะให้เต่าอธิบายด้วยศัพท์น้ํา เต่าก็อธิบายไม่ได้ เพราะไม่รู้จะเอาอะไรมาเทียบ

ในที่สุด ปลาก็ลงข้อสรุปว่า เต่าโกหก เรื่องที่เล่าไม่จริงทั้งสิ้น เดินก็ไม่มี ผืนดินแห้งก็ไม่มี ทุ่งโล่งก็ไม่มี ลมพัดฉิวต้องตัวแล้วสดชื่น ก็ไม่มี

ตามเรื่องนี้ ความจริงปลาเป็นฝ่ายผิด สิ่งที่เต่าเล่า มีอยู่จริง แต่พ้นวิสัยแห่งความรู้ของปลา เพราะปลา ยังไม่เคยขึ้นไปอยู่บก จึงไม่อาจเข้าใจได้

ข้อเทียบอีกอย่างหนึ่ง คือ ความรู้ทางอายตนะที่ต่างกัน ธรรมดาว่า ความรู้ทางอายตนะคนละอย่าง ย่อม มีลักษณะอาการที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง และไม่อาจเทียบกันได้ รูปกับเสียงไม่มีอะไรเทียบกันได้ เสียงกับกลิ่นไม่มีอะไรเทียบกันได้ ดังนี้เป็นต้น

สมมติว่า คนผู้หนึ่งตาบอดมาแต่กําเนิด ไม่เคยมีสัญญาเกี่ยวกับรูป ย่อมไม่มีใครสามารถไปอธิบายสี เขียว สีแดง สีส้ม สีชมพู หรือลักษณะอาการต่างๆ ของรูป ให้เขาเข้าใจได้ด้วยความรู้จากสัญญาที่เขามีทางอายตนะอื่นๆ ไม่ว่าจะอธิบายว่า รูปนั้นดัง เบา หุ้ม แหลม เหม็น หอม เปรี้ยว หวาน อย่างไร หรือถ้าใครไม่มี ประสาทจมูกมาแต่เกิด ใครจะอธิบายให้เขาเข้าใจ เหม็น หอม กลิ่นกุหลาบ กลิ่นส้ม กลิ่นมะลิ ได้อย่างไร เพราะคง จะต้องปฏิเสธ เขียว เหลือง แดง น้ําเงิน หนัก เบา อ้วน ผอม ดัง เบา ขม เค็ม เป็นต้น ที่เขาใช้ซักถามทั้งหมด

ยิ่งกว่านั้น มนุษย์มีอายตนะขั้นต้นสําหรับรับรู้ลักษณะอาการต่างๆ ของโลก ที่เรียกว่าอารมณ์ เพียง ๕ อย่าง ถ้ามีแง่ของความรู้ที่นอกเหนือจากนั้นไป มนุษย์ย่อมไม่อาจรู้ และแม้แต่ห้าอย่างที่รู้ ก็รู้ไปตามลักษณะอาการด้านต่างๆ เท่านั้น การไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น หรือนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจของมนุษย์เพียงอย่างเดียว จึงยัง มิใช่เครื่องชี้ขาดว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่มี

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้ใหม่ ก่อนที่จะทรงประกาศธรรม ได้ทรงมีพุทธดําริว่า

“ธรรมที่เราเข้าถึงแล้วนี้ ลึกซึ้ง เห็นยาก หยั่งรู้ตามยาก สงบ ประณีต ตรรกหยั่งไม่ถึง (ไม่อยู่ในวิสัยของตรรก) ละเอียดอ่อน เป็นวิสัยที่บัณฑิตจะพึงทราบ”

และมีข้อความเป็นคาถาต่อไปว่า

“ธรรม เราลุถึงโดยยาก เวลานี้ ไม่ควรประกาศ, ธรรมนี้ มิใช่สิ่งที่สัตว์ผู้ถูกราคะโทสะ ครอบงํา จะรู้เข้าใจได้ง่าย, สัตว์ทั้งหลายผู้ถูกราคะย้อมไว้ ถูกกองความมืด (อวิชชา) ห่อหุ้ม จักไม่ เห็นภาวะที่ทวนกระแส ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง เห็นยาก ละเอียดยิ่งนัก”

คําว่า “ธรรม” ในที่นี้ หมายถึง ปฏิจจสมุปบาท และ นิพพาน (จะว่าอริยสัจ ๔ ก็ได้ใจความเท่ากัน) แต่ ถึงแม้จะยากอย่างนี้ ก็ปรากฏว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงพยายามสั่งสอนชี้แจงอธิบายอย่างมากมาย ดังนั้น คําว่า นิพพานเป็นสิ่งที่ปุถุชนนึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ จึงควรมุ่งให้เป็นคําเตือนเสียมากกว่า คือ เตือนว่าไม่ควรเอาแต่คิด สร้างภาพและถกเถียงชักเหตุผลมาแสดงกันอยู่ จะเป็นเหตุให้สร้างสัญญาผิดๆ ขึ้นมาเสียเปล่า ทางที่ดีหรือทางที่ถูก ควรจะลงมือปฏิบัติให้เข้าถึง เพื่อรู้เห็นประจักษ์ชัดกับตนเอง เพราะถึงแม้ว่านิพพานนั้น เมื่อยังไม่รู้ไม่เห็น ก็ นึกไม่เห็น คิดไม่เข้าใจ แต่ก็เป็นสิ่งที่รู้ได้ เห็นได้ เข้าถึงได้ เพียงแต่ว่ายากเท่านั้น

ปริจเฉทที่ ๖ รูปสังคหวิภาค - มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ

นิพพาน โดยอาการที่เข้าถึง

นิพพาน กล่าวโดยอาการที่เข้าถึง หรือกล่าวโดยสภาพที่บรรลุ หรือโดยอาการ ที่เป็นไปแล้ว มี ๓ คือ

ก. อนิมิตนิพพาน หมายถึงนิพพานนั้นไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย ไม่มีรูปร่าง การสงัดจากนิมิตอารมณ์ ที่ยังให้เกิดกิเลส หรือ ชรามรณธรรม เป็นต้น นั้น เรียกว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นสามัญลักษณะ หรือ ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง เห็นความไม่เที่ยง อันปราศจากนิมิตเครื่องหมายเช่นนี้แล้ว และเพ่งอนิจจังต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นอนิจจังนั้นมี ชื่อว่า อนิมิตตนิพพาน ผู้มีอนิมิตตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรง ด้วย สีล
      
ข. อัปปณิหิตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้น ไม่มีอารมณ์เป็นที่น่าปรารถนา การสงัดจากความดิ้นรนอันเป็นเหตุให้เกิดสรรพทุกข์นั้น เรียกว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ ทุกข์ เห็นความทนอยู่ไม่ได้ ต้องเปลี่ยนแปรไป อันหาเป็น ปณิธิ ที่ตั้งไม่ได้เช่นนี้แล้ว และเพ่งทุกข์ต่อไปจน บรรลุมัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้ที่เห็นทุกข์นั้นมี ชื่อว่า อัปปณิหิตนิพพาน ผู้มีอัปปณิหิตนิพพานเป็นอารมณ์ บุญญาธิการแต่ปางก่อน แรงด้วย สมาธิ
      
ค. สุญญตนิพพาน หมายถึง นิพพานนั้นสูญสิ้นจากกิเลสและอุปาทาน และ ขันธ์ ๕ ไม่มีอะไรเหลืออยู่
ผู้เจริญวิปัสสนาภาวนา จนเห็นไตรลักษณ์ คือ อนัตตา เห็นความไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ อันเป็นความว่างเปล่า เช่นนี้แล้ว และเพ่งอนัตตาต่อไปจนบรรลุ มัคคผล มีนิพพานเป็นอารมณ์ นิพพานที่เป็นอารมณ์แก่ผู้เห็นอนัตตานั้น มีชื่อว่า สุญญตนิพพาน ผู้ที่มีสุญญตนิพพานเป็นอารมณ์นี้ บุญญาธิการแต่ปางก่อนแรงด้วย ปัญญา

ผู้ที่เห็นสามัญญลักษณ์ หรือไตรลักษณ์ คือ อนิจจังกับอนัตตาแล้วก้าวขึ้นสู่ มัคคผลนั้น มีจำนวนมากกว่าผู้ที่เห็น ทุกขัง

จบปริจเฉทที่ ๖ ชื่อว่า รูปสังคหวิภาค

คำสอนพระอริยเจ้า

หนังสือ ชีวิตนี้สำคัญนัก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

พระพุทธเจ้าท่านเพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น พระบารมีและคุณธรรมยังอยู่

(ยมกสูตร) มีผู้หลงว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เป็นพระอรหันต์ ดังนั้น พระอรหันต์ตายแล้วไม่สูญ แต่ไม่ควรถามว่าตายแล้วไปไหน เหมือนกับไฟดับแล้ว ก็ไม่ควรบอกว่าไฟสูญหรือถามว่าไฟดับแล้วไปไหน
หนังสือ ๔๕ พรรษา ของพระพุทธเจ้า หน้า 125-126 พิมพ์ครั้งที่ 1 ปี 2532 ครั้งที่ 1 ปี 2510

พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้วไม่ได้หายไปไหน พระพุทธบารมียังปกปักษ์รักษาโลกอยู่ คนในโลกยังรับพระพุทธบารมีได้ มิได้แตกต่างไปจากเมื่อยังทรงดำรงพระชนม์อยู่ เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องเปิดใจออกรับ มิฉะนั้นก็จะรับไม่ได้ พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ไม่ทรงเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารอีกต่อไป แต่พระพุทธบารมียังพรั่งพร้อม พระอาจารย์สำคัญองค์หนึ่งท่านเล่าไว้ว่าเมื่อท่านปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอยู่ในป่าดงพงพีนั้น พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปทรงสอนท่านด้วยพระพุทธบารมีเสมอ แล้วท่านพระอาจารย์องค์นั้น ต่อมาก็เป็นที่ศรัทธาเคารพของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ที่เชื่อมั่นว่าท่านปฏิบัติถึงจุดหมายปลายทางแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ด้วยพระพุทธบารมีได้ เสด็จไปทรงแสดงธรรมโปรดพระอาจารย์องค์สำคัญให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้ ไม่มีอะไรให้สงสัยว่าเป็นสิ่งสุดวิสัย เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เรื่องของท่านพระโมคคัลลาน์เป็นเครื่องให้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ่มชัดว่าพระพุทธเจ้าก็ดี พระอรหันตเจ้าก็ดี แม้ดับขันธปรินิพพานแล้ว ท่านก็เพียงไม่มีร่างเหลืออยู่เท่านั้น บารมีและคุณธรรมทั้งปวงของท่านยังพรั่งพร้อมเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

หนังสือ ประวัติสังเขป พระโพธิสัตว์ สมเด็จพระสังฆราชคูรูปาจารย์ หลวงปู่ทวด(เหยียบน้ำทะเลจืด) พระเถระสมัยกรุงศรีอยุธยา

