ปริยัติธรรม
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
คําว่า สังสาร หมายถึง การท่องเที่ยวไปอย่างไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย
คําว่า วัฏฏะ หมายถึง การหมุนไปสู่ภพภูมิต่าง ๆ คือเวียนไปสู่สุคติภูมิ หรือทุคติภูมิเป็นต้น
ความหมายของคําว่า สังสารวัฏ ในพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้ ๒ ประการคือ กล่าวโดยสภาวธรรม และกล่าวโดยสัตว์บุคคล
กล่าวโดยสภาวธรรม ได้แก่ ลําดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะที่หมุนไปสู่ภพ ๓ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยไม่ขาดระยะ ไม่รู้เบื้องต้นเบื้องปลาย ดังที่ท่านกล่าวไว้ในคัมภีร์ชินาลังการฎีกาว่า
ขนฺธานญฺจ ปฏิปาฏิ ธาตุอายตนานญฺจ อพฺโพจฺฉินฺนํ วตฺตมานา สํสาโรติ ปวุจฺจติ ฯ
แปลว่า ลําดับแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะที่เป็นไปไม่ขาดสาย ชื่อว่า สังสารวัฏ
ขันธ์ ได้แก่ ขันธ์ ๕ คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์
ธาตุ ได้แก่ ธาตุ ๑๘ ในพระอภิธรรม ท่านประสงค์ที่จะแสดงสภาวะที่เกี่ยวเนื่องในสันดานของสัตว์
โดยอาศัยทวาร อารมณ์ และวิญญาณอย่างละ ๖ หมวด คือ
โดยทวาร ได้แก่ จักขุธาตุ โสตธาตุ ฆานธาตุ ชิวหาธาตุ กายธาตุ และมโนธาตุ
โดยอารมณ์ ได้แก่ รูปธาตุ สัททธาตุ คันธธาตุ รสธาตุ โผฏฐพพธาตุ และธัมมธาตุ
โดยวิญญาณ ได้แก่ จักขุวิญญาณธาตุ โสตวิญญาณธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ กายวิญญาณธาตุ และมโนวิญญาณธาตุ
อายตนะ ได้แก่ อายตนะ ๑๒ คือ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
อายตนะภายใน อายตนะที่มีอยู่ในกายตน ได้แก่ จักขวายตนะ โสตายตนะ ฆานายตนะ ชิวหายตนะ กายายตนะ และมนายตนะ
อายตนะภายนอก อารมณ์ที่โน้มน้าวเข้ามาสู่อายตนะภายใน ให้เกิดความรู้ความเห็น ได้แก่ รูปายตนะ สัททายตนะ คันธายตนะ รสายตนะ โผฏฐพพายตนะ และธัมมายตนะ
กล่าวโดยสัตว์บุคคล ได้แก่ ชีวิตของสัตว์โลกที่เวียนว่ายตายเกิดไปสู่ภพภูมิต่างๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด จากภพนี้สู่ภพโน้น จากภพโน้นกลับมาสู่ภพนี้
ชีวิตของสัตว์โลกที่ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่าง ๆ ก็ด้วยอํานาจของ อวิชชา คือ ความไม่รู้ในธรรม ๘ ประการ คือ ไม่รู้ทุกข์ ๑ ไม่รู้เหตุที่ทําให้ทุกข์เกิด ๑ ไม่รู้วิธีที่จะดับทุกข์ ๑ ไม่รู้ข้อปฏิบัติที่จะทําให้ทุกข์ดับ ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุในอดีต ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุในอนาคต ๑ ไม่รู้ขันธ์ อายตนะ ธาตุทั้งในอดีตและอนาคต ๑ ไม่รู้ปฏิจจสมุปบาท คือธรรมที่เป็นปัจจัยอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ๑
