ปริยัติธรรม
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
ภัยมีในชาติหน้าเป็นไฉน ? บุคคลผู้นั้นหลังจากกายแตกตายไป ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกเพราะกรรมของตน พวกนายนิรยบาลย่อมให้ทํากรรมกรณ์อันมีเครื่องจองจํา ๕ แก่สัตว์นั้น คือ เอาหลาวเหล็กร้อนแดงตรึงไว้ที่มือขวา ๑ ที่มือซ้าย ๑ ที่เท้าขวา ๑ ที่เท้าซ้าย ๑ ที่ท่ามกลางอก ๑ สัตว์นั้นได้เสวยทุกข เวทนาเผ็ดร้อนร้ายแรงในนรกนั้น แต่ยังไม่ตาย ตราบเวลาที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น ภัยคือทุกข์โทมนัสของสัตว์นั้น เกิดขึ้นเพราะโทษของตนที่ได้กระทําไว้ มิเพียงแต่ในชาตินี้ ในชาติหน้าก็ยังต้องมาเสวยผลกรรมนั้นในนรก ดังนี้
พวกนายนิรยบาลจะลงโทษให้สัตว์นั้นนอนลง แล้วเอาผึ้งถากบ้าง เอาเท้าชี้ขึ้นข้างบนเอาหัวห้อยลง ข้างล่างแล้วเอามีดถากบ้าง เทียมสัตว์นั้นเข้าที่รถ แล้วให้วิ่งลากไปมาบนแผ่นดินที่ติดไฟทั่ว มีไฟลุกโพลงโชติช่วง ไล่ต้อนสัตว์นั้นขึ้นๆลงๆ บนภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่ไฟติดทั่วบ้าง เอาเท้าชี้ขึ้นข้างบน เอาหัวห้อยลงข้างล่างแล้ว โยนลงไปในหม้อเหล็กอันร้อนที่มีไฟติดทั่ว มีเปลวไฟลุกโพลงโชติช่วง สัตว์นั้นเดือดพล่านอยู่ในหม้อเหล็ก เหมือนฟองน้ำที่เดือด บางครั้งก็เดือดพล่านขึ้นข้างบน บางครั้งก็เดือดพล่านลงไปข้างล่าง บางครั้งก็เดือดพล่านไป ทางขวาง สัตว์นั้นได้เสวยทุกขเวทนาแสบร้อนร้ายแรงในนรกนั้น แต่ยังไม่ตาย ตราบที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้น
สัตว์ทั้งหลายในนรกนั้นมีกรรมหยาบมาก บุคคลกระทํากรรมร้ายแรง ย่อมหมกไหม้อยู่ในนรกเพราะ อกุศลกรรมเป็นปัจจัย ร่างกายของเหล่าสัตว์ที่อยู่ในนรก เสมอกับไฟที่ลุกอยู่ เถ้าและเขม่ามิได้มีเลย สัตว์เหล่านั้น พยายามแสวงหาทางที่จะออกจากนรก แต่มิสามารถจะออกไปได้ เพราะบาปกรรมที่สัตว์เหล่านั้นกระทําไว้มาก ภัยคือทุกข์ในนรกก็ดี ทุกข์ที่มีในกําเนิดสัตว์เดรัจฉานก็ดี ทุกข์ที่มีในเปรตวิสัยก็ดี ทุกข์ที่มีในมนุษย์ก็ดี ทุกข์โทมนัสนั้น เกิดแต่โทษของตนเองที่ได้กระทํามา มิใช่มารดาบิดา มิใช่พี่น้องชายพี่น้องหญิง มิใช่ผู้อื่นใดทําให้
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เราจักแสดง ชี้แจง ประกาศซึ่งความสังเวช คือ ความสะดุ้ง ความหวาดเสียว ความกลัว ความบีบคั้น ความเบียดเบียน ตามที่เราได้เห็นมาแล้ว ได้มีความสังเวชมาแล้วด้วยตนเอง ดังนี้
ภัยได้ปรากฏแก่เราแล้ว เพราะเห็นหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่ในที่มีน้ำน้อย หมู่สัตว์ผู้ดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว กระสับกระส่ายไปมา ด้วยความดิ้นรนเพราะ ตัณหา ด้วยความดิ้นรนเพราะ ทิฏฐิ ด้วยความ ดิ้นรนเพราะ กิเลส ด้วยความดิ้นรนเพราะ ทุจริต ด้วยความดิ้นรนเพราะ การกระทําชั่ว ด้วยความดิ้นรนเพราะ ผลกรรม อันกําหนัดด้วย ราคะ อันประทุษร้ายด้วย โทสะ ด้วย มานะ เป็นเครื่องผูกพัน ด้วย ทิฏฐิ เป็นเครื่องยึดถือด้วย ความฟุ้งซ่าน ที่ฟังขึ้นแล้วด้วย ความสงสัย ที่ยังไม่ถึงการปลงใจเชื่อ
ด้วยอนุสัยที่มีกําลัง ด้วยลาภ ด้วยความไม่มีลาภ ด้วยยศ ด้วยความไม่มียศ ด้วยสรรเสริญ ด้วยนินนา ด้วยสุข ด้วยทุกข์ ด้วยชาติ ด้วยชรา ด้วยพยาธิ ด้วยมรณะ ด้วยโสกะปริเทวทุกข์โทมนัส และอุปายาส
ด้วยทุกข์อันมีในนรก ด้วยทุกข์อันมีในกําเนิดสัตว์เดรัจฉาน ด้วยทุกข์อันมีในเปรตวิสัย ด้วยทุกข์อันมีในมนุษย์ ด้วยทุกข์มีการเกิดในครรภ์เป็นมูล ด้วยทุกข์มีการคลอดจากครรภ์เป็นมูล ด้วยทุกข์อันติดตามสัตว์ ผู้เกิดแล้ว ด้วยทุกข์อันเนื่องแต่ผู้อื่น ด้วยทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของตน ด้วยทุกข์อันเกิดแต่ความขวนขวายของผู้อื่น ด้วยทุกข์อันเกิดแต่ทุกขเวทนา ด้วยทุกข์อันเกิดแต่สังขาร ด้วยทุกข์อันเกิดแต่ความแปรปรวน ด้วยทุกข์เพราะเกิดแต่โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เชื่อมซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด โรคหูด โรคละลอก โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง อาพาธที่มีดีเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่มีเสมหะเป็นสมุฏฐาน อาพาธที่มีลมเป็นสมุฏฐาน อาพาธสันนิบาต อาพาธเกิดแต่ฤดูแปรปรวน อาพาธเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ อาพาธเกิดแต่ทำความเพียรเกินกำลัง อาพาธเกิดแต่วิบากกรรม ความหนาว ความร้อน ความหิว ความกระหายปวดอุจจาระปัสสาวะ ด้วยทุกข์เกิดแต่สัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน
ด้วยทุกข์เพราะมารดาตาย ด้วยทุกข์เพราะบิดาตาย ด้วยทุกข์เพราะพี่ชายน้องชายตาย ด้วยทุกข์เพราะพี่หญิงน้องหญิงตาย ด้วยทุกข์เพราะบุตรตาย ด้วยทุกข์เพราะธิดาตาย ด้วยทุกข์เพราะญาติตาย ด้วยทุกข์เพราะความเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ ด้วยทุกข์เพราะความเสื่อมแห่งโรค ด้วยทุกข์เพราะความเสื่อมแห่งศีล ด้วยทุกข์เพราะความเสื่อมแห่งทิฏฐิ ทุกข์เหล่านี้เราเห็นหมู่สัตว์ทั้งหลายดิ้นรนอยู่ เหมือนปลาทั้งหลายดิ้นรนอยู่ในที่มีน้ำน้อย คือแอ่งที่น้ำจะแห้งไป อันนกกา นกตะกรุม นกยาง พากันลงมาจิก เฉี่ยว ฉุดขึ้นกินอยู่ ปลาเหล่านั้นย่อมดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว กระสับกระส่ายไปมา ฉันใด หมู่สัตว์ทั้งหลายย่อมดิ้นรน กระเสือกกระสน ทุรนทุราย หวั่นไหว กระสับกระส่ายไปมา ด้วยความดิ้นรนเพราะตัณหา มานะ ทิฏฐิ ฉันนั้นเหมือนกัน
สัตว์ทั้งหลายทำร้ายกันและกัน กระทบกระทั่งกัน ประหัตประหารกัน พวกพระราชาก็วิวาทกับพวกพระราชา พวกกษัตริย์ก็วิวาทกับพวกกษัตริย์ พวกพราหมณ์ก็วิวาทกับพวกพราหมณ์ พวกคฤหบดีก็วิวาทกับพวกคฤหบดี มารดาก็วิวาทกับบุตร บุตรก็วิวาทกับมารดา บิดาก็วิวาทกับบุตร บุตรก็วิวาทกับบิดา พี่น้องชายก็วิวาทกับพี่น้องชาย พี่น้องหญิงก็วิวาทกับพี่น้องหญิง สหายก็วิวาทกับสหาย สัตว์เหล่านั้นถึงความทะเลาะ ความแก่งแย่ง ความวิวาทกัน เพราะการทำร้ายกันและกัน เพราะกามเป็นปัจจัย ย่อมประทุษร้ายกันและกันด้วย มือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง สัตว์เหล่านั้นย่อมถึงความตายบ้าง ย่อมถึงทุกข์ปางตายบ้าง เพราะวิวาทกัน เพราะการทำร้ายกันและกัน ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า
ภัยได้ปรากฏแก่เราแล้ว เพราะเห็นหมู่สัตว์ดิ้นรนอยู่
เหมือนปลาทั้งหลาย ดิ้นรนอยู่ในแอ่งที่มีน้ำน้อย
เพราะเห็นสัตว์ทั้งหลาย เบียดเบียนทำร้ายกันและกัน
พระบรมศาสดายังตรัสอีกว่า โลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร โลกนรก โลกกำเนิดเดรัจฉาน โลกเปรตวิสัย โลกมนุษย์ โลกเทวดา โลกพรหม โลกขันธ์ โลกธาตุ โลกอายตนะ ไม่มีแก่นสาร ปราศจากแก่นสาร โดยแก่นสารที่เป็นของเที่ยง โดยแก่นสารที่เป็นสุข โดยแก่นสารที่เป็นตัวตน โดยความเป็นสภาพยั่งยืน โดยความเป็นสภาพมั่นคง หรือโดยความเป็นธรรมไม่มีความแปรปรวน เหล่านี้ ชื่อว่าโลกทั้งหมดไม่มีแก่นสาร
สังขารทั้งหลายเหล่าใดในทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ในทิศเหนือ ในทิศใต้ ในทิศอาคเนย์ ในทิศพายัพ ในทิศอีสาน ในทิศหรดี ในทิศเบื้องต่ำ ในทิศเบื้องบน ทั้งสิบทิศ สังขารเหล่านั้นก็หวั่นไหว เคลื่อนไหว สะเทือน เพราะเป็นสภาพไม่เที่ยง จึงถูกชาติติดตาม ถูกชราห้อมล้อม ถูกพยาธิครอบงำ ถูกมรณะ กําจัด ตั้งอยู่ในกองทุกข์ ไม่มีที่ต้านทาน ไม่มีที่หลีกเร้น ไม่มีที่พึ่ง สมจริงตามภาษิตนี้ว่า
โลกอันมัจจุกำจัด อันชราห้อมล้อม ถูกลูกศรคือตัณหาเสียบติดอยู่ โลกนี้ลุกเป็นควัน เพราะสัตว์ทั้งหลายมีความปรารถนาทุกเมื่อ โลกทั้งปวงอันไฟติดทั่ว โลกทั้งปวงอันไฟให้ลุกรุ่งโรจน์อยู่ โลกทั้งปวงหวั่นไหวแล้ว เราไม่เห็นซึ่งฐานะอะไร อันไม่ถูกครอบงำ เพราะ
ความเป็นหนุ่มสาวทั้งปวง ถูกชราครอบงำ
ความเป็นผู้ไม่มีโรคทั้งปวง ถูกพยาธิครอบงำ
ชีวิตทั้งปวง ถูกมรณะครอบงำ
ลาภทั้งปวง ถูกความไม่มีลาภครอบงำ
ยศทั้งปวง ถูกความไม่มียศครอบงำ
สรรเสริญทั้งปวง ถูกนินทาครอบงำ
สุขทั้งปวง ถูกทุกข์ครอบงำ
โลกทั้งหมดไม่เป็นแก่นสาร ทิศทั้งปวงคือสังขารทั้งหลายหวั่นไหวแล้ว ด้วยประการ ฉะนี้ เมื่อเราปรารถนาที่จะพำนักเพื่อตน เราไม่เห็นฐานะอะไรๆ อันไม่ถูกครอบงำ เพราะเราได้เห็น ที่สิ้นสุด คำว่า ที่สิ้นสุด ได้แก่
ชรา ยังความเป็นหนุ่มสาวทั้งปวง ให้สิ้นสุดไป
พยาธิ ยังความเป็นผู้ไม่มีโรคทั้งปวง ให้สิ้นสุดไป
มรณะ ยังชีวิตทั้งปวง ให้สิ้นสุดไป
ความไม่มีลาภ ยังลาภทั้งปวง ให้สิ้นสุดไป
นินทา ยังสรรเสริญทั้งปวง ให้สิ้นสุดไป
ความทุกข์ ยังความสุขทั้งปวงให้สิ้นสุดไป เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่สิ้นสุด
เมื่อปรารถนาที่จะพำนักเพื่อตน เราไม่เห็นฐานะอะไรๆ อันไม่ถูกครอบงำ เพราะเราได้เห็น ที่สะกัดกั้น คําว่า ที่สะกัดกั้น ได้แก่
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาความเป็นหนุ่มสาว ถูกชรา สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาความไม่มีโรค ถูกพยาธิ สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาชีวิต ถูกมรณะ สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาลาภ ถูกความไม่มีลาภ สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนายศ ถูกความไม่มียศ สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาสรรเสริญ ถูกนินทา สะกัดกั้นไว้
สัตว์ทั้งหลาย ผู้ปรารถนาสุข ถูกทุกข์ ปิดไว้ สะกัดกั้นไว้ เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ที่สะกัดกั้น
เพราะได้เห็นที่สิ้นสุด และที่สะกัดกั้น เราได้เทียบเคียง พิจารณา ตรวจตรา ทำให้แจ่มแจ้งในธรรม เหล่านี้ ความไม่ยินดีจึงมีแก่เรา อนึ่งเราได้เห็นลูกศรอันเห็นได้ยาก ซึ่งอาศัยอยู่ในหทัยสัตว์ทั้งหลายนั้น คือ
ลูกศรคือราคะ ลูกศรคือโทสะ ลูกศรคือโมหะ ลูกศรคือมานะ ลูกศรคือทิฏฐิ ลูกศรคือความโศก ลูกศรคือความสงสัย สัตว์อันลูกศรใดปักติดแล้วย่อมแล่นพล่านไปทุกทิศ ย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจย่อมฆ่าสัตว์บ้าง ลักทรัพย์บ้าง คบชู้ภรรยาของชายอื่นบ้าง พูดเท็จบ้าง สัตว์อันลูกศรคือราคะ โทสะ โมหะปักติดแล้ว เสียบแน่นคาอยู่แล้ว ย่อมแล่นพล่าน วนเวียนท่องเที่ยวไป จากคตินี้สูคติโน้น จากอุปบัตินี้ สู่อุปบัติโน้น จากปฏิสนธินี้สู่ปฏิสนธิโน้น จากภพนี้สู่ภพโน้น จากสงสารนี้สู่สงสารโน้น จากวัฏฏะนี้สู่วัฏฏะโน้น เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สัตว์อันลูกศรใดปักติดแล้ว ย่อมแล่นพล่านไปทุกทิศ
ครั้นถอนลูกศรนั้นเสียแล้ว ย่อมไม่แล่นไป ย่อมไม่ล่มจม เมื่อสัตว์ดึงออก ชักออก ฉุดออกซึ่งลูกศร เหล่านั้นย่อมไม่แล่นไปในคติไม่แล่นไปในนรกไม่ท่องเที่ยวไป จากคตินี้สู่คติโน้น จากภพนี้สู่ภพโน้น จากสงสารนี้สู่สงสารโน้น จากวัฏฏะนี้สู่วัฏฏะโน้น ย่อมไม่จมลงไม่ตกลงไปในกามโอฆะ ในภวโอฆะ ในทิฏฐิโอฆะ ในอวิชชาโอฆะ
นี้คือ ขันธ์ ธาตุ อายตนะ ของสัตว์ผู้ท่องเที่ยวไปในท่ามกลางสังสารวัฏ ด้วยกิเลส กรรม และวิบาก ย่อมได้เสวยภัยนานาประการเห็นปานนี้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวัฏฏะทุกข์ ตราบที่ ยังมีชาติคือความเกิด ท่านจึงกล่าวไว้ว่า ความเกิดแห่งขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ กองทุกข์ทั้งมวลมีชาติเป็นเหตุ มีชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาสเป็นปริโยสาน ด้วยประการฉะนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้ทรงคุณอันประเสริฐ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ทรงพาให้ผู้อื่นได้รู้ด้วย เมื่อพระองค์ ข้ามโลกได้แล้ว ทรงพาผู้อื่นข้ามไปด้วย เพราะพระองค์ทรงเห็นว่ามหาสมุทรคือวัฏสงสารมีภัยมาก นับว่าเป็น พระมหากรุณาคุณอันยิ่งใหญ่ สําหรับสัตว์โลกทั้งหลาย พระองค์ทรงแสดงธรรม เพื่อให้สัตว์ทั้งหลายได้ข้ามพ้นจาก ทุกข์ในวัฏฏะ ด้วยน้ำพระเมตตาที่เปรียบเสมือนน้ำฝนที่ตกจากภูเขาหิมพานต์ ความชุ่มเย็นย่อมไหลท่วมทับ ชะล้างเอาก้อนหิน ก้อนกรวด ไม้แห้ง เขื่อนดิน รากไม้กิ่งไม้ที่ขวางทางอยู่ลงไปสู่แม่น้ำคงคา ฉะนั้น
พระพุทธคุณอันหาประมาณมิได้นี้ ไม่ว่าพระองค์จะประทับอยู่ ณ ที่ใด เสด็จดำเนินไปในที่ใด จะทรงชี้ ชวนให้ภิกษุทั้งหลาย มองเห็นภัยในวัฏฏะ ทรงสอนให้หาทางออกจากวัฏฏะ จากสิ่งที่ปรากฏเฉพาะหน้าเสมอๆ แม้จะผ่านกองไฟ ผ่านสายน้ำ ที่แม้จะเห็นเพียงขอนไม้ที่ลอยมาในแม่น้ำคงคา เป็นต้น
สังยุตตนิกาย เล่ม ๔ ภาค ๑ หน้า ๔๐๔-๕๓๐ ปฐมทารุขันธสูตร พระผู้มีพระภาคทรงอุปมาการท่องเที่ยวในสังสารวัฏ กับท่อนไม้ที่ลอยน้ำในแม่น้ำคงคา แก่ภิกษุทั้งหลาย ความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคาแห่งหนึ่ง ทอดพระเนตรเห็นท่อนไม้ใหญ่ ท่อนหนึ่ง ที่กระแสน้ำพัดลอยมาในแม่น้ำคงคา ทรงชี้ให้ภิกษุดู แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ก็ดุจเดียวกับไม้ท่อนนั้นที่กํลังลอย ออกไปสู่สมุทร ถ้าท่อนไม้จะไม่เข้ามาใกล้ฝั่งนี้ หรือฝั่งโน้น จักไม่จมเสียในท่ามกลาง จักไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรือ อมนุษย์จับเอาไว้ ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้ จักไม่เน่าในภายใน ท่อนไม้นั้นก็จักลอย ไหลเลื่อนไปสู่มหาสมุทรได้ อย่างปลอดภัย เพราะเหตุว่ากระแสน้ำ แห่งแม่น้ำคงคา ลุ่มลาดไหลไปสู่สมุทร ฉันใด
ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ถ้าท่านทั้งหลายจะไม่แวะเข้าฝั่งข้างนี้ หรือฝั่งข้างโน้น ไม่จมลงในท่ามกลาง ไม่เกยบก ไม่ถูกมนุษย์หรืออมนุษย์จับไว้ไม่ถูกเกลียวน้ำวน ๆ ไว้ ไม่เป็นผู้เน่าใน ท่านทั้งหลายจักโน้มเอียงโอน ไปสู่นิพพาน เพราะเหตุว่า ผู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิย่อมโน้มเอียงโอนไปสู่นิพพาน ฉันนั้น
ภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฝั่งนี้ได้แก่อะไร ? ฝั่งโน้นได้แก่อะไร ? การจมลง ในท่ามกลางได้แก่อะไร การเกยบกได้แก่อะไร ? มนุษย์ผู้จับคือใคร ? อมนุษย์ผู้จับคือใคร ? เกลียวน้ำวนได้แก่อะไร ? ความเป็นผู้เน่าภายในคืออย่างไร ? พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ภิกษุทั้งหลาย
ฝั่งนี้ เป็นชื่อของ อายตนะภายใน ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ฝั่งโน้น เป็นชื่อของ อายตนะภายนอก ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธัมมารมณ์
จมลงในท่ามกลาง เป็นชื่อของ นันทิราคะ คือ ตัณหา
เกยบก เป็นชื่อของ อัสมิมานะ มานะว่าเราดีกว่า
มนุษย์ผู้จับ เป็นชื่อของ การคลุกคลีกับคฤหัสถ์
อมนุษย์ผู้จับ เป็นชื่อของ บุคคลผู้มีความเห็นผิด ว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้ เพียงด้วยศีลและวัตร
เกลียวน้ำวน เป็นชื่อแห่ง กามคุณ ๕ คือความพอใจยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ
ป็นผู้เน่าในภายใน เป็นชื่อของผู้ที่มี ายชุ่มด้วยกาม ดุจขยะมูลฝอย
ภิกษุใดเป็นผู้ไม่สํารวมอินทรีย์ เมื่ออายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับอายตนะ
ภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐพพะ และธัมมารมณ์แล้ว ยินดีในรูปที่น่าปราถนา ยึดอายตนะเหล่านี้ ด้วยอํานาจของตัณหา มานะ ทิฏฐิให้จมลงในท่ามกลาง เหมือนทรายละเอียดและหยาบ ปิดท่อนไม้ที่จมลงตรง กลาง ท่อนไม้นั้นไม่สามารถจะยกปลายขึ้นได้อีก ฉันใด บุคคลผู้ถูก ตัณหา ติดพันแล้วก็ฉันนั้น ตกไปในอบาย ๔ ถูกทุกข์ใหญ่บีบคั้น เขาไม่สามารถเงยศีรษะขึ้นได้อีกหลายพัน หลายหมื่นปี
บุคคลที่ถือตัวด้วย อัสมิมานะ ก็เช่นเดียวกัน ถือตัวว่าเป็นผู้ถือบังสุกุลเป็นวัตร เป็นพระธรรมกถึก เป็นผู้รักษาเรือนคลัง บุคคลนั้นถึงการแสวงหาที่ไม่สมควร ถูกอาบัติผูกพันไว้เปรียบเหมือนท่อนไม้ที่งอกขึ้นบนบก ท่อนล่างแช่อยู่ในแม่น้ำคงคา ท่อนบนเปียกน้ำฝน ถูกสาหร่ายหุ้มรัดไว้โดยลำดับ ก็จะถูกคนทั้งหลายเห็นว่า ตอนั้น เป็นแผ่นหินหรือ ฉันใด บุคคลผู้ถือตัวด้วยอัสมิมานะก็ ฉันนั้น
บุคคลใดผู้ตกไปในวังวน คือ กามคุณ ๕ ก็เช่นเดียวกัน ถูกทุกข์อันเกิดแต่ความหิวกระหายเป็นต้น กระทบกระทั่งบีบคั้น เพราะถูกการลงโทษในอบาย ๔ ถึงความแหลกละเอียดตลอดกาลนานเหมือนท่อนไม้ที่ตกไป ในน้ำวน ถูกกระแทกที่แผ่นหินเป็นต้น แหลกละเอียดภายในที่นั้นนั่นเอง
บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล เป็นผู้มีธรรมอันลามก มีความประพฤติน่ารังเกียจ แต่แสดงตนว่าแม้เราก็เป็นพรหมจารี เป็นผู้มีราคะอันชุ่มแล้ว เกิดเป็นหยากเยื่อ ชื่อว่า เป็นผู้เน่าภายใน
บุคคลผู้เป็น มิจฉาทิฏฐิ พึงทราบว่าเหมือนต้นไม้ที่เกิดที่พื้นภูเขา ไกลแม่น้ำคงคา ถูกปลวกเป็นต้น กัดกินล้มตายลงในที่นั้น หรือต้นไม้ที่ตั้งอยู่ในระหว่างแผ่นหิน ๒ แผ่น มีรากฝังอยู่แน่น จึงไม่สามารถหยั่งลงสู่ กระแสอริยมรรค และไม่เป็นเหตุแห่งการบรรลุพระนิพพานได้
ขุททนิกาย สุตตนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๕ หน้า ๒๘-๒๙ และอรรถกถา อุรคสูตร กล่าวว่า อายตนะภายใน ๖ ชื่อว่า ฝั่งใน อายตนะภายนอก ๖ ชื่อว่า ฝั่งนอก มนุษยโลกชื่อว่า ฝั่งใน เทวโลก ชื่อว่า ฝั่งนอก กามธาตุชื่อว่า ฝั่งใน รูปธาตุและอรูปธาตุชื่อว่า ฝั่งนอก กามภพและรูปภพชื่อว่า ฝั่งใน อรูปภพ ชื่อว่า ฝั่งนอก อัตภาพชื่อว่า ฝั่งใน อุปกรณ์แห่งความสุขของอัตภาพชื่อว่า ฝั่งนอก กิเลสทั้งหลายที่บุคคลยังละ ไม่ได้ ย่อมนอนเนื่องอยู่ในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ของบุคคลเหล่านั้น ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า
ไฟที่จะเสมอด้วยราคะไม่มี บุคคลย่อมเร่าร้อนด้วยกามราคะ
สัตว์เหล่าใดถูกราคะย้อมแล้ว ย่อมตกลงไปสู่กระแสแห่งกิเลส
ประดุจแมลงมุมตกลงไปสู่สายใยที่ตนเองทําไว้ ฉะนั้น
บุรุษผู้มีตัณหาเป็นเพื่อน ท่องเที่ยวไปอยู่ตลอดกาลนาน
ย่อมไม่ข้ามพ้นสังสารวัฏ
ซึ่งมีความเป็นอย่างนี้เป็นธรรมดา ไม่มีความเป็นอย่างอื่นจากนี้
กิเลสนั้นนอนเนื่องอยู่ใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ เปรียบเหมือนรสแห่งแผ่นดินซึ่งติดอยู่ที่ต้นไม้ ตราบใด ที่เหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องกางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ย่อมท่องเที่ยวไปมาอยู่ในโลกทั้งสามคือ มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก จากมนุษยโลกไปสู่เทวโลก จากเทวโลกไปสู่พรหมโลก หรือจากเทวโลกกลับมาสู่มนุษยโลก เป็นต้น วนเวียนอยู่ด้วย กิเลสวัฏ กรรมวัฏ และวิปากวัฏ อย่างไม่รู้ที่สิ้นสุด