พุทธะ อยู่ในกายมนุษย์

อีกจุดหนึ่งที่มนุษย์ไม่ยอมสนใจ คือไม่สนใจค้นในกายของตนเอง สิ่งหนึ่งที่เรียกว่า พุทธะ นั้นอยู่ในกาย ถ้าจิตของผู้นั้นสามารถค้นเข้าไปถึงกายในกายอันบริสุทธิ์ สิ่งนี้ภาษาทางโลกเรียกว่า พลัง ชนิดหนึ่งที่ยอดเยี่ยมอยู่ในตัวเรา แต่เราไม่รู้จักค้นออกมาใช้ เพราะอะไรเล่า ทำไมเราจึงถามว่าเหตุใดองค์สมณะโคดมจึงสามารถระลึกชาติได้ เพราะมีบุพเพนิาสานุสติกญาณ มีอนาคตญาณ หรือมีญาณอะไร สิ่งเหล่านี้เราไม่ต้องไปรับรู้ เราไม่ต้องยุ่ง เราไม่ต้องไปคิดถึงว่าเราจะได้ฌานโน้นฌานนี้ หลักของการปฏิบัติอันหนึ่งมีอยู่ว่า เราจะยึดอะไรเป็นสรณะของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

คำว่า กรรมฐาน นั้นหมายถึงการกำหนดจิตของเราให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อรวมพลังจิตไม่ให้ฟุ้ง เมื่อรวมพลังจิตอันนั้นไม่ให้ฟุ้งแล้ว รวมอยู่ในจุดใดจุดหนึ่ง รวมจนได้อารมณ์แห่งปีติ คือนิ่งเฉยแห่งจุดนั้น เมื่อนั้นให้ขึ้นวิปัสสนา วิปัสสนาคือให้พิจารณาในทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นอนัตตา อนัตตาคือการเดินทางไปสู่โลกแห่งนิพพาน โลกแห่งอรหันต์ โลกแห่งโพธิสัตว์ โลกแห่งอนาคา อนาคามี โลกเรานี้เป็นโลกแห่งอัตตา ทำอย่างไรเราถึงจะไปสู่จุดแห่งการเป็นอนัตตาได้

หนังสือ ธรรมะ จากดวงวิญญาณบริสุทธิ์ สมเด็จโต สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังษี

นิพพาน คือว่างจากกิเลส จิตวิญญาณของพระอรหันต์ไม่สูญ ที่วิญญาณสูญนั่นคือวิญญาณในขันธ์ ๕ เท่านั้น

(คัดจากหน้า 41-43)

ขุนราชฤทธิ์บริรักษ์ (ถาม) : อันว่านิพพาน ปรมัง สุญญัง เป็นอันว่านิพพานเป็นสูญอย่างยิ่ง คือหมายความว่าสูญเลย คำว่าสูญเลยเป็นที่สงสัยอย่างเกล้ากระผมซึ่งมีกิเลสหนา คำว่าสูญเลยตามตำราบอกว่าขันธ์นั่นสูญ รูปขันธ์ก็หายไป วิญญาณขันธ์ก็หายไป แล้วสังขารขันธ์ก็หายหมด ทีนี้เกล้ากระผมไม่ทราบว่าอะไรเหลือ เมื่ออะไรมันหายหมด เพราะนิพพาน ปรมัง สุญญัง นี่ เพราะฉะนั้นในฐานะพระเดชพระคุณสมเดจเป็นนักปราชญ์ผู้มีความเปรื่องในธรรม โปรดได้อธิบายให้เกล้ากระผมเพื่อเป็นแนวทางซักหน่อย ก็จะเป็นพระคุณและได้บุญกับสาธุชนผู้ที่นั่งฟังอีกด้วยเป็นอย่างมาก

สมเด็จ (ตอบ) : คำว่า นิพพาน นี้ต้องเข้าใจว่ามีหลักแห่งความจริงของคำว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง นิพพานัง ปรมัง สุญญัง ถ้าในหลักแห่งความจริงของพระสัมมาสัมพุทธโคดมแล้ว คำว่า นิพพาน ในโลกมนุษย์นี้ ก็คือว่า มนุษย์ผู้ใดปฏิบัติตนให้อยู่ในจิตแห่งความว่าง ให้อยู่ในจิตแห่งความนิ่ง ให้อยู่ในจิตแห่งความสิ้นจากสรรพกิเลสที่รอบล้อมอยู่ในตัว เขาเรียกว่า ....

ใจกลางแห่งนิพพานตั้งอยู่เมือง
รอบล้อมต่อเนื่องกำแพงอันแสนหนา
ผู้ใดหาทางทะลุอยู่ในเมือง
มนุษย์ผู้นั้นย่อมถึงนิพพาน

นิพพานในโลกมนุษย์นี้เขาเรียกว่าปฏิบัติจิตให้ว่างที่สุด นานเท่านาน ผู้นั้นถึงนิพพานแห่งการเป็นมนุษย์ คือ สุญญัง นี้แหละเขาเรียกว่าสูญจากอาสวกิเลส สูญจากการป็นทาสอารมณ์แห่งการเป็นมนุษย์ จิตวิญญาณนี้พุ่งสู่แดนอรหันต์ ไม่ใช่สูญทั้งจิตและวิญญาณ ถ้าสูญทั้งจิตและวิญญาณ จะเอาอะไรไปเสวยกรรม สภาพการณ์วิญญาณที่สูญนั้นเขาเรียกว่า วิญญาณธาตุในเบญจขันธ์ วิญญาธาตุนี้เป็นอุปาทาน รูปนี้ประกอบขึ้นด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณธาตุจึงอยู่เป็นกาย แต่วิญญาณอีกอันหนึ่งเขาเรียกว่าวิญญาณซึ่งวนเวียนอยู่ในกฏแห่งวิฏสงสารนั้นแหล่

(คัดจากหน้า 61-62)

เรื่องวิญญาณนี้เป็นเรื่องละเอียด ในหลักการแห่งวิญญาณของเทพพรหมชั้นสูงนั้น เปรียบเสมือนหนึ่งในหลักทั่วไปของมนุษย์ ก็คือว่าเป็นอากาศ สภาวการณ์ท่านรู้ว่ามีอากาศ แต่ท่านไม่สามารถจับอากาศขึ้นมาเป็นตัวตนได้ นั่นคือสภาวะของวิญญาณเทพพรหมชั้นสูง

ทีนี้วิญญาณเหล่าวิสุทธิเทพ วิญญาณเหล่าพรหมสุทธาวาส วิญญาณเหล่าอรหันต์ จะเปรียบให้เข้าใจในโลกมนุษย์นี้จะเปรียบเป็นอะไรเล่า อันนี้อาตมาภาพขอแถลงไขเปรียบเสมือนหนึ่งว่าวิญญาณเหล่านี้เป็นวิญญาณละเอียด สภาวการ์แห่งการเป็นวิญญาณละเอียดเหล่านี้ไซร้ ท่านจะต้องฝึกสมาธิใช้จิตสัมผัสเหสมือนหนี่งเปรียบคือ ลม ท่านลองโบกมือดูสิ ว่ามีลมไหม เมื่อท่านโบกมือย่อมเกิดลม นักวิทยาศาสตร์ที่เรียกว่าเป็นชั้นด็อกเตอร์ก็ยังไม่สามารถเอาหน้าลมออกมาตีแผ่ให้มนุษย์ดูได้ ทั้งๆ ที่มนุษย์ทุกคนยอมรับว่ามีลม เพราะฉะนั้นวิญญาณแห่งวิสุทธิเทพ วิญญาณแห่งเทพพรหมชั้นสูง วิญญาณแห่งอรหันต์ จึงเปรียบง่ายๆ เป็นภาษามนุษย์ว่า ลม

ทีนี้วิญญาณเหล่าอมรมนุษย์ วิญญาณเหล่าผีเปรต อสรุกาย วิญญาณเหล่าเจ้าที่เจ้าทงเหล่านี้ วิญญาณจำพวกนี้ยังมีกายหยาบ ฉะนั้นต้องเข้าใว่า เมื่อท่านสิ้นจากโลกมนุษย์นี้แล้วไซร้ ท่านจะต้องไปเกิดในปรภพแห่งการเสวยกรรมวิบากที่ไม่เหมือนกัน เพราะต่างกรรมต่างวาระ ต่างคนต่างสร้างมาไม่เหมือนกัน ทีนี้สภาวการณ์แห่งการสร้างกรรมไม่เหมือนกันก็คือว่าท่านที่สิ้นจากโลกมนุษย์ก็ยังเป็นวิญญาณปุตุนั้นก็จะเป็นกายหยาบหลุดออกจากกายเนื้อ ทีนี้ถ้าท่านบำเพ็ญในหลักแห่งวิสุทธิมรรค แห่งการเป็นพระอรหันต์ แห่งการเป็นพระพรหมสุทธาวาสแล้วไซร็ ท่านต้องละลายกายทิพย์เหลือแต่วิญญาณ ทีนี้วิญญาณแห่งกายที่มีกายหยาบเหล่านี้แหล่ ที่บางครั้งสามารถปรับในการรวมกระแสแห่งอำนาจที่ตนมีเป็นกายเป็นรูปร่างให้มนุษย์เห็นได้เป็นบางครั้งบางคราว

ทีนี้ปัญหาเหล่านี้ ท่านจะถึงหลักแห่งการถึงโลกอีกโลกหึ่ง แห่งโลกทิพยอำนาจนี้ ท่านจะไปได้อย่างไรเล่า ภาวการณ์แห่งการที่จะท่านจะไปโลกเหล่านี้ได้แล้วไซร้ ท่านจะต้องบำเพ็ญในด้านจิตวิญญาณ ตามที่องค์สัมมาสัมพุทธโคดมวางในหลักการให้เราเหล่านุษย์ทั้งหลายเจริญรอยตามท่าน ก็คือว่ามี ศีล สมาธิ ปัญญา

พระเดชพระคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย ์( สิริจนฺโท จันทร์ )

บุคคลผู้ไม่รู้แจ้งในพระนิพพานไม่ควรสั่งสอนพระนิพพานแก่ผู้อื่น ถ้าขึ้นสั่งสอนก็จะพาหลงทาง เป็นบาปกรรมแก่ตน

อันตัวที่ไม่ตายนั้นท่านให้ชื่อว่าโพธิสัตว์ พึงสันนิษฐานได้ว่าสัตว์นั้นแลคือตัวเรา เป็นผู้ไม่ตายเหมือนอย่างพระอริยเจ้ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้น เมื่อได้สำเร็จพระอรหัตตผลแล้ว ก็เป็นอันได้สำเร็จพระนิพพาน เมื่อท่านสำเร็จพระนิพพานแล้ว สัตว์ที่ตรัสรู้ที่ไม่เคยตายนั้น ก็ยังอยู่ไม่สูญไปข้างไหน สูญแต่กิเลสเครื่องก่อภพก่อชาติเท่านั้นเอง จึงพอสันนิษฐานเห็นได้ว่า พระนิพพานไม่สูญอย่างเอก แต่การที่จักทำให้สำเร็จ ต้องฝ่าฝืนอำนาจของพระยามาร

แสดงพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ 8 เรื่องมงคลกถา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2470 ในหนังสือพระธรรมเทศนา มงคลกถา 38 ธรรมวิจยานุศาสน์ คิริมานนทสูตร พร้อมด้วยอธาตุ ชุดพิเศษ เล่มที่ 5 หน้า 96-97

