ปริยัติธรรม
หนังสือ ตามรอยพระธรรม ของ พระบรมศาสดา ผู้เขียน สุรีย์ มีผลกิจ
บุคคลเมื่อให้ทาน สมาทานศีลแล้ว ย่อมเป็นผู้มีกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต สิ้นชีพลงย่อม ได้ไปบังเกิดในสวรรค์
สวรรค์มี ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตตี
** กรรมทีปนี วรรณกรรมไทยที่ได้รับรางวัล ประพันธ์โดย พระราชวิสุทธิโสภณ (วิลาศ ญาณวโร ) พรรณนาสวรรค์แต่ละชั้นไว้ ดังนี้
จาตุมหาราชิกาภูมิ
สวรรค์ชั้น จาตุมหาราชิกา ตั้งอยู่ตอนกลางแห่งภูเขาสิเนรุราช มีท้าวมหาราชทั้ง ๔ ปกครอง คือ
- ธตรฐมหาราช ทรงมีอํานาจปกครองทางทิศตะวันออก และ ทรงเป็นอธิบดีปกครองหมู่คนธรรพ์
- วิรุฬหกมหาราช ทรงมีอํานาจปกครองทางทิศใต้ และ ทรงเป็นอธิบดีปกครองหมู่กุมภัณฑ์
- วิรูปักษ์มหาราช ทรงมีอํานาจปกครองทางทิศตะวันตก และ ทรงเป็นอธิบดีปกครองหมู่นาค
- เวสสวัณมหาราช ทรงมีอํานาจปกครองทางทิศเหนือ และ ทรงเป็นอธิบดีปกครองหมู่ยักษ์
** อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต หน้า ๔๘๕ บุญกิริยาวัตถุสูตร พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถึงเหตุที่บุคคลจะได้มีโอกาสไปอุบัติในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิว่า ผู้ที่เห็นภัยในวัฏสงสาร ควรทําบุญมีทาน และศีล เป็นต้น เมื่อสิ้นชีพลงจักได้ไปเกิดเป็นสหายแห่งเทวดา
มหาราชทั้ง ๔ ก็ทรงบําเพ็ญบุญกิริยาวัตถุที่สําเร็จด้วยทาน และศีลเป็นอันมาก พระองค์จึงทรงรุ่งเรืองกว่าเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาทั้งหลายในฐานะ ๑๐ ประการ คือ อายุทิพย์ วรรณะทิพย์ สุขทิพย์ ยศทิพย์ อธิปไตยทิพย์ รูปทิพย์ เสียงทิพย์ กลิ่นทิพย์ รสทิพย์ และ โผฏฐัพพะทิพย์
นอกจากนั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ ยังมีเทวดาอีก ๘ จําพวกคือ- ปัพพตัฎฐกเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่บนภูเขาทั้งหลาย
- อากาสัฏฐกเทวดา เทวดาที่อาศัยอยู่ในอากาศ
- ขิฑฑาปโทสิกเทวดา เทวดาที่มีความเพลิดเพลินในการ บริโภคกามคุณ จนลืมบริโภคอาหาร แล้วจุติ (ตาย) ไป
- มโนปโทสิกเทวดา เทวดาที่มีคุณธรรมน้อย มีปกติจุติไป ด้วยอํานาจแห่งความโกรธ
- สัตวลาหกเทวดา เทวดาที่มีหน้าที่ทําอากาศเย็นให้เกิด
- อุณหวลาหกเทวดา เทวดาที่มีหน้าที่ทําอากาศร้อนให้เกิด
- จันทิมเทวปุตตเทวดา เทวดาที่มีวิมานอยู่ในบริเวณพระจันทรมณฑล
- สุริยเทวปุตตเทวดา เทวดาที่มีวิมานอยู่ในประ สุริยมณฑล
เทวดาทั้ง ๘ จําพวกนี้ ได้ชื่อว่าเป็นเทวดาชั้นจาตุมหาราชิกาภูมิ อยู่ภายใต้อํานาจการปกครองของมหาราชทั้ง ๔
สวรรค์ชั้นนี้ นอกจากจะมีสมบัติทิพย์อันอํานวยความสุขให้แก่เทวดานานาประการแล้ว ยังมีสระโบกขรณีมีน้ำใสเย็น เต็มไปด้วยปทุมชาตินานาชนิดส่งกลิ่นทิพย์หอมไปทั่วบริเวณ มีดอกไม้นานา พันธุ์สีสรรวิจิตรตระการตา รุกขชาติมีดอกและผลอันเป็นทิพย์ให้ชื่นชม ทุกฤดูกาล ไม่มีวันร่วงโรยและหมดไป
ดาวดึงสภูมิ
สวรรค์ชั้น ดาวดึงส์ ตั้งอยู่บนยอดภูเขาสิเนรุ เป็นภูมิที่อยู่แห่งเทวาธิบดี ๓๓ พระองค์ ภายใต้การปกครองสมเด็จพระอมรินทราธิราช ผู้ทรงธรรม มีสุทัสสนะนครตั้งอยู่ตรงกลางยอดเขา ปรางค์ปราสาทล้วน แล้วไปด้วยรัตนะอันเป็นทิพย์ แวดล้อมด้วยกําแพงแก้ว มีประตูทิพย์ ๑๐๐๐ ประตู มีรัศมีสว่างไสวอยู่เหนือประตูทุกประตู เมื่อประตูถูกเปิดออกแต่ละครั้ง จะปรากฏเสียงไพเราะยิ่งนัก
ท่ามกลางสุทัสสนะนครมี ไพชยนตปราสาทพิมาน ประดับด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นที่ประทับของพระอมรินทราธิราช ปกครองเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลายในดาวดึงส์ และจาตุมหาราชิกา ทิพยสมบัติ ที่มีอยู่ในสวรรค์ชั้นนี้มีอุทยาน ๔ แห่งคือ นันทวัน จิตรลดาวัน มิสกวัน ปารุสกวัน อยู่ในทิศทั้ง ๔ แต่ละอุทยานมีสระโบกขรณีแห่งละ ๒ สระ
ปุณฑริกวันอุทยาน ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มีต้น ชาติกัลปพฤกษ์ ตั้งอยู่ท่ามกลางอุทยาน เวลานับได้ร้อยปีจึงจะมีดอกบานครั้งหนึ่ง ภายใต้ต้นปาริชาติมีแท่นศิลาแก้วชื่อ ปัณฑุกัมพล สําหรับเป็นที่ประทับพักผ่อนอิริยาบถของพระอมรินทราธิราช ไม่ไกล จากต้นปาริชาติมีศาลากว้างใหญ่ชื่อว่า สุธรรมาเทวสภา พื้นศาลาประดับ ด้วยแก้วผลึก มีกําแพงทองล้อมรอบศาลา ภายในศาลาเป็นที่ประชุม ฟังธรรมของเหล่าเทวดาสัมมาทิฏฐิ
ทิศตะวันออกเฉียงใต้มี พระเกศจุฬามณีเจดีย์ พระเจดีย์ที่บรรจุพระเมาลีของพระโพธิสัตว์ ในคราวเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ และเป็นพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุเขี้ยวแก้วเบื้องขวา ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระอมรินทราธิราชแห่งจาตุมหาราชิกาภูมิ และท้าวสยามเทวาธิราชแห่งยามาภูมิ เป็นต้น ต่างก็พาเทพบริวารมาถวายนมัสการ สักการะบูชา ทรงนําทวยเทพทั้งหลายประทักษิณองค์พระมหาเจดีย์ เป็นพุทธบูชาเสมอมา
ความวิจิตรงดงามและความสุข อันเป็นทิพยสมบัติในสวรรค์ ชั้นดาวดึงส์ ไม่สามารถที่จะพรรณนาให้หมดสิ้นไปได้ สมบัติในมนุษยโลก จะเป็นสมบัติของพระเจ้าจักรพรรดิ พระราชา หรือมหาเศรษฐีก็ไม่สามารถที่จะนํามาเทียบกับเทวสมบัติซึ่งเป็นสมบัติทิพย์ได้เลยแม้แต่น้อย
ยามาภูมิ
สวรรค์ชั้นยามา ตั้งอยู่กลางนภากาศเหนือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระสุยามเทวาธิราชทรงเป็นเทวาธิบดี ในยามาภูมินี้มีเทวดาประเภท อากาสัฎฐเทวดา คือเทวดาที่อยู่ในอากาศประเภทเดียว มีปราสาทวิมานล้วนล้วนแล้วไปด้วยเงินและทอง มีอุทยานทิพย์และสระโบกขรณีอัน เป็นทิพย์อยู่มากมายเช่นเดียวกับดาวดึงส์ แต่ประณีตสวยงามกว่ามาก
ในสวรรค์ชั้นยามาภูมินี้ ไม่ปรากฏมีแสงของพระอาทิตย์หรือ แสงของพระจันทร์ เพราะว่าเป็นภูมิที่ตั้งอยู่สูงเหนือพระอาทิตย์ และพระจันทร์มากมาย แต่ปวงเทวดาทั้งหลายสามารถเห็นกันด้วยความสว่างแห่งรัศมีที่ออกมาจากกายแห่งเทวดาเหล่านั้นเอง
การที่เหล่าเทวดาจักรู้กาลว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน ย่อมรู้ได้จากดอกไม้ทิพย์ที่มีอยู่ในสวรรค์นั้นเอง หากดอกไม้ทิพย์บาน ก็เป็นสัญญลักษณ์ให้รู้ว่าเป็นเวลากลางวัน หากดอกไม้นั้นหุบลง ก็เป็นสัญญลักษณ์ว่าเป็นเวลากลางคืน
มีผู้ถามว่า เทวดาเห็นกันหรือไม่ อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต กล่าวไว้ว่า เทวดาทั้งหลายที่อยู่ในภูมิต่ำกว่า ย่อมไม่สามารถเห็นเทวดาที่อยู่ในภูมิที่สูงกว่า เพราะเทวดาที่อยู่ในภูมิสูงกว่าเป็นกายทิพย์ มีรูปร่างละเอียดประณีตกว่า แม้มนุษย์ทั้งหลายก็ไม่สามารถเห็นเทวดาได้ เพราะเทวดาเป็นกายทิพย์ การที่เทวดาที่อยู่ในภูมิต่ำกว่าจักเห็นก็โดยที่เทวดาที่อยู่ในภูมิสูงเนรมิตกายทิพย์ให้หยาบจึงเห็นได้
ดุสิตาภูมิ
สวรรค์ชั้น ดุสิตา ตั้งอยู่ในนภากาศเหนือสวรรค์ชั้นยามาสูง ขึ้นไปอีก เป็นที่สถิตอยู่แห่งผู้ที่มีความยินดีอยู่เป็นนิจ โดยมีพระสันดุสิตเทวาธิราชทรงเป็นอธิบดี ในดุสิตาภูมินี้มีวิมาน ๓ ชนิด คือ รัตนวิมาน ๑ สุวรรณวิมาน ๑ รชตวิมาน ๑
ปราสาทวิมานเหล่านี้ ตั้งอยู่เรียงรายเป็นระเบียบสวยงาม วิจิตรตระการตา มีรัตนปราการล้อมรอบ ทุกวิมานมีรัศมี รุ่งเรือนสวยงามยิ่งกว่ายามาภูมิ ผู้ที่มาบังเกิดในสวรรค์ชั้นนี้จะมีความงาม ความสง่ามากกว่าเทวดาชั้นต่ำกว่า มีจิตใจที่ยินดีต่อการที่จะได้สดับ พระสัทธรรมเทศนาในทุกวันธรรมสวนะ สวรรค์ชั้นนี้จึงมีเทวสันนิบาต ประชุมกันฟังธรรมกันอยู่เสมอมิได้ขาด โดยมีพระสันดุสิตเทวราชทรง เป็นเทพยสภาบดี
ในสวรรค์ชั้นนี้ ย่อมเป็นที่สถิตอยู่แห่งเทพบุตรโพธิสัตว์ทุกพระองค์ก่อนที่จะลงมาอุบัติในมนุษยโลก เพื่อตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณอันเป็นภพสุดท้าย ด้วยเหตุนี พระสันดุสิตเทวาธิราชผู้ทรง มีอํานาจและพระอิสสริยยศอันยิ่งใหญ่ จึงมีโอกาสทูลเชิญเทพบุตรโพธิสัตว์ผู้จักได้ตรัสรู้ ให้เป็นองค์แสดงธรรมอยู่เสมอ ดังเช่นปัจจุบันเป็นที่ทราบกันว่า พระศรีอารยเมตไตรยองค์ที่จักมาตรัสรู้ในอนาคต ก็สถิตเป็นเทพบุตรโพธิสัตว์อยู่ ณ ดุสิตพิภพ
ดุสิตสวรรค์ จึงเป็นภพที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพเจ้าทั้งหลายผู้สนใจในธรรม ทั้งเทพที่เป็นปุถุชนและเทพที่เป็นพระอริยบุคคล ในสมัยพุทธกาล ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ยังทรงพระชนมชีพอยู่ บรรดาคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายที่อยู่ในกรุงสาวัตถี กรุงราชคฤห์ กรุงเวสาลี กรุงโกสัมพี และกรุงกบิลพัสดุเป็นต้น บุคคลเหล่านี้ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์แล้ว ได้บรรลุมรรคผล สําเร็จเป็นพระอรหันต์ พระอนาคามี พระสกทาคามี และพระโสดาบัน ตามอํานาจบารมีของตนเป็นจํานวนมากมาย
สมัยนั้นเช่นกัน เหล่าเทวดาทั้งหลายที่อยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เมื่อได้มีโอกาสสดับพระธรรมเทศนากัณฑ์สําคัญเช่น พระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อนัตตลักขณสูตร มหาสมัยสูตร หรือ สติปัฏฐานสูตร เป็นต้น ต่างก็ได้บรรลุเป็นพระอริยบุคคลเช่นเดียวกันมากมายสุดคณานับ
