ปริยัติธรรม
หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ
อสุรกายภูมิ ตั้งอยู่ภายใต้ภูเขาสิเนรุราชที่ตั้งอยู่ในท่ามกลางจักรวาล เชิงเขาสิเนรุราชหยั่งลง ในระหว่างเขาตรีกูฏ ๔,๐๐๐ โยชน์ ประดุจภาชนะที่ตั้งไว้เหนือเตา รองรับสิเนรุราชมิให้ไหวโคลง ในระหว่างเขา ตรีกฏโดยยาวและกว้าง ๑๐,๐๐๐ โยชน์ เป็นที่อยู่แห่งอสูรทั้งปวง เมืองอสูรนั้นตั้งอยู่เหนือพื้นดินฝุ่นในจักรวาล พื้นนครอสูร ดารดาษไปด้วยทรายแก้ว
** วรรณกรรมรัตนโกสินทร์ หน้า ๑๐๐๔-๑๐๒๘ กล่าวถึงภพอสูรว่า เมืองอสูรตั้งอยู่ใต้เชิงภูเขา สิเนรุราช ตั้งเป็น ๔ เมือง ๔ ทิศเปรียบเหมือนก้อนเส้าทั้ง ๔ ในระหว่างอสูรบุรี มีต้นแคฝอยสูง ๑๐๐ โยชน์ เป็นต้นไม้ประจําเมืองอสูร ลําต้นและกิ่งแลปริมณฑลรอบร่มแห่งแคฝอย เท่ากับต้นปาริชาติในดาวดึงส์พิภพ อสูรบุรีแวดล้อมด้วยกําแพงทองเหมือนกันทั้ง ๔ เมือง แต่ละเมืองมีซุ้มทวาร ๑,๐๐๐ ภายนอกมีคู และแถวตาล มีอุทยานและสระโบกขรณีเหมือนในดาวดึงส์ ภายใต้ต้นแคฝอยมีโรงที่ประชุมอยู่ ๔ ทิศ มีศิลา ๔ แผ่นดาดอยู่ทิศ ละแผ่น เป็นพื้นแห่งโรงประชุม ศิลาแต่ละแผ่นกว้างใหญ่ ๓๐ โยชน์เป็นที่ประทับของพญาอสูรทั้ง ๔ ในเวลาประชุม ตามอสูรราชประเพณี ในอสูรพิภพนั้นสว่างไสวด้วยรัศมีแก้วเหมือนกับนาคพิภพ
** อรรถกถาจูฬตัณหาสังขยสูตร กล่าวว่า สถานที่ชื่อว่า ภพอสูรอยู่ที่พื้นเบื้องล่างของภูเขาสิเนรุราช ประมาณเท่าดาวดึงส์เทวโลกที่อยู่เหนือยอดเขาสิเนรุราช เมืองอสูรบังเกิดอยู่บนหลังทรายแก้วเหนือแผ่นดินฝุ่น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า แผ่นดินศิลาตั้งอยู่ในส่วนเบื้องล่างของแผ่นดินฝุ่น ผาสามเส้าตั้งอยู่บนแผ่นดินศิลา พญาเขา สิเนรุราชตั้งอยู่บนผาสามเส้านั้น ภพอสูรตั้งอยู่ ณ ที่นั้น ทรายแก้วตั้งอยู่บนจอมแผ่นดินศิลา ภายนอกผาสามเส้านั้น น้ำทะเลตั้งอยู่บนทรายแก้ว พวกนาคอยู่เบื้องล่างทรายแก้วในน้ำนั้น ทั้งน้ำทั้งทรายแก้วต่างเปิดช่องในเวลาที่พวก อสูรและนาคผ่านไปมา แม้น้ำในหนทางก็ปรากฏด้วยอานุภาพของอสูรและนาคเหล่านั้น น้ำในที่นั้นมีประมาณ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ นอกนั้นเป็นระเบียงเขาสิเนรุราช
** ฎีกาอัฏฐนิบาต อังคุตตรนิกายแสดงว่า ภพของอสูรมีอยู่ ณ ส่วนภายใต้เขาสิเนรุราช เหล่าอสูร เมื่อจะอยู่ในภพนั้นก็ดี ย่อมนิรมิตมณฑปเป็นต้นที่เชิงเขาสิเนรุ แล้วเล่นเพลิดเพลินอยู่ในมหาสมุทร เพราะฉะนั้น ภายใต้ของภูเขาสิเนรุก็ดี มหาสมุทรตอนใกล้เชิงเขาสิเนรุก็ดี ภายนอกจากเขาสิเนรุก็ดี เป็นที่อยู่ของพวกอสูร
** จักรวาลทีปนี หน้า ๑๔๗-๑๕๔ กล่าวถึงความบังเกิดขึ้นแห่งภพอสูรว่า แต่เดิมอสูรพิภพตั้งอยู่ ในดาวดึงส์พิภพ ต่อมาในสมัยที่มาฆมาณพพร้อมด้วยสหาย ๓๒ คน ขึ้นมาบังเกิดเป็นท้าวสักกะในภพดาวดึงส์ เหล่าอสูรที่อาศัยอยู่ในเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คิดว่าจะต้อนรับพวกเทวบุตรใหม่ จึงจัดงานดื่มน้ำคัณฑบาลเลี้ยงฉลอง
ท้าวสักกะได้นัดหมายกับสหายเทวบุตรว่า พวกท่านจงอย่าดื่มน้ำคัณฑบาล ซึ่งเป็นน้ำหวานพิเศษชนิด หนึ่ง แต่มีรสอร่อยยิ่งนัก เมื่อดื่มแล้วจะเมา นอนสลบไสลจนมิอาจยกศีรษะขึ้นได้
ส่วนอสูรเทวดาเจ้าถิ่น ดื่มน้ำคัณฑบาลด้วยขันทองจนพอแก่ความต้องการ เมาแล้วล้มลงบนแผ่นดิน นอนอยู่ในที่นั้น ๆ ท้าวสักกะจึงตรัสสั่งให้พวกเทวบุตรจับเทวดาเจ้าถิ่นที่เท้า แล้วเหวี่ยงไปเชิงเขาสิเนรุทั้งหมด ด้วยเดชของท้าวสักกะ พวกอสูรเหล่านั้นหัวปักลงไปในมหาสมุทร
ลําดับนั้น ภพอสูรประมาณหมื่นโยชน์ ได้บังเกิดขึ้น ณ พื้นเบื้องล่างแห่งภูเขาสิเนรุราช เพื่อรองรับอสูร เหล่านั้น ด้วยอานุภาพแห่งบุญของอสูรเหล่านั้น พร้อมกันนั้นต้นจิตรปาฏลี (แคฝอย) ก็ได้บังเกิดขึ้นเป็นต้นไม้ประจํา ภพอสูรนั้นตลอดกัป เหมือนต้นปาริกฉัตรที่เป็นต้นไม้ประจําภพดาวดึงส์ เหล่าอสูรที่ถูกเหวียงลงมาจากดาวดึงส์ จึงมิได้รู้ว่าตนตกลงมาอยู่ในภพอสูร ตราบจนถึงฤดูกาลที่ต้นแคฝอยออกดอก จึงมีสติระลึกถึงดอกไม้ปาริกชาติ ที่ตนเคยประพาสเล่นในดาวดึงส์ ต่างปรารถนาที่จะกลับคืนสู่ภพดาวดึงส์ จึงจัดเตรียมอสูรโยธาทั้งหลายเนืองๆแน่น นับด้วยแสนโกฏิ ขึ้นไปกระทําศึกสงครามกับสมเด็จอมรินทราธิราชบนดาวดึงส์ ตีกลองป่าวประกาศอสูรราชบริวาร ยกขึ้นไปหมายจะชิงชัยให้ชนะ ในอากาศนั้นเรื่องโรจน์ด้วยรัศมีเครื่องประดับ แสงหอก แสงดาบ แสงโล่เงิน โล่ทอง โล่แก้ว วาววาบประดุจสายฟ้า เสียงโห่ร้อง เสียงฆ้องกลอง เสียงแตร เสียงสังข์บันลือลั่นประหนึ่งเสียงอสนีบาต นี้คือเหตุที่อสูรและเทวดาชั้นดาวดึงส์กระทําสงครามกัน
พระคันถรจนาจารย์วิสัชนาว่า สงครามระหว่างอสูรกับเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะ ด้วยฤทธิ์ อาการที่รบรากันนั้นเปรียบเหมือนทารกที่คะนองเล่น ซึ่งส่วนใหญ่อสูรจะปราชัยเสียโดยมาก
** คัมภีร์โลกบัญญัติ อสุรชาติวิภาคกัณฑ์ที่ ๔ หน้า ๙๔-๙๕ แสดงไว้ว่า ภพอสูรตั้งอยู่ภายใต้ ภูเขาสิเนรุราช ๔ ทิศ เปรียบเหมือนก้อนเส้าทั้ง ๔ แต่ละส่วนมีไหล่บริเวณใต้น้ำทะเล รอบทวีปมีความลาดเอียง แผ่ยื่นออกไปจากฝั่งทะเล ๑๒๔,๐๐๐ โยชน์ รอบไหล่ทวีปทั้ง ๔ ของแดนอสูร ๔๕๐,๐๐๐ โยชน์ ท่ามกลางไหล่ ทวีปทั้ง ๔ มีเมืองอสูร ๔ เมือง ล้อมด้วยกําแพงทอง มีประตู ๑,๐๐๐ ช่อง ด้านนอกมีคูล้อมรอบด้วยแถวต้นตาล ในระหว่างมีสระโบกขรณี เหนือคู่มีหมู่อสูรและอสูรกัญญาพากันเล่นสนุก ประหนึ่งเป็นป่าไม้แห่งความสนุกสนาน ด้านนอกสระโบกขรณีมีอุทยาน ๔ แห่ง ภายในคูสระและอุทยานมีนครอสูร มีต้นไม้ชื่อจิตรปาฏลีเป็นต้นไม้ ประจําภพ ใกล้โคนต้นจิตรปาฏลีมีแผ่นศิลา ๔ แผ่น ๆ ละประมาณ ๓๐ โยชน์ พญาอสูรทั้ง ๔ ย่อมประจําอยู่ ณ ที่นั้น ภายนอกมีคูน้ำ แถวตาล สวนอุทยาน สระโบกขรณี คล้ายกันกับดาวดึงส์ มีที่ประชุม ปราสาท วิมาน กูฏาคารที่พํานัก ร้านตลาดและถนน ย่อมมีแผ่กว้างไปในประตูทั้งหลาย ภายนอกนครมีหมู่บ้านอสูร นิคมอสูร ชนบทอสูร ในอสูรพิภพ สว่างด้วยรัศมีแก้วเหมือนกับนาคพิภพ
- จอมอสูรทางทิศตะวันออก ชื่อ เวปจิตติ มียุวราชชื่อ สุจิตตะ ครองความเป็นราชาของอสูรมเหศักดิ์ ตลอดถึงหมู่อสูรที่ชื่อว่า กาลกัญจิกา อันเป็นอสูรที่ทรามกว่าอสูรทั้งปวง ที่มีรูปร่างริมฝีปากแบะ มีริมฝีปากแคบ มีเล็บยาว บางพวกมีเท้าคด เล็บกุด ผิวเหลืองซีด มีเส้นเอ็นสะพรั่งทั่วตัว มีดวงตากลมโปนออกมา มีจมูกและ เท้ายาวหัวคด เป็นอสูรที่อยู่ในปุพพวิเทหะทวีป และอุตตรกุรุทวีป ล้วนอยู่ในความปกครองของจอมอสูรทั้งสองนี้ ที่เพียบพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา พลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ ย่อมบุกขึ้นไปรบกับเทวดาชั้นดาวดึงส์
- จอมอสูรทางทิศใต้ ชื่อ สัมพร มียุวราชชื่อ สุจิ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องที่ดียิ่ง ทั้งสองเป็นจอมอสูรที่อยู่ใน ชมพูทวีป จอมอสูรทั้งสองนี้เพียบพร้อมด้วยจาตุรงคเสนา พลช้าง พลม้า พลรถ และพลราบ ย่อมบุกขึ้นไปรบกับ เทวดาชั้นดาวดึงส์เช่นกัน
- จอมอสูรทางทิศตะวันตก ชื่อ พลิ มียุวราชชื่อ อุสุโรชะ ทั้งสองเป็นจอมอสูร ครองความเป็นราชาของ พวกอสูรที่อยู่ในทวีปอมรโคยาน
- จอมอสูรทางทิศเหนือ ชื่อ ปหาราธะ มียุวราชชื่อ ราหูจอมอสูร ทั้งสองเป็นจอมอสูร ครองความเป็น ราชาของพวกอสูรที่อยู่ในทวีปอุตตรกุรุทวีป
** อรรถกถาสักกสังยุตว่า อสูรเหล่านั้นทัดเทียมเทพชั้นดาวดึงส์โดยอายุ พรรณ ยส อิสริยสมบัติ แม้ขนาดร่างกายของพวกอสูรก็เหมือนพวกเทพ เว้นแต่ราหูที่ในอรรถกถา โสณทัณฑสูตรกล่าวว่า ราหูจอมอสูรสูง ๔,๘๐๐ โยชน์ อ้อมแขนราหูนั้น ๑,๒๐๐ โยชน์ ลําตัวหนา ๔๐๐ โยชน์ ฝ่ามือและฝ่าเท้าหนา ๓๐๐ โยชน์
** อรรถกถาแห่งสุริยสูตรว่า ฝ่ามือฝ่าเท้าหนา ๒๐๐ โยชน์ อรรถกถาเมตตสูตรว่า ระหว่างนิ้ว ๕๐ โยชน์ ข้อนิ้วมือนิ้วเท้า หว่างคิ้วก็ประมาณ ๕๐ โยชน์ คอและหน้าผากประมาณ ๓๐๐ โยชน์ ศีรษะประมาณ ๔๐๐ โยชน์ ปากประมาณ ๒๐๐ โยชน์ ช่องปากลึก ๓๐๐ โยชน์ กลม ๓๐๐ โยชน์ ราหูจอมอสูรนั้น เห็นพระจันทร์และพระอาทิตย์ไพโรจน์อยู่ ถูกความริษยาครอบงำ จึงลงสู่วิถีโคจรของพระจันทร์และพระอาทิตย์นั้น อ้าปากยืนอยู่ จันทรวิมานและสุริยวิมานมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์ เป็นประหนึ่งว่าถูกซัดเข้าไปในเหวใหญ่ ทวยเทพ ที่สถิตอยู่ในวิมานถูกมรณภัยคุกคาม ร้องเซ็งแซ่เป็นเสียงเดียวกัน ส่วนราหูนั้นบางคราวเอามือปิดวิมาน บางคราว ก็ช้อนวิมานเข้าไว้ใต้คาง บางคราวก็ใช้ลิ้นแลบเลียเอา บางคราวก็อมไว้ในระหว่างกระพุ้งแก้มยืนอยู่ ดุจดังที่ คนโบราณเข้าใจกันว่า สุริยคราส พระราหูอมดวงอาทิตย์ และ จันทรคราส พระราหูอมจันทร์ ฉะนั้น
** พระอภิธัมมัตถสังคหะ ปริจเฉทที่ ๕ วิถีวิมุตตสังคหวิภาค หน้า ๒๖-๒๘ แสดงไว้ว่า อสุรกายมี ๓ ประเภท คือ เทวอสุรกาย ๑ เปตอสุรกาย ๑ นิรยอสุรกาย ๑
เทวอสุรกาย ๖ จําพวก คือ เวปจิตติอสุรกาย ราหูอสุรกาย สุพลิอสุรกาย ปหารอสุรกาย สัมพรตีอสุรกาย และวินิปาติกอสุรกาย
เทวอสุรกาย ๔ จําพวกแรก เป็นปฏิปักษ์ต่อเหล่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ อยู่ภายใต้ภูเขาสิเนรุราช แต่เวปจิตติอสูร เสวยสมบัติอยู่ในพิภพอสุรกาย ภายใต้เขาสิเนรุราชนั้น นับเข้าในพวกเทวดาดาวดึงส์ ส่วน วินิปาติกอสุรกาย มีรูปร่างสัณฐาณเล็กกว่า อํานาจน้อยกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ เที่ยวอาศัยอยู่ในโลกมนุษย์ทั่วไป เช่น ตามป่า ภูเขา ต้นไม้และศาลซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกภุมมัฏฐเทวดา (เทวดาภาคพื้นดิน) สงเคราะห์เข้าในเทวดาชั้น จาตุมหาราชิกา
เปตอสุรกาย ๓ พวก คือ กาลกัญจิกเปรตอสุรกาย เวมาณิเปรตอสุรกาย อาวุทธิกเปรตอสุรกาย
- กัญจิกเปรตอสุรกาย มีร่างกายใหญ่โต แต่ไม่มีแรงเพราะมีเลือดเนื้อน้อย สีสันคล้ายใบไม้แห้ง มีตาโปน คล้ายตาปู มีปากเท่ารูเข็ม ตั้งอยู่กลางศีรษะ ไม่สว่างรุ่งโรจน์
- เวมาณึกเปรตอสุรกาย เปรตอยู่วิมานได้เสวยสุขและทุกข์สลับกันไป บางตนข้างแรมเสวย ทุกข์ ข้างขึ้นเสวยสุข บางตนกลางคืนเสวยสุขกลางวันเสวยทุกข์ เวลาเสวยสุขอยู่ในวิมานในภพดาวดึงส์ มีร่างเป็นทิพย์ สวยงาม เวลาจะเสวยทุกข์ต้องออกจากวิมานไป ร่างกายก็เปลี่ยนเป็นน่าเกลียดน่ากลัว
- อาวุทธิกเปรตอสุรกาย เป็นจําพวกเปรตที่ประหัตประหารกันและกันด้วยอาวุธต่าง ๆ
นิรยอสุรกาย เป็นเปรตอีกจําพวกหนึ่งที่เสวยทุกขเวทนาอยู่ในโลกันตนรก มีความเป็นอยู่เหมือน ค้างคาว เกาะอยู่ตามขอบจักรวาล หิวกระหายเป็นกําลัง เกาะไปพลางไต่ไปพลาง พบพวกเดียวกันเข้าใจว่าเป็น อาหาร โผเข้าไปหาก็พลัดตกลงไปในน้ำกรดข้างล่าง ละลายไปทันที แล้วเกิดขึ้นมาใหม่ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้น
อสุรกายที่กล่าวในที่นี้หมายเอาเฉพาะ กาลกัญจิกเปรตอสุรกาย เท่านั้น บางทีเปรตก็อยู่เป็นสามีภรรยา กับอสุรกาย เพราะฉะนั้นอสุรกายบางจําพวก ท่านจึงนับเข้าไว้ในจําพวกเปรตด้วย ดังนี้