บุคคลผู้มิได้พ้นจากิเลส ราคะ ตัณหา นั้นจะทำบุญให้ทานสร้างกุศลอย่างแข็งแรงเท่าใดก็ดี ก็จักได้เสวยความสุขในมนุษย์โลกแลเทวดาโลกเพียงเท่านั้น ที่จะได้เสวยความสุขในพระนิพพานนั้นเป็นอันไม่ได้เลย ถ้าจะประสงค์ต่อพระนิพพานแท้ให้โกนเกล้าเข้าบวชในพระศาสนา ในว่าบุรุษหญิงชายถ้าทำได้อย่างนี้ชื่อว่าปฏิบัติใกล้ต่อพระนิพพาน เพราะว่าเมืองพระนิพพานนั้นปราศจากกิเลสตัณหา เมืองมนุษย์แลเมืองสวรรค์เป็นที่ซึ่งทรงไว้กิเลสตัณหา ไม่เหมือนเมืองพระนิพพาน

นิพฺพานํ นครํ นาม อันชื่อว่าเมืองพระนิพพาน ย่อมตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลก โลกมีทีสุดเพียงใด พระนิพพานก็ตั้งอยู่ที่สุดนั้น พระนิพพานเป็นพระมหานครอันใหญ่เป็นที่บรมสุขหาที่เปรียบมิได้ อย่าเข้าใจว่าจะไปนิพพานด้วยกำลังกาย หรือกำลังพาหนะมียานช้างม้าได้ อย่าเข้าใจว่านิพพานตั้งอยู่ในทีสุดโลกเหล่านั้น อย่าเข้าใจว่าตั้งอยู่ที่ใดเลย แต้ว่าพระนิพพานนั้นหากมีอยู่ในที่สุดของโลกเป็นของจริง ไม่ต้องสงสัย ให้ท่านทั้งหลายศึกษาให้เห็นโลกรู้โลกเสียให้ชัดเจน ก็จักเห็นพระนิพพาน พระนิพพานก็หากตั้งอยู่ในที่สุดแห่งโลกนั่นเอง

หนังสือ คิริมานนทสูตร และ อัตตปวัตติ หน้า ๑๐-๑๒ ISBN974-8239-69-1 สนพ.ดวงแก้ว

หนังสือ มุตโตทัย พระเดชพระคุณพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ

สรณะทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มิได้เสื่อมสูญอันตรธานไปไหน ยังปรากฏอยู่แก่ผู้ปฏิบัติเข้าถึงอยู่เสมอ ผู้ใดยึดถือเป็นที่พึ่งของตนแล้ว ผู้นั้นจะอยู่ในกลางป่า หรือเรือนว่างก็ตาม สรณะทั้งสามก็ปรากฏแก่เราอยู่ทุกเมื่อ

๑๓. วิสุทธิเทวาเท่านั้นเป็นสันตบุคคลแท้

อกุปฺปํ สพฺพธมฺเมสุ เญยฺยธมฺมา ปเวสฺสนฺโต บุคคลผู้มีจิตไม่กำเริบในกิเลสทั้งปวง รู้ธรรมทั้งหลายทั้งที่เป็นพหิทธาธรรม ทั้งที่เป็น อัชฌัตติกาธรรม สนฺโต จึงเป็นผู้สงบระงับ สันตบุคคลเช่นนี้แลที่จะบริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ มีธรรมบริสุทธิ์สะอาด มีใจมั่นคงเป็นสัตบุรุษผู้ทรงเทวธรรมตามความในพระคาถาว่า หิริโอตฺตปฺปสมฺปนฺนา สุกฺกธมฺมสมาหิตา สนฺโต สปฺปุริสา โลเก เทวธมฺมาติ วุจฺจเร อุปัตติเทวา ผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณ วุ่นวายอยู่ด้วยกิเลส เหตุไฉนจึงจะเป็นสันตบุคคลได้ ความในพระคาถานี้ย่อมต้องหมายถึง วิสุทธิเทวา คือพระอรหันต์แน่นอน ท่านผู้เช่นนั้นเป็นสันตบุคคลแท้ สมควรจะเป็นผู้บริบูรณ์ด้วยหิริโอตตัปปะ และ สุกฺกธรรม คือ ความบริสุทธิ์แท้

๑๔. อกิริยาเป็นที่สุดในโลก - สุดสมมติบัญญัติ

สจฺจานํ จตุโร ปทา ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตา สัจธรรมทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ยังเป็นกิริยา เพราะแต่ละสัจจะๆ ย่อมมีอาการต้องทำคือ ทุกข์-ต้องกำหนดรู้ สมุทัย-ต้องละ นิโรธ-ต้องทำให้แจ้ง มรรค-ต้องเจริญให้มาก ดังนี้ล้วนเป็นอาการที่จะต้องทำทั้งหมด ถ้าเป็นอาการที่จะต้องทำ ก็ต้องเป็นกิริยาเพราะเหตุนั้นจึงรวมความได้ว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นกิริยา จึงสมกับบาทคาถาข้างต้นนั้น ความว่าสัจจะทั้ง ๔ เป็นเท้าหรือเป็นเครื่องเหยียบก้าวขึ้นไป หรือก้าวขึ้นไป ๔ พักจึงจะเสร็จกิจ ต่อจากนั้นไปจึงเรียกว่า อกิริยา อุปมา ดังเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ แล้วลบ ๑ ถึง ๙ ทิ้งเสีย เหลือแต่ ๐ (ศูนย์) ไม่เขียนอีกต่อไป คงอ่านว่า ศูนย์ แต่ไม่มีค่าอะไรเลย จะนำไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น แต่จะปฏิเสธว่าไม่มีหาได้ไม่ เพราะปรากฏอยู่ว่า ๐ (ศูนย์) นี่แหละ คือปัญญารอบรู้ เพราะลายกิริยา คือ ความสมมติ หรือว่าลบสมมติลงเสียจนหมดสิ้น ไม่เข้าไปยึดถือสมมติทั้งหลาย คำว่าลบ คือทำลายกิริยา กล่าวคือ ความสมมติ มีปัญหาสอดขึ้นมาว่า เมื่อทำลายสมมติหมดแล้วจะไปอยู่ที่ไหน? แก้ว่า ไปอยู่ในที่ไม่สมมติ คือ อกิริยา นั่นเอง เนื้อความตอนนี้เป็นการอธิบายตามอาการของความจริง ซึ่งประจักษ์แก่ผู้ปฏิบัติโดยเฉพาะ อันผู้ไม่ปฏิบัติหาอาจรู้ได้ไม่ ต่อเมื่อไรฟังแล้วทำตามจนรู้เองเห็นเองนั่นแลจึงจะเข้าใจได้ ความแห่ง ๒ บาทคาถาต่อไปว่า พระขีณาสวเจ้าทั้งหลายดับโลกสามรุ่งโรจน์อยู่ คือทำการพิจารณาบำเพ็ยเพียรเป็น ภาวิโต พหุลีกโต คือทำให้มาก เจริญให้มาก จนจิตมีกำลังสามารถพิจารณาสมมติทั้งหลายทำลายสมมติทั้งหลายลงไปได้จนเป็นอกิริยาก็ย่อมดับโลกสามได้ การดับโลกสามนั้น ท่านขีณาสวเจ้าทั้งหลายมิได้เหาะขึ้นไปนกามโลก รูปโลก อรูปโลกเลยทีเดียว คงอยู่กับที่นั่นเอง แม้พระบรมศาสดาของเราก็เช่นเดียวกัน พระองค์ประทับนั่งอยู่ ณ ควงไม้โพธิพฤกษ์แห่งเดียวกัน เมื่อจะดับโลกสาม ก็มิได้เหาะขึ้นไปในโลกสาม คงดับอยู่ที่จิต ทิ่จิตนั้นเองเป็นโลกสาม ฉะนั้น ท่านผู้ต้องการดับโลกสาม พึงดับที่จิตของตนๆ จึงทำลายกิริยา คือตัวสมมติหมดสิ้นจากจิต

ยังเหลือแต่อกิริยา เป็นฐีติจิต ฐีติธรรมอันไม่รู้จักตาย ฉะนี้แล

๑๕. สัตตาวาส ๙

เทวาพิภพ มนุสสโลก อบายโลก จัดเป็นกามโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์เสพกามรวมเป็น ๑ รูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จรูปฌานมี ๔ อรูปโลก ที่อยู่อาศัยของสัตว์ผู้สำเร็จอรูปฌานมี ๔ รวมทั้งสิ้น ๙ เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ ผู้มารู้เท่าสัตตาวาส ๙ กล่าวคือ พระขีณาสวเจ้าทั้งหลาย ย่อมจากที่อยู่ของสัตว์ ไม่ต้องอยู่ในที่ ๙ แห่งนี้ และปรากฏในสามเณรปัญหาข้อสุดท้ายว่า ทส นาม กึ อะไรชื่อว่า ๑๐ แก้ว่า ทสหงฺ เคหิ สมนฺนาคโต พระขีณาสวเจ้าผู้ประกอบด้วยองค์ ๑๐ ย่อมพ้นจากสัตตาวาส ๙ ความข้อนี้คงเปรียบได้กับการเขียนเลข ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ ๙ ๐ นั่นเอง ๑ ถึง ๙ เป็นจำนวนที่นับได้ อ่านได้ บวกลบคูณหารกันได้ ส่วน ๑๐ ก็คือ เลข ๑ กับ ๐ (ศูนย์) เราจะเอา ๐ (ศูนย์) ไปบวกลบคูณหารกับเลขจำนวนใดๆ ก็ไม่ทำให้เลขจำนวนนั้นมีค่าสูงขึ้น และ ๐ (ศูนย์) นี้เมื่ออยู่โดยลำพังก็ไม่มีค่าอะไร แต่จะว่าไม่มีก็ไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งปรากฏอยู่ ความเปรียบนี้ฉันใด จิตใจก็ฉันนั้นเป็นธรรมชาติ มีลักษณะเหมือน ๐ (ศูนย์) เมื่อนำไปต่อเข้ากับเลขตัวใด ย่อมทำให้เลขตัวนั้นเพิ่มค่าขึ้นอีกมาก เช่น เลข ๑ เมื่อเอาศูนย์ต่อเข้า ก็กลายเป็น ๑๐ (สิบ) จิตใจเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อต่อเข้ากับสิ่งทั้งหลายก็เป็นของวิจิตรพิสดารมากมายขึ้นทันที แต่เมื่อได้รับการฝึกฝนอบรมจนฉลาดรอบรู้สรรพเญยฺยธรรมแล้วย่อมกลับคืนสู่สภาพ ๐ (ศูนย์) คือ ว่างโปร่งพ้นจากการนับการอ่านแล้ว มิได้อยู่ในที่ ๙ แห่งอันเป็นที่อยู่ของสัตว์ แต่อยู่ในที่หมดสมมติบัญญัติคือ สภาพ ๐ (ศูนย์) หรืออกิริยาดังกล่าวในข้อ ๑๔ นั่นเอง

หนังสือ มุตโตทัย

หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา เล่ม ๓ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ (พระราชพรหมยาน วีระ ถาวโร ปธ.๔) วัดท่าซุง อุทัยธานี

ความหมายตามบาลี(ยมกสูตร) คนที่เห็นว่าพระอรหันต์ตายแล้วสูญ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าเป็นความเห็นผิด แล้วท่านบรรดานักเขียนนักแต่งทั้งหลายท่านเอามาจากไหนว่า นิพพานสูญ อันนี้น่าจะเกิดจากความเข้าใจผิดอะไรกันสักอย่าง เพราะมีพระบาลีบทหนึ่งว่า นิพพานนัง ปรมังสูญญัง แปลว่านิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง ท่านอาจจะไปคว้าเอา ปรมังสูญญัง โดยเข้าใจว่า สูญโญเข้าให้

