จากมนุษยภูมิ - สู่เดรัจฉานภูมิ

จากมนุษยภูมิ - สู่เดรัจฉานภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

** ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ หน้า ๓๒๓-๓๓๐ เรื่อง นาคราชเอรกปัตตะ แสดงกรรมที่นําภิกษุไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ความว่า

สมัยศาสนาของพระกัสสปสัมมาสัมพุทธเจ้า พญานาคนั้นเป็นภิกษุหนุ่ม กระทําสมณธรรมในป่า สิ้นสองหมื่นปี ได้ขึ้นเรือไปในแม่น้ำคงคา ยึดใบตะไคร้น้ำกอหนึ่ง เมื่อเรือแล่นไปโดยเร็ว ก็ไม่ปล่อยตะไคร้น้ำนั้น ทําให้ใบตะไคร้น้ำขาดไป ภิกษุหนุ่มนั้นไม่ได้ปลงอาบัติ ด้วยคิดว่า นี้เป็นโทษเพียงเล็กน้อย

ในกาลมรณภาพ เป็นประดุจใบตะไคร้น้ำผูกคอ แม้อยากจะแสดงอาบัติ เมื่อไม่เห็นภิกษุอื่นที่จักปลงอาบัติ ก็เกิดความร้อนใจว่า เรามีศีลไม่บริสุทธิ์ จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว บังเกิดเป็นพญานาค มีร่างกายประมาณเท่า เรือโกลน (เรือที่ทําจากท่อนซุง) มีชื่อว่า เอรกปัตตะ ในขณะที่เกิดแล้ว พญานาคนั้นแลดูอัตภาพของตน แล้วมีความ เดือดร้อนใจว่า เราพากเพียรทําสมณธรรมมาเป็นเวลายาวนาน กลับมาถือกําเนิดในอเหตุกสัตว์ มีกบปลาเป็นอาหาร

กาลต่อมา เอรกปัตตะได้ธิดาตนหนึ่ง ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน เขาได้แผ่พังพานใหญ่บนหลังน้ำในแม่น้ำคงคา วางธิดาไว้บนหลังพังพานนั้น ให้ฟ้อนรําขับร้องไปทั่ว ด้วยมีความหวังว่า เราจักได้ยินความที่พระพุทธเจ้าจักบังเกิดขึ้นในโลก ด้วยอุบายนี้ ถ้าผู้ใดสามารถนำเพลงขับ แก้เพลงขับของเราได้ เราจักให้ธิดา พร้อมด้วยนาคพิภพอันกว้างใหญ่แก่ผู้นั้น ธิดานั้นยืนฟ้อนอยู่บนพังพานนั้น พลางขับเพลงว่า

 

ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่า พระราชา ?
อย่างไรเล่า พระราชาชื่อว่า มีธุลีบนพระเศียร ?
อย่างไรเล่า ชื่อว่า ปราศจากธุลี ?
อย่างไรเล่า ท่านจึงเรียกว่า คนพาล ?

 

ชาวชมพูทวีปพากันมาสู่แม่น้ำคงคา ด้วยหวังว่า เราจักพาเอานางนาคมาณวิกา แล้วทำเพลงขับแก้ ขับไปโดยกําลังปัญญาของตน ๆ นางยืนอยู่บนพังพานของเอรกปัตตะทุกกึ่งเดือน เพื่อแก้เพลงขับ ตลอดพุทธันดร หนึ่งล่วงไปแล้วก็ยังไม่มีผล

ครั้งนั้น พระศาสดาทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก วันหนึ่งในเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธองค์ทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นมาณพ ชื่ออุตตระ ผู้เข้าไปภายในข่ายแห่งพระญาณ ทรงใคร่ครวญดูว่า จักมีเหตุอะไร ? ได้ทรงเห็นว่าวันนี้เป็น วันที่เอรกปัตตนาคราชนำธิดาไว้บนพังพานแล้วให้ฟ้อน ถ้าอุตตรมาณพนี้เรียนเอาเพลงขับแก้ที่เราให้แล้ว จักได้เป็นพระโสดาบัน ส่วนนาคราชเมื่อได้ฟังเพลงขับแก้นี้แล้ว จักได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลก นาคราชนั้นจักมาสู่สํานักเรา เมื่อนาคราชนั้นมาแล้ว เราจักกล่าวคาถาในสมาคมอันใหญ่ ในกาลที่จบคาถา สัตว์ประมาณ ๘๔,๐๐๐ จักได้ตรัสรู้ธรรม

พระศาสดาเสด็จไปในที่นั้นแล้ว ประทับนั่ง ณ โคนต้นซึกต้นหนึ่ง ในบรรดาต้นซึก ๗ ต้นที่มีอยู่ในที่ไม่ไกลจากเมืองพาราณสี ชาวชมพูทวีปพาเอาเพลงขับแก้ไปประชุมกัน ณ ที่นั้น พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็น อุตตรมาณพกําลังเดินไปในที่ไม่ไกล จึงตรัสว่า อุตตระ เธอจงมานี่ก่อน

 

อุตตรมาณพถวายบังคมแล้ว พระศาสดาตรัสถามว่า เธอจะไปไหน ?
อุตตรมาณพทูลตอบว่า จักไปยังที่ที่ธิดาของเอรกปัตตนาคราชขับเพลง พระเจ้าข้า
พระศาสดา ก็เธอรู้เพลงขับ ที่จักแก้เพลงขับของนาคราชหรือ ?
อุตตรมาณพ ข้าพระองค์ทราบ พระเจ้าข้า
พระศาสดา เธอจงกล่าวเพลงขับเหล่านั้นดูก่อน เมื่ออุตตรมาณพกราบทูลตามความรู้ของตนแล้ว ที่นั้น พระศาสดาตรัสว่า อุตตระ นั่นไม่ใช่เพลงขับแก้ เราจักให้เพลงขับแก้แก่เธอ เธอต้องเรียนเพลงขับแก้นั้นให้ได้ อุตตรมาณพกราบทูลว่า ดีละ พระเจ้าข้า

อุตตรมาณพได้เรียนเพลงขับแก้จากพระบรมศาสดาว่า

 

ผู้เป็นใหญ่ในทวาร ๖ ชื่อว่า พระราชา
พระราชาผู้กําหนัดอยู่ ชื่อว่า มีธุลีบนพระเศียร
บุคคลผู้ไม่กําหนัดอยู่ ชื่อว่า ปราศจากธุลี
ผู้กําหนัดอยู่ ท่านเรียกว่า คนพาล

 

พระบรมศาสดาครั้นประทานเพลงขับแก้แก่อุตตรมาณพแล้ว ตรัสว่า อุตตระ เมื่อเธอขับเพลงนี้ ธิดา ของนาคราช จักขับเพลงขับ แก้เพลงขับของเธอว่า

 

คนพาล อันอะไรเอ่ย ย่อมพัดไป ?
บัณฑิตย่อมบรรเทาอย่างไร ?
อย่างไร จึงเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ ? ท่านผู้อันเราถามแล้ว โปรดบอกข้อนั้นแก่เรา อุตตระ ท่านพึ่งขับเพลงขับแก้นี้แก่นางว่า

คนพาล อันห้วงน้ำคือกามโอฆะเป็นต้น ย่อมพัดไป
บัณฑิตย่อมบรรเทาโอฆะนั้น เสียด้วยความเพียร
บัณฑิตผู้ไม่ประกอบด้วยโยคะทั้งปวง ท่านเรียกว่า ผู้มีความเกษมจากโยคะ

 

อุตตรมาณพ ขณะเมื่อกําลังเรียนเพลงขับแก้กับพระบรมศาสดา เธอได้ดํารงอยู่ในโสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน เรียนคาถานั้นไปแล้ว กล่าวกับธิดานาคราชว่า นางผู้เจริญ ฉันนำเพลงขับแก้มาแล้ว ท่านจงให้ โอกาสแก่ฉัน อุตตรมาณพได้คุกเข่าไปในท่ามกลางมหาชนที่ยืนยัดเยียดกันอยู่

 

นางนาคมาณวิกา ยืนฟ้อนอยู่บนหลังพังพานของพระบิดา แล้วขับเพลงขับว่า

ผู้เป็นใหญ่อย่างไรเล่า ชื่อว่า เป็นพระราชา ?

อุตตรมาณพ ขับเพลงแก้ว่า

ผู้เป็นใหญ่ในทวาร ๖ ชื่อว่าเป็นพระราชา

นางนาคมาณวิกา ขับเพลงถามอีกว่า

คนพาล อันอะไรเอ่ย ย่อมพัดไป ?

อุตตรมาณพ ขับเพลงแก้ว่า

คนพาล อันห้วงน้ำย่อมพัดไป ดังนี้เป็นต้น

เอรกปัตตนาคราชได้ฟังอุตตรมาณพขับเพลงแก้นั้น ทราบความที่พระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นแล้ว ดีใจว่า เราไม่เคยฟังคําเช่นนี้มาตลอดพุทธันดรหนึ่ง อุทานว่า ผู้เจริญพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกแล้วหนอ แล้วเอาหาง ฟาดน้ำ คลื่นใหญ่เกิดขึ้นแล้ว ฝั่งน้ำทั้งสองพังลงแล้ว พวกมนุษย์ในที่ประชุมประมาณอุสภะหนึ่ง (๑ เส้น ๑๕ วา) แต่ฝั่งข้างนี้และฝั่งข้างโน้น จมลงไปในน้ำนาคราชนั้นยกมหาชนมีประมาณเท่านั้น วางไว้บนพังพานแล้วตั้งไว้บนบก นาคราชเข้าไปหา อุตตรมาณพถามว่า แน่ะนาย พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน ?

 

อุตตรมาณพตอบว่า ประทับนั่งที่โคนต้นไม้ต้นหนึ่ง นาคราช
นาคราชกล่าวว่า มาเถิดนาย พวกเราจักพากันไปเฝ้าพระพุทธองค์
นาคราชได้ไปกับอุตตรมาณพ ฝ่ายมหาชนก็ได้ติดตามไป นาคราชนั้นไปถึง เข้าไปสู่ระหว่างพระฉัพพรรณรังสี ถวายบังคมพระบรมศาสดาแล้ว ได้ยืนร้องไห้อยู่

พระบรมศาสดาตรัสถามว่า นี่อะไรกัน นาคราช ?
นาคราชกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าพระองค์เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เช่นด้วยกับพระองค์ ได้พากเพียร

กระทําสมณธรรมมาสิ้นสองหมื่นปี แม้สมณธรรมนั้นก็มิอาจเพื่อจะช่วยข้าพระองค์ได้ ข้าพระองค์อาศัย เหตุสักว่าทําใบตะไคร้น้ำขาดไปมีประมาณเล็กน้อย ก็ถือปฏิสนธิในอเหตุกสัตว์ บังเกิดในที่ที่ต้องเลื้อยไปด้วยอก ย่อมไม่ได้ความเป็นมนุษย์ ข้าพระองค์ไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้เช่นพระองค์ ตลอดพุทธันดรหนึ่ง

พระศาสดาทรงสดับถ้อยคําของนาคราชนั้นแล้ว ตรัสว่า นาคราชา ชื่อว่าความเป็นมนุษย์หาได้ยากนัก การฟังพระสัทธรรมก็อย่างนั้น การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าก็หาได้ยากเหมือนกัน เพราะว่า สามประการนี้ บุคคล ย่อมได้โดยลําบากยากเย็น เมื่อจะทรงแสดงธรรมเทศนา ตรัสพระคาถานี้ว่า

ความได้อัตภาพเป็นมนุษย์ เป็นการยาก
ชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย เป็นอยู่ยาก
การฟังพระสัทธรรม เป็นของยาก
การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการยาก

อรรถกถากล่าวว่า การได้ความเป็นมนุษย์เป็นการยาก เพราะบุคคลต้องได้ด้วยความพยายามมาก ด้วยกุศลมาก ถึงชีวิตของสัตว์ทั้งหลาย ก็ชื่อว่าเป็นอยู่ยาก เพราะทํากรรมมีกสิกรรมเป็นต้น เนือง ๆ แล้วสืบต่อ ความเป็นไปแห่งชีวิตบ้าง เพราะชีวิตเป็นของน้อยบ้าง แม้การฟังพระสัทธรรม ก็เป็นการยาก เพราะค่าที่บุคคล ผู้แสดงธรรมหาได้ยาก ในกัปแม้มิใช่น้อย อนึ่ง การอุบัติขึ้นแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เป็นการยากเหมือนกัน เพราะอภินิหารของความเป็นพระพุทธเจ้าสําเร็จด้วยความพยายามมาก และเพราะการอุบัติขึ้นแห่งท่านผู้มีอภินิหาร อันสําเร็จแล้ว เป็นการได้โดยยาก ด้วยพันแห่งโกฏิกัป แม้มิใช่น้อย

กาลจบเทศนา เหล่าสัตว์ ๘ หมื่น ๔ พันได้ตรัสรู้ธรรมแล้ว ส่วนเอรกปัตตนาคราชควรจะได้โสดาปัตติผลในวันนั้น แต่ก็ไม่ได้ เพราะความที่ตนเป็นสัตว์เดรัจฉาน ไม่สามารถที่จักบรรลุธรรมได้

** สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค เล่มที่ ๕ ภาค ๒ หน้า ๔๗๖-๔๗๗ ทุติยฉุคคฬสูตร ว่าด้วยการได้ ความเป็นมนุษย์แสนยาก พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนน้ำในมหาสมุทรกว้างใหญ่ บุรุษโยนแอกซึ่งมีช่องเดียว ลงไปในมหาสมุทรนั้น ถูกลมทางทิศตะวันออกพัดไปทางทิศตะวันตก ลมทางตะวันตก พัดกลับมาทางทิศตะวันออก ถูกลมทางทิศเหนือพัดไปทางทิศใต้ ลมทางใต้พัดไปทางทิศเหนือ

ต่อล่วง ๑๐๐ ปี มีเต่าตาบอดโผล่ขึ้นมาครั้งหนึ่ง การที่เต่าจะสอดหัวเข้าไปในรูแอก ที่ถูกลมพัดไปทิศโน้นทิศนี้นั้น เป็นไปได้โดยยาก การที่เต่าตาบอดบังเอิญสอดหัวเข้าไปในรูแอกได้นั้น ยังเร็วกว่าการที่คนพาล ตกลงไปสู่วินิบาตนรกครั้งหนึ่ง แล้วจะได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยากยิ่ง

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การได้ความเป็นมนุษย์เป็นของยาก พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าจักอุบัติในโลกเป็นของยาก พระธรรมวินัยที่พระตถาคตประกาศแล้ว จะรุ่งเรืองในโลกก็เป็นของยาก ก็ในบัดนี้ ความเป็นมนุษย์พวกเธอได้แล้ว พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อุบัติแล้วในโลก พระธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ก็รุ่งเรืองอยู่ในโลก เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลาย พึงกระทําความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกขอริยสัจ นี้ทุกขสมุทัยอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธอริยสัจ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ

** คัมภีร์ชนาลังการฎีกา แปล หน้า ๓๓ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสย้ำเตือนอีกว่า จริงอยู่ การท่องเที่ยว ไปในสังสารวัฏนี้ยาวนานยิ่ง แม้ในวันนี้พวกเธอก็ยังจมลงในห้วงแห่งสังสารวัฏ ก็บัดนี้ พวกเธอได้ความถึงพร้อม แห่งขณะอย่างนี้แล้ว ก็ยังประมาทอยู่ ถ้าเธอยังมัวประมาทอยู่ แล้วเมื่อไรจึงจักมีความประชุมพร้อมอย่างนี้อีก

ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้หวังประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ พึงกระทําแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราก็ได้กระทําแล้วแก่เธอทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนใจในภายหลังว่า เธอเกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว มีโอกาสได้ฟังพระธรรมจากพระโอษฐ์แล้ว ก็ยังเป็นผู้ประมาทอยู่ นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา สําหรับเธอทั้งหลาย

** ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ธัมมปทัฏฐานกถา เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ หน้า ๕๔-๕๗ เรื่องกาถูกไฟไหม้ตายในอากาศ แสดงบุรพกรรมอันเป็นบาปที่มนุษย์กระทําแล้ว ถือกําเนิดในสัตว์เดรัจฉาน ความว่า

ขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ในพระเชตวันวิหาร ภิกษุหลายรูปมาเพื่อต้องการเฝ้าพระบรมศาสดา เข้าไปสู่ละแวกบ้านตําบลหนึ่งเพื่อบิณฑบาต ชนชาวบ้านรับบาตรของภิกษุเหล่านั้นแล้ว นิมนต์ให้นั่งในโรงฉัน ถวายข้าวยาคูและของฉัน เมื่อรอเวลาบิณฑบาต นั่งฟังธรรมแล้ว ขณะนั้นเปลวไฟลุกขึ้นจากเตาของหญิงคนหนึ่ง ผู้หุงข้าวและปรุงอาหาร เปลวไฟลุกขึ้นไปติดชายคา เสวียนหญ้าอันหนึ่งติดไฟปลิวขึ้นจากชายคานั้น ลอยไปสู่อากาศ ขณะนั้นกาตัวหนึ่งบินมาทางอากาศสอดคอเข้าไปในเสวียนหญ้านั่น เกลียวหญ้าได้พันกาไว้ตกลงที่กลางบ้าน พวกภิกษุเห็นเหตุนั้นแล้วคิดว่า โอ กรรมหนัก ผู้มีอายุ ท่านทั้งหลายจงดูอาการแปลกที่เป็นไปของกานี้ เว้นพระศาสดาเสีย ใครจักรู้กรรมที่กาตัวนี้ทําแล้ว จึงพากันไปกราบทูลถามพระศาสดา

พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย กานั้นได้เสวยกรรมที่ตนทําแล้วโดยแท้ ก็ในอดีตกาล ชาวนาผู้หนึ่งใน กรุงพาราณสี ฝึกโคของตนอยู่ แต่ไม่สามารถฝึกได้ ด้วยว่าโคของเขานั้นเดินไปได้หน่อยหนึ่งก็พักนอนเสีย แม้ชาวนานั้นจะตีให้ลุกขึ้น ก็กลับนอนเสียเหมือนเดิม

ชาวนานั้นแม้พยายามเพียงใด ก็ไม่สามารถฝึกโคนั้นได้ เป็นผู้อันความโกรธครอบงำ กล่าวว่า บัดนี้เจ้าจงนอนให้สบายเถิด จัดการพันคอโคด้วยฟางที่มีอยู่ในที่นั้น แล้วจุดไฟเผา โคถูกไฟคลอกตายในที่นั้นเอง

ภิกษุทั้งหลาย กรรมอันเป็นบาปที่ชาวนากระทําแล้วในครั้งนั้น เขาหมกไหม้อยู่ในนรกสิ้นกาลนาน พ้นจากนรกเพราะวิบากของกรรมยังไม่สิ้น ด้วยเศษแห่งกรรม ชาวนาผู้นั้นบังเกิดแล้วในกําเนิดกา ๗ ครั้ง ก็ถูกไฟไหม้ตายในอากาศอย่างนี้แหละ ด้วยวิบากที่เหลือ


พิมพ์