อบายภูมิ ๔ - เปตภูมิ

อบายภูมิ ๔ - เปตภูมิ

ปริยัติธรรม

หนังสือ สังสารวัฏ โดย สุรีย์ มีผลกิจ

เปตภูมิ ภพภูมิของเปรต ตั้งอยู่เบื้องบนแห่งแผ่นดินอันเป็นที่ตั้งแห่งนรกภูมิ ในดงทึบของป่า หิมพานต์ แห่งชมพูทวีป เปรตมี ๑๒ จําพวก คือ วันตาสะเปรต ๑ กุณปขาทกเปรต ๑ คูถขาทกเปรต ๑ อัคคิชาละมุขเปรต ๑ สูจิมุขเปรต ๑ ตัณหาชิตาเปรต ๑ นิชฌามกเปรต ๑ สัตลังคเปรต ๑ ปัพพตังคเปรต ๑ อชครังคเปรต ๑ เวมาณิกเปรต ๑ มหิทธิกเปรต ๑

 

วันตาสะเปรต

วันตาสะเปรต มีรูปกายวิกลวิปริตยิ่งนัก ถูกความหิวโหยบีบคั้น มีความกระหายน้ำอยู่เป็นนิจ แม้อยู่กับน้ำก็มิอาจดื่มกินได้ ย่อมเที่ยวกินแต่น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ และสิ่งสกปรกที่บุคคลทั้งหลายถ่มทิ้ง เพราะกรรมที่กระทําในปางก่อน ย่อมให้ข้าวน้ำอันเป็นเดน อากูลด้วยมลทิน เป็นต้นว่าน้ำมูก เหงื่อไคล เสมหะ เขฬะ แก่สมณพราหมณ์ นอกจากนั้นบุคคลที่ถ่มเสมหะบ้วนเขฬะลงในมณฑลขอบเขตแห่งพระวิหาร ลานพระเจดีย์ ลานพระศรีมหาโพธิ์ ลานพระพุทธปฏิมากร หรือถ่มน้ำลายราดรดผู้อื่น ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมนั้น จึงได้มา บังเกิดเป็น วันตาสะเปรต เสวยทุกขเวทนาต่างๆ ในเปตโลกนั้น และยังไม่ตาย ตราบที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

กุณปขาทกเปรต

กุณปขาทกเปรต เปรตประเภทนี้กินซากศพเป็นอาหาร ซากมนุษย์ ซากเนื้อ ซากโค ซากกระบือ ซากสุนัขอันเหม็นเน่า ที่เป็นของปฏิกูลพึงรังเกียจก็ดี และสิ่งอื่น ๆ ที่สัตว์ทั้งหลายกินเหลือเป็นเศษเป็นเดนก็ดี ย่อมเป็นอาหารแห่งเปรตจําพวกนี้ ด้วยกรรมที่เคยให้เนื้ออันมิสมควรแก่สมณพราหมณ์ขบฉัน เช่นเนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อสุนัข เนื้อมนุษย์ ทั้งที่รู้อยู่ว่าสิ่งนี้ไม่สมควรแก่สมณพราหมณ์ และผู้มีศีล ด้วยผลแห่งอกุศลกรรมนั้น จึงมาบังเกิดเป็น กุณปขาทกเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ ในเปตโลกนั้นและยังไม่ตาย ตราบที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

คูถขาทกเปรต

คูถขาทกเปรต เปรตประเภทนี้กินมูตรและคูถเป็นอาหาร ตามสถานที่ตนถ่ายและทิ้ง สถานที่หมักคูถ หลุมคูถ หรือคูถในวัจจกุฎี ด้วยผลแห่งกรรมที่เคยถ่ายอุจจาระปัสสาวะในวิหารก็ดี บนลานพระเจดีย์ก็ดี หรือ บุคคลผู้เกลี่ยมูลโค มูลช้าง มูลม้าลงในรางสําหรับใส่อาหารจําพวกเนื้อ แก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีล แม้ท่านไม่ฉัน ก็บังคับให้ท่านบริโภคโภชนะนั้นด้วยพลการ ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมนั้น จึงไปบังเกิดเป็น คูถขาทกเปรต กินมูตรและคูกเป็นอาหารดุจเดียวกัน เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย ตราบที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

อัคคิชาลมุขเปรต

อัคคิชาลมุขเปรต เปรตประเภทนี้มีปากรุ่งเรืองไปด้วยเปลวเพลิง เพลิงจะไหม้ปากอยู่ทั้งกลางวัน กลางคืน ได้ความลําบากเวทนา ร้องไห้ร้องครางวิ่งไปวิ่งมาสิ้นระยะทางหลายโยชน์ ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรม ที่เคยเอาอาหารที่ร้อนนัก เผ็ดนัก ขมนัก ให้แก่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลบริโภค แล้วหัวเราะเยาะเล่นตามวิสัยความ คึกคนองและเจตนากลั่นแกล้งเพื่อความสนุก อีกประการหนึ่งบุคคลที่ด่าว่าตัดพ้อสมณพราหมณ์และบิดามารดา ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมนั้น ย่อมไปบังเกิดเป็น อัคคิชาลมุขเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย ตราบที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

สูจิมุขเปรต

สูจิมุขเปรต เปรตประเภทนี้มีท้องใหญ่ คอยาว ปากเท่ารูเข็ม กินอาหารมิใคร่ได้ อด ๆ อยาก ๆ ทนทุกข์ลําบากยิ่งนัก ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมของการเป็นผู้ตระหนี่ ไม่ทําทาน ซ้ำยังห้ามมิให้ผู้อื่นทําทานด้วย ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมนั้น ย่อมไปบังเกิดเป็น สูจิมุขเปรต เสวยทุกขเวทนาต่างๆ ตราบเท่าที่บาปกรรม นั้น ยังไม่สิ้นสุดไป

 

ตัณหาชิตาเปรต

ตัณหาชิตาเปรต เปรตประเภทนี้ระหายน้ำอดน้ำ ไม่ได้กินน้ำเลย แม้เห็นบ่อ สระ แม่น้ำที่มีน้ำอยู่เต็ม หรือแม้มหาสมุทรก็ ไม่สามารถจะดื่มน้ำได้แม้จะรีบวิ่งไปเพื่อจะดื่มน้ำ แต่น้ำนั้นก็กลับกลายเป็นเหมือนมีถ่านเพลิง ดุจนายกองเกวียนที่เดินทางไปในแดนกันดาร คือทะเลทราย หลงทิศทางกลางดง เห็นทะเลทรายเป็นน้ำ เข้าไปใกล้ หมายจะดื่มก็ ไม่สามารถดื่มได้ ด้วยผลแห่งบาปอกุศลที่เที่ยวปิดบ่อ ปิดสระน้ำ หวงแหนน้ำไว้มิให้สมณชีพราหมณ์ ผู้มีศีลทั้งหลาย แม้แก่ฝูงเดรัจฉานที่ถูกความกระหายน้ำเบียดเบียน กรรมนั้นย่อมไปบังเกิดเป็น ตัณหาชิตาเปรต ลําบากด้วยระหายน้ำเป็นกําลัง เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

นิชฌามกเปรต

นิชฌามกเปรต เปรตประเภทนี้มีตัวอันผอมดําดุจตอไม้อันเพลิงไหม้ ร่างเปลือย เห็นช่องว่างระหว่าง ซี่โครง มือเท้าหงิกงอ เขี้ยวงอกออกมานอกปาก ตาถลน เส้นผมรุ่งเรืองด้วยเปลวเพลิง กลิ่นตัวเหม็นน่า รังเกียจ ยิ่งนัก มีอาการระหายน้ำอยู่เป็นนิจ ด้วยผลแห่งบาปอกุศลกรรมที่เห็นสมณพราหมณ์ และมนุษย์ที่แก่เฒ่าอาพาธ ป่วยไข้ก็มิได้เมตตาสังเวช กลับล้อเลียนกระทํารูปต่างๆ เป็นต้นว่ารูปปีศาจ ให้แล่นไล่หลอกหลอน บางทีก็ตัด ท่อนเสาใหญ่ๆ ให้กลิ้งใส่หลังขู่หลอกให้ตระหนกตกใจ ให้ท่านเสวยทุกขเวทนา อาศัยกรรมนั้นย่อมได้มาบังเกิดเป็น นิชฌามกเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

สัตถังคเปรต

สัตถังคเปรต เปรตประเภทนี้มีเล็บมือ เล็บเท้ายาวงอดุจเบ็ดดุจคมมีด ย่อมข่วนเนื้อและเลือดอวัยวะ น้อยใหญ่ของตนกินเป็นอาหาร ด้วยผลแห่งบาปอกุศลที่สัตว์เหล่านี้ หยิกข่วนบิดามารดาก็ดี ทําร้ายอวัยวะน้อยใหญ่ สมณพราหมณ์ผู้มีศีลจนเป็นบาดแผล ริ้วรอยก็ดี หรือสตรีใจร้าย ริษยา ราคะครอบงำหยิกข่วนสามีก็ดี หยิกข่วน ทาสทาสีของตนก็ดี อาศัยกรรมนี้ ย่อมได้มาบังเกิดเป็น สัตถังคเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย เท่าที่ บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

ปัพพตังคเปรต

ปัพพตั้งคเปรต เปรตประเภทนี้ มีร่างกายใหญ่โตเหมือนภูเขา มีเพลิงไหม้อยู่ทั่วกาย ฝูงเปรตนี้จะ บังเกิดมีชีวิตในตอนราตรี พอถึงกลางวันจะพากันสลบไสล เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ ในสรีระนั้น มีความลําบากยิ่ง นัก ด้วยผลแห่งบาปอกุศลที่สัตว์เหล่านี้ได้ทําการเผา วิหาร อาราม ที่จงกรม แห่งสมณพราหมณ์ผู้มีศีล และเผา พระพุทธรูป เผาพระเจดีย์ก็ดี เผาพระศรีมหาโพธิ์ เผาบ้านเรือน เผาคามนิคม ของผู้อื่นก็ดี เผาสบงจีวรและบริขาร เครื่องใช้ของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็ดี เผาผ้านุ่งผ้าห่มของผู้อื่นก็ดี ย่อมได้มาบังเกิด เป็น ปัพพตังคเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ และยังไม่ตาย ตราบเท่าที่บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

อชครั้งคเปรต

อชครังคเปรต เปรตประเภทนี้มีรูปกายต่างๆ กัน ฝูงเปรตที่เดินไปในกลางคืน ด้วยรูปเหมือนงูเหลือม ด้วยรูปเหมือนงูธรรมดาที่มีเพียงหัว หรือด้วยรูปที่เหมือนเนื้อ เหมือนกระบือ เหมือนเสือโคร่ง ด้วยรูปที่มีหทัย เป็นก้อนเนื้อ ซึ่งมีไฟเรืองแสงอยู่ในกลางวัน อนึ่งเป็นบุรุษหรือเป็นหญิง ย่อมเสวยทุกข์ต่าง ๆ อย่างเสือโคร่ง และ เสือเหลือง หรืออย่างราชสีห์ อย่างช้าง อย่างม้า อย่างไก่ เป็นต้น มีแต่ศีรษะกลิ้งไปกลิ้งมาก็มี เพลิงนั้นไหม้รุ่งเรือง อยู่ทั้งกลางวันกลางคืน ด้วยผลแห่งอกุศลกรรมที่ทํารูปต่างๆ เหล่านี้หลอกหลอนคนใจขลาดและมาตุคามให้กลัว อาศัยกรรมนี้ ย่อมได้มาบังเกิดเป็น อชครังคเปรต เสวยทุกขเวทนาต่าง ๆ ในเปตโลกและยังไม่ตาย ตราบเท่าที่ บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุดไป

 

เวมาณิกเปรต

เวมาณิกเปรต เปรตจําพวกนี้มีวิมาน ล้วนแล้วด้วยแก้วรัตนะทั้งปวง บริบูรณ์ด้วยทิพยสมบัติ พร้อม ด้วยนางอัปสร ๔ นาง ได้เสวยสุขสมบัติในเวลากลางวัน เวลากลางคืนไปเสวยทุกขเวทนาในนรก มีหน้าที่ช่วย พระยายมราช บางจําพวกได้เสวยทิพยสมบัติกึ่งเดือน ทนทุกข์ทรมานกึ่งเดือน เหมือนท้าวปายาสิราชัญเสวยสุขอยู่ ในเสริสกวิมาน แต่อัตคัตเครื่องอุปโภคบริโภค เสมือนหนึ่งพวกเปรตในเปตโลก เสวยทุกข์เพราะความหิวกระหาย ด้วยวิบากกรรมที่มีความเห็นผิดว่า ทานที่ให้แล้วไม่มีผลในโลกนี้และโลกอื่น เป็นต้น ภายหลังพระกุมารกัสสปะ ได้ทําให้ท้าวปายาสิราชัญคลายจากความเห็นผิดนั้น แม้เมื่อมีความเห็นถูกแล้ว ท้าวเธอก็ยังให้ทานโดยไม่เคารพ ให้ทานมิใช่ให้ด้วยมือของตน มิได้ให้ทานด้วยความนอบน้อม ให้ทานด้วยเสียดายจะไม่ได้คืน แต่ท้าวเธอใช้ให้ อุตตรมาณพให้ทาน ดังนี้ ชื่อว่าให้ทานด้วยความเห็นไม่บริสุทธิ์ ให้ทานโดยไม่เคารพ สมาทานศีลด้วยความเห็น ไม่บริสุทธิ์ ไม่เคารพ ภายหลังจากมรณกรรมได้ไปบังเกิดในเสริสกวิมาน แต่อดอยากหิวระหายดุจฝูงเปรต

อีกเรื่องหนึ่ง ปุโรหิตของพระราชาพรหมทัต เป็นผู้ยิ่งใหญ่ด้วยอธรรม ด้วยความประพฤติอันปราศจาก ความถูกต้อง ประหนึ่งเคี้ยวกินเนื้อที่สันหลังของมนุษย์เป็นอันมาก ตลบตะแลงต่าง ๆ ด้วยการรับสินบน ยัง ประชาชนให้ระส่ําระสาย ต่อมาภายหลังได้รับโอวาทอันเกี่ยวข้องกับพระราชา เขากลับมาให้ทาน รักษาศีล สมาทานอุโบสถ เมื่อตายไปบังเกิดในเปตวิมานอันเป็นทิพย์เพราะกรรมนั้น มีนางอัปสรแวดล้อม ดํารงอยู่ตลอดพันปี

แต่แล้วต้องลงไปยืนแช่น้ำอยู่ที่ฝั่งของตระพัง ภายใต้บันไดวิมาน เกิดเป็นเปรตในที่นั้นที่ปลายนิ้วของ เขามีเล็บยาวแหลมคม เขาใช้เล็บอันคมควักเนื้อที่หลัง และเนื้อที่อกออกมาฉีกกิน เสวยความทุกข์นั้นเนืองๆ อนึ่ง ในท่ามกลางน้ำในตระพัง เต็มเปี่ยมด้วยน้ำ เขาจะกลายร่างเปรตของตนในน้ำทิพย์นั้น กลับมีรูปทิพย์ใส่กุณฑล ประดับเครื่องอลังการแพรวพราว สวมเทริด มีหมู่นางอัปสรแวดล้อม เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕ เที่ยวไป นี้คือ เวมาฒิกเปรตที่เป็นชาย เสวยทั้งสุขและทุกข์ เพราะทําทั้งกุศลและอกุศล

ส่วนเวมาณิกเปรตที่เป็นหญิงนั้น หญิงบางคนในปางก่อนเป็นผู้ทุศีล แต่เป็นผู้ที่ทําบุญให้ทานด้วยผล ของทั้งกุศลและอกุศล ฝ่ายบุญก็ทําอกุศลกรรมก็สร้าง เหตุนี้จึงได้เกิดเป็น เวมาณิกเปรต เสวยสุขในวิมานทิพย์กึ่ง เดือน เสวยทุกข์ในเปตโลกกึ่งเดือน ดังนี้

 

มหิทธิกเปรต

มหิทธิกเปรต เปรตที่มีฤทธิ์มาก เป็นราชาแห่งเปรตในเปตภูมิ อยู่ในป่าหิมพานต์ มีรูปงาน บริบูรณ์ด้วย โภตสมบัติ แต่แม้บริบูรณ์เพียงใด ก็มิสามารถบริโภคได้ มีข้าวโภชนาหารก็ไม่อาจบริโภคได้ ลางครั้งไม่ได้บริโภค นานๆจึงจะได้ลิ้มโภชนะสักครั้ง แต่ได้กินแต่โภชนะที่ไม่สะอาด มีคูถ เลือดน้ำหนองน้ำลาย น้ำมูกเหล่านี้เป็นต้น เสวยทุกข์อยู่ในโลกเปรตนั้น แม้บรรพชิตที่มาบังเกิดในโลกเปรตนั้น ก็ต้องเสวยทุกข์อยู่ภายในวัจจกุฏิ ถามว่าด้วย วิบากกรรมอะไร ? ตอบว่า ครั้งที่เป็นมนุษย์ในโลกนี้ เป็นพระราชาก็ดี เป็นพระเทวีก็ดี เป็นมหาอํามาตย์ของพระ ราชาก็ดี เป็นพราหมณ์มหาศาลก็ดี เป็นมาตุคามก็ดี เป็นภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรก็ดี เป็นผู้รักษาศีล แต่ลุอํานาจแห่งโลภะ มหาวิหาร กุฏิสงฆ์ ที่จงกรม ที่หลีกเร้น หรือถ้ำที่ทานบดีสร้างถวายไว้ในสงฆ์ ก็หวงแหน เอามาเป็นสมบัติแห่งตน โค กระบือ ช้าง ม้า ทาส ทาสี ที่นา ที่สวนที่นา อันทายกถวายไว้สําหรับสงฆ์ในอารามนั้น ศาลาโรงธรรม บ่อน้ำ สระน้ำที่ถวายสงฆ์ก็ถือเอาไว้เป็นของตนแต่ผู้เดียว เพราะถือว่าตนเป็นอิสระ ด้วยอํานาจเป็น ผู้ยิ่งใหญ่ หรือเพราะถือว่าเป็นบรรพชิตเป็นเจ้าอาวาส นํามาใช้สอยหรือถือเอาเป็นส่วนตน หรือแจกจ่าย ผลแห่งกรรม นั้น ย่อมบังเกิดในโลกเปรตผู้มีฤทธิ์มาก เคี้ยวกินคูถในวัจจกุฎีของวิหารอันมิใช่ภักษา บางพวกเสวยความทุกข์อัน เกิดจากความหิวกระหายต่าง ๆ เป็นเวลา ๑ ปีบ้าง ๑ เดือนบ้าง กึ่งเดือนบ้าง ชั่ววันบ้าง หรือชั่วครู่เดียวบ้าง นี้คือ มหิทธิกเปรต ราชาแห่งเปรตที่อยู่ในเปตโลก

ตระกูลเปรตทั้ง ๑๒ ตระกูลนี้ ท่านกล่าวไว้พอสังเขป เพราะประเภทเปรตนั้นมีมากมายต่างกันด้วย อกุศลกรรมที่แต่ละคนได้กระทํามา มิอาจนํามาแสดงได้ทั้งหมด ความพิสดารของเปรตสามารถค้นหาได้จากหนังสือ วรรณกรรม สมัยรัตนโกสินทร์ เล่ม ๒ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๕ นิรยโลกกถา หน้า ๕๘๔-๖๒๑ และในขุททกนิกาย เปตวัตถุ เล่ม ๒ ภาค ๒ และจักรวาลทีปนี ที่ทรงแสดงให้ประจักษ์ถึงผลอัน เผ็ดร้อนลามกของกรรมอันเป็นเหตุให้สัตว์ผู้กระทําชั่ว ให้บังเกิดเป็นเปรต ซึ่งจักยังความสลดใจให้เกิดแก่สัตว์ ทั้งหลาย ได้เกรงกลัวต่อบาปอกุศล หลีกพ้นจากการเข้าไปสู่เปตโลก

** มิลินทปัญหา ภาษาบาลี อักษรพม่า หน้า ๒๔๔-๒๘๗ แสดงไว้ว่า ฝูงเปรตอันมีมากมายนั้น จัดได้เป็น ๔ จําพวกคือ อุตุปชีวิเปรต ๑ ขุปปิปาสิกเปรต ๑ นิชฌานตัณหิกเปรต ๑ ปรทัตตูปชีวิเปรต ๑

อุตุปชีวิเปรต ได้แก่ เปรตที่เลี้ยงชีวิตด้วยมลทินแห่งครรภ์ และบุพโพโลหิตทั้งปวง
ขุปปิปาสิกเปรต ได้แก่ เปรตที่อดข้าวอดน้ำอยู่เป็นนิจ ล่วงไปจนสิ้นพุทธันดร
นิชฌานตัณหิกเปรต ได้แก่ เปรตที่มีเพลิงเผาอยู่ในกาย ประดุจโพลงไม้มีเปลวเพลิงอยู่ภายใน
(เปรตทั้งสามประเภทนี้ไม่สามารถที่จะรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้ได้เลย)

ปรทัตตูปชีวิเปรต ได้แก่ เปรตที่เที่ยวไปสู่เรือนแห่งญาติ เพื่อคอยรับส่วนบุญที่มีผู้อุทิศให้ เมื่อญาติ กระทําบุญแล้วอุทิศให้ ย่อมได้เสื้อผ้า อาหาร น้ำ เป็นเปรตชนิดเดียวที่มีโอกาสได้รับส่วนบุญที่ญาติอุทิศไปให้

** ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ ติโรกุฑฑสูตร หน้า ๒๗๖-๓๐๑ กล่าวถึง ปรทัตตูปชีวิเปรต ความว่า พระเจ้าพิมพิสารถวายทาน อุทิศให้แก่เปรตผู้เป็นญาติทั้งหลาย ที่รอคอยมาเป็นเวลานานแสนนาน สาเหตุอันเนื่องมาจากในกัปที่ ๙๒ นับแต่กัปนี้ มีพระราชาพระนามว่า ชัยเสน พระเทวีพระนามว่า สิริมา พระโพธิสัตว์ พระนามว่า ปุสสะ อุบัติในครรภ์ของพระนาง ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณ พระราชาชัยเสนทรงถือเอาว่า โอรส ของเราเป็นพระพุทธเจ้า จึงอุปฐากด้วยพระองค์เองตลอดมา

พระเจ้าพี่เจ้าน้องของพระผู้มีพระภาคเจ้า ต่างพระมารดา ๓ พระองค์พากันดําริว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย ย่อมเสด็จอุบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกทั้งปวง มิใช่เพื่อประโยชน์แก่บุคคลเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่พระบิดาของพวกเรา ไม่ทรงประทานโอกาสแก่เราและคนอื่นๆ เลย พวกเราจักมีโอกาสได้อุปฐากบ้างอย่างไรหนอ พระราชโอรสเหล่านั้น จึงตกลงพระทัยกันว่า เราจําต้องหาอุบายบางอย่าง ทั้ง ๓ พระองค์จึงส่งข่าวให้ หัวเมืองชายแดนทําประหนึ่งแข็งเมือง เมื่อพระราชาทรงทราบว่าหัวเมืองชายแดนกบฏ จึงส่งพระราชโอรสทั้งสาม ออกไปปราบกบฏ พระราชโอรสเหล่านั้นไปทําหน้าที่ปราบกบฏเสร็จแล้ว ก็กลับมาทูลพระราชบิดา

พระราชาพระราชทานพรว่า พวกเจ้าปรารถนาสิ่งใด ก็จงรับสิ่งนั้น พระราชโอรสทั้งสามกราบทูล ข้าพระบาทปรารถนาจะอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า เว้นพรข้อนี้เสีย เจ้าจงรับพรอย่างอื่น ไปเถิด พระราชโอรสกราบทูลว่า พวกข้าพระบาทไม่ปรารถนาพรอย่างอื่น พระเจ้าข้า พระราชาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้น เจ้าจงกําหนดเวลามาแล้วรับไป พระราชโอรสทูลขอ ๗ ปี พระราชาไม่พระราชทาน พระราชโอรสจึงทูลขอลดลงจาก ๖ ปี ๕ ปี ๔ ปี ๓ ปี ๒ ปี ๑ ปี จนถึงไตรมาสคือ ๓ เดือน พระราชาจึงพระราชทานอนุญาต

พระราชโอรสเหล่านั้นได้รับพระราชทานพรแล้ว มีความยินดีอย่างยิ่ง พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้ว กราบทูลอาราธนาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์ประสงค์จะอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้า ตลอดไตรมาส ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับจําพรรษา ตลอดไตรมาสนี้ สําหรับพวกข้าพระองค์ ด้วยเถิด พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับโดยอาการดุษณีภาพ

ต่อจากนั้น พระราชโอรสทั้งสามก็ส่งหัตถเลขา ด้วยลายพระหัตถ์ไปแจ้งแก่พนักงานผู้จัดผลประโยชน์ ในชนบทว่า เราจักอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าตลอดไตรมาสนี้ พวกเจ้าจงจัดเครื่องประกอบการอุปฐากพระผู้มีพระ ภาคเจ้าไว้ให้พร้อมทุกประการ นับตั้งแต่การสร้างพระวิหาร เป็นต้น

เมื่อเจ้าหน้าที่จัดการพร้อมแล้วทุกอย่าง ก็ส่งหนังสือรายงานทูลให้ทรงทราบ พระราชโอรสเหล่านั้น ทรงนุ่งห่มผ้ากาสายะ ทรงอุปฐากพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยเคารพ พร้อมด้วยบุรุษไวยาวัจกร ๒,๕๐๐ คน นําเสด็จสู่ ชนบท มอบถวายพระวิหารแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ให้ทรงประทับจําพรรษา

บุตรคหบดีผู้หนึ่ง เป็นพนักงานที่รักษาเรือนคลังของพระราชโอรสเหล่านั้น พร้อมทั้งภรรยา เป็นคนมี ศรัทธาปสาทะ พวกเขาได้ปฏิบัติการถวายทานแก่พระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขโดยเคารพ เจ้าพนักงานเก็บส่วย ในชนบท พาบุตรคฤหบดีพร้อมด้วยบุรุษชาวชนบทประมาณ ๑๑,๐๐๐ คน ให้ทําการถวายทานโดยความเคารพ ชนเหล่านั้น บางพวกมีจิตถูกอิสสามัจฉริยะครอบงํา พวกเขาก็พากันทําอันตรายต่อทาน กินไทยธรรมด้วยตนเอง บ้าง ให้พวกลูก ๆ กินเสียบ้าง ก่อนที่จะถวายทาน และเอาไฟเผาโรงอาหาร

ครั้นปวารณาออกพรรษา พระราชโอรสทั้งหลาย ก็ทรงกระทําสักการะยิ่งใหญ่แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า ตามเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า เข้าไปเฝ้าพระราชบิดา กาลล่วงไปพระพุทธเจ้าก็ปรินิพพาน แม้พระราชา พระราช โอรส เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบท และเจ้าพนักงานรักษาเรือนคลัง ก็ทํากาละไปตามลําดับ บังเกิดในสวรรค์ พร้อมบริษัทบริวาร เหล่าชนที่มีจิตอิสสามัจฉริยะ ก็พากันไปเกิดในนรกทั้งหลาย เมื่อสองคณะนั้นจากสวรรค์เข้า ถึงสวรรค์ จากนรกเข้าถึงนรกด้วยอาการอย่างนี้ กาลล่วงไป ๙๒ กัป

ต่อมา ในภัทรกัปนี้ ครั้งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ชนที่มีจิตอิสสามัจฉริยะเหล่านั้น บังเกิดเป็น เปรต ครั้งนั้น มนุษย์ทั้งหลายถวายทาน อุทิศเพื่อประโยชน์แก่พวกเปรตที่เป็นญาติของตนว่า ขอทานนี้จงถึงแก่พวก ญาติของเรา เปรตเหล่านั้นก็ได้สมบัติที่มีคนอุทิศให้ ขณะนั้น หมู่เปรตที่มีจิตอิสสามัจฉริยะเห็นดังนั้น พากันไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทําอย่างไรหนอ พวกข้าพระองค์จึงจะได้สมบัติบ้าง พระเจ้าข้า

พระกัสสปพุทธเจ้าตรัสว่า บัดนี้ พวกท่านยังไม่ได้ดอก ก็แต่ว่าในอนาคต จักมีพระพุทธเจ้าพระนาม ว่าโคดม มีพระราชาพระนามว่าพิมพิสาร ท้าวเธอเป็นญาติของพวกท่าน นับแต่นี้ไป ๙๒ กัป ท้าวเธอจักถวายทาน แด่พระพุทธเจ้า แล้วอุทิศส่วนกุศลแก่พวกท่าน พวกท่านจึงจักได้ ด้วยพระดํารัสนี้ พวกเปรตเหล่านั้นพากันดีใจ ประหนึ่งว่า จะมีโอกาสได้สมบัติในวันพรุ่งนี้ ฉะนั้น

กาลต่อมาล่วงไปพุทธันดรหนึ่ง พระผู้มีพระภาคโคดมพุทธเจ้า เสด็จอุบัติในโลก พระราชโอรสทั้ง ๓ พระองค์นั้น พร้อมด้วยบุรุษ ๒,๕๐๐ คนเหล่านั้นก็จุติจากเทวโลก ลงมาเกิดในสกุลพราหมณ์ทั้งหลาย ในแคว้นมคธ บวชเป็นฤาษีโดยลําดับได้เป็น ชฏิล ๓ คน ณ คยาสีสะประเทศ เจ้าพนักงานเก็บส่วยในชนบทได้มาเป็นพระราชา พิมพิสาร บุตรคฤหบดีที่เคยเป็นเจ้าพนักงานรักษาเรือนคลัง ได้มาบังเกิดเป็นมหาเศรษฐีชื่อ วิสาขะ ภรรยาของเขา ได้เป็นธิดาของเศรษฐีชื่อ ธรรมทินนา บริษัทที่เหลือ เกิดเป็นราชบริพารของพระราชาพิมพิสารทั้งหมด

เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าของพวกเราเสด็จอุบัติในโลก ล่วงไป ๗ สัปดาห์ ได้เสด็จไปยังกรุงพาราณสี ประกาศพระธรรมจักร โปรดพระปัญจวัคคีย์ แนะนําชฏิล ๓ พี่น้องคือ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ คยากัสสปะ และบริวารอีก ๒,๕๐๐ คน ณ อุรุเวลาเสนานิคม แล้วเสด็จไปกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดพระเจ้าพิมพิสารตามปฏิญญา ที่พระราชาทูลขอไว้ว่า เมื่อใดพระองค์ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอได้โปรดเสด็จมายังแคว้นของหม่อมฉันก่อน

ครั้งนั้น พระราชาพิมพิสาร พร้อมด้วยพราหมณ์คหบดีชาวมคธ ๑๑ นหุต (สิบเอ็ดหมื่น) ฟังพระธรรม เทศนาแล้วได้บรรลุพระโสดาบัน พราหมณ์คหบดีอีก ๑ นหุต ขอแสดงตนเป็นอุบาสก จากนั้นพระราชาได้อาราธนา พระผู้มีพระภาคเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์หนึ่งพันรูป ล้วนปุราณชฏิล รับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น

พระเจ้าพิมพิสารถวายทานแล้ว ทรงดําริแต่ว่า จะเตรียมอุทยานเวฬุวันให้เป็นที่ประทับของพระผู้มี พระภาคเจ้า จึงมิได้ทรงอุทิศทานนั้นแก่ใครๆ เปรตทั้งหลายที่รอคอยเวลามาถึงพุทธันดร เมื่อสิ้นหวังในเวลากลาง คืนนั้นจึงพากันทําเสียงแปลกประหลาด น่าสะพรึงกลัวอย่างเหลือเกินในพระราชนิเวศน์ พระราชาทรงสลดพระราช หฤทัยหวาดกลัว เมื่อรุ่งสว่างจึงกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร โปรดอย่าทรงกลัวเลย จักไม่มีสิ่งชั่วร้ายอันใด แก่มหาบพิตรดอกก็แต่ว่า พวกพระญาติเก่า ๆ ของพระองค์ เกิดเป็นเปรตมีอยู่ เปรตเหล่านั้นเที่ยวอยู่สิ้นพุทธันดร หวังอยู่ว่าเมื่อพระองค์ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าแล้ว จักทรงอุทิศส่วนกุศลแก่พวกเขา เมื่อวันวาน มหาบพิตร มิได้ทรงอุทิศส่วนกุศลแก่เปรตพวกนั้น เมื่อพวกเขาสิ้นหวัง จึงพากันทําเสียงประหลาดเช่นนั้น

พระราชาพิมพิสารกราบทูลว่า ถ้าเช่นนั้น ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าโปรดทรงรับนิมนต์เสวยภัตตาหารเช้า พรุ่งนี้ของข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักอุทิศทานแก่เปรตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ พระราชาเสด็จเข้าพระ ราชนิเวศน์ จัดแจงมหาทาน แล้วให้กราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

เปรตพวกนั้นพากันยืนที่นอกฝาเรือน ด้วยหวังว่า วันนี้พวกเราคงได้อะไรกันบ้าง พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ทรงอธิษฐานให้พระราชาได้เห็นเปรตเหล่านั้นทุกตน

* ขณะที่พระเจ้าพิมพิสาร ถวายข้าวยาคู ของเคี้ยว ของกิน แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่ญาติ ทั้งหลาย ทันใดนั้นของเคี้ยวของกินอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดแก่เปรตเหล่านั้น ให้อิ่มหนําสําราญ มีอินทรีย์อิ่มเอิบ

* ขณะที่พระราชา ถวายผ้า และเสนาสนะ เป็นต้น แล้วทรงอุทิศว่า ขอทานนี้จงถึงแก่ญาติห้ ทันใดนั้นเองผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาดและที่นอนอันเป็นทิพย์ ก็บังเกิดขึ้นให้เปรตเหล่านั้น สวมใส่ใช้สอยอย่างสมบูรณ์

" ขณะที่พระราชา หลั่งน้ำทักษิโณทก (กรวดน้ำ) ทรงอุทิศว่าขอทานเหล่านี้จงถึงแก่ญาติทั้งหลาย ขอญาติทั้งหลายจงมีความสุข ทันใดนั้นเอง สระโบกขรณีดารดาษด้วยดอกปทุมก็บังเกิดแก่พวกเปรตเหล่านั้น ให้ได้อาบและดื่มกิน ระงับความกระหายกระวนกระวายได้ มีผิวพรรณดุจทอง พ้นจากความเป็นเปรตในทันทีนั้น

เมื่อพระราชาพิมพิสารทรงอุทิศให้เครื่องอลังการต่างๆ มีผ้าทิพย์ ยานทิพย์ ปราสาททิพย์ เครื่องปูลาด และที่นอน เป็นต้น ก็บังเกิดแก่เปรตพวกนั้น สมบัติทุกอย่างที่ปรากฎทุกอย่าง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานให้ พระราชาทรงเห็นทุกประการ พระราชาทรงดีพระทัยยิ่ง

ครั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าเสวยเสร็จแล้ว ทรงห้ามภัตตาหารแล้ว ตรัสกับพระราชาว่า ขอถวายพระพร ทักษิณานี้แล มหาบพิตรถวายอุทิศหมู่พระประยูรญาติในวันนี้ เพราะเหตุที่พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันยอดเยี่ยม ของโลก ฉะนั้น ทักษิณานี้จึงเป็นทักษิณาที่ทรงตั้งไว้ดีแล้วในพระสงฆ์ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุขแก่เปตชน สิ้นกาลนาน จึงสัมฤทธิ์ผลในขณะนี้ทันที โดยไม่นานเลย

จริงอยู่ ทักษิณาย่อมสําเร็จผล คือให้เกิดผลทันทีในขณะนั้นได้ ก็ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ด้วยการอนุโมทนาด้วยตนเองของเปรตทั้งหลาย ๑ ด้วยการอุทิศของทายกทั้งหลาย ๑ ด้วยการถึงพร้อมแห่ง ทักขิไณยบุคคล ๑ 

พราหมณ์ชาณุสโสณีทูลถามว่า ญาติทั้งหลายที่เข้าถึงเปตวิสัยได้เท่านั้นหรือ หรือว่าแม้คนอื่น ๆ ก็ได้ ในข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า คนบางคนในโลกนี้ทําปาณาติบาต ฯลฯ เป็นมิจฉาทิฏฐิ เบื้องหน้าแต่ตาย เพราะกายแตกไปย่อมเข้าถึงนรก เขาย่อมยังชีพอยู่ในนรกด้วยอาหารของสัตว์นรก บางคนเข้าถึงกําเนิดสัตว์ เดรัจฉาน ก็ย่อมยังชีพอยู่ด้วยอาหารของสัตว์เดรัจฉาน คนบางคนในโลกนี้เว้นขาดจากปาณาติบาต ฯลฯ เป็นสัมมาทิฏฐิ เขาย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของหมู่เทวดา ยังชีพด้วยอาหารทิพย์ในเทวโลกย่อมไม่อยู่ในฐานะที่รับ

ส่วนบุคคลใดเข้าถึงเปตวิสัย ย่อมดํารงชีพอยู่ด้วยทานที่มีผู้อุทิศให้จากมนุษยโลกนี้เท่านั้น หากว่า เปรตผู้เป็นญาติสาโลหิตไม่เข้าถึงฐานะนั้น หมู่เปรตที่เป็นญาติสาโลหิตของผู้อื่นก็จะได้รับ เพราะเหตุว่าฐานะที่จะ พึงว่างจากสาโลหิตผู้ล่วงลับไปแล้ว โดยกาลช้านานในสังสารวัฏนี้ มิใช่ฐานะ มิใช่โอกาสที่จะมีได้ และเพราะ หมู่เปรตย่อมยังชีพให้เป็นไป ยังอัตภาพให้ดําเนินไป ด้วยทานที่หมู่ญาติ หรือหมู่มิตรสหาย อุทิศให้จากโลก มนุษย์นี้เท่านั้น แต่แม้ทายกผู้ให้เองก็ย่อมไม่ไร้ผล

ในกาลจบเทศนา การบรรลุธรรมได้มีแก่สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ซึ่งสลดใจในเพราะการพรรณนาโทษแห่งการ เข้าถึงเปตวิสัย แม้ในวันรุ่งขึ้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงติโรกุฑฑสูตรนี้อีก แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย การตรัสรู้ธรรมอย่างนั้น ได้มีถึง ๗ วัน ด้วยประการฉะนี้


พิมพ์