ดูเพิ่มเติมที่ หนังสือคู่มือปฏิบัติพระกรรมฐาน อุปสมานุสสติกรรมฐาน

ผู้ถาม : เกิดมาแล้วทำไมจึงต้องตายครับ…?
หลวงพ่อ : เพราะอยากตาย ไอ้คนอยากเกิดก็อยากตายด้วยใช่ไหม…เกิดแล้วมันก็ต้องตาย เพราะธรรมดาเราฝืนมันไม่ได้ ทีนี้ถ้าเราไม่ต้องการตาย เราก็ไม่ต้องเกิด
ผู้ถาม : ที่นิพพานไม่มีการเกิดใช่ไหมครับ จึงไม่มีการตาย…?
หลวงพ่อ : อันนี้เคยมีพระหรือพราหมณ์ถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่า นิพพานจะไม่มีการเกิดก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าเกิดก็ต้องเกิด ถ้าจะว่าไม่เกิด แต่สภาวะมันมีอยู่ ตอนแรกฉันอ่านแล้วไม่เข้าใจ ก็เลยย่องไปถามท่าน ฉะนั้นนิพพานควรเรียกว่าอะไร ท่านบอกว่าควรจะเรียก "ทิพย์พิเศษ" ที่ไม่มีการเคลื่อน เทวดาหรือพรหมยังมีการเคลื่อน ที่เรียกว่า "จุติ" จุติ แปลว่า เคลื่อน ไอ้ศัพท์ที่ว่าตายนี่ พระพุทธเจ้าท่านไม่เรียก ท่านเรียก กาลัง กัตวา ถึงวาระแล้ว ถึงกาลเวลาแล้ว ท่านไม่เรียกว่าตาย ตาย นี่ มรณะ ตามศัพท์ของบาลีไม่มีคำว่ามรณะ ท่านเรียกว่า กาลัง กัตวา แปลว่าถึงวาระที่จะต้องไปจากร่างกายนี้ ร่างกายนี้มันพังมันไม่ยอมทำงาน

ผู้ถาม : ขอหลวงพ่อโปรดอธิบายเรื่องนิพพาน ให้ผมเข้าใจด้วยครับ
หลวงพ่อ : คำว่า นิพพาน เหรอ…คุณต้องการรู้เรื่องนิพพานไปทำไม…?
ผู้ถาม : (หัวเราะ) เอาไว้ประดับความรู้ครับ
หลวงพ่อ : เอาไว้ประดับความรู้….ดี คำว่า นิพพานเป็นของง่ายเป็นของไม่ยาก นิพพานนี่เขาแปลว่า ดับ นะคุณนะ ถ้าจะถามว่าดับอะไร ก็ขอตอบว่า ดับความชั่ว คนที่จะถึงนิพพานได้ต้องไม่มีความชั่ว ๓ อย่าง คือ
  1. ไม่ชั่วทางกาย
  2. ไม่ชั่วทางวาจา
  3. ไม่ชั่วทางใจ
ถ้าทุกคนดับความชั่วได้หมด บุคคลนั้นก็ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงซึ่งพระนิพพาน

ผู้ถาม : แต่ผมเคยได้ยินมาว่า นิพพาน แปลว่า ดับไปเลย ไม่เหลืออะไรเลยนี่ครับ
หลวงพ่อ : ความจริงคุณจะต้องรู้ว่าอะไรดับ คำว่านิพพานแปลว่าดับ ดับทีแรกคือดับกิเลส ดับที่สองคือดับขันธ์ ๕ แต่ว่าตามพระบาลีไม่ได้บอกว่า จิตดับ ปัญหาของคุณที่ถามนี่ เหมือนกับปัญหาของพระที่ถามพระพุทธเจ้าเคยถามมาแล้ว คือ ท่านผู้นี้มีนามว่า พระโมกขราช ท่านถามพระพุทธเจ้าว่า"นิพพานมีสภาพสูญ ใช่ไหม…พระพุทธเจ้าข้า" หมายความว่า เมื่อถึงนิพพานแล้วก็ดับสูญ มีสภาพคล้ายกับควันไฟที่ลอยไปในอากาศ ไม่มีที่เกาะ ไม่มีที่อยู่ อย่างนั้นองค์สมเด็จพระบรมครูตรัสว่า "โมกขราช เรากล่าวว่า นิพพานนั้นหมายถึงกิเลสดับ และขันธ์ ๕ ดับ"พระพุทธเจ้าไม่ได้บอกว่า จิตดับทีนี้ถ้าหากว่าคุณจะศึกษาเรื่องนิพพาน ถ้าเราจะพูดกันไปกี่ร้อยปี มันก็ไม่จบ ฉะนั้น ถ้าต้องการจะรู้เรื่องพระนิพพานจริงๆ คุณจะต้อง
  1. เป็นคนมีศีลบริสุทธิ์ เป็นอันดับแรก
  2. เป็นผู้ทรงฌานสมาบัติ
  3. ในขณะที่ทรงฌานสมาบัติได้แล้ว คุณจะต้องทำจิตของตนให้เข้าถึงวิปัสสนาญาณ ที่เรียกกันว่าสังขารุเปกขาญาณ

เมื่อจิตเข้าถึงสังขารุเปกขาญาณแล้ว ก็ต้องชำระกิเลสด้วยการตัดสังโยชน์ ๓ เบื้องต้น คือ
  1. ทำลายสักกายทิฏฐิ
  2. ทำลายวิจิกิจฉา คือ ความสงสัยให้หมดไป
  3. สีลัพพตปรามาส ทรงศีลให้บริสุทธิ์
  4. มีอารมณ์จิตรักพระนิพพานเป็นอารมณ์ ที่เราเรียกกันว่า โครตภูญาณ

ถ้ากำลังใจของคุณทำได้อย่างนี้ เมื่อจิตเข้าถึงโครตภูญาณ คุณจะทราบว่า คำว่าดับของนิพพานนั้น
  1. ดับกิเลส ในขณะที่มีชีวิตอยู่
  2. ดับขันธ์ ๕ หรือขันธ์ ๕ ดับ
  3. อารมณ์จิตที่บริสุทธิ์ไม่ได้ดับไปด้วย
คำว่าพระนิพพาน ยังมีจุดที่เป็นอยู่อันหนึ่ง ที่เขาเรียกว่าเป็นทิพย์พิเศษ พ้นจากอำนาจของวัฏฏะ

หนังสือหลวงพ่อตอบปัญหา เล่ม ๓

หนังสือ ทิพยอำนาจ อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส)

ในปกรณ์ของฝ่ายเถรวาท ท่านโบราณาจารย์แบ่งพระกายของพระพุทธเจ้าเป็น ๓ ภาค ดังนี้คือ

  1. พระรูปกาย เป็นพระกายซึ่งกำเนิดจากพระพุทธบิดาและพระพุทธมารดา ที่เป็นมนุษย์ธรรมดาประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔
  2. พระนามกาย เป็นพระกายซึ่งกำเนิดชั้นใน นามกายเป็นของมีทั่วไปแม้แต่สามัญมนุษย์ แต่ดีเลวกว่ากันด้วยอำนาจกุศลที่ตนทำไว้ก่อน ส่วน พระนามกายของพระพุทธเจ้า ท่านดีวิเศษกว่าสามัณมนุษย์ ด้วยอำนาจพระบุญญาบารมี ที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลาหลายอสงไขยกัป
  3. พระธรรมกาย ได้แก่พระกายอันบริสุทธิ์ ไม่สาธารณะทั่วไปแก่เทวดาและมนุษย์หมายถึงจิตที่พ้นจากกิเลสแล้ว เป็นจิตที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง พระธรรมกายนี้เป็นพระพุทธเจ้าที่จริงแท้ เป็นพระกายที่พ้นเกิดแก่เจ็บตาย เป็นพระกายที่เที่ยงแท้ถาวรไม่สูญสลาย แต่ท่านมิได้บอกให้แจ้งชัดว่า พระธรรมกายนี้มีรูปพรรณสัญฐานเช่นไรหรือไม่

อนึ่ง ความเชื่อว่าพระอรหันต์นิพพานแล้วยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์นิพพานแล้วยังมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระอรหันต์แท้ไม่สลายตามกาย คือความเป็นพระอรหันต์ ไม่สูญ ตัวอย่างเช่น พระยมกะ เมื่อยังไม่บรรลุอรหัตผลได้แสดงความเห็นว่า พระอรหันต์ตายแล้วสูญได้ถูก พระสารีบุตร สอบสวน เมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว จึงเห็นตามความจริงว่า “สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่ง ย่อมเป็นไปตามปัจจัย คือสลายไป ส่วนพระอรหันต์มิใช่สิ่งที่ปัจจัยปรุงแต่งจึงไม่สลายไป แปลว่า ไม่ตาย” ความเป็นพระอรหันต์นี้ ท่านก็จัดว่าเป็นอินทรีย์ชนิดหนึ่ง เรียกว่า “อัญญินทรีย์” พระผู้มีพระภาคเจ้าคงหมายถึงเอาอินทรีย์นี้เอง บัญญัติเรียกว่า “วิสุทธิเทพ” เป็นสภาพที่คล้ายคลึง “วิสุทธาพรหม” ในสุทธาวาสชั้นสูง (พรหมอนาคามี ชั้น ๑๒ - ๑๖ ) เป็นแต่บริสุทธิ์ยิ่งกว่าเท่านั้น อินทรีย์ของพระอรหันต์ประณีตสุขุม แม้แต่ตาทิพย์ของเทวดาสามัญก็มองไม่เห็น มนุษย์สามัญซึ่งมีตาหยาบ ๆ จะเห็นได้อย่างไร อินทรีย์ของพระอรหันต์นั้นแหละ เรียกว่า “อินทรีย์แก้ว” คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจของท่านเป็นแก้ว คือใสบริสุทธิ์ดุจแก้ว มณีโชติ ผู้บรรลุถึงภูมิแก้วแล้ว ย่อมสามารถพบเห็น “พระแก้ว” คือพระอรหันต์ที่ นิพพานแล้วได้...