ในบรรดาพระอรหันต์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเทวดา หรือมนุษย์ เมื่อจุติก็ปรินิพพานไป พระอนาคามีบุคคลเมื่อจุติจากมนุษยโลกหรือ เทวโลก ก็ไปอุบัติเป็นพรหมอยู่ในสุทธาวาสภูมิ แล้วปรินิพพาน ณ ที่นั้น
สําหรับพระสกทาคามีบุคคล และพระโสดาบันบุคคลที่ไม่ได้ ฌานสมาบัติ เมื่อจุติแล้ว ก็ย่อมไปอุบัติเป็นเทวดาอยู่ในสวรรค์ชั้นใด ชั้นหนึ่ง รวมทั้งเทวดาอริยบุคคลที่ไม่ได้ฌานสมาบัติ ก็ยังคงเสวยทิพย สมบัติสถิตอยู่ในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นเช่นเดิม ยังมิได้จุติไปไหน เพราะอายุของเทวดานั้นยืนยาวมากมาย เพราะฉะนั้นพระอริยบุคคลเทวดา ในเทวโลก จึงมีมากกว่าพระอริยบุคคลในมนุษยโลก ด้วยประการนี้
นิมมานรดีภูมิ
สวรรค์ชั้น นิมมานรดี อยู่เหนือสวรรค์ชั้นดุสิต เป็นที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพที่มีความยินดีเพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ ที่เนรมิต ขึ้นตามความพอใจแห่งตนเอง มีพระนิมมิตเทวาธิราชทรงเป็นเทวาธิบดี มีวิมาน อุทยาน สระโบกขรณีเป็นต้น เช่นเดียวกับดุสิตาภูมิทุกอย่าง แต่สวยงามและประณีตกว่า ทุก ๆ วิมานจะมีกําแพงแก้ว และกําแพงทองล้อมรอบ พื้นภูมิภาคก็เป็นทองคําบริสุทธิ์ราบเรียบเสมอกัน
ปวงเทพทั้งหลายในนิมมานรดีภูมิ มีรัศมีรุ่งเรือง เปล่งออกจากกายทิพย์แห่งตน หากมีความปรารถนาจะเสวยสุขด้วยกามคุณใน ย่อมเนรมิตคู่ครองได้เองตามความพอใจแห่งตน ไม่มีคู่ครองเป็นประจํา เหมือนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ และดุสิต
ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ
สวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด ตั้งอยู่เหนือสวรรค์ชั้นนิมมานรดี เป็นที่สถิตอยู่แห่งปวงเทพที่มีความยินดีในกามคุณอารมณ์ ที่ผู้อื่นรู้ความต้องการของตนแล้วเนรมิตให้ มีทิพยสมบัติ เช่นปราสาทวิมาน สระโบกขรณี และอุทยานที่สวยงามวิจิตรยิ่งกว่า สวรรค์ทุกชั้น ทวยเทพที่มาอุบัติในสวรรค์ชั้นนี้ มีเขตการปกครอง แบ่งออกเป็น ๒ แดน คือ แดนของเทวดา และแดนของมาร
แดนเทวดา เป็นที่สถิตอยู่ของเทวดาที่เป็น สัมมาทิฏฐิ มี พระปรนิมมิตเทวาธิราช เป็นเทวาธิบดี
แดนมาร เป็นที่สถิตอยู่ของเทวดาที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ มี พระปรนิมมิตวสวัตตีมาราธิราช ผู้เป็นมิจฉาเทวดาปกครอง
เทวดาทั้งสองแดนนี้มีเขตแดนกั้นระหว่างกลาง ต่างฝ่ายต่างอยู่ แต่จะอย่างไรก็ตามเทวดาที่มาอุบัติในสวรรค์ชั้นนี้ ต่างเสวยสุขในทิพยสมบัติอันแสนจะประณีตมากกว่าสวรรค์ชั้นอื่น ๆ เมื่อมีความต้องการเสวยกามคุณเกิดขึ้น เทวดาผู้รับใช้ก็จัดการให้ตามความประสงค์
สําหรับในสวรรค์ชั้นนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า จอมเทพในสวรรค์ปรนิมมิตวสวัตตี ได้กระทําบุญกิริยาวัตถุที่สําเร็จ ด้วยทานและศีลมาเป็นอันมาก พระองค์จึงทรงเป็นเทวาธิบดี มีอิสสริยยศ มีอํานาจ เหนือบรรดาเทพเทวดาทั้งหลาย ด้วยประการดังกล่าวนี้
เทวดาจุติ
บุคคลที่จะมาอุบัติในสวรรค์ทุกชั้นดังที่กล่าวมาแล้ว ต้องเป็นผู้ที่กระทําบุญกิริยาวัตถุมาแล้วในทาน ศีล อันมีประมาณยิ่ง จึงได้ขึ้นมาเสวยทิพยสมบัติตามสมควรแก่กุศลของแต่ละบุคคล แต่แม้ว่าจะได้มีความสุขอยู่ในสวรรค์ เทวดาทั้งหลายก็ยังมีจุดจบคือความตายอัน เป็นสิ่งธรรมดา เมื่อสิ้นบุญกุศลที่ทําให้เสวยทิพยสมบัติแล้ว ก็ยังต้องกลับมาเวียนวนอยู่ในวัฏฏะอีก ตามวาระแห่งกรรมของแต่ละบุคคล
เหตุที่ทวยเทพจักจุติ มี ๔ ประการ คือ- จุติเพราะหมดอายุ เทวดาองค์ใดได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ จนครบอายุทิพย์ในเทวโลกที่ตนเกิดอยู่ ก็ต้องจุติ
- จุติเพราะหมดบุญ เทวดาองค์ใดได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ เมื่อหมดบุญที่ได้กระทําไว้ ก็ต้องจุติ
- จุติเพราะหมดอาหาร เทวดาองค์ใดได้เสวยทิพยสมบัติอยู่ในสวรรค์ ก็บังเกิดความชื่นชมยินดี หลงเพลิดเพลินไปในกามคุณ อารมณ์ จนลืมบริโภคสุทธาทิพย์ เทวดามีกายที่สุขุมละเอียดยิ่งนัก หากลืมบริโภคแม้แต่เวลาเดียว ย่อมมีกายทิพย์เที่ยวแห้งเป็นอันตรายแก่ชีวิต เหมือนดอกปทุมที่ตากไว้บนแผ่นหิน ครั้นถูกความร้อนแห่งดวง อาทิตย์เที่ยวลงแล้ว แม้จะนํามาแช่น้ำร้อยครั้งพันครั้งก็มิอาจให้ดอก ปทุมนั้นกลับสดชื่นขึ้นมาอีกได้
- จุติเพราะความโกรธ เทวดาบางองค์เมื่อมีเรื่องทุ่มเถียงกัน หากองค์หนึ่งโกธรเปรียบเหมือนไฟ อีกองค์หนึ่งไม่โกรธเปรียบเหมือนน้ำ ย่อมยังให้ชีวิตดํารงอยู่ได้ทั้งคู่ แต่หากว่าโกรธด้วยกันทั้งสององค์ ความโกรธย่อมทําให้กายทิพย์ลุกไหม้ จุติลงด้วยกันทั้งสองฝ่าย
**มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓/๒ หน้า ๕๐ กล่าวว่า ธรรมดาเทวดาทั้งหลายที่จะจุติ จะมีบุพนิมิตปรากฏให้ทราบก่อนเพื่อเตือนให้รู้ว่า บัดนี้เหลือเวลาอีก ๗ วัน จักต้องจุติ
นิมิต ๕ ประการได้แก่ ผ้าทรงเศร้าหมอง ๑ ทิพยมาลาเที่ยวแห้ง ๑ พระเสโทไหลออกจากรักแร้ ๑ พระฉวีวรรณเศร้าหมอง ๑ ทรงเบื่อหน่ายทิพยอาสน์ ๑
บุพนิมิตเหล่านี้ ปรากฏเฉพาะเหล่าเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เท่านั้น เทพบุตรผู้มีบุญ คิดว่าพวกเราอาศัยทานที่ให้ อาศัยศีลที่รักษา และ อาศัยภาวนาที่เจริญแล้ว จักเสวยสมบัติในเทวโลกชั้นสูงขึ้นไป จึงไม่กลัว สําหรับพระโพธิสัตว์ ทรงเห็นบุพนิมิตเหล่านี้แล้ว คิดว่าเราจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในอัตภาพต่อไป จึงไม่หวั่นไหว
สรุปได้ว่า บุคคลใดสร้างสมทานกุศล ศีลกุศล ย่อมมีผลให้ไป อุบัติในสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามสมควรแก่กุศลของแต่ละบุคคล ดังมี ตัวอย่างที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกและอรรถกถา หลายเรื่องเช่น
ทานที่เป็นปัจจัยให้ได้เกิดในสวรรค์
** ธรรมบทแปล ภาค ๘ หน้า ๖๖-๖๘ เรื่องอังกุรเทพบุตรหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ที่ชานกรุงสาวัตถีแล้ว เสด็จขึ้นไปโปรดมายาเทพบุตรพระพุทธมารดา ในภพดาวดึงส์ ประทับนั่งเหนือปัณฑุกัมพลศิลาอาสน์
พระพุทธมารดา เสด็จลงมาจากวิมานชั้นดุสิต ประทับนั่ง ณ เบื้องขวาของพระบรมศาสดา อินทกเทพบุตรนั่งใกล้กับพระพุทธมารดา อังกรเทพบุตรนั่งทางเบื้องซ้าย ครั้นเทวดาผู้มีศักดิ์ใหญ่มาประชุมกัน อังกูรเทพบุตรได้ถอยร่นไปนั่งอยู่เบื้องหลังของเทวดาเหล่านั้น ไกลจากพระพุทธองค์ถึง ๑๒ โยชน์ ส่วนอินทกเทพบุตรยังคงนั่งอยู่ ณ ที่เดิม
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทอดพระเนตรเห็นเทพบุตรทั้งสองแล้ว มีพระประสงค์จะให้ชนทั้งหลายได้ทราบ ถึงทานที่บุคคลถวายแล้วแก่ทักขิไณยบุคคลว่ามีผลมากมีอานิสงส์มาก จึงตรัสแก่อังกุรเทพบุตรว่า อังกุระ เธอทําบุญให้ทานมาแล้วเป็นระยะกาลอันยาวนานมาก บัดนี้ เธอมาสู่สมาคมของตถาคต เหตุใดจึงนังเสียไกลลิบ
อังกุรเทพบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ถวายทานในที่ว่างเปล่า จากทักขิไณยบุคคล ส่วนอินทกะนั้นถวายทานเพียงเล็กน้อย แต่รุ่งเรือง ยิ่งกว่าข้าพระองค์ ดุจพระจันทร์ในหมู่ดาว
เมื่ออังกุรเทพบุตรกล่าวดังนี้แล้ว พระพุทธองค์ได้ตรัสถาม อินทกเทพบุตรว่า อินทกะไฉนเธอจึงไม่ถอยร่นออกไปไกลจากเราบ้าง อินทกเทพบุตรกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ทักขิไณยสมบัติ ดุจชาวนา หว่านพืชแม้เพียงเล็กน้อยในเนื้อนาดี
พระพุทธองค์จึงตรัสว่า อินทกะ พืชแม้มากอันบุคคลหว่าน แล้วในนาดอน ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ฉันใด ทานมากมายอันบุคคลตั้งไว้ใน บุคคลผู้ทุศีล ผลย่อมไม่ไพบูลย์ ฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้น บุคคลพึงให้ทานในผู้ที่ปราศราคะ โทสะ โมหะ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก จบเทศนาอังกุรเทพบุตร และอินทุกเทพบุตรได้บรรลุโสดาปัตติก
ศีลที่เป็นปัจจัยให้ได้เกิดในสวรรค์
** ธรรมบทแปล ภาค ๒ หน้า ๑๔๑-๑๑๖ แสดงเรื่องศีลที่เป็นปัจจัยให้ได้เกิดในสวรรค์ว่า ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวันเขตเมืองเวสาลี เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ เข้าไปเฝ้ากราบทูลถามถึงธรรมที่ทําให้ได้เป็นท้าวสักกะ
พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าเรื่องของมฆมาณพว่า ในกาลก่อนตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้ายังไม่อุบัติขึ้น มฆมาณพถือกําเนิดอยู่ในหมู่บ้านมจละ แคว้นมคธ ได้ทํากุศลเพื่อประโยชน์สุข แก่ตนเองและผู้อื่น เช่น ทําถนนหนทางในหมู่บ้านให้ราบเรียบ ปลูกต้นไม้ ทําสะพาน ขุดสระน้ำ สร้างศาลาพักร้อนที่ทางสี่แพร่ง ทําสนามในหมู่บ้านให้เป็นระเบียบสวยงาม สําหรับเป็นที่พักผ่อนและจัดงานประจําปีของหมู่บ้าน รวมทั้งเป็นลานที่เล่นของเด็กในหมู่บ้าน ฤดูหนาวก็ก่อไฟให้ชาวบ้านผิงกันหนาว ในฤดูร้อนก็จัดน้ำดื่มเพื่อกันความกระหาย เป็นการพัฒนาหมู่บ้าน และชุมชน เป็นต้น
