ภพภูมิของสัตว์โลก ๓๑ ภูมิ

ภพภูมิของสัตว์โลก ๓๑ ภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

ภพภูมิของสัตว์ หมายถึง อาณาเขตของแผ่นดินแผ่นฟ้า อันเป็นที่อาศัยอยู่แห่งสัตว์โลก ได้แก่

กามภพ ภพของสัตว์ผู้ยังเสวยกามคุณ ได้แก่ มนุษย์ ๑ สวรรค์ ๖ อบาย ๔
รูปภพ ภพที่เป็นรูปาวจร ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงรูปฌาน ได้แก่ รูปพรหม ๑๖ ชั้น
อรูปภพ ภพที่เป็นอรูปาวจร ภพของสัตว์ผู้เข้าถึงอรูปฌาน ได้แก่ อรูปพรหม ๔

ภพภูมิจึงมีทั้งหมดรวม ๓๑ ภูมิ อันได้แก่ กามภูมิ ๑๑ รูปพรหมภูมิ ๑๖ อรูปพรหมภูมิ ๔

กามภูมิ ๑๑

สวรรค์ ๖ ได้แก่

  1. จาตุมหาราชิกาภูมิ ตั้งอยู่เหนือยอดเขายุคันธร ด้านทิศตะวันออกแห่งภูเขาสิเนรุราช
  2. ดาวดึงส์ภูมิ ตั้งอยู่เหนือยอดเขาสิเนรุราช สูง ๘๔,๐๐๐ โยชน์
  3. ยามาภูมิ ตั้งอยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ๔๒,๐๐๐ โยชน์
  4. ดุสิตาภูมิ ตั้งอยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นยามา ๗๘๔,๘๐๐ โยชน์
  5. นิมมานรดีภูมิ ตั้งอยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นดุสิตา ไม่มีข้อมูลแสดงไว้
  6. ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ ตั้งอยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นนิมมานรดี ไม่มีข้อมูลแสดงไว้

มนุษยภูมิ ๑ ตั้งอยู่ในทวีปทั้ง ๔ คือ ชมพูทวีป อุตตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป และปุพพวิเทหทวีป

อบายภูมิ ๔ ได้แก่

  1. นรกภูมิ ตั้งอยู่เบื้องล่างผืนแผ่นดินในป่าหิมพานต์ ท่ามกลางจักรวาล
  2. เปตภูมิ ตั้งอยู่เบื้องบนพื้นแผ่นดิน ตรงนรกขึ้นมาในป่าหิมพานต์
  3. อสุรกายภูมิ ตั้งอยู่ในระหว่างภูเขาตรีโกฏิที่รองรับภูเขาสิเนรุราช
  4. เดรัจฉานภูมิ ตั้งอยู่รวมกับมนุษย์ทุกทวีป


รูปพรหมภูมิ ๑๖

รูปพรหมภูมิ ตั้งอยู่สูงกว่าสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตตีขึ้นไป ๑,๘๓๖,๐๐๐ โยชน์ ถึงปฐมฌานภูมิ

ปฐมฌานภูมิ ๓ คือ พรหมปาริสัชชาภูมิ พรหมปุโรหิตาภูมิ มหาพรหมาภูมิ เป็นภูมิของผู้เจริญปฐมฌาน สูงขึ้นไป ๒,๑๘๖,๔๐๐ โยชน์ จึงถึงทุติยฌานภูมิ

ทุติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตาภาภูมิ อัปปมาณาภูมิ อาภัสสราภูมิ เป็นภูมิของผู้จริญทุติยฌาน - ตติยฌาน สูงขึ้นไป ๒,๘๘๗,๒๐๐ โยชน์ ถึงตติยฌานภูมิ

ตติยฌานภูมิ ๓ คือ ปริตตสุภาภูมิ อัปปมาณสุภาภูมิ สุภกิณหาภูมิ เป็นภูมิของผู้เจริญจตุตถฌาน สูงขึ้นไป ๒,๘๘๗,๒๐๐ โยชน์ จึงถึงจตุตถฌานภูมิ คือเวหัปผลาภูมิ และ อสัญญสัตตาภูมิ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกัน

จตุตถฌานภูมิ ๗ เป็นภูมิที่อยู่ของผู้เจริญปัญจมฌาน

เวหปผลาภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้ได้ปัญจมฌาน

อสัญญสัตตาภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้ได้ปัญจมฌาน ที่ปราศจากความยินดีใน สัญญา ปรารถนาภพชาติที่ปราศจากนามธรรม จึงบังเกิดแต่รูปธรรม ที่ท่านเรียกว่า พรหมลูกฟัก สูงจากนี้ขึ้นไป ๓,๒๓๗,๖๐๐ โยชน์ จึงถึงสุทธาวาสชั้นอวิหาภูมิ

สุทธาวาส ๕ เป็นภูมิที่อยู่ของพระอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌานเท่านั้น

  1. อวิหาสุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌาน สูงจากอวิหาภูมิ ๓,๕๙๘,๐๐๐ โยชน์ จึงถึงอตัปปาสุทธาวาสภูมิ
  2. อตัปปาสุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌาน สูงจากอตัปปาภูมิ ๓,๘๓๘,๔๐๐ โยชน์ จึงถึงสุทัสสาสุทธาวาสภูมิ
  3. สุทัสสาสุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌาน สูงจากสุทัสสาภูมิ ๔,๒๘๘,๘๐๐ โยชน์ จึงถึงสุทัสสีสุทธาวาสภูมิ
  4. สุทัสสีสุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌาน สูงจากสุทัสสีภูมิ ๔,๖๓๙,๒๐๐ โยชน์ จึงถึงอกนิฏฐาสุทธาวาสภูมิ
  5. อกนิฏฐาสุทธาวาสภูมิ เป็นภูมิที่อยู่ของอนาคามีบุคคล ที่ได้ปัญจมฌาน สูงจากอกนิฏฐาสุทธาวาสภูมิ ๔,๙๘๙,๖๐๐ โยชน์ จึงถึงอรูปพรหม ชั้นต้นคือ อากาสานัญจายตนภูมิ


อรูปพรหมภูมิ ๔

  1. อากาสานัญจายตนภูมิ ภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้เจริญ อากาสานัญจายตนฌานกุศล สูงขึ้นจากนี้ ๕,๓๔๐,๐๐๐ โยชน์ จึงถึงวิญญาณัญจายตนภูมิ
  2. วิญญาณัญจายตนภูมิ ภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้เจริญ วิญญาณัญจายตนฌานกุศล สูงขึ้นจากนี้ ๕,๖๙๐,๔๐๐ โยชน์ จึงถึงอากิญจัญญายตนภูมิ
  3. อากิญจัญญายตนภูมิ ภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้เจริญ อากิญจัญญายตนฌานกุศล สูงขึ้นจากนี้ ๖,๐๔๐,๘๐๐ โยชน์ ถึงเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ
  4. เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ ภูมิที่อยู่ของบุคคลผู้เจริญ เนวสัญญานาสัญญายตนฌานกุศล เป็นอรูปพรหมภูมิที่สูงสุด

(จากวรรณกรรมสมัยรัตนโกสินทร์เล่ม ๒ หน้า ๑๐๗๓-๑๑๑๒)

บรรดาภพภูมิทั้ง ๓๑ ภูมิ ดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นภาชนะรองรับชีวิตสัตว์โลกที่เกิดขึ้นมาในจักรวาล นี้ได้อาศัยสร้างกุศลกรรมเพื่อสั่งสมบุญบารมี เพื่อความสิ้นไปแห่งทุกข์ในสังสารวัฏ หรือสร้างอกุศลกรรม เพื่อก่อสังสารวัฏให้ยาวนานต่อไปอีก ได้ทั้งสองประการ สุดแท้แต่จะเป็นบุคคล สัมมาทิฏฐิ หรือบุคคล มิจฉาทิฏฐิ

** อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า ๑๑๘ กล่าวว่า บรรดาโลกทั้งสาม คือสังขารโลก สัตวโลก และโอกาสโลก สัตว์โลกท่านประสงค์เอาในที่นี้ จริงอยู่พระตถาคตนั้น แม้เมื่ออุบัติในสัตวโลก ก็หาได้เกิด ในเทวโลก และในพรหมโลกไม่ ย่อมอุบัติขึ้นในมนุษยโลกเท่านั้น แม้ในมนุษยโลก ก็หาได้เกิดในจักรวาลอื่นไม่ ย่อมอุบัติเฉพาะในจักรวาลนี้เท่านั้น แม้ในจักรวาลนี้ ก็หาได้อุบัติในที่ทุกแห่งไม่ ย่อมอุบัติในมัชฌิมประเทศ โดยส่วนยาววัดได้ ๓๐๐ โยชน์ โดยส่วนกว้างวัดได้ ๑๕๐ โยชน์ วัดโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์

** พระตถาคตเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก หาอุบัติด้วยเหตุอื่นไม่ อนึ่งพระตถาคตหาได้อุบัติในจักรวาลนี้ แต่ลําพังพระองค์เดียวไม่ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระอัครมหา สาวกทั้งสอง พระอสีติมหาเถระ ๘๐ แม้ท่านผู้มีบุญอื่น ๆ ก็ย่อมเกิดขึ้นด้วย พระพุทธมารดา พระพุทธบิดา พระเจ้าจักรพรรดิ์ พราหมณ์คฤหบดี ผู้เป็นบุคคลสําคัญเหล่าอื่น ก็ย่อมเกิดในมัชฌิมประเทศ ในจักรวาลนี้เช่นกัน

** พระตถาคตเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมเสด็จอุบัติเพราะอาศัยความเอ็นดูแก่สัตว์โลก ย่อมเสด็จอุบัติเพื่อ ประโยชน์สุขแก่ชนหมู่มาก ถามว่า แก่สัตว์โลกไหน ? ตอบว่า เพื่อประโยชน์แก่สัตว์โลกผู้สดับพระธรรมเทศนาของ พระตถาคต ได้ดื่มน้ำอมฤตแล้วตรัสรู้ธรรม เพื่อให้ดํารงอยู่ในทางสวรรค์และนิพพาน

** พระตถาคตเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมเสด็จอุบัติเพราะอาศัยความเอ็นดูแก่สัตว์โลก แม้สัตว์อื่น มีนาค และครุฑ เป็นต้นด้วย ที่ถือปฏิสนธิเป็นสเหตุกสัตว์ ผู้สมควรทําให้แจ้งมรรคและผล

นับว่าเป็นมงคลอันสูงสุดของชาวพุทธทุกคน ที่อัตภาพนี้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ในจักรวาลนี้ ได้ศึกษา พระสัทธรรมคําสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า มิควรที่จักปล่อยให้โอกาสนี้ผ่านไป อย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง


พิมพ์