ความรู้เรื่องนี้ เป็นความรู้ลึกลับในพระธรรมวินัย ผู้สนใจพึงศึกษาค้นคว้าต่อไปถ้ายังรู้ไม่ถึงอย่าพึ่งค้าน อย่าพึงโมทนา เป็นแต่จดจำเอาไว้ เมื่อใดตนเองได้ษึกษาค้นคว้าแล้ว ได้ความรู้ได้เหตุผลที่ถูกต้องดีกว่า เมื่อนั้นจึงค้าน ถ้าได้เหตุผลลงกันจึงอนุโมทนา ถ้ารู้ไม่ถึงแล้ว ด่วนวิพากษ์วิจารณ์ติเตียนผู้พูดเรื่องเช่นนี้ จะเป็นไปเพื่อบอดตาบอดญาณตนเอง ยิ่งจะซึ้าร้ายใหญ่ ดังนี้

หนังสือ ทิพยอำนาจ อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสโส) ศิษย์สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

หลวงปู่บุดดา ถาวโร

นิพพานมีอยู่จริงในปัจจุบัน ถ้าใครออกจากปัจจุบันไม่เห็นเลย ทุกเขญาณัง มันเกิดขึ้นกับจิตนี่เอง ให้พิจารณากายในมากๆ นิพพานไม่อยู่ตามต้นไม้ อยู่ที่จิตใจหมดอาสวะทั้งหลายนั่นเอง

ศิษย์: หลวงปู่ครับ นิพพานโลกุตระ เป็นอย่างไร
หลวงปู่: มันก็หมดอาสวะซิ อวิชชาไม่เหลือ
ศิษย์: จิตยังอยู่ไหมครับ
หลวงปู่: จิตปรมัตถ์ไป เจตสิกปรมัตถ์ รูปปรมัตถ์จิตยังอยู่ มันเกิด-ดับ มันเป็นสังคตะไป ไม่ใช่สัตว์คนเป็นสังคตธรรม สังคตธรรมมีอยู่ อสังคตะธรรมมีอยู่ วิราคะธรรมมีอยู่ แต่ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่คนเท่านั้น
ศิษย์: หมดสมมุติ หมดความยึดถือไช่ไหมครับ
หลวงปู่: ฮื้อ! มันไม่มีอาสวะ ไม่มีอวิชชาสวะ ไม่มีอวิชชาสังโยชน์ ไม่มีอวิชชานุสัย ล่ะก็ กิเลส กรรม วิบาก มันก็ไม่มี จิตไม่มีนาม-รูปของขันธ์แล้ว มันเหนือนาม-รูปของขันธ์แล้ว สังคตะมันเหนือขันธ์ ๕ วิราคะธรรมมันเหนือขันธ์ ๕ (เหนือ คือ ไม่ถูกครอบงำ ไม่มีอุปาทานขันธ์ ย่อมไม่กลับกำเริบอีก)ขันธ์ ๕ ยังมีนามรูปติดต่อกันทางอายตนะธาตุนี่ ส่วนนิพพาน ปรมัตถ์นี้ไม่เกิดไม่ดับเป็นอสังคตะธรรม แต่ จิต เจตสิก รูป ปรมัตถ์นี้ยังเกิดดับเป็นสังคตะธรรม วิราคะธรรม ไม่มีราคะ หมดราคะถึงโลกุตระแล้วนั่น ไม่มีราคะโทสะ โมหะ เผาลนแล้ว

ศิษย์: เมื่อดับจิต แล้ว นิพพาน สูญ ไม่เหลืออะไรเลยหรือปล่าวครับ
หลวงปู่: นิพพานไม่สูญ เป็นแต่อาสวะกิเลสสูญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรม วิบาก มันสูญ แต่ สังคตะธรรม อสังคะธรรม วิราคะธรรม มันไม่ได้หมดไปด้วย บารมี ๓๐ ทัศน์ที่พระพุทธเจ้าสร้างเป็นของไม่ตาย แต่ว่าตัวบุญต้องเปลี่ยนแปลงไปจนกว่าพระโพธิสัตว์ตรัสรู้ เพราะถ้าเป็นตัวบุญอยู่กับพระเวสสันดรก็ไม่ตรัสรู้ซิ ก็ได้เป็นกษัตริย์ไม่ตรัสรู้ซิ แต่เพราะสละหมดอย่างพระเวสสันดร เที่ยวออกค้นคว้าถึง ๖ ปี(ซึ่งก็ต้องอาศัยบารมี อันเป็นนิสัยที่สั่งสมมา) จึงตรัสรู้ พระพุทธเจ้าบางองค์ก็อายุไม่เท่ากันมาองค์ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี (แล้วแต่บารมี)

ศิษย์: ที่เขาว่าไปเที่ยวเมืองนิพพาน น่ะเขาไปกันได้จริงหรือป่าวครับ
หลวงปู่: เที่ยวได้แต่ปริยัติน่ะซิ พูดเอาภาคปริยัติก็เที่ยวได้ ภาคปฏิเวธเที่ยวได้ที่ไหนล่ะ มันมีบอกเมื่อไหร่ล่ะ
ศิษย์: แล้วอย่างมโนมยิทธิล่ะครับ
หลวงปู่: นั่นมันเรื่อง พุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ก็ตามใจซิ ก็นิมิตมันมีอยู่ หลับตาลืมตาก็มี มีของพระอริยะเจ้า พระพุทธเจ้าก็แสดงพุทธนิมิต ธรรมนิมิต สังฆนิมิต ได้ ให้เห็นกันทั่ว กามโลก รูปโลก อรูปโลก ให้เขาได้เห็นกันเมื่อครั้งเสด็จลงจากดาวดึงส์นี่ ก็จิตนี่ล่ะมันรับธรรมะ นอกจากกายกับจิตแล้วจะเอาอะไรไปรับล่ะ กายกับจิตนี่ล่ะมันรองรับพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้ารู้นรก ๒ ชั้น นรกชั้นนอก นรกชั้นใน สวรรค์ชั้นนอก สวรรค์ชั้นใน นิพพานชั้นนอก นิพพานชั้นใน มันต้องมีภายนอกภายในพิสูจน์กันดู ดูนิพพานกันอย่างนี้ อ่านพระไตรปิฎกกันอย่างนี้ซิ นิพพานไม่ใช่รูปขันธ์ ไม่ใช่นามขันธ์ มันเหนือรูปขันธ์ นามขันธ์ สร้างบารมีมาก็เอาเป็นเครื่องมือ สร้างบารมีต่างหากล่ะ นามรูปนี่ตรัสรู้แล้วเอาไปเมื่อไหร่ล่ะ บารมี ๓๐ ทัศน์ ไม่ใช่ตัวขันธ์ ๕ มันเหนือขันธ์ ๕ พระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้วก็เหลือขันธ์ ๕ พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระสาวกทั้งหลายตรัสรู้ ละสังโยชน์ แล้วก็เหลือยังขันธ์ ๕ เขายังเขียนรูปโลกไว้ให้ดู แต่อยู่เหนือขันธ์ ๕

หลวงพ่อเกษม เขมโก

พระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน
นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งของคุณปู่ก็กจึง ที่กรุณาเล่าให้ผมฟัง ข้อนี้....คุณปู่เล่าให้ฟังสั้นๆ ว่า เหตุการณ์เมือนานมามากแล้วเช่นกัน จู่ๆ วันหนึ่ง เมื่อคุณปู่ไปนมัสการหลวงพ่อ ท่านได้ถามว่า

"สามก็ก...รู้ไหม ว่าพระพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน? "
(หลวงพ่อเรียกคุณปู่ก๊กว่า สามก๊ก มานานแล้ว)

คุณปู่ก๊กจึง สมัยนั้นประณมมือไหว้หลวงพ่อพลางตอบว่า
"ผมไม่ทราบครับ หลวงพ่อ"

ทันใดนั้นหลวงพ่อได้ชี้นิ้วเฉียงไปบนฟ้า พลางกล่าวว่า
พระพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ในโลกนี้ ท่านอยู่นอกโลก

จาก อนุสรณ์ ครบรอบ ๘๐ ปี หลวงพ่อเกษม เขมโก ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๓๔ หน้า 146

พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตโล)

การปฏิบัติ ให้มุ่งเน้นปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อความคลายกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง

ดูเพิ่มเติมที่หนังสือ หลวงปู่ฝากไว้ รวบรวมโดย พระโพธินันทมุนี หน้า 82

พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์หรือนามขันธ์ ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่งคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครอบพร้อมทั้งสติ และสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป้นภาวะแห่งตนเองอย่างสมบูรณ์ ภาวะนันเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักรวาลเดิม หรือเรียกกว่า นิพพาน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้

หลวงปู่ขาว อนาลโย

ให้มีสติคุมดวงจิต สัตว์นรกก็แม่นจิต สัตว์อเวจีก้แม่นจิต พระอินทร์ พระพรหมก็แม่นจิต ที่เข้าพระนิพพานก็แม่นจิต ไม่ใช่ใคร จิตไม่มีตัวมีตน จิตเหมือนลิงนี่แหละ แล้วแต่มันจะไป บังคับบัญชามมันไม่ได้ แล้วแต่มันจะปรุงแต่ง บอกไม่ได้ไหว้ไม่ฟัง เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าให้วางมันเสีย อย่าไปยึดถือมัน ก็จิตนั่นแหละมันถือว่าตัวกู อยู่เดี๋ยวนี้ก็ดี เราถือว่าเราเป็นผู้ชาย เราเป็นผู้หญิง ก็แม่นจิตนั้นแหละ เป็นผู้ว่า มันไม่มีตนมีตัวดอก แล้วพระพุทธเจ้าว่าให้วางเสียให้ดับวิญญาณเสีย ครั้นดับวิญญาณแล้ว ไม่ไปก่อภพก่อชาติอีก ก็นั่นแหละพระนิพพาน พระพุทธเจ้าบอกอย่างนั้น มันไม่อยู่ที่อื่น นรกมันก็อยู่นี่ พระนิพพานก็อยู่นี่ อย่าไปค้นที่อื่น อย่าไปพิจารณาที่อื่นให้ค้นที่สกนธ์กายของตน ให้มันเห็นอสุภะ อสุภังให้เห็นเป็นของปฏิกูล ให้เกิดนิพพิทาความเบื่อหน่ายมันนั่นแหละ แต่กี้มันห็นว่าเป้นของสวยของงามก็ดี ดวงจิตนั้นมีมีสติควบคุม มีสัมปชัญญะค้นหาเหตุผล ใครครวญอยู่มันเลยรู้เห็นว่า อัตภาพร่างกายนี้เป็นของปฏิกูลของเน่าเปือยผุพัง แล้วมันจะเกิดนิพพทาความเบื่อหน่าย จิตนั้นแหละเบื่อหน่าย จิตเบื่อหน่าย จิตไม่ยึดมั่นแล้วเรียนว่าจิตหลุดพ้น ถึงวิมุติ วิมุตติคือความหลุดพ้นจากความยึดถือ หลุดพ้นจาอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่น พ้นจากภพจากชาติ ตั้งใจทำเอา

หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม

เมื่อเป็นพระเจ้าแผ่นดินโลกุตตรมนุษย์ ได้เป็นพระอรหันต์เข้าพระนิพพานแล้ว พระนิพพานก็ยังมีอยู่ ไม่เสื่อมสูญ พระพุทธเจ้าเข้าพระนิพพานก็มีอยู่ในพระนิพพาน นั้นแล

พระโมคคัลลาน์ พระสารีบุตร พระอนุรุทธ พระอานนท์ เข้านิพพาน ก็มีอยู่พระนิพพานนั้นแล นางภิกษุณีทั้งหลายได้บวชกาย วาจา ใจ ใจก็เป็นพระนิพพาน แล้วเข้าพระนิพพานได้ด้วย เหมือนพระจันทร์ พระจันทร์ไม่มีวันแก่ พระจันทร์ไม่มีวันเจ็บ พระจันทร์ไม่มีวันร้อนวันหนาว ดาวไม่มีเกิดไม่มีตาย

