ปริยัติธรรม
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
ทีฆนิกาย ปาฎิวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ หน้า ๑๓๓-๑๙๔ กล่าวการเกิดของมนุษย์มีกำเนิด ๔ คือ
อัณฑชะกำเนิด การกำเนิดของสัตว์ ที่เกิดจากฟองไข่
ชลาพุชกำเนิด การกำเนิดของสัตว์ ที่เกิดจากครรภ์
สังเสทชะกำเนิด การกำเนิดของสัตว์ ที่เกิดจากละอองเกสร ดอกไม้ ดอกบัว
โอปปาติกะกำเนิด สัตว์ที่ผุดเกิดแล้วโตทันที ได้แก่ เทวดา พรหม สัตว์นรก เปรต อสุรกาย
ชื่อว่า มนุษย์ อธิบายว่าเป็นสัตว์โลกที่รู้ความมากกว่าสัตว์จำพวกอื่น มีความคิดและปัญญายิ่งกว่า จำพวกสัตว์ทั้งหลาย มากด้วยความดำริ ตริตรองและสติสัมปชัญญะ ความองอาจ แกล้วกล้า มากด้วยวัตรปฏิบัติ บำเพ็ญศาสนสพรหมจรรย์และมรรคพรหมจรรย์
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ในโกศลสังยุตว่า มนุษย์มี ๒ จำพวก คือ พาลมนุษย์ และ บัณฑิตมนุษย์
พาลมนุษย์
พาลมนุษย์ ท่านหมายถึงมนุษย์ที่ตัดเสียซึ่งประโยชน์ในภพนี้และภพหน้า ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ลำพังตัวเองเอาตัวไม่รอด ยังชักนำผู้อื่นให้ผิดไปด้วย เหมือนครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร และนิครนถนาฏบุตร ตนเองหลงมีความหลงผิด ยังชักนำให้ผู้อื่นหลงผิดตาม ไปอีกด้วย ครั้นทำลายขันธ์ก็พากันไปทนทุกขเวทนาในอบายทั้งสิ้น
พาลมนุษย์ ไม่รู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ สักแต่ว่าเป็นมนุษย์ที่มีลมหายใจเข้าออก พาลมนุษย์นั้นคิดก็คิดแต่สิ่งชั่ว ที่ไม่มีประโยชน์ด้วยอำนาจของ อภิชฌา พยาบาท และมิจฉาทิฎฐิ จะกล่าวสิ่งใดก็ กล่าวแต่พาษิตวพริตปะกอบด้วย สาวก ปีสุณวห ผรุสวห และ สัมผัปลาปวท จะทำการสิ่งใดก็ กระทำแต่สิ่งที่ชั่วที่เป็นกายทุจริต ประกอบด้วย ปาณาติบาต อทินนทาน และกาเมสุมิจฉาจาร
ท่านอุปมาไว้ว่าประดุจเพลิงที่เกิดขึ้นในเรือนอันมุด้วยหญ้า มีฝาเรือนที่ทำด้วยไม้อ้อครั้นเพลิงติดขึ้น ที่ไม้อ้อ เปลวเพลิงลามมาติดหญ้าสังหารเรือนให้พินาศ เป็นฝุ่นเป็นเถ้าไป ฉันใด คนทั้งปวงหลงเชื่อพาลมนุษย์ มีความเห็นผิดตามถ้อยคำพาลมนุษย์ สรรพทุกข์ สรรพภัย สรรพอุปัทวันตรายต่างๆ ย่อมบังเกิดแก่ผู้นั้น ฉันนั้น
บุคคลหลงลิ้นแห่งพาลมนุษย์ เชื่อฟังคำของพาลมนุษย์ อุปมาเหมือนใบไม้ที่ห่อปลาเน่า ลำพังปลาเน่า ก็เป็นที่รังเกียจอยู่แล้ว เมื่อเอาใบไม้ห่อ ก็พาให้ใบไม้เหม็นไปด้วย ฉันใด พาลมนุษย์มิได้ชั่วแต่ผู้เดียว พาลพาผู้ อื่นให้ชั่วตามไปด้วย ฉันนั้น
พาลมนุษย์ จะกระทำการสิ่งใด ย่อมทำด้วย อำนาจของโทสะ
พาลมนุษย์ มีกายสมาจารมิได้เสมอกัน ปากอย่างหนึ่ง ใจอย่างหนึ่ง
พาลมนุษย์ ย่อมดีแต่ต่อหน้า เจรจาไพราะ ลับหลังนินทา เหยียบย่ำ
พาลมนุษย์ ย่อมมีจิตมากด้วยโลภะ มานะ มิได้รู้จักคนดีคนชั่ว เห็นบาปว่าเป็นบุญ ที่เป็นคุณก็เห็น ว่าเป็นโทษ ถูกสั่งสอนก็ขึ้งโกรธเคียดแค้น ไม่รับโอวาท ไม่รู้จักความอ่อนน้อม กระด้างเหมือนเสาหิน
พาลมนุษย์ ถึงจะเป็นผู้ประดับด้วยวิชาความรู้ประการใด เป็นผู้สูงศักดิ์มีอำนาจวาสนา หรือมีโภคะ สมบัติมากมายเพียงไร ผู้มีปัญญาพึงเว้นเสีย ท่านกล่าวว่า คนพาลร้ายยิ่งกว่าอสรพิษ
คนพาลย่อมเสวยทุกข์ในปัจจุบัน กรรมลามกที่คนพาลกระทำไว้คือ กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ย่อมปกคลุม ครอบงำพาลมนุษย์ต้องถูกลงโทษให้เศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ร่ำไห้เสวยทุกข์โทมนัสในปัจจุบัน
คนพาลย่อมสวยทุกข์ในปรโลก เมื่อละโลกไปแล้ว ย่อมเข้าถึง อบายทุคติ วินิบาต นรก เสวยเวทนา อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบอยู่ในนรก และไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด
คนพาลนั้นแม้จะกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์อีก ในบางครั้งบางคราว โดยล่วงระยะกาลนานก็ย่อม ได้บังเกิดในสกุลต่ำ คือในสกุลคนจัณฑาล สกุลพรานล่าเนื้อ สกุลคนเทขยะเป็นต้น มีข้าวน้ำโภชนาอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยฝืดเคือง มีชีวิตความเป็นอยู่แร้นแค้น มีผิวพรรณทราม ร่างกายพิกลพิการในสภาพต่างๆ มีโรคมาก ตาบอดบ้าง เป็นคนง่อยเปลี้ยเสียขาบ้าง เป็นต้น ตามอกุศลกรรมที่แต่ละคนได้กระทำมา ไม่ได้ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่อยู่อาศัย และเครื่องตามประทีป ทำให้ประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตอีก ครั้นตายไปก็ย่อมเวียนเข้าสู่อบาย ทุคติ วินิบาต นรก ซ้ำแล้วซ้ำอีก นี้คือวัฏทุกข์ของพาลมนุษย์
บัณฑิตมนุษย์
บัณฑิตมนุษย์ บุคคลที่มีจิตเป็นกุศล ประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ มี กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ประกอบด้วยปัญญาอันเป็นสัมมทิฎฐิ มีความเห็นถูก ดำริถูก ผู้ที่ทำประโยชน์ตนประโยชน์ท่านชื่อ ว่าบัณฑิต
บัณฑิตย่อมประกอบด้วยธรรม ๕ ประการ คือ- ธิติ ประพฤติตนให้ประกอบด้วยปัญญา พิจารณาเห็นคุณและโทษ
- ขันติ ประพฤติตน อดทน อดกลั้น ไม่วู่วามด้วยอำนาจโทสะ
- สัจจะ ประพฤติตนด้วย ความซื่อสัตย์ ความเที่ยงธรรม
- วิริยะ มีความเพียร ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นกุศล
- สัญญมะ ประพฤติตน ประกอบด้วยศีล ๕ เป็นนิจศีล ศีล ๘ เป็นอดิเรกศีล
ผู้ประพฤติธรรม ๕ ประการนี้ ชื่อว่า บัณฑิตมนุษย์ จักถึงซึ่งความสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล มีความ เจริญบังเกิดแก่ตนทั้งภพนี้ภพหน้า ได้สัมฤทธิ์สมบัติสุขในมนุษย์ เทวโลก และนิพพานสมบัติในชาติสุดท้าย
"วรรณกรรม สมัยรัตนโกสินทร์เล่ม ๒ หน้า ๖๘๔-๖๙๒ กล่าวบัณฑิตธรรม ๓ ประการว่า"
บัณฑิตมนุษย์ จะกระทำการสิ่งใดย่อมพินิจพิจารณาถึงประโยชน์ ต่อเมื่อเห็นว่าเป็นคุณทั้งอิธโลกและ ปรโลกแล้วจึงทำ บัณฑิตย่อมประกอบด้วย ๓ ประการ คือ คำสัตย์ ๑ กตัญญู ๑ ขันติ ๑ ดังพระผู้มีพระภาคเจ้า มีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาไว้ในเตมิยชาดกว่า
บุคคลใดไม่ประทุษร้ายมิตร มีความกตัญญู รู้คุณแห่งมิตร มิได้ลืมคุณที่ท่านกระทำแก่ตน
** บุคคลนั้นจะพลัดพรากไปตกอยู่สถานถิ่นใด ไม่ยาก ไม่จน ไม่อด ไม่อยาก เทพยดาและมนุษย์ทั้ง หลายตกแต่งมาให้ได้เลี้ยงชีวิต มิได้ขัดสน ขณะเดียวกันคนที่จนๆ ก็พลอยได้เลี้ยงชีวิตไปด้วย
** บุคคลนั้นจะไปสู่ชนบทใด คามนิคมใด ราชธานีใด ก็จะมีผู้กระทำสักการะบูชาทั่วทุกแห่งที่ไป ไปอยู่ที่ใดก็บริบูรณ์ที่นั่น ไม่มีความขัดสนข้นแค้น อดอยากลำบากใจ
** บุคคลนั้นสามารถรักษาตนให้ล่วงพ้น จากภัยพิบัติ จากอันตราย โจรทั้งหลายที่ปองร้ายเบียดเบียน ก็จะย่นย่อท้อถอย แพ้พ่ายไปเอง กษัตริย์ขัตติยมหาศาลจะรักใคร่นับถือ มิถูกดูหมิ่นถิ่นแคลน
** บุคคลนั้นแม้จะอยู่ในที่ประชุมใด ก็มากไปด้วยคนชื่นชอบรื่นเริงบันเทิงใจ เป็นผู้อุดมด้วยคนรัก ใคร่พอใจที่จะคบหาสมาคมด้วย กลับมาบ้านเรือนแห่งตนก็มีจิตใจสบายแช่มชื่นใจ
** บุคคลนั้นจะมีคนบูชาสักการะ ได้เครื่องสักการะบูชาจากสำนักเทวดาและมนุษย์ ความดีจะปรากฏ ทั้งกิตติศัพท์และบริวารยศจะมาถึง คนทั้งปวงนับถือว่าเป็นสัปบุรุษ ด้วยสามารถที่มีกตัญญู จะรุ่งเรืองด้วยคุณ ตะบะ ความทรงเดชาจักปรากฏ ดุจเปลวเพลิงรุ่งโรจน์ดุจมเหศักดิ์เทวดา จะทำการสิ่งใดก็ได้ผล มีภัยก็เอาตัวรอด ข้าศึกทั้งหลายไม่เบียดเบียน เหมือนต้นไม้ไทรใหญ่ที่แม้ถูกลมพายุอย่างใดก็มิหักโค่น
"อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่มที่ ๓ หน้า ๓๗๑-๓๗๒ เวรสูตร กล่าวว่า บัณฑิตมนุษย์ ที่ชื่อว่าอุบาสกอุบาสิกา ย่อมรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ถือเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ท่าน กล่าวว่า นรชนใดไม่ฆ่าสัตว์ ๑ ไม่ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ๑ ไม่คบชู้ภรรยาสามีของผู้อื่น ๑ ไม่กล่าวคำเท็จ ๑ ไม่ดื่มสุราเมรัย ๑ นรชนนั้นละเวร ๕ ประการนี้แล้ว ชื่อว่าเป็นผู้ มีศีล มีปัญญา เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติ"
บัณฑิตมนุษย์ ที่ชื่อว่าอุบาสกอุบาสิกา ย่อมเลี้ยงชีวิตโดยชอบธรรม เว้นจากการค้าขาย ๕ ประการ คือ ค้าขายศาสตราอาวุธ ๑ ค้าขายมนุษย์ ๑ ค้าขายสัตว์ที่เลี้ยง ๑ ค้าขายสุราเมรัย ๑ ค้าขายยาพิษ ๑
บัณฑิตมนุษย์ ที่ชื่อว่าอุบาสกอุบาสิกา ย่อม เป็นผู้มีศรัทธา ๑ เป็นผู้มีศีล ๑ เป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว ๑ เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล ๑ ไม่แสวงหาเขตบุญภายนอกศาสนา ๑ ทำการสนับสนุนในพระศาสนานี้ ๑ ย่อมเป็น อุบาสกแก้ว อุบาสกปทุม อุบาสกบุณฑริก เพราะเหตุที่ประกอบด้วยสมบัติธรรม ๕ ประการนี้
"อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ หน้า ๒๔๖-๒๔๗ ว่าด้วย มนุษย์ในโลก ๔ จำพวก คือ
ผู้มามืด ไปมืด ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ยากจน ขัดสน มีความเป็นอยู่แร้นแค้น ลำบากในการ หาเลี้ยงชีพ หาอาหารและเครื่องนุ่งห่มได้โดยฝืดเคือง ซ้ำเป็นคนขี้ริ้วขี้เหร่ เตี๊ยแคระ มีร่างกายไม่สมประกอบ มากไป ด้วยโรค เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ยังประพฤติทุจริตทางกาย วาจาใจ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบายทุคติวินิบาต
ผู้มามืด ไปสว่าง ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลต่ำ ผิวพรรณทรามเป็นต้น แต่เป็นผู้มีศรัทธา ไม่ตระหนี่ มีใจไม่ฟุ้งซ่าน ย่อมให้ทาน สั่งสมบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประพฤติกายสุจริต วาจาสุจริต ใจสุจริต เมื่อตายไปย่อม เข้าถึง สุคติโลกสวรรค์
ผู้สว่างมา มืดไป ได้แก่ บุคคลผู้เกิดในตระกูลสูง มีโภคสมบัติมาก มีรูปสวย แต่เป็นผู้ไม่มีศรัทธา ตระหนี่ ไม่เอื้อเฟื้อ มักโกรธ ประพฤติแต่กายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง อบายทุคติวินิบาต
ผู้สว่างมา สว่างไป ได้แก่ บุคคลที่เกิดในตระกูลสูง พรั่งพร้อมด้วยรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ประพฤติแต่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เมื่อตายไปย่อมเข้าถึง สุคติโลกสวรรค์