อบายภูมิ ๔ - เดรัจฉานภูมิ

อบายภูมิ ๔ - เดรัจฉานภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

เดรัจฉาน สัตว์ที่ชื่อว่าเดรัจฉาน อธิบายว่า สัตว์ที่มีกายยาวไปโดยทางขวาง มี ๔ จําพวก คือ

เดรัจฉานที่ไม่มีเท้า เช่น พญานาค งู ปลา ไส้เดือนเป็นต้น
เดรัจฉานที่มีสองเท้า เช่น พญาครุฑ ไก่ เป็ด นก เป็นต้น
เดรัจฉานที่มีสี่เท้า เช่น พญาช้าง ม้า ราชสีห์ เสือ หมี วัว ควาย เป็นต้น
เดรัจฉานที่มีเท้ามาก เช่น ตะเข็บ ตะขาบ แมงป่อง แมงมุม กิ้งกือ เป็นต้น

เดรัจฉานทุกประเภท ปฏิสนธิด้วยอเหตุกปฏิสนธิ คือไม่ประกอบด้วยปัญญา ในกําเนิดทั้ง ๔ ได้แก่

อัณฑชกําเนิด เกิดจากฟองไข่ เช่นไก่ นก เป็นต้น
ชลาพุชกําเนิด เกิดจากการร่วมกันแห่งบิดามารดา
สังเสทชกําเนิด เกิดจากเกษรดอกไม้ ใบไม้ใบหญ้า
โอปปาติกกําเนิด เกิดขึ้นเอง เกิดแล้วโตทันที เช่นเทวดา และสัตว์นรกเป็นต้น

เดรัจฉานจัดเป็นสัตว์ภูมิหนึ่งใน ๓๑ ภูมิก็จริง แต่ไม่มีที่อยู่อาศัย ที่เป็นของตนเองโดยเฉพาะ อาศัย ร่วมอยู่ในมนุษยโลก ส่วนในพรหมโลก ไม่มีสัตว์เดรัจฉานอยู่ร่วมด้วยเลย

เดรัจฉานมีจํานวนมากมายเหลือประมาณ มากกว่ามนุษย์ยิ่งนัก ที่อยู่บนบกเหมือนมนุษย์ก็มี อยู่ในน้ำ ก็มี ชนิดและรูปร่างก็แตกต่างกันจนสุดจะพรรณนา ขนาดใหญ่ก็มี ขนาดเล็กก็มี อสรพิษสัตว์ประเภทที่มีพิษก็มี พิษด้วยการขบกัด พิษด้วยการพ่นใส่ พิษจากการสัมผัส พิษจากการเล็งแลดู มีมากมายถึง ๒,๐๒๔ จําพวก ไม่อาจที่จะแสดงให้หมดสิ้นได้

เดรัจฉานมีความเป็นอยู่เพียง ๓ ประการ คือ รู้จักเสวยกามคุณ รู้จักกิน รู้จักกลัวตาย เดรัจฉานมิได้ มีความรู้จักผิดชอบชั่วดี หรือรู้จักกุศลอกุศล ด้วยเหตุนี้ สัตว์เดรัจฉาน แม้จะบําเพ็ญทานการกุศลมากมายเพียงไร แม้จะสดับรับฟังพระธรรมเทศนาจากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระอัครสาวก ก็มิอาจสําเร็จมรรคผลในภพชาติที่เป็น เดรัจฉานได้ ท่านกล่าวว่า บรรดาพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย นับตั้งแต่ได้รับพุทธพยากรณ์ว่าจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว จะไม่บังเกิดในสัตว์ที่เล็กกว่านกกระจาบ และจะไม่เกิดเป็นสัตว์ที่ใหญ่กว่าช้าง

** วรรณกรรมรัตนโกสินทร์ ติรัจฉานโลกกถา หน้า ๖๒๒-๖๔๖ แสดง พิภพนาคและครุฑไว้ว่า ประเภทสัตว์ไม่มีเท้า พิภพนาค ตั้งอยู่ ณ พื้นภายใต้ปฐพีในระหว่างมหาสมุทรทั้ง ๔ เป็นบริเวณที่ เวิ้งว้างอยู่ แต่ละแห่งกว้าง ๑๐๐ โยชน์ จนถึง ๕๐๐ โยชน์ นาคพิภพแต่ละแห่งประกอบด้วยกฎาคาร ปราสาท พระราชนิเวศน์ล้วนแล้วด้วยแก้ว ๗ ประการ มีอุทยาน สระโบกขรณีอันวิจิตร นาคราชบางพวกมีอายุ ๑๐๐ ปี บางพวกอายุยืนถึง ๑,๐๐๐ ปี บางพวกอายุยืนถึงกัปหนึ่ง สมบัติแห่งพญานาคราชล้วนแล้วไปด้วยทิพย์ เปรียบ ประดุจเทวโลก พญาธตรัฏฐ์ พญาวรุณ พญาปัณฑระ พญาสังขปาละ พญาภูริทัตตะ พญากาฬะ เป็นอิสราธิบดี อยู่ในนาคพิภพ

คัมภีร์โลกสัณฐาน แสดงว่า บรรดานาคที่อยู่ภายในแห่งเขาสัตตบริภัณฑ์ ๗ ชั้น ที่ในสีทันดรมหาสมุทร ๗ ชั้น โดยรอบแห่งเขาสิเนรุราช นาคทั้งหลายเหล่านั้นขึ้นแก่พญาสุนันทนาคราช และพญาปนันทนาคราชทั้งหมด ส่วนนาคราชที่อยู่ภายนอกเขาอัสสกัณฑ์ออกมาจนถึงที่ตั้งทวีปทั้ง ๔ นาคเหล่านี้ขึ้นแก่พญากัมพลนาคราชและพญา อัสสตรนาคราชทั้งสิ้น ซึ่งเป็นใหญ่ทั้งในน้ำและบนบก ภายนอกเขาอัสสกัณฑ์ออกมา จนถึงที่ตั้งทวีปทั้ง ๔ บรรดา นาคเหล่านี้มีพิษร้ายแรงมาก สําหรับผู้ที่ถูกเห็น หรือถูกต้องลมหายใจ หรือถูกขบกัด พญานาคเหล่านี้มีโภชนาหาร เป็นทิพย์ มีภิกขาทิพย์ แปลงรูปเป็นมนุษย์ทิพย์ก็ได้ไปในแผ่นดินในน้ำในอากาศได้นาคบางพวกมีอายุยืนตลอดกัป

สัตว์ประเภทไม่มีเท้าอื่น เช่น พญางู ชื่อวิรูปักษา ๑ เอราบถ ๑ ฉัพยาบุตร ๑ และกัณหาโคตมกะ ๑ สัตว์เหล่านี้มีพิษแก่ผู้พบเห็น เพียงจ้องตาก็ถูกพิษพญางูพวกนี้ได้ ส่วนงูประเภทอื่นหลากหลายขนาด แม้งูเห่าดํา งูจงอาง งูสิงห์ งูเขียวหางไหม้ เป็นต้น ก็มีพิษเช่นเดียวกันทั้งหมด สัตว์เหล่านี้อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ

ส่วนพญาปลาที่เป็นสัตว์ไม่มีเท้า เกิดในแม่น้ำยมุนา สรภู อจิรวดี และมหานที มีขนาดใหญ่ ยาว ชื่ออานนท์ ยาวถึง ๕๐๐ โยชน์ และปลาขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กแม้ที่สุดคือปลาเข็ม ก็อยู่ในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลองบึง เป็นต้น

วิบากแห่งกรรมที่ต้องบังเกิดเป็นสัตว์ในนาคโลก และสัตว์อื่น ๆ ที่ไม่มีเท้าเนื่องจากครั้งที่เกิดเป็น มนุษย์ มีการรักษาศีล รักษาอุโบสถด้วยมิจฉาทิฏฐิ ประกอบด้วยราคะ โทสะ และโมหะ และด้วยทานศีลที่ต่ำทราม

ประเภทสัตว์สองเท้า พิภพครุฑ ตั้งอยู่ในเชิงเขาสิเนรุราชชั้นที่สองคือในระหว่างเขายุคันธร พญาครุฑ ชื่อเวนไตย มีตัวสูง ๑๕๐ โยชน์ ปีกขวาใหญ่ ๕๐ โยชน์ ปีกซ้าย ๕๐ โยชน์ ฟ่อนหางแห่งพญาครุฑยาว ๖๐ โยชน์ ลําคอยาว ๓๐ โยชน์ จะงอยปากยาว ๙ โยชน์ เท้าทั้งสองยาว ๑๒ โยชน์ กาลเมื่อพญาครุฑขยับปีกกระพือหาง ลมปีก และลมหางแล่นไปไกลประมาณ ๗๐๐-๔๐๐ โยชน์ ฝูงครุฑทั้งหลายมีที่อยู่ในภูเขาจักรวาลและนอกจักรวาล ตลอดจนฝูงนกขนาดต่างๆ มีนกหัสดีลิงค์ เป็นต้น นอกจากนั้น พญาหงส์ทอง ชื่อธตรัฐ เป็นราชาแห่งฝูงหงส์ทอง และบรรดาสัตว์สองเท้าก็มีถิ่นอยู่ ณ ภูเขาเหล่านั้น รวมทั้งฝูงนกยูง นกกะเรียน เป็นต้น

** ฎีกาจูฬสีหนาทสูตร วิสัชนาไว้ว่า ในพิภพครุฑ มีต้นงิ้วใหญ่เป็นไม้ประจําพิภพ กิ่งก้านสาขาของ ไม้งิ้วล้อมรอบขอบสิมพลีสระ ที่กว้างยาว ๕๐๐ โยชน์ ปลายกิ่งต่อปลายกิ่งโน้มน้อมเข้าปกคลุมปิดสระ น้ำในสิมพลีสระจึงเย็นใสบริสุทธิ์สะอาด มิได้ร้อนด้วยแสงอาทิตย์

สัตว์ประเภทสี่เท้า ในมนุษยโลกที่ข้างเชิงเขาสุวรรณบรรพต ป่าหิมพานต์มี พญาช้างตระกูลฉัททันต์ มีฝูงพญาม้า ชื่อทิพวลาหก มีโคอุสุภราช ชื่อโสรติณะ มีพญาราชสีห์ เป็นเจ้าแห่งสัตว์สี่เท้า ทั้งปวง พญาเสือโคร่ง พญาเสือเหลือง และบรรดามฤคราชทุกหมู่เหล่าหลายประเภทหลายขนาด โดยที่สุดแม้กระต่าย แมว เป็นต้น ส่วนในมหาสมุทร ในสระใหญ่ ในแม่น้ำใหญ่ มีพญาจรเข้ และฝูงสัตว์สี่เท้า ขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และสัตว์สี่เท้าที่เกิดบนบกมีเหี้ย จิ้งจก ตุ๊กแก กิ้งก่า เป็นต้น

สัตว์ประเภทมีเท้ามาก ย่อมปรากฏในทะเล ในสระใหญ่ ในแม่น้ำใหญ่ ในเปีอกตม มีพญาปูชื่อ มหากุสีละ ตัวใหญ่ขนาด ๑ โยชน์ ฝูงปูที่มีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก แม้สัตว์ที่มีเท้ามากที่เกิดบนบกมีกิ้งกือ แมงป่อง ตะขาบ แมงมุม และฝูงบังเป็นที่สุด

ในครั้งปฐมกัป มนุษย์ทั้งหลายพากันจัดแจงตั้งปฐมกษัตริย์ เป็นใหญ่ในมนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็เช่น เดียวกัน สัตว์แต่ละชนิดก็ตั้งพญาสัตว์ให้เป็นใหญ่ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เล็กสัตว์ใหญ่ ทั้งสัตว์บกสัตว์น้ำ สัตว์สี่เท้าก็ มีไกรสรสีหราชเป็นพญาสัตว์จําพวกสัตว์สี่เท้า หงส์เป็นพญาแห่งสัตว์จําพวกสองเท้า ปลาอานนท์เป็นพญาของฝูง ปลาในมหาสมุทร ปูเป็นพญาแห่งสัตว์ที่มีเท้ามาก เป็นต้น

 

มูลเหตุที่ให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน

มูลเหตุที่ทําให้ไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ท่านแสดงไว้ในพระมหาวิบากว่า ในสมัยที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ทํากรรมที่เป็นไปด้วยมิจฉาทิฏฐิ มากด้วยราคะ โทสะ โมหะ

* บุคคลเหล่าใดมากด้วย ราคะจริต มีจิตมัวเมาด้วยกามราคะ เมื่อทําลายขันธ์ยังมี จิตประหวัดผูกพันอยู่แต่เรื่องนี้ คนเหล่านี้ ย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เช่นหงส์ นกพิราบ สุกร เป็นต้น

* บุคคลเหล่าใดมากด้วย โทสจริต มีจิตมักโกรธ มักพยาบาท กระด้าง ถือตัวด้วยมานะ เมื่อทําการลาย ขันธ์ มีจิตประหวัดอยู่ด้วยความอาฆาต คนเหล่านี้ย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เช่น งู สุนัขป่า สุนัขบ้าน เป็นต้น

* บุคคลเหล่าใด ใจตระหนี่ มากด้วยความอิจฉาริษยา ย่อมไปเกิดเป็นเดรัจฉาน เช่น วานรไพร ๒

* บุคคลเหล่าใด ปากร้ายปากกล้า หาความละอายมิได้ ย่อมไปบังเกิดในกําเนิดกา เป็นต้น

* บุคคลเหล่าใด ร้ายกาจ หยาบช้า ฆ่าช้างม้าโคกระบือ ตายไปตกนรกแล้ว เศษบาปยังทําให้มา เกิดเป็นเดรัจฉาน เป็นนกเค้า เป็นสุกร เป็นแมงป่อง เป็นต้น

* บุคคลเหล่าใด มากด้วยความโลภและตระหนี่ หวงแหน มัจฉะ (ปลา) มังสะ (เนื้อ) เป็นต้น ย่อมไป บังเกิดเป็นเสือโคร่ง เสือเหลือง หมี แมว แร้ง เป็นต้น

* บุคคลเหล่าใด มักโกรธในขณะที่บําเพ็ญทานการกุศล มักติฉินนินทาศีล ทานการกุศลของผู้อื่น ย่อมไปบังเกิดเป็นนาคราช ประกอบด้วยฤทธิ์

* บุคคลเหล่าใด บําเพ็ญทานแล้วมักโกรธ กระทําการกุศลด้วยทิฏฐิมานะ อหังการ มมังการ คน เหล่านี้ย่อมไปเกิดเป็นครุฑ

* บุคคลเหล่าใดเมื่อใกล้จะตาย พะวักพะวงห่วงใยอยู่ด้วยเรือกสวนไร่นา แก้วแหวนเงินทอง หรือทรัพย์สมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมไปบังเกิดเป็นเดรัจฉานเฝ้าอยู่ที่สวนที่นา เฝ้าอยู่ในที่สมบัตินั้นอยู่


พิมพ์