คนเรานี้มันเป็นบ้าเป็นบอ คอยาว ตาขาว ลิ้นยาว ใช้ไม่ได้ ส่วนพระธรรมคำสั่งสอนเกิดจากหัวใจของพระพุทธเจ้า เกิดากหัวใจของพระอรหันต์ทั้งหลาย ทำไมพวกเราทั้งหลายและพวกท่านทั้งหลายจึงไม่รู้ เราจึงไม่เห็น ถ้าเราเป็นพระอรหันต์ เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอนาคาเมื่อใด ก็เมื่อนั้นแหละ จึงจะเห็นจะรู้ที่อยู่พระพุทธเจ้า ที่อยู่ของพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย

อาจารีธัมโมทยาน พศ.๒๕๓๖ หน้า 127 หอรัตนชัยการพิพม์

หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ

พระนิพพานอุปมาขนาดเท่าเส้นผม ผู้ที่จะผ่านพ้นในขั้นสุดท้ายไปได้หรอืไม่ได้อยู่เพียงนิดเดียวในการทำจิตตัดจุดนี้ได้หรือไม่เท่านั้น พระพุทธเจ้าตอนที่ท่านจะปรินิพพาน ท่านได้ปรินิพพานไประหว่างรูปฌานและอรูปฌาน ผู้ที่ดับขันธ์ในระหว่างทรงรูปฌานย่อมได้เป็นรูปพรหมซึ่งยังไม่วิมุติหลุดพ้น ผู้ที่ดับขันธ์ในขณะทางอรูปฌาน ย่อมได้เป็นอรูปพรหม ซึ่งก็ยังเป็นสมมติอยู่เช่นกัน ส่วนพระพุทธเจ้าท่านดับขันธ์ระหว่างช่วงทั้งสอง เป็นการดับขันธ์ด้วยความบริสุทธิ์เหนือสมมติโดยสิ้นเชิง ไม่ติดอยู่ในรูปฌานและอรูปฌาน ซึ่งเป็นวิปัสนูกิเลสทั้งสองอย่าง พระอรหันต์บางประเภที่ไม่สามารถเจิรญอรูปสมาบัติ ท่านก็ดับขันธ์ไปด้วยความบริสุทธิ์เช่นกัน แม้อยู่ก็อยู่ด้วยจิตที่บริสุทธิ์ ไม่ติดในสมมติใดๆ เพราะความชำนาญในด้านสมาธิของพระอรหันต์แต่ละประเภทไม่เท่ากัน

หนังสือไตรรัตน์ หน้า 51

หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

ดวงจิตนี้ไม่เคยสูญ แดนพระนิพพานมีจริง หลวงปู่มั่น ท่านเล่าว่า พระพุทธเจ้าหลายพระองค์ พร้อมด้วยพระสาวก เสด็จมาเยี่ยมท่าน

นรกมี สวรรค์มี พรหมโลก นิพพานมี พระพุทธเจ้าของเราทรงยืนยันจิตวิญญาณคือใจของคนของสัตว์นี้มีมาดั้งเดิม ตั้งแต่กาลไหนๆ ไม่มีต้นไม่มีปลาย จิตดวงที่ไม่ตายนี้แล ไม่เคยฉิบหาย ไม่เคยสูญ

ดูเพิ่มเติมที่ ตายแล้วย้อนกลับมาบ้านเรือน

จากนั้นบุญกุศลทั้งหลายที่เราสร้างอยู่ไม่หยุดไม่ถอย เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับลำดาเลยสวรรค์ไป เลยพรหมโลกไป จนกระทั่งถึงนิพพาน ดับทุกข์โดยประการทั้งปวงโดยสิ้นเชิงตลอดไป ไม่มีคำว่า อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา จะเข้าไปเกี่ยวข้องในเมืองนิพพานนั้นได้เลย เรียกว่าเมืองนิพพานก็ได้ มหาวิมุตติ มหานิพพาน หรือธรรมธาตุก็ได้ นี่เรียกว่าสถานที่ดับทุกข์โดยประการทั้งปวง จากความดีของเราที่ได้สร้างมามากน้อย ท่านจึงได้สอนไว้ พระพุทธเจ้าท่านทรงนิพพาน ทุกสิ่งทุกอย่างทรงผ่านไปหมดแล้ว การขึ้นลงสวรรค์ชั้นพรหมไม่มีใครเกินโพธิสัตว์ ที่ได้สร้างคุณงามความดีแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นนั้นๆ ควรแก่กาลเวลาแล้วก็ลงมาสร้างบารมี

กฎอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปอย่างโลกทั่วๆ ไปอย่างนี้ ไม่มีในนิพพาน นิพพานสิ้นสุดยุติตั้งแต่ขณะท่านตรัสรู้ปึ๋งขึ้นมา พระอรหันต์ก็บรรลุธรรมปึ๋งขึ้นมา ทราบทันทีเลยว่าพ้นแล้วจากแดนแปรปรวน แดน ทุกฺขํ อนิจฺจํ อนตฺตา ถึงแล้วซึ่งพระนิพพาน เรียกว่าเมืองเที่ยงตรง เที่ยงไปตลอดอนันตกาล ไม่มีคำที่ว่าจะโยกย้ายผันแปรไปไหนอีกเลย แม้ขณะหนึ่งก็ไม่มีในแดนนิพพาน จึงเรียกว่าเป็นแดนแห่งความเลิศเลอของท่านผู้บรรลุธรรมอันเลิศเลอแล้วสถิตอยู่ในสถานที่นั้น ผู้อื่นผู้ใดไม่สามารถจะไปอยู่ในสถานที่นั้นได้ นอกจากผู้สิ้นกิเลสโดยสิ้นเชิงแล้วเท่านั้น นี่ก็คือการสร้างบุญสร้างกุศล

สำหรับเราพอทุกอย่าง เอาอะไรมาให้ก็ไม่เอา ปล่อยวางหมด เช่นทองคำทั้งแท่งกับอิฐก้อนหนึ่ง ราคาทองคำทั้งแท่งสูง อิฐก้อนหนึ่งราคาต่ำแต่มันมีน้ำหนักเท่ากัน เมื่อมีน้ำหนักเท่ากัน น้ำหนักนั้นแหละจะเป็นกองทุกข์แก่ผู้แบกหาม ปล่อยเสียทั้งหมด ทองคำก็ไม่เอา อิฐ-ปูนก็ไม่เอา ปล่อยแล้วไม่หนัก นี้ละธรรมะของพระพุทธเจ้าที่ได้เข้าในหัวใจดวงใดแล้วปล่อยหมดโดยสิ้นเชิง มีแต่ความพอแล้วด้วยความเลิศเลอ ไม่ใช่พอธรรมดาอย่างโลกทั้งหลายพอกัน พอในธรรมทั้งหลายนี้พอด้วยความเลิศความเลอ ถ้าว่าสุขก็ไม่มีสุขใดเสมอเหมือน ว่าเลิศเลอก็หาอะไรไปเทียบไม่ได้ เพราะนั้นเป็นแดนวิมุตติ ไม่ใช่สมมุติพอจะมาเทียบมาเคียงตามสัดตามส่วนได้ นี่ละท่านว่าแดนแห่งความเลิศเลอ

เทศน์อบรมพระสงฆ์และฆราวาส ณ ศาลาใหญ่วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ [บ่าย]
ดูเพิ่มเติมที่ เอาธรรมจักรเข้าไปผันหัวกิเลส


ใจนี้ไม่เคยตาย ตั้งกัปตั้งกัลป์ก็เป็นมาอย่างนี้ แม้จะไปตกนรกตั้งกี่กัปกี่กัลป์ก็ตาม การที่ว่าได้รับความทุกข์ในแดนนรกแต่ละหลุม ๆ นั้นยอมรับ ส่วนที่จะให้ใจนี้ฉิบหายไม่มี ทุกข์ขนาดไหนก็ยอมรับว่าทุกข์ แต่ไม่เคยฉิบหายคือใจดวงนี้ เวลาชำระสะสางแล้วด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดีของเรา ก็ค่อยสงบผ่องใสได้บริสุทธิ์ขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงขั้นความบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ดังพระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์ทั้งหลาย ท่านถึงนิพพานเลย นั่น ถึงนิพพานก็ไม่สิ้นสูญ ใจดวงนี้ไม่มีคำว่าสูญ ตกนรกก็ไม่สูญใจดวงนี้ จนกระทั่งบริสุทธิ์เต็มที่แล้วไปถึงนิพพานก็ไม่สูญ นี่แหละท่านว่านิพพานเที่ยง ก็คือจิตดวงที่ไม่สูญนี้แหละเป็นผู้บริสุทธิ์เต็มที่แล้ว เรียกว่าธรรมธาตุ อยู่ในแดนแห่งนิพพาน นี่แหละเป็นผู้เสวยความบรมสุขตลอดไป ท่านจึงเรียกว่านิพพานเที่ยง ๆ ก็เพราะจิตดวงนี้ไม่ตาย มีความเที่ยงตรงอยู่ด้วยบรมสุขตลอดไป นี่คือการสร้างความดีให้ผลแก่เราอย่างนี้ ให้พากันอุตส่าห์พยายามสร้างคุณงามความดี

เทศน์อบรมฆราวาส ณ วัดเขาน้อยสามผาน จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๖ (บ่าย) ดูเพิ่มเติมที่ ความสุขอันแท้จริง

นี่ละตัวพาให้เกิด ก็รู้ได้ชัดละซิ ทีนี้จะเอาอะไรไปเกิด เอ้า เห็นกันอยู่รู้กันอยู่ ตัวนี้จะไปเกิดที่ไหนที่นี่ เอ้า เกิดที่ไหนล่ะ อะไรพาให้เกิด ก็สิ่งที่ดับไปตะกี้นี้พาให้เกิด นั่นมันรู้ชัดขนาดนั้นนะ ทีนี้ไม่เกิดแล้วจะดับไหมจิตดวงนี้ จะเอาอะไรมาดับ นั่น ไม่เกิดด้วยไม่ดับด้วย ไม่มีคำว่าว่ามีอยู่แบบโลกด้วย ไม่สูญแบบโลกด้วย มีอยู่แบบความบริสุทธิ์ ถ้าว่าสูญก็สูญแบบความบริสุทธิ์ เหมือนอย่างที่ว่านิพพาน มีอยู่แบบนิพพาน สูญแบบนิพพาน ไม่ได้สูญแบบโลกสงสาร

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘
ดูเพิ่มเติมที่ ความมุ่งมั่นของนักรบ


ก็กิเลสมันไม่เคยเห็นมรรคผลนิพพาน เกิดมาเต็มอยู่ในหัวใจของสัตว์นับแต่โคตรแต่แซ่ของมันลงมา มันจะเอามรรคผลนิพพานมาอวดสัตว์โลกอย่างไร เพราะคำว่ามรรคผลนิพพานก็คือแดนสุดวิสัยของมันแล้ว มันเอื้อมไม่ถึง จิตดวงใดถ้าได้เข้าสู่แดนนิพพานแล้ว กิเลสประเภทต่าง ๆ เรียกว่ากิเลสมารสุดเอื้อมหมดหวัง หมดอาลัยตายอยากแล้ว มันจะอุตริไปสอนจิตดวงใดโลกใดสัตว์ตัวใดให้ไปสู่สวรรค์นิพพานเล่า นอกจากมันจะกว้านเข้ามาเพื่อผลรายได้ของมันโดยอุบายต่าง ๆ เท่านั้น เช่น บาปไม่มี บุญไม่มี นรกไม่มี สวรรค์ไม่มี นิพพานไม่มี นี่เป็นอุบายที่จะให้เกิดผลรายได้แก่มันโดยถ่ายเดียวเท่านั้น