ชายคนหนึ่งในหมู่บ้าน เห็นการกระทําเช่นนั้นถามว่า ท่านทําอะไร มฆมาณพตอบว่า ผมทําบุญ ทําหนทางเพื่อไปสวรรค์ ด้วยเหตุที่ ใคร ๆ ก็ปรารถนาความสุขในสวรรค์ มฆมาณพจึงมีชายหนุ่มรุ่นเดียว กัน ๓๓ คน ร่วมกันทําความดีเพื่อประโยชน์สุขแก่ส่วนรวม งานทุก อย่างที่กระทํา จึงสําเร็จลงในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยความสมานสามัคคี พร้อมเพรียงของหมู่คณะ การกระทําความดีเหล่านี้ มีนายบ้านผู้หนึ่งไปกราบทูลพระราชาว่า มฆมาณพและสหายเป็นโจร พระราชารับสั่งให้จับมา แล้วให้ นอนให้ช้างเหยียบ มฆมาณพและสหายแผ่เมตตาจิตไปยังช้าง ช้างไม่อาจจะทําอันตราย แม้แต่จะเข้าใกล้ด้วยอานุภาพแห่ง เมตตาของทุกคน
พระราชาตรัสถามว่าเพราะเหตุใด ช้างจึงไม่เข้าใกล้พวกท่าน มฆมาณพทูลว่า พวกข้าพระองค์รักษา เบญจศีล และเบญจธรรม ด้วยชีวิต พวกข้าพระองค์ได้แผ่เมตตาจิตไปยังช้าง และทุกคนเสมอกันว่า สัตว์ทั้งปวงจงอย่ามีเวรต่อกัน อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ขอให้ทุกคนมีความสุขกายสุขใจ รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยด้วยกันทั้งหมด ด้วยอานิสงส์ของการรักษาศีล ประพฤติดีประพฤติชอบ และการแผ่เมตตาจิต จึงบันดาลให้ช้างไม่เหยียบ แม้แต่จะเข้าใกล้พวกข้าพระองค์ ทั้งหลาย พระราชาฟังแล้วจึงลงโทษให้นายบ้านและภรรยาเป็นทาสของ มฆมาณพ และพระราชทานช้างให้เป็นพาหนะในการบําเพ็ญสาธารณ ประโยชน์ต่อไป มฆมาณพและสหายจึงปรึกษากันว่าจะสร้างศาลา สําหรับเป็นที่พักของคนเดินทาง คิดว่าในการสร้างศาลาครั้งนี้จะไม่ให้สตรีมีส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ในครั้งนั้น มฆมาณพมีภรรยา ๔ คน ชื่อนางสุธรรมา นางสุจิตรา นางสุนันทา และนางสุชาดา นางสุธรรมาทราบว่ามฆมาณพไม่ประสงค์ที่จะให้หญิงมีส่วนร่วม จึงออกอุบายจ้างให้ช่างไม้ลืมทำช่อฟ้าติดที่ศาลา ช่างไม้บอกว่าลืมทํา ครั้นจะสร้างตอนนี้ก็ไม่ทัน แนะนําให้ เสาะหาซื้อในหมู่บ้าน ในที่สุดก็ได้ช่อฟ้าของนางสุธรรมา มฆมาณพจำใจ ต้องยอมให้นางสุธรรมา มีส่วนร่วมด้วย โดยมีชื่อปรากฏอยู่บนช่อฟ้าว่า ศาลาสุธรรมา ภายในศาลานั้นปูพื้นด้วยกระดาน ตั้งหม้อน้ำ จัดอาหาร ไว้พร้อมสรรพ ภายในกําแพงก็โรยทราย ภายนอกกําแพงก็ปลูกต้นตาลเป็นแนวสวยงาม
นางสุจิตราทําสวนปลูกไม้ต้น ไม้ดอก และไม้ผล รอบบริเวณ ศาลาเป็นที่รื่นรมย์เย็นสบายนางสุนันทาสร้างสระน้ำ ปลูกดอกบัวนานาชนิด ส่วนนางสุชาดาไม่ทําอะไรเลย นอกจากแต่งตัวให้สวยงาม มฆมาณพ นอกจากจะสร้างสิ่งที่เป็นสาธารณประโยชน์แล้ว ยังได้ประพฤติคุณธรรม คือวัตรบท ๗ ประการ ได้แก่
- เลี้ยงดูมารดาบิดาตลอดชีวิต
- ประพฤติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในตระกูลตลอดชีวิต
- พูดจาไพเราะอ่อนหวานตลอดชีวิต
- ละเว้นการพูดส่อเสียดตลอดชีวิต
- กําจัดความตระหนี่ ยินดีในการเสียสละตลอดชีวิต
- พูดคําสัตย์ตลอดชีวิต
- เป็นผู้ไม่โกรธตลอดชีวิต
เมื่อมฆมาณพและสหายสิ้นชีพลงมฆมาณพได้ไปบังเกิดเป็น ท้าวสักกเทวราชเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ สหายทั้งหมด เกิดเป็นเทพบุตรในชั้นดาวดึงส์เช่นกัน
ความเลื่อมใสในพระพุทธองค์ เป็นปัจจัยให้ได้เกิดในสวรรค์
** ธรรมบทแปล ภาค ๑ หน้า ๓๕-๕๒ เรื่อง มัฏฐกุณฑลี กล่าวไว้ว่า แม้ความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า โดยที่มิเคยพบพระองค์เลย ก็ยังเป็นปัจจัยให้ไปเกิดในเทวโลกได้ ความย่อมีอยู่ว่า
มัฏฐกุณฑลี เป็นบุตรของพราหมณ์ตระหนี่ผู้ไม่เคยให้อะไร แก่ใครเลย อยู่ในกรุงสาวัตถี เมื่ออายุ ๑๖ ปี มัฏฐกุณฑลีป่วย พราหมณ์ผู้บิดาไม่ยอมหาหมอมารักษาด้วยเกรงจะเสียทรัพย์ ได้แต่กินยาพื้นบ้าน เท่าที่หาได้ โรคจึงกําเริบจนใกล้สิ้นชีวิต เวลาเพื่อนบ้านมาเยี่ยม บิดาก็จะนําบุตรออกมานอนที่ระเบียง เพราะเกรงคนเหล่านั้นจะเห็นทรัพย์สินภายในบ้านของตน
เวลาใกล้สว่างวันหนึ่ง มัฏฐกุณฑลีเข้าไปอยู่ในข่ายพระญาณของพระบรมศาสดา พระองค์ทรงทราบว่ามาณพนี้จักทําใจให้เลื่อมใสในตถาคต ทํากาละแล้ว จักได้เกิดในวิมานทองในดาวดึงสเทวโลก มีนางอัปสรหนึ่งพันเป็นบริวาร จึงเสด็จไปโปรด
ขณะนั้น มัฏฐกุณฑลีกําลังนอนหันหน้าเข้าข้างในเรือน พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระรัศมีไป มัฏฐกุณฑลีเห็นแสงนั้น รีบพลิกกลับมา ด้วยความสงสัยว่าแสงสว่างอะไร เมื่อได้เห็นพระบรมศาสดาแล้วเกิดความโสมนัส คิดว่าอาศัยที่เรามีบิดาเป็นอันธพาล จึงไม่เคยได้เฝ้าพระพุทธองค์เลย บัดนี้ เห็นพระองค์ปรากฏกายอยู่ ณ ที่นี้แล้ว เราจะทําความขวนขวายด้วยกาย หรือถวายทาน หรือฟังธรรม กิจเหล่านั้นเราไม่สามารถที่จะทําได้
เพราะแม้แต่มือสองข้างจะยกขึ้นอัญชลี ก็ยกไม่ไหวเสียแล้ว คิดดังนี้แล้วทําใจเท่านั้นให้เลื่อมใสในพระบรมศาสดา พระพุทธองค์ดําริว่า มาณพนี้ทําใจให้เลื่อมใสประมาณเท่านี้พอแล้ว เสด็จหลีกไป
เวลาต่อมาไม่นาน มัฏฐกุณฑลีทํากาละประดุจว่าหลับแล้ว ตื่นขึ้น ไปบังเกิดในวิมานทองบนดาวดึงสเทวโลก พราหมณ์ผู้บิดาทําฌาปนกิจแล้ว คร่ำครวญถึงบุตรที่ป่าช้านั้นทุกวัน เทพบุตรจึงจําแลงตัวให้เหมือนมัฏฐกุณฑลี กอดแขนยืนร้องไห้ อยู่ในที่ไม่ไกลจากป่าช้า พราหมณ์บิดาเห็นจึงคิดว่า เราร้องไห้เพราะคิดถึงบุตรแต่มาณพน้อยนี้ร้องไห้เพราะต้องการสิ่งไร จึงถามว่า ท่านเป็นทุกข์อะไรหรือ มาณพตอบว่า เรือนรถทําด้วยทองคําของข้าพเจ้ามีแล้ว แต่ข้าพเจ้ายังหาคู่ล้อของรถนั้นไม่ได้ ข้าพเจ้าจักยอมเสียชีวิตเพราะความทุกข์นี้ พราหมณ์ผู้บิดารับปากว่าจะหาคู่ล้อนั้นให้
เทพบุตรได้ฟังคํานั้น คิดว่าพราหมณ์ผู้นี้ไม่รักษาบุตร แต่พอเห็นเรามีรูปร่างคล้ายบุตรก็คร่ำครวญอยู่จึงแสดงตนให้บิดาทราบว่าตน คือมัฏฐกุณฑลี เทพบุตรให้โอวาทบิดาตั้งอยู่ในสรณะแล้วจากไป
พราหมณ์ผู้บิดา ได้เข้าไปกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า มีอยู่หรือพระเจ้าข้า เหล่าชนที่ไม่ได้ถวายทานแก่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้ฟังธรรม ไม่ได้รักษาอุโบสถเลย ได้ไปเกิดในสวรรค์ ด้วยเพียงจิตที่เลื่อมใสในพระองค์เพียงอย่างเดียว
เพื่อให้เหล่าชนทั้งหลายสิ้นความสงสัย พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอธิษฐานให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลงมาจากเทวโลก พร้อมด้วยวิมาน ตรัสถามว่า ท่านทํากรรมสิ่งไรมาจึงได้สมบัตินี้ เทพบุตรกราบทูล ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญสมบัตินี้ข้าพระองค์ได้แล้ว เพราะทําใจให้เลื่อมใสในพระองค์ ก่อนกระทํากาละพระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสแก่ชนเหล่านั้นว่า ในการทํากรรมที่เป็นกุศลหรืออกุศล ใจเป็นหัวหน้า ใจเป็นใหญ่ เพราะว่ากรรมที่ทําด้วยใจอันผ่องใสแล้ว จะพูดอยู่ก็ดี จะทําอยู่ก็ดี สุจริต ๓ ที่เป็นไปภายในกาย และจิตนั้น ย่อมพาบุคคลนั้นไปสู่เทวโลก หรือมนุษยโลก เสมือนหนึ่งเงาตามตัวไป ฉะนั้น เวลาจบพระคาถา มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรและพราหมณ์ผู้บิดา ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล การตรัสรู้ธรรมได้มีแก่เหล่าชนอีกมากมาย
ธรรมที่ทําให้เกิดในสวรรค์
** อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาตกรรมปถวรรคที่ ๗ หน้า ๖๓๐-๖๓๒ กล่าวว่า บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ในกรณีต่อไปนี้ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ในสวรรค์ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการลักทรัพย์ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเท็จ ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการพูดเท็จ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการพูดส่อเสียด ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการพูดคําหยาบ ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดคําหยาบ ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการพูดคําหยาบ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการพูดคําหยาบ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
- ชักชวนผู้อื่นให้งดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
- พอใจในการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้ไม่มากไปด้วยความโลภ ๑
- ชักชวนผู้อื่นในความไม่โลภ ๑
- พอใจในความไม่โลภ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณในความไม่โลภ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้มีจิตไม่พยาบาท ๑
- ชักชวนผู้อื่นในความไม่พยาบาท ๑
- พอใจในความไม่พยาบาท ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณความไม่พยาบาท ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ย่อมเกิดในสวรรค์ เหมือนถูกเชิญมาประดิษฐานไว้ ได้แก่
- ตนเองเป็นผู้มีความเห็นชอบ ๑
- ชักชวนผู้อื่นในความเห็นชอบ ๑
- พอใจในความเห็นชอบ ๑
- กล่าวสรรเสริญคุณความเห็นชอบ ๑
* บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ ดังกล่าวนี้ ชื่อว่าประพฤติกุศลกรรมบถ ๑๐ คือกายสุจริต ๓ วจีสุจริต ๔ มโนสุจ ๓ ย่อมได้เกิดในสวรรค์ เหมือนเชิญมาประดิษฐานไว้ ฉะนั้น
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐
** ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ เล่ม ๑/๔ หน้า ๓๘๗-๓๙๑ แสดงว่า บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ที่เป็นไปด้วยอํานาจแห่งกุศลเจตนา ก็เป็นที่ตั้งแห่งความสุขและสวรรค์ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการ ได้แก่
- ทานมัย ทําบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
- ศีลมัย ด้วยการรักษาศีล สํารวมกาย วาจา
- ภาวนามัย ด้วยการเจริญสมถ หรือวิปัสสนา
- อปจายนมัย ด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
- เวยยาวัจจมัย ช่วยเหลือในธุระการงานของผู้อื่น
- ปัตติทานมัย แบ่งบุญที่ตนกระทําแล้วให้ผู้อื่นอนุโมทนา
- ปัตตานุโมทนามัย อนุโมทนาบุญที่ผู้อื่นแบ่งให้
- ธัมมสวนมัย ฟังธรรมของสัตบุรุษ
- ธัมมเทสนามัย แสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยความเกื้อกูล
- ทิฏฐูชูกรรม การทําความเห็นให้ตรงเป็นสัมมาทิฏฐิ คือเห็นว่าทานที่ให้แล้วมีผล การเซ่นสรวงมีผล การบูชามีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่บุคคลทําดีทําชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามี บิดามี สัตว์ทั้งหลายผู้เป็นโอปปาติกะมี
โอปปาติกะ คือ เทวดา พรหม สัตว์ นรก เปรต อสุรกาย ผู้ที่ผุดเกิดได้เอง ด้วยอํานาจแห่งอดีตกรรม โดยไม่ต้องอาศัยพ่อแม่ บุคคลผู้ที่บําเพ็ญบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แล้ว เมื่อสิ้นชีพลงย่อมได้ไปบังเกิดในกามสุคติภูมิ ๗ อันได้แก่ มนุสสภูมิ ๑ เทวภูมิ ๖ คือสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามควรแก่กุศลกรรมของบุคคลนั้น ๆ
ความไม่ประมาทในการเจริญกุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมยังประโยชน์ให้แก่ผู้ประพฤติปฏิบัติ ๒ ประการคือ ประโยชน์ปัจจุบัน ๑ ประโยชน์ในภพหน้า ๑ ดังกล่าวมานี้
เทวดาตรวจดูโลกมนุษย์
** อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ปฐมราชสูตร หน้า ๑๖๒-๑๖ กล่าวว่าในวันอุโบสถ ๘ คํา ท้าวสักกเทวราชทรงบัญชาท้าวมหาราชทั้ง ๔ ว่าวันนี้เป็นวัน ๘ ค่ำ ท่านทั้งหลายจงท่องเที่ยวไปยังโลกมนุษย์แล้ว จดเอาชื่อและโคตรของมนุษย์ที่ทําบุญมาให้ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ กลับไป บัญชาบริวารของตนให้ท่องเที่ยวไปยังโลกมนุษย์ สั่งให้เขียนชื่อ และ โคตรของมนุษย์ที่ทําบุญลงในแผ่นทอง แล้วนํามา ด้วยเหตุนี้
- วันอุโบสถ ๔ ค่ำ บริวารของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงเที่ยวดูโลกนี้
- วันอุโบสถ ๑๔ ค่ำ โอรสของท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงเที่ยวดูโลกนี้
- วันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ท้าวมหาราชทั้ง ๔ เที่ยวดูโลกนี้ด้วยตนเอง
เพื่อสํารวจว่า มนุษย์ทั้งหลายทําบุญ มีการถึงสรณะ รับนิจศีล บูชาด้วย ดอกไม้ ฟังธรรม ตามประทีป และสร้างวิหาร เป็นต้น มากน้อยเพียงใด
ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จะสํารวจว่าในหมู่มนุษย์ คนที่เกื้อกูลบิดา มารดา บํารุงสมณพราหมณ์ อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล อธิษฐานองค์อุโบสถ และทําบุญมีจํานวนมากอยู่หรือ ถ้าในหมู่มนุษย์ทําบุญมีจํานวนน้อยมหาราชทั้ง ๔ ก็จะบอกแก่คณะเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผู้นั่งประชุมในสุธรรมาสภาว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย บัดนี้ในหมู่มนุษย์ทําบุญ มีจํานวนน้อย พวกเทวดาก็จะบ่นกันว่า ผู้ที่จะมาบังเกิดในดาวดึงส์จัก เบาบาง เทพบุตรใหม่ ๆ ไม่ปรากฏ หมู่เทวดาก็จักเสื่อม อสุรกายและ อบาย ๔ จักเต็มแน่น แต่ถ้าทราบว่าในหมู่มนุษย์ทําบุญกันมาก เหล่าเทวดาก็จะชื่นชมยินดีว่า อสุรกายจักเบาบางลง ผู้ที่จะมาบังเกิดใน ดาวดึงส์จักบริบูรณ์
พรหมภูมิ
ในสมัยพุทธกาล บรรดาคฤหัสถ์และบรรพชิตทั้งหลายที่อยู่ในกรุงสาวัตถีกรุงราชคฤห์ กรุงเวสาลี กรุงโกสัมพี และกรุงกบิลพัสด์ ที่ท่านเจริญสมถกรรมฐาน ได้บรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และ จตุตถฌาน ย่อมสามารถจะเข้าสมาบัติ เสวยประณีตสุขอันเกิดจากระดับฌานที่ตนได้
ส่วนผู้ที่บรรลุจตตุถฌาน หากมีบารมีที่เป็นผู้ชํานาญในการแสดงอภิญญามาในชาติก่อน ซึ่งใกล้กับชาตินี้ หรือได้เคยบําเพ็ญทาน ศีล ภาวนาในชาติก่อน แล้วตั้งความปรารถนาว่า ด้วยอํานาจกุศลที่ตนกระทํา ขอให้ได้อภิญญาในชาติต่อไป อภิญญาย่อมเกิดขึ้นด้วย ตามที่ตั้งความปรารถนาไว้ เมื่อสิ้นชีพลงจักได้ไปอุบัติในพรหมภูมิตามลําดับ ขั้นของฌาน ได้แก่
รูปาวจรภูมิ ๑๖
- ปฐมฌานภูมิ เป็นพรหมโลกที่ตั้งอยู่เหนือจากสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี อันเป็นที่อยู่แห่งพรหมปาริสัชชา พรหมปุโรหิตา และมหาพรหมา
- ทุติยฌานภูมิ เป็นพรหมโลกที่ตั้งอยู่เหนือปฐมฌานภูมิ เป็นที่อยู่แห่งปริตตาภาพรหม อัปปมาณาภาพรหม และอาภัสสราพรหม
- ตติยฌานภูมิ เป็นพรหมโลกที่ตั้งอยู่เหนือทุติยฌานภูมิ เป็นที่อยู่แห่ง ปริตตสุภาพรหม อัปปมาณสุภาพรหม และสุภกิณหาพรหม
- จตุตถฌานภูมิ เป็นพรหมโลกที่ตั้งอยู่เหนือตติยฌานภูมิ เป็นที่อยู่แห่ง เวหัปผลาพรหม และอสัญญีสัตตาพรหม
** สําหรับพรหมที่สถิตอยู่ในเวหัปผลาภูมิ ล้วนแต่เป็นผู้ที่เจริญ สมถกรรมฐานจนได้บรรลุจตุตถฌานมาแล้วทั้งสิ้น
** ส่วนพรหมที่สถิตอยู่ในอสัญญีสัตตาภูมิ เป็นพรหมที่เจริญสมถกรรมฐานจนได้บรรลุจตุตถฌานมาแล้วเช่นกัน แต่ด้วยอํานาจแห่ง การเห็นโทษของการมีนาม ไม่ปราถนาจะมีนามขันธ์ จึงมีแต่รูปขันธ์ ดังที่ชาวโลกเรียกว่า พรหมลูกฟักบ้าง อสัญญีสัตว์บ้าง
สุทธาวาสภูมิ
สุทธาวาสพรหมภูมิมี ๕ ได้แก่ อวิหาสุทธาวาส อตัปปาสุทธาวาส สุทัสสาสุทธาวาส สุทัสสีสุทธาวาส และอกนิฏฐสุทธาวาส บุคคลที่จะมาอุบัติในสุทธาวาสภูมินี้ นอกจากจะเจริญรูปาวจรกุศลสูงสุดจน ถึงจตุตถฌานแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐาน จนได้บรรลุมรรคผลเป็นพระอนาคามีบุคคล จึงจะมาอุบัติในสุทธาวาสภูมินี้ได้
สําหรับพรหมอนาคามีในสุทธาวาส ๑ ถึง ๔ ได้แก่ อวิหา อตัปปา สุทัสสา สุทัสสี เมื่อยังไม่ได้สําเร็จเป็นพระอรหันต์บุคคล ก็จะเคลื่อนไปอุบัติในสุทธาวาสชั้นสูงขึ้นไป แต่จะไม่ไปอุบัติในสุทธาวาส ที่ต่ำกว่า ส่วนพรหมอนาคามีในอกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ ย่อมไม่ไปอุบัติ ในภูมิอื่นอีก จะต้องสําเร็จเป็นพระอรหันต์และปรินิพพาน ณ อกนิฏฐสุทธาวาสภูมินั้นเอง
ส่วนพระอริยบุคคลขั้นต่ำ คือพระสกทาคามีและพระโสดาบัน รวมทั้งผู้ที่ไม่ได้ฌานสมาบัติ ซึ่งตายจากมนุษย์สมัยนั้น ย่อมไม่เกิดในสุทธาวาสภูมิ อสัญญีสัตว์ และอบายภูมิ เพราะฉะนั้นจนบัดนี้ท่านก็ยังเสวยสุขอยู่ในโลกสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นดังกล่าว ยังไม่จุติไปไหน เพราะอายุของเทวดายืนยาวมาก พระอริยบุคคลในสวรรค์จึงมีมาก
อรูปาวจรภูมิ
ผู้ที่เจริญรูปฌานจนได้จตุตถฌาน อันเป็นรูปฌานขั้นสูงสุดแล้ว บังเกิดมีความเห็นแตกต่างกันเป็นสองฝ่าย
* ฝ่ายหนึ่ง เห็นโทษของการมีรูปว่าตราบใดที่ยังมีกาย ก็ย่อมจะต้องประสบกับความทุกข์ต่าง ๆ อันมีมูลเหตุจากกายนี้ เกิดความเบื่อหน่ายเกลียดชังสภาพที่มีรูปกาย ปรารถนาจะมีจิตเพียงอย่างเดียว จึงคิดที่จะเจริญอรูปาวจรฌาน อันเป็นสมถกรรมฐานขั้นสูงขึ้นไป
* อีกฝ่ายหนึ่ง เห็นว่าสมาธิที่เกิดจากอรูปฌาน มีกําลังและประณีตกว่าสมาธิที่เกิดจากรูปฌาน ซึ่งสามารถยังอภิญญาให้เกิดขึ้นได้ ยิ่งกว่านั้น หากว่าได้มีโอกาสเจริญวิปัสสนากรรมฐาน สําเร็จเป็นพระอนาคามีหรือพระอรหันต์ สมาธิอันเกิดแต่อรูปฌานนั้น ก็จะช่วยให้เข้านิโรธสมาบัติได้อีกด้วย จึงเจริญอรูปาวจรฌาน ตามลําดับดังนี้
- อากาสานัญจายตนฌาน
- วิญญานัญจายตนฌาน
- อากิญจัญญายตนฌาน
- เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
ผู้ที่บําเพ็ญอรูปฌานสูงสุด คือ เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย่อมได้ อภิญญา เป็นปัญญาที่สามารถรู้ในอารมณ์ต่าง ๆ ได้เป็นพิเศษ ชื่อว่าโลกียอภิญญา ๕ ประการ คือ
- อิทธิวิธิอภิญญา การแสดงอิทธิต่าง ๆ
- ทิพยโสตอภิญญา มีหูทิพย์
- ปรจิตตวิชานนอภิญญา รู้จิตใจของผู้อื่น
- ปุพเพนิวาสานุสสติอภิญญา ระลึกชาติได้
- ทิพยจักขุอภิญญา มีตาทิพย์
ผลของการเจริญอรูปฌานในชาตินี้ นอกจากจะสามารถเข้าฌานสมาบัติ เสวยความสุขอย่างประณีตสุดประมาณแล้ว ยังได้สําเร็จ อภิญญาทั้ง ๕ มีความรู้เป็นพิเศษ มีฤทธิ์เหนือชนทั้งหลาย ดังนี้
บุคคลผู้เจริญอรูปฌาน เมื่อสิ้นชีพลงจักได้ไปบังเกิดในอรูปภูมิ ๔ ภูมิ คือ
- อากาสานัญจายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีอากาศไม่มีที่สุด
- วิญญานัญจายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีวิญญาณไม่มีที่สุด
- อากิญจัญญายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะไม่มีอะไร
- เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ชั้นที่เข้าถึงภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่
ภูมิที่เกิดของสัตว์
ภูมิที่เกิดของสัตว์ หลังจากสิ้นชีวิตจากโลกนี้ไปแล้ว มีทั้ง หมด ๓๒ ภูมิ คือ
- กามาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในกามระดับจิตที่ยังปรารภกามเป็นอารมณ์ คือยังเกี่ยวข้องกับกามคุณ ๕ ได้แก่มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ และอบายภูมิ ๔
- รูปาวจรภูมิ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในรูป ระดับจิตที่ปรารภรูป ธรรมเป็นอารมณ์ เป็นผู้ที่ได้ฌาน ได้แก่ รูปาวจรกุศล ๑๖
- อรูปาวจรภูมิ ๔ ชั้นที่ท่องเที่ยวอยู่ในอรูป ระดับจิตที่ปรารภ อรูปธรรมเป็นอารมณ์ เป็นผู้ที่ได้อรูปฌาน ได้แก่ อรูปาวจรกุศล ๔
- โลกุตตรภูมิ ๑ เป็นภูมิของผู้ที่พ้นจากโลกระดับที่บรรลุโลกุตตรธรรมเป็นพระอริยเจ้าอันพ้นแล้วจากโลกียภูมิทั้ง ๓ ข้างต้น
กรรมฝ่ายกุศลที่มีผลให้สัตว์ทั้งหลาย มีชีวิตที่แตกต่างกัน มีกําเนิดแตกต่างกัน มีภพภูมิที่แตกต่างกัน ก็เนื่องจากผลแห่งกรรม ที่ตนเองกระทําไว้ มิใช่บิดามารดา ญาติพี่น้อง หรือสิ่งอื่นใดจะทําให้เป็นไป ทั้งนี้เพราะจิตของตนวิจิตร จึงทํากรรมวิจิตร เพราะกรรมวิจิตร ผลจึงวิจิตร ด้วยประการอย่างนี้
ปฏิปทาเพื่อความเป็นเทวดา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังว่า เทวดามีอายุยืน มีวรรณะงาม มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ เมื่อตายไปจะพึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี หรือปรนิมมิตวสวัสดี เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น เมื่อเธอเจริญแล้ว ทําให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสําเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือมรรค (ทาง) นี้คือปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) ที่เป็นไปเพื่อความสําเร็จ ในความเป็นสหายแห่ง เทวดาชั้นดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี ปรนิมมิตวสวัตตี
ปฏิปทาเพื่อความเป็นพรหม
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอได้ฟังว่าพรหมมีอายุยืน มีวรรณะงาม มากด้วยความสุข เธอมีความปรารถนาว่า ไฉนหนอ เมื่อตายไปจะ พึงเข้าถึงความเป็นสหายแห่ง พรหมในชั้นต่าง ๆ เธอจึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น
ความปรารถนาและวิหารธรรมเหล่านั้น เมื่อเธอเจริญแล้ว ทําให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสําเร็จในสิ่งที่ปรารถนา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้คือมรรค (ทาง) นี้คือปฏิปทา (ข้อปฏิบัติ) ที่เป็นไปเพื่อความสําเร็จ ในความเป็นสหายแห่ง พรหมชั้นต่าง ๆ
ธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เหล่านี้เป็นศีล บุคคลตั้งอยู่ในศีลแล้ว กระทํากสิณบริกรรม ทําสมาบัติทั้งหลายให้เกิดขึ้น ในกาลนั้นคือจุติ ย่อมบังเกิดในพรหมโลก ที่มีรูปหรือพรหมโลกที่ไม่มีรูปตามปรารถนา เมื่อบุคคลเจริญวิปัสสนา อันมี สมาบัติเป็นแนวทางปฏิบัติแล้ว ทําให้แจ้งอนาคามิผล ย่อมเกิดใน สุทธาวาส ๕ เจริญมรรคให้สูงขึ้น ย่อมถึงความสิ้นอาสวะในที่สุด
ปฏิปทาเพื่อความหลุดพ้น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา เธอมีความปรารถนา เจโตวิมุตติ ปัญญา วิมุตติ อันเป็นโลกุตตรธรรม
เธอย่อมเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปทาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ และ มรรคมีองค์ ๘ ทําให้แจ้งเพราะรู้ยิ่งด้วยตนเองในปัจจุบันว่า
- นี้ทุกขอริยสัจ
- นี้ทุกขสมุทยอริยสัจ
- นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ
- นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
- แทงตลอดทุกขสัจ ด้วย ปริญญา (การกําหนดรู้)
- แทงตลอดสมุทยสัจ ด้วย ปหานะ (การละ)
- แทงตลอดนิโรธสัจ ด้วย สัจฉิกิริยา การทําให้แจ้ง)
- แทงตลอดมรรคสัจ ด้วย ภาวนา (การเจริญ)
บุคคลเหล่าใดเหล่าหนึ่งกําหนดรู้ทุกข์ ละสมุทัย ทําให้แจ้งซึ่งนิโรธ เจริญมรรค อาสวะทั้งหลายย่อมสิ้นไป เธอเข้าถึง เจโตวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยอํานาจการฝึกจิต) และ ปัญญาวิมุตติ (หลุดพ้นด้วยอํานาจแห่ง การเจริญปัญญา) เธอย่อมไม่เกิดในภพไหน ๆ อีก
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
จาตุมหาราชิกาภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๑ ตั้งอยู่เชิงเขาสัตตบริภัณฑ์ ที่ล้อมรอบเขาสิเนรุราช เทวดาทั้งปวง ที่สถิตอยู่ภาคพื้นปฐพี ชื่อว่า ภุมมัฏฐเทวดา เทวดาที่สถิตอยู่ตามต้นไม้และภูเขา ชื่อว่า รุกขัฏฐเทวดา เทวดาที่ สถิตอยู่ในทิพยวิมานที่ลอยอยู่ในอากาศ ชื่อว่า อากาสัฏฐเทวดา เทวดาที่สถิตอยู่ในอากาศ เสมอกับยอดภูเขา ยุคันธรที่ล้อมรอบเขาสิเนรุราช ชื่อว่า จาตุหาราชิกาภูมิ เพราะเป็นที่สถิตอยู่แห่งท้าวมหาราชทั้ง ๔
ท้าวธตรฐมหาราชอาณาจักรแห่งท้าวธตรฐมหาราชตั้งอยู่เหนือยอดเขายุคันธร แผ่ไปในทิศตะวันออก ภูเขาสิเนรุราช จนถึงกำแพงจักรวาล ยาวและกว้าง ๑,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน ทิพยวิมานอันเป็นนิวาสสถานของท้าวธตรฐ ประดิษฐานในพระนครข้างทิศตะวันตกเฉียงใต้ แวดล้อมด้วยกำแพงทองอร่ามเรืองสุกใส่ไพโรจน์ ภายในอาณาจักร บริบูรณ์ด้วยทิพยอุปโภค ทิพยบริโภค ในระหว่างสวนอุทยานและสระโบกขรณี ประกอบด้วยทิพยวิมานเป็นที่อยู่ แห่งเทวบุตรเทวธิดาทั้งหลายที่เป็นบริวารนับร้อยนับพัน ถัดออกไปเป็นเทพชนบท เทพนิคม แวดล้อมอยู่ภายนอก ล้วนบริบูรณ์ด้วยเครื่องทิพย์ เทพยดาที่สถิตอยู่ในต้นไม้ที่มีรากหอม แก่นหอม กระพื้หอม เปลือกหอม สะเก็ดหอม รสหอม ใบหอม ดอกหอม ผลหอม เป็นต้น ท่านเรียกว่า เทพยคนธรรพ์ ท้าวธตฐมหราชเป็นใหญ่ใน เทพคนธรรพ์
ท้าววิรุฬหกมหราชอาณาจักรแห่งท้าววิรุฬหกมหาราช ประดิษฐานอยู่เหนือยอดเขายุคันธร ด้านทิศ ใต้แห่งภูเขาสิเนรุราช ทิพยวิมานของท้าววิรุฬหกมหาราชกว้างและยาว ๑,๐๐๐โยชน์ เท่ากันกับทิพยวิมานของ ท้าวธตฐ ท้าววิรุฬหกมหาราชเป็นอธิบดีของ เหล่ากุมภัณฑ์ เทพยดาเหล่านี้ มีท้องอันใหญ่ มีอวัยวะที่ไม่ควรกล่าว มีสัณฐานดังหม้อ จึงชื่อว่า กุมภัณฑ์
ท้าววิรูปักขมหาราชอาณาจักรแห่งท้าววิรูปักขมหาราช ประดิษฐานอยู่เหนือยอดเขายุคันธรด้านทิศ ตะวันตกแห่งภูเขาสิเนรุราช กว้างและยาว ๑,๐๐๐ โยชน์เท่ากัน งามด้วยระเบียบแห่งทิพยวิมาน วิจิตรไปด้วยฉัตร และธงชัย ปักลดหลั่นเป็นช่อเป็นแถว บริบูรณ์ด้วยทิพยบริโภค พร้อมทุกสิ่งอันล้วนแล้วด้วยบุญฤทธิ์ เป็นที่สุข สำราญเช่นเดียวกับนิวาสสถานของท้าวธตรฐ ท้าววิรูปักขมหาราชเป็นอธิบดีของ หมู่นาคทั้งปวง
ท้าวกุเวรมหาราช หรือ ท้าวเวสวัณมหาราชอาณาจักรประดิษฐานอยู่ เหนือภูเขายุคันธร ด้านทิศเหนือ ของภูเขาสิเนรุราช เป็นอธิบดีของเหล่ายักษ์ทั้งปวง ในอาณาจักรของท้าวเวสวัณมหาราช ประกอบด้วยซุ้มทวาร แถวถนน ทิพยพิมานประดับด้วยธงชัยธงปฎาก โอภาสด้วยทิพยรัตนะรังสีจิตรน่าชม อุดมด้วยทิพยโภชาหาร ทิพยภูษาที่สำเร็จด้วยบุญฤทธิ์ บริบูรณ์ด้วยนางอัปสรสวรรค์รูปงามห้อมล้อม ประสานเสียงขับกล่อมบรรเลงทิพย ดุริยางค์ด้วยสุรเสียงไพเราะจับใจ ท้าวเวสวัณมหาราชเป็นใหญ่กว่าเทพเทวดาทั้งปวง นอกจากเทพยคนธรรพ์ที่ขึ้น แก่ท้าวธตรฐ และเทพยกุมภัณฑ์ที่ขึ้นแก่ท้าววิรุฬหก เทพยดาอื่นนอกจากนั้นขึ้นแก่ท้าวเวสวัณมหาราชทั้งสิ้น
*** คัมภีร์โลกสัณฐานกล่าวไว้ว่า กายแห่งเทพยดาที่อยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานั้น สูงประมาณ ๑๐๐ เส้น บางพวกมีรัศมีสีเขียว เหลือง แดง ขาว จาตุมหาราชิกาเทวดาย่อมนุ่งห่มผ้าอันบังเกิดจากต้นกัลปพฤกษ์ ผ้าทิพย์ทั้งหลายประกอบด้วยสีสันอันวิจิตร ปรารถนาอย่างใดสำเร็จอย่างนั้นตามความปรารถนา สุทธาโภชน์ของ เทวดาชั้นนี้ บังเกิดขึ้นในสวนอุทยานก็มี บังเกิดในทิพยโบกขรณีก็มี ในต้นไม้กัลปพฤกษ์หรือเครือลดาก็มี จะบริโภควันละ ๒ เวลา วันเดือนปีในสวรรค์ขึ้นจาตุมหาราชิกนั้นมีกำหนด ๕๐ ปีในมนุษย์ เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ในสวรรค์ชั้นนี้ บุตรแห่งท้าวจตุมหาราชมีองค์ละ ๙๗ องค์ ชื่อ อินทรเทพบุตร เหมือนกันทั้งหมด
สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อยู่สูงจากพื้นชมพูทวีป ๔๒,๐๐๐โยชน์ เทวดาชั้นจาตุมหาราชิกมีอายุยืน ๕๐๐ ปีทิพย์ นับ ๕๐ ปีในมนุษย์เป็นวันหนึ่งกับคืนหนึ่งในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา นับ ๑,๕๐๐ ปีมนุษย์ เป็นเดือน หนึ่งในจาตุมหาราชิกา นับ ๑๘,๐๐๐ ปีมนุษย์ เป็นปีหนึ่งในชั้นจาตุมหาราชิกา สรีระแห่งท้าวมหาราชทั้ง ๔ พระองค์ นั้นมีประมาณ ๒ คาพยุต คือ ๒๐๐ เส้น สูงใหญ่กว่าจาตุมหาราชิกาเทวดาทั้งปวง
ดาวดึงส์ภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๒ ตั้งอยู่เหนือยอดภูเขาสิเนรุราช โดยยาวละกว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นนิวาสฐานของสมเด็จอมรินทราธิราช (ท้าวสักกเทวราช หรือ พระอินทร์) วิมานของท้าวสักกะตั้งอยู่ท่ามกลางดาวดึงส์ พิภพ ชื่อว่า ไพชยนต์พิมาน ที่ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ สูง ๗๐๐ โยชน์ ประดับด้วยธงชัยสูง ๓๐๐โยชน์ ถ้าเป็นธงแก้วก็มีคันธงแล้วด้วยทอง ถ้าเป็นธงทองก็มีคันธงแล้วด้วยแก้ว ถ้าเป็นธงแก้วมุกดา คันธงก็แล้วด้วย แก้วประพาฬ ถ้าธงแก้ว ๗ ประการ คันธงก็ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ เป็นต้น