อวิชชา ย่อมปกปิด หุ้มห่อ ไม่ให้เพื่อรู้ไม่ให้เพื่อเห็น เพื่อแทงตลอดความจริงแห่งขันธ์ ธาตุ อายตนะ ในกาลทั้ง ๓ คือ อดีต อนาคต ทั้งอดีตและอนาคต และไม่รู้นามรูปที่เป็นปัจจัยในธรรมทั้งหลายที่อาศัยกันเกิดขึ้น
เพราะความไม่รู้ทั้ง ๘ ประการนี้ ย่อมยังสัตว์ให้แล่นไปในสังสารวัฏ ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่าง ๆ ด้วยอํานาจของกุศลและอกุศล คือ อปุญญาภิสังขาร ปุญญาภิสังขาร และอเนญชาภิสังขาร
อปุญญาภิสังขาร (อกุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปใน อบายภูมิ ๔
ปุญญาภิสังขาร (กุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปใน กามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๖
อเนญชาภิสังขาร (กุศลเจตนา) เป็นปัจจัยให้ท่องเที่ยวไปใน อรูปภูมิ ๔
ผู้ใดที่ถูกอวิชชาครอบงํา ย่อมไม่รู้ในทุกข์ ไม่รู้ในเหตุที่ทําให้ทุกข์เกิด ไม่รู้วิธีดับทุกข์ ไม่รู้ในข้อปฏิบัติที่จะทําให้ทุกข์ดับ จึงเป็นเหตุให้ธรรมทั้งหลายมีสังขารเป็นต้น อาศัยอวิชชาเกิดขึ้นในอายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ที่พอใจหรือเอาใจใส่เป็นพิเศษ อันเป็นเหตุให้มีกําลังเกิดขึ้นบ่อย ๆ ติดต่อกันเสพอารมณ์นั้นโดยไม่มีระหว่างคั้น แม้อวิชชาที่ยังไม่เกิดก็ยังทําให้เกิดขึ้นเป็นปัจจัย เพราะความที่ปราศจากกันไม่ได้
อวิชชา จึงพาสัตว์ผู้ไม่รู้แล่นไปในสังสารวัฏ กระทํากุศลบ้าง อกุศลบ้าง เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำพาสัตว์ทั้งหลายให้ท่องเที่ยวไปในภพภูมิต่างๆ ด้วยอํานาจของปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยกันและกันเป็นปัจจัยเกิดขึ้น วนเวียนอยู่ในวงจรของ กิเลสวัฏ กรรมวัฏ วิปากวัฏ อันเป็นเครื่องหมุนเวียนให้สัตว์ข้องอยู่ในวัฏฏะทุกข์ ด้วยอํานาจของ ตัณหา คือความยินดีพอใจ เป็นเหตุให้สัตว์กระทํากรรมทางกาย ทางวาจา ทางใจ เมื่อสัตว์กระทำกรรมแล้ว
กรรมนั้นก็ให้วิบากคือผลของกรรมที่ได้กระทําลงไป ถ้าได้รับผลที่ถูกใจก็มีความยินดี พอใจ ติดใจ หมกมุ่น มัวเมา เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ ราคะ ถ้าได้รับผลไม่เป็นที่ชอบใจ ก็มีความไม่พอใจ เสียใจ โกรธแค้น ขุ่นเคือง เป็นเหตุให้เกิดกิเลสคือ โทสะ ทั้งนี้ ด้วยอวิชชาความไม่รู้เท่าทันในธรรม ๘ ประการ คือ โมหะ เมื่อกิเลสเกิดขึ้น ก็เป็นเหตุให้สัตว์นั้นกระทํากรรมอีก เมื่อสัตว์กระทํากรรมก็ย่อมได้รับวิบาก อันเป็นผลของกรรม วนเวียนเป็นวัฏฏะ แห่งทุกข์เช่นนี้ อย่างมิรู้จบสิ้น ไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ยังหาทางออกจากวัฏฏะมิได้
อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่มที่ ๒ หน้า ๑๖๓-๑๖๗ ปฐมโรหิตสสสูตร
เทวบุตรชื่อโรหิตัสสะเข้าไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในที่สุดโลกใด สัตว์ ที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ บุคคลอาจรู้ หรือเห็น หรือไปถึงซึ่งที่สุดนั้นด้วยการเดินทางไปได้หรือไม่?