เพราะฉะนั้นหลักความจริงแล้วจึงไม่มีคำว่า พระพุทธเจ้านิพพานไปนานแสนนาน เป็นการตัดขาดจากมรรคผลนิพพาน ที่ทรงแสดงไว้แล้วโดยถูกต้องตามหลักสวากขาตธรรม การนิพพานเป็นเรื่องของพระองค์เท่านั้น และการนิพพานไปก็ไม่ใช่เป็นการขาดทุนสูญดอก สำหรับพระพุทธเจ้าเป็นการเปลี่ยนสภาพในทางธาตุทางขันธ์อันเป็นสมมุติเข้าสู่ตามสมมุติเดิมของตน โดยหมดความเยื่อใยตายอยาก ไม่ยึดมั่นถือมั่น โดยจิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วเท่านั้น จิตที่บริสุทธิ์ล้วน ๆ แล้วอะไรไปเป็นข้าศึกไปทำลายให้พินาศฉิบหายได้ แม้แต่กิเลสก็ไม่สามารถ ไม่มีอำนาจวาสนาที่จะไปทำลายจิตที่บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้าให้สูญให้อันตรธานไปได้ แล้วนิพพานจะสูญไปไหน จิตผู้บริสุทธิ์จะสูญไปได้อย่างไร เพราะธรรมชาตินี้นอกเหนือไปจากสมมุติทั้งมวลแล้ว จึงไม่มีอะไรที่จะเข้าไปทำลายจิตที่บริสุทธิ์แล้วให้สูญไปได้ ให้ฉิบหายไปได้

เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๒๗ เพิ่มเติมที่ ความหวังของชาวพุทธ

พระพุทธเจ้าและพระสาวกอรหันต์เสด็จอนุโมทนา พระอาจารย์มั่น

หลังจากท่านเดินทางถึงแดนแห่งวิมุตติแล้ว คืนต่อ ๆ มามีพระพุทธเจ้าพร้อมพระสาวกจำนวนมากเสด็จมาอนุโมทนาวิมุตติธรรมกับท่านเสมอมิได้ขาด คืนนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นกับพระสาวกบริวารเป็นจำนวนหมื่นเสด็จมาเยี่ยม คืนนั้นพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นมีสาวกเท่านั้นเสด็จมาเยี่ยมอนุโมทนา จำนวนพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุทธเจ้ามาแต่ละพระองค์นั้นมีจำนวนไม่เท่ากัน ทั้งนี้ท่านว่าขึ้นอยู่กับวาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ไม่เหมือนกัน ที่พระสาวกตามเสด็จมาด้วยแต่ละพระองค์นั้น มิได้ตามเสด็จมาทั้งหมดในบรรดาพระสาวกของแต่ละพระองค์ที่มีอยู่… แต่ที่ตามเสด็จมามากน้อยนั้นต่างกันนั้นพอแสดงให้เห็นภูมิพระวาสนาบารมีของแต่ละพระองค์นั้นต่างกันเท่นนั้นบรรดาพระสาวกจำวนมากของแต่ละพระองค์ที่ตามเสด็จมานั้น มีสามเณรติดตามมาด้วยครั้งละไม่น้อยเลย ท่านสงสัยจึงพิจารณาก็ทราบว่า คำว่าพระอรหันต์ในนามธรรมนั้นมิได้หมายเฉพาะพระ แต่สามเณรที่มีจิตบริสุทธิ์หมดจดก็นับเข้าในจำวนสาวกอรหันต์ด้วย ฉะนั้น ที่สามเณรติดตามมาด้วยจึงไม่ขัดกัน ในพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทั้งหลายที่ประทานอนุโมทนาแก่ท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ส่วนใหญ่มีว่า เราตถาคตทราบว่าเธอพ้นโทษจากอนันตรทุกข์ในที่คุมขังแห่งเรือนจำของวัฏฏทุกข์ จึงได้มาเยี่ยมอนุโมทนาที่คุมขังแหล่งนี้ใหญ่โตมโหฬารและแน่นหนามั่นคงมาก และมีเครื่องยั่วยวนชวนให้เผลอตัวและติดอยู่รอบตัวไม่มีช่องว่าง จึงยากที่จะมีผู้แหวกว่ายออกมาได้ เพราะสัตว์โลกจำนวนมากไม่ค่อยมีผู้สนใจกับทุกข์ที่เป็นอยู่กับตัวตลอดมา ว่าเป็นสิ่งที่ทรมานและเสียดแทงร่างกายจิตใจเพียงใด พอจะคิดเสาะแสวงหาด้วยวิธีต่าง ๆ เหมือนคนเป็นโรคแต่มิได้สนใจกับยา ยาแม้มีมากจึงไม่มีประโยชน์สำหรับคนประเภทนั้น ธรรมของเราตถาคตก็เช่นเดียวกับยา สัตว์โลกอาภัพเพราะโรคกิเลสตัณหาภายในใจเบียดเบียนเสียดแทง ทำให้เป็นทุกข์แบบไม่มีจุดหมายว่าจะหายได้เมื่อไร สิ่งตายตัวก็คือ โรคพรรค์นี้ถ้าไม่รับยาคือ ธรรมจะไม่มีวันหายได้ ต้องฉุดลากสัตว์โลกให้ตายเกิดคละเคล้าไปกับความทุกข์กายทุกข์ใจ และเกี่ยวโยงกันเหมือนลูกโซ่ ตลอดอนันตกาล ธรรมแม้จะมีเต็มไปทั้งโลกธาตุก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ไม่สนใจนำไปปฏิบัติรักษาตัวเต็มไปทั้งโลกธาตุก็ไม่สามารถอำนวยประโยชน์ให้แก่ผู้ไม่สนใจนำไปปฏิบัติรักษาตัวเท่าที่ควรจะได้รับจากธรรม ธรรมก็อยู่แบบธรรม สัตว์โลกก็หมุนตัวเป็นกงจักรไปกับทุกข์ในภพน้อยภพใหญ่แบบสัตว์โลก โดยไม่มีจุดหมายปลายทางว่าจะสิ้นสุดทุกข์กันลงได้เมื่อใดไม่มีทางช่วยได้ ถ้าไม่สนใจช่วยตัวเองโดยยึดธรรมมาเป็นหลักใจและพยายามปฏิบัติตาม

พระพุทธเจ้าจะมาตรัสรู้เพิ่มจำนวนองค์และสั่งสอนมากมายเพียงไร ผลที่ได้รับก็เท่าที่โรคประเภทคอยรับยามีอยู่เท่านั้น ธรรมของพระพุทธเจ้าไม่ว่าพระองค์ใด มีแบบตายตัวอยู่อย่างเดียวกัน คือสอนให้ละชั่วทำดีทั้งนั้น ไม่มีธรรมพิเศษและแบบสอนพิเศษไปกว่านี้ เพราะไม่มีกิเลสตัณหาพิเศษในใจสัตว์โลกที่พิเศษเหนือธรรมซึ่งประกาศสอนไว้ เท่าที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทานไว้แล้วเป็นธรรมที่ควรแก่การรื้อถอนกิลสทุกประเภทของมวลสัตว์อยู่แล้ว นอกจากผู้รับฟังและปฏิบัติตามจะยอมแพ้ต่อเรื่อกิลสตัณหาของตัวเสียเอง แล้วเห็นธรรมเป็นของไร้สาระไปเสียเท่านั้น ตามธรรมดาแล้วกิเลสทุกประการต้องฝืนธรรมดาดั้งเดิม คนที่คล้อยตามมันจึงเป็นผู้ลืมธรรมไม่อยากเชื่อฟังและทำตาม โดยเห็นว่าลำบากและเสียเวลาทำในสิ่งที่ตนชอบ ทั้งที่สิ่งนั้นให้โทษ ประเพณีของนักปราชญ์ผู้ฉลาดมองเห็นการณ์ไกลย่อมไม่หดตัวมั่นสุมอยู่เปล่า ๆ เหมือนถูกน้ำร้อนไม่มีทางออก ต้องยอมตายในหม้อที่กำลังเดือดพล่าน โลดเดือดพล่านอยู่ด้วยกิเลสตัณหาความแผดเผา ไม่มีกาลสถานที่ที่พอจะปลงวางลงได้… จำต้องยอมทนทุกข์ทรมานไปตาม ๆ กันโดยไม่นิยมสัตว์น้ำ สัตว์บก สัตว์อยู่บนอากาศและใต้ดิน เพราะสิ่งแผดเผาเร่าร้อยอยู่กับใจ ความทุกข์จึงอยู่ที่นั่นที่นี่เธอเห็นพระตถาคตอย่างแท้จริงแล้วมิใช่หรือ?… พระตถาคตแท้คืออะไร คือความบริสุทธิ์แห่งใจที่เธอเห็นแล้วนั้นแล ที่พระตถาคตมาในร่างนี้มาในร่างแห่งสมมติต่างหากเพราะพระตถาคตและพระอรหันต์อันแท้จริงมิใช่ร่างแบบที่มากันนี้ นี่เพียงเป็นเรือนร่างของตถาคตโดยทางสมมติต่างหาก ท่านพระอาจารย์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ทราบพระตถาคตและพระสาวกอรหันต์อันแท้จริงไม่สงสัย ที่สงสัยก็คือ พระองค์ทั้งหลายกับพระสาวกท่านที่เสด็จไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่เลย แล้วเสด็จมาในร่างนี้ได้อย่างไร ?

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอีกฝ่ายหนึ่งแม้มีความบริสุทธิ์ทางใจด้วยดีแล้ว แต่ยังครองร่างอันเป็นส่วนสมมติยังเหลืออยู่ ฝ่ายอนุปาทิเสสนิพพานก็ต้องแสดงสมมติตอบรับกัน คือต้องมาในร่างสมมติตซึ่งเป็นเครื่องใช้ชั่วคราวได้ถ้าต่างฝ่ายต่างเป็นอนุปาทิเสสนิพพานด้วยกันแล้วไม่มีส่วนสมมติยังเหลืออยู่… ตถาคตก็ไม่มีสมมติอันใดมาแสดงเพื่ออะไรอีก ฉะนั้นการมาในร่างสมมตินี้จึงเพื่อสมมติเท่านั้น ถ้าไม่มีสมมติเสียอย่างเดียวก็หมดปัญหา พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงทราบเรื่องอดีตอนาคตก็ทรงถือเอานิมิต… คือสมมติอันดั้งเดิมของเรื่องนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายให้ทราบ เช่น ทรงทราบอดีตของพระพุทธเจ้าทั้งหลายว่าทรงเป็นมาอย่างไร เป็นต้น ก็ต้องถือเอานิมิตของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และพระอาการนั้น ๆ เป็นเครื่องหมายพิจารณาให้รู้ ถ้าไม่มีสมมติของสิ่งนั้น ๆ เป็นเครื่องหมาย ก็ไม่มีทางทราบได้ในทาสมมติ เพราะวิมุตติล้วน ๆ ไม่มีทางแสดงได้ ฉะนั้นการพิจารณาและทราบได้ต้องอาศัยสมมติเป็นหลักพิจารณาดังที่เราตถาคตนำสาวกมาเยี่ยมเวลานี้ ก็จำต้องมาในรูปลักษณะอันเป็นสมมติดั้งเดิม เพื่อผู้อื่นจะพอมีทางทราบไดว่า พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ๆ และพระอรหันต์องค์นั้น ๆ มีรูปลักษณะอย่างนั้น ๆ ถ้าไม่มาในรูปลักษณะนี้แล้ว ผู้อื่นก็ไม่มีทางทราบได้เมื่อยังต้องเกี่ยวกับสมมติในเวลาต้องการอยู่ วิมุตติก็จำต้องแยกแสดงออกโดยางสมมติเพื่อความเหมาะสมกัน ถ้าเป็นวิมุตติล้วน เช่นจิตที่บริสุทธิ์รู้เห็นจิตที่บริสุทธิ์ด้วยกันก็เพียงแต่รู้อยู่เห็นอยู่เท่านั้น ไม่มีทางแสดงให้รู้ยิ่งกว่านั้นไปได้ เมื่อต้องการทราบลักษณะอาการของความบริสุทธิ์ว่าเป็นอย่างไรบ้าง ก็จำต้องนำสมมติเข้ามาชวยเสริมให้วิมุตติเด่นขึ้นพอมีทางทราบกันได้ว่าวิมมุตมีลักษณะว่างเปล่าจากนิมิตทั้งปวดมีความสว่างไสวประจำตัว มีความสงบสุขเหนือสิ่งใด ๆ เป็นต้น พอเป็นเครื่องหมายให้ทราบได้โดยทางสมมติทั่ว ๆ ไห้ ผู้ทราบวิมุตติอย่างประจักษ์ใจแล้ว จึงไม่มีทางสงสัยทั้งเรื่องวิมุตติเสดงตัวออกต่อสมมติในบางคราวที่ควรแก่กรณี และทรงตัวอยู่ตามสภาพเดิมขอบงวิมุตติ ไม่แสดงอาการ ที่เธอถามเราตถาคตนั้น ถามด้วยความสงสัยหรือถามพอเป็นกิริยาแห่งการสนทนากัน ท่านกราบทูลว่า ข้าพระองค์มิได้มิความสงสัยทั้งสมมติและวิมุตติของพระองค์ทั้งหลาย แต่ที่กราบทูลนั้นก็เพื่อถวายความเคารพไปตามกิริยาแห่งสมมติเท่านั้น แม้พระองค์กับพระสาวกจะเสด็จมาหรือไม่ก็มิได้สงสัยว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ อันแท้จริงมีอยู่ ณ ที่แห่งใด แต่เป็นความเชื่อประจักษ์ใจอยู่เสมอว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเราตถาคต อันแสดงว่าพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ มิใช่ธรรมชาติอื่น ใดจาดที่บริสุทธิ์หมดจดจากสมมติในลักษณะเดียวกันกับพระรัตนตรัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า การที่เราตถาคตถามเธอ ก็มิได้ถามด้วยความเข้าใจว่าเธอมีความสงสัย แต่ถามเพื่อเป็นสัมโมทนียธรรมต่อกันเท่านั้น บรรดาพระสาวกที่ตามเสด็จพระพุธเจ้ามาแต่ละพระองค์และแต่ละครั้งนั้น มิได้กล่าวปราศรัยอะไรกับท่านพระอาจารย์มั่นเลย มีพระพุทธเจ้าประทานพระโอวาทพระองค์เดียวส่วนพระสาวกทั้งหลายเป็นเพียงนั่งฟังอยู่อย่างสงบเสงี่ยม น่าเคารพเลื่อมใสมากเท่านั้นแม้สามเณรองค์เล็ก ๆ ที่น่ารักมากกว่าจะน่าเคารพเลื่อมใส

เพิ่มเติมประวัติพระอาจารย์มั่น หน้า 127

หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

นิพพานไม่ได้สูญ ไม่ได้อยู่ตามที่โลกคาดคะเนหรือเดากัน ทำจริงจะได้เห็นของจริง รู้จริง และจะเห็นนิพพานเอง เห็นพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เห็นครูบาอาจารย์ที่ท่านบริสุทธิ์เอง และหายสงสัยโดยประการทั้งปวง

หนังสือชีวประวัติ ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2535 หน้า 129-130

หลวงปู่ลี ธมมฺโร

โลกมนุษย์มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย โลกของเทวดานันมีเกิดกับตาย ไม่มีแก่ ไม่มีเจ็บ โลกนิพพาน ไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งตาย
กายเป็นของสูญ เปื่อยเน่า จิต เป็นของไม่สูญ ไม่ตาย
จิตที่ดับจากกาย ย่อมหายไป เหมือนกับไฟที่ดับจากเทียน ไม่มีรูปร่างลักษณะให้ตาเนื้อของเราแลเห็น แต่ไฟนั้นก็มิได้สูญหายไปจากโลก

ธัมมธโรวาท ใน หนังสือ ธรรมโอวาท ๙ หลวงปู่อริยสงฆ์ โดย ธรรมสภา ชมรมนักเรียนเก่าแอล เอส อี 2535

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ความสุขใด เสมอจิตสงบไม่มี
จุติแปลว่าความเคลื่อน ภาษาเราว่าตาย แท้ที่จริงนั้นจิตวิญญาณมันไม่ใช่ของแตกของทำลาย แลไม่ใช่ของสูญหาย
ผู้รู้ ไม่ใช่ของแตก ของทำลาย ของตาย ของดับ
เมื่อเราพิจารณาเห็นควมจริง แจ้งประจักษ์ อย่างนี้แล้วจิตมันก็เลยละได้ เมื่อจิตละได้แล้ว มันก็วางจากรูป วางจากรูปมันก็ถึงอรูปภพ อรูปภพคือเป็นอย่างไร คือจิตว่างหมดไม่มีอะไร แต่เหลือผู้รู้ ความรู้นี้แหละ เป็นของสำคัญที่เรียกว่า "พุทธ" คือผู้รู้

พระพุทธเจ้าสอนให้จิตมันเที่ยง เหมือนพระนิพพานเป็นของเที่ยง ไม่แปรผัน ยักย้าย ไม่มีอะไรทั้งนี้เราไม่เที่ยง เราถึงเป็นยังงี้ สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ ตัวตน ท่านจึงสอนให้ทำจิตให้มันเที่ยง

อาจารโรวาท ใน หนังสือ ธรรมโอวาท ๙ หลวงปู่อริยสงฆ์ โดย ธรรมสภา ชมรมนักเรียนเก่าแอล เอส อี 2535

หลวงปู่หล้า เขมปตฺโต

พระนิพพานมิใช่ผู้รู้ เหนือผู้รู้ไปจนไม่มีที่หมาย พระนิพพานเหนือผู้รู้ไป จนไม่มีที่หมาย ถ้าหมายอยู่ก็พอเหมือนๆ นี่เอง ก็พอหมุนๆ นี่เอง มีปัญหาว่าถ้าอย่างนั้นก็สูญสิ แต่สูญในพระนิพพานมีขอบเขต สูญจากกิเลสเท่านั้น รสของพระนิพพานมีอยู่ ใครเป็นผู้ดื่มรสพระนิพพาน ก็พระนิพพานเท่านั้น จะได้รับรสพระนิพพาน ไม่เป็นหน้าที่ของสังขารจะไปก้าวก่าย พระนิพพานเป็นอนัตตาหรือไม่ พระนิพพานไม่ได้อยู่ในวงแขนของท่านผู้ใดโดยถ่ายเดียว เป็นของกลางอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดไม่ดับไปไหน เป็นอนัตตาธรรม ที่ไม่เกิดไม่ดับไปไหน ไม่มีใครใส่ชื่อล้อนามให้ก็ตาม ก็เป็นจริงทางไม่เกิด ไม่ดับอยู่อย่างนั้น เราจะเอาพระนิพพานมาเป็นอนัตตา เหมือนขันธ์ ๕ และกิเลสทั้งหลายมันก็ไม่ถูก เรียกว่าแยกอนัตตาธรรมไม่ถูก เช่นผู้รู้ดังนี้ จะเอาผู้รู้พระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเทียบกับพระปัจเจกๆ มาเที่ยบกับสาวก สาวิกา อรหันต์ก็เรียนกว่ายกตนเทียมท่าน สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ ชาวพุทธจะรู้เท่านั้น

พระนาคเสน มหาเถระ พระอรหันต์สมัยพุทธปรินิพพานไป ๕๐๐ ปี ผู้ตอบปัญหาพระเจ้ามิลินทราชา

ผู้ที่ยังไม่ได้นิพพานก็รู้ว่านิพพานเป็นสุข เพราะได้ยินเสียงพวกได้นิพพาน
พระพุทธเจ้ามีจริง แต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานดับขันธ์แล้ว ไม่อาจชี้ด้ว่าอยู่ที่ไหน เหมือนเปลวไฟที่ดับแล้วก็ไม่อาจชี้ได้ว่าอยู่ที่ไหน อาจชี้ได้เพียงพระธรรมกาย ของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

นิพพานมีอยู่จริง แต่ว่าไม่มีใครอาจแสดงให้เห็นได้ว่า นิพพานมีสี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น อย่างไร เปรียบเหมือน ลม ที่มีอยู่จริง แต่ก็ไม่มีใครสามารถ แสดงลมให้เห็นด้วย สี สัณฐาน เล็ก ใหญ่ ยาว สั้น ได้

นิพพานเป็นของไม่ควรกล่าวว่าเกิดขึ้นแล้ว หรือยังไม่เกิด จักต้องเกิด ไม่ควรกล่าวว่าเป็นอดีต อนาคต หรือปัจจุบัน ไม่ควรกล่าวว่า เป็นของต้องเห็นด้วยตา ได้ยินด้วยหู รู้ด้วยจมูก ลิ้นกาย อย่างใดเลย

นิพพานเป็นของต้องรู้ด้วยใจ พระอริยสาวกผู้ปฏิบัติชอบแล้วย่อมได้เห็นนิพพาน ด้วยใจอันบริสุทธิ์ อันสงบประณีต อันเที่ยงตรง ไม่มีเครื่องกั้นกาง อันไม่มีอามิส

นิพพานไม่มีของเปรียบ ไม่อาจชี้รูป หรือสัณฐาน วัย ประมาณ แห่งนิพพานได้ด้วยอุปมา หรือด้วยเหตุ หรือด้วยปัจจัย หรือด้วยนัย

นิพพานธาตุ อันสงบ อันเป็นสุข อันประณีตนั้นมีอยู่ ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อพิจารณาสังขารตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ก็กระทำให้แจ้งนิพพานธาตุด้วยปัญญา

ที่ตั้งของนิพพานไม่มี นิพพานไม่ได้ตั้งอยู่ในทิศใด แต่นิพพานมี ผู้ปฏิบัติชอบ เมื่อเห็นความตั้งขึ้นและเสื่อมไปของสังขารทั้งหลายด้วยโยนิโสมนสิการแล้ว ก็กระทำให้แจ้งซึ่งนิพพาน ดังเช่น ไฟมีอยู่ แต่ที่ตั้งแห่งไฟไม่มี เมื่อบุคคลเอาไม้มาสีกันเข้าก็ได้ไฟฉันใด

หนังสือ มิลินทปัญหา

พิมพ์