จากมนุษยภูมิ - สู่อบายภูมิ

จากมนุษยภูมิ - สู่อบายภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ ปาปวรรควรรณนา หน้า ๖๑-๖๕ เรื่องเจ้าสุปปพุทธะ แสดงอกุศลกรรมที่นําไปสู่นรกอเวจี ความว่า

เจ้าสุปปพุทธะ ผู้เป็นบิดาของพระเทวทัตและพระนางยโสธรา ผูกอาฆาตในพระบรมศาสดาด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ พระสมณโคดมทิ้งลูกสาวเราออกบวช ประการหนึ่ง ให้ลูกชายเราบวชแล้วตั้งอยู่ในฐานะแห่งผู้มี เวรต่อลูกชาย ประการหนึ่ง เจ้าสุปปพุทธะทรงดําริว่า บัดนี้ เราจักไม่ให้พระสมณโคดมไปยังสถานที่นิมนต์ แล้วปิดทางที่พระพุทธองค์จะเสด็จไป นั่งเสวยน้ำจันทร์ในระหว่างทางที่จะเสด็จ

ขณะที่พระบรมศาสดาเสด็จมาถึง ณ ที่นั้น พร้อมด้วยภิกษุหมู่ใหญ่ เจ้าสุปปพุทธะตรัสว่า เราจักไม่ให้ทางแก่ พระโคดม พระศาสดาเมื่อไม่ได้หนทาง จึงเสด็จกลับ เจ้าสุปปพุทธะส่งจารบุรุษไปสอดแนม กําชับว่า เจ้าจงตามไปฟังคําของพระสมณโคดม แล้วกลับมาบอกเรา

เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จกลับมาแล้ว ทรงแย้มพระโอษฐ พระอานนท์ทูลถามว่า อะไรหนอแล เป็นปัจจัยแห่ง การแย้มพระโอษฐให้ปรากฏ พระเจ้าข้า ?

พระบรมศาสดาตรัสว่า อานนท์ เจ้าสุปปพุทธะไม่ให้ทางแก่พระพุทธเจ้าผู้เช่นเรา เธอได้กระทํากรรม หนักแล้ว ในวันที่ ๗ นับแต่วันนี้ ท้าวเธอจักเข้าไปสู่แผ่นดิน (ธรณีสูบ) ณ ใกล้บันได ภายใต้ปราสาทของเธอ

จารบุรุษได้ฟังพระดํารัสนั้นแล้ว กลับไปสู่สํานักของเจ้าสุปปพุทธะ เจ้าสุปปพุทธะตรัสถามว่า หลาน เราพูดอะไรบ้าง เมื่อได้สดับคํากราบทูลของจารบุรุษแล้ว ตรัสว่า คําตรัสแห่งหลานเราย่อมเป็นเช่นนั้นจริงแท้

จากนั้น เจ้าสุปปพุทธะทรงทําการรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง รับสั่งให้พวกมหาดเล็กขนเครื่องใช้สอย ของพระองค์ทั้งหมดไว้บนปราสาทชั้น ๗ รับสั่งให้ชักบันได ปิดประตู ตั้งคนแข็งแรงประจําที่ประตู ๆ ละ ๒ คน ตรัสว่า ถ้าเราจะประสงค์ลงไปข้างล่าง พวกเจ้าจงห้ามเราไว้ แล้วประทับอยู่แต่ในห้องบนปราสาทชั้นที่ ๗

พระบรมศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เจ้าสุปปพุทธะมิใช่จะนั่งบนพื้นปราสาทอย่างเดียว แม้จะเหาะขึ้นไปสูเวหาส นั่งในอากาศก็ตาม ไปสู่สมุทรด้วยเรือก็ตาม จะหลบเข้าไปอยู่ในซอกเขาก็ตาม พระดํารัสของ พระพุทธเจ้าทั้งหลายจะเป็นสองไม่มี ท้าวเธอจักถูกธรณีสูบในสถานที่เราพูดไว้นั่นแหละ

ครั้นถึงวันที่ ๗ เวลาเดียวกับที่เจ้าสุปปพุทธะปิดหนทางภิกษาจารของพระบรมศาสดา ม้ามงคลของเจ้าสุปปพุทธะที่อยู่ภายใต้ปราสาทเกิดคึกคะนอง กระแทกผนังปราสาท ส่งเสียงพยศร้องลั่นอยู่

เจ้าสุปปพุทธประทับอยู่ชั้นบน ได้สดับเสียงของม้านั้น ตรัสถามว่า นั่นเสียงอะไรกัน ? พวกมหาดเล็กทูลว่า ม้ามงคลเกิดคึกคะนอง พระเจ้าข้า

ส่วนม้ามงคลนั้น พอเห็นเจ้าสุปปพุทธะก็หยุดพยศ ขณะนั้น ท้าวเธอมีพระประสงค์จะจับม้านั้น ได้เสด็จลุกจากที่ประทับ บ่ายพระพักตร์มาทางประตู ทันใดนั้น ประตูทั้งหลายเปิดเองทีเดียว บันไดก็ตั้งอยู่ในที่ ของตนตามเดิม คนแข็งแรง ผู้ยืนอยู่ที่ประตูจับท้าวเธอที่พระศอ แล้วผลักให้พระพักตร์คะมำลงไป ขณะเดียวกัน มหาปฐพีแตกแยกออกคอยรับเจ้าสุปปพุทธะ ผู้ดําเนินมาถึงที่ใกล้เชิงบันไดภายใต้ปราสาทนั่นเอง ท้าวเธอไปบังเกิด ในอเวจีนรกแล้ว ในทันใดนั้นเอง

 

เมื่อจะทรงสืบอนุสนธิแสดงธรรม จึงตรัสพระคาถานี้ว่า
บุคคลที่ทํากรรมชั่วไว้ หนีไปแล้วในอากาศ ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
หลบหนีไปสู่ซอกภูเขา ก็ไม่พึงพ้นจากกรรมชั่วได้
ไม่มีแผ่นดินใด ประเทศใด ที่ความตายจะพึงครอบงําไม่ได้

 

** ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๑ หน้า ๑๗๐-๑๗๔ เรื่อง นายจุนทสูกริก แสดงกรรมที่นําไปสู่นรกอเวจี ความว่า

นายจุนทสูกริก เลี้ยงชีวิตด้วยการฆ่าสุกร นําไปกินบ้าง ขายบ้าง ตลอดเวลา ๕๕ ปี ในเวลาที่ข้าว ยากหมากแพง เขาเอาเกวียนบรรทุกข้าวเปลือกไปสู่ชนบท แลกเอาลูกสุกรจากชาวบ้าน ด้วยข้าวเปลือกประมาณ ๑ ทะนาน หรือ ๒ ทะนาน บรรทุกเต็มเกวียนแล้วกลับมา ล้อมที่แห่งหนึ่งดุจคอกข้างหลังที่อยู่ แล้วปลูกผักในที่นั้น เพื่อลูกสุกรเหล่านั้น เมื่อลูกสุกรเหล่านั้นกินกอผักต่าง ๆ กินคูถบ้าง ก็เติบโตขึ้น เขามีความประสงค์จะฆ่าลูกสุกร ตัวใด ก็มัดตัวนั้นให้แน่น ณ ที่จะฆ่า ทุบด้วยฆ้อน สี่เหลี่ยม เพื่อให้เนื้อสุกรพองหนาขึ้น รู้ว่าเนื้อหนาขึ้นแล้ว ก็ง้าง ปากสอดไม้เข้าไปในระหว่างฟัน กรอกน้ำร้อนที่เดือดพล่าน เข้าไปในปากด้วยทะนานโลหะ น้ำร้อนนั้นเข้าไป พล่านในท้อง ขับกรีสออกมาทางทวารหนัก กรีสน้อยหนึ่งที่ยังมีอยู่เพียงใด ย่อมออกเป็นน้ำขุ่นเพียงนั้น เมื่อภายใน ท้องสะอาดแล้ว จึงออกเป็นน้ำใสไม่ขุ่น ต่อจากนั้น เขาจึงราดน้ำร้อนที่ยังเหลืออยู่บนหลังสุกรนั้น น้ำนั้นจะลอกเอาหนังดําออกไป แต่นั้นจึงลนขนด้วยคบหญ้า แล้วตัดศีรษะด้วยดาบอันคม รองโลหิตที่ไหลด้วยภาชนะ เคล้าเนื้อ ด้วยโลหิตแล้วนำมาปิ้ง นั่งรับประทานในท่ามกลางบุตรและภรรยา ส่วนที่เหลือก็นําไปขาย

นายจุนทสูกริกเลี้ยงชีวิตโดยทํานองนี้ เวลาล่วงไป ๕๕ ปี การบูชาด้วยดอกไม้แม้เพียงกํามือหนึ่งก็ดี การถวายภิกษาเพียงทัพพีหนึ่งก็ดี ชื่อว่าบุญอันน้อยหนึ่งก็ดี มิได้มีแก่นายจุนทสูกริก แม้เพียงสักครั้งเดียว แม้พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ในวิหารอันใกล้เคียงนั้น

ครั้งนั้น โรคเกิดขึ้นในสรีระของนายจุนทสูกริก ความเร่าร้อนในอเวจีมหานรก ปรากฏแก่เขาทั้งเป็น ที่เดียว ขึ้นชื่อว่าความเร่าร้อนในอเวจี ย่อมเป็นความร้อนที่สามารถทําลายนัยน์ตาของผู้ยืนดูอยู่ในที่ประมาณ ๑๐๐ โยชน์ได้ สมจริงดังคําที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดังนี้ว่า

ความเร่าร้อนในอเวจี แผ่ไปตลอด ๑๐๐ โยชน์ โดยรอบ ตั้งอยู่ทุกเมื่อ

เพราะเหตุที่ความเร่าร้อนในอเวจีนั้น มีประมาณยิ่งกว่าความเร่าร้อนของไฟโดยปกติ พระนาคเสนเถระ จึงกล่าวอุปมานี้ไว้ว่า แม้หินประมาณเท่าเรือนยอด อันบุคคลทุ่มไปในไฟนรก ย่อมถึงความย่อยยับได้โดยพริบตา

เมื่อความเร่าร้อนนั้นปรากฏแก่นายจุนทสูกริกแล้ว อาการอันเหมาะสมด้วยกรรมก็เกิดขึ้น เขาส่ง เสียงร้องเหมือนหมู คลานไปมาในท่ามกลางเรือน ไปสู่ในทิศตะวันออกบ้าง สู่ในทิศตะวันตกบ้าง ทิศเหนือบ้าง ทิศใต้บ้าง วนเวียนอยู่เช่นนั้นโดยรอบ

ลําดับนั้น พวกคนในเรือนของเขา จับเขาไว้ให้มั่น แล้วปิดปาก ธรรมดาผลแห่งกรรม อันใคร ๆ ไม่สามารถจะห้ามได้ เขาเที่ยวร้องไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง คนใน ๗ หลังคาเรือนโดยรอบ ย่อมไม่ได้หลับนอน

อนึ่ง คนในเรือนทั้งหมด เมื่อไม่สามารถจะห้ามการออกไปภายนอกของนายจุนทสูกริก ผู้ถูกมรณภัย คุกคามแล้วได้ จึงปิดประตูเรือนล้อมรักษาอยู่ภายนอกเรือน แม้นายจุนทสูกริก ก็เที่ยวร้องไปข้างโน้นบ้าง ข้างนี้บ้าง ภายในเรือนนั่นเอง ด้วยความเร่าร้อนดุจในนรก เขามีความทุกข์อย่างนั้นตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๘ ทํากาละแล้ว ไปเกิดในอเวจีมหานรก

พวกภิกษุเดินไปทางประตูเรือนของเขา ได้ยินเสียงนั้นแล้ว สําคัญว่าเป็นเสียงของสุกรร้อง ไปสู่วิหาร นั่งในสํานักพระศาสดาแล้ว กราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อสุกรทั้งหลาย อันนายจุนทสูกริกปิดประตู เรือนฆ่าอยู่ วันนี้เป็นวันที่ ๗ มงคลกิริยาไรๆ ชรอยจักมีในเรือนของเขา เพราะไม่มีเสียงร้องของสุกรเช่นทุกวัน ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมตตาจิตหรือความกรุณาแม้อย่างหนึ่ง ของเขาผู้ฆ่าสุกรทั้งหลายย่อมไม่มี มนุษย์ผู้ร้ายกาจ หยาบช้าเช่นนี้ ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่เคยพบพานมาก่อนเลย

พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เขาทําการฆ่าสุกรตลอด ๗ วันนี้หามิได้ ผลอันเหมาะสมด้วย กรรมเกิดขึ้นแล้วแก่เขา ความเร่าร้อนในอเวจีมหานรกปรากฏแก่เขาทั้งเป็นที่เดียว ด้วยความเร่าร้อนนั้น เขาร้องเหมือนหมูเที่ยวไปภายในนิเวสน์อยู่ ตลอด ๗ วัน วันนี้ทํากาละแล้ว ไปเกิดในนรกอเวจี

 

ภิกษุกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เขาเศร้าโศกอย่างนี้ ในโลกนี้แล้ว ยังจะไปเกิดในฐานะ ที่เศร้าโศกเช่นกันในภพหน้าอีกหรือ พระเจ้าข้า ?

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่าผู้ประมาทแล้ว เป็นคฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสองเป็นแท้ ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาว่า

ผู้ทําบาปเป็นปกติ ย่อมเศร้าโศกในโลกนี้
ละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมเศร้าโศก ในโลกทั้งสอง
เขาเห็นกรรมเศร้าหมองของตนแล้ว ย่อมเดือดร้อน

ในกาลจบพระคาถา ภิกษุเป็นอันมากได้เป็นพระโสดาบัน เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน ดังนี้


พิมพ์