ไพชยนต์พิมานนั้นประกอบด้วยเชิงชั้นชาลา ๑๐๐ ชาลาแต่ละอันประกอบด้วยพิมานยอด ๗๐๐ ยอด ในพิมานยอดแต่ละอัน มีเทพอัปสรสาวสวรรค์ที่เป็นบาทบริจาริกาแห่งสมเด็จอมรินทร์ สถิตอยู่ยอดละ ๗ นาง
*** ปปัญจสูทนี ภาค ๒ หน้า ๘๐๙ อธิบายว่า ดาวดึงส์มี สุทัสสนนคร แวดล้อมด้วยสุรรณปารการ ภายนอกทำแพงประกอบด้วยคูล้อมรอบ น้ำในคูใสเย็นบริสุทธิ์สะอาด ภายในคูประกอบด้วยเรือประพาสคือ เรือเงิน เรือทอง เรือแก้วภายในเรือมีกูฏาคารบุษบก งดงามด้วยมุขและบัญชร เทวบุตรทั้งหลายบรรดาที่ประสงค์จะลงสรง สนาน ย่อมพานางเทพอัปสรลงในเรือเหล่านั้น ตาควรแก่อัชฌาสัย ถ้าจิตแห่งเทพบุตรและเทพธิดาประสงค์ จะให้เรือนั้นแล่นไปในที่ใดๆ เรือนั้นก็จะลอยแล่นไปในสถานที่นั้นตามความปรารถนา
เหล่าปทุมกุสุมาลย์ในดาวดึงส์ ล้วนวิจิตรด้วยสัณฐานงดงามต่างๆ กัน ส่งกลิ่นหอมเป็นนิจนิรันดร์ เทพบุตรเทพธิดาปรารถนาจะเก็บมาชมเชย ก็จะลอยมาสู่เงื้อมหัตถ์ โดยมิต้องตัดต้องถอน สองฟากฝั่งแห่งคูนั้น ประกอบด้วยไม้ที่ทรงดอกทรงผล งามต้น งามกิ่ง งามใบ งามยอด ยามเมื่อลมรำเพยพัดกลิ่นหอมอบอวลไปทั่ว จึงได้ชื่อว่าสุทัสสนนคร นอกจากนั้น มีสระโบขรณีที่ดารดาษด้วยดอกบัว ๕ ประการ มีกำแพง ๗ ชั้นล้อมรอบ ด้วยกำแพงทอง ชั้นที่สองล้อมรอบด้วยระเบียบแห่งเขื่อนขันธ์ ชั้นที่สามล้อมรอบด้วยคูน้ำ ชั้นที่สี่ล้อมรอบด้วย ต้นตาล กำแพงชั้นที่ห้าล้อมรอบด้วยสระโบกขรณี ภายนอกออกไปเป็นราวป่าไม้กัลปพฤกษ์แวดล้อม อยู่โดย รอบสุทัสสนนคร มีสวนนันทวัน สระนันทาโบกขรณี สวนจิตรลดา สระจิตรลดาโบกขรณี สวนปารุสกวัน สระปารุสวันโบกขรณี สวนมิสสกวัน สระมิสสกโบกขรณี เป็นที่ประพาสสนานน้ำแห่งเทวบุตรเทวธิดาทั้งหลาย
ในดาวดึงส์มี สุธรรมาเทวสถาน เป็นสถานที่ประชุมของเทวดา เพื่อสงเคราะห์แก่ภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษา ในอาวาสต่างๆ ประการหนึ่ง ประชุมเพื่อภิกษุสงฆ์ปวารณาพรรษาประการหนึ่ง ประชุมเพื่อฟังพระสัทธรรมเทศนา ประการหนึ่ง ประชุมกันเพื่อเล่นดอกปาริชาติ เสพกลิ่นและรสดอกปริชาติประการหนึ่ง
*** ทีฆนิภาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑ หน้า ๓๓๕ มหาปรินิพพานสูตร แสดงว่า ภพดาวดึงส์นี้มี พระบรมสารีริกธาตุของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระทาฐาธาตุ คือ พระธาตุเขี้ยวแก้ว ๔ องค์ ที่เทวดาใน ดาวดึงส์ บูชา อยู่องค์หนึ่ง แต่มิได้แสดงไว้ว่าประดิษฐานอยู่ ณ ที่ใด อีกองค์หนึ่งบูชากันอยู่ในคันธารปุระ อีกองค์ หนึ่งบูชากันอยู่ในแคว้นของพระเจ้ากาลิงคะ อีกองค์หนึ่งพญานาคบูชากันอยู่
สถานที่สำคัญในภพดาวดึงส์ได้แก่ พระจุฬามณีเจดีย์ ที่พระอมรินทราธิราชทรงสร้างไว้ให้เป็นที่ สักการะแห่งเทพยดาทั้งปวง เป็นพระเจดีย์ประดิษฐานพระเกศธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เทวดาทั้งปวง ขึ้นมาบูชามิได้ขาด ครั้งหนึ่งพระมาลัยเทวเถระองค์อรหันต์ อยู่ในชมพูทวีป ได้ดอกบัว ๘ ดอก อันบุรุษเข็ญใจ ถวาย มีความปรารถนาจะขึ้นไปสักการบูชาพระจุฬามณีเจดีย์ จึงขึ้นไปสู่ดาวดึงส์พิภพ ประณมอัญชลีอภิวาท ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ กระทำประทักษิณ ๓ วาระ นมัสการในทิศทั้ง ๘ บูชาด้วยดอกบัว ๘ ดอกนั้น
ขณะนั้น เทพบุตรศรีอริยเมตไตรย์พระบรมโพธิสัตว์ เสด็จมาถวายนมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ เช่น เดียวกัน พระมาลัยเถระได้ถามเทพบุตรนั้นว่า หญิงชายในสมัยนี้ทำบุญอันใด แม้เพียงตักบาตรด้วยข้าวทัพพีเดียว หรือถวายดอกไม้หอมเพียงดอกเดียวแก่ภิกษุสงฆ์ ก็ตั้งจิตปรารถนาขอพบพระศรีอริยเมตไตรย์ในอนาคตกาล ก็ชนเหล่านั้นในชมพูทวีป ตั้งปณิธานจะขอพบพระองค์ เมื่อได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ ควรจะทำประการใด
พระโพธิสัตว์ตอบว่า บุคคลผู้ปรารถนาจะพบกับพระองค์ พึงอุตสหะสดับฟังพระสัทธรรมเทศนา พระเวสสันดรให้จบภายในวันเดียว และบูชาพระสัทธรรมนั้นด้วยประทีปหนึ่งพัน ฉัตรหนึ่งพัน ธงตะขาบหนึ่งพัน ธงผ้าหนึ่งพัน ดอกบัวหลวง ดอกอุบลเขียว ดอกสามหาว (ผักตบ) ดอกอัญชัน สิ่งละหนึ่งพัน ผู้ใดกระทำได้ดังนั้น ก็จะได้พบกับโยม ผู้จักได้เป็นพระอรหันตสัมมสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณในอนาคตกาล เทพบุตรบรม โพธิสัตว์ตอบดังนี้แล้ว นมัสการพระจุฬามณีเจดีย์ เสด็จกลับไปสู่ดุสิตพิมานอันเป็นนิวาสถานของพระองค์
พระจุฬามณีนั้น เป็นที่ไหว้ที่บูชาแห่งเทพยเจ้าทั้งปวงที่มีศรัทธาอุตสาหะในการกุศล แม้เทพยดาอื่นที่ อยู่ในสวรรค์ชั้นเหนือขึ้นไป ก็มักจะพากันมากระทำสักการบูชา อนึ่งในวันพระขึ้น ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็ดี วัน กาฬปักษ์แรม ๘ คำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ก็ดี สมเด็จพระอมรินทราธิราชจะเสด็จโรงธรรมสภา มีเทวโองการตรัสสั่งท้าว จาตุมหาราชให้สงเคราะห์มนุษย์ทั้งหลาย รับสั่งว่าท่านจงเที่ยวไปในคามนิคม ชนบท ราชนีน้อยใหญ่ จงตรวจดู ขัตติยบริษัท สมณะบริษัท พราหมณ์บริษัท คหบดีบริษัท สำรวจว่าจำพวกใดขวนขวายในกุศล บริจาคทาน รักษาศีล เจริญเมตตาภาวนา ท่านจงจดรายชื่อชายหญิง สายโคตร ใส่สุวรรณบัตรเขียนด้วยเส้นชาติหรดาล ส่วนที่ ทำอกุศลเป็นต้น ว่าปาณาติบาต ท่านจงจดรายชื่อใส่ในหนังสุนัข เขียนอักษรด้วยเลือดสุนัข แล้วจงนำมาแจ้งแก่เรา
ท้าวจาตุมหาราชรับเทวโองการแล้ว ตรัสให้อำมาตย์เที่ยวไปในมนุษยโลกทิศ น้อยทิศใหญ่ ตักเตือน ป่าวประกาศให้ขวนขวายจัดแจงการกุศล ให้เคารพผู้เฒ่าผู้แก่ ปฏิบัติบิดามารดา วงศาคณาญาติให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ เตือนให้มีขันติให้กตัญญรู้คุณ และมีสัจจะ เทวโลกจะเป็นที่อยู่ของผู้นั้น คือจะมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า
อำมาตย์ทั้ง ๔ ครั้นจดรายชื่อผู้ทำกุศลและอกุศลแล้วนำบัญชีญบุญ บัญชีบาปมาส่งให้ท้าวจาตุมหาราช ท้าวจาตุมหาราชส่งให้ปัญจสิงขรเทพบุตร ปัญจสิงขรเทพบุตรส่งให้พระมาตลี พระมาตลีนำขึ้นทูลเกล้าสมเด็จ อมรินทราธิราชเพื่อทรงอ่าน พระสุรเสียงของสมเด็จพระอมรินทราธิราชโดยปกติ ได้ยินไกลถึง +๒โยชน์ ถ้าอ่าน เสียงสูงจะได้ยินทั่วพิภพดาวดึงส์ หมื่นโยชน์ เทวดาทั้งหลายได้ฟังก็สาธุการอนุโมทนากับผู้ที่บำเพ็ญกุศล ติเตียน บุคคลที่กระทำอกุศล บัญชีบุญที่พระอมรินทราธิราชทรงอ่านแล้ว มีรับสั่งให้เก็บไว้ในสวรรค์ ส่วนบัญชีบาปให้ส่ง ลงไปในสำนักแห่งพญายมราชในนรก
ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ พระจุฬามณีเจดีย์ ยังเป็นที่บรรจุพระเมาลีแห่งพระโพธิสัตว์ ในวันที่พระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงอธิษฐานว่า ถ้าเราจักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ขอให้ผมของเรา จงตั้งอยู่ในอากาศ ถ้าไม่สามารถตรัสรู้ได้ ก็ขอให้ตกลงพื้นดิน แล้วทรงเหวี่ยงขึ้นไป กำพระเมาลีนั้นลอยขึ้นไป ในอากาศประมาณหนึ่งโยชน์ แล้วอยู่ในอากาศ ลำดับนั้น ท้าวสักกะเทวราชทรงนำผอบรัตนะมารับพระเมาลีนั้นไว้ นำไปประดิษฐานไว้ใน พระจุฬามณีเจดีย์นี้
แม้พระมหาโมคคัลลานเถระ ก็ได้ขึ้นมาสู่ดาวดึงส์เทวโลกเสมอด้วยอิทธานุภาพ เพื่อถามข่าวถึง บุพกรรมของเหล่านางอัปสรเทพธิดาในวิมานต่างๆ ว่าผลบุญใด ที่ทำให้เหล่านางได้กระทำมาจึงได้มาสถิตอยู่วิมาน บนดาวดึงส์นี้ เมื่อทราบข่าวแล้วก็ลงไปกราบทูลพระบรมศาสดาให้ทรงทราบ พระพุทธองค์ทรงนำเอาเรื่องเหล่านั้น มาตรัสเทศนาเพื่อประโยชน์แก่มหาชนสืบไป สวรรค์ขั้นดาวดึงส์อยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ๘๒,๐๐๐ โยชน์
ยามาภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๓ ท้าวสุยามเทววราชเป็นอธิบดีในสวรรค์ชั้นนี้ ทิพยวิมานของท้าวสุยามเทวราช ประดิษฐานอยู่ในอากาศเหนือเทวโลกชั้นดาวดึงส์ ๔๓๔,๔๐๐ โยชน์ เหนือพื้นอันแล้วด้วยแก้วมณี ด้วย อำนาจของวาโยธาตุอันมีกรรมเป็นสมุฏฐาน บังเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งกุศลของยามาเทวดาทั้งปวง ทิพยวิมานสูง ๑๒ โยชน์บ้าง ๓๐ โยชน์บ้าง เรียงรายเป็นระเบียบเนื่องกันออกไป ตลอดถึงเขาขอบกำแพงจักรวาล แวดล้อมไป ด้วยปราการ กำแพงแก้ว กำแพงทอง ประกอบด้วยนันทโบกขรณี สวนดอกไม้ สวนผลไม้ และไม้กัลปพฤกษ์ ที่ประพาสเล่นทั้งปวงล้วนแล้วด้วยทิพย์ เทวดาชั้นยามานี้ประกอบด้วยสิริรูปวิลาศเรืองรังสี มีรัศมีส่องสว่าง ไปไกลได้ ๑๒ โยชน์โดยธรรมดา นางเทพอัปสรกัญญาล้วนมีลักษณะวิลาศเลิศ รูปทรงสัณฐานสูงใหญ่ งดงามยิ่งกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ และจตุมหาราชิกา กายของเทวดาชั้นยามานี้ มีรัศมีส่องสว่างเป็นนิจ เทวโลก ชั้นนี้จึงปราศจากรัศมี แห่งพระอาทิตย์ พระจันทร์ แต่สว่างรุ่งเรืองอยู่ด้วยรัศมีกายอันเป็นทิพยวิสัย ไม่รู้กลางวัน กลางคืน จะกำหนดวันคืนด้วยดอกไม้ทั้งปวงที่บานแล้วกลับตูม คือดอกไม้ทิพย์นั้นจะบานในเวลาเช้า ห่อหุ้มเกษร เข้าในเวลาเย็น เสวยทิพยสมบัติปราศจาทุกข์ และอุปัทวันตรายทั้งปวง ไม่ต้องรบพุ่งชิงชัยกับพวกอื่น ปรารถนา สิ่งใดก็ได้โดยง่าย เสวยสมบัติเป็นบรมสุขยิ่งนัก
ดุสิตภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๔ ท้าวสันดุสิตเทวราชเป็นอธิบดี ประดิษฐานอยู่เหนือเทวโลกชั้นยามา ๗๘๔,๘๐๐ โยชน์ ดุสิตสรรค์เป็นภพภูมิที่อุบัติของผู้ที่สร้างบุญญาธิการยิ่ง คือ พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์ พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระอัครสาวก และพระอสีติมหาสาวก
ดุสิตภพ เป็นนิวาสสถานของพระโพธิสัตว์ ๓ ประเภท คือ ปัญญาธิกโพธิสัตว์ สัทธาธิกโพธิสัตว์ วีริยาธิกโพธิสัตว์ ที่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อน ๆ ว่าจักได้ตรัสรู้แน่นอน เป็น นิยตโพธิสัตว์ เหมือนพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ เมื่อพระองค์จุติจากชาติที่เป็นพระเวสสันดรแล้ว ก็ได้มาอุบัติในดุสิตภพ พระนามว่า สันดุสิตเทพบุตร เมื่อสันดุสิตเทพบุตรสวยทิพยสมบัติอยู่ในดุสิตพิภพ มีพระชนมายุ ๔,๐๐๐ ปีทิพย์ เทียบอายุมนุษย์โลกได้โกฏิ กับ ๖ ล้านปี จุติจากดุสิตลงมาอุบัติในมนุษย์โลกเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ ส่วนพระโพธิสัตว์ที่ยังไม่ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าพระองค์ก่อนๆ ชื่อว่า อนิยตโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่ยังมิได้รับพยากรณ์ว่าจักเป็นพระพุทธเจ้า ย่อมบังเกิดทั่วไปในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น เพื่อบำเพ็ญบารมีให้บริบูรณ์ ครั้นบารมีเต็มบริบูรณ์แล้ว ได้รับพยากรณ์จากพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ แน่นอนแล้ว จึงมาบังเกิดในดุสิตภพนี้ อันเป็นธรรมดาของพระมหาบุรุษทุก ๆ พระองค์
พระมหาบุรุษแห่งเราพระองค์นี้ ขณะที่เสวยสิริสมบัติเป็นสันดุสิตเทพบุตร ยังอีกแสนปีนับด้วยปีใน มนุษย์จะสิ้นสุดพระชนม์ ก็บังเกิดพุทธโกลาหล ท้าวมหาพรหมเที่ยวไปทั่วทั้งหมื่นโลกธาตุ บันลือพระสุรเสียงอัน ไพเราะ ป่าวประกาศว่าล่วงไปอีก ๑,๐๐๐ ปี เบื้องหน้าแต่นี้ สมเด็จพระสัพพัญญูพุทธเจ้าจักมาอุบัติในโลกนี้ ถ้า ท่านทั้งปวงปรารถนาใคร่ประสบพระพุทธองค์ ก็จงเว้นจากเวรทั้ง ๕ ประการ อย่ากระทำปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิฉจาร อย่าเจรจามุสา อย่าเสพสุราเมรัย ให้ตั้งใจ บำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ก็จักได้พบกับ พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เมื่อพุทธโกลาหลเป็นไปด้วยประการฉะนี้ ท้าวมหาพรหมทั้งหมื่นโลกธาตุ ทั้งพระอินทร์ในหมื่นจักรวาล ยามาเทวบุตร สันดุสิตเทวบุตร นิมานรดีเทวบุตร ปรินิมิตวสวัตตีเทวบุตรในหมื่นจักวาล ก็มาประชุมพร้อม เพรียงกัน ท้าวมหาราชทั้งหลายในหมื่นจักรวาล (จักรวาลละจักรวาลจะมีท้าวมหาราช ๔ องค์) ก็มาประชุมพร้อมกัน ณ สำนักของสันดุสิตเทพบุตรในดาวดึงส์ภพ กราบทูลว่า ข้าแต่ท่านผู้นิรทุกข์ บารมีทั้งมวลที่ท่านได้บำเพ็ญมา สื่อสงไขยกับอีกแสนกัป ท่านปรารถนาแต่พระสัพพัญญูตญาณ เพื่อความเป็นพระพุทธเจ้า เพื่ออนุเคราะห์โลก บัดนี้เป็นกาลอันสมควรสำหรับท่านแล้ว ขอท่านจงไปฏิสนธิในมนุษยโลก เพื่อยังมนุษยโลกและเทวโลกให้ข้าม โอฆะ สัตว์โลกทั้งปวงหาที่พึ่งมิได้ ตกจมอยู่ในห้วงน้ำอันลึก พระองค์เที่ยงอยู่แล้วที่จักได้ตรัสรู้พระโพธิญาณ ขอท่านจงตรัสรู้อมตบทเถิด
เทวดาเหล่านั้นทราบว่า พระโพธิสัตว์พระองค์นี้ทรงบำเพ็ญบารมีมาบริบูรณ์เพียบพร้อมแล้ว ดำริกัน ว่าพระโพธิสัตว์จักไม่อุบัติในเทวโลกชั้นอื่น จักเสด็จอุบัติในมนุษยโลก เมื่อบรรลุความเป็นพระพุทธเจ้าแล้ว พวกมนุษย์จักพากันบำเพ็ญบุญ จึงพากันมาทูลวิงวอนเพื่อให้พระโพธิสัตว์ลงไปอุบัติในมนุษยโลก
เมื่อเทพยดาอินทร์พรหมทั้งหลายอาราธนา เพื่อให้ลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น ได้บังเกิด บุพนิมิต ๕ ประการแก่สันดุสิตเทพบุตร คือ ดอกไม้ประดับพระองค์เหี่ยวแห้ง ๑ พระภูษาทรงเศร้าหมอง ๑ พระเสโทไหลจากพระกัจนะ (รักแร้) ๑ พระฉวีวรรณเศร้าหมอง ๑ นั่งนอนอยู่เหนือทิพยอาสน์มิได้เป็นสุข ๑ ซึ่งเป็นธรรมดาของเทวดาที่จะจุติ
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์สันดุสิตเทพบุตรยังมิได้ประทานปฏิญญาแก่เทวดาทั้งหลายในทันที เพราะ จะต้องทรงพิจารณา ปัญจมหาวิโลกนะ คือ สิ่งที่จักต้องตรวจสอบใหญ่ อันสมควรแก่การตรัสรู้ ได้แก่ พิจารณา อายุกาลของสัตว์ ๑ พิจารณาทวีป ๑ พิจารณาประเทศ ๑ พิจารณาตระกูล ๑ พิจารณาอายุแห่งพระมารดา.
พิจารณากาลอายุแห่งสัตว์ ว่าในคราวที่สัตว์ทั้งหลายมีอายุยืนเกินแสนปี เมื่อพระองค์ตรัสเทศนา เรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนันตา สัตว์เหล่านี้ก็จะไม่เข้าใจในพระดำรัสนั้น เพราะ ชาติ ชรา มรณะ ยังไม่ปรากฏแก่สัตว์ ทั้งหลาย การตรัสรู้มรรคผลก็จะเป็นไปไม่ได้ เมื่อไม่มีการตรัสรู้สัจธรรม ศาสนาจักไม่เป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ และกาลที่สัตว์มีอายุกว่าร้อยปี ก็มิใช่กาลอันสมควร เพราะในกาลนั้นสัตว์ทั้งหลาย มีกิเลสคือราคะ โทสะ หนาแน่นมีกำลังกล้า โอวาทที่จักเทศนาสั่งสอนสัตว์ผู้มีกิเลสหนา ก็จักปราศไปเร็วพลันเหมือนรอยไม้ที่ขีดในน้ำ พระโพธิสัตว์สันดุสิตเทพบุตรทรงพิจารณาเห็นว่า ขณะนั้นมนุษย์มีอายุร้อยปี ทรงเห็นเป็นกาลอันสมควร
พิจารณาทวีป พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายไม่อุบัติในทวีปทั้งสาม คือ อุตตร กุรุทวีป ปุพพวิเทหทวีป หรืออปรโคยานทวีป ชมพูทวีปเป็นที่บังเกิดแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง พระโพธิสัตว์ทรง พิจารณาว่า จักบังเกิดในชมพูทวีป
พิจารณาประเทศ ทรงพิจารณาว่ามัชฌิมประเทศ ท่ามกลางแผ่นดินในชมพูทวีป เป็นที่อุบัติแห่ง พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระเจ้าจักรพรรดิ กษัตริย์ พราหมณ์ คหบดี มหาศาล และผู้มีศักดาใหญ่ทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาว่า จักบังเกิดในมัชณิมประเทศ
พิจารณาตระกูล พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมบังเกิดในตระกูลกษัตริย์และตระกูล พราหมณ์ สองตระกูลนี้เท่านั้น สุดแต่ว่าในกาลนั้นโลกสมมุติว่าตระกูลใดประเสริฐ ก็ในกาลนั้นตระกูลกษัตริย์ ประเสริฐ พระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาว่าจักบังเกิดใน ตระกูลกษัตริย์ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ พระเจ้าสุทโธทนะมหาราช บรมกษัตริย์ จักเป็นพระราชบิดาแห่งเรา
พิจารณาพระมารดา ธรรมดาพระพุทธมารดา เป็นสตรีที่บำเพ็ญบารมีมาแสนกัปบริบูรณ์ จำเดิมแต่ ประสูติจากพระครรภ์มารดา สตรีนั้นรักษาศีล ๕ บริบูรณ์ ทรงพิจารณาว่า พระนางสิริมหามายาเทวี จักเป็น พระพุทธมารดาแห่งเรา และทรงพิจารณาด้วยพระปัญญาว่า อายุพระมารดาหลังจากมีประสูติกาลแล้ว จะยังมี พระชนม์อยู่อีก ๗ วัน ก็จักสิ้นพระชนม์ จึงเป็นกาลสมควรที่จะลงไปบังเกิดในมนุษยโลก ณ กาลบัดนี้
พระโพธิสัตว์ เมื่อทรงพิจารณปัญจมหาวิโลคนดังนี้แล้ว ทรงรับคำปฏิญญาแก่เทพยดาทั้งปวง เสด็จเข้าสู่สวนนันทวัน เห็นกาลอันสมควรจะจุติแล้ว จุติจากดุสิตพิภพลงสู่พระครรภ์พระมารดา
ครั้งนั้น มหาปฐพีก็กัมปนาหวาดหวั่นไปทั่วหมื่นโลกธาตุ บันดาลแสงสว่างตลอดกันทั่วหมื่นจักรวาล คนตาบอดใคร่เห็นก็ได้เห็น คนหูหนวกปรารถนาจะได้ยินก็ได้ยิน คนเป็นใบ้ก็เจรจาได้ คนค่อมก็ยึดกายตรงได้ บรรดาสัตว์ที่ถูกจองจำก็หลุดพ้นจากเครื่องพันธนาการ เพลิงในนรกก็ดับ ความหิวระหายในวิสัยเปรตก็ระงับ สัตว์ทั้งปวงกล่าววาจาอันเป็นที่รักแห่งกันและกัน หมู่ช้างก็เปล่งเสียงโกญจนาท หมู่ม้าก็ร้องระร้าระเริง เครื่อง ดุริยางค์ทั้งหลายก็ดังขึ้นเองแม้แต่เครื่องประดับกายแห่งคนทั้งหลายอันมิได้ให้กระทบกัน ก็ดังขึ้นเอง
ทิศทั้งปวงเกลื่อนไปด้วยดอกไม้ต่างๆ ลมเย็นพัดมาอ่อนๆ เป็นสุขแก่สัตว์ทั้งปวง เมฆตั้งขึ้นยังฝน ให้ตกพรำๆ หมู่นกทั้งหลายก็บินไปในอากาศ แม่น้ำทั้งหลายหยุดนิ่งมีได้ไหล น้ำเค็มในมหาสมุทรก็กลับมีรสหวาน ท้องอากาศดารดาษไปด้วยดอกบัว ๕ ประการ ดอกไม้ทั้งปวงก็บิกบานแย้มกลีบกระจายเกสร ดอกบัวก็ผุดขึ้นที่ ต้นไม้และกิ่งไม้ ผุดออกมาที่เครือเถาลดาทั้งปวง พื้นศิลาก็มีดอกบัวผุดขึ้นมา ก้านๆ เดียวมีดอกกันละ ๗ ดอก
ท่านกล่าวว่า ธรรมดาพระมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์นั้น ถ้าถึงชาติสุดท้ายก่อนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็จักต้องมาอุบัติในดุสิตพิภพก่อน แล้วจึงลงไปบังเกิดในมนุษยโลก เหมือนกันเช่นนี้ทุกพระองค์
นิมมานรดีภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๕ อยู่สูงกว่าเทวโลกชั้นดุสิต นิมานรดีเทวราชเป็นพระราชา เทพยดา ในสวรรค์ชั้นนี้ย่อมชมเชยสมบัติอันตนเนรมิต ได้ดังที่ใจปรารถนา จะให้มากน้อย ให้งามให้ดี ก็เนรมิตได้ดัง ประสงค์ เครื่องอุปโภคบริโภคล้วนวิจิตรบรรจง งดงามพรั่งพร้อมยิ่งกว่า เทวโลกชั้นเบื้องต่ำ สำหรับสวรรค์ชั้นนี้ ท่านขยายความไว้แต่เพียงเท่านี้
ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ เทวโลกชั้นที่ ๖ เป็นที่สถิตอยู่ของปรนิมมิตวสวัตตีเทวราช ทรงประกอบ ด้วยอิสริยยศ และบริวารยศ มีกำลังศักดาอนุภาพล้ำเลิศ ปรารถนาจะเชยชมสมบัติพัสถาน ทิพยสุรางค์นางฟ้า อันวิเศษประการใด ก็จะมีเทวดาอื่นซึ่งรู้วาระจิต มาเนรมิตให้ได้เชยชมสมดังความปรารถนา