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า อาวุโสสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น บุคคลไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็น ไม่พึ่งไปถึงได้ด้วยการเดินทางไป
โรหิตัสสะทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ความเห็นของข้าพระองค์ ตรงตามที่พระองค์ตรัสโดยแน่แท้ว่า ในที่สุดโลกใด สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ บุคคลไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็น ไม่พึ่งไปถึงได้ด้วยการเดินทางไป
ในกาลก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเป็นฤาษีชื่อโรหิตัสสะ เป็นบุตรนายบ้าน มีฤทธิ์ไปในอากาศได้ ความเร็ว ของข้าพระองค์นั้น เปรียบได้กับนายขมังธนูผู้กํายํา ที่ฝึกหัดธนูศิลป์แล้วอย่างดีจนชํานิชํานาญสําเร็จการยิงแล้ว และยิงลูกธนูอันเบา มีการปะทะน้อย สามารถยิงให้ผ่านเงาต้นตาลทางขวางได้
การย่างเท้าก้าวหนึ่งของข้าพระพุทธเจ้า ระยะเท่ากับจากมหาสมุทรเบื้องตะวันออก ถึงมหาสมุทรเบื้อง ตะวันตก ข้าพระองค์ยืนอยู่ที่ขอบปากแห่งจักรวาลเบื้องตะวันออก เหยียดเท้าผ่านขอบปากแห่งจักรวาลเบื้อง ตะวันตก เหยียดเท้าก้าวที่สองผ่านขอบจักรวาลอื่น โดยไม่ชักช้า ข้าพระพุทธเจ้าผู้มีความเร็วและก้าวเท้าเห็นปานนี้ มีความปรารถนาเกิดขึ้นว่า จักไปให้ถึงที่สุดโลก |
ข้าพระองค์เว้นจากการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การนอน การหยุดพักเหนื่อย และใน เวลาภิกขาจาร ข้าพระองค์สีไม้สีฟันนาคลดา ล้างหน้าในสระอโนดาต เมื่อได้เวลาก็เที่ยวบิณฑบาตในอุตตรกุรุทวีป นั่งที่ขอบปากจักรวาลกระทําภัตกิจ หยุดพัก ณ ที่นั้นครู่หนึ่งก็โลดแล่นต่อไปอีก
ข้าพระพุทธเจ้ามีอายุกว่า ๑๐๐ ปี ดํารงชีวิตอยู่ตลอด ๑๐๐ ปี เดินทางไปจนสิ้น ๑๐๐ ปี ก็หาถึงที่สุด โลกไม่ ข้าพระองค์ตายเสียในระหว่างทางนั่นเอง เมื่อทํากาละในที่นั้นแล้ว จึงมาบังเกิดในจักรวาลนี้ พระพุทธเจ้าข้า
สมจริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่าสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เรากล่าวว่าที่สุดโลกนั้น
บุคคลไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็น ไม่พึงไปถึงด้วยการเดินทางไป
แต่ว่าเมื่อยังไม่ถึงที่สุดโลกแล้ว จักพ้นจากทุกข์ได้เป็นไม่มี
เพราะเหตุนั้น ผู้มีปัญญาที่รู้จักโลก ถึงที่สุดโลก อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
รู้ที่สุดโลก สงบบาปแล้ว ย่อมไม่ปรารถนาทั้งโลกนี้และโลกอื่น.
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้โลก ถึงที่สุดแห่งโลกด้วยพระญาณ แต่ฤาษีโรหิตัสสะใช้เวลาตลอดชีวิต ๑๐๐ ปี เพื่อค้นหาคําตอบ ชีวิตของฤาษีโรหิตัสสะ จึงเป็นชีวิตที่รองรับพระพุทธญาณของพระพุทธองค์ได้อย่างชัดเจน