พื้นของสวรรค์ชั้นนี้ ล้วนไปด้วยแก้ว มีปริมณฑล กลมรอบเสมอ กันกับขอบเขาจักรวาล ทิพยวิมาน ทิพยสมบัติ ทิพยสุรางค์นิกรทั้งหลายนั้น งามวิจิตรบรรจงยิ่งกว่าสรรค์ชั้นนิมานรดี สัณฐานแห่งกายก็ใหญ่กว่า รัศมีสัณฐานก็รุ่งเรืองกว่า ทิพยอุทยาน ทิพยโบกขรณี โรงธรรมสภาก็เหมือนกับเทวโลกชั้นต่ำ แต่ทว่าวิจิตรบรรจง งดงามรุ่งเรืองว่า เหล่าเทพยดาปรารถนาจะเชยชมสมบัติพัสถานประการใด ก็จะมีเทวดาผู้อื่นรู้วาระแห่งจิต เนรมิตให้ได้เชยชมสม ปราถนาโดยมิต้องขวนขวาย เทวดาชั้นนี้เป็นที่อยู่แห่งเทวดา ที่ยินดีด้วยรูปเสียง กลิ่นรส และสัมผัส อันเทวดาอื่นเนรมิตให้
ส่วนหนึ่งของสวรรค์ชั้นนี้เป็นที่สถิตอยู่แห่งพญามารและบริวาร ที่ติดตามผจญสมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเจ้าแห่งเรา เปรียบเสมือนหนึ่งราชบุรุษปราถนาจะชิงเอาราชสมบัติ ออกไปช่องสุมรี้พลอยู่แถวชายแดนฉะนั้น พญามารพวกนี้ท่านกล่าวไว้ว่า แต่ปางก่อนเกิดเป็นกุลบุตรนามและโคตรมิได้ปรากฎ กุลบุตรได้พบพระพุทธเจ้า พระองค์หนึ่ง ได้บำเพ็ญการกุศลในสำนักแห่งพรพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งความปรารถนาจักเป็นพญามารประสาใจ ที่เป็นบาป แต่อาศัยบุญกุศลนั้นจึงได้มาบังเกิดเป็นพญามารอยู่ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตีนี้
สมัยนั้น พญามารผู้นี้เมื่อมีอายุได้กัปหนึ่ง ได้เห็นต้นพระศรีมหาโพธิ์บังเกิดขึ้นในกาล เมื่อสมเด็จ พระพุทธเจ้าแห่งเราเสด็จลงปฏิสนธิสู่มาตุคัพโภทรแห่งพระพุทธมารดา ก็สะดุ้งตกใจว่า ไม้ต้นนี้บังเกิดขึ้นจะเป็นไม้ มหาโพธิ์แห่งสิทธัตถกุมาร เมื่อสิทธัตถกุมารออกมหาภิเนษกรมณ์แล้ว จักมาตรัสรู้ภายใต้ร่มโพธิ์นี้เป็นแน่แท้ พญามารดำริดังนี้แล้วใช้เทพยดาองค์หนึ่งกับบริวารให้มาอภิบาลรักษา กำชับว่าถ้าพระสิทธัตถะกุมารออกมาสู่ ควงไม้มหาโพธิ์นี้เมื่อใด ให้ขึ้นมาบอกเมื่อนั้น ในกาลต่อมาเมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ กระทำ ทุกรกิริยา ๖ พระวัสสาแล้ว เสด็จมาสู่ควงไม้มหาโพธิ์ เทวดนั้นได้ขึ้นไปแจ้งเหตุการณ์แก่พญามาร
พญามารเป็นทุกข์โทมนัส ตรัสใช้ธิดามารทั้งสาม คือราคา อรดี และตัณหา มีบริวารคนละห้าร้อยให้ลง มาประเล้าประโลมมหาบุรุษ เมื่อไม่เป็นผลสำเร็จพญามารขึ้งโกรธ ประชุมเสนามารทั้งหลายมีปริมณฑล ๓๖ โยชน์ กระทำอิทธิฤทธิ์ต่างๆ นาๆ เสียงกัมปนาทหวาดไหวประหนึ่งแผ่นดินจะถล่มทลาย ส่วนพญามารเสด็จเหนือคอช้าง นาฬาคีรีเมขล์ สูง ๑๕๐ โยชน์ เนรมิตแขนตั้งพันมีศาสตราวุธต่างๆ เสด็จอยู่ท่ามกลางโยธา ประกาศก้องสนั่นให้ จับพระสิทธัตถะผ่าอก ขยี้หัวใจ จับเท้าขว้างไปเสียในมหาสมุทรฟากโน้น
เทพยดาทั้งหลายในหมื่นจักรวาลที่มาบูชาพระบรมโพธิสัตว์เจ้าอยู่ ณ ที่นั้น ได้ยินเสียงมารส่งเสียง อื้ออึงมาก็ตกใจกลัว สุยามเทวบุตรถือจามรทองหลีกไป ดุสิตเทวบุตรถือพัดใบตาลแก้วเหาะหนีไป ปัญจสิงขร เทวบุตรแบกพิณหนีไปสู่พิภพแห่งตน ส่วนสมเด็จอินทราธิราช สะพายวิชยุตมสังข์หนีไปสู่ดาวดึงส์สวรรค์ มหากาฬนาคราชก็แทรกแผ่นดินลงไปสู่นาคพิภพ เอาพระหัตถ์ทั้งสองปิดพระพักตร์ไว้ด้วยความกลัว ส่วนท้าว มหาพรหมถือเอาเศวตฉัตรหนีไปสู่พรหมโลก เทวดาทั้งหลายต่างหนีไปไม่เหลือแม้ผู้เดียว
พระโพธิสัตว์ทรงมองไปรอบด้าน เห็นพลมารหนุนเนื่องเข้ามารอบด้าน ทรงพระดำริว่า พลมารเหล่านี้ กำลังกระทำความเพียรอย่างใหญ่หลวง เพื่อมุ่งหมายทำลายเราแต่ผู้เดียว ในที่นี้เราไม่มีผู้ใดอื่นนอกจากบารมี ๑๐ ที่ได้บำเพ็ญมาตลอดกาลนาน เราจักใช้ศาสตราคือบารมีนั่นแหละต่อสู้กับทัพพญามารเหล่านี้จึงจะควร แล้วทรง ระลึกถึง บารมีทั้ง ๑๐ ประการ ที่ทรงบำเพ็ญมา ด้วยพระทัยอันมั่นคง
พญามารคิดว่าจักทำให้พระโพธิสัตว์กลัวแล้วหนีไป ได้ใช้ความพยายามทุกอย่างด้วยฤทธิ์ของ พญามาร ๙ ประการ คือ ลม ฝน ก้อนหิน เครื่องประหาร ถ่านไฟ เถ้ารึง โคลน และความมืด ก็มิอาจทำให้ พระโพธิสัตว์หนีไปได้ พญามารขึ้งโกรธมาก บังคับหมู่มารว่าพวกเจ้าจะหยุดอยู่ไย จงทำสิทธัตถะให้ไม่เป็นสิทธัตถะ จงทำให้สิทธัตถะหนีไป ส่วนตนเองนั่งอยู่บนคอช้างคิรีเมขล์ ถือจักราวุธขว้างใส่พระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์รำพึง ถึงบามี ๑๐ จักราวุธนั้นได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ตั้งอยู่ ณ เบื้องบน
จักราวุธนั้นคมกล้านัก สามารถตัดเสาหินให้ขาดไปได้เสมือนตัดหน่อไม้ไผ่ เมื่อจักราวุธกลายเป็น เพดานดอกไม้ตั้งอยู่ เหล่ามารจึงพากันปล่อยก้อนหินใหญ่ให้กลิ้งลงมา แต่ก้อนหินเหล่านั้นก็กลายเป็นกลุ่มดอกไม้ ตกลงยังภาคพื้นดิน ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังพิจารณาถึงทานบารมี ที่ได้ถวายในอัตภาพที่เป็นพระเวสสันดร ช้างคีริเมขล์ก็ทรุดตัวคู้เข่าลง พญามารที่นั่งบนคอช้างพลัดตกลงมายังพื้นดิน ขณะเดียวกันอสนีบาตก็ฟาดเปรี้ยง ลงมา มหาเมฆก็ร้องครึนครั่นปานภูเขาจะถล่มทลาย มหาสาครก็ปั่นป่วนกัมปนาท ทั่วจักรวาลโกลาหลสะท้าน สะเทือน หมู่มารทั้งหลายตื่นตระหนกตกใจ พากันทิ้งศาสตราวุธหนีหายไปจนหมดสิ้น
พญามารเห็นดังนั้นก็ให้อัศจรรย์ใจด้วยความครั่นคร้ามในพระเดชานุภาพของพะรโพธิสัตว์หนีกลับไป ยังปรนิมิตวสวัตตี อันเป็นเทวสถานของตน ประนมมือนมัสการกล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า
บุคคลในโลกและเทวโลก ที่จะเสมอด้วยพระองค์ไม่มี
พระโพธิสัตว์พระองค์นี้ จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
จักรื้อขนสัตว์ผู้ชาญฉลาดให้ข้ามพ้นวัฏสงสาร
ให้บรรลุพระนิพพาน ในครั้งนี้แน่นอน
" ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส มารวิชัยปริวัตต์ ปริจเฉท ๙ หน้า ๑๔๔ - ๑๔๕ กล่าวว่า ด้วยอำนาจการกล่าวสรรเสริญคุณของพระโพธิสัตว์ในครั้งนี้ พญามารจักได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ในอนาคตกาล ดังนี้
อายุแห่งเทวดา ในสวรรค์ ๖ ชั้น ที่แสดงไว้ในวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หน้า ๑๐๖๕-๑๐๗๐- * จาตุมหาราชิก ๕๐๐ ปี หมื่นแปดพันปีในมนุษย์เป็นปีหนึ่งในเทวดาชั้นจาตุมหาราชิก
- * ดาวดึงส์ ๑,๐๐๐ ปีทิพย์ สามหมื่นหกพันปีในมนุษย์เป็นปีหนึ่งในเทวดาชั้นดาวดึงส์
- * ยามา ๒,๐๐๐ปี ๑๔ โกฏิ กับสี่ล้านปีในมนุษย์เป็นปีหนึ่งในเทวดาชั้นยามา
- * ดุสิต ๔,๐๐๐ ปี ๕๗ โกฏิ กับหกล้านปี เป็นปีหนึ่งในเทวดาชั้นดุสิต
- * นิมมานรดี ๘,๐๐๐ ปี สองร้อยสามสิบโกฏิ กับสี่ล้านปี เป็นปีหนึ่งในเทวดาชั้นนิมมานรดี
- * ปรนิมมิตวสวัตตี ๑๖,๐๐๐ ปี เก้าร้อยยี่สิบเอ็ดโกฏิ กับหกล้าน ห้าแสน เจ็ดหมื่นหกพันปี เป็นปีหนึ่ง ในเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี
" ปปัญจสูทนี ทุติยภาค จุฬตัณหาสังขยสูตรหน้า ๔๐๖ กล่าวว่า เหล่าเทวดาที่บังเกิดในสวรรค์ทั้ง ๖ ชั้นนี้ มีกำเนิดเป็นโอปปาติกะเพียงอย่างเดียว คือเกิดแล้วโตทันทีในสภาพของเทวดาในชั้นนั้นๆ เมื่อแรกบังเกิด ถ้าบังเกิดเหนือตักเหนือเพลา ก็เข้าใจว่าเป็นบุตรธิดา ถ้าบังเกิดเหนือแท่นทิพยสิริไสยาสน์ ก็เข้าใจว่าเป็นภรรยา ถ้าบังเกิดห้อมล้อมทิพยไสยาสน์ ก็เข้าใจว่าเป็นนางพนักงานสำหรับตกแต่งนางเทพอัปสรที่เป็นบาทบริจาริกา ถ้าบังเกิดภายในทิพยวิมาน ก็เข้าใจว่าเป็นไวยาวัจจกร สำหรับจะได้ใช้สอย เป็นต้น เหมือน โคปียเทวี มีศรัทธา เลื่อมใส่ในพระรัตนตรัย รักษาศีล ๕ บริสุทธิ์บริบูรณ์ตั้งความปรารถนาความเป็นบุรุษได้ไปบังเกิดเหนือบัลลังก์อัน เป็นที่นั่งแห่งอมรินทรา ในดาวดึงส์ เป็นบุตรของสมเด็จอมรินทราธิราช นามว่า โคปกเทวบุตร
" มัชณิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๑ สังขารูปปัตติสูตร หน้า ๘๐๔-๔๑๕ ปฏิปทาเพื่อความ เป็นเทวดา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ภิกษุผู้ประกอบด้วย ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา ปรารถนาสุคติภูมิ คือสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง เธอพึงตั้งจิตนั้น อธิษฐานจิตนั้น เจริญจิตนั้น ความปรารถาและวิหารธรรมเหล่านั้น อันเธอเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความสำเร็จเป็นเทวดาสมดังความปรารถนา
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการ ได้แก่ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ ปัญญานี้ เป็น มรรค คือหนทาง เป็น ปฏิปทา คือข้อปฏิบัติ เพื่อความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นใดชั้นหนึ่ง ตามที่เธอปรารถนา
อรรถกถากล่าวว่า บุคคลเหล่าใดมีธรรม ๕ ประการนี้ พร้อมทั้งมีความปรารถนที่จักไปสู่ภพภูมิใด ด้วยความมั่นคงต่อเนื่องกัน ย่อมสัมฤทธิ์ผล เพราะฉะนั้นการกระทำกุศลแล้ว พึงตั้งความปรารถนา
การถือปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลายย่อมเอาแน่นอนไม่ได้ อุปมาเหมือนบุคคลยิงลูกศรไปในห้วงอากาศ กำหนดไม่ได้ว่าลูกศรนั้นจะเอาปลาย หรือตรงกลาง หรือเอาโคนลง ฉันใด ปฏิสนธิของสัตว์ก็ฉันนั้น ย่อมไม่แน่ นอนเหมือนบุคคลขว้างท่อนไม้ไปในอากาศ ท่อนไม้นั้นจะหล่นลงที่ใด ก็สุดแท้แต่กำลังที่ขว้างโดยไร้ซึ่งจุดหมายที่ ประสงค์ เพราะฉะนั้นอรรถกถาจึงย้ำว่า เมื่อกระทำกุศลแล้ว ตั้งความปรารถนาปฏิสนธิในภพใดภพหนึ่ง